วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559


พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษเรื่อง "นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ" ในการอบรมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ ประจำปี 2559 เมื่อวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม 2559 ณ โรงแรมเชียงใหม่พลาซ่า โดยได้กล่าวถึงเรื่องที่กำลังดำเนินการในเวลานี้ และเรื่องที่จะดำเนินการต่อไปตามนโยบายและเป้าหมาย Roadmap แผนงานที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ มี 11 เรื่อง ได้แก่ 
  1. ภายใน 1 ปี : ให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาและคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน (รายละเอียด)
  2. ภายใน 5 ปี : ส่งเสริมให้ครูใช้ศักยภาพในการสอนอย่างเต็มที่ (รายละเอียด)
  3. ภายใน 1 ปี : จะทำครูให้ครบตามเกณฑ์ ภายใน 2 ปี : จะทำครูให้มีครูประจำชั้นครบทุกห้อง ภายใน 5-10 ปี : จะทำให้ครูตรงสาขา (รายละเอียด)
  4. ายใน 2 ปี : จะทำให้เด็กเรียนท่องจำ ในสิ่งที่ควรจำ และนำสิ่งที่จำไปฝึกคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ครบทุกโรงเรียน (รายละเอียด)
  5. ภายใน 5 ปี : จะทำให้มีการเรียนการสอน STEM ศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics) ครบทุกโรงเรียน (รายละเอียด)
  6. ภายใน 3 ปี : ยกระดับภาษาอังกฤษให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ (รายละเอียด)
  7. ภายในปี 2560 : ปรับระบบการสอบ O-NET ให้เป็นที่ยอมรับ และสะท้อนถึงคุณภาพของการจัดการศึกษา (รายละเอียด)
  8. ภายใน 10 ปี : จะผลิตกำลังคน ให้ตรงกับความต้องการของประเทศ (รายละเอียด)
  9. ผลิตคนดีออกสู่สังคม (รายละเอียด)
  10. ภายในปี 2560 : ซ่อมบ้านพักครูให้แล้วเสร็จทั้งหมด (รายละเอียด)
  11. การแก้ปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ (รายละเอียด)
นโยบายทั้ง 11 เรื่องนี้ ได้มีการบรรยายในรายละเอียดของแต่ละเรื่องว่าที่ผ่านมาปัญหาคืออะไร และจะมีแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง ซึ่งในแต่ละเรื่องจะได้ขยายให้เห็นเป็นเรื่องๆ ไป ตามแต่ท่านผู้อ่านสนใจ โดยสามารถคลิกดูในรายละเอียด ในท้ายของแต่ละเรื่องนั้นๆ ได้ตามต้องการ    




*******************************

ที่มา :
บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html  [2559.กรกฎาคม 12].

การแก้ปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ

กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญต่อประเด็นการแก้ปัญหาการทุจริต คือ การป้องกันและมาตรการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตจากการวิ่งเต้นโยกย้าย การใช้ดุลยพินิจการลงโทษ และการตั้งคณะกรรมการสอบสวน





ขณะนี้มีเรื่องและคดีต่างๆ ที่คั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมาก บางเรื่องใช้เวลานาน 6 ปี ผลการสอบสวนก็ยังไม่แล้วเสร็จ จึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก รวมทั้งกรณีการแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและคณะกรรมการอุทธรณ์ หากเป็นคนเดียวกัน จะทำให้เกิดการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษยืดเยื้อ และใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนานมาก โดยเฉพาะหลักฐานการอุทธรณ์ ซึ่งต่อไปผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย และการดำเนินการทางวินัยจะต้องไม่เป็นการเกี้ยเซี้ยหรือช่วยเหลือกัน ทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง

*********************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :

บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].

ภายในปี 2560 : ซ่อมบ้านพักครูให้แล้วเสร็จทั้งหมด

กระทรวงศึกษาธิการได้สำรวจบ้านพักครูทั้งหมด พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 44,359 หลัง ในจำนวนนี้อยู่ในสภาพที่ดีไม่ต้องซ่อมจำนวน 27,422 หลัง มีสภาพที่จำเป็นต้องซ่อมแซม จำนวน 12,928 หลัง นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งทำการซ่อมแซมบ้านพักครูให้แล้วเสร็จทั้งหมดตาม Roadmap ของรัฐบาล ภายในปี 2560



ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดเตรียมงบประมาณสนับสนุนไว้แล้วในปีงบประมาณนี้ โดย สพฐ.ได้ตั้งงบประมาณซ่อมแซมให้เสร็จสิ้นในปี 2560 ไว้แล้ว จำนวน 1,395 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 695 ล้านบาท จะเสนอขอแปรญัตติการใช้จ่ายงบประมาณต่อไป


*********************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :
บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].

ผลิตคนดีออกสู่สังคม

กระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวทางนโยบายที่จะผลิตผู้เรียนที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นคนดีออกสู่สังคม จึงได้กำหนดนโยบายและโครงการต่างๆ เช่น โรงเรียนคุณธรรม, การฟื้นฟูกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารีในสถานศึกษา, โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (ด้าน Heart), โครงการธนาคารขยะ, กิจกรรมการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของสถานศึกษาทุกสังกัด, โครงการโตไปไม่โกง เป็นต้น




*********************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :

บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].

ภายใน 10 ปี : จะผลิตกำลังคน ให้ตรงกับความต้องการของประเทศ

ภายใน 10 ปี : จะผลิตกำลังคน ให้ตรงกับความต้องการของประเทศ

จากข้อมูลของ World Economic Forum ในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (ด้านการศึกษา) พ.ศ. 2558-2559 (ข้อมูลเปรียบเทียบจาก 140 ประเทศ) พบว่าด้านการศึกษาในหมวดพื้นฐานเปรียบเทียบ 3 ปี (จาก 61 ประเทศ) ของไทย พบว่าตัวชี้วัดที่มีเกณฑ์ต่ำ ประกอบด้วย
  • ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ
  • การสอนวิชาวิทยาศาสตร์
  • การจัดการศึกษาในมหาวิทยาลัย
  • การบริการการศึกษาไม่ตอบสนองความจำเป็นของธุรกิจ

นอกจากนี้ มีผลการสำรวจเกี่ยวกับจำนวนบัณฑิตที่ตกงานในปีนี้ จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 109,202 ราย พบว่ามีบัณฑิตที่ยังไม่ได้ทำงานและไม่ได้ศึกษาต่อ จำนวน 2,595 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 23.7 จึงถือเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงศึกษาธิการที่จะวางแผนผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดการผลิตบัณฑิตจนล้นตลาด และจบออกมาตกงานจำนวนมาก


ทั้งนี้ ได้วางแผนดำเนินการโดยได้จัดทำฐานข้อมูล Demand/Supply Side ให้มีความทันสมัยภายใน 1 ปี โดยมอบให้คณะทำงานโครงการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เป็นผู้จัดทำโปรแกรม พร้อมประสานให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้สำรวจความต้องการแรงงานจากสถานประกอบการและผู้จ้างงานต่างๆ ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด จากนั้นจะให้สถานศึกษาเปิดหลักสูตรที่เป็นไปตาม Demand Side (Re-Profile มหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษา) ภายใน 10 ปี โดยกำหนดให้งานงบประมาณเป็นตัวขับเคลื่อนในการกำหนดทิศทางดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ได้ดำเนินงานขยายโครงการทวิภาคี ทวิศึกษา โครงการสหกิจศึกษา หลักสูตรอาชีพระยะสั้น ในโรงเรียนสามัญและ กศน. เพื่อสนับสนุนการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการผลิตของประเทศ ทำให้มีจำนวนผู้เรียนในโครงการต่างๆ ดังกล่าว เพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว






นอกจากนั้น ได้ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนตามขีดความสามารถและความสนใจ โดยจัดการแนะแนวผู้ปกครองและนักเรียนได้ตัดสินใจเข้าเรียนด้านอาชีพในโรงเรียน สพฐ. ส่วนภาคประชารัฐโดย กรอ.อศ. และโครงการสานพลังประชารัฐด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (E2) ก็ได้มีส่วนสนับสนุนแนวทางการผลิตกำลังคนด้านต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย



*********************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :
บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].

ภายในปี 2560 : ปรับระบบการสอบ O-NET ให้เป็นที่ยอมรับ

ภายในปี 2560 : ปรับระบบการสอบ O-NET ให้เป็นที่ยอมรับ และสะท้อนถึงคุณภาพของการจัดการศึกษา

จากผลการทดสอบ O-NET ปีการศึกษา 2558 ในระดับชั้น ป.6 รายวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เมื่อได้จำแนกตามตามสังกัด พบว่ากลุ่มโรงเรียนสาธิต สกอ. มีผลการสอบทุกรายวิชาสูงกว่าทุกสังกัด ในขณะที่ผลการทดสอบของโรงเรียนเอกชน จะได้คะแนนสูงกว่า สพฐ. ทุกรายวิชาเช่นกัน



จากข้อมูลดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้นำมากำหนดเป็นนโยบายที่ต้องการปรับระบบการสอบ O-NET โดยมีแนวทางที่สำคัญคือ เน้นการออกข้อสอบ O-NET ให้สอดคล้องกับการเรียนการสอน, ให้มีการจัดทำ Item Card, การจัดทำ Test Blue Print, ให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดเลือกคนออกข้อสอบและผู้ตรวจข้อสอบ, ให้มีการเฉลยข้อสอบและวิเคราะห์ผลสอบ O-NET เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอน

แนวทางข้างต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ระบบการสอบ O-NET เป็นที่ยอมรับ และสะท้อนถึงคุณภาพของการจัดการศึกษาที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนสนใจการเรียนในห้องเรียน ไม่มุ่งเน้นไปที่การกวดวิชา เพราะข้อสอบที่ออกจะสอดคล้องกับเนื้อหาการเรียนการสอนในชั้นเรียน ที่สำคัญอีกประการคือ ผลการทดสอบ สามารถนำไปใช้วางแผนการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนรายวิชาต่างๆ ให้สูงขึ้นต่อไป


*********************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :
บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].

ภายใน 3 ปี : ยกระดับภาษาอังกฤษให้นักเรียนฯ ใช้เพื่อการสื่อสารได้

ภายใน 3 ปี : ยกระดับภาษาอังกฤษให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้

เมื่อพิจารณาถึงผลการจัดอันดับความรู้ภาษาอังกฤษจาก 10 ประเทศอาเซียน พบว่าร้อยละของประเทศในอาเซียนที่ประชาชนพูดภาษาอังกฤษได้ ลำดับที่ 1 คือ สิงคโปร์ 71% รองลงมา 4 อันดับแรกคือ ฟิลิปปินส์ 55.49% บรูไน ดารุสซาลาม 37.73% มาเลเซีย 27.24% และไทย 10% (6.54 ล้านคน)


ในส่วนของประเทศไทย ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับภาษาอังกฤษให้ประชาชนและผู้เรียนทุกระดับสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้เริ่มต้นนโยบาย ด้วยการสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษา จากนั้นมีการจัดทำแอพพลิเคชั่น Echo Hybrid, Echo English รวมทั้งการพัฒนาครูภาษาอังกฤษผ่านกระบวนการ Boot Camp และการปรับชั่วโมงเรียนและเน้นการเรียนการสอนเพื่อการนำไปใช้ในชีวิตประจาวัน ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้


ด้านการพัฒนาครู ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จนั้น ได้มีการพัฒนาครูแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้มีจำนวนที่เพียงพอ โดยเริ่มต้นพัฒนาครูแกนนำที่มีทักษะ B2 ขึ้นไปจำนวน 350 คน ใช้เวลาอบรมพัฒนาแบบเข้ม 5 สัปดาห์กับครูต่างชาติ จากนั้นจะมีการขยายผลการพัฒนาไปยังครูใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศในปี 2560 อันจะส่งผลถึงการพัฒนาไปยังนักเรียนในโรงเรียนที่ครูแกนนำปฏิบัติการสอนจำนวนประมาณ 35,000 คนอีกด้วย


ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้จัดทำสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี เพื่อสามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ คือ Echo English และ Echo Hybrid ที่มีการนำร่องไปใช้ในปีแรก 6 โรงเรียน และเป้าหมายพัฒนาไปยังโรงเรียนกว่า 10,000 แห่งในปีนี้

สำหรับการพัฒนาในโรงเรียน English Program/Mini English Program (EP/MEP) ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ EP จำนวน 134 แห่ง และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ MEP จำนวน 214 แห่ง ก็จะได้รับการส่งเสริมการยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในสถานศึกษา โดยมีหลากหลายแนวทาง คือ เปิดทางเลือกการสอนภาษาอังกฤษในวิชาที่ใช้สื่อสาร กิจกรรม สังคม และสามารถสอนวิชาหลัก (วิทย์-คณิต) เป็นภาษาไทยได้ รวมทั้งการเทียบวุฒิ As Level เท่ากับมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเทียบคะแนน IGCSE วิชาหลักกับผลการสอบ O-NET โดยไม่ต้องสอบซ้ำอีกด้วย


*********************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :
บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].

ภายใน 5 ปี : จะทำให้มีการเรียนการสอน STEM ศึกษา ครบทุกโรงเรียน

ภายใน 5 ปี : จะทำให้มีการเรียนการสอน STEM ศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics) ครบทุกโรงเรียน

ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดำเนินงาน STEM มากถึง 7 หน่วยงาน คือ
  1. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 13 ศูนย์ (91 โรงเรียน)
  2. สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ 17 โรงเรียน (รับผิดชอบเฉพาะห้องเรียนวิทยาศาสตร์ จำนวน 1 ห้อง)
  3. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 24 โรงเรียน
  4. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัย
  5. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 118 โรงเรียน
  6. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดำเนินงานเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนทั้งหมด 147 โรงเรียน (ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้)
  7. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 5 โรงเรียน

กระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าเพื่อให้การเรียนการสอน STEM ศึกษา สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงมีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวม 3 คณะ เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะอำนวยการการจัดการเรียนการสอน พัฒนาหลักสูตร และขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน โดยกำหนดเป้าหมายในการพัฒนากิจกรรมสะเต็มศึกษา และกำหนดกิจกรรมสะเต็มศึกษา ระดับชั้น ป.1 – ม.6 ดังนี้


สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการ ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงคู่มือกิจกรรมสะเต็มศึกษาสำหรับครูของภาคเรียนที่ 1 (ชั้น ป.1 – ม.6) โดยแยกขั้นตอนการสอนกิจกรรมให้มี 6 ขั้นตอนอย่างชัดเจน และมีการจัดทำ Artwork ต้นฉบับ กิจกรรมสะเต็มศึกษาสำหรับนักเรียน และต้นฉบับคู่มือกิจกรรมสะเต็มศึกษาสำหรับครู รวมทั้งนำกิจกรรมสะเต็มศึกษา และคู่มือกิจกรรมสะเต็มศึกษาสำหรับครู เผยแพร่บนเว็บไซต์ www.stemedthailand.org ด้วย

ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายโรงเรียนเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษา ในปี 2559 จำนวน 2,495 โรง และตั้งเป้าขยายให้ครบทุกโรงเรียน ภายในปี 2564



*********************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :

บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].

ภายใน 2 ปี : จะทำให้เด็กเรียนท่องจำ ในสิ่งที่ควรจำ ฯลฯ

ภายใน 2 ปี : จะทำให้เด็กเรียนท่องจำ ในสิ่งที่ควรจำ และนำสิ่งที่จำไปฝึกคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ครบทุกโรงเรียน

ข้อมูลจาก UNESCO ระบุถึงจำนวนชั่วโมงเรียนต่อปีของนักเรียนไทยในระดับอายุต่างๆ พบว่า ในระดับประถมศึกษา เด็กไทยเรียนมากเป็นอันดับ 1 ของโลกในชั้น ป.4-5 คือ 1,200 ชั่วโมง/ปี ส่วนระดับชั้นอื่นๆ ก็ติดอันดับสูงของโลกเช่นกัน ส่งผลให้นักเรียนไทยมีการบ้านมาก นักเรียนและผู้ปกครองต่างก็มีความเครียด ที่สำคัญการเรียนการสอนยังไม่ได้ส่งเสริมให้นักเรียนคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์มากเท่าที่ควร




จึงเป็นที่มาของโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเน้นให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปีแรกจำนวน 4,100 โรง ได้จัดกิจกรรมที่เน้น 4H คือ Head Heart Hand Health โดยสิ่งสำคัญคือ ปรับปรุงโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ให้ชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลดลง และชั่วโมงทำกิจกรรมเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเน้นการปรับกระบวนการสอนของครู เพื่อให้เด็กได้ฝึกคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหามากขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงข้อสอบโดยใช้ข้อสอบมาตรฐานกลางในรูปแบบอัตนัยและปรนัยที่เน้นการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น


ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการโครงการมาระยะหนึ่ง จึงได้มีการประเมินเปรียบเทียบผลการสอบ O-NET ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ กับโรงเรียนที่ไม่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผลประเมินทำให้เห็นชัดเจนว่า แม้จะมีเวลาเรียนในห้องเรียนลดลง แต่ผลจากการปรับโครงสร้างและกระบวนการสอนของครู ทำให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีผลทดสอบสูงกว่าทุกรายวิชาในระดับชั้น ป.6 และ ม.3 ยกเว้นวิชาภาษาอังกฤษเท่านั้น ผลจากความสำเร็จของโครงการในปีแรก จึงส่งผลให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 15,342 โรงเรียน


สำหรับการประเมินผลการดำเนินงานโครงการนั้น ได้นำ AAR มาใช้ (After Action Review : AAR) ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในวงจรการทำงาน เป็นการทบทวนวิธีการทำงานทั้งด้านความสำเร็จ ข้อค้นพบ และปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อนำผลจากการประเมินในปีแรก มาดำเนินการในระยะต่อไป



*********************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :
บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].

ภายใน 1 ปี : จะทำครูให้ครบตามเกณฑ์ ฯลฯ

ภายใน 1 ปี : จะทำครูให้ครบตามเกณฑ์ 
ภายใน 2 ปี : จะทำครูให้มีครูประจำชั้นครบทุกห้อง 
ภายใน 5-10 ปี : จะทำให้ครูตรงสาขา
จากข้อมูลจำนวนโรงเรียนในปัจจุบัน เมื่อแยกตามขนาดห้องเรียน ทำให้เห็นว่าไทยมีโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,577 โรงเรียน ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 20 คน จำนวน 1,072 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนที่มีนักเรียน 0 คน จำนวน 207 แห่ง ครู 230 คน ซึ่งเมื่อไม่มีนักเรียนเรียนแล้ว ก็จำเป็นต้องเกลี่ยครูไปช่วยราชการในโรงเรียนอื่นที่มีความขาดแคลนหรือครูไม่ครบชั้น




สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้น คือ อัตราประชากรวัย 6 ปี ที่ต้องเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ตั้งแต่ปี 2539 -2558 ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 950,000 ลดลงเหลือประมาณ 770,000 คน สวนทางกับจำนวนวัยสูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น ดังนั้น สำนักงาน กศน. ต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ

หากมองไปที่ภาพรวมครู จะเห็นว่าอัตรากำลังกับการบรรจุจริงของ สพฐ. ยังคงเหลื่อมล้ำกันมาก ระหว่างครูสังกัด สพป. กับ สพม. และ สศศ. ซึ่งส่งผลทำให้มีจำนวนโรงเรียนที่มีครูขาด ครูเกิน และมีผลต่อสัดส่วนจำนวนครูต่อห้องเรียนด้วย




เมื่อมองในภาพรวมอัตราการขาดเกินอัตรากำลังครูของ สพฐ. ทำให้เห็นแนวทางสำคัญที่จะมีการเกลี่ยอัตรากำลัง โดยใช้แนวทางต่างๆ เช่น ปรับเกณฑ์การคิดอัตราให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ, จัดทำแผนอัตรากำลังครูล่วงหน้า 10 ปี, เกลี่ยอัตรากาลังโดยยึดประโยชน์ทางราชการเป็นหลัก, ให้บรรจุทดแทนอัตราครูที่เกษียณอายุภายในเดือนตุลาคม (ของทุกปี), จ้างครูให้ตรงกับสาขาที่ขาดแคลนและตรงกับพื้นที่ที่ขาดแคลน และที่สำคัญคือการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยเริ่มต้นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 20 คนจำนวน 1,072 โรงก่อนเป็นลำดับแรก รวมทั้งทบทวนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนมัธยมศึกษา เพราะหลายแห่งจำนวนเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลงเช่นกัน




นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีแนวคิดและขั้นตอนการดำเนินงานแก้ปัญหา คือ แบ่งกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก และจัดให้มีการบูรณาการเรียนร่วมระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กกับโรงเรียนประถมศึกษาคุณภาพ ตลอดจนการคัดกรองโรงเรียนขนาดกลางขึ้นไปที่จะเป็นโรงเรียนอนุบาลคุณภาพ ที่มีจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 25 คน และเป็นโรงเรียนประถมศึกษาคุณภาพ ที่มีจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 30 คน

*********************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :
บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].

ภายใน 5 ปี : ส่งเสริมให้ครูใช้ศักยภาพในการสอนอย่างเต็มที่

สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ สภาพแวดล้อมทางการศึกษาของอาเซียน โดยพิจารณาใน 3 ส่วน คือ "ห้องเรียน" บางแห่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19, ส่วน "ครูผู้สอน" ผลิตมาจากหลักสูตรที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 20 ในขณะที่ "นักเรียน" ยุคปัจจุบัน ต้องมีทักษะสำหรับการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21

ดังนั้น จึงได้นำมาทบทวนร่วมกับประเด็นปัญหาของการศึกษาไทยที่ผ่านมา เพื่อกระทรวงศึกษาธิการจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยแยกเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ 6 หัวข้อหลักที่สำคัญตามนโยบาย คือ
  1. หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
  2. ครู 
  3. การบริหารจัดการ 
  4. ICT เพื่อการศึกษา 
  5. การประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา 
  6. การผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัย




โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวทางที่สำคัญต่อคุณภาพการศึกษาไทย คือ คุณภาพของครูผู้สอน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้สร้างมาตรฐานการผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ ตามแนวทางใหม่ ดังนี้
  • วิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดจากการจัดการศึกษาที่ผ่านมา
  • สอบถามความต้องการของครูในประเด็นที่ต้องการพัฒนา
  • จัดทดสอบเพื่อประเมินความรู้
  • ศึกษาหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำประเด็น Best Practice มาประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาหลักสูตร
  • เชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาระหลักสูตร ทั้งภาครัฐ เอกชน และอาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมกำหนดกรอบหลักสูตรและจัดทำเนื้อหาวิชา
  • กำหนดตารางการอบรมเป็นวงรอบ อบรมช่วงปิดเทอม ทำเป็น Camp
  • อบรมโดยจังหวัด หรือกระจายเป็นภูมิภาค
  • อบรม Online ให้มีระบบการประเมิน ที่ตรวจสอบกระบวนการเข้าร่วมเรียนรู้ และความรู้หลังการอบรม
อีกประเด็นสำคัญคือข้อมูลจำนวนข้าราชการครู ซึ่งได้นำข้อมูลระดับวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามาพิจารณา โดยให้ความสำคัญต่อ "การเลื่อนและคงวิทยฐานะ" ที่จะต้องมีผลโดยตรงกับการพัฒนาครู การวิจัยในโรงเรียน และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน



ทั้งนี้ มาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 กำหนดให้มีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะๆ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการ หรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่ง โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด กรณีผู้ไม่ผ่านการประเมินให้ดำเนินการตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้
  1. ให้มีการพัฒนาผู้ได้รับวิทยฐานะให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถผ่านการประเมิน
  2. ให้ดำเนินการเลื่อนขั้น / งดเงินประจำตำแหน่งหรือเงินวิทยฐานะแล้วแต่กรณี
  3. ในกรณีที่ผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพ /ประสิทธิผลในระดับที่กำหนดให้สั่งผู้นั้นออกจากราชการตามมาตรา 110(6)
ประเด็นถัดไปสำหรับการส่งเสริมศักยภาพครู คือ "การใช้เครือข่ายอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง" โดยกำหนดให้โรงเรียน สพฐ. จำนวน 10,947 แห่ง เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศลงไปช่วยพัฒนาสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 9 เครือข่าย


นอกจากนี้ยังมี โครงการผู้นำเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน CONNEXT ED (Leadership Program for Sustainable Education) ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ซึ่งเป็นโครงการที่ผู้นำรุ่นใหม่จำนวน 1,000 คน จาก 12 องค์กรภาคเอกชนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ จะทำหน้าที่ 2 ประการ คือ เป็น School Partners ให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมและดำเนินงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่ง School Partners ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศ มีหลักการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1) สนับสนุนการดำเนินงานของผู้บริหารสถานศึกษาให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ (Enable) 2) ร่วมเสนอแนวทางพัฒนาโรงเรียนเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน (Enhance) 3) สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน (Engage)

อีกทั้งจะมีผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนทำหน้าที่เป็น School Sponsor โดยให้ข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการในปีแรกนี้จำนวน 3,342 โรงเรียน และคาดว่าจะขยายผลการดำเนินโครงการไปยัง 7,424 โรงเรียนทุกตำบลทั่วประเทศ ภายในปี 2561

*****************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559


ที่มาข้อมูล :
บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].


วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ภายใน 1 ปี ให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาและคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ประเทศไทยมีอัตราการเข้าเรียนระดับประถมศึกษาร้อยละ 96 ของจำนวนประชากรวัยเรียนทั้งหมด ใกล้เคียงกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ส่วนญี่ปุ่นมีอัตราเข้าเรียนร้อยละ 100, ในขณะที่ World Economic Forum ได้ประเมินตามตัวชี้วัดเสาหลักที่ 5 การอุดมศึกษาและการฝึกอบรม (Higher Education and Training) (ภาพรวมการอุดมศึกษาและการฝึกอบรม) พ.ศ. 2558-2559 ซึ่งเป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับ 140 ประเทศ พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 56 สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ยกเว้นมาเลเซียที่ได้อันดับที่ 36 และสิงคโปร์ที่เป็นอันดับ 1 ของโลกจากการประเมินในปีนี้



ในการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาและคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันนั้น ได้คำนึงถึงความเท่าเทียมกันใน 2 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม




1.ความเท่าเทียมด้านเศรษฐกิจ  กระทรวงศึกษาธิการได้พุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาเด็กไทยไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น แต่ก็พบปัญหาว่ายอดเด็กที่ขาดหายไป ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าย้ายไปเรียนที่ใด เนื่องจากยังไม่มีการ Mapping ข้อมูลการจัดการศึกษาระหว่างหน่วยงานที่จัดการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ดำเนินการ Mapping ข้อมูล เพื่อให้ทราบว่าเด็กตกหล่นไปเท่าไร อย่างไร เพื่อดำเนินการแก้ปัญหานี้ต่อไป





จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าจำนวนเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ป.1 ปีการศึกษา 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 633,852 คน ในขณะที่ตัวเลขเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ม.1 มีจำนวนทั้งสิ้น 624,911 คน แต่เมื่อเด็กจบ ม.3 ออกไปเหลืออยู่จำนวน 536,318 คน หรือเท่ากับเหลืออยู่ในระบบ 84.65% หายไปจากระบบการศึกษา 97,534 คน

จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องวางแผนด้วยการ "จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย" อย่างต่อเนื่องและให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งจัดทำระบบเพื่อบูรณาการแก้ปัญหาเด็กออกกลางคันและเด็กตกหล่นอย่างเป็นระบบ (ตามภาพล่าง)




ในส่วนของการดูแลเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กพิการ และเด็กด้อยโอกาส) ได้จัดการศึกษาแบบโรงเรียนเฉพาะ 48 แห่ง จำนวน 15,000 คน, การจัดการเรียนรวม จำนวน 300,000 คน และศูนย์การเรียน 77 แห่ง จำนวน 15,000 คน ครอบคุลมผู้เรียน จำนวน 341,000 คน


2.ความเท่าเทียมด้านคุณภาพ กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ประโยชน์จาก DLTV ในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนทั่วไป จำนวน 15,369 โรงเรียน ซึ่งมีผลทำให้ผลการเรียนในรายวิชา ป.6 และ ม.3 สูงขึ้นทุกวิชา ยกเว้นวิชาสังคมศึกษาเท่านั้นที่ลดลงเล็กน้อยทั้ง 2 ระดับชั้นดังกล่าว





ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ทั่วไป ได้ให้ทุกโรงเรียนสามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีคุณภาพ ขณะนี้ได้นำระบบ DLIT เข้ามาใช้ในโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ จำนวนทั้งสิ้น 15,553 โรงเรียน




******************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559

ที่มาข้อมูล :
บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].

บทความที่ได้รับความนิยม