หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี

เป็นที่น่ายินดีสำหรับคนราชุบรีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลอง บริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและไม่กีดขวางต่อการสร้างทางรถไฟรางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน

ภาพจำลอง
กู้แล้ว..จะเอาไปทำอะไร
ในบริเวณนั้น นอกจากมีลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (Unexploded ordnance : UXO)  จมอยู่จำนวน 6 ลูก ยังมีหัวรถจักรอีก 1 หัว จมอยู่ด้วย ในการเก็บกู้ในครั้งนี้ คงจะถือโอกาสเก็บกู้หัวรถจักรขึ้นมาให้ชมด้วย การปฏิบัติการครั้งนี้ คาดว่าจะลุล่วงไปด้วยดี เพราะไม่เกินขีดความสามารถของกองทัพไทย และคงไม่จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศแต่อย่างใด 

update ล่าสุด (29 ส.ค.2561) จากคำบอกเล่าของนักดำน้ำงมของเก่า
ลูกระเบิดที่พบยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นชนิดใด

ระหว่างที่รอการเก็บกู้อยู่นี้ สิ่งที่คนราชบุรีควรจะคิดคู่ขนานไปด้วย คือ กู้แล้วจะเอาไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หากไม่คิดเอาไว้ หัวรถจักรและลูกระเบิดที่กู้ขึ้นมานั้นจะกลายเป็นแค่เศษเหล็กกองหนึ่ง 

พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี
ความพยายามที่จะกู้หัวรถจักรขึ้นมาจากใต้แม่น้ำแม่กลอง เพื่อนำมาจัดแสดงเป็น "พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี" ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ มีความพยายามมากว่า 25 ปี แล้ว พอสรุปได้ดังนี้
  • พ.ศ.2535  ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล เป็น ผวจ.ราชบุรี  มีหนังสือหารือไปยัง พลโท ทวีสิทธิ์ สร้างสมวงศ์ เจ้ากรมการทหารช่าง พิจารณาตรวจสอบและความเป็นไปได้ในการกู้หัวรถจักร
  • พ.ศ.2540 นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ส.ส.ราชบุรี เขต 2 ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.กต. เชิญ พลโทวิษณุ อุดมสรยุทธ เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นประธานการดำเนินการนำหัวรถจักรฯ ขึ้นมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ เหตุเกิดในสมัย นายมานิต ศิลปะอาชา เป็น ผวจ.ราชบุรี
  • พ.ศ..2548  สมัย พลโท ชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง มีการดำน้ำลงไปสำรวจหัวรถจักร และลูกระเบิดที่จมอยู่  ในสมัย นายพลวัตร ชยานุวัชร เป็น ผวจ.ราชบุรี 
  • พ.ศ.2549-2550 นายพิชัย นันทชัยพร  นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองราชบุรี จัดตั้งคณะทำงานโครงการ "The  Last  Engine  of The World War II"  เพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และก่อสร้างช่องทางชมรถจักรใต้สะพานจุฬาลงกรณ์  เหตุเกิดในสมัย นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์ เป็น ผวจ.ราชบุรี
หลังจากนั้นมา เรื่องการกู้หัวรถจักร เพื่อนำมาจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี นี้ ก็เงียบหายไป  แม้แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ปัจจุบัน ก็ไม่มีการจัดแสดงเรื่องราวของ "สงครามโลกครั้งที่ 2 กับ จ.ราชบุรี" ไว้ให้ชมแต่อย่างใด  ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ควรทำ


สนามหญ้าบริเวณหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
ที่วางแผนจะนำหัวรถจักรสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ นำมาจัดแสดงไว้

แต่เดิมผู้บริหารในสมัยนั้น วางแผนจะนำหัวรถจักรที่จมอยู่ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ (หากกู้ได้) มาจัดแสดงไว้บริเวณสนามหญ้าหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และให้ทางพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 กับ จ.ราชบุรี ตามไปด้วย ซึ่งมีเนื้อหาและเรื่องราวมากมายให้นำมาร้อยเรียง อาทิ
  • การจำลองผังการตั้งค่ายของญี่ปุ่น ใน จ.ราชบุรี
  • การทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ใน จ.ราชบุรี ถึง 6 ครั้ง โดยเฉพาะการโจมตีสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ และที่ประตูน้ำบางนกแขวก
  • เหตุการณ์การเสียชีวิตของหลวงนิคมคณารักษ์ (เทียน กำเหนิดเพชร)  ผวจ.ราชบุรี ที่ถูกระเบิดเสียชีวิต บริเวณสี่แยกสะพานดำ ในรุ่งเช้าวันที่ 15 ม.ค.2488 
  • เหตุการณ์ที่ชุมทางหนองปลาดุก จุดเริ่มต้นของทางรถไฟสายมรณะ    
  • สภาพความเป็นอยู่ของบ้านเมืองและประชาชนในสมัยนั้น 
  • ฯลฯ
ภาพการทิ้งระเบิดโจมตีประตูกั้นน้ำคลองดำเนินสะดวก
จากเครื่อง B-24 หน่วยบินที่ 356 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2488
ที่มาของภาพ https://pantip.com/topic/31885621
ผมเคยไปเยี่ยมชมหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ จ.กาญจนบุรี และพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย – ญี่ปุ่น ที่ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ผมรู้สึกอิจฉาว่า ทำไม?  เขาถึงสร้างพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ แต่ จ.ราชบุรีเราเอง ยังทำไม่สำเร็จสักที ไม่รู้ติดขัดด้วยเรื่องอันใด

หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ จ.กาญจนบุรี
(ของเอกชน)
พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย – ญี่ปุ่น
ที่ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน
ในโอกาสที่จะมีการเก็บกู้ลูกระเบิดและหัวรถจักร ขึ้นมาให้เราได้ยลโฉมในเร็ววันนี้  จึงถือเป็นโอกาสดีของชาวราชบุรีจะได้เริ่มหยิบยกเรื่องนี้ ขึ้นมาทบทวนกันอีกครั้งกับการสร้าง "พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี"  อย่างที่จังหวัดอื่นๆ เขาทำกัน งานนี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคราชการ เอกชน และภาคประชาสังคม ใน จ.ราชบุรี ถึงคราวต้องร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจัง หาช่องทางและงบประมาณ รวมทั้งระดมทรัพยากรต่างๆ  ที่มีอยู่มาสร้างฝันให้สำเร็จ   

สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ 
เรื่องราวของ "สงครามโลกครั้งที่ 2 กับ ราชบุรี" นี้ มีเรื่องราวมากมายที่สามารถนำมาจัดแสดงได้ แต่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี ปัจจุบัน อาจคับแคบเกินไปไม่มีพื้นที่พอให้จัดแสดง สถานที่ที่น่าเหมาะสมคือ "บริเวณจวนผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี หลังเก่า" ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง มองเห็นวิวสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ หัวรถจักรและลูกระเบิดที่กู้ได้สามารถนำมาจัดแสดงไว้ในสนาม หากถ่ายรูปก็จะมองเห็นสะพานจุฬาลงกรณ์ไปด้วย ผู้เข้าชมสามารถจินตนาการได้ง่าย ส่วนจวนผู้ว่าฯ ก็ใช้เป็นอาคารจัดแสดงในร่ม นอกจากนั้น ความสำคัญอีกประการ คือ บริเวณที่แห่งนี้และตลอดริมน้ำแม่กลองแถวนั้น เป็นสถานที่ตั้งของค่ายทหารญี่ปุ่นจริงๆ


แผนผังการตั้งค่ายของทหารญี่ปุ่นในเมืองราชบุรี
หากทำได้ ที่แห่งนี่ จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และการสงครามแห่งใหม่ของ จ.ราชบุรี สามารถถ่ายถอดเรื่องราวในอดีตให้คนรุ่นปัจจุบันได้ศึกษาเรียนรู้ นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวกับประตูและกำแพงเมืองราชบุรีโบราณ พิพิธภัณฑ์ทหารช่าง และศาลเจ้าพ่อหลักเมืองราชบุรี ฝั่งตรงข้าม บริเวณค่ายภาณุรังษีได้อีกด้วย 

*****************************************
จุฑาคเชน 31 ส.ค.2561

อ่านเพิ่มเติม ความพยายามในการกู้หัวรถจักร ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ยังไงก็ต้องกู้ ชาวเมืองราชบุรีเตรียมอพยพ

จากบทความเรื่อง "ถึงเวลาค้นหาลูกระเบิดใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ อีกครั้ง.. " (อ่านรายละเอียด)  ที่เขียนเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2561 ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายของ "คนราชบุรี" ว่า ตกลงแล้วจะเอาอย่างไรกับลูกระเบิดทั้ง 3 ลูกที่จมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลองแห่งนี้ 




เรื่องลูกระเบิดที่พบว่ามันยังไม่ระเบิดหรือ เรียกง่ายๆ ว่า "ลูกระเบิดด้าน" ซึ่งตกค้างมาจากผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีให้เห็นอยู่มากมายในประเทศที่เข้าร่วมสงคราม โดยเฉพาะตามเมืองสำคัญที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ พอจะยกตัวอย่างที่เป็นข่าวให้เห็นว่ามีการพบและการเก็บกู้ ได้ดังนี้

ต่างประเทศ
  • 22 พ.ค.2558  ทีมเก็บกู้ระเบิดใต้น้ำของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติประเทศกัมพูชา (CMAC)  ดำเนินเก็บกู้ทุ่นระเบิด MK 80 เป็นทุ่นระเบิดเก่าสมัยสงครามเมื่อหลายสิบปีก่อน หนัก 227 กิโลกรัม ซึ่งจมอยู่ใต้แม่น้ำโขงที่ความลึก 7 เมตรได้สำเร็จ เหตุเกิดใน จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา
  • 20 ธ.ค.2559 ที่เมืองเอาส์บวร์ก ประเทศเยอรมนี พบลูกระเบิดขนาด 1.8 ตัน   ที่ถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินรบของอังกฤษ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ใช้เวลาเก็บกู้ประมาณ 4 ชั่วโมง โดยทำการอพยพชาวเมืองจำนวน 54,000 คน ที่อาศัยอยู่ในรัศมี 1.5 กิโลเมตร ไปยังที่ปลอดภัย
  • 12 ก.พ.2560  เก็บกู้ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองเธสซาโลกินี ประเทศกรีซ ทำการอพยพประชาชนจำนวน 72,000 คนออกจากพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย
  • 2 ต.ค.2560  กู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำหนักกว่า 250 กิโลกรัมในพื้นที่ก่อสร้างใกล้กับจัตุรัสอินส์บรุค ย่านเขตเชินเนอร์แบร์ก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ต้องอพยพประชาชนกว่า 10,000 คนออกจากพื้นที่
  • 13 ก.พ.2561 ราชนาวีอังกฤษ ตำรวจนครบาล และหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด ทำการเก็บกู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นํ้าหนัก 500 กิโลกรัม ในแม่นํ้าเทมส์ บริเวณอู่จอดเรือพระเจ้าจอร์จที่ 5 ประเทศอังกฤษ ต้องทำการปิดท่าอากาศยานลอนดอน ซิตี้ เป็นการชั่วคราว และสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงในรัศมี 214 เมตร  เพื่อความปลอดภัย
  • 11 พ.ค.2561  เจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงเก็บกู้ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นของทหารอเมริกันมีน้ำหนักราว 1,000 ปอนด์หรือ 450 กก.จากบริเวณแหล่งก่อสร้างในเขตหว่านไจ๋ ย่านธุรกิจสำคัญของฮ่องกง ทำการอพยพคนงาน ชาวบ้านและพนักงานออฟฟิศราว 1,200 คน ออกจากพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย 
เก็บกู็ทุ่นระเบิดในประเทศกัมพูชา โดย CMAC 

ในประเทศไทย
  • 2 เม.ย.2557 ลูกระเบิดขนาด 500 ปอนด์ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดระเบิดขึ้นบริเวณร้านขายของเก่า เลขที่ 9/1 ภายในซอยลาดปลาเค้า 72 แยก 14 กรุงเทพมหานคร
  • 2 มิ.ย.2557 พบลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่อยู่ในแนวเดียวกับสถานีรถไฟบางซื่อ 2 กรุงเทพมหานคร เป็นลูกระเบิดขนาด 500 ปอนด์ หรือที่เรียกว่า ระเบิด GP500  (General Purpose)  
  • 6 มี.ค.2558 กู้ระเบิดแบบเจาะเกราะจากอากาศสู่พื้นดิน น้ำหนัก 1600 ปอนด์ ซึ่งตกค้างจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กลางแม่น้ำหลังสวน ต.หลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ทำการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่รัศมี 300 เมตร เพื่อความปลอดภัย
การกู้ระเบิดที่ แม่น้ำหลังสวน จ.ชุมพร
ยังไงก็ต้องกู้..
ตามหลักการจริงๆ แล้วระเบิด 3 ลูกที่พบว่าจมอยู่ใต้น้ำบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ ต้องได้รับการกู้ตั้งแต่ปีที่พบแล้ว คือ ปี พ.ศ.2548 แต่เนื่องจากไม่มีใครกล้าพอที่จะเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในขณะนั้น พวกเขากลับเลือกที่จะเมินเฉย ปล่อยให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงซึ่งไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อใด  


ลูกระเบิดที่จมบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ คาดว่าจะเป็น AN-M65 1,000 ปอนด์ 
ส่วนในต่างประเทศ เมื่อได้รับรายงานว่ามีการพบลูกระเบิดตกค้าง รัฐบาลรีบสั่งการหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้ทำการเก็บกู้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนของเขา 


การเก็บกู้ในประเทศเยอรมัน
ในปี พ.ศ.2561 นี้ มีโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่มาเป็นตัวเร่งปฏิกริยา เพราะต้องมีการสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองคู่กับสะพานจุฬาลงกรณ์เดิม จึงทำให้เรื่องลูกระเบิดทั้ง 3 ลูกนี้ ถูกหยิบหยกขึ้นมาพิจารณากันอีกครั้ง แต่ดูเหมือนรูปการณ์กำลังจะเป็นแบบเดิม คือ ไม่มีใครกล้าที่จะเป็นเจ้าภาพ ต่างคนต่างโยนกันว่าไมใช่หน้าที่ของตนเอง  

ท้ายที่สุดก็ไม่พ้น..
หากเราหันกลับไปดู พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 (19 พ.ค. 2560) แล้ว ภัยจากลูกระเบิดนี้ ถือได้ว่าเป็น "สาธารณภัย"  ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ควรมีหน้าที่เข้ามาช่วยวางแผนและกำกับดูแล แต่พอลงถึงระดับปฏิบัติแล้ว ไม่ว่าหน่วยงานใดก็ตามที่จะเข้ามาช่วยเก็บกู้ลูกระเบิดครั้งนี้ ก็คงไม่พ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในฐานะผู้อำนวยการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตจังหวัดราชบุรี  ที่ต้องรับผิดชอบการเก็บกู้ลูกระเบิดในครั้งนี้ตามหน้าที่ ดูตัวอย่างได้จาก การกู้ภัยทีมหมูป่าที่ติดถ้ำหลวง เขตวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ที่ผ่านมา


แนวการสร้างสะพานรถไฟรางคู่ข้ามแม่น้ำแม่กลอง

ชาวเมืองราชบุรีเตรียมอพยพ...
ยังไงเสียการเก็บกู้ลูกระเบิดใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ต้องเกิดขึ้นแน่ เพราะไม่มีใครยอมปล่อยให้ภัยเงียบซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดอันตรายขึ้นเมื่อใด อยู่ในบ้านของตนเอง ประกอบกับการที่จะต้องสร้างตะม่อสะพานรถไฟรางคู่ข้ามแม่น้ำอีก ทั้ง 2 ประการนี้คือ เหตุผลสำคัญที่ต้องกู้ลูกระเบิดทั้ง 3 ลูกนี้แน่นอน และนอกจากนั้น อาจต้องมีการดำน้ำสำรวจแบบสแกนพื้นที่แนวเขตก่อสร้างด้วย เพราะไม่แน่ว่าอาจจะพบลูกระเบิดเพิ่มเติมอีกก็ได้  

ส่วนแผนการอพยพประชาชนโดยรอบว่าจะต้องมีรัศมีความปลอดภัยกี่ร้อยเมตร มีความจำเป็นต้องสร้างบังเกอร์อีกชั้นเพื่อป้องกันหรือไม่  ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเก็บกู้ระเบิดนานเท่าใดนั้น เรื่องราวเหล่านี้คงต้องรอฟังจากคณะทำงานฯ ซึ่งคงจะต้องมีการตั้งขึ้นในอนาคต ต่อไป     

เหตุผลที่ต้องอพยพประชนชนออกจากพื้นที่โดยรอบ เพราะไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่า ลูกระเบิดที่จะทำการกู้ครั้งนี้ จะไม่เกิดระเบิดขึ้นมาอีก ดังนั้นจึงต้องเลือกวิธีการที่เรียกว่า "ปลอดภัยไว้ก่อน" เสมอ  

**************************
จุฑาคเชน : 24 ส.ค.2561

ที่มาข้อมูล
  • ไทยรัฐออนไลน์.(2558).อีโอดีกู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่2จากกลางแม่น้ำหลังสวน.[Online].Available :https://www.thairath.co.th/content/485381. [2561 สิงหาคม 24].
  • ไทยรัฐ.(2558).กัมพูชากู้ระเบิดกว่า 200 กก. จากแม่น้ำโขง.[Online].Available :https://www.youtube.com/watch?v=x0bA3Nyh5jc. [2561 สิงหาคม 24].
  • ไทยพีบีเอส.(2561).อังกฤษกู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สำเร็จ.[Online].Available :https://news.thaipbs.or.th/content/270168. [2561 สิงหาคม 24].
  • วอยส์ทีวี. (2559).เยอรมันนีอพยพคน กู้ระเบิดสมัยสงครามโลก.[Online].Available :https://www.voicetv.co.th/read/445767. [2561 สิงหาคม 24].
  • Springnews. (2560).โล่งอก! กรีซกู้ระเบิดสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 สำเร็จ.[Online].Available :https://www.youtube.com/watch?v=9J06winYvvU. [2561 สิงหาคม 24].
  • โพสต์ทูเดย์. (2559).ปฏิบัติการเก็บกู้ระเบิดขนาด 1.8 ตัน ในเมืองเอาส์บวร์กสำเร็จเสร็จสิ้น.[Online].Available :https://www.posttoday.com/world/472223. [2561 สิงหาคม 24].
  • เดลินิวส์. (2561).อพยพ1,200คน! ตร.ฮ่องกงเก็บกู้ระเบิดสมัยสงครามโลก.[Online].Available :https://www.msn.com/th-th/news/world/อพยพ1200คน-ตรฮ่องกงเก็บกู้ระเบิดสมัยสงครามโล/AAx6kq7#image=AAx6kq7_1|2. [2561 สิงหาคม 24].

วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

หอนาฬิกา : สนามหญ้าราชบุรี สร้างเพื่อเตือนสติผู้คน

หอนาฬิกา บริเวณสนามหญ้าราชบุรี สร้างขึ้นเพื่อนำพาให้ชาวจังหวัดราชบุรีได้ดูเวลา และเป็นคนตรงต่อเวลา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งที่จะต้องส่งเสริมในสมัยนั้น

หลายท่านที่มาเยี่ยมชมในเขต อ.เมืองราชบุรี ก็มักจะกล่าวถึง "หอนาฬิกา" ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองริมแม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันบริเวณโดยรอบเป็นร้านขายอาหาร ขนม และเครื่องดื่มนานาชนิด บางร้านเปิดให้บริการแบบโต้รุ่ง ซึ่งคนราชบุรีเรียกชื่อติดปากกันว่า "สนามหญ้า"  ทั้งๆ ที่ปัจจุบัน ไม่มีหญ้าให้เห็นแม้แต่ต้นเดียว

ภาพสวนสาธารณะ ขณะยังไม่ได้สร้างหอนาฬิกา และยังไม่ได้เป็นตลาดโต้รุ่ง
สนามหญ้านี่แต่เดิมมีสถานะเป็น "สวนสาธารณะ" ของเทศบาลเมืองราชบุรี มีหญ้าขึ้นจริงๆ ขนาดกว้าง 64 เมตร ยาว 100 เมตร มีรั้วไม้ล้อมรอบ มีซุ้มประตูทางเข้า 5 ประตู ตรงกลางจัดทำเสาธงชาติขนาดสูง 15 เมตร มอบให้สถานีตำรวจราชบุรี มีหน้าที่อัญเชิญธงชาติขึ้น-ลงเป็นประจำวัน รอบๆ สนามได้จัดตั้งม้านั่ง สำหรับประชาชนมานั่งพักผ่อน และมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับอย่างสวยงาม 

หอนาฬิกาสาธารณะ 
เมื่อประมาณเดือนเมษายน พ.ศ.2497 ซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทางกระทรวงวัฒนธรรม มีนโนบายให้เขตเทศบาลและตามชุมนุมที่สำคัญต่างๆ ต้องจัดให้มีนาฬิกาสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้ดูเวลา และเป็นผู้ตรงต่อเวลา อันเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งที่จะต้องส่งเสริม โดยมีความสูงพอที่ประชาชนจะเห็นได้ง่าย ดังนั้น เทศบาลเมืองราชบุรี จึงได้จัดการประมูลเพื่อก่อสร้างหอนาฬิกาแห่งนี้ขึ้น โดยตัวหอนาฬิกามีความสูง 19 เมตร แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นบนติดหน้าปัทม์ด้านละ 2 เมตร รวม 4 ด้าน ชั้นกลางเป็นห้องตั้งนาฬิกา และติดลำโพงเครื่องขยายเสียง บนยอดของหอนาฬิกาติดตั้งเครื่องบอกทิศทางลม ส่วนชั้นล่างสุดทำเป็นห้องขยายเสียงและติดตั้งเครื่องรับวิทยุสาธารณะ สำหรับเปิดให้ประชาชนฟัง และทำการกระจายเสียงแจ้งข่าวสารราชการและรับโฆษณาสินค้าของห้างร้านต่างๆ ออกแบบโดย นายไฉน กฤษณะเศรณี ช่างจัตวาเทศบาลเมืองราชบุรี ผู้ที่ประมูลการก่อสร้างหอนาฬิกาสาธารณะนี้ได้ คือ บริษัท หัตถกิจ จำกัด ในราคา 75,000 บาท

หอนาฬิกาสาธารณะ
ตัวหอราคา 75,000 บาท
ตัวนาฬิกายี่ห้อฮอยเออรฺ์ 4 ด้าน ราคา 26,000 บาท

ติดตั้งนาฬิกาฮอยเออร์จากประเทศเยอรมันนี
ตัวหอนาฬิกา เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2498 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2499 รวมใช้เวลาก่อสร้าง 152 วัน สำหรับตัวนาฬิกา ได้จัดซื้อจาก บริษัท ศรีสุทธา จำกัด รวมค่าติดตั้งแล้วเป็นเงิน 26,000 บาท เป็นนาฬิกายี่ห้อฮอยเออร์ทำจากประเทศเยอรมันนี หน้าปัทม์กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร 4 ด้าน ตัวเครื่องใช้มอเตอร์ไฟฟ้าไขลานโดยอัติโนมัติ มีลูกตุ้มแกว่ง 

เปิดหอนาฬิกา
หอนาฬิกาสาธารณะ แห่งนี้กระทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2499 เวลา 09:00 น. โดยมีนายวิชัย มณีรัตน์ นายกเทศมนตรีเมือ่งราชบุรี เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี นายแม้น อรจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีเปิด และในช่วงกลางคืนจัดให้มีการแสดงหัสดนตรี เพื่อทำการฉลองหอนาฬิกาแห่งนี้ด้วย



ให้หอนาฬิกาแห่งนี้เป็น "หลักชัย" 
ในตอนท้ายของคำกล่าวเปิดหอนาฬิกาของนายแม้น อรจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังตอนหนึ่งว่า "ขออานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกมาเป็นอภินิหารบรรดาลดลให้ หอนาฬิกาสาธารณะ แห่งนี้ เป็นหลักชัย สถิตย์สถาพร นำให้ชาวราชบุรีเจริญก้าวหน้า ในอันเป็นผู้ตรงต่อเวลา และระลึกถึงกาลเวลาทุกๆ วินาที มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิต เร่งประกอบกิจอันเป็นคุณงามความดีให้แก่ตนและส่วนรวม อย่าให้เวลาล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์หรือเกิดโทษแก่ตนและส่วนรวม...."




ปัจจุบันหอนาฬิกา และบริเวณสภาพแวดล้อมโดยรอบ มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก แต่อย่างหนึ่งที่มันยังคงทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ คือ "เวลา" ที่มันยังคงเดินไปเรื่อยๆ จนถึงบัดนี้ หอนาฬิกาก็มีอายุย่างเข้า 62 ปีแล้ว หวังว่าชาวราชบุรีหรือใครก็ตาม ที่ได้พบเห็น ขอให้พึงระลึกถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างหอนาฬิกาสาธารณะแห่งนี้ไว้เสมอ คือ "การเป็นคนที่ตรงต่อเวลา" 

**************************
ชาติชาย คเชนชล : 18 ส.ค.2561

ที่มาข้อมูล
เทศบาลเมืองราชบุรี. (2500). ที่ระลึกวันครบรอบปีที่ 21 10 ธันวาคม 2499. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประยูรวงศ์.