วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

เมืองเก่าราชบุรีกับการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่าทำขนมเสร็จแล้วมาให้กิน

เมืองเก่า หมายถึง เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะแห่ง สืบต่อมาแต่กาลก่อน หรือมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือมีลักษณะจำเพาะของสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีคุณค่าทางศิลปะ โบราณคดี หรือประวัติศาสตร์ เป็นมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าของชาติ

เมืองเก่าราชบุรี 
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าบริเวณเขตตัวเมืองราชบุรี ได้รับการประกาศเป็น "เขตเมืองเก่าราชบุรี" จึงขอสรุปเรื่องราวความเป็นมาให้ทราบ โดยสังเขปดังนี้  

คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเรื่อง ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าสุรินทร์ เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองเก่าระนอง เมื่อ 11 เม.ย.2560 โดยขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี เป็นไปตามภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี "ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546"

ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำ "กรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า จัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท กลไก และกระบวนการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่า" เพื่อให้บริเวณเมืองเก่าได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไป 

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ พร้อมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป 

หากมีกรณีขอบเขตพื้นที่เมืองเก่ามีพื้นที่คาบเกี่ยวหรืออยู่ในเส้นทาง/เขตทาง/พื้นที่ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับฟังความเห็นของกระทรวงนั้นๆ ด้วย 

ให้ขยายขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรีออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่วัดสัตตนารถปริวัตร ด้วยเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นโบราณสถาน (ในภาพด้านบนยังไม่แสดงขอบเขตที่ขยายไว้ เพราะต้นฉบับยังไม่ได้แก้ไข)

การดำเนินการใด ๆ กับโบราณสถาน ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการนำกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า
ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเรียกว่า "คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรี" ประชุมกันครั้งแรกเมื่อ 15 มิ.ย.2561 โดยมี สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี เป็นหน่วยงานเจ้าเรื่องในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ใครเป็นใครบางในคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ลองสืบค้นกันดูเองครับ ที่สำคัญ คงจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง ด้านสังคมวิทยา ด้านการพัฒนาชุมชนและการมีส่วนร่วม ด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและเมือง   ด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน สถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตย์ ด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ ด้านกฏหมาย ด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านการออบแบบเมือง เป็นต้น 

โครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าราชบุรี
สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี ได้มอบหมายให้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยกลุ่มวิจัยและปฏิบัติการชุมชนเมือง (City Lab) ดำเนินโครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าราชบุรี โดยมี ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ เป็น หัวหน้าโครงการฯ 

โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ จัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท แนวทาง แผนปฏิบัติ และมาตรการต่างๆ ในการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณบริเวณเมืองเก่า โดยการมีส่วนร่วม เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาของทุกภาคส่วนในพื้นที่ 

การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อ 17 ก.ย.2561
การรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 
สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 จากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2561 ณ โรงแรมเวสเทิร์นแกรนด์ อ.เมือง จ.ราชบุรี การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างเงียบๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง มีผู้เข้ารับฟังบางตา  บางคนบางกลุ่มก็ดูเหมือนจะผิดฝาผิดตัว  กลุ่มคนที่ทำงานขับเคลื่อนภาคประชาสังคมของราชบุรี ในสาขาต่างๆ หลายคน กลับไม่ทราบ และไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับฟังฯ แต่อย่างใด   

ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น

อย่าทำขนมเสร็จแล้วมาให้กิน 
การประกาศ "เขตเมืองเก่าราชบุรี" ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของชาวราชบุรี ที่จะได้พัฒนาเมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะจะช่วยสานฝันตามนโยบาย นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี คนปัจจุบัน คือ การจัดสร้างหอศิลปะวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรราชบุรี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านราชบุรี  พิพิธภัณฑ์ตำรวจราชบุรี และที่สำคัญ คือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี ชาวราชบุรีได้ฟังนโยบายแล้ว รู้สึกปลื้ม! 

แกนนำหลักที่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ ก็คงไม่พ้น หน.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ซึ่งเปรียบเสมือนภัณฑารักษ์คนสำคัญ กับ วัฒนธรรม จ.ราชบุรี ที่กำความรู้เรื่องวัฒนธรรมราชบุรีไว้มากที่สุด จึงขอให้ท่านทั้งสองช่วยเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยกันสร้าง "ตำนาน" ให้คนรุ่นหลังได้จดจำ เห็นว่าได้เริ่มไปศึกษาดูงาน ณ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ที่ จ.เชียงใหม่ กันแล้วเมื่อ 18 ก.ย.2561 ที่ผ่านมา 

ศาลแขวงราชบุรี จะจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านราชบุรี
สิ่งสำคัญที่สุดที่ทางราชการควรให้ความสนใจ คือ การให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เขาจะได้รู้สึกว่า ได้ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทำ และเมื่อทำสำเร็จแล้ว เขาก็จะรู้สึกรักและหวงแหน นี่คือ กลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้เมืองราชบุรี เป็นเมืองทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง  

ภาคราชการไม่ควรทำขนมคนเดียว พอเสร็จแล้วจึงเอามาให้ประชาชนกิน แล้วให้บอกว่าอร่อย แต่ที่ท่านควรทำ คือ ชักชวนภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้มาช่วยกันทำขนมตั้งแต่เริ่มต้น พอขนมเสร็จแล้ว จึงเรียกได้ว่า "เป็นขนมที่พวกเราทั้งหมดช่วยกันทำ"   

**************************
จุฑาคเชน : 20 ก.ย.2561  

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

คิดต่อให้จบ "รักราชบุรีร่วมสร้างราชบุรี"

เป็นที่สรุปแล้ว คณะทำงานร่วมเพื่อประสานงานการดำเนินการก่อสร้างรถไฟรางคู่ในพื้นที่ จ.ราชบุรี  ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2561  ให้ดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่บริเวณโดยรอบใต้สะพานจุฬาลงกรณ์เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และไม่กีดขวางการสร้างสะพานรถไฟรางคู่ข้ามแม่น้ำแม่กลอง โดยจะเริ่มดำเนินการหลังระดับน้ำในแม่น้ำแม่กลองเข้าสู่ภาวะปกติ ประมาณปลายเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งคาดว่าใช้เวลาในการเก้บกู้ประมาณ 3-4 เดือน ส่วนการกู้หัวรถจักรไอน้ำจะต้องพิจารณากันอีกครั้งหลังจากการกู้ระเบิดแล้วเสร็จ 


รายชื่อคณะทำงานที่จะดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดฯ จะตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้ยกร่างฯ รายชื่อ เสนอผ่านไปยัง กระทรวงคมนาคม เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ออกคำสั่ง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องตามขอบข่ายของอำนาจ

คิดต่อให้จบ..... 
จ.ราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างช่วงปี พ.ศ.2485-2488 โดยเป็นที่ตั้งค่ายของทหารญี่ปุ่นถึง 3 ค่าย และบริเวณสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง ยังถือจุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟสายมรณะไทย-พม่า อีกด้วย เชลยศึกชาวต่างชาติที่ถูกญี่ปุ่นจับมาสร้างทางรถไฟ ล้วนต้องเดินทางผ่านสถานที่แห่งนี้ทุกคน และบางส่วนก็ตั้งแคมป์อยู่บริเวณนี้ด้วย และในช่วงท้ายสงคราม จ.ราชบุรี ยังเป็นเป้าหมายโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรถึง 7 ครั้ง จนกระทั่ง "สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์"  ต้องหักสะบั้นลง ญี่ปุ่นต้องสร้างสะพานรถไฟขึ้นใหม่ด้วยไม้แทน เปิดใช้งานอย่างหนักจนสะพานรับน้ำหนักไม่ไหว ส่งผลให้หัวรถจักรไอน้ำขณะที่วิ่งข้าม หล่นจมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลองจนถึงทุกวันนี้ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวราชบุรีในช่วงสงครามอยู่ในขั้นข้าวยากหมากแพง แต่ก็ยังมีเรื่องราวดีดีระหว่างมิตรภาพของทหารญี่ปุ่นกับชาวราชบุรีให้น่าบันทึกจดจำอีกด้วย  

แต่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชบุรีนี้ กลับไม่ได้มีการบันทึกหรือจัดแสดงไว้ให้เห็นเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด  แม้แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ที่ควรจะมี ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็น 


จุดเริ่มต้นทางรถไฟสายมรณะ ไทย-พม่า เริ่มต้นที่
สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก

ในโอกาสที่จะมีการเก็บกู้ลูกระเบิดและหัวรถจักรไอน้ำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ใต้ลำน้ำแม่กลองมากว่า 70 ปี ขึ้นมาให้เราเห็นในต้นปีหน้า (พ.ศ.2562) คนราชบุรีจึงต้องช่วยกันคิดต่อว่าเมื่อเอาขึ้นมาแล้วจะทำอะไรต่อไป 


พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี 
ผมเคยเขียนเรื่อง "พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี"  (อ่านรายละเอียด) ไว้แล้ว ลองคลิกอ่านดูนะครับ  ความฝันที่จะมีพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของราชบุรี มีมานานแล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จ จนกระทั่งบัดนี้ ถือเป็นโอกาสเหมาะ ที่ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม หาช่องทางที่จะสร้างให้ได้ ซึ่งจะยังประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้  และยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สงครามได้อีกแห่งหนึ่งเพื่อเชื่อมโยงกับ จ.กาญจนบุรี รวมทั้งเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวของเดิมที่ราชบุรีมีอยู่แล้ว เช่น เจ้าพ่อหลักเมือง พิพิธภัณฑ์ทหารช่าง กำแพงเมืองโบราณ ประตูเมืองเก่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตลาดเก่าโคยกี๊ เป็นต้น  

เขตเมืองเก่าราชบุรี
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อ 11 เม.ย.2560 เรื่อง ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าสุรินทร์ เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองเก่าระนอง  ซึ่งพอสรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับราชบุรีบ้านเรา ได้ดังนี้
  1. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรีป็นไปตามภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี "ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546" 
  2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดทำกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า จัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท กลไก และกระบวนการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่า เพื่อให้บริเวณเมืองเก่าได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไป 
  3. ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ พร้อมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป  
  4. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หากมีกรณีขอบเขตพื้นที่เมืองเก่ามีพื้นที่คาบเกี่ยวหรืออยู่ในเส้นทาง/เขตทาง/พื้นที่ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า ซึ่งหากมีการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เมืองเก่าต้องมีการตรวจสอบร่วมกันและพิจารณาแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าและกรอบเวลาให้ชัดเจนเพื่อให้หน่วยงานสามารถวางแผนงาน/โครงการได้ 
  5. ขยายขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรีออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่วัดสัตตนารถปริวัตร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นโบราณสถาน 
  6. การดำเนินการใด ๆ กับโบราณสถาน ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการนำกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง 
ที่ผมเขียนเรื่อง การประกาศเขตเมืองเก่าราชบุรี ให้ทราบนั้น เผื่อว่ามันอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเสนองบประมาณในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี (บางส่วนบางตอน) ได้ คงต้องคิดหาทางกันต่อไป 

รักราชบุรี ร่วมสร้างราชบุรี
การสร้างพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก ทั้งสถานที่ รูปแบบ การบริหารจัดการ และงบประมาณที่จะนำมาก่อสร้าง แต่คิดว่าคงไม่เกินความสามารถ หากทุกภาคส่วนมีความตั้งใจจริง ออกมาร่วมคิดร่วมทำกัน รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างตำนานให้คนรุ่นหลังต่อไป 
  • ภาคราชการเป็นผู้นำ ต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไร?  ช่วยกันหาช่องทางเพื่อเสนอขออนุมัติรัฐบาลในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์  และขอรับการสนับสนุนงบประมาณผ่านช่องทางต่างๆ มาสนับสนุน  หน่วยงานส่วนกลางที่น่าจะเป็นเจ้าภาพหลัก  คือ การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ส่วนหน่วยงานท้องถิ่น ก็คงเป็น อบจ.ราชบุรี และเทศบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบ   
  • ภาคเอกชนสนับสนุน  ต้องช่วยส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันแนวคิด ช่วยหางบประมาณมาเสริมเติมในส่วนที่ขาดเหลือ  ภาคเอกชนที่มีศักยภาพในราชบุรีมีหลายแห่ง เช่น สภาอุตสาหกรรม จ.ราชบุรี หอการค้า จ.ราชบุรี  บริษัทกลุ่มพลังงานราชบุรี  รวมทั้งสโมสร มูลนิธิการกุศลต่างๆ เป็นต้น  
  • ภาคประชาสังคมร่วมใจ กลุ่มคนต่างๆ ที่รักราชบุรี  กลุ่มพ่อค้า ประชาชน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา  ที่อยากเห็นราชบุรีเจริญงอกงามขึ้น ต้องออกมาช่วยสนับสนุนยืนยันความต้องการการสร้างพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้  อย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจของรัฐบาล
ช่วยกันคิดนะครับ และต้องคิดตั้งแต่เดี๋ยวนี้

"หน้าที่ ตำแหน่ง ยศฐาบรรดาศักดิ์ เมื่อถึงเวลาก็หมดไป แต่ "ตำนาน" ต่างหาก ที่ยังคงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน  ทำให้ได้ใน คนรุ่นเรา นี่แหละครับ"

ภาคราชการเป็นผู้นำ ภาคเอกชนสนับสนุน ภาคประชาสังคมร่วมใจ ทุกอย่างสำเร็จแน่นอนครับ

****************************
จุฑาคเชน : 11 ก.ย.2561




วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561

แกะรอยลูกระเบิดใต้สะพานจุฬาลงกรณ์

การเก็บกู้ลูกระเบิดและหัวรถจักรไอน้ำบริเวณใต้สะพานจุฬาลงกรณ์เมืองราชบุรีนั้น กว่าจะได้ลงมือปฏิบัติกันจริงๆ ก็คงต้องรอหลังลอยกระทงไปแล้ว เพื่อให้ผ่านฤดูน้ำหลากไปก่อน กระแสน้ำก็จะอ่อนลง และน้ำก็จะใสกว่าในปัจจุบัน 




ในช่วงระหว่างที่รอเวลาอยู่นี้ การเตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อนในทุกๆ เรื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ "การแกะรอยลูกระเบิดที่จมอยู่" นับเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ควรจะทำอย่างยิ่ง หากสามารถสมมติฐานได้ขั้นต้นว่าเป็นลูกระเบิดชนิดใด จะทำให้เจ้าหน้าที่ EOD ทำงานได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น นำมาสู่การตัดสินใจของคณะทำงานฯ ต่อไป

การแกะรอยลูกระเบิด (Mine Tracker) 
ด้านมิติและลักษณะ 
กระแสข่าวในช่วงแรก สันนิษฐานว่าเป็น ลูกระเบิด GP BOMB ชนิด AN-M65 ขนาด 1,000 ปอนด์ แต่หลังจากสอบถามนักดำน้ำงมของเก่าถึงมิติและลักษณะของตัวลูกระเบิดที่ได้สัมผัส อาจเชื่อได้ว่าจะเป็น   GP BOMB ชนิด MK81 ขนาด 250 ปอนด์ และ  MK82  ขนาด 500 ปอนด์ ซึ่ง 2 ชนิดเป็นลูกระเบิดสัญชาติอเมริกัน ดังภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง

จากการสันนิษฐานขั้นต้น 

หลังสอบถามนักดำน้ำงมของเก่า 
อาจเป็น MK81 และ MK82 แต่ไม่มีหางแล้ว

ด้านชนิดเครื่องบินที่นำระเบิดมาทิ้ง
ในการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศไทย บันทึกไว้ว่าเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดสัญชาติอเมริกัน แบบ B-24 Liberator, B-25 Mitchell และ B-29 Superfortress (คนไทยสมัยนั้นเรียก B-29 นี้ว่า "ป้อมบิน") ส่วนการโจมตีที่ราชบุรีเป็น เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B24 บินมาจากกองบินที่ 7 กองทัพอากาศสหรัฐ สนามบินซาวบานี่ สาธารณรัฐอินเดีย ดังนั้นจึงต้องสืบค้นต่อว่า เครื่องบิน B24 ในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2488 นั้น น่าจะบรรทุกระเบิดทำลายชนิดใด  ข้อมูลนี้ กองทัพอากาศไทยคงจะสามารถให้คำตอบได้



ด้านภาพถ่าย
ผมได้พยายามค้นหาภาพถ่ายการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ราชบุรีแล้ว แต่ไม่มีปรากฏให้เห็น คงมีแต่ภาพถ่ายบริเวณใกล้เคียง ซึ่งผมได้นำมาแสดงไว้ตามภาพด้านล่างแล้ว ในภาพที่เห็นน่าจะเป็นลูกระเบิดตระกูล AN-M65 มากกว่าตระกูล Mark  ซึ่งพออนุมานได้ว่าลูกระเบิดที่นำมาทิ้งสะพานจุฬาลงกรณ์ แนวโน้มก็น่าจะเป็น AN-M65    



และหากมาดูลักษณะของลูกระเบิดที่ทิ้งที่ราชบุรี ตามภาพสเก็ตของนายสละ จันทรวงศ์ ที่วาดไว้เมื่อ พ.ศ.2488  และลูกระเบิดที่กู้ขึ้นมาได้ บริเวณประตูน้ำบางนกแขวก ที่จัดแสดงไว้บริเวณวัดเจริญสุขารามวรวิหาร ก็น่าจะอนุมานได้ว่าเป็นลูกระเบิดตระกูล AN-M65 เช่นกัน 

ภาพสเก็ตของนายสละ จันทรวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.2488

ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 
ที่กู้ได้บริเวณประตูน้ำบางนกแขวก
จัดแสดงไว้บริเวณวัดเจริญสุขารามวรวิหาร 
ด้านการบันทึก
ผมค้นคว้าเอกสารที่มีการบันทึกไว้เกี่ยวกับขนาดของลูกระเบิดที่ทิ้งที่ราชบุรีในสมัยนั้น มีการบันทึกไว้ทั้งขนาด 500 กก. และ 1,000 กก.(สมัยนั้นคงใช้มาตราเมตริกจึงบันทึกเป็นกิโลกรัม) หากเป็นตามนั้นจริงก็สามารถอนุมานได้ว่าเป็นลูกระเบิดแบบ AN-M65 จนถึงลูกระเบิดแบบ MK84 ขนาด 2,000 ปอนด์เลยก็ได้

การแกะรอยลูกระเบิดเบื้องต้นนี้ นับเป็นสิ่งสำคัญ หากเราสมมติฐานขั้นต้นได้ว่า ลูกระเบิดใต้น้ำนั้นเป็นรุ่นอะไรแล้ว เราจะได้รู้ว่ามันทำงานอย่างไร สาเหตุใดบ้างที่ทำให้มันไม่ระเบิด หากจะต้องทำการปลดชนวนให้เป็นกลางจะต้องทำอย่างไร และหากต้องเคลื่อนย้ายควรระมัดระวังในเรื่องใดบ้าง

************************  
จุฑาคเชน : 5 ก.ย.2561 

วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2561

ปริศนาของหัวรถจักรใต้น้ำ..ที่รอการพิสูจน์

ตอนนี้ หลายคนที่กำลังติดตามข่าวเรื่องการกู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และการกู้หัวรถจักรที่จมอยู่ใต้น้ำในบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์อยู่นั้น  อาจอยากจะทราบเรื่องราวในรายละเอียดเพิ่มเติมในหลายประเด็น โดยเฉพาะปริศนาของหัวรถจักรไอน้ำที่นอนสงบนิ่งอยู่ใต้พื้นแม่กลองมา 73 ปี วันนี้ ผมจึงขอนำความรู้มาแบ่งปันเผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการเก็บกู้และการสร้างเรื่องราวต่อไปในอนาคตได้ 


จมได้ยังไง
ผมพยายามสืบค้นเรื่องราวของการจมของหัวรถจักรฯ มาโดยตลอด จากคำบอกเล่าของคนในสมัยนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่บ้าง จากเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ยังพอมี  แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเท่าใดนัก จนกระทั่งผมได้พบกับสมุดบันทึกเล่มหนึ่งของนายสละ จันทรวงศ์ (ท่านเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2541) ซึ่งเป็นพ่อผมเอง จึงพอสรุปเรื่องราวการจมของหัวรถจักรฯ ได้ ดังนี้ 

ภาพวาดเมื่อปี 2488 
สะพานจุฬาลงกรณ์หักช่วงแรกทางฝั่งตลาด
โดย นายสละ จันทรวงศ์ 
  • 11 ก.พ.2488 เวลา 24:00 น. ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ วัตถุประสงค์เพื่อต้องการทำลายสะพาน 
  • 12 ก.พ.2488 ลูกระเบิดหน่วงเวลาที่ทิ้งเมื่อคืน 11 ก.พ.2488 ซึ่งตกอยู่บนสะพานช่วงแรกทางฝั่งเมืองราชบุรี เกิดระเบิดขึ้นในเวลา 06:30 น. ส่งผลให้สะพานจุฬาลงกรณ์ช่วงแรกหักกลางลง ฝ่ายญี่ปุ่นไม่สามารถซ่อมแซมกลับคืนสภาพได้
  • 3 เมษายน-1 พฤษภาคม 2488 ทหารญี่ปุ่นระดมแรงงานจากคนราชบุรี จีน และแขก จำนวน 500 คน ทำงานทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อสร้างสะพานรถไฟด้วยไม้ทดแทนสะพานจุฬาลงกรณ์เดิม ห่างจากแนวสะพานฯ ประมาณ 5 เมตร
  • 2 พ.ค.2488 เปิดใช้งานสะพานรถไฟใหม่ที่สร้างด้วยไม้ 
  • 20 พ.ค.2488 เวลาบ่าย ขณะหัวรถจักรวิ่งผ่านตามปกติ สะพานไม้ที่ผ่านการใช้งานอย่างหนัก  ประกอบเป็นฤดูน้ำมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก ตัวสะพานโอนเอนไปมา เกิดรับน้ำหนักไม่ไหว จึงหักลงบริเวณกลางสะพาน ส่งผลให้หัวรถจักรที่วิ่งข้ามอยู่นั้น พุ่งดิ่งจมลงสู่ใต้น้ำตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา        
ภาพวาดเมื่อปี พ.ศ.2488 
กองทัพญี่ปุ่นการสร้างสะพานรถไฟใหม่ด้วยไม้
แทนสะพานรถไฟเดิม  โดย นายสละ จันทรวงศ์
ลักษณะการจม
จากบันทึกดังกล่าวผมจึงอนุมานภาพการจมได้ ดังแสดงไว้ตามภาพด้านล่าง ในเวลานั้นยังไม่มีสะพานธนะรัชต์ที่ให้รถยนต์ข้าม (แนวสะพานธนะรัชต์ ปัจจุบันคือแนวสะพานรถไฟไม้ในสมัยนั้นเอง) ดังนั้น ตำแหน่งหัวรถจักรที่จมอยู่ในปัจจุบัน จึงอยู่ระหว่างตะม่อใต้สะพานรถยนต์

ภาพจำลองแนวสะพานเบี่ยงที่ทำด้วยไม้ของกองทัพญี่ปุ่น
และการจมของหัวรถจักร

ภาพแสดงแนวสะพานเบี่ยงทำด้วยไม้
จากแผนที่แสดงที่ตั้งจุดยุทธศาสตร์และการโจมตีจุดสำคัญฯ 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
 เมื่อ พ.ศ.2485 ของนายสละ จันทรวงศ์

ภาพจำลอง ลักษณะการจมของหัวรถจักร
จากการสำรวจของนักดำน้ำของกรมการทหารช่าง เมื่อปี พ.ศ.2548
  
ปริศนาที่รอการพิสูจน์
หัวรถจักรไอน้ำที่จมอยู่นี้ ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานใดๆ ยืนยันชัดเจนว่าเป็นหัวรถจักรไอน้ำรุ่นใด  ได้แต่สมมติฐานไว้  2 รุ่น ซึ่งใช้งานอยู่ในสมัยนั้น คือ 
  1. รถจักรไอน้ำโมกุล รุ่น C-56 ของประเทศญี่ปุ่น  หรือ 
  2. รถจักรไอน้ำ รุ่น P-CLASS  ของประเทศอังกฤษ 


การพิสูจน์ให้ได้ว่าหัวรถจักรไอน้ำที่จมอยู่นี้เป็นรุ่นใด เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะมีความเกี่ยวข้องกับการวางแผนการเก็บกู้ขึ้นจากใต้น้ำ เพราะแต่ละรุ่นจะมีน้ำหนัก และโครงสร้างที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งอีกไม่นานนัก พวกเราคงจะได้รู้กันเสียทีว่า หน้าตาของหัวรถจักรไอน้ำที่จมมานานถึง  73 ปี จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

*******************
จุฑาคเชน : 4 ก.ย.2561

อ่านเพิ่มเติม 

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

การกู้ระเบิดบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ จ.ราชบุรี จะทำกันอย่างไร?

นับเป็นข่าวสำคัญเรื่องการพบลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังไม่ระเบิด  (Unexploded ordnance : UXO) บริเวณด้านท้ายน้ำของสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ เขตเมืองราชบุรี จำนวน 4-6 ลูก จนความทราบถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ท่านจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดนั้นเสีย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและไม่กีดขวางต่อการสร้างทางรถไฟรางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหินที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ 



อย่ามองว่าเป็นแค่เรื่อง EOD ควรปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
ทุกคนอาจมองว่า ลูกระเบิดที่พบเป็นแค่เรื่องการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิด  (Explosive ordnance disposal : EOD) แต่ข้อเท็จจริงตามมาตรฐานการปฏิบัติงานทุ่นระเบิดสากล (International Mine Action Standard : IMAS) ซึ่งประเทศทั่วโลกที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวา (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) มีวิธีการที่ยึดถือและใช้ปฏิบัติกัน วิธีการนี้มีชื่อเรียกกว่า  "การปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดด้วยวิธีการ Land Release" ซึ่งหากที่ราชบุรี ทำด้วยวิธีการนี้แล้ว จะถือว่าเป็นวิธีการที่มาตรฐานและยอมรับเป็นสากล และจะเป็นแบบอย่างครั้งสำคัญของประเทศไทยในโอกาสต่อๆ ไป   

เนื่องด้วยผมเคยปฏิบัติงานด้านทุนระบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย มาเกือบ 5 ปี วิธีการนี้มีขั้นตอนที่ค่อนข้างอธิบายยาก แต่ผมจะพยายามอธิบายให้สั้นๆ และเข้าใจง่ายๆ เผื่อว่า คณะทำงานฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะได้นำไปใช้ ดังนี้  


แผนผังสังเขปการพบลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ด้านท้ายน้ำ สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์
ขั้นที่ 1 การจัดทำขอบเขตพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด (Suspect Hazardous Area : SHA) บริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ และติดป้ายแจ้งเตือนอันตรายจากทุ่นระเบิด เพื่อห้ามคนไม่ให้เข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว (ดังภาพด้านล่าง) 



ตามภาพได้กำหนดพื้นที่ทางด้านเหนือน้ำยาวประมาณ 100 ม.และด้านท้ายน้ำประมาณ 100 ม. ทางกว้างจากตลิ่งถึงตลิ่ง รวมพื้นที่ SHA บริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์นี้จะมีขนาดประมาณ 24,000 ตร.ม. 

การกำหนดขอบเขตพื้นที่ SHA นี้ จะนำมาจากข้อมูลข่าวสารเบื้องต้นที่มีอยู่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น  คำบอกเล่าของนักดำน้ำงมของเก่า รูปแบบการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรในสมัยนั้น จากบันทึกเหตุการณ์ที่มีผู้บันทึกไว้ เป็นต้น สรุปขั้นนี้ ก็คือ การตีกรอบพื้นที่ที่สงสัยว่ามันยังมีทุ่นระเบิดอยู่ ด้วยข้อมูลข่าวสาร 

ขั้นที่ 2 การยกเลิกพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด (SHA) ด้วยวิธีการสำรวจตามหลักฐาน (Evidence-Based Survey : EBS) ในขั้นนี้ จะต้องมีการดำเนินกิจกรรมอย่างน้อย 4 กิจกรรมได้แก่ 1)การรวบรวมข่าวสารเดิม 2)การรวบรวมข่าวสารใหม่  3)การวิเคราะห์/สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด หลังจากนั้นจะเป็น 4)การสำรวจพื้นที่ทางกายภาพเพื่อการยืนยัน  นั้นก็คือ การใช้นักดำน้ำลงไปพิสูจน์ทราบว่ามีลูกระเบิดอยู่ตรงไหนบ้าง? โดยใช้วิชาการแกะรอยทุ่นระเบิด (MIne Tracker) อ้างอิงจากข้อมูลที่ได้สังเคราะห์แล้ว ขั้นตอนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหา พื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิดอยู่จริง (Confirmed Hazardous Area: CHA) ตามภาพที่แสดงด้านล่าง ซึ่งอาจพบลูกระเบิดมากกว่า 6 ลูกก็ได้



ขั้นที่ 3 การทำให้พื้นที่ทั้งหมดปลอดภัย  ซึ่งสามารถแยกการดำเนินการได้ดังนี้
  • พื้นที่ที่เป็น CHA จะต้องดำเนินการกวาดล้าง (Clearance) และเก็บกู้ทุ่นระเบิดออกจากพื้นที่ให้หมด   ก็คือ การพิสูจน์ทราบว่าเป็นลูกระเบิดชนิดใด ทำการปลดชนวน ทำให้เป็นกลาง กู้ขึ้นมาจากใต้น้ำ และนำไปไว้ในที่ปลอดภัย  ขั้นนี่แหละครับจึงเป็นหน้าที่ของ EOD ซึ่งเจ้าหน้าที่ EOD ครั้งนี้ควรมีความสามารถในการดำน้ำด้วย สำหรับการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ จะอยู่ในช่วงที่กู้ขึ้นมาจากใต้น้ำ (เผื่อเกิดความผิดพลาดขณะกู้)
  • พื้นที่ SHA  ส่วนที่เหลือ (หมายถึง  พื้นที่ที่เหลือหลังจากหักพื้นที่ที่เป็น CHA ไปแล้ว) จะต้องดำเนินการปลดปล่อยให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ด้วยวิธีการสำรวจทางเทคนิค (Technical survey : TS) ในกรณีนี้ เป็นพื้นที่ที่อยู่ใต้แม่น้ำ การสำรวจทางเทคนิคก็คือ การดำน้ำสแกนพื้นใต้น้ำว่าปลอดภัยไม่มีลูกระเบิดหลงเหลือแล้ว ไม่จำเป็นต้องสแกนพื้นที่ทั้ง 100% แต่ต้องสุ่มตัวอย่างให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้  เช่น 30% หรือ 40% ของพื้นที่ตามข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ไว้ตั้งแต่ตอนต้น  


การปฏิบัติตามวิธีการนี้จึงจะถือว่า พื้นที่บริเวณโดยรอบสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์นี้ มีความปลอดภัยจริงๆ อย่ามุ่งเน้นเฉพาะการเก็บกู้ลูกระเบิดที่พบเท่านั้น ต้องเน้นความปลอดภัยของทั้งพื้นที่ 

หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเรื่อง "การปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดด้วยวิธีการ Land Release" นี้ คือ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center : TMAC)  ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยได้ยิน หน่วยงานนี้ มีหน้าที่ค้นหา เก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิด ที่ตกค้างจากสงครามในวาระต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมันยังคงฝังอยู่ใต้ดิน ใต้แม่น้ำลำคลอง ตามแนวชายแดนของประเทศไทย  หากคณะทำงานฯ  ท่านใดต้องการข้อแนะนำโดยละเอียดแล้ว ลองติดต่อดูได้ครับ 


***********************
จุฑาคเชน 3 ก.ย.2561

บทความที่ได้รับความนิยม