หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2562

"ตำนานเมืองราชบุรี เรืองรุจี เกริกก้องปฐพี" ถือเป็นครั้งแรกที่นำเสนอเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2

ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่ จ.ราชบุรี ได้จัดให้มีกิจกรรมการแสดงแสงสีเสียง เล่าถึงประวัติศาสตร์และตำนานเมืองราชบุรี แต่ถือเป็นครั้งแรก ที่ได้นำเสนอเรื่องราวของ "จ.ราชบุรี ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2" มาผูกเป็นเนื้อเรื่องหลักในการนำเสนอ ถือเป็นการเปิดตำนานหน้าใหม่ของ จ.ราชบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สงคราม



ความเป็นมาของการจัดงาน
ในสูจิบัตร "ย้อนรอยเล่าขาน ตำนานเมืองราชบุรี เรืองรุจี เกริกก้องปฐพี" กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงานไว้ว่า   

"จ.ราชบุรี มีความจำเป็นที่จะต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีจุดเด่น และมีความแตกต่าง  เพื่อสร้างความดึงดูดใจนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อสร้างทางเลือก ให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น  การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเวลาเย็นถึงกลางคืน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวชม พักค้างแรม ใน จ.ราชบุรี ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้จากธุรกิจบริการท่องเที่ยวอื่นๆ ตามมา เช่น ธุรกิจบริการที่พัก ธุรกิจบริการอาหาร เครื่องดื่ม และการจำหน่ายของฝากของที่ระลึก เป็นต้น

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.ราชบุรี จึงได้กำหนดจัดโครงการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยว ผ่านกิจกรรมการแสดง แสงสีเสียง และสื่อประสม จ.ราชบุรี เรื่อง "ย้อนรอยเล่าขาน ตำนานเมืองราชบุรี เรืองรุจี เกริกก้องปฐพี" ซึ่งเป็นเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี ตามกระแสการเก็บกู้ระเบิดในแม่น้ำแม่กลองบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์"

การจัดกิจกรรมแสงสีเสียงในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สงครามโลกของ จ.ราชบุรี นอกเหนือจากตำนานการรบระหว่างไทยกับพม่าที่เคยนำเสนอกันอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังเชื่อมโยงเรื่องราวต่อไปยังทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแควที่ จ.กาญจนบุรี เกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ขึ้น 


ห้วงเวลาในการจัดงาน 
วันที่ 18-20 ม.ค.2562 ณ บริเวณริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา ริมแม่น้ำแม่กลอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ในสมัยของนายชยาวุธ จันทร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี  

กิจกรรมในงานที่สำคัญ
  • พิธีทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลให้กับ ผวจ.ราชบุรี ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะเน้นพิเศษให้กับ หลวงนิคมคณารักษ์ ซึ่งเสียชีวิตจากลูกระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2488 บริเวณสี่แยกสะพานดำ ระหว่างการออกไปบัญชาการบรรเทาทุกข์ และช่วยเหลือราษฎรชาวเมืองราชบุรี ที่ประสบภัยจากการทิ้งระเบิด (จัดขึ้นในวันที่ 15 ม.ค.2562 ณ จวน ผู้ว่า จ.ราชบุรี (หลังเก่า))
  • การแสดงไลท์แอนด์ซาวนด์ จินตภาพ ประกอบแสงสีเสียง และสื่อผสม อิงประวัติศาสตร์ "ย้อนรอยเล่าขาน ตำนานเมืองราชบุรี เรืองรุจี เกริกก้องปฐพี"  บริเวณเวทีกลางแม่น้ำแม่กลอง
  • งานศิลป์และนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
  • การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP 5 ดาว
  • การจำหน่ายสินค้าตามปกติของตลาดโคยกี๋

ไฮไลน์ การแสดงแสงสีเสียง สื่อผสม
ไฮไลน์ของการแสดงแสงสีเสียง และสื่อผสม ที่หลายคนหอบลูกจูงหลานตั้งใจมาชม คือ เรื่องราวของราชบุรีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นความรู้ใหม่ ที่นายชยาวุธ จันทร ผวจ.ราชบุรี ต้องการนำเสนอ แต่ว่าการแสดงกลับนำย้อนอดีตไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องราวเกี่ยวกับไทยรบกับพม่าเหมือนเดิม และกินเวลานานเกินไป ประกอบกับ บทที่เขียนก็ราบเรียบ เรื่อยๆ เฉื่อยๆ  ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าใดนัก เวทีที่เป็นจุดโฟกัสเพื่อนำเสนอการแสดงแต่ละช่วงแต่ละตอน ก็กว้างมากเกินไป มีตั้ง 3 เวที และยังจำต้องแสดงสลับไป-มา กับบริเวณสะพานรถยนต์ธนะรัชต์อีกด้วย ยิ่งทำให้ผู้ดูรู้สึกสับสน ไม่รู้จะโฟกัสที่เวทีไหน ขาดอารมณ์ร่วมอย่างที่ผู้จัดต้องการ  

การแสดงที่ทุกคนรอคอย คือ เหตุการณ์ราชบุรีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2  เกิดขึ้นในตอนกลางเรื่อง บทที่เขียนขึ้นมีความพยายามจะสร้างให้มีพระเอกและนางเอกในท้องเรื่อง คือ ความรักระหว่างครูกรรณิการ์ กับนายทหารญี่ปุ่น ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเรื่องจริงเท็จแค่ไหน หรือ เพียงแต่งขึ้นมาให้มีเรื่องราวน่าสนใจคล้ายอังศุมาลินกับโกโบริ นายทหารญี่ปุ่นที่เป็นคนรักกับครูกรรณิการ์ ต้องทำฮาราคิรีตาย เพราะสะพานไม้ชั่วคราวที่สร้างข้ามแม่กลองแม่กลองแทนสะพานจุฬาลงกรณ์ เกิดหักส่งผลหัวรถจักรตกลงในแม่น้ำแม่กลองนั้น ไม่น่าจะเป็นความจริง เรื่องนี้ หากเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาโดยขาดข้อมูลความจริงมาสนับสนุน นับเป็นเรื่องอันตรายมากต่อการรับรู้ของผู้ชม  

ฉากที่ควรให้ความสำคัญและนำเสนอให้ผู้ชมจดจำและประทับใจ  คือ ฉากการปะทะกันของทหารญี่ปุ่นและกรรมกรไทยที่วัดดอนตูม อ.บ้านโป่ง ฉากการขนย้ายเชลยศึกมาลงรถไฟที่สถานีบ้านโป่ง ฉากการเริ่มสร้างทางรถไฟสายมรณะ โดยวางรางรถไฟรางแรกที่สถานีชุมทางหนองปลาดุก ฉากพลุไฟร่มชูชีพก่อนการทิ้งระเบิด ฉากการทิ้งระเบิดในเมืองราชบุรี ฉากอวสานของสะพานจุฬาลงกรณ์ และฉากหัวรถจักรจมลงสู่ใต้แม่น้ำแม่กลอง จบอย่างประทับใจด้วยฉากการฟื้นคืนชีพของสะพานจุฬาลงกรณ์ 

ชื่นชมและขอบคุณ
อย่างไรก็ตาม การจัดแสดงแสงสีเสียง และสื่อผสม ในครั้งนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้นำเรื่องราวของ จ.ราชบุรีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเปิดประเด็นให้คนราชบุรีและคนทั่วไปได้รับทราบ อาจจะขาดตกบกพร่องไปบ้างก็ไม่ว่ากัน และขอชื่นชมหน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันจัดงานในครั้งนี้ด้วยความตั้งใจ  โดยเฉพาะขอขอบคุณ นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี พ่อเมืองราชบุรี ที่ได้ริเริ่มจัดงานนี้ขึ้น

ในปีต่อไป หวังว่างานแสดงแสงสีเสียง และสื่อผสม นี้ น่าจะได้รับการพัฒนาและต่อยอดให้เป็นงานด้านการท่องเที่ยวประจำปีที่สำคัญของ จ.ราชบุรีสืบต่อๆ กันไป  ดังเช่น งานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว ของ จ.กาญจนบุรี  ที่จัดมาโดยต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้ 

การเดินทาง แม้จะใกล้หรือไกลแค่ไหน ต้องเริ่มที่ก้าวแรกเสมอ
ให้กำลังใจครับ....

*************************    
จุฑาคเชน : 21 ม.ค.2562