หน้าเว็บ

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

หยุด Fake news ตามแนวคิดกระด้งฝัดข้าวและหลักกาลามสูตร

บทความนี้ นำมาจากรายงานประกอบการศึกษา ของนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร (พคบ.) รุ่นที่ 11 (กลุ่มสีชมพู) เรื่อง "ภัยคุกคามทางไซเบอร์ กรณีศึกษา แนวทางป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม" ซึ่งนำเสนอต่อกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเจ้าของหลักสูตร เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมซีซ่าร์ พาเลส เมืองพัทยา






ความเป็นมาและผลกระทบต่อความมั่นคง
Fake news แปลเป็นภาษาไทย ได้หลายความหมาย เช่น ข่าวปลอม ข่าวเท็จ หรือข่าวลวง สำหรับในรายงานฉบับนี้ คณะผู้จัดทำ ขอใช้คำเรียกว่า "ข่าวปลอม" เป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับบทความหรือรายงานการวิจัยต่างๆ ในประเทศไทยที่มีผู้เขียนไว้ ปัจจุบัน ข่าวปลอม กลายเป็นปัญหาสำคัญของโลก และของทุกๆ ประเทศ เนื่องจากการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของข่าวปลอมไปยังกลุ่มผู้รับสาร (ผู้เสพข่าว) ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยใช้รูปแบบของเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ข่าวปลอม ล้วนสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นแก่บุคคล องค์กร และต่อความไม่มั่นคงในด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศ ทั้งทางบวกและทางลบ ข่าวปลอมถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Threats) และเป็นรูปแบบหนึ่งในการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation : IO) ที่มุ่งหวังให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือกลุ่มคนที่มีอำนาจตัดสินใจคล้อยตามเป้าประสงค์ของผู้ที่สร้างข่าวปลอม 

ในข้อเท็จจริงแล้ว ข่าวปลอม ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ แต่มีคู่กับประวัติศาสตร์ของมนุษย์มายาวนาน เช่น การปล่อยข่าวลวงข้าศึก การโฆษณาชวนเชื่อ การนินทาใส่ร้ายป้ายสีกัน เป็นต้น แต่ในสมัยนั้นการส่งข่าวปลอม เป็นลักษณะ ปากต่อปาก การเล่าต่อ การนำสารด้วยคนหรือสัตว์ หรือการเป่าประกาศ ฯลฯ ข่าวลวงจึงไม่ทรงพลังและมีอิทธิพลเท่าใดนัก เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้น้อย ล่าช้า ไม่ทันการณ์ ต่อมาเมื่อมีนวัตกรรมด้านการพิมพ์ขึ้น การส่งข่าวปลอม ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็น การแจกใบปลิว การพิมพ์จดหมายเวียน การติดประกาศ ทำข่าวแจก พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร เป็นต้น หลังจากยุคการพิมพ์ไม่นานนัก ก็มีการพัฒนาเป็น การเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียง การเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ จนกระทั่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ และการส่งข่าวทางอีเมล ตามลำดับ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข่าวปลอมก็ยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากพอที่จะแสดงพลังหรือมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ 

จนกระทั่งถึงในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นยุคดิจิทัล ข่าวปลอมถูกส่งผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวดเร็วถึงกลุ่มผู้รับข่าวสารโดยตรง ในทันทีทันใดที่ต้องการ ในทุกสถานที่และทุกหนแห่งที่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เครื่องมือที่ใช้ส่งข่าวปลอมที่ทรงพลังในปัจจุบัน ได้แก่ เครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมี Platform Social Media ที่ถูกสร้างขึ้นและเป็นที่นิยมใช้กันมาก เช่น YouTube LINE Facebook Messenger Instagram Pantip Twitter WhatsApp เป็นต้น 



Blognone (2560 : ออนไลน์) กล่าวว่าปัญหาข่าวปลอมบนโลกโซเชียลกลายเป็นเรื่องบานปลาย ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2560 โดยเฉพาะคำครหาที่ว่า ข่าวปลอมสามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2559 โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐก็เพราะข่าวปลอมที่มุ่งทำลาย ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต 






บทความในเว็บไซต์ BuzzFeed ชี้ว่าตัวเลขยอดกดไลค์ เม้น แชร์ (engagement) 20 ข่าวที่เป็นข่าวปลอม ช่วงสามเดือนก่อนการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.2559 พุ่งสูง 8.7 ล้านครั้ง แซงหน้าข่าวจากเว็บไซต์ข่าวแท้ไปไกล แถม 5 ข่าวปลอม ที่มียอด engagement สูงสุดใน Facebook ล้วนแล้วแต่เป็นข่าวโจมตี ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลาย ได้แก่
  1. โป๊ปฟรานซิส ให้การรับรองโดนัลด์ ทรัมป์ (แชร์ 960,000 ครั้ง) 
  2. FBI ยืนยัน ฮิลลารี คลินตัน ขายอาวุธให้กลุ่ม ISIS (แชร์ 789,000 ครั้ง)
  3. ข่าวอีเมลฮิลลารี คลินตัน รั่ว (แชร์ 754,000 ครั้ง) 
  4. ฮิลลารี คลินตัน ถูกตัดสิทธิ์จากสำนักงานรัฐบาลกลาง (แชร์ ครั้ง 701,000) 
  5. พบศพเจ้าหน้าที่ FBI ที่ต้องสงสัยจากอีเมลรั่วไหลของฮิลลารี คลินตัน (แชร์ 567,000 ครั้ง)
Facebook คือ พื้นที่แพร่กระจายข่าวปลอมมากที่สุด ปัญหานี้คุกรุ่นสะสมมานานหลายปี แต่มุมมองคนทั่วไปมักมองข่าวปลอมว่า "มันก็เป็นแค่ข่าวปลอม" ไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไรนัก

สำหรับปัญหาเรื่องข่าวปลอมในประเทศไทย CmCityOnline (2561 : ออนไลน์) กล่าวว่า ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอม โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,269 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 24 – 29 สิงหาคม 2561 พบว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยพบเห็นข่าวปลอม ร้อยละ 65.1 และเคยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็นข่าวปลอม ร้อยละ 56.2 

ในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็นข่าวปลอม ใช้วิธีการค้นหาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ร้อยละ 53.0 อันดับที่สองคือสอบถามผู้เชี่ยวชาญร้อยละ 28.1 และอันดับสามคือไม่คิดจะตรวจสอบ ร้อยละ 18.9

สื่อที่พบเห็นข่าวปลอม คือ สื่อ Facebook เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 54.2 อันดับสองคือมีคนเล่าให้ฟัง ร้อยละ 13.9 และอันดับสามคือผ่านสื่อ Line ร้อยละ 12.7 และพบเห็นข่าวปลอม มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการเมืองเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 27.6 อันดับสองคือประเด็นเรื่องหลอกขายสินค้า ร้อยละ 23.2 อันดับสามคือประเด็นเรื่องสุขภาพ ร้อยละ 19.1 อันดับที่สี่คือประเด็นเรื่องดารา ร้อยละ 17.8 อันดับที่ห้าคือประเด็นเรื่องภัยพิบัติ ร้อยละ 8.7 และอันดับสุดท้ายคือประเด็นเรื่องศาสนา ร้อยละ 3.6

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ภาครัฐมีมาตรการในการป้องกันและปราบปราบ ข่าวปลอม (Fake News) ร้อยละ 76.6

ผลโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอม (Fake News)
ของบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
ที่มา (CmCityOnline. 2561 : ออนไลน์)

ข่าวปลอมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย มีหลายประการ อาทิ
  1. การมุ่งทำลายสถาบันมหากษัตริย์ให้เสื่อมถอยและเกิดวิกฤตศรัทธา 
  2. การทำลายความชอบธรรมในการปกครองของรัฐบาล 
  3. ก่อให้เกิดแนวคิดทางการเมืองแบบ Post-truth politics คือ การแสดงความคิดเห็นและการสนทนาเรื่องการเมืองโดยเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง เนื้อความที่ถกเถียงกันมักไม่ตรงประเด็นและไม่ตั้งอยู่บนนโยบายทางการเมืองและข้อเท็จจริง 
  4. การทำลายชื่อเสียงของบุคคล หรือ องค์กร ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม
  5. การสร้างอิทธิพลทางความคิดเห็นให้ไปตามที่ตนเองต้องการ
  6. การสร้างความแตกแยกทางความคิดในสังคมไทย เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
  7. การหลอกลวงเพื่อหวังประโยชน์ในด้านธุรกิจที่ผิดกฎหมาย 
  8. การสร้างข่าวปลอมเพื่อให้เกิดความตื่นตระหนก จนเป็นเหตุวุ่นวายขึ้นในสังคม 
  9. การสร้างข่าวปลอมเพื่อการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
  10. การสร้างข่าวปลอมเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง 
  11. การสร้างข่าวปลอมเพื่อปกป้องความผิดพลาดหรือความล้มเหลวของตนเอง หน่วยงาน หรือองค์กร 
ประเภทของข่าวปลอม
ประเภทของข่าวปลอม มีนักวิชาการ นักเขียน และผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ได้แบ่งประเภทข่าวปลอม ไว้ดังนี้ (อ้างถึงใน เฉลิมชัย ก๊กเกียรติกุลและคณะ. 2561 : 178-179) 

LSE Media Policy Project โดย Tambini (2017) ได้แบ่งประเภทของข่าวปลอมไว้ว่า
  1. เนื้อหาที่สร้างขึ้น (Fabricated content) เป็นเนื้อหาข่าวเท็จทั้งหมด
  2. เนื้อหาที่มีการจัดการ (Manipulated content) เป็นเนื้อข่าวที่มีการบิดเบือนจากข้อเท็จจริงหรือเป็นการสร้างขึ้นจากจินตนาการ เช่น พาดหัวข่าวที่ต้องการสร้างเนื้อหากระตุ้นอารมณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านหรือผู้ชม หรือที่เรียกว่า พาดหัวเรียกแขก (Click bait)
  3. เนื้อหาแอบอ้าง (Imposter content) เป็นการแอบอ้างแหล่งข่าวที่แท้จริง เช่น การใช้ยี่ห้อหรือแบรนด์ขององค์กรที่น่าเชื่อถือ หรือมีชื่อเสียง
  4. เนื้อหาหลอกหลวง (Misleading content) เป็นการใช้ข้อมูลเพื่อหลอกหลวงให้หลงเชื่อ อาทิ การนำเสนอคำคิดเห็นในรูปของข้อเท็จจริง
  5. บริบทปลอมในการเชื่อมโยง (False context of connection) เป็นเนื้อหาที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง อาทิ การพาดหัวข่าวในบทความไม่ได้สะท้อนเนื้อหาของข่าวจริง
  6. การเสียดสีและล้อเลียน (Satire and parody) เป็นการนำเสนอข่าวในลักษณะที่ขำขันในลักษณะที่เหมือข้อเท็จจริงแต่เป็นข่าวลวง อย่างไรก็ตาม ข่าวประเภทนี้ มักจะถูกถือว่าเป็นข่าวลวงประเภทหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ได้หลอกผู้อ่านอย่างตั้งใจ แต่ต้องการเสียดสีและล้อเลียนมากกว่า
ส่วนในรายงาน The Legal Framework to Address "Fake News. ของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) (2018) ได้จำแนกประเภทของข่าวปลอม ไว้ดังนี้
  1. เนื้อหาที่อยู่ในกรอบจำกัด (Content bubbles) เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับแหล่งข่าวเดียว แต่กลไกของอัลกอริทึม (Algorithm) ทำหน้าที่ป้อนข่าวให้ผู้อ่านนั้นตามมุมมองหรือความเข้าใจที่ผู้อ่านชอบหรือสนใจ ซึ่งทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า อคติเชิงพฤติกรรมหรือเชื่อหรือตอกย้ำในสิ่งที่ตนเองเชื่ออยู่แล้ว (Confirmation bias) 
  2. ข่าวลวงที่มีการเผยแพร่อย่างไม่ตั้งใจให้เกิดผลร้ายหรือเข้าใจผิด (Misinformation) เป็นการแสดงหรือนำเสนอความคิดเห็น แต่อาจผิดพลาดหรือไม่จริง ซึ่งสามารถเพิ่มหรือกระตุ้นให้ข่าวปลอมแพร่กระจายและน่าเชื่อถือมากขึ้น
  3. ข่าวปลอมที่มีการเผยแพร่อย่างจงใจ (Disinformation) เป็นกรณีที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมแพลตฟอร์มด้วยมีเจตนาในการจัดการข้อมูลเพื่อบิดเบือนหรือสร้างอิทธิพลทางความคิดเห็นของผู้อ่านทั่วไป 
Donnaya Suvetwethin. (2561 : ออนไลน์) ได้กล่าวถึงว่าข่าวอะไรบ้างที่จัดว่าเป็นข่าวปลอม ไว้น่าสนใจ ดังนี้
  1. พาดหัว ลวงให้คลิก (click bait) ใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้ดูชวนสงสัย ทั้งที่เนื้อข่าวอาจไม่มีอะไรเลย เพื่อเรียกยอดการเข้าชม
  2. โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เรื่องราวที่ถูกคัดและสร้างขึ้นเพื่อให้เข้าใจผิด สร้างอคติทั้งทางลบและบวก โดยมากมักหวังผลทางการเมือง
  3. เสียดสี/ ล้อเลียน (Satire/ Parody) เป็นการเรียกยอดผู้ชม โดยการสร้างข่าวล้อเลียนเสียดสีคนดังเพื่อความบันเทิง
  4. นำเสนอข่าวแบบลวกๆ (Sloppy Journalism) บางครั้งผู้สื่อข่าวอาจเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือหรือไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ทำให้ผู้ชมเข้าใจผิด
  5. พาดหัวให้เข้าใจผิด (Mislead heading) ใช้คำหรือข้อความในการพาดหัวเพื่อให้คนเข้าใจผิด หรือเรียกร้องความสนใจ ให้คนแชร์ต่อ เนื้อหาอาจไม่ใช่เรื่องเท็จทั้งหมด 
  6. ข่าวลำเอียง (Biased/ Slanted news) Social Media นำพาผู้ใช้สื่อไปยังข่าวหรือข้อมูลบางอย่างที่ช่วยสนับสนุนความคิด ความเชื่อ อคติของผู้ใช้สื่อ โดยวิเคราะห์จากลักษณะคำค้นหาของผู้ใช้สื่อเอง
The European Association for viewers interest (2016) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรที่สนับสนุนการรู้เท่าทันสื่อและการเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ในยุโรป ได้ทำการศึกษาในหัวข้อ "Beyond Fake News - 10 Types of Misleading News" ได้แบ่งประเภทข่าวปลอมและข่าวที่สร้างความเข้าใจผิด ไว้ดังนี้ (อ้างถึงใน นันทิกา หนูสม. 2560 : 20-21)
  1. การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เป็นข้อมูลที่แพร่กระจายไปสู่ความคิดหรือเปลี่ยนความคิด มุมมอง ทำให้รู้สึกคล้อยตาม 
  2. การยั่วให้คลิก หรือคลิกเบท (Click bait) เป้าหมายหลักของการคลิกเบท คือ การกระตุ้นความสนใจของผู้คนให้คลิกผ่านเนื้อหาเพื่อเพิ่มรายได้จากโฆษณา
  3. เนื้อหาที่ได้รับการสนับสนุน (Sponsored content) หรือเนื้อหาโฆษณาบนสื่อออนไลน์ ผลการวิจัย ในปี 2016 จาก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่า 80% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษามีความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาที่ได้รับการสนับสนุน หรือที่เรียกว่าโฆษณาเนทีฟ คิดว่าเป็นข่าวจริง
  4. ข่าวล้อเลียนและเสียดสี (Satire and Hoax) ข่าวล้อเลียนเป็นเรื่องตลกที่นำเสนอในรูปแบบทั่วไป ใช้เนื้อหาที่ตลกขบขันเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ข่าวในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่จะเลียนแบบแหล่งข่าวที่ถูกต้อง และข่าวเสียดสีเป็นข่าวที่อาศัยการประชดประชันและอารมณ์ขันแบบหน้าตาย
  5. ข่าวที่ผิดพลาด (Error) บางครั้งแม้แต่ข่าวที่เผยแพร่จากสำนักข่าวออนไลน์ที่เชื่อถือได้ก็อาจมีความผิดพลาดได้เช่นกัน เช่น การเขียนข้อความที่ผิดที่ทำให้ผู้รับสารเข้าใจไปทิศทางอื่น หรือไม่เข้าใจในข่าวนั้น
  6. ข่าวที่นำเสนอเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (Partisan) เป็นข่าวที่บิดเบือนเนื้อหา หรือสร้างขึ้นมาเพื่อเข้าข้างหรือโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
  7. ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) เป็นเรื่องเล่าหรือบทความที่สร้างขึ้นมาจากความคิดของคน หรือกลุ่มคน โดยนำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน ซึ่งอาจมีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นอื่นๆ เพื่อให้ประโยชน์ให้โทษต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งใด
  8. วิทยาศาสตร์ลวงโลก (Pseudoscience) คือ การแอบอ้าง หรือความเชื่อ หรือ แนวทางปฏิบัติ ที่บอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง หรือไม่มีหลักฐานหรือความเป็นไปได้ใดๆ มาสนับสนุน
  9. ข่าวที่ให้ข้อมูลผิดๆ (Misinformation) สามารถพบได้ในประเภทข่าวที่ชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง มีความแตกต่างจากการตั้งใจบิดเบือน
  10. ข่าวปลอมที่ถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์ (Bogus) คือ ข่าวปลอมที่เจตนาในการสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นข่าวปลอมที่สมบูรณ์ อาจมีเนื้อเรื่อง ภาพ หรือข้อมูลต่างๆ ที่เป็นเท็จมาประกอบกัน อาจรวมถึงการแอบอ้างเป็นแหล่งข่าว หรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ 
ในด้านการจำแนกรูปตามประเภทเนื้อหา Wardle (2017) (อ้างถึงใน นันทิกา หนูสม. 2560 : 21) ได้แยกไว้จำนวน 7 รูปแบบ ดังนี้
  1. มีเนื้อหาเลียนแบบ ล้อเลียน เสียดสี (Satire or Parody) ทำให้รู้สึกขบขัน
  2. มีเนื้อหาชี้นำ (Misleading Content) อาจมีเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง แต่อาจบิดเบือนข้อมูลไปในเชิงชี้นำไปในทางใดทางหนึ่ง หรือสร้างเนื้อหาให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ บางครั้งอาจสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์บางอย่าง
  3. มีเนื้อหาแอบอ้าง (Imposter Content) การแอบอ้างเป็นแหล่งข้อมูลหรืออ้างตัวเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือให้ข้อมูล
  4. เนื้อหาที่ประดิษฐ์ขึ้น (Fabricated Content) เป็นเนื้อหาปลอมที่สร้างมาใหม่ทั้งหมดเป็นเจตนาที่จะสร้างเนื้อหาที่เป็นข่าวปลอมขึ้นมา
  5. มีการเชื่อมโยงเนื้อหาที่ผิด (False Connection) มีเนื้อหาพาดหัวข่าว ภาพประกอบ ข้อมูลรายละเอียด ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  6. เนื้อหาที่ผิดบริบท (False Context) มีเนื้อหาข้อมูลจริง แต่ใช้ไม่ถูกในบริบท หรือสถานการณ์นั้น
  7. เนื้อหาที่หลอกหลวง (Manipulated Content) มีเนื้อหาข้อมูลจริง แต่ใช้เพื่อเจตนาหลอกหลวง 
จากความเห็นของประเภทของข่าวปลอมที่หลากหลายตามที่กล่าวมา คณะผู้จัดทำรายงาน ขอสรุปการแบ่งประเภทของข่าวปลอมโดยใช้รูปแบบวิธีการสร้างเนื้อหน้าเป็นหลัก เพื่อประกอบการรายงาน ไว้ดังนี้
  1. เนื้อหาข่าวที่สร้างขึ้นเป็นเท็จทั้งหมด (Fabricated content)
  2. เนื้อหาข่าวที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง (Manipulated content) 
  3. เนื้อหาข่าวที่หลอกหลวง (Misleading content)
  4. เนื้อหาข่าวที่เป็นการเสียดสีและล้อเลียน (Satire and parody)
  5. เนื้อหาที่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)
ส่วนเป้าหมายของการสร้างข่าวปลอม พอสรุปได้ดังนี้
  1. เพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านหรือผู้ชมเกิดการคลิกเบท (Click bait) เพิ่มจำนวนยอดไลค์ เม้น และแชร์ (engagement) เพื่อเพิ่มรายได้จากการโฆษณา
  2. เพื่อให้เกิดเข้าใจผิด สร้างอคติทั้งทางด้านลบและบวก
  3. เพื่อแสดงให้เห็นถึงเห็นถึงสภาพความเป็นจริง มากกว่าการปรุงแต่ง
  4. เพื่อมุ่งทำลายบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กร ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม
  5. เพื่อสร้างอิทธิพลทางความคิดเห็นให้คล้อยตามที่ผู้สร้างข่าวปลอมต้องการ
  6. เพื่อหวังประโยชน์ในด้านธุรกิจที่ผิดกฎหมาย 
  7. เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
  8. เพื่อปกป้องความผิดพลาดหรือความล้มเหลวของตนเอง หน่วยงาน หรือองค์กร

วิธีการตรวจสอบข่าวปลอม
การตรวจสอบข่าวว่า ข่าวใดเป็นข่าวจริง ข่าวใดเป็นข่าวปลอม ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ผู้เสพข่าวหรือผู้รับสาร ควรที่จะรู้ ก่อนที่จะแชร์ข่าวปลอมเหล่านั้นต่อไป ซึ่งจะทำให้ข่าวปลอมเหล่านั้นบรรลุเป้าหมายตามที่ผู้สร้างข่าวปลอมต้องการ และอาจกลายเป็นหนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดในการช่วยแชร์ข่าวปลอมอีกด้วย วิธีการตรวจสอบหรือสังเกตข่าวปลอม มีหลายท่าน ได้ให้ความเห็นไว้ดังนี้

อเสข ขันธวิชัย (2561. ออนไลน์) กล่าวถึง วิธีเช็คข่าวปลอม ให้สังเกต 3 จุด เพื่อเคลียร์ให้ชัด ไว้ดังนี้
  1. วิธีการสังเกตที่ง่ายที่สุด ก็คือ สังเกตป้ายโฆษณา เมื่อเราคลิกเข้าไปชม จะพบแต่โฆษณาที่ผิดกฎหมาย ทั้งโฆษณาเว็บโป๊เปลือยอนาจาร หรือขายสินค้าผิดกฎหมายต่าง ๆ หากพบเช่นนี้ให้ระแวงสงสัยเอาไว้ก่อนว่า ข่าวนั้นน่าจะเป็นข่าวปลอม
  2. ให้สังเกตชื่อของเว็บไซต์ ชื่อเว็บไซต์ที่สร้างข่าวปลอม มักจะเลียนแบบเว็บไซต์ข่าวดัง ๆ แล้วใส่คำสร้อยเพิ่มหรือสะกดไม่ถูกต้อง ให้คนที่ไม่ค่อยคุ้นกับชื่อภาษาอังกฤษของสำนักข่าวสับสน
  3. ให้ตั้งสมมติฐานว่า เมื่อเนื้อหาข่าวมันปลอม รูปภาพประกอบข่าวก็ต้องปลอมเช่นเดียวกัน หากเราใช้บราวเซอร์ Google Chrome ให้คลิกขวาที่รูปภาพในข่าว แล้วค้นหารูปภาพจาก Google ก็จะทราบได้ ถึงเวลา เหตุการณ์ และสถานที่ ว่ารูปภาพนี้เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตเมื่อใด หากไม่ตรงกับเนื้อหาข่าวแสดงได้เลยว่าเป็นข่าวปลอม
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดย พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.บก.ปอท. ในฐานะโฆษก บก.ปอท. (คมชัดลึก. 2562) กล่าวถึงวิธีสังเกตข่าวปลอมด้วยตัวเองสามารถทำได้ง่ายๆ คือ
  1. ดูชื่อเว็บไซต์ เป็นเว็บไซต์หรือสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงหรือไม่ แต่ก็ต้องระวังเว็บไซต์ที่ตั้งใจใช้ชื่อลอกเลียนแบบให้คล้ายกับสำนักข่าวชื่อดังด้วยซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นชื่อเดียวกันได้
  2. พิจารณาความสมเหตุสมผล ควรอ่านเนื้อหาให้ครบถ้วน อย่าอ่านแค่พาดหัว จากนั้นใช้ความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์พิจารณาเนื้อหาของข่าวนั้นๆ
  3. ตรวจสอบแหล่งที่มา โดยตรวจสอบดูว่าข่าวดังกล่าวนั้นมีต้นตอมาจากแหล่งไหน รวมทั้งเปรียบเทียบกับแหล่งข่าวอื่นๆ ซึ่งอาจมีทั้งแหล่งข่าวในประเทศและต่างประเทศเพื่อดูว่าเนื้อหาตรงกันและถูกต้องหรือไม่ มีการบิดเบือนหรือเปล่า แหล่งที่มาของข่าวมีความน่าเชื่อถือเพียงใด 
  4. มีภาพประกอบยังเชื่อไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นตัวช่วยยืนยันว่าจะเป็นข่าวจริงเสมอไป ต่อให้เป็นภาพจริง หรือตัดต่อ ก็อาจเป็นภาพของข่าวอื่นที่ถูกนำมาใช้บิดเบือนประกอบข่าวปลอมได้เช่นกัน
วรากรณ์ สามโกเศศ (2562 : ออนไลน์) กล่าวว่า หากเราไม่มีวันหลีกหนีข่าวปลอมที่มีอยู่ได้ เราก็มีวิธีที่จะรู้ได้ว่ามันเป็นข่าวปลอม ดังนี้
  1. ดูแหล่งที่มา ให้ตรวจสอบที่มา เช่น เว็บไซต์ พันธกิจของแหล่ง จุดที่สามารถติดต่อได้
  2. อ่านทั้งหมด อย่าอ่านแต่เพียงหัวเรื่องที่มักเขียนเกินจริงเพื่อให้คลิกเข้าอ่าน และนำไปพูดต่อ ต้องอ่านเรื่องราวทั้งหมดและประเมินว่าพอจะเป็นข่าวจริง
  3. ตรวจสอบคนเขียน ว่าเป็นใคร มีตัวตนจริงหรือไม่ น่าเชื่อถือไหม อย่าเพียงแค่เห็นชื่อก็เชื่อทันที
  4. ตรวจสอบจากแหล่งอื่นที่ใกล้เคียง คลิกไปที่แหล่งเหล่านั้นเพื่อหาข้อมูลสนับสนุนและพิจารณาข่าวที่สงสัย
  5. ตรวจสอบวันที่เหตุการณ์เกิดขึ้น บ่อยครั้งที่ข่าวปลอม เอาข่าวเก่าที่เกิดขึ้นจริงมาฉายซ้ำ ต้องสังเกตรายละเอียดในภาพว่าไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาบอก
  6. ตรวจสอบว่าเป็นเรื่องตลกหรือประชดประชันหรือไม่ สืบที่มาของเว็บไซต์และตัวผู้เขียนว่ามีความเอนเอียงหรือไม่ อย่าให้ความไม่ชอบคนนี้ของเรา บดบังวิจารณญาณ พอมีข่าวลบของคนนี้มาก็เชื่อในทันที 
  7. ถามผู้เชี่ยวชาญหรือตรวจสอบกับแหล่งที่ให้ข้อมูลก่อนที่จะเชื่อ
องค์ประกอบของข่าวปลอม 
จากการสังเคราะห์ของคณะผู้จัดทำรายงาน พบว่า การเผยแพร่ข่าวปลอมมีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 องค์ประกอบ ดังนี้
  • องค์ประกอบที่ 1 ผู้สร้างข่าวปลอม หมายถึง ผู้ที่ต้องการสร้างข่าวปลอมเพื่อเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งตามที่ตนเองต้องการ
  • องค์ประกอบที่ 2 ผู้ส่งสาร หมายถึง ผู้ที่รับอาสาหรือผู้ที่รับจ้าง ผู้สร้างข่าวปลอม ให้เผยแพร่ ข่าวปลอมไปยังกลุ่มเป้าหมาย (ผู้รับสาร) ที่ต้องการด้วยเครื่องมือส่งสารหรือวิธีการต่างๆ 
  • องค์ประกอบที่ 3 เครื่องมือที่ใช้ในการส่งสาร หมายถึงเครื่องมือสื่อสารใดๆ ก็ตามที่สามารถส่งข่าวปลอมถึงกลุ่มผู้รับสารหรือกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร สื่อสิ่งพิมพ์ สถานีวิทยุ ใบปลิว หนังสือเวียน หนังสือลูกโซ่ แผ่นโฆษณา การเล่าต่อ เว็บไซต์ อีเมล หรือสื่อสังคมออนไลน์ 
  • องค์ประกอบที่ 4 ผู้รับสาร หมายถึง ผู้ที่ได้รับข่าวปลอม
  • องค์ประกอบที่ 5 การส่งต่อ (แชร์) หมายถึง พฤติกรรมของผู้รับสารในการส่งต่อหรือแชร์ข่าวปลอมไปยังกลุ่มหรือชุมชนออนไลน์ของตนเอง ด้วยเครื่องมือที่ใช้ส่งสารต่างๆ ที่มี 

ภาพแสดงขั้นตอนการเผยแพร่ข่าวปลอม

ข่าวปลอม จะบรรลุเป้าหมาย (Goal) ที่ตั้งไว้หรือไม่ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ องค์ประกอบที่ 4 และ 5 คือ ผู้รับสาร และการส่งต่อ (แชร์) หากผู้รับสารไม่ส่งต่อ ข่าวปลอมนั้นก็จะไร้พลัง ไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อเป้าหมายที่ต้องการ 

เครื่องมือที่ใช้ในการส่งสารที่มีประสิทธิภาพสูงในการส่งข่าวและแชร์ข่าวปลอมในปัจจุบัน ได้แก่ สื่อสังคมออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทฯ ต่างๆ ที่สร้างขึ้น เช่น YouTube LINE Facebook Messenger Instaram Pantip Twitter WhatApp เป็นต้น การกดไลค์ และกดแชร์จึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ข่าวลวงแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน ผู้คนล้วนนิยมเสพสื่อผ่านโซเซียลมีเดียกันเป็นจำนวนมาก มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ข้อคิดเห็นเรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และการกดไลค์ กดแชร์ ของมนุษย์ ไว้น่าสนใจ ดังนี้ 

นักสังคมวิทยาชื่อ Elihu Katz (1960) (อ้างถึงใน วรากรณ์ สามโกเศศ. 2562 : ออนไลน์) ระบุว่ามี 5 เหตุผลที่มนุษย์เรา ต้องใช้สื่อ คือ
  1. เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสาร และเพื่อให้การศึกษาแก่ตนเอง
  2. เพื่อความบันเทิง
  3. เพื่อให้เราสามารถบอกตัวเราเองได้ว่าเราเป็นใครจากการดูผู้คนในสื่อ เช่น เป็นคนประเภทใด เป็นคนคิดแบบใด เป็นคนมีฐานะในสังคมและเศรษฐกิจระดับใด ฯลฯ จากการเปรียบเทียบเพื่อความเข้าใจตนเอง
  4. เพื่อการสนทนาโดยสามารถเอาเรื่องที่พานพบในสื่อไปพูดคุยกับคนอื่น ๆ ได้ เนื่องจากมนุษย์เป็น “สัตว์สังคม”
  5. เพื่อหลีกหนีชีวิตจริงไปสู่โลกแห่งความสนุกและความฝัน
nardpradabt. (2561 : ออนไลน์) กล่าวว่า การไลต์ คือ การให้ Feedback ในทางที่ดี หรือเป็นการกดเพื่อตอบรับบางสิ่งที่เราสนใจ จากการวิจัยพบว่าร้อยละ 44 ของผู้ใช้ Facebook กดไลค์โพสต์ในหน้า Timeline อย่างน้อย 1 ครั้งต่อวัน และอีกร้อยละ 29 กดไลค์หลายๆ ครั้งต่อวัน นั้นแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งาน Facebook มีความข้องเกี่ยวและมีประสบการณ์ต่อการกดไลค์ ทั้งนั้น นอกจากนั้นยังได้ให้เหตุผล 10 ประการ ที่ทำให้ผู้ใช้ facebook กดไลค์ โดยไม่รู้ตัว ดังนี้
  1. เพราะการกดไลค์ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และไวที่สุดในการแสดงออกว่า เราเห็นด้วยหรือ ถูกใจในสิ่งนั้น
  2. เป็นสิ่งที่สนใจตรงกับ Lifestyle ของตัวเอง ว่าเราชอบ เราสนใจ และเราสนับสนุนในสิ่งนั้น 
  3. ในบางสถานการณ์เรากดไลค์บางสิ่ง เพียงเพราะว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่คนกำลังที่พูดถึงอยู่ อาจเพราะ “เรากลัวที่จะพลาดอะไรไปบางอย่าง” 
  4. การแสดงความมีตัวตน หมายความว่า สิ่งที่เรากดถูกใจ เป็นการแสดงถึงการมีตัวตนของคุณในสิ่งที่คุณชอบ มันก็เป็นสิ่งที่แสดงออกว่า คุณเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้นในสิ่งที่คุณชอบ และ อยากมีตัวตน 
  5. ต้องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ข่าวสารเกิดขึ้นได้ทุกวัน ทุกเวลา เราจึงกดไลค์ เพราะ เราอยากที่จะตามข่าวสารเหล่านั้น ไม่ใช่แค่ข่าวสารทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่รวมถึง เพจที่เราชอบ แบรนด์ที่เรารัก หรือ บางสิ่งที่เราต้องการรับข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น เรื่อยๆ และ ต่อๆ ไป 
  6. ต้องการรักษาความสัมพันธ์ บางทีที่เรากดไลค์ แต่ไม่ได้ดูหรอกว่าเพื่อนจะโพสต์ข้อความ หรือรูปภาพอะไร แต่ที่เรากดไลค์ เพราะว่า “ใครเป็นคนโพสต์มากกว่า” ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนสนิท เพื่อนที่ทำงาน เจ้านาย เพื่อนที่ไม่ได้เจอหน้านาน เพื่อนที่หายไปจากชีวิตแล้ว พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เป็นต้น การกดไลค์ในลักษณะนี้ เหมือนเป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่ แสดงออกว่า เรายังคงเห็นความเคลื่อนไหวในชีวิตของกันและกัน เราแคร์ เราสนใจในสิ่งที่เธอทำอยู่นะ เราเป็นกำลังใจให้เธอนะ เธอเป็นคนสำคัญของฉันเสมอ เป็นต้น
  7. หากเพื่อน “ชอบ” มีโอกาสที่เราจะ “ชอบด้วย” การที่เป็นเพื่อนกันได้ ก็เพราะการมีบางอย่างที่คล้ายกัน คุยกันรู้เรื่อง ดังนั้น เวลาเพื่อนเรากดไลค์ หรือแชร์อะไรใน Facebook เรามักจะสนใจ และชอบด้วยเสมอ 
  8. ต้องการ Feedback ที่ดีกลับมา ในส่วนลึกเราอาจจะมีความโรคจิตอย่างหนึ่ง คือ เมื่อเรากดไลค์เพื่อน เราก็หวังว่าวันหนึ่ง เพื่อจะกลับมากดไลค์เราบ้าง หรือ หากมีเพื่อกดไลค์ให้เราจำนวนมาก จะเป็นการเสริมความมั่นใจ ในสิ่งที่เราคิด หรือ สิ่งที่เรากำลังจะต้องการทำ เพื่อกำลังใจให้กับตัวเราเอง 
  9. คาดหวังสิ่งตอบแทน คุ้นเคยกันดี คำว่า กดไลค์และแชร์โพสต์นี้แล้ว จะแจกของ ได้รับของ เล่นเกมชิงรางวัลอะไรต่างๆ คนส่วนใหญ่ไม่มีใครทำอะไร แล้วไม่หวังผลประโยชน์หรอก เราหวังผลทั้งนั้น จะมากหรือน้อยก็ว่ากันไป ร้อยละ 42 ของการสำรวจผู้คนกลุ่มหนึ่ง กดไลต์เพื่อต้องการคูปอง หรือ ส่วนลด และ ร้อยละ 35 ต้องการมีส่วนร่วมกับเนื้อหานั้นๆ
  10. ไม่มีเหตุผลของการกดไลค์ เพราะว่า มือมันลั่นไปเอง
TONKIT (2562 : ออนไลน์) มองว่า การกดไลค์ การแสดงความคิดเห็น หรือ กดแชร์ข้อความในโลกโซเชียลนั้น อาจไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทางใจของคนในสังคมปัจจุบัน เพราะในทุกการแสดงออกบนโลกโซเชียลนั้น ได้เข้าถึงความรู้สึกของผู้คน ทำให้เรารู้สึกเสพติด มีความปรารถนาเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดไลค์ ยอดแชร์ และ จะวิตกกังวลทุกครั้งเมื่อเรื่องราว หรือรูปที่โพสต์ไปนั้น ไม่ได้รับความสนใจ หากพูดในแง่ของชีววิทยา การที่ผู้คนเสพติดโซเชียลมีเดียนั้น เพราะสารเคมีในสมอง 2 ตัว คือ โดพามีน และ อ๊อกซีโทซิน
  • โดพามีน คือ ฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นความต้องการของมนุษย์ เพราะในขณะที่โดพามีนหลั่งออกมาจะทำให้คุณรู้สึกได้ถึงอารมณ์ที่พึงพอใจ มีความยินดี ความรักและความรู้สึกดีๆ จะเพิ่มมากยิ่งขึ้
  • ออกโทซิน คือ ฮอร์โมนสารเคมีที่สร้างความผูกพัน มีรายงานว่าการใช้เวลา 10 นาทีในโลกโซเชียล สมองสามารถหลั่งฮอร์โมน ออกโทซินได้สูงกว่าปกติ ถึงร้อยละ 13 เมื่อสมองหลั่งสารออกโซทิน ออกมา จะทำให้ความเครียดลดลง มีความรู้สึกรักและไว้เนื้อเชื่อใจกัน และมีความรู้สึกปรารถนามากขึ้น
จากฮอร์โมนสองตัวนี้เอง ที่จะมีการสร้างความรัก ความพึงพอใจ หรือ ความรู้สึกปรารถนา และต้องการในช่วงเวลาที่เราได้ใช้โซเชียลมีเดีย 

ภาพการหลั่งฮอโมนแห่งความสุขเมื่อคนเล่น Social Media

โดยปกติทั่วไป คนมักชอบพูดเรื่องของตนเอง แสดงความคิดเห็นของตัวเองในบทสนทนาทุกครั้ง ประมาณร้อยละ 30-40 แต่สำหรับผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดีย มักจะพูดและแสดงความคิดเห็นของตนเองสูงถึงร้อยละ 80 เหตุผลเพราะในการสนทนาแบบเห็นหน้ากันนั้น จะมีเรื่องของการควบคุมอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ในบางครั้งเราอาจไม่มีเวลาที่จะคิดหาคำตอบที่ดี ขณะเดียวกัน เราก็ต้องคอยสบตาคู่สนทนา และคอยอ่านภาษากายของพวกเขาว่า เขาสนใจในสิ่งที่เรากำลังพูดอยู่หรือไม่

แต่ในโลกโซเชียล นั้นทุกคนสามารถปรับแต่ง และ มีเวลาที่จะประดิษฐ์คำพูดของตนเองได้ ซึ่งแต่ละคนจะพยายามนำเสนอตนเองออกมาในด้านที่อยากให้คนเห็นและคิดว่าเขาเป็นคนแบบนั้น สังเกตง่ายๆ จากโปรไฟล์ที่แต่ละคนปรับแต่งกันบนเฟซบุ๊ค ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการสร้างตัวตนเพื่อเพิ่มความรู้สึก ภาคภูมิใจในตนเอง

สำหรับเหตุผลที่คนชอบแชร์ เพราะต้องการแสดงตัวตนของตนเอง และ ต้องการแสดงความสัมพันธ์แบบสนิทสนม จากผลสำรวจพบกว่าร้อยละ 68 ของผู้ที่แชร์ข้อความ หรือ ข่าวสารนั้น เพราะต้องการบอกคนอื่นว่า พวกเขาคิดอย่างไร พวกเขาเป็นคนอย่างไร และ เรื่องใดที่พวกเขากำลังสนใจอยู่ในเวลานี้ แต่เหตุผลสำคัญที่สุดสำหรับคนชอบแชร์ที่มีผลสำรวจถึงร้อยละ 78 พบกว่าพวกเขาแชร์ เพราะว่าต้องการติดต่อกับผู้คนที่อยู่ในโซเชียลมีเดียนั่นเอง

ทำไมคนถึงชอบกดไลค์ จากผลสำรวจของการใช้ Facebook ที่มีผู้ใช้กว่า 2 พันล้านรายนั้นพบว่า มีคนใช้ปุ่มกดไลค์มากกว่า 1.13 ล้านล้านครั้ง แล้วทำไมคนถึงชอบกดไลค์ เมื่อเจอข้อความ หรือ ข้อมูลที่ทำให้เขารู้สึกถูกใจ ข้อแรกเป็นเพราะเขาต้องการให้คุณค่ากับคนที่เขาปฎิสัมพันธ์ด้วยบนโลกโซเชียล ลำดับต่อมาคือ เขาพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน เมื่อเรากดไลค์เขา เขาก็มากดไลค์เรา ผลัดกันกดไปมา ก็สร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน แต่ถ้าวันไหนเขากดไลค์ไปแล้ว แต่เพื่อนไม่กลับมากดไลค์เขา เขาก็จะรู้สึกหงุดหงิดและกระวนกระวาย

ทำไมคนถึงชอบแสดงความคิดเห็น คำตอบของเรื่องนี้คือการเอาทุกข้อมารวมกัน เมื่อแต่ละคนมีกลุ่มในโลกโซเชียลของตนเองเอง เขาก็มีความรู้สึกสบายใจที่จะได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันการไม่ต้องแสดงตัวตนเหมือนอย่างในโลกของความเป็นจริง ความรู้สึกอยากที่จะแสดงความคิดเห็นก็มีมากขึ้น และท้ายที่สุดก็จะทำให้หลายคนมีความคิดเห็นในทุกเรื่อง และแสดงตัวตนของตนเองออกมา ยิ่งถ้ามีใครมากดไลค์ กดแชร์ ความคิดเห็นของเรา ก็จะทำให้หลายคนรู้สึกว่า การแสดงความคิดเห็นของตนเองนั้นมีคุณค่า และท้ายที่สุดก็จะเสพติดความรู้สึกแบบนี้ เรื่อยไป

แนวทางป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม
จากปัญหาของข่าวปลอมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เริ่มทรงพลังและมีอิทธิพลมากขึ้น โดยเฉพาะการบ่อนทำลายความมั่นคงในด้านต่างๆ ของประเทศไทย ส่งผลให้รัฐบาล องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม Social Media ล้วนต่างออกมาให้ความสำคัญ และพยายามหาทางช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องข่าวปลอม อาทิ

ในส่วนของรัฐบาลไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขข่าวปลอมที่สำคัญ ได้แก่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560  พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 และ พรบ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551  เป็นต้น โดยมีคณะกรรมการตามที่กำหนดไว้ในแต่ละ พ.ร.บ.เป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแล หน่วยงานที่มีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันข่าวปลอมและจับผู้กระทำผิด ที่สำคัญ ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เป็นต้น

ในส่วนการช่วยป้องกันปัญหาของข่าวปลอมของ Google บริษัทผู้ให้บริการค้นหาข้อมูลอันดับหนึ่งของโลก รัตพล อ่อนสนิท (2560.ออนไลน์) กล่าวว่า Google ได้เพิ่มมาตรการคัดกรองข่าวปลอม และข้อมูลที่บิดเบือนความจริงบนอินเทอร์เน็ต หลังเกิดปัญหาการแพร่ขยายอย่างรวดเร็วของข่าวปลอม โดย บริษัท Google ได้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อลดโอกาสที่ข่าวปลอมจะได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง มาตรการใหม่นี้จะป้องกันไม่ให้ข่าวปลอม ปรากฏในผลการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้

Ben Gomes ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมด้านการค้นหาข้อมูลของ Google กล่าวว่า "แม้ความพยายามนี้จะไม่สามารถกำจัดปัญหาข้อมูลผิดๆ ให้หมดไป แต่บริษัทคิดว่าน่าจะสามารถก้าวทันปัญหาหรือตัดไฟแต่ต้นลมได้" การเขียนโปรแกรมเพิ่มเติมของ Google ในครั้งนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบเดาใจของผู้ใช้ ว่าต้องการค้นหาข้อมูลเรื่องใด ด้วยการช่วยเติมข้อความให้สมบูรณ์ขณะที่ผู้ใช้กำลังพิมพ์อยู่ เครื่องมือที่ว่านี้เรียกว่า "Autocomplete" ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ จะกำจัดการเติมข้อความให้สมบูรณ์ที่ส่อไปในทางเสื่อมเสีย นอกจากนั้น Google เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ส่งความคิดเห็น และข้อท้วงติงเกี่ยวกับความสามารถในการเดาใจของระบบ Autocomplete ได้ด้วย

นอกจากนั้น ฐปณีย์ เอียดศรีไชย (2561 : ออนไลน์) ลลยกล่าวว่า บริษัท Google ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา Fake News ปัจจุบัน Google ได้จัดทำโครงการ Trust Project เพื่อความโปร่งใสของข้อมูลที่ค้นหาจากกูเกิ้ล และการเปิด Google News ให้ค้นหาข่าวที่เชื่อถือได้ ซึ่งรองประธานกูเกิ้ลนิวส์ ยืนยันเรื่องนี้กับกลุ่มนักข่าวไทยที่ได้เข้าไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของกูเกิ้ล ประเทศสหรัฐอเมริกา ( Googleplex) และในโอกาสที่กูเกิ้ล ครบรอบ 20 ปี กูเกิ้ลกำลังมีนโยบายสำคัญในการจัดระเบียบข่าวสารรอบโลกเพื่อช่วยแก้ปัญหา Fake News เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องด้วย 

ในส่วนของ Facebook Nutn0n (2561.ออนไลน์) กล่าวว่า ในช่วงปี 2559 Facebook ได้เริ่มทำ 3rd-Party Fact Checking ซึ่งข่าวต่าง ๆ ที่เป็นข่าวปลอมจะมีการแจ้งเตือน ซึ่งการแจ้งเตือนจะเน้นไปที่เนื้อหา แบบเนื้อหาต่อเนื้อหา เครื่องมือที่ facebook สร้างขึ้น ได้แก่
  1. Links Facts Check เป็นการ แจ้งเตือนข่าวปลอมในรูปแบบของลิ้งค์ ถ้าเกิดเพจโพสต์ข่าวที่เป็นข่าวปลอมจะมีการแจ้งเตือน โดนแบ่งเงื่อนไขของ “ความปลอม” ออกเป็น 8 กรณี เช่น False เป็นข่าวปลอมทั้งหมด, Mixture เป็นข่าวที่เอาความจริงมาปนแต่นำไปสู่การเข้าใจผิด หรือแม้กระทั่งบอกว่าเป็นแบบ Parody หรือ Prank (ข่าวตลกหรือข่าวปลอมเล่น ๆ) โดยสามารถดูรูปแบบการจัดหมวดหมู่ของ Facebook Facts Check ได้ที่ Third-Party Fact-Checking on Facebook
  2. Photo and Video Facts Check ในรูปแบบของรูปภาพและวิดีโอ Facebook ในส่วนนี้จะฉลาดขึ้นและสามารถอ่าน วิเคราะห์ ตัวอักษรและภาพที่ปรากฏได้ เนื่องจากว่าข่าวปลอมบางครั้งก็มาในรูปแบบของการนำภาพมาใส่กับตัวอักษร ซึ่งบางทีภาพและเนื้อหาที่บรรยายนั้นไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ถูกนำมาใช้สร้างความเข้าใจผิด Facebook จึงใช้เทคนิค Optical Character Recognition (OCR) โดยแบ่งรูปแบบของข่าวปลอมที่เป็นรูป 3 ลักษณะได้แก่ 1) Manipulated ถูกสร้างหรือมโนหรือตัดต่อขึ้นมาใหม่หมด 2) Out of Context ข้อความและภาพอยู่นอกบริบทหรือไม่เกี่ยวข้องกัน และ 3) Text or Audio Claim เป็นการใส่คำอธิบายหรือคำพูดปลอมเข้าไป
Facebook พยายามใช้อัลกอริทึมต่าง ๆ รวมถึงโปรแกรม และ 3rd-Pary ในการตรวจจับว่า ข่าวใดเป็นข่าวปลอม ต่อมา Facebook ได้เปิดเครื่องมือขึ้นมาใหม่อีก 1 ชุด ได้แก่
  1. Page Info แสดงข้อมูลว่าเพจนี้ คืออะไร มาจากไหน ก่อตั้งเมื่อไหร่ เคยเปลี่ยนชื่อมาก่อนไหม รวมถึงข้อมูลที่บอกว่าคนที่ดูแลเพจ (แอดมิน) มาจากไหนบนโลก (บอกจำนวน Admin ทั้งหมด และประเทศที่อยู่) เป็น ภาพของเพจโดยรวม ซึ่ง Page Info สามารถเข้าถึงได้จาก Icon รูป i บนขวาบนของเพจ
  2. Active Ads ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมนูที่เข้าถึงได้จากการกด Icon รูป i บนขวาบนเพจ ซึ่งในส่วนนี้จะบอกว่า เพจนี้ มีแคมเปญโฆษณาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าโฆษณานั้นจะ Target เราหรือไม่ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้ก็ทำให้เรารู้ได้ว่า เพจมีการ Targeting Ads แบบแปลก ๆ ที่เหมือนจะเป็นการชี้นำหรือมีวาระซ่อนเร้น (Hidden Agenda) อะไรหรือเปล่า
จาการศึกษาของ เฉลิมชัย ก็กเกียรติกุลและคณะ (2561 : 181-188) ได้สรุปแนวทางการจัดการการแพร่กระจายข่าวปลอมของต่างประเทศ ไว้ดังนี้
  1. การออกกฎหมายเพื่อเซนเซอร์หรือควบคุมเนื้อหาของข่าวปลอม เช่น กฎหมายหมิ่นประมาทหรือการใส่ร้าย กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อป้องกันข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน กฎหมายอาญาหรือกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ช่วยเรื่องการสนับสนุนการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อการนำเสนอข่าวปลอม โดยพิจารณาจากกระบวนการสร้างข่าว กฏหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่กำกับดูแลเนื้อหาของผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ที่เป็ฯสื่อกระแสหลักให้ชาวยจำกัดการแพร่กระจายข่าวในวงกว้างได้ เป็นต้น
  2. แนวทางการกำกับดูแลผู้ให้บริการเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม
  3. แนวทางกำกับดูแลกันเองของภาคอุตสาหกรรม 
  4. แนวทางการมีส่วนร่วมหลายฝ่าย (Multi-Stakehollder)
นอกจากนั้น เฉลิมชัย ก็กเกียรติกุลและคณะ (2561 : 188-191) ยังได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมในประเทศไทย ไว้เช่นเดียวกัน ดังนี้

บทบาทภาครัฐ เบื้องต้นหน่วยงานภาครัฐต้องกำหนดแผนการการจัดการข่าวปลอมเป็น 2 ระยะ ดังนี้

มาตรการระยะสั้น เป็นการสื่อสารกับผู้ที่อาจได้รับผลกระทบด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ทันท่วงทีและโปร่งใส เพื่อหลีกเหลี่ยงการสร้างผลกระทบในลักษณะที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ก่อให้เกิดความสับสน

มาตรการระยะยาว เพื่อตอบโต้กับข่าวปลอม อาทิเช่น
  1. การเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีแก่ประชาชนและสังคม รู้จักวิธีการตอบโต้จชข่าวปลอม มีความรับผิดชอบต่อการเผยแพร่และแบ่งปันข้อมูล 
  2. การกำหนดความรับผิดชอบกับบริษัทเทคโนโลยีและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อสังคมภายใต้กรอบความร่วมมือ
  3. สนับสนุนให้มีองค์กรกลางทำหน้าที่ในการตรวจสอบความเป็นจริง แสวงความร่วมมือในอนาคตกับองค์กร สมาคมผู้ประกอบการสื่อออนไลน์ สำนักข่าวต่างๆ ในการตรวจสอบข่าวปลอม
  4. ควรสร้างหรือเข้าร่วมเครือข่ายในการวิจัยและพัฒนานโยบายและเทคโนโลยีทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการจัดการกับปัญหาการปล่อยข่าวปลอมเป็นขบวนการ หรือนิยมเรียกว่า Deep fakes ที่มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัยอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) โดยเฉพาะ Generative adversarial network (GUN) ที่สามารถทำให้การจัดการหรือการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของข้อมูล ภาพ และวิดีโอยากมากขึ้น
การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของประเทศในภาพรวม ซึ่งควรมีองค์ประกอบหรือหลักการสำคัญ ดังนี้
  • มิติที่ 1 นโยบายและยุทธศาสตร์ แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ การตอบสนองต่อเหตุการณ์ การป้องกันแพลตฟอร์ม การบริหารจัดการวิกฤตข่าวปลอม และการป้องกันการแพร่ระบาดของข่าวปลอม
  • มิติที่ 2 สังคมและวัฒนธรรม ด้านการตรวจสอบข่าวปลอม
  • มิติที่ 3 การศึกษา การอบรมให้ความรู้และทักษะ การสร้างการรับรู้ การอบรม การให้การศึกษาแก่ภาคผู้ใช้งาน ผู้ประกอบการวิชาชีพสื่อข่าว และผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์ม
  • มิติที่ 4 ด้านกฎหมายและข้อบังคับ
  • มิติที่ 5 มาตรฐานโครงสร้างองค์กรและเทคโนโลยี
การกำกับดูแลกันเองของภาคอุตสาหกรรม การเรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมสื่อและเทคโนโลยีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และควรจัดให้มีกลไกสำหรับการกำกับดูแลตนเอง

แนวปฏิบัติของพลเมือง ประกอยด้วย ผู้บริโภคเนื้อหา ผู้สร้างสรรค์เนื้อหา ผู้จำหน่ายเนื้อหา และผู้บริโภคเนื้อหา

ในด้านการช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม ของภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2562 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมมือกับ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย (Thai PBS) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างประเทศ “International Conference on Fake News” เพื่อรับมือกับปัญหาข่าวลวง ข่าวปลอม ภายใต้ “ประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม” โดยมีประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกัน คือ นโยบายสาธารณะกับการจัดการข่าวลือ-ข่าวลวง ในยุคดิจิทัล (Public Policy in Handling Mis/Disinformation in Digital Era) โดยมีการพยายามสร้างพื้นที่สื่อดี สื่อสร้างสรรค์ สร้างความตระหนักเรื่องการ "ชัวร์ก่อนแชร์" การสนับสนุนให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้าถึงข้อมูลสาธารณะอย่างเที่ยงตรง มีนโยบายตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องถี่ถ้วนก่อนเผยแพร่ตามหลักจริยธรรม โดยดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย นอกจากนั้นยังได้เสนอแนะเรื่องวิธีการป้องกันข่าวปลอม ดังนี้ ข่าวสด (2562 : ออนไลน์)
  1. การจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อมาตรวจสอบข้อมูลข่าวสารโดยตรง (Organization third party fact checking) ที่โปร่งใส เปิดเผย ไม่อยู่ภายใต้กำกับของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง สามารถตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องได้ทันสถานการณ์ ทำงานร่วมกับภาควิชาการพร้อมรายงานผลงานต่อสาธารณชน
  2. องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ รวมตัวกันเป็นภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดพื้นที่กลางในการจัดการข้อมูลสื่อ 
  3. สร้างประชาชนรู้เท่าทันสื่อ ผลิตเนื้อหาที่ส่งเสริมการรู้เท่าทัน นำเรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกต้องมาเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ออเดรย์ ถัง (Audrey Tang) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นไว้ว่า ในไต้หวันนักข่าวมีหน้าที่ค้นหาความจริง ส่วนภาครัฐมีหน้าที่สร้างความปลอดภัยในการสื่อสาร มีศูนย์ตรวจสอบความร่วมมือผ่านแอปพลิเคชั่น LINE เมื่อมี Fake News ทุกกระทรวงจะต้องรีบชี้แจงภายใน 1 ชั่วโมง ภาครัฐมีการจัดงบประมาณเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าด้วยการให้ความรู้ผ่านทีวีซีรี่ส์ ตั้งแต่ระดับอนุบาล รวมถึงมีกฎหมายด้านการบริจาคเงินต้องโปร่งใส โดยเฉพาะการบริจาคเงินให้พรรคการเมือง

ข้อเสนอแนะ
แนวทางป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม ตามแนวคิดการฝัดข้าวและหลักกาลามสูตร
จากการศึกษาข้อมูลด้านความเป็นมาของข่าวปลอมและผลกระทบด้านความมั่นคง ประเภทของข่าวปลอม วิธีการตรวจสอบข่าวปลอม องค์ประกอบของข่าวปลอม และแนวทางป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม คณะผู้จัดทำรายงานได้นำข้อมูลต่างๆ มาสังเคราะห์และระดมแนวความคิดร่วมกัน เพื่อหาแนวทางป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอมอย่างง่ายและสามารถใช้ได้จริง โดยมุ่งแก้ไของค์ประกอบที่สำคัญที่จะหยุดยั้งการแพร่กระขายข่าวปลอม ก็คือ ผู้รับสารและการส่งต่อ

ภาพแสดงวงจรการเผยแพร่ข่าวปลอม

จากภาพแสดงวงจรการเผยแพร่ข่าวปลอม จะเห็นได้ว่า เริ่มต้นเกิดจากผู้สร้างข่าวปลอม - ผู้ส่งสาร - เครื่องมือที่ใช้ส่งสาร - ผู้รับสาร - การส่งต่อ (แชร์)

หาก "ผู้รับสาร (คนแรก)" ตัดสินใจที่จะส่งต่อ (แชร์) ข่าวปลอมนั้นแล้ว ผู้รับสารคนแรกนั้น จะกลายเป็น "ผู้ส่งสาร(คนใหม่)" ในทันที ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ข่าวปลอมจะได้รับการแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว 

ภาพแสดงจำนวนผู้รับข่าวปลอม ในกรณีมีการส่งต่อ (แชร์) กันทุกคนๆ ละ 4 ครั้ง

จากภาพด้านบนแสดงให้เห็นว่า ผู้ส่งสารเริ่มแรก แชร์ข่าวปลอมเพียง 4 ครั้งเท่านั้น จำนวนข่าวปลอมจะถูกส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายได้จำนวนมาก เพราะผู้รับสารทุกคนแปรสภาพเป็นผู้ส่งสารแชร์ต่อไปอีกคนละ 4 ครั้ง ด้วยเหตุนี้ข่าวปลอมจึงถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว โดยระยะเวลาเพียงสั้นๆ

ผู้รับสารทุกคน จึงเป็นต้นเหตุสำคัญที่ช่วยเผยแพร่ข่าวปลอมออกไป ดังนั้น หากผู้รับสารไม่ส่งต่อหรือแชร์ต่อแล้ว ข่าวปลอมก็ไม่มีพลังหรืออิทธิพบใดๆ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

การสร้างความรู้ให้ "ผู้รับสาร" สามารถพิจารณาเองได้ว่าข่าวนั้นเป็นความจริง หรือ ข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม ก่อนที่จะแชร์ต่อไป จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารมากมายมหาศาล มีทั้งข่าวสารที่มีประโยชน์ ได้ความรู้ มีสาระต่อการดำรงชีวิต กับข่าวสารที่ไร้สาระและไม่เกิดเป็นประโยชน์ใดๆ คณะผู้จัดทำรายงาน จึงได้พิจารณาเห็นว่า "การฝัดข้าว" ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวนาไทย สามารถนำมาเป็นหลักคิดหนึ่งที่จะทำให้ผู้รับสาร (ผู้ใช้โซเซียล) สามารถคัดกรองข้อมูลข่าวสารขั้นต้นได้

การฝัดข้าว จะกระทำหลังจากการตำข้าวในครกจนเปลือกข้าวกะเทาะออกจากเมล็ดข้าวแล้ว (เมล็ดข้าวเรียกว่า “ข้าวสาร” ส่วนเปลือกข้าวเรียกว่า “แกลบ” เศษของข้าวสารที่ไม่เป็นเมล็ดเรียกว่า "ปลายข้าว" หลังจากนั้นตักข้าวที่กะเทาะเปลือกแล้วนั้นมาใส่ในกระด้ง เพื่อฝัดเปลือกข้าวออกไป ผู้ที่ฝัดข้าวจะถือขอบปากกระด้งด้วยมือทั้งสองข้าง แล้วร่อนและโยนข้าวขึ้นไปบนอากาศเป็นจังหวะ เปลือกข้าวก็จะค่อยๆ กระเด็นออกไปจากกระด้ง ตามแรงโน้มถ่วงของโลก และแกลบก็จะปลิวออกไปจากกระด้งด้วยการเคลื่อนตัวของอากาศรอบๆ กระด้ง หลังจากเสร็จสิ้นในกระด้งก็จะเหลือเพียงข้าวสารและปลายข้าว 


แนวคิดที่ได้จากการฝัดข้าว
  • ข้าวเปลือกที่ผ่านการตำแล้ว เปรียบเสมือน ข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับมาจากโลกโซเซียล
  • เมล็ดข้าวสาร เปรียบเสมือน ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ต่อตนเอง ควรเก็บรักษาไว้
  • ปลายข้าว เปรียบเสมือน ข้อมูลข่าวสารที่น่าจะมีประโยชน์ต่อคนอื่น ควรแบ่งปัน
  • แกลบ คือ เปลือกของข้าวที่ถูกคัดทิ้งไปด้วยการฝัดข้าว เปรียบเสมือนข้อมูลข่าวสารไม่เป็นประโยชน์ เป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นขยะ (Junk News) หรือข่าวสารจำพวกข่าวปลอม (Fake news) 
การใช้หลักกาลามสูตรในการพิจารณาข้อมูลข่าวสาร ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม
กาลามสูตร เป็นพระสูตรสำคัญสูตรหนึ่งในพระพุทธศาสนา ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษจากนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้แก่ชาวกาลามะ ซึ่งอยู่ในเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล กาลามสูตร หมายถึงวิธีปฏิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ 10 ประการ ได้แก่
  1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา 
  2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา
  3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
  4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์
  5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ
  6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน
  7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
  8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่คิดไว้แล้ว
  9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้
  10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านสมณะเป็นครูของเรา
หากพิจารณาหลักความเชื่อ 10 ประการที่กล่าวมา ลายคนอาจคิดว่าน่าจะเป็นมิจฉาทิฎฐิ คือ ไม่เชื่ออะไรเลย แม้แต่ครูตัวเอง ซึ่งหากศึกษาความหมายจริงๆ แล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้มุ่งหวังให้เป็นเช่นนั้น ทั้งหมดนี้ เป็นข้อพิจารณาให้ทุกคนหัดใช้ความคิดแบบอิสระ คิดอย่างมีเหตุผล คำว่า อย่าปลงใจเชื่อ ก็หมายถึง อย่าเพิ่งเชื่อ จนกว่าจะได้พิจารณาไตร่ตรองตามหลักความเชื่อทั้ง 10 ประการแล้ว

การประยุกต์ใช้กับข่าวปลอม ก็คือเมื่อเราได้รับข่าวด้านสุขภาพมาเรื่องหนึ่ง ก่อนอื่นให้นำมาพิจารณาดูก่อนว่ามีโทษ หรือมีประโยชน์ ต่อสุขภาพของเราจริงหรือไม่ ถ้าเห็นว่ามีโทษให้ละทิ้งเสียในขั้นต้น แต่ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ ก็ให้ลองนำมาใช้ มาทดลองปฏิบัติดู ถ้าลองปฏิบัติเต็มตามมาตรฐานแล้ว ไม่เกิดประโยชน์จริง ก็ให้ละทิ้งเสีย แต่หากเกิดประโยชน์จริง จึงค่อยปลงใจเชื่อในข่าวนั้นๆ และแบ่งปันได้ต่อไป

สรุป คือ หลักกาลามสูตร จะสอนว่า "อย่าเชื่อใคร แม้แต่ตัวเอง แต่ให้เชื่อความจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น" 

ภาพในการนำหลักกาลามสูตร มาใช้ในการป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม

ในการนำหลักกาลามสูตร มาใช้ในการป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม เริ่มจากการที่เราได้รับข่าวมูลข่าวสารจำนวนมากมายมาจากช่องทางต่างๆ เราอย่าปลงใจเชื่อหรืออย่างเพิ่งเชื่อ นำความนั้นมาพิจารณาตามหลักความเชื่อ 10 ประการของกาลามสูตร หลังจากพิจารณาแล้วว่าเป้นข่าวจริง เป็นข่าวที่มีประโยชน์ก็สามารถกดไลค์ หรือแชร์ได้ แต่หากพิจารณาแล้วเป็นข่าวปลอม ควรทีละลบทิ้ง ไม่กดไลค์และแชร์ใดๆ ทั้งสิ้น 

บทสรุป
แนวทางป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอมที่คณะผู้จัดทำรายงานเสนอนี้ ประเด็นสำคัญคือ เป็นการสร้างความรู้ให้ "ผู้รับสาร" ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดที่จะทำให้ข่าวปลอมถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ผู้รับสาร (ผู้ที่ใช้โซเซียล) ควรสามารถพิจารณาได้เองว่า ข่าวนั้นเป็นความจริง หรือ ข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม ก่อนที่จะแชร์ต่อไป โดยใช้แนวคิด "การฝัดข้าว" ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวนาไทยที่สามารถรำลึกจดจำได้ง่าย และการใช้ "หลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้า" ซึ่งถือเป็นกฎทางวิทยาศาสตร์ มาใช้พิจารณาร่วมอีกครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้รับสาร สามารถแยกแยะได้ว่า
  1. ข้อมูลข่าวสารใดที่เป็นขยะ (Junk news) หรือเป็นจำพวกข่าวปลอม (Fake news) ที่สมควรกำจัดทิ้ง
  2. ข้อมูลข่าวสารใดที่มีประโยชน์ต่อตนเอง ควรเก็บรักษาไว้ 
  3. ข้อมูลข่าวสารใดที่น่ามีประโยชน์ต่อคนอื่น ที่ควรแบ่งปัน 
คณะผู้จัดทำรายงาน หวังว่า รายงานประกอบการศึกษาหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร รุ่นที่ 11 เรื่อง "ภัยคุกคามทางไซเบอร์ กรณีศึกษา แนวทางป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม” นี้ จะมีประโยชน์ต่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นเจ้าของหลักสูตร ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

จัดทำโดย
นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร รุ่นที่ 11 (กลุ่มสีชมพู) 
25 กรกฎาคม 2562

บรรณานุกรม
  • ข่าวสด (2562). นโยบายสาธารณะกับการจัดการ “Fake News”. [Online]. Available :https://www.khaosod.co.th/advertorial/news_2649395. [2562 กรกฎาคม 22].
  • คมชัดลึก. (2562). เช็กก่อนเชื่อ..วิกฤติข่าวปลอมระบาดโซเชียล!.[Online]. Available :https://www.msn.com/th-th/news/national/เช็กก่อนเชื่อวิกฤติข่าวปลอมระบาดโซเชียล/ar-BBVmUiv. [2562 กรกฎาคม 20].
  • เฉลิมชัย ก๊กเกียรติกุลและคณะ. (2561). ข่าวลวง : ปัญหาและความท้าทาย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ.
  • ฐปณีย์ เอียดศรีไชย. (2561). ข่าว 3 มิติ รู้จัก Googleplex สำนักงานใหญ่ Google และการแก้ปัญหาข่าวปลอม Fake News (30 ธันวาคม 2561) [Online]. Available:https://www.youtube.com/watch?v=KmFYxWqoSsw. [2562 กรกฎาคม 21].
  • นันทิกา หนูสม. (2560). ลักษณะของข่าวปลอมในประเทศไทยและระดับความรู้เท่าทันข่าวปลอมบนเฟซบุ๊กของผู้รับสารในเขตกรุงเทพมหานคร : นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ.
  • สำนักยุทธศาสตร์. (2562). รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2561.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) : กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม.
  • รัตพล อ่อนสนิท .(2560). “กูเกิ้ล” ปรับแก้ระบบค้นหาข้อมูล เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย"ข่าวปลอม" ในโลกออนไลน์.[Online]. Available : https://www.voathai.com/a/google-fake-news/3825959.html. [2562 กรกฎาคม 21].
  • วรากรณ์ สามโกเศศ. (2562). รับมือกับ fake news. [Online].Available : https://thaipublica.org/2019/01/varakorn-278/. [2562 กรกฎาคม 21].
  • อเสข ขันธวิชัย (2559). [TIP] วิธีเช็คข่าวปลอม?? ปัญหาใหญ่ในโลกออนไลน์ สังเกต 3 จุด เพื่อเคลียร์ให้ชัด. [Online].Available : https://www.appdisqus.com/2016/12/02/how-to-solve-fake-news-in-facebook.html. [2562 กรกฎาคม 19].
  • Blognone. (2560). สรุปปัญหาข่าวปลอมที่รุนแรง จนบริษัทโซเชียลต้องกลับไปรื้อนโยบายทบทวนตัวเองใหม่. [Online]. Available : https://www.blognone.com/node/96867.[2562 กรกฎาคม 21].
  • CmCityOnline. (2561). คน กทม 56.2 % เคยตรวจสอบข่าวปลอม (Fake News) เจอข่าวปลอม(Fake News) จากเฟสบุ๊ค (Facebook) และเรื่องการเมืองมากสุด. [Online]. Available :http://cmcityonline.com/archives/2978.[2562 กรกฎาคม 22].
  • Donnaya Suvetwethin. (2561). ข่าวเทียม ข่าวปลอม ข่าวลวง คืออะไร?. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. [Online]. Available : https://www.thaihealth.or.th/Content/43451 ข่าวเทียม ข่าวปลอม ข่าวลวง คืออะไร?. [2562 กรกฏาคม 18].
  • nardpradabt. (2561). ทำไมเราถึงกด Like ใน Facebook "10 เหตุผลที่เรากดไลค์โดยไม่รู้ตัว".[Online]. Available : https://www.mangozero.com/why-people-click-like-on-facebook/.[2562 กรกฎาคม 21].
  • Nutn0n. (2561). ย้อนดูเครื่องมือที่ Facebook ออกแบบมาสู้ข่าวปลอมและแนวคิดการรู้ทันสื่อโซเซียล.[Online]. Available : https://www.rainmaker.in.th/fb-tools-for-fake-news-and-digital-literacy/. [2562 กรกฎาคม 21].
  • TONKIT. (2562). เหตุผลที่ทำให้เราเสพติดโซเชียล ทำไมเราถึงชอบไลก์ชอบแชร์.[Online]. Available : https://www.sanook.com/campus/1394253/. [2562 กรกฎาคม 22].


รายชื่อ นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร รุ่นที่ 11 
คณะผู้จัดทำรายงานประกอบการศึกษา (กลุ่มสีชมพู)
  1. น.ส.กรกช โพธิสัตย์ ผอ.ส่วนการฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปภ.
  2. นางกรรณิกา ธรรมสอน กรรมการผู้จัดการ บจก.ฟ้าใส คอนสตรัคชั่น ทูลส์
  3. นายกรรชัย เรืองศรี ผอ.สถานีวิทยุ 92.65 นครนายก เค เอ ไป มีเดีย
  4. พ.ต.อ.จิรศักดิ์ ไกรเพชร รอง ผบก.ส.2 บก.ส.2 บช.ส.
  5. พ.อ.หญิง ชุติมา วันวงศ์ นักวิชาการประจำฝ่ายประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.
  6. ดร.โชติมา นิ่มอร่ามวงศ์ ผู้จัดการ หจก.เดลต้า เทคโนโลยี
  7. นายทรงศักดิ์ ทองไทย ผู้จัดการ หจก.เอส พี คอนโทรล
  8. น.ส.นุกูล กันอรุณ ผอ.ฝ่ายการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว สภาธุรกิจไทย-จีน
  9. นายนพรุจ ตันมงคล ผู้อำนวยการ สำนักคุมประพฤติ กทม.10
  10. นางปนัดดา รักษาแก้ว ประธานกรรมการ บจก.ยูซีไอ มีดีย
  11. น.ส.พัชรี จาดนิ่ม กรรมการ บจก.มัลติ อินฟินิตี้ พลัส
  12. นางพัชรี ดุลยธรรมาภิรมย์ กรรมการผู้จัดการ หจก.พลอยนารี
  13. พ.ต.อ.พลวัฒน์ สมมา รอง หน.ฝ่ายฝึกเยาวชน ศฝม.สมท.กอ.รมน.
  14. น.ส.เรวีญา ขจิตเนติธรรม ปลัดเทศบาล เทศบาลตำบลทับมา
  15. น.ส.เลอวิสรา ภาประไพพันธ์ กรรมการ บจก.พี พี แอนด์ เฮ้าส์ ออฟ ไอเดีย
  16. พ.ต.อ.ศาสตรา อ่อนรัศมี ผู้กำกับการ สน.ทุ่งมหาเมฆ
  17. น.ส.สมปอง ข้อออ เจ้าของกิจการ สุมล แอนด์ พี่จุก ทราเวล ไทยแลนด์
  18. นายสมภพ ตะราษี ผู้จัดการทั่วไป บมจ.ซี พี ออลล์
  19. นายสิทธิพล จาดนิล ผอ.(สื่อมวลชน) บจก.โกลฟิค กรุ๊ป
  20. พ.อ.ดร.สุชาต จันทรวงศ์ นักวิชาการประจำ สง.เลขาธิการ กอ.รมน.
  21. นายอาสา สุขขัง ผู้อำนวยการกองสารสนเทศระบายน้ำ สำนักการระบายน้ำ
  22. น.ส.อุษา ถวิลรักษ์ ผอ.ฝ่ายขาย บจก.พีดี พรอพเพอร์ตี้ เดเวลลอปเมนท์