หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564

จ.ราชบุรี วางแผนเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 3 อำเภอ

เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2564 สวท.ราชบุรี ได้เผยแพร่การจัดรายการของ นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รอง ผวจ.ราชบุรี และ แพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ในรายการ "นานาสาระกับผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี" แจ้งว่า จ.ราชบุรี จะเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวแบบ Sand Box ใน อ.เมืองราชบุรี อ.ดำเนินสะดวก และ อ.สวนผึ้ง โดยกำหนดเป็นพื้นที่ Covid Free Area โดยขณะนี้มีการพูดคุย กลุ่มย่อยทั้ง 3 อำเภอในเบื้องต้นแล้ว โดยการเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวครั้งนี้ มีเงื่อนไขสำคัญ คือ 


  • ประชาชนทุกคน รวมทั้งพนักงานในภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว รวมทั้งแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ท่องเที่ยวนั้น ต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 
  • เป้าหมาย จ.ราชบุรี (ไม่ได้แถลงว่าเมื่อใด)
    • ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายสัปดาห์ลงสัปดาห์ละ 25%
    • ฉีดวัคซีน กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป / ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง / หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) เข็มที่ 1 อย่างน้อยร้อยละ 90 เข็มที่ 2 ร้อยละ 60 
    • ทุกกลุ่มอายุ ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อยร้อยละ 70 
    • กลุ่มนักเรียน ต้องได้รับการฉีดวัคซีน 100% (ตามที่ร้องขอ)
  • Covid Free Area คือ พื้นที่ที่เข้ามาท่องเที่ยวแล้วรู้สึกปลอดภัย จะมีธง Covid Free Area ปักให้เห็นเป็นสัญลักษณ์
  • ผู้ประกอบการธุรกิจและบริการท่องเที่ยวแห่งใดที่พนักงานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จ.ราชบุรี จะมอบป้ายสัญลักษณ์การฉีดวัคซีนให้  และมอบเข็มกลัดฉีดวัคซีนแล้ว (แบบมีทะเบียนคุม) ให้พนักงานเป็นรายบุคคล
พื้นที่สีฟ้า
รัฐบาลชอบประดิษฐ์คำศัพท์เกี่ยวกับพื้นที่การท่องเที่ยวหลายคำ เริ่มแรก คือ Sand Box ต่อมาเป็น  Safety Zone ,Seal area  และต่อมาสุดท้ายก็เป็น The Blue Zone (พื้นที่สีฟ้า) ซึ่ง จ.ราชบุรี ถูกวางแผนเปิดการท่องเที่ยวพื้นที่สีฟ้าไว้ในระยะที่ 3 คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน จ.ราชบุรี ต้องตัดสินใจร่วมกัน หากเปิดไม่ได้ก็ถือว่าตกขบวน

การจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและรุูปแบบการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่สีฟ้า  มีวัตถุประสงค์
  1. เพื่อให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการควบคุมโรคอย่างเหมาะสม
  2. เพื่อให้พื้นที่สามารถเตรียมแผนและทรัพยากร รองรับสถานการณ์ทั้งด้านการบริหารจัดการ ด้านการแพทย์ สาธารณสุข และการสื่อสาร ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ เข้าใจ และร่วมมือในการดำเนินงาน
  3. เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่  
รูปแบบการจัดการพื้นที่สีฟ้าที่สามารถเดินทางท่องเที่ยว สามารถจัดได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) ทั้งจังหวัด 2) อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน และ 3) เฉพาะสถานที่/พื้นที่ หรือระหว่างสถานที่/พื้นที่ 

จังหวัดราชบุรี ตัดสินใจจะเปิด 3 อำเภอ เป็นพื้นที่สีฟ้า จึงมีคำถามว่า จะเปิดพื้นที่ทั้งอำเภอ หรือเปิดบางพื้นที่ในอำเภอนั้น ๆ  เอาให้ชัดเจนเพราะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการอย่างรัดกุม 

หลักเกณฑ์การพิจารณาการเปิดพื้นที่สีฟ้าเพื่อการท่องเที่ยว
การจะเปิดพื้นที่สีฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวในแต่ละขนาดจะมีหลักเกณฑ์แตกต่างกันไป ต้องถามผู้บริหารจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนราชบุรีว่า จะทำตามหลักเณฑ์ได้แค่ไหน  อาทิ


หากเปิดพื้นที่สีฟ้าทั้ง 3 อำเภอ (อ.เมืองราชบุรี อ.ดำเนินสะดววก และ อ.สวนผึ้ง) แต่ละอำเภอต้องมีความพร้อมของสถานการณ์ดังนี้
  • ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อยร้อยละ 70 และในกลุ่ม 608 อย่างน้อยร้อยละ 80
  • เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5-10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน อาจใช้ลักษณะการระบาดและแนวโน้มสถานการณ์เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาร่วมด้วย (นั่นหมายถึง อ.เมืองราชบุรี ต้องมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10-20 คน/วัน อ.ดำเนินสะดวก ไม่เกิน 4-8 คน/วัน และ อ.สวนผึ้ง ไม่เกิน 2-4 คน/วัน)
นอกจากนั้นทั้ง 3 อำเภอต้องมีความพร้อมด้านบริหารจัดการดังนี้
  • หน่วยงานมีความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
  • มีแผนการดำเนินการ และแผนการใช้ทรัพยากรและทีมสอบสวนควบคุมรองรับกรณีเกิดการระบาด
  • มีระบบกำกับติดตามและเชื่อมโยงกับศูนย์บัญชาการจังหวัด
การบริหารและจัดการความเสี่ยง
ก่อนที่จะตัดสินใจเปิดพื้นที่ใดเป็นพื้นที่สีฟ้าของ จ.ราชบุรี  ผู้บริหารจังหวัดราชบุรี หรือคณะทำงาน  ควรได้ศึกษา คู่มือแนวทางบริหารและจัดการความเสี่ยงในพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัย (Safety Zone) สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจัดทำโดย กรมการท่องเที่ยว เป็นแนวทางเสียก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจแถลงการณ์ออกมา โดยคู่มือดังกล่าว ได้จัดทำครอบคลุมพื้นที่ท่องเที่ยวถึง 5 ประเภท ได้แก่
  1. พื้นที่ท่องเที่ยวเขตเมือง (ตัวอย่าง ย่านเมืองเก่า จ.น่าน)
  2. พื้นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ (ตัวอย่าง หาดบางแสน จ.ชลบุรี)
  3. พื้นที่ท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (ตัวอย่าง เอเชียทีค กรุงเทพมหานคร)
  4. พื้นที่ท่องเที่ยวชุมชน (ตัวอย่าง บ้านไร่กองขิง จ.เชียงใหม่)
  5. พื้นที่ท่องเที่ยวย่านการค้า (ตัวอย่าง เยาวราช กรุงเทพมหานคร)
เร่งรณรงค์มาตรฐาน SHA Plus+
SHA คือ ตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมั่นใจในความปลอดภัย ด้านสุขอนามัยจากสินค้าและบริการจากการท่องเที่ยวของประเทศไทย เป็นโครงการที่ได้รับการร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

คำว่า SHA ย่อมาจากคำว่า Amazing Thailand Safety and Health Administration มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้สถานประกอบการ และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้พัฒนาตัวเอง เตรียมความพร้อมสู่วิถีชีวิต New Normal และนำไปสู่การลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 และยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของไทย


มาตรฐาน SHA Plus ยกระดับการท่องเที่ยวไทย
SHA Plus + ตราสัญลักษณ์ใหม่  โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 1 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา  มีการนำร่องที่ จ.ภูเก็ต โดยมีเงื่อนไข คือ สถานประกอบการนั้น ๆ ต้องได้รับเครื่องหมายมาตรฐาน SHA บวกกับบุคลากรในสถานประกอบการ อย่างน้อย 70% ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จึงจะได้รับ SHA Plus นั่นเอง  ประเภทกิจการที่จะสามารถรับการประเมินเพื่อขอรับสัญลักษณ์ SHA Plus+ แบ่งออกเป็น 10 ประเภท ได้แก่
  1. ภัตตาคาร/ร้านอาหาร
  2. โรงแรม ที่พัก และโฮมสเตย์
  3. นันทนาการ และสถานที่ท่องเที่ยว
  4. ยานพาหนะ
  5. บริษัทนำเที่ยว
  6. สุขภาพและความงาม
  7. ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า
  8. กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว
  9. การจัดกิจกรรม/จัดประชุม โรงละคร/โรงมหรสพ
  10. ร้านค้าของที่ระลึก และร้านค้าอื่นๆ
การเตรียมการเปิดพื้นที่สีฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ในวันที่ 1 ม.ค.2565 ที่จะถึงนี้ ทุกอย่างล้วนมีแนวทาง ขั้นตอน กฎเกณฑ์ และวิธีการชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้บริหารจังหวัดราชบุรีควรจะได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบเสียก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกพื้นที่ใดเป็นพื้นที่นำร่อง ไม่ต้องมาคิดปักธง แจกป้าย แจกเข็มกลัด ซึ่งจะทำให้ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องสับสนไปหมด เพราะทุกอย่างมีมาตรฐาน SHA Plus+ รองรับอยู่แล้ว

************************
พลตรี ดร.สุชาต  จันทรวงศ์
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
25 ต.ค.2564

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ของ จ.ราชบุรี 10 วันข้างหน้า (11-20 ต.ค.2564)

รายงานแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ของ จ.ราชบุรี 10 วันข้างหน้า (11-20 ต.ค.2564) ยังคงอาจมีมากกว่า 200 คน/วัน



ค่าเฉลี่ยฉีดวัคซีนรอบ 10 วัน (1-10 ต.ค.2564)
  • เข็มที่ 1 จำนวน 2,904 คน/วัน (ค่าเฉลี่ยลดลง 66.4%)
  • เข็มที่ 2 จำนวน 3,698 คน/วัน (ค่าเฉลี่ยลดลง 2.3%)
  • เข็มที่ 3 จำนวน 118 คน/วัน (ค่าเฉลี่ยลดลง 9.3%)
จำนวนชาวราชบุรีที่ฉีดเข็ม 2 ครบตามเกณฑ์ 236,036 คน คิดเป็นร้อยละ 25.69 ของประชากร จ.ราชบุรี (เพิ่มขึ้น 4.02%)

หากค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนยังคงเป็นเช่นนี้ จำนวนชาวราชบุรีที่จะได้รับการฉีดเข็มที่ 2 ครบตามเกณฑ์ ในอัตราร้อยละ 70 ของประชากร พยากรณ์ไว้ในวันที่ 28 มกราคม 2565 (ช้ากว่าการพยากรณ์ครั้งก่อน 2 วัน)

อำเภอที่มีร้อยละของผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ อ.เมืองราชบุรี (ร้อยละ 4.70) และน้อยที่สุด ได้แก่ อ.จอมบึง (ร้อยละ 1.22)



วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ราชบุรีตกขบวน กว่าจะเปิดการท่องเที่ยวได้ก็ปีหน้า

เราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น "ศูนย์" จึงค่อยเปิดเศรษฐกิจ เราควรอยู่กับมันให้ได้ โดยป้องกันความเสี่ยงให้มากที่สุด หากพลาดพลั้งติดเชื้อไป ก็สามารถรักษาให้หายได้

ตามคำสั่ง จ.ราชบุรี ที่ 3923/2564 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 30 ก.ย.2564 ในข้อ 6 เรื่อง การเตรียมการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดย จ.ราชบุรี สั่งการดังนี้

"ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศ ตามแผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการระยะนำร่องแล้วในบางพื้นที่ และจะดำเนินการต่อเนื่องในอนาคต"

ถือเป็นนิมิตหมายทีดี ที่ ผวจ.ราชบุรี ได้เปิดไฟเขียวให้เตรียมการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวภายในจังหวัดได้  เราคงไม่สามารถรอให้จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์เสียก่อน ถึงจะเปิดจังหวัดได้ การเตรียมการเลือกพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ที่ผมเคยเสนอมาโดยตลอด คือ พื้นที่ อ.สวนผึ้ง แต่อาจไม่มีผู้ใดให้ความสนใจ  

วันนี้ ผมจำจึงอยากจะเสนออีกครั้งผ่านไปยัง "ภาคเอกชนและบุคคลที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวใน อ.สวนผึ้ง"  ให้ช่วยรวมพลังเสนอมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ในการเสนอ อ.สวนผึ้ง เป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี (หรืออาจจะพื้นที่อื่น ๆ ก็ได้) ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงมหาดไทย กำหนด เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ราชบุรี ผ่านไปยังศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปค.ศบค.) เพื่อเสนอ ศบค. พิจารณาอนุมัติต่อไป

อ.สวนผึ้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีชื่อเสียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีโรงแรม รีสอร์ท บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวพร้อมมูล มีเส้นทางเข้า-ออก พื้นที่ทางเดียวควบคุมได้ง่าย ด้านหลังติดแนวชายแดน เหมาะสมที่จะนำร่องเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี อัตราการติดเชื้อของประชากรร้อยละ 1.02 ซึ่งน้อยที่สุด ใน จ.ราชบุรี ส่วนอัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เฉพาะประชากรใน อ.สวนผึ้ง นั้นไม่สามารถหาข้อมูลได้ เพราะทางราชการไม่ได้เปิดเผยให้ทราบ

ราชบุรีตกขบวน
รัฐบาลเปลี่ยนแผนการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวหลายครั้งจนค่อนข้างสับสัน ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนวางแผนไม่ถูก  จนล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวภายหลังการ ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ถึงหลักเกณฑ์พิจารณาการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และแผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดยระบุว่า มีหลายจังหวัดสามารถดำเนินกิจการ-กิจกรรมได้มากขึ้นกว่าระดับสีพื้นที่ โดยเจาะจงเฉพาะบางอำเภอ จึงขอให้กำหนดเป็น "พื้นที่สีฟ้า" ซึ่งเป็นพื้นที่สามารถดำเนินกิจการ-กิจกรรมได้เหมือน "พื้นที่สีเขียว" ไม่จำกัดการเดินทาง เปิดกิจการ-กิจกรรม ได้ตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด โดยให้อยู่ในการควบคุมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยจังหวัดที่มีการกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวแต่ละระยะ มีดังต่อไปนี้ (กรุงเทพธุกิจ : ออนไลน์)

ระยะนำร่อง (1 – 31 ต.ค. 64) พื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) จ.พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) จ.กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก) เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ คือ เป็นเมืองหลัก หรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

ระยะที่ 1 (1 – 30 พ.ย. 64) พื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.กระบี่ จ.พังงา (ทั้งจังหวัด) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) จ.เพชรบุรี (ชะอำ) จ.ชลบุรี (พัทยา บางละมุง จอมเทียน บางเสร่) จ.ระนอง (เกาะพยาม) จ.เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) จ.เลย (เชียงคาน) และ จ.บุรีรัมย์ (เมือง) หลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

ระยะที่ 2 (1 – 31 ธ.ค. 64) พื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส  หลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

ระยะที่ 3 (วันที่ 1 ม.ค. 65) เป็นต้นไป พื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล หลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

จ.ราชบุรี อย่าตกขบวนอีก
รัฐบาลเคยมีแผนจะเปิดในการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ในช่วงกลางเดือน ต.ค.2564 ที่จะถึงนี้ แต่ในแผนใหม่ จ.ราชบุรีถูกเลื่อนไปเปิดถึงปีหน้า ไม่ทราบว่าเพราะสาเหตุใด  หรือเป็นเพราะว่า จ.ราชบุรี มักทำงานเชิงตั้งรับมากกว่าทำงานเชิงรุก อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ยังมีเวลาเตรียมตัวอีก 3 เดือน ต.ค.-ธ.ค.2564 หวังว่าคงจะไม่ตกขบวนอีกครั้งเป็นแน่

บทความที่เกี่ยวข้อง
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์ 
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
4 ต.ค.2564

อ้างอิง
  • กรุงเทพธุรกิจ. (2564). ศบค. กางแผน "พื้นที่นำร่อง" ท่องเที่ยว 1 พ.ย. นี้ เปิด 10 จังหวัด. สืบค้นเมื่อ 1 ต.ค.2564 เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/962398