หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ถึงเวลาค้นหาลูกระเบิดใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ อีกครั้ง..

ปลายปี พ.ศ.2487 ซึ่งเป็นช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2  กองทัพญี่ปุ่นเริ่มพ่ายแพ้สงครามในพม่า ฝ่ายสัมพันธมิตรจำเป็นต้องทำลายเส้นทางถอยของกองทัพญี่ปุ่นที่จะผ่านลงไปสู่ภาคใต้ ไปยังมาเลเซีย และสิงค์โปร์   "สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์"  ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำแม่กลอง ในเขตตัวเมืองราชบุรี จึงเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจำต้องระเบิดสะพานแห่งนี้ทิ้ง 

สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ถูกทิ้งระเบิด ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกในคืนวันที่ 14 ม.ค.2488 ครั้งที่ 2 คืนวันที่ 30 ม.ค.2488 และครั้งสุดท้าย คืนวันที่ 11 ก.พ.2488  ซึ่งเป็นลูกระเบิดแบบตั้งเวลา มาระเบิดในรุ่งเช้าของวันที่ 12 ก.พ.2488 ทำให้สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์หักกลาง ไม่สามารถใช้สัญจรได้อีกต่อไป

กองทัพญี่ปุ่น ไม่สามารถซ่อมแซมสะพานจุฬาลงกรณ์กลับได้ทันเวลา จึงเลือกที่สร้างทางรถไฟใหม่ ทางด้านเหนือน้ำ (แนวสะพานธนะรัชต์ปัจจุบัน) โดยระดมไม้เสา ไม้ซุง ต่างๆ มาปักทำเป็นตอม่อชั่วคราว หลังจากเสร็จเรียบร้อย จึงนำหัวรถจักร มาลองวิ่งทดสอบดู ปรากฏว่า ตอม่อชั่วคราวไม่สามารถทานน้ำหนักได้ สะพานหัก ส่งผลให้หัวรถจักรที่นำมาทดลองวิ่งจมลงสู่ใต้น้ำ ปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานจนถึงปัจจุบันนี้    



พบลูกระเบิดด้านท้ายน้ำ
ในต้นปี พ.ศ.2548 พลโทชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง ในสมัยนั้น ได้ว่าจ้าง นายสุทธิ พยัคฆ์ นายดำรง พยัคฆ์ และนายสาโรจน์ พยัคฆ์ สามพ่อลูกซึ่งเป็นนักดำน้ำงมกุ้งและงมหาของเก่าในแม่น้ำแม่กลอง ดำน้ำลงไปสำรวจสภาพหัวรถจักรและบริเวณโดยรอบ เมื่อได้ตำแหน่งโดยคร่าวๆ จึงได้จัดนักดำน้ำของชมรมกีฬาทางน้ำ ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง ลงไปสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้ง การสำรวจในครั้งนั้น นอกจากหัวรถจักรแล้ว ยังพบลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิด อีก 3 ลูก บริเวณท้ายน้ำ  (ดังภาพที่แสดงด้านล่าง)

ภาพจำลองตำแหน่งหัวรถจักร ลูกระเบิด และชิ้นส่วนต่างๆ (ไม่ได้มาตราส่วน)
ลูกระเบิดที่พบ คาดว่าจะเป็น GP BOMB ขนาด 1,000 ปอนด์ ที่ถูกทิ้งจากเครื่องบิน B-24   จำนวน 3 ลูกซึ่งยังไม่ระเบิด และยังคงมีความพร้อมที่จะระเบิดเมื่อได้รับการกระตุ้น 

GP BOMB ขนาด 500 ปอนด์
เตรียมโหลดเข้าท้องเครื่องบิน B-24
ที่มาของภาพ
https://pantip.com/topic/31885621
    
ทางรถไฟรางคู่ นครปฐม-หัวหิน
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2560 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง กับบริษัทผู้รับจ้างที่ผ่านการคัดเลือกด้านราคาทั้ง 9 สัญญา ประกอบด้วย ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, ช่วงนครปฐม-หัวหิน, ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร รวมระยะทาง 702 กม. มูลค่าการก่อสร้างทั้งสิ้น รวม 69,531,000,000 บาท

การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. แบ่งออกเป็น 2 สัญญา คือ
  • สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล วงเงิน 8,198,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน บริษัท เอ เอส แอสโซซิเอส เอนยิเนียริ่ง 1964 จำกัด
  • สัญญาที่ 2 ช่วงหน่องปลาไหล-หัวหิน วงเงิน 7,520,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน โดย บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้างสัญญางานก่อสร้าง



ถึงเวลาค้นหาลูกระเบิดอีกครั้ง
ช่วงที่ต้องสร้างทางรถไฟทางคู่ ข้ามแม่น้ำแม่กลอง  ณ บริเวณ อ.เมือง จ.ราชบุรี  นี่เอง ที่ทำให้  บริษัทฯ ผู้รับจ้างรู้สึกกังวล ว่าแนวสะพานรถไฟที่สร้างใหม่คู่ขนานกับสะพานจุฬาลงกรณ์เดิมนั้น จะไปกระทบกับลูกระเบิดที่จมอยู่ใต้น้ำ อาจจะเกิดอันตรายขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินในบริเวณโดยรอบ หากเกิดระเบิดขึ้นมา 

ด้วยเหตุนี้ ผู้แทนบริษัทฯ ผู้รับจ้าง จึงได้เข้าหารือกับ พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์ นักวิชาการของสถาบันราชบุรีศึกษา เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2561 ถึงตำแหน่งของลูกระเบิดที่จมอยู่  ได้รับคำตอบว่า 

ตำแหน่งลูกระเบิดเมื่อตอนสำรวจในครั้งนั้น เคยผูกทุ่นลอยเอาไว้ แต่ปัจจุบันได้ชำรุดสูญหายไปแล้ว ซึ่งตอนนั้นวางแผนว่าจะจัดนักดำน้ำลงไปสำรวจโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อบันทึกพิกัด และพิสูจน์ทราบว่าเป็นลูกระเบิดชนิดใดกันแน่ ใช่ GP Bomb หรือปล่าว ขนาดเท่าใด และลูกระเบิดมีการวางตัวอย่างไร รวมทั้งสภาพโดยรวมของลูกระเบิด  แต่ปรากฏว่า ไม่ได้ทำต่อ โครงการยุติไปก่อน  

ภาพจำลอง แนวสะพานรถไฟรางคู่ใหม่ (ไม่ได้มาตราส่วน)

หากจะให้แน่ใจ คงต้องใช้นักดำน้ำลงไปสำรวจตำแหน่งลูกระเบิดใหม่อีกครั้ง รวมทั้งชนิดและสภาพโดยรวมของลูกระเบิด เมื่อได้ตำแหน่งและข้อมูลที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว จึงค่อยนำมาวางแผนการก่อสร้างกันอีกครั้ง 

เรื่องนี้  ทางบริษัทฯ ผู้รับจ้าง จะรีบนำข้อมูลที่ได้รับ ไปปรึกษากับ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี อีกครั้งว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร       

อ่านเพิ่มเติม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น