หน้าเว็บ

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

เมืองเก่าราชบุรีกับการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่าทำขนมเสร็จแล้วมาให้กิน

เมืองเก่า หมายถึง เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะแห่ง สืบต่อมาแต่กาลก่อน หรือมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือมีลักษณะจำเพาะของสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีคุณค่าทางศิลปะ โบราณคดี หรือประวัติศาสตร์ เป็นมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าของชาติ

เมืองเก่าราชบุรี 
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าบริเวณเขตตัวเมืองราชบุรี ได้รับการประกาศเป็น "เขตเมืองเก่าราชบุรี" จึงขอสรุปเรื่องราวความเป็นมาให้ทราบ โดยสังเขปดังนี้  

คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเรื่อง ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าสุรินทร์ เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองเก่าระนอง เมื่อ 11 เม.ย.2560 โดยขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี เป็นไปตามภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี "ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546"

ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำ "กรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า จัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท กลไก และกระบวนการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่า" เพื่อให้บริเวณเมืองเก่าได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไป 

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ พร้อมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป 

หากมีกรณีขอบเขตพื้นที่เมืองเก่ามีพื้นที่คาบเกี่ยวหรืออยู่ในเส้นทาง/เขตทาง/พื้นที่ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับฟังความเห็นของกระทรวงนั้นๆ ด้วย 

ให้ขยายขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรีออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่วัดสัตตนารถปริวัตร ด้วยเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นโบราณสถาน (ในภาพด้านบนยังไม่แสดงขอบเขตที่ขยายไว้ เพราะต้นฉบับยังไม่ได้แก้ไข)

การดำเนินการใด ๆ กับโบราณสถาน ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการนำกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า
ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเรียกว่า "คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรี" ประชุมกันครั้งแรกเมื่อ 15 มิ.ย.2561 โดยมี สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี เป็นหน่วยงานเจ้าเรื่องในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ใครเป็นใครบางในคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ลองสืบค้นกันดูเองครับ ที่สำคัญ คงจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง ด้านสังคมวิทยา ด้านการพัฒนาชุมชนและการมีส่วนร่วม ด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและเมือง   ด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน สถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตย์ ด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ ด้านกฏหมาย ด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านการออบแบบเมือง เป็นต้น 

โครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าราชบุรี
สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี ได้มอบหมายให้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยกลุ่มวิจัยและปฏิบัติการชุมชนเมือง (City Lab) ดำเนินโครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าราชบุรี โดยมี ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ เป็น หัวหน้าโครงการฯ 

โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ จัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท แนวทาง แผนปฏิบัติ และมาตรการต่างๆ ในการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณบริเวณเมืองเก่า โดยการมีส่วนร่วม เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาของทุกภาคส่วนในพื้นที่ 

การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อ 17 ก.ย.2561
การรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 
สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 จากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2561 ณ โรงแรมเวสเทิร์นแกรนด์ อ.เมือง จ.ราชบุรี การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างเงียบๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง มีผู้เข้ารับฟังบางตา  บางคนบางกลุ่มก็ดูเหมือนจะผิดฝาผิดตัว  กลุ่มคนที่ทำงานขับเคลื่อนภาคประชาสังคมของราชบุรี ในสาขาต่างๆ หลายคน กลับไม่ทราบ และไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับฟังฯ แต่อย่างใด   

ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น

อย่าทำขนมเสร็จแล้วมาให้กิน 
การประกาศ "เขตเมืองเก่าราชบุรี" ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของชาวราชบุรี ที่จะได้พัฒนาเมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะจะช่วยสานฝันตามนโยบาย นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี คนปัจจุบัน คือ การจัดสร้างหอศิลปะวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรราชบุรี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านราชบุรี  พิพิธภัณฑ์ตำรวจราชบุรี และที่สำคัญ คือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี ชาวราชบุรีได้ฟังนโยบายแล้ว รู้สึกปลื้ม! 

แกนนำหลักที่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ ก็คงไม่พ้น หน.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ซึ่งเปรียบเสมือนภัณฑารักษ์คนสำคัญ กับ วัฒนธรรม จ.ราชบุรี ที่กำความรู้เรื่องวัฒนธรรมราชบุรีไว้มากที่สุด จึงขอให้ท่านทั้งสองช่วยเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยกันสร้าง "ตำนาน" ให้คนรุ่นหลังได้จดจำ เห็นว่าได้เริ่มไปศึกษาดูงาน ณ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ที่ จ.เชียงใหม่ กันแล้วเมื่อ 18 ก.ย.2561 ที่ผ่านมา 

ศาลแขวงราชบุรี จะจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านราชบุรี
สิ่งสำคัญที่สุดที่ทางราชการควรให้ความสนใจ คือ การให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เขาจะได้รู้สึกว่า ได้ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทำ และเมื่อทำสำเร็จแล้ว เขาก็จะรู้สึกรักและหวงแหน นี่คือ กลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้เมืองราชบุรี เป็นเมืองทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง  

ภาคราชการไม่ควรทำขนมคนเดียว พอเสร็จแล้วจึงเอามาให้ประชาชนกิน แล้วให้บอกว่าอร่อย แต่ที่ท่านควรทำ คือ ชักชวนภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้มาช่วยกันทำขนมตั้งแต่เริ่มต้น พอขนมเสร็จแล้ว จึงเรียกได้ว่า "เป็นขนมที่พวกเราทั้งหมดช่วยกันทำ"   

**************************
จุฑาคเชน : 20 ก.ย.2561  

1 ความคิดเห็น: