หน้าเว็บ

วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561

แกะรอยลูกระเบิดใต้สะพานจุฬาลงกรณ์

การเก็บกู้ลูกระเบิดและหัวรถจักรไอน้ำบริเวณใต้สะพานจุฬาลงกรณ์เมืองราชบุรีนั้น กว่าจะได้ลงมือปฏิบัติกันจริงๆ ก็คงต้องรอหลังลอยกระทงไปแล้ว เพื่อให้ผ่านฤดูน้ำหลากไปก่อน กระแสน้ำก็จะอ่อนลง และน้ำก็จะใสกว่าในปัจจุบัน 




ในช่วงระหว่างที่รอเวลาอยู่นี้ การเตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อนในทุกๆ เรื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ "การแกะรอยลูกระเบิดที่จมอยู่" นับเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ควรจะทำอย่างยิ่ง หากสามารถสมมติฐานได้ขั้นต้นว่าเป็นลูกระเบิดชนิดใด จะทำให้เจ้าหน้าที่ EOD ทำงานได้ง่ายและปลอดภัยขึ้น นำมาสู่การตัดสินใจของคณะทำงานฯ ต่อไป

การแกะรอยลูกระเบิด (Mine Tracker) 
ด้านมิติและลักษณะ 
กระแสข่าวในช่วงแรก สันนิษฐานว่าเป็น ลูกระเบิด GP BOMB ชนิด AN-M65 ขนาด 1,000 ปอนด์ แต่หลังจากสอบถามนักดำน้ำงมของเก่าถึงมิติและลักษณะของตัวลูกระเบิดที่ได้สัมผัส อาจเชื่อได้ว่าจะเป็น   GP BOMB ชนิด MK81 ขนาด 250 ปอนด์ และ  MK82  ขนาด 500 ปอนด์ ซึ่ง 2 ชนิดเป็นลูกระเบิดสัญชาติอเมริกัน ดังภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง

จากการสันนิษฐานขั้นต้น 

หลังสอบถามนักดำน้ำงมของเก่า 
อาจเป็น MK81 และ MK82 แต่ไม่มีหางแล้ว

ด้านชนิดเครื่องบินที่นำระเบิดมาทิ้ง
ในการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรในประเทศไทย บันทึกไว้ว่าเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดสัญชาติอเมริกัน แบบ B-24 Liberator, B-25 Mitchell และ B-29 Superfortress (คนไทยสมัยนั้นเรียก B-29 นี้ว่า "ป้อมบิน") ส่วนการโจมตีที่ราชบุรีเป็น เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B24 บินมาจากกองบินที่ 7 กองทัพอากาศสหรัฐ สนามบินซาวบานี่ สาธารณรัฐอินเดีย ดังนั้นจึงต้องสืบค้นต่อว่า เครื่องบิน B24 ในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ.2488 นั้น น่าจะบรรทุกระเบิดทำลายชนิดใด  ข้อมูลนี้ กองทัพอากาศไทยคงจะสามารถให้คำตอบได้



ด้านภาพถ่าย
ผมได้พยายามค้นหาภาพถ่ายการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ราชบุรีแล้ว แต่ไม่มีปรากฏให้เห็น คงมีแต่ภาพถ่ายบริเวณใกล้เคียง ซึ่งผมได้นำมาแสดงไว้ตามภาพด้านล่างแล้ว ในภาพที่เห็นน่าจะเป็นลูกระเบิดตระกูล AN-M65 มากกว่าตระกูล Mark  ซึ่งพออนุมานได้ว่าลูกระเบิดที่นำมาทิ้งสะพานจุฬาลงกรณ์ แนวโน้มก็น่าจะเป็น AN-M65    



และหากมาดูลักษณะของลูกระเบิดที่ทิ้งที่ราชบุรี ตามภาพสเก็ตของนายสละ จันทรวงศ์ ที่วาดไว้เมื่อ พ.ศ.2488  และลูกระเบิดที่กู้ขึ้นมาได้ บริเวณประตูน้ำบางนกแขวก ที่จัดแสดงไว้บริเวณวัดเจริญสุขารามวรวิหาร ก็น่าจะอนุมานได้ว่าเป็นลูกระเบิดตระกูล AN-M65 เช่นกัน 

ภาพสเก็ตของนายสละ จันทรวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.2488

ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 
ที่กู้ได้บริเวณประตูน้ำบางนกแขวก
จัดแสดงไว้บริเวณวัดเจริญสุขารามวรวิหาร 
ด้านการบันทึก
ผมค้นคว้าเอกสารที่มีการบันทึกไว้เกี่ยวกับขนาดของลูกระเบิดที่ทิ้งที่ราชบุรีในสมัยนั้น มีการบันทึกไว้ทั้งขนาด 500 กก. และ 1,000 กก.(สมัยนั้นคงใช้มาตราเมตริกจึงบันทึกเป็นกิโลกรัม) หากเป็นตามนั้นจริงก็สามารถอนุมานได้ว่าเป็นลูกระเบิดแบบ AN-M65 จนถึงลูกระเบิดแบบ MK84 ขนาด 2,000 ปอนด์เลยก็ได้

การแกะรอยลูกระเบิดเบื้องต้นนี้ นับเป็นสิ่งสำคัญ หากเราสมมติฐานขั้นต้นได้ว่า ลูกระเบิดใต้น้ำนั้นเป็นรุ่นอะไรแล้ว เราจะได้รู้ว่ามันทำงานอย่างไร สาเหตุใดบ้างที่ทำให้มันไม่ระเบิด หากจะต้องทำการปลดชนวนให้เป็นกลางจะต้องทำอย่างไร และหากต้องเคลื่อนย้ายควรระมัดระวังในเรื่องใดบ้าง

************************  
จุฑาคเชน : 5 ก.ย.2561 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น