หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561

Ratchaburi's Bomb disposal : การจัดการลูกระเบิดที่ราชบุรี

นายชยาวุธ  จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ฯ ได้ออกประกาศของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การเก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดในแม่น้ำแม่กลอง ฉบับที่ 5  สรุปผลการสำรวจของหน่วยประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ (กปถ.สพ.ทร.) ระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-4 ธ.ค.2561 พบว่ามีลูกระเบิดอากาศจมอยู่บริเวณใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ ทั้งหมดจำนวน 7 ลูก และหากจะมีการเก็บกู้ลูกระเบิดเมื่อใดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ขอให้ประชาชนทั่วไปอย่าได้ตื่นตระหนก และขอให้รับฟังข้อมูลข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น 


ประกาศของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การเก็บกู้
เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดในแม่น้ำแม่กลอง ฉบับที่ 5 

ขั้นตอนการค้นหา (Search) ถือว่าประสบผลสำเร็จด้วยดี จากความสามารถของเจ้าหน้าที่ประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ (Navy Diver & EOD) โดยได้พบลูกระเบิดอากาศทั่วไป (General Purpose Bomb : GP bombs) ที่ยังไม่ระเบิด (Unexploded Bombs : UXBs) จำนวน 7 ลูก ซึ่งทราบข่าวเบื้องต้นว่าเป็นลูกระเบิดอากาศของประเทศอังกฤษ การพบลูกระเบิดทั้ง 7 ลูกครั้งนี้ หากเทียบกับกรณีหมูป่าแล้ว ก็เปรียบเสมือนกับการค้นพบทีมหมูป่าเท่านั้น แต่การตัดสินใจที่สำคัญต่อไปก็คือ การที่จะนำทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัยได้อย่างไร




การวินิจฉัย (Identify)
ขั้นตอนการแยกแยะหรือวินิจฉัยนี้ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยปกติแล้ว การพบทุ่นระเบิด (Mine)  วัตถุระเบิด (Explosive) ระเบิดแสวงเครื่อง (IED) หรือสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO) จะห้ามไม่ให้ทำการเคลื่อนย้ายใดๆ ทั้งสิ้นจนกว่าเจ้าหน้าที่ EOD จะได้ทำการวินิจฉัยเสียก่อนว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง   

สำหรับที่ราชบุรีนี้ ถือว่าเป็นการพบ UXBs  ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย และที่ยากขึ้นคือ มันจมอยู่ใต้น้ำระดับความลึกที่ 6-8 เมตร ในตำแหน่งที่ไม่ไกลกันนัก ประกอบกับทัศนวิสัยใต้น้ำที่ถือได้ว่ามองไม่เห็น และอายุของลูกระเบิดก็ปาเข้าไปถึง 73 ปี การปฏิบัติภารกิจเก็บกู้ครั้งนี้จึงถือว่าเป็นภารกิจในระดับที่ยากมาก การวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ EOD จึงมีความสำคัญ พลาดแทบไม่ได้  ลูกระเบิดที่พบนี้ อย่าตั้งสมมติฐานว่าเป็น "ลูกระเบิดที่ด้านแล้ว" ต้องถือว่าเป็น "ลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิด" ดังนั้น การวินิจฉัยจึงถือเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่ง  

การนิรภัย
โดยทั่วไปหลังจากที่พบลูกระเบิดแล้ว กฏข้อสำคัญข้อหนึ่ง ก็คือ การนิรภัย หมายถึงการทำให้ระเบิดไม่ทำงานหรือเป็นกลาง ด้วยการตัดวงจรระเบิด การปลดหรือถอดชนวน การใส่สลักกลับคืน เป็นต้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย หลังจากนั้นจึงค่อยตัดสินใจว่า จะเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ไปทำลาย ณ พื้นที่ใด แต่หากไม่สามารถนิรภัยได้แล้ว เจ้าหน้าที่ EOD อาจจำเป็นต้องทำลาย ณ ที่พบ ซึ่งการทำลาย ณ ที่พบนี้ เป็นเรื่องที่ต้องมีการจัดระบบป้องกัน (Explosion Protection) แรงอัดระเบิด (Blast) และสะเก็ดระเบิด (fragmentation) เช่น การทำบังเกอร์ป้องกันด้วยกระสอบทราย หรือยางรถยนต์ เป็นต้น


GP 1,000lb Mks I - IV
ที่มาของภาพ
http://ww2data.blogspot.com/2016/12/
british-explosive-ordnance-general.html
ใครควรอยู่ในทีมวินิจฉัย และใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ
เนื่องจากลูกระเบิดชนิดนี้ คนรุ่นปัจจุบันอย่างเราไม่ได้เคยสัมผัสจริง คงมีแต่ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดต่อๆ กันมา ทีมวินิจฉัยในครั้งนี้ จึงควรประกอบด้วย
  1. ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกระเบิดอากาศของไทย 
  2. ผู้เชี่ยวชาญด้าน EOD ของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
  3. ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกระเบิดอากาศและวิศวกรผู้ออกแบบจากประเทศผู้ผลิตลูกระเบิดนั้นๆ 
เหตุผลก็เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างรอบคอบจากการระดมสมองของผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุน ไม่ควรใช้เพียงแค่ประสบการณ์ที่ผ่านมาแต่อย่างเดียว เพราะหากมีข้อผิดพลาดประการใดเกิดขึ้นแล้ว ยังถือว่าได้ทำตามขั้นตอนมาตรฐานที่ดีที่สุดแล้ว  นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่สำคัญระหว่างประเทศที่จะสร้างสันติภาพบนโลกใบนี้ ด้วยการร่วมมือกันเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดที่ตกค้างจากภัยสงครามในอดีตที่ผ่านมา

หลังจากที่ทีมวินิจฉัยนำเสนอข้อมูลแล้ว ผู้ที่จะทำหน้าที่ตัดสินใจต่อไปก็คือ การพิจารณาของคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่ถูกแต่งตั้งขึ้น (ซึ่งควรเป็นคณะกรรมการในระดับชาติ) จะต้องมีมติร่วมกันเพื่อตัดสินใจ ว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป

A 4000 lb GP bomb
ที่มาของภาพ
https://en.wikipedia.org/wiki/General-purpose_bomb

หากเคลื่อนย้ายไม่ได้ ต้องทำลายใต้น้ำ ณ จุดที่พบ
หากทีมวินิจฉัย วิเคราะห์แล้วว่า สามารถเคลื่อนย้ายได้ งานเก็บกู้และเคลื่อนย้ายไปทำลาย ณ สถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ก็ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากทีมวินิจฉัย วิเคราะห์ว่าไม่สามารถนิรภัยได้ อาจเกิดการระเบิดขึ้นในขณะเคลื่อนย้าย หากเป็นเช่นนี้ จะเกิดงานตามมาอีกมาก โดยเฉพาะการจัดระบบป้องกันแรงอัดระเบิดและสะเก็ดระเบิดบริเวณใต้แม่น้ำแม่กลอง

ยิ่งมีลูกระเบิดถึง 7 ลูกด้วยแล้ว หากเริ่มทำลายลูกที่ 1 แรงระเบิดจะทำให้เกิด Shock Wave นำพาไปสู่ระเบิดลูกที่ 2,3,4...7 ให้เกิดการระเบิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นโดมิโน หากเป็นเช่นนี้ คงพอจะจินตนาการได้ว่า สะพานจุฬาลงกรณ์ สะพานธนะรัชต์ ตึกรามบ้านช่อง และสถานที่ทำงานบริเวณสองฝากฝั่งแม่น้ำแม่กลอง คงจะกลายเป็นซากปรักหักพังอย่างที่เราเคยเห็นในหนังสงคราม 



สุดท้ายนี้ ก็หวังว่าลูกระเบิดทั้ง 7 ลูกนี้ จะสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย และขอภาวนาให้ภารกิจครั้งนี้ เป็นการ "Search & Recovery" ไม่อยากให้เป็น "Search & Destroy"




***********************   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น