หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เส้นทางเอกสารมรดกความทรงจำของราชบุรี สู่เอกสารมรดกความทรงจำของโลก

เมื่อวันที่ 25-26 ก.พ.2563 ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง การจัดทำทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ณ โรงแรม ณ เวลา อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งจัดโดย สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องราวระดับโลกที่ผมเพิ่งได้รับทราบในวันนี้ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้มานานกว่า 27 ปีแล้ว



ความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World : MoW)
ในที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Education Science and Culture Organization : UNESCO) เมื่อ พ.ศ.2535 ได้มีมติให้มี "แผนงานว่าด้วยความทรงจำแห่งโลก" (Memory of the World Programme) เพื่อปกป้อง อนุรักษ์ และเผยแพร่ภูมิปัญญาความรู้และเหตุการณ์สำคัญระดับโลก ที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ภาพ และเสียง เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ให้ประโยชน์ต่อคนทั้งโลกในปัจจุบันและอนาคต โดยมีคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยดังนี้ 
  • คณะกรรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก 
  • คณะกรรมการแห่งภูมิภาคว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก (ส่วนประเทศไทย คือ คณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก) 
  • คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก (ซึ่งทุกประเทศต้องมีเป็นของตัวเอง)
คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก
ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการมาตั้งแต่ต้น โดยเมื่อปี พ.ศ.2538 ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกขององค์การยูเนสโก ตั้งแต่ปี 2538 – 2541 จากนั้นประเทศไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง "คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก"  (The Thai National Committee on the Memory of the World Programme) ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2545 และมีการปรับปรุงโครงสร้างกรรมการเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

คณะกรรมการแห่งชาติฯ ดังกล่าว มีหน้าที่โดยสรุปก็คือ ค้นหาเอกสารในประเทศไทยเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำ ซึ่งแบ่งการขึ้นทะเบียนออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ทะเบียนระดับนานาชาติหรือระดับโลก (International Register) ทะเบียนระดับภูมิภาค (Regional Register) และทะเบียนระดับชาติ (National Register) โดยจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่องค์การยูเนสโกกำหนด ส่วนการขึ้นทะเบียนระดับท้องถิ่น (Local Register) เป็นเรื่องภายในของประเทศ  หน่วยราชการที่มีหน้าที่หลักรับผิดชอบในการดำเนินการเรื่องนี้ ก็คือ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม


เอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก 
ปัจจุบันมีเอกสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ว่าเป็นมรดกความทรงจำระดับโลก (International Register)  จำนวน  527 รายการ แยกตามรายภูมิภาคได้ดังนี้ 
  • ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ จำนวน 274 รายการ คิดเป็นร้อยละ 52
  • ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จำนวน จำนวน 116 รายการ คิดเป็นร้อยละ 22
  • ภูมิภาคลาตินอเมริกาและคาริบเบียน จำนวน 93 รายการ คิดเป็นร้อยละ 18
  • ภูมิภาคอัฟริกา จำนวน 24 รายการ คิดเป็นร้อยละ 5
  • ภูมิภาคอาหรับ จำนวน 13 รายการ คิดเป็นร้อยละ 2
  • อื่นๆ จำนวน 7 รายการ คิดเป็นร้อยละ 1
เอกสารมรดกความทรงจำระดับโลกในกลุ่มประเทศอาเซียน
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำระดับโลกกลุ่มประเทศอาเซียน มีจำนวนทั้งสิ้น 31 ชิ้น เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 
  • อินโดนีเซีย จำนวน 8 รายการ (อันดับที่ 17 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • มาเลเซีย จำนวน 5 รายการ (อันดับที่ 31 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • ประเทศไทย จำนวน 5 รายการ (อันดับที่ 31 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • เมียนมาร์  จำนวน 4 รายการ (อันดับที่ 37 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • ฟิลิปปินส์ จำนวน 4 รายการ  (อันดับที่ 37 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • เวียดนาม จำนวน 3 รายการ  (อันดับที่ 43 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • กัมพูชา จำนวน 2 รายการ  (อันดับที่ 64 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • ลาว, บรูไน ดารุสซาลาม และสิงค์โปร์  (ไม่มี)
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำระดับโลกของประเทศไทย
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำระดับโลกของประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ UNESCO ณ ปัจจุบน มีจำนวน 5 รายการ ได้แก่
  1. ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2546)
  2. เอกสารการปฏิรูปราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2552)
  3. จารึกวัดโพธิ์ (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2554)
  4. บันทึกการประชุมสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2556)
  5. ฟิล์มกระจก ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ไทย สมัยรัชกาลที่ 4-6 (ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ.2560) 
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำยังมีการแบ่งการขึ้นทะเบียนเป็นระดับภูมิภาค และระดับชาติ อีก  สำหรับเอกสารของประเทศไทยจะพิจารณา โดย  คณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ตามลำดับ 

ปัจจุบัน เอกสารมรดกแห่งความทรงจำของประเทศไทยที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นระดับชาติ รอการเสนอเพื่อพิจารณาไต่เต้าขึ้นเป็นเอกสารระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มีจำนวน  4 รายการ ได้แก่
  1. เอกสารนันโทปนันทสูตรคำหลวง เป็นวรรณคดีพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา พระราชนิพนธ์โดย เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
  2. เอกสารจารึกวัดพระยืน มีเนื้อหาการเดินทางมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในล้านนาของพระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัย
  3. หนังสือสมุดไทย เรื่องกฏหมายตราสามดวง 
  4. คัมภีร์ใบลาน เรื่อง ตำนานอุรังตธาตุ 
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำของประเทศไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนในระดับท้องถิ่น (Local Register) ซึ่งเป็นการดำเนินการภายในประเทศไทยเอง   และกำลังรอการเสนอเพื่อพิจารณาไต่เต้าขึ้นเป็นเอกสารระดับชาติ มีจำนวน 11 รายการ ได้แก่
  1. บันทึกครูบาโนชัยธรรมจินดามณี เจ้าคณะหนเหนือ จ.ลำปาง  วัดปงสนุกเหนือ พ.ศ.2400-2485
  2. ภาพเก่าของหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ เพื่อการศึกษาโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา
  3. บันทึกพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา พ.ศ.2404-2487
  4. กฎหมายอาณาจักรหลักคำเมืองน่าน
  5. คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฏกครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาถร วัดสูงเม่น จ.แพร่
  6. ภาพถ่ายฟิล์มกระจกของคุณหลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ ชุติมา) พ.ศ.2440-2470 จ.เชียงใหม่
  7. แผนที่กัลปนาวัดบนคาบสมุทรสทิงพระในสมัยอยุธยา
  8. เอกสารทรัพยากรธรณีฝั่งตะวันตก จ.ภูเก็ต ตรัง และระนอง
  9. ภาพเก่าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
  10. บันทึกโรงเรียนสฤษดิเดช ของโรงเรียนสฤษดิเดช จันทบุรี 
  11. เอกสารจดหมายเหตุการบริหารราชการหัวเมืองตะวันออก จันทบุรี
ค้นหาเอกสารมรดกความทรงจำของราชบุรี
ที่เขียนมาทั้งหมดก็เพื่อให้เห็นภาพเกี่ยวกับเอกสารมรดกความทรงจำในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับโลก จนกระทั่งถึงระดับท้องถิ่น วัตถุประสงค์ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มาจัดการประชุมสัมมนา เรื่อง การจัดทำทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่ จ.ราชบุรี นี้ก็เพราะ จ.ราชบุรี ได้ขึ้นชื่อเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีอารยะธรรมมาตั้งแต่สมัยมัชฌิมประเทศ และปรากฏอยู่ในพงศาวดารฉบับต่างๆ มาโดยตลอด มุ่งหวังให้ชาวราชบุรี ได้รับทราบ และช่วยกันค้นหาเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำของ จ.ราชบุรี (Memory of Ratchaburi : MoR) เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำในระดับท้องถิ่นต่อไป



สมุดราชบุรี พิมพ์ปี พ.ศ.2468

เชิญชวนชาวราชบุรีช่วยกันค้นหา
เนื่องจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก ที่มีข้าราชการทำงานไม่กี่คน แต่ต้องมีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบมากมาย การที่จะค้นหาเอกสารมรดกความทรงจำซึ่งอาจมีอยู่มากมายทั่วทั้งประเทศ จึงไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางสำนักหอจดหมายแห่งชาติ จึงพยายามเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้ของแต่ละจังหวัด ช่วยกันค้นหาเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำในจังหวัดของตัวเอง นำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำในระดับท้องถิ่น (Local Register) เพื่ออนุรักษ์ เก็บรักษา และเผยแพร่ต่อไป ถึงแม้อาจจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้ เอกสารเหล่านั้น ก็สามารถเป็นเอกสารมรดกความทรงจำของจังหวัดตัวเองได้




ผอ.สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และ หน.หอจดหมายแห่งชาติสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ
มีระดับผู้บริหารอยู่เพียงเท่านี้

ในท้ายการประชุม อ.ศรีวิชัย ทรงสุวรรณ  ผม และเพื่อนๆ อีกหลายคน ก็ได้รับปากกับผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายุเหตุแห่งชาติ ว่าจะขออาสาช่วยกันค้นหาเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำดังกล่าวของ จ.ราชบุรี โดยจะขอความร่วมมือและประสานไปยังเครือข่ายผู้นำตระกูล ผู้นำชุมชน สถาบันการศึกษา องค์กร กลุ่ม ชมรม มูลนิธิ วัด สุเหร่า โบสถ์ รวมทั้งผู้ที่สะสมของเก่า ใน จ.ราชบุรี ต่อไป

ท่านใดที่คิดว่ามีเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำของราชบุรี ได้โปรดกรุณาแจ้งมาได้เลยนะครับ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ดีกว่าที่ปล่อยให้ชำรุดหรือสูญหายไป

****************** 
พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์
27 ก.พ.2563
อีเมล sratchaburi@gmail.com



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น