หน้าเว็บ

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ยุทธศาสตร์การบริหารวัคซีนของ จ.ราชบุรี "สวนผึ้งแซนด์บ๊อกซ์"

หลังจากรัฐบาลปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศพร้อมกันเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 โดยรัฐบาลมีเป้าหมายจัดหาวัคซีนจำนวน 150 ล้านโดส แบ่งเป็น 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 เพื่อหยุดยั้งการระบาดให้ได้โดยเร็วและเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ประชาชนที่อยู่ในประเทศต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 และจะจัดหาเพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดส ให้ได้ภายในต้นปี 2565


หลักการกระจายวัคซีนของรัฐบาล คือ 
  1. ทุกจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีน ทั้ง "แอสตร้าเซนเนก้า"  และ "ซิโนแวค" เฉลี่ยตามจำนวนประชากรในพื้นที่ และประชากรแฝงในพื้นที่ 
  2. จังหวัดที่มีการระบาดจะจัดวัคซีนเสริมเพื่อควบคุมโรค โดยมีการปรับแผนตามสถานการณ์โรคที่เปลี่ยนแปลงไป 
  3. จังหวัดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยว กลุ่มแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือชายแดนเศรษฐกิจ 
จังหวัดราชบุรีควรจะได้รับการจัดสรรวัคซีนกี่โดส
ข้อมูลจากศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 7 สาขา จ.ราชบุรี ณ วันที่ 1 ก.ค.2563 ระบุว่า ปัจจุบัน จ.ราชบุรี  มีประชากรทั้งสิ้น 873,212 คน (ไม่รวมประชากรแฝงในพื้นที่) 
  • นับเฉพาะคนที่อายุ 19-59 ปี มีจำนวน 508,809 คน (ซึ่งจะฉีดยี่ห้อ ซิโนแวค)
  • นับเฉพาะคนที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป มีจำนวน 168,008 คน (ซึ่งจะฉีดยี่ห้อ แอสตร้าเซนเนก้า)
หากเป็นไปตามหลักเกณ์กระจายวัคซีนของรัฐบาล ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรซึ่งต้องได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ภายในสิ้นปี 2564 ดังนั้น จ.ราชบุรี ควรจะรับจัดสรรได้วัคซีนในปี 2564 ประมาณ 950,000 โดส (แยกเป็นซิโนแวค 712,500 โดส และแอสตร้าเซนเนก้า 237,500 โดส) ซึ่งรัฐบาลคงจะทยอยจัดสรรเป็นงวด ๆ ไปตามที่จัดซื้อมาได้ จนครบ

ยุทธศาสตร์การบริหารวัคซีนของ จ.ราชบุรี
หากการจัดหาวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ จ.ราชบุรี จึงควรมียุทธศาสตร์การบริหารวัคซีนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดให้เร็วที่สุด    ปัจจุบัน จ.ราชบุรี ยังใช้หลักการลงทะเบียน จองคิวก่อน ได้รับสิทธิก่อน ไม่มีหลักแนวคิดใด ๆ มาเป็นเกณฑ์การพิจารณา ได้วัคซีนมาเท่าไหร่ก็หารเฉลี่ยไปตามหัวของจำนวนประชากรของแต่ละอำเภอ  หลักการคือ "ได้มาเท่าไหร่ ก็หารเฉลี่ยไปเท่านั้น"  นอกจากนั้น ยังมีการเมือง เส้นสาย และระบบอุปถัมภ์ เข้ามาแทรกแซงลัดคิว  หลายคนที่เป็นคนธรรมดา ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะได้รับการฉีดเมื่อไหร่ ไร้ซึ่งความหวัง

การบริหารวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรมาเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัด จำนวนวัคซีนที่ทยอยได้รับการจัดสรรมาแต่ละครั้ง อาจมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น ควรจะพิจารณาว่าความเร่งด่วนว่า "ใครควรได้รับการฉีดก่อน และใครที่ยังรอได้"  การบริหารวัคซีนที่ชาญฉลาดจะช่วยให้เศรษฐกิจของ จ.ราชบุรีกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว 


ยิ่ง ทาง อบจ.ราชบุรี ใช้งบประมาณจำนวน 100 ล้านบาท ไปซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม มาฉีดให้ประชาชนชาวราชบุรี อีก 100,000 โดส เพื่อฉีดให้ชาวราชบุรีเพียง  50,000 คน ยิ่งควรมียุทธศาสตร์การบริหารวัคซีนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดให้มากที่สุด ไม่ใช่ใช้ระบบการฉีดวัคซีน ด้วยการลงทะเบียน จองคิว เหมือนรัฐบาล

สวนผึ้งแซนด์บ๊อกซ์
ยกตัวอย่าง หาก จ.ราชบุรี พิจารณาบริหารจำนวนวัคซีนที่รัฐบาลค่อย ๆ  ทยอยจัดส่งมาให้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านเศรษฐกิจ หากลองนำส่วนหนึ่งไปใช้ฉีดในพื้นที่เป้าหมายพิเศษ (ตามหลักกระจายวัคซีนของรัฐบาลข้อที่ 3)  เช่น ฉีดให้ประชากร ใน อ.สวนผึ้ง โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเร่งเปิดฤดูการท่องเที่ยวสวนผึ้ง ให้ได้ภายในฤดูหนาวปีนี้   ปัจจุบัน ประชากร อ.สวนผึ้ง มีจำนวนดังนี้  
  • นับเฉพาะคนที่อายุ 19-59 ปี มีจำนวน 30,550 คน (ซึ่งจะฉีดยี่ห้อ ซิโนแวค)
  • นับเฉพาะคนที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป มีจำนวน 6,005 คน (ซึ่งจะฉีดยี่ห้อ แอสตร้าเซนเนก้า
หากตัดสินใจว่า จะให้คนสวนผึ้งร้อยละ 70 ได้ฉีดวัคซีนคนละ 2 เข็ม ก่อนถึงฤดูหนาวนี้ (ต.ค.2564)  เราจะใช้วัคซีนซิโนแวค จำนวนเพียง 42,770 โดส และแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 8,407 โดส เพื่อฉีดให้พวกเขา หากวางแผนเช่นนี้แล้ว จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจหันกลับมาเที่ยวสวนผึ้งอีกครั้ง รายได้จากการท่องเที่ยวก็จะตามมา โรงแรม รีสอร์ท และผู้คน จะหันกลับมามีชีวิตชีวา อีกครั้งหลังโควิด ดีกว่าที่เราจะฉีดวัคซีนแบบสะเปะสปะ


โมเดลนี้เรียกว่า "แซนด์บ็อกซ์" (Sandbox) คือ การควบคุมให้อยู่ในกะบะทราย พื้นที่ อ.สวนผึ้ง ก็คือกระบะทรายนั่นเอง  ซึ่งขณะนี้ จ.ภูเก็ต กำลังทำอยู่ มีขั้นตอน และเป้าหมายชัดเจน ที่จะกลับมาเปิดการท่องเที่ยวให้ได้ภายในวันที่ 1 ก.ค.2564 ที่จะถึงนี้


การฉีดวัคซีนแบบมียุทธศาสตร์จึงดีกว่าการฉีดแบบจองคิว ชิงโชค ใครจองก่อนได้ก่อน ใครเส้นดีได้ก่อน อย่างนี้ไม่เกิดประโยชน์ และยังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ท่ามกลางวัคซีนที่มีน้อย เราควรคิดด้วยเหตุด้วยผลว่า "เราควรฉีดให้ใครก่อนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเปิดเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด และใครที่ควรรอได้"  เพราะในที่สุดทุกคนก็จะได้ฉีดเหมือนกันหมด เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น 

********************************
จุฑาคเชน : 16 มิ.ย.2564

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น