"สวนผึ้งเที่ยวได้ทุกฤดู" อย่าไปจำกัดว่ามี High Season หรือ Low Season การดูดาวเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำได้ตลอดปี และมีผู้นิยมค่อนข้างมาก เหมาะสำหรับครอบครัว ประชาชนและนักเรียน นักศึกษาที่สนใจ
เจ้าของภาพ : อานนท์ วงศ์ฝั้น อ่างเก็บน้ำแม่วังส้าน ป่าซาง ลำพูน |
สวนผึ้งเที่ยวได้ทุกฤดู
เมื่อกลางเดือนมกราคม 2565 ผมได้เดินทางไปรีสอร์ทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ บริเวณบ้านผาปก ตีนเขากระโจม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งน้องคนนี้ ได้เสนอแนวคิดมาตลอดว่า "สวนผึ้งเที่ยวได้ทุกฤดู" อย่าไปจำกัดว่ามี High Season หรือ Low Season
เพราะสินค้าทางด้านการท่องที่ยวของสวนผึ้ง ไม่ใช่มีเฉพาะการมาสัมผัสอากาศหนาว ชมทะเลหมอกบนยอดเขา ในฤดูหนาวเท่านั้น แต่สินค้าด้านการท่องเที่ยวของสวนผึ้ง คือ "ธรรมชาติ และวิถีชีวิตของคนพื้นถิ่น ไม่ว่าจะฤดูร้อน ฝน หรือหนาว แต่ละฤดูล้วนมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันไป" ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีมองของผู้ประกอบการเอง และหน่วยงานของรัฐที่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ที่จะหาจุดขายหรือกิจกรรมการท่องเที่ยวในสวนผึ้งให้พบและขายให้ได้ตลอดปี ยิ่งขณะที่เจ้าไวรัสโควิด-19 กำลังระบาด พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป โดยหันมาชอบสัมผัสกับธรรมชาติ อากาศที่สดชื่น สถานที่โปร่งโล่งสบาย หายใจเต็มปอด ไม่ชอบแออัดหรืออยู่ร่วมกับคนหมู่มาก เลือกท่องเที่ยวและทำกิจกรรมตามที่ใจตัวเองที่ชอบ อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็นอน
เจ้าของภาพ Pathomphong Chantachot อ่างเก็บน้ำห้วยพุกรูด จ.ราชบุรี |
ดูดาวที่เขากระโจม
กิจกรรมการดูดาวในประเทศไทยไม่ใช่กิจกรรมใหม่ เป็นกิจกรรมที่มีผู้นิยมค่อนข้างมาก และเป็นกิจกรรมที่ทำได้ตลอดปี เหมาะสำหรับครอบครัว ประชาชน และนักเรียน นักศึกษา ที่สนใจ นอกจากจะได้ความรู้เรื่องดาราศาสตร์แล้ว ยังทำให้จิตใจผ่อนคลายเข้าใจพื้นฐานของชีวิตและจักรวาล ผ่านธรรมชาติและดวงดาวอีกด้วย
ปัจจุบันการทำกิจกรรมบนยอดเขากระโจม ส่วนใหญ่คือ ขึ้นเขาตอนเช้ามืด ดูพระอาทิตย์ขึ้น สัมผัสอากาศหนาว ชมทะเลหมอก พอสาย ๆ ก็ลงจากเขา แต่หากจัดกิจกรรม "การดูดาว" ได้ก็จะทำให้เกิดกิจกรรมอีกกิจกรรมหนึ่ง ก็คือ ขึ้นเขาในตอนเย็น ชมพระอาทิตย์ตกดิน และรอดูดาว สักสองสามทุ่มก็ลงจากเขา
จะเริ่มอย่างไร
เป็นคำถามที่ท้าทายสำหรับนักบุกเบิกและพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง แต่หากมีความตั้งใจแน่วแน่และจริงจังแล้ว ผมจะขอให้คำแนะนำเบื้องต้น ดังนี้
- ขอคำปรึกษาขั้นต้นจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (National Astronomical Research Institute of Thailand : NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ดูรายละเอียด)
- จัดตั้งชมรมดูดาวในท้องถิ่น เพื่อเป็นแกนนำในการดำเนินงาน และประสานงานกับเครือข่ายชมรมดูดาวต่าง ๆ ในประเทศไทย (การตั้งชมรมดูดาวในท้องถิ่นนี้ หากมีสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เป็นผู้สนับสนุนจะดีมาก เช่น มีนักศึกษาใน มรภ.หมู่บ้านจอมบึงเป็นแกนนำทำกิจกรรม โดยร่วมมือกับคนในท้องถิ่นสวนผึ้ง เป็นต้น)
- เสนอขอให้หน่วยงานของภาครัฐ อปท. และภาคเอกชน ต่าง ๆ ของ จ.ราชบุรี ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของชมรมดูดาวในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
- ประสานงานกับชมรมดูดาวต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ชมรมพรานดารา (Star Hinters Club) ชมรมคนรักในดวงดาว (Starry Night Lover Club) ชมรมดูดาวในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นต้น ให้ช่วยให้คำแนะนำ ถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมาช่วยจัดกิจกรรมดูดาวในพื้นที่สวนผึ้ง
- ชมรมดูดาวในท้องถิ่น จัดกิจกรรมการดูดาว อย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้ครอบครัว ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษาในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวที่มาเยือน เข้าร่วมกิจกรรม
เจ้าของภาพ Kritsadanshon Sadeewong ป่า โป่ง ดอย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ |
กิจกรรม "การดูดาวที่เขากระโจม" นี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม ซึ่งหากสามารถสร้างได้สำเร็จ จะสามารถเพิ่มรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ อ.สวนผึ้ง ทั้งโรงแรม ที่พัก รีสอร์ท ผู้ประกอบการรถรับจ้าง ร้านค้า ร้านอาหาร และกิจการด้านการบริการนักท่องเที่ยวอืน ๆ ได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้เศรษฐกิจของ อ.สวนผึ้ง ดีขึ้น อีกทั้งยังได้สร้างองค์ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย สามารถขยายผลไปยังพื้นที่พักค้างแรมอื่น ๆ ได้อีก เช่น จุดชมวิวห้วยคอกหมู เป็นต้น
การดูดาวบนยอดเขากระโจมนี้ เคยมีผู้ที่คิดริเริ่มและพยายามเสนอการจัดกิจกรรมมาแล้ว แต่ดูเหมือนจะไม่สำเร็จ มีหลายฝ่ายร่วมกันคัดค้าน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ชอบอ้างว่า "ไม่ปลอดภัย" ในทางส่วนตัวแล้วผมว่าเป็นข้ออ้างมากกว่า "พวกราชการนี้ ชอบคิดเหมือนเดิม ๆ เพราะสิ้นเดือนก็ได้เงินอยู่แล้ว ไม่คิดที่จะเริ่มใหม่ อยู่เฉย ๆ ทำตามคำสั่งไปวัน ๆ ก็พอ เดี๋ยวก็ย้ายไปที่อื่น พวกเขาจึงไม่ชอบคิดอะไร ที่มันนอกกรอบ" ดังนั้น อย่าไปหวังพึ่งอะไรพวกราชการมากนัก ภาคเอกชน ต้องริเริ่มกันเอง ลงทุนและทำกันเอง อย่างจริงจัง
บริการทางดาราศาสตร์ ของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ |
***************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
17 ม.ค.2565
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น