หน้าเว็บ

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

กกต.ราชบุรี เสนอแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 4 รูปแบบ ใครได้! ใครเสีย!

คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศราชกิจจาฯ เมื่อ 31 ม.ค.2566 เรื่อง จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยคิดจากจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565  จำนวน 66,090,475 คน จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน จำนวน 165,226 คน แบ่งเขตการเลือกตั้งใน 77 จังหวัด ออกเป็น 400 เขต 


เนื้อหา
  • กกต.จังหวัดราชบุรี เสนอแบ่งเขตการเลือกตั้ง 4 รูปแบบ
  • ข้อสังเกตที่สำคัญของการแบ่งเขตทั้ง 4 รูปแบบ
  • ใครได้! ใครเสีย!
  • รูปแบบที่น่าจะดีที่สุด
  • เตรียมตัวเลือกตั้ง

กกต.จังหวัดราชบุรี เสนอแบ่งเขตการเลือกตั้ง 4 รูปแบบ
จังหวัดราชบุรี มีจำนวนราษฎร 865,807 คน มี ส.ส.ได้ 5 คน แบ่งออกเป็น 5 เขตเลือกตั้ง ค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.1 คน อยู่ที่ 173,161 คน

โดย กกต.จังหวัดราชบุรีได้พิจารณาเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ของ จ.ราชบุรี ออกเป็น 4 รูปแบบ โดยประกาศให้พรรคการเมืองและประชาชนทั่วไป ได้พิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ส่งกลับไปยัง กกต.จังหวัดราชบุรี ภายในวันที่ 10 ก.พ.2566 (ดาวน์โหลด เอกสาร)

รูปแบบที่ 1 และ 2

รูปแบบที่ 3 และ 4

ข้อสังเกตที่สำคัญของการแบ่งเขตทั้ง 4 รูปแบบ
จากข้อมูลในการแบ่งเขตทั้ง 4 รูปแบบ มีข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้
  • รูปแบบที่ 1  หากดูจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเทียบกับค่าเฉลี่ย (173,161 คน) จะพบว่า ในเขตเลือกตั้งที่ 2 มีราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ย 14,456 คน (+8.35%) และในเขตเลือกตั้งที่ 5 มีราษฎรน้อยว่าค่าเฉลี่ย 11,161 คน (-6.45%)
  • รูปแบบที่ 2  หากดูจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเทียบกับค่าเฉลี่ย (173,161 คน) จะพบว่า ในเขตเลือกตั้งที่ 2 มีราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ย 7,650 คน (+4.42%) และในเขตเลือกตั้งที่ 5 มีราษฎรน้อยว่าค่าเฉลี่ย 6,407 คน (-3.70%)
  • รูปแบบที่ 3  หากดูจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเทียบกับค่าเฉลี่ย (173,161 คน) จะพบว่า ในเขตเลือกตั้งที่ 2 มีราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ย 7,650 คน (+4.42%) และในเขตเลือกตั้งที่ 5 มีราษฎรน้อยว่าค่าเฉลี่ย 6,039 คน (-3.49%)
  • รูปแบบที่ 4  หากดูจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเทียบกับค่าเฉลี่ย (173,161 คน) จะพบว่า ในเขตเลือกตั้งที่ 2 มีราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ย 4,445 คน (+2.57%) และในเขตเลือกตั้งที่ 4 มีราษฎรน้อยว่าค่าเฉลี่ย 2,343 คน (-1.35%)
  • ไม่ว่าจะแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบใด ขตเลือกตั้งที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ 
    • เขตเลือกตั้งที่ 3 อ.โพธาราม (เว้น ต.บ้านสิงห์ ต.บ้านฆ้อง และ ต.ดอนทราย) และ อ.จอมบีง
    • เขตเลือกตั้งที่ 4 อ.บ้านโป่ง
  • 10 ตำบลที่เป็นตัวแปรสำคัญ ในการตัดสินใจทั้ง 4 รูปแบบ คือ
    • อ.เมือง ได้แก่ ต.พิกุลทอง, ต.บางป่า, ต.สามเรือน, ต.ดอนแร่, ต.อ่างทอง, ต.น้ำพุ และ ต.ห้วยไผ่
    • อ.โพธาราม ได้แก่ ต.บ้านสิงห์, ต.บ้านฆ้อง และ ต.ดอนทราย
ใครได้! ใครเสีย!
ไม่ว่าผลการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ราชบุรี จำนวน 5 เขต จะออกมาด้วยรูปแบบอย่างไร ย่อมมีคนได้และคนเสีย  โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่วางแผนส่งคนลงสมัคร ,ผู้ที่ลงสมัครเลือกตั้ง และที่สำคัญ คือ พวกหัวคะแนนและฐานเสียงทั้งหลาย 

หากมีการแบ่งเขตแบบที่คาดไม่ถึง ก็ย่อมมีผลต่อคะแนนเสียง และคะแนนของแต่ละพรรคที่จะได้ รวมถึงความคาดหวังว่าของประชาชนที่จะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำในวันเลือกตั้งอีกด้วย 

รูปแบบที่น่าจะดีที่สุด
จากข้อสังเกตสำคัญที่กล่าวมาแล้ว ผมคิดว่ารูปแบบที่ 4 น่าจะดีที่สุด 


การแบ่งเขตที่ดี จำนวนราษฎรในแต่ละเขต ควรมีจำนวนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน ของจังหวัดนั้น ๆ หากจำเป็นต้องเกินหรือน้อยกว่าด้วยลักษณะของพื้นที่แล้ว ก็ควรบวกลบ ไม่เกินร้อยละ 10 

ดังนั้น หากพิจารณาจากกราฟด้านบน ก็จะเห็นได้ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ในรูปแบบที่ 4 มีเส้นกราฟใกล้เคียงกับเส้นค่าเฉลี่ยของจำนวนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน มากที่สุด โดยในเขตเลือกตั้งที่ 2 มีราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ย 4,445 คน (+2.57%) และในเขตเลือกตั้งที่ 4 มีราษฎรน้อยว่าค่าเฉลี่ย 2,343 คน (-1.35%) ซึ่งเป็นค่าที่น้อยที่สุด หากเทียบกับที่เหลืออีก 3 รูปแบบ จึงนับได้ว่าเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด หากคำนึงถึงสิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส. 1 คนของชาว จ.ราชบุรี

เตรียมตัวเลือกตั้ง
คงอีกไม่นาน ชาวราชบุรีคงจะได้เลือกตั้ง ส.ส. กันอีกครั้ง ก็ขอให้ใช้วิจารณาญาณให้ดีที่สุดว่าจะเลือกใคร อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้างและเม็ดเงินที่เขาจะมอบให้ในวันนั้น ประเทศไทยที่ไม่ศิวิไลซ์สักที เพราะสาเหตุสองประการที่สำคัญ หนึ่ง คือ การทุจริต คอรัปชั่น และ สอง คือ ระบบอุปถัมภ์

ในสังคมที่บิดเบี้ยว : สถานการณ์อาจสร้างได้ทั้งวีรบุรุษ และผู้ร้ายในคราวเดียวกัน และในยามที่ท้องฟ้าไร้จันทร์ ต้องคอยดูกันว่า ดาวดวงไหนจะแจ่มจรัส และดาวดวงไหนจะอัสดง

**********************
ชาติชาย  คเชนชล
8 ก.พ.2566

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

กสทช. เปิดอบรมฟรี "การใช้โดรนผลิตรายการโทรทัศน์"

สำนักงาน กสทช. เปิดรับสมัคร "การจัดอบรมการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการผลิตรายการโทรทัศน์"  โดยผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้งานโดรน  ข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง การเลือกใช้มุมกล้อง และการใช้โดรนในการผลิตรายการโทรทัศน์ประเภทต่าง  ๆ อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ


ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 22-24 มี.ค.2566 จังหวัดเชียงราย (หมดเขตรับสมัคร 7 มี.ค.66)
สมัครได้ที่ https://forms.gle/PiXE2RwVSoKHsRQi7

ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 26-28 เม.ย. 66 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (หมดเขตสมัคร 4 เม.ย.66)
สมัครได้ที่ https://forms.gle/uAjRtpmGNFsQLM716

สำนักงาน กสทช. ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 35 ท่าน ที่ทางสำนักงาน กสทช. เห็นว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการฯ โดยผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องอยู่อบรมจนครบตามกำหนดการของสำนักงาน กสทช.

* หลักสูตรฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย*
(ไม่มีนโยบายสนับสนุนค่าเดินทาง)


**************************

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ทุ่มเงิน 38 ล้าน สร้าง Sky Walk บนเขาแก่นจันทร์ คุ้มค่าหรือไม่

อบจ.ราชบุรี ทุ่มงบประมาณ 38 ล้านบาท สร้าง Sky Walk รอบหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ บนเขาแก่นจันทร์ มุ่งหวังเป็น Landmark ใหม่ของ จ.ราชบุรี เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว 

เนื้อหา
  • Sky Walk คือ อะไร
  • คุณลักษณะของ Sky walk ที่ดี
  • Sky Walk ยอดนิยมในประเทศไทย
  • สร้าง Sky Walk รอบหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ บนเขาแก่นจันทร์ คุ้มค่าหรือไม่
  • สิ่งที่ อบจ.ราชบุรี ควรทำ

Sky Walk คือ อะไร
Sky Walk หมายถึง ทางสำหรับคนเดินเท้าอยู่เหนือพื้นถนน หรือทางเดินเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาคาร สถานที่ ตึก เป็นต้น  หรืออาจเรียกได้ว่า "ทางเดินเท้าลอยฟ้า"  เพื่อให้คนมีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง

นอกจากนิยามความหมายที่กล่าวมาแล้ว ในปัจจุบัน Sky Walk ยังมักก่อสร้างในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อให้เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเดินชมวิวทิวทัศน์และถ่ายรูป การสร้าง Sky Walk ในแหล่งท่องเที่ยวจึงกำลังเป็นกระแสยอดนิยมอยู่ในขณะนี้ 

การก่อสร้าง Sky Walk ส่วนใหญ่จะใช้งบประมาณการก่อสร้างที่สูงมาก และเป็นอันตราย หากการออกแบบและก่อสร้างไม่ดี  ดังนั้นการสร้าง Sky Walk จึงต้องมีการพิจารณาด้วยความรอบคอบและเหมาะสมด้วยว่า เมื่อสร้างแล้วมันจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวได้จริงหรือไม่ และคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนหรือปล่าว

คุณลักษณะของ Sky walk ที่ดี
คุณลักษณะของ Sky Walk ที่ดี ต้องสามารถมอบคุณค่าให้แก่นักท่องเที่ยว ได้ดังนี้

  1. เหมือนอยู่บนสววรค์ Sky Walk ที่ดีควรต้องสร้างความรู้สึกให้กับนักท่องเที่ยว เหมือนได้ยืนอยู่เหนือโลก เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ดุจราวกับยืนอยู่บนสรวงสวรรค์ มีความภูมิใจและฮึกเหิมที่ได้มาเดินและยืน อยู่บนนี้
  2. มีความตื่นเต้น หวาดเสียว  Sky Walk ที่ดีจะต้องสร้างความรู้สึกตื่นเต้น หวาดเสียว หรือความกลัว แก่นักท่องเที่ยว จากความสูงเหนือพื้นดิน หรือการก้าวเดินบนพื้น ที่ทำด้วยกระจก ที่สามารถมองเห็นพื้นดินที่อยู่ด้านล่าง
  3. เห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามและแปลกตา เมื่อเดินหรือยืนอยู่บน Sky Walk ต้องเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามและแปลกตา ที่ไม่สามารถเห็นบนพื้นดินตามปกติได้
  4. ควรอยู่ในที่สูง Sky Walk ที่ประสบความสำเร็จมักจะอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลมาก ๆ  เช่น บนยอดดอย ยอดเขา อยู่เหนือสายหมอกและมวลเมฆ
  5. ถ่ายรูปสวย เรื่องถ่ายรูปนี้เป็นเรื่องปกติของนักท่องเที่ยวทุกคน หาก Sky Walk ที่ใด ถ่ายรูปออกมาแล้วสวย รับรองว่าได้ใจนักท่องเที่ยวเกินร้อย และยังช่วยประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวไปในตัวอีกด้วย
Sky Walk ยอดนิยมในประเทศไทย
ลองดู Sky Walk ในประเทศไทยที่ถือว่า สร้างแล้วคุ้มค่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จในด้านการดึงดูดนักท่องเที่ยว ลองดูกันนะครับว่าแต่ละแห่งเขามีจุดดึงดูดอะไรบ้าง

สกายวอล์ค บ้านท่าดีหมี พระใหญ่ภูคกงิ้ว อ.เชียงคาน จ.เลย : จุดดึงดูด วิวขุนเขามองเห็นทั้งฝั่งไทยและ สปป. ลาว ,จุดบรรจบแม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขง, พื้นกระจก ตื่นเต้น หวาดเสียว, ทะเลหมอกหน้าหนาว

Sky  Walk เชียงคาน
ที่มาของภาพ (Pipachrat.2564)

Sky  Walk เชียงคาน
ที่มาของภาพ (Pipachrat.2564)

สกายวอล์ค วัดผาตากเสื้อ ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย : จุดดึงดูด ความสูง ทะเลหมอก  จุดชมวิวเมืองกับแม่น้ำ

Sky  Walk วัดผาตากเสื้อ หนองคาย
ที่มาของภาพ (Pipachrat.2564)

มหานคร สกายวอล์ค บนตึกคิงเพาเวอร์ กรุงเทพ : จุดดึงดูด สูงที่สุดใน กทม., วิวกรุงเทพฯ แบบ พานอรามา,พื้นกระจก หวาดเสียว ตื่นเต้น และกลัว

มหานคร Sky Walk
ที่มาของภาพ (Pipachrat.2564)

สกายวอล์ค อัยเยอร์เวง ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา : จุดดึงดูด ความสูง  ทะเลหมอก วิวทิวทัศน์ของผืนป่าฮาลาบาลา และทะเลสาบเขื่อนบางลาง 

Sky Walk อัยเยอร์เวง
ที่มาของภาพ (Pipachrat.2564)

สกายวอล์ค ท่าน้ำหน้าเมือง กาญจนบุรี : เพิ่งเปิดเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา จุดดึงดูด วิวแม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำแควน้อย  รวมกันเป็นแม่น้ำแม่กลอง

Sky walk กาญจนบุรี
ที่มาของภาพ (BbankK. 2565)

สร้าง Sky Walk รอบหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ บนเขาแก่นจันทร์ คุ้มค่าหรือไม่
หากเราทำใจเป็นกลาง ไม่ได้อยากได้ อยากมี ตามกระแส จะเห็นว่า การทุ่มเงินงบประมาณ 38 ล้านบาท สร้าง Sky Walk รอบหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ บนเขาแก่นจันทร์นั้น ไม่น่าจะคุ้มค่า เพราะ Sky Walk ที่จะสร้างนี้ ไม่ได้มีคุณลักษณะที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เลย  ไม่มีจุดชมวิวอะไรที่น่าสนใจ สูงก็ไม่สูง ไม่มีทะเลหมอกใด ๆ ให้มอง หากจะชมวิวเมืองราชบุรี ก็ขึ้นไปยืนบนยอดเขาตามปกติก็ชมได้แล้ว ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องสร้าง Sky Walk แต่อย่างใด ประกอบกับแบบที่ออก ก็เหมือนทางเดินปูพื้นด้วยกระจกวนรอบหอนาฬิกา ไม่ได้มีแนวคิดหรือสถาปัตยกรรมใด ๆ ที่แลดูน่าตื่นเต้น หวาดเสียว และท้าทาย กลัวพอสร้างเสร็จก็จะรกร้างว่างปล่าว เป็นภาระที่ต้องดูแลรักษาทำนุบำรุงต่อไปในภายภาคหน้า โดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้เลย เหมือนกับตัวหอนาฬิกานั่นเอง 

แบบ Sky Walk รอบหอนาฬิกา
ที่ของภาพ  (ธนพล เรืองใจ. 2566)

สิ่งที่ อบจ.ราชบุรี ควรทำ
จุดเด่นของเขาแก่นจันทร์ที่สามารถจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ก็คือ "พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ" พระประจำภาคตะวันตก หรือที่เราเรียว่าพระสี่มุมเมือง ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขา ซึ่งมีอยู่ 4 องค์ในประเทศไทยเท่านั้น เพียงแต่ เส้นทางที่จะให้ทุกคนขึ้นไปบนยอดเขานั้น ค่อนข้างมีข้อจำกัด 

สิ่งที่ อบจ.ราชบุรี ควรทำ คือ การสร้างเส้นทางขึ้นไปสักการะพระสี่มุมเมืองให้มีความหลากหลาย มีทางเลือกสำหรับคนทุกเพศทุกวัย และทุกกลุ่มอายุ สามารถึงดูดนักท่องเที่ยวสายบุญต่าง ๆ ให้มาเยี่ยมเยือนสักการะ เช่น จัดสร้างบันไดเดินเท้า  จัดสร้างรถรางไฟฟ้า จัดรถบริการสาธารณะ ขึ้นสู่ยอดเขา เพื่อสักการะพระสี่มุมเมือง ลองดูที่จังหวัดอื่น ๆ เขาทำเป็นตัวอย่างก็ได้ เช่น เขาวังเพชรบุรี, วัดเขาสุกิม จันทบุรี, เขาวงพระจันทร์ ลพบุรี เป็นต้น หากเราเปลี่ยนงบประมาณ 38 ล้านบาท ที่จะสร้าง Sky Walk มาสร้างเส้นทางขึ้นเขาแก่นจันทร์ที่หลากหลาย ผมคิดว่าน่าจะคุ้มค่ากว่า 

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย แถมยังมีหนี้สินอยู่มาก งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรก็มีจำนวนจำกัด ดังนั้น หน่วยงานทุกภาคส่วน จึงควรพิจารณาใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกโครงการควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเหมาะสม มีความคุ้มค่าและเกิดผลสัมฤทธิ์จริงตามที่ตั้งวัตถุประสงค์เอาไว้

อ่านเพิ่มเติม
***************************************
เขียนโดย จุฑาคเชน
6 ก.พ.2566

ที่มาข้อมูล
  • Pipachrat. (2564). 7 สกายวอล์คเมืองไทย วิวสวยสุดอันซีน : TripGether. [Online]. Available : https://www.tripgether.com/อัปเดตเรื่องเที่ยว/7-สกายวอล์คเมืองไทย-วิวสวยสุดอันซีน/. [2566 กุมภาพันธ์ 6].
  • BbankK. (2565). Skywalk กาญจนบุรี แลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่ต้องไปเช็คอิน! : TripGether. [Online]. Available : https://www.tripgether.com/ที่เที่ยวแนะนำ/skywalk-กาญจนบุรี/. [2566 กุมภาพันธ์ 6].
  • ธนพล เรืองใจ. (2566). สภา อบจ.อนุมัติงบ 38 ล้านบาท เตรียมเนรมิตสกายวอล์คเขาแก่นจันทร์ ให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ราชบุรี. โฟกัสราชบุรี. [Online]. Available : https://www.facebook.com/profile.php?id=100063610260560. [2566 กุมภาพันธ์ 6].

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

รวมช่องทางข่าวออนไลน์ : ติดตามได้ทุกเรื่องทั่วราชบุรี

ปัจจุบันการสื่อสารในโลกอินเตอร์เน็ต สามารถส่งข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มรูปแบบต่าง ๆ ไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว อย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งข้อความ ภาพ เสียง และวิดีโอ

เช่นเดียวกับ สื่อมวลชนท้องถิ่นใน จ.ราชบุรี ซึ่งเริ่มเปลี่ยนจากนำเสนอข่าวในรูปแบบเก่า เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์  มาเป็นการรายงานข่าวในรูปแบบออนไลน์เป็นจำนวนมากตามกระแสของโลกที่เปลี่ยนไป สื่อมวลชนแต่ละท่าน ล้วนมีช่องทางนำเสนอข่าวสารของตนเองผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อย่างหลากหลาย


เพื่อให้ผู้ที่สนใจข่าวสารใน จ.ราชบุรี สามารถติดตามข่าวได้อย่างรวดเร็ว ครบถ้วน ทุกช่องทาง ทันต่อสถานการณ์ ไม่ต้องกลัวตกกระแสข่าว (Fear of Missing Out : FOMO) อีกทั้งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบค้นข้อมูลย้อนหลังได้ ทางสถาบันราชบุรีศึกษา จึงได้รวบรวมช่องทางการนำเสนอข่าวสารออนไลน์ต่าง ๆ  ที่สื่อมวลชนและกลุ่มทางสังคมใน จ.ราชบุรี ได้นำเสนอไว้ (เฉพาะช่องท้องถิ่น) โดยสรุปรายละเอียดได้ ดังนี้  

สื่อมวลชนประเภทหน่วยราชการ
เว็บไซต์
เพจเฟสบุ๊ค
สื่อมวลชนประเภทสถาบัน องค์กร กลุ่มหนังสือพิมพ์ กลุ่มข่าว
เพจเฟสบุ๊ค
เฟสบุุ๊คส่วนตัว
เว็บบล็อก
เว็บไซต์
สื่อมวลชน ประเภทรายบุคคล
เฟสบุ๊คส่วนตัว 
เพจเฟสบุ๊ค
เว็บไซต์
กลุ่มทางสังคม
กลุ่มเฟสบุ๊คสาธารณะ 
กลุ่มเฟสบุ๊คส่วนตัว
กลุ่มไลน์ 
  • ทุกวันที่ราชบุรี (สมาชิก 479 คน)
  • สื่อ-วาระงานราชบุรี (สมาชิก 225 คน)
  • PR.ราชบุรี2020 (สมาชิก 246 คน)
  • กลุ่มคนราชบุรี (สมาชิก 126 คน)
*หมายเหตุ จำนวนคนที่เยี่ยมชม ถูกใจ ติดตาม และจำนวนสมาชิก เป็นข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.พ.2566

การรวบรวมช่องทางข่าวสารออนไลน์ ของ จ.ราชบุรี ในครั้งนี้ ไม่ได้รวบรวมเพจหรือช่องทางประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานราชการ (เว้นกรมประชาสัมพันธ์) เน้นแค่ช่องทางของสื่อมวลชน และกลุ่มทางสังคมที่เป็นสาธารณะซึ่งคิดว่าเป็นประโยชน์เท่านั้น อาจจะรวบรวมได้ไม่ครบถ้วน ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

หากท่านใดต้องการเพิ่มเติมข้อมูล สามารถเพิ่มได้ที่ช่องแสดงความคิดเห็น หรือ ส่งอีเมลมาที่ sratchaburi@gmail.com ได้ครับ

******************************
รวบรวมและเรียบเรียงโดย
สถาบันราชบุรีศึกษา
4 ก.พ.2566