วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ถึงเวลาพัฒนาเขาแก่นจันทร์ หรือยัง?

หากจะทำให้เมืองราชบุรีเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวหรือบุคคลทั่วไปอยากมาเยี่ยมเยือน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่ดึงดูดใจ ถือเป็นเรื่องสำคัญ  ซึ่งผมเห็นว่า "เขาแก่นจันทร์"  เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมากที่สุด หากได้มีการพัฒนากันอย่างจริงจัง 

"พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ" พระประจำภาคตะวันตก
ที่มาของภาพ https://www.เที่ยวราชบุรี.com/
ศักยภาพของเขาแก่นจันทร์ 
  1. บนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ"  พระประจำภาคตะวันตกหรือ ที่เรียกว่า “พระสี่มุมเมือง” เพื่อเป็นจตุรพุทธปราการเอาไว้ปกป้องภยันตรายจากศัตรูทั้งสี่ทิศของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น 4 องค์เพื่อนำไปประดิษฐานยังทิศเหนือ (ลำปาง) ทิศใต้ (พัทลุง) ทิศตะวันออก (สระบุรี) และทิศตะวันตก ที่ จ.ราชบุรี โดยดำเนินการประดิษฐานเมื่อ 27 ธ.ค.2511 
  2. บนยอดเขาแก่นจันทร์เป็นจุดชมวิวเมืองราชบุรีที่สวยที่สุด อากาศสดชื่นเย็นสบาย 
  3. หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2550 ซึ่งเคยตั้งใจจะทำเป็นจุดชมวิว และ Landmark แห่งใหม่ของเมืองราชบุรี 
  4. บริเวณเชิงเขาเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะจักรีอนุสรณ์สถาน และเป็นที่ประดิษฐ์ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งในอดีตพระองค์ทรงเคยดำรงตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
ทิวทัศน์อุทยานหินเขางู และเทือกเขาตะนาวศรี มองจากยอดเขาแก่นจันทร์
ที่มาของภาพ https://www.เที่ยวราชบุรี.com/
ทิวทัศน์เมืองราชบุรี มองจากยอดเขาแก่นจันทร์
ที่มาของภาพ https://www.เที่ยวราชบุรี.com/

การพัฒนาเขาแก่นจันทร์
การพัฒนาเขาแก่นจันทร์ที่สำคัญลำดับต้นๆ คือ ทำอย่างไร? ที่จะนำนักท่องเที่ยวและผู้ที่มีจิตศรัทธาขึ้นไปไหว้พระสี่มุมเมืองได้อย่างปลอดภัย  ปัจจุบันเส้นทางขึ้นไปไหว้พระสี่มุมเมืองบนยอดเขาแก่นจันทร์ซึ่งมีความสูงประมาณ 141 เมตร  มีเพียงถนนลาดยางเส้นเดียว บางช่วงก็มีโค้งหักศอกและลาดชัน  หากยานพาหนะไม่ดี หรือผู้ขับขี่ไม่ชำนาญ อาจเกิดอันตรายได้ การเดินทางขึ้นยอดเขาแก่นจันทร์ที่น่าจะสร้างขึ้น ได้แก่

บันไดคนเดิน โดยสร้างขึ้นลัดเลาะไปตามเส้นทางธรรมชาติรอบๆ เขาแก่นจันทร์จนถึงยอดเขา มีจุดแวะพักเหนื่อยตามรายทางเป็นจุดๆ ไป (แต่ละจุดมีกิจกรรมให้ทำ ให้ชม มีอาหาร น้ำดื่ม ไว้จำหน่าย) ออกแบบไม่ให้ชันจนเกินไป เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีสุขภาพดี ชอบออกกำลังกาย ชอบท้าทาย และพวกที่ชื่นชมป่าเขาและธรรมชาติ   

รถรางไฟฟ้า เหมาะสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีเวลาน้อย  ชอบความสบาย ไม่ชอบเหนื่อยมาก และชอบใช้บริการนวัตกรรมใหม่ๆ  และกลุ่มทัวร์ผู้สูงอายุ ที่มีจิตศรัทธาแต่เดินไม่ไหว   ซึ่งกลุ่มนี้ในอนาคตจะมีมากขึ้น 

รถรับจ้างขนาดเล็ก ที่มีความปลอดภัยและคนขับที่มีความเชี่ยวชาญพานักท่องเที่ยวขึ้นไปบนยอดเขาได้อย่างปลอดภัย


รถรางไฟฟ้า ขึ้นลงเขาวังเพชรบุรี
ที่มาของภาพ : TRUEID (https://travel.trueid.net/detail/g5YZN9dYaJg)

หากมีการพัฒนาการเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาแก่นจันทร์ให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้อย่างหลากหลาย เช่น บันไดคนเดิน รถรางไฟฟ้า รถรับจ้างขนาดเล็ก ตามที่กล่าวมา ผมคิดว่า "การไหว้พระสี่มุมเมืองซึ่งเป็นพระพุทธรูป 1 ใน 4 องค์ของประเทศไทยเพื่อความเป็นสิริมงคล" น่าจะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะถูกบรรจุไว้ในโปรแกรมการท่องเที่ยวของกรุ๊ปทัวร์ทั้งในและต่างประเทศ ได้โดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์สายบุญ ไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นยังดึงดูดนักท่องเที่ยวสายที่ชอบนวัตกรรม และการผจญภัยใหม่ๆ  ได้อีกด้วย


สวนสาธารณะจักรีอนุสรณ์สถาน
ที่มาของภาพ https://www.เที่ยวราชบุรี.com/
สวนสาธารณะจักรีอนุสรณ์สถาน ที่บริเวณเชิงเขา สามารถพัฒนาเป็นสถานที่ให้บริการนักท่องเที่ยว และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกต่างๆ ได้อีกด้วย (ซึ่งทราบว่า อบจ.ราชบุรี เคยพยายามทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ)  ส่วนหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ก็พัฒนาเป็นร้านอาหารและห้องชมวิวเมืองราชบุรีไปด้วยในตัว

การพัฒนาการเดินทางขึ้นเขาแก่นจันทร์ มีต้นแบบให้เห็นแล้วก็คือที่ เขาวังเพชรบุรี ใกล้บ้านเรานี่เอง ไม่ใช่ของใหม่หรือสิ่งใหม่  แต่หากคิดจะทำ จุดเริ่มต้นก็คือการตัดสินใจของผู้ที่มีอำนาจ และบรรดาสมาคม องค์กรที่มีศักยภาพทั้งหลายที่จะต้อง "กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง"  การพัฒนาเขาแก่นจันทร์ในครั้งนี้ อาจจะเป็นงานใหญ่ ที่ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก แต่ก็คุ้มค่า หากสำเร็จจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ในอีกหลายๆ ด้านที่กำลังจะพัฒนาต่อเนื่องกันไป เช่น การเป็นเมือง  "ศูนย์กลางการท่องเที่ยววิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และกีฬาทางน้ำแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง"   เป็นต้น

บันไดรักแท้ 3,790 ขั้น ขึ้นเขาวงพระจันทร์ ที่ จ.ลพบุรี
ที่มาของภาพ : MTHAI (https://travel.mthai.com/blog/127049.html)
ผมเคยจินตนาการว่า วันหนึ่ง นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากเพชรบุรี เมื่อถึงสี่แยกวังมะนาวแล้วจะไม่เลี้ยวขวาไป ถ.พระราม 2 แต่จะขับรถตรงมาตาม ถ.เพชรเกษม เพื่อสักการะพระสี่มุมเมือง พระประจำภาคตะวันตก เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนกลับกรุงเทพฯ หลังจากนั้น ก็จะแวะซื้อตุ๊กตาของฝากที่บ้านสิงห์ เยี่ยมชม ณ สัทธา อุทยานไทย ที่ อ.บางแพ แวะเที่ยวตลาดน้ำที่ อ.ดำเนินสะดวก แล้วค่อยเดินทางต่อไปยังตลาดน้ำอัมพวา และกลับกรุงเทพฯ ต่อไป  

ช่วยกันคิดนะครับ

******************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม