หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2566

เสวนาสภากาแฟ "ศึกเลือกตั้ง ส.ส.ราชบุรี 2566 ใครจะแจ่มจรัส ใครจะอัสดง"

การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่จะถึงนี้ ถือเป็นการกำหนดอนาคตของประเทศไทยใหม่อีกครั้งหนึ่ง ว่าคราวนี้จะมอบให้ใครเป็นผู้นำพาประเทศไทยไปสู่ความศิวิไลซ์ ซึ่ง 8 ปีที่ผ่านมาหลังจากการรัฐประหาร ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยไม่ได้ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างที่ควรจะเป็น การทุจริตคอรัปชั่นเบ่งบาน ประชาชนแตกแยกทางความคิด สังคมบิดเบี้ยว ประเทศมีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว


เนื้อหา
  • จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  • ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก (First Voter)
  • ผลคะแนนการเลือกตั้งปี 2562 และผู้สมัครรับเลือกตั้งปี 2566
  • เขตเลือกตั้งที่ 1/เสวนา
  • เขตเลือกตั้งที่ 2/เสวนา
  • เขตเลือกตั้งที่ 3/เสวนา
  • เขตเลือกตั้งที่ 4/เสวนา
  • เขตเลือกตั้งที่ 5/เสวนา
  • การพยากรณ์ ส.ส.แบบแบ่งเขต
  • เงินสดซื้อเสียงน่าจะสะพัดถึง 125 ล้านบาท
หากเราลองย้อนดูสถิติการเลือกตั้ง ส.ส.ของ จ.ราชบุรี ครั้งก่อนหน้านี้ เมื่อ 24 มี.ค.2562 เราก็อาจจะพอคาดเดาได้ว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ใน 14 พ.ค.2566 ที่จะถึงนี้ ใครน่าจะเป็นดาวที่แจ่มจรัส และใครจะกลายเป็นดาวที่อัสดง  

จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
เมื่อปี 2562 จ.ราชบุรี มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 673,013 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 551,379 คน (ร้อยละ 81.93) เฉลี่ยเขตเลือกตั้งทั้ง 5 เขต จะมีผู้มาใช้สิทธิ์เขตละ 100,000 คนเศษ  

สำหรับปี 2566 จ.ราชบุรี มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 683,769 คน (เพิ่มขึ้น 10,756 คน) ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมมาก สามารถแยกกลุ่มตาม Genaration โดยเรียงจากมากไปหาน้อย  ได้ดังนี้ 
  • อันดับ 1 Gen X (42-57 ปี) จำนวน 205,478 คน (30.05%)
  • อันดับ 2 Gen Y (26-41 ปี) จำนวน 189,401 คน (27.7%)
  • อันดับ 3 Baby Boomer (58-76 ปี) จำนวน 164,452 คน (24.05%)
  • อันดับ 4 Gen Z (18-25 ปี) จำนวน 85,654 คน (12.53%)
  • อันดับ 5 Gen Silent (77 ขึ้นไป) จำนวน 38,784 คน (5.67%)
เสวนา**  ใน จ.ราชบุรี กลุ่ม Gen X นับเป็นกลุ่มที่มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่ม Gen Y ส่วนกลุ่มที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ กลุ่ม Gen Z ซึ่งในกลุ่มนี้ จะรวมกลุ่มผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) อยู่ด้วย 

จากนโยบายพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่หาเสียงกันอยู่ในปัจจุบัน ทำให้กลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแบ่งทัศนะออกเป็น 2 ฝ่าย ได้อย่างชัดเจน คือ
  • กลุ่มที่ 1 Gen Z+Gen Y  เป็นกลุ่มที่เบื่อการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา อยากเปลี่ยนแปลง ใน จ.ราชบุรี มีอยู่จำนวน 275,055 คน
  • กลุ่มที่ 2 Baby Boomer+Gen X+Gen Silent กลุ่มนี้ ยังเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่อยากได้สวัสดิการมากขึ้น ยังสนับสนุนให้รัฐบาลเดิมทำงานต่อไป ใน จ.ราชบุรี มีอยู่จำนวน 408,714 คน
ในสังคมไทยมีค่านิยมว่า เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ทำให้คนกลุ่มที่ 1 มักจะถูกชักจูงทางความคิดจากคนกลุ่มที่ 2 เพราะคนกลุ่มที่ 2 ก็คือ พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ปู่ย่าตายาย ของพวกเขา จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามความเห็นที่แท้จริงของผู้มีสิทธิ์  

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก (First Voter)
ผู้มีสิทธ์เลือกตั้งครั้งแรก 
(First Voter) คือ ผู้ที่มีอายุ 18-22 ปี  ใน จ.ราชบุรี มี จำนวน 52,231 คน (ทั่วประเทศมี 4,012,803 คน)  (หากลองเทียบกับระดับการศึกษาดูก็คือ กลุ่มที่กำลังเรียน ม.6-มหาวิทยาลัยปี 4)  กลุ่มนี้อยู่ในส่วนหนึ่งกลุ่ม Gen Z


เสวนา** กลุ่มนี้ มีจำนวนมากพอที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้ในแต่ละเขตได้  แต่ไม่มีตัวเลขจำแนกได้ว่าอยู่ในเขตเลือกตั้งไหนบ้าง หากลองเฉลี่ยง่าย ๆ จ.ราชบุรี มีจำนวน 5 เขต เฉลี่ยแต่ละเขตน่าจะมี First Voter เขตละประมาณ 10,000 คน 

ซึ่งหากพวกเขารวมกันทุ่มคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส. คนใด คนนั้นก็จะมีคะแนนเพิ่มถึง 10,000 คะแนน ดังนั้น นักเลือกตั้งอย่าได้ประมาทและดูถูกคนกลุ่มนี้ ตัวอย่างพลังของ First Voter ดูได้จากการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ล่าสุด ที่ผ่านมา

ผลคะแนนการเลือกตั้งปี 2562 และผู้สมัครรับเลือกตั้งปี 2566
ในปี 2562 จ.ราชบุรี มีผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 133 คน (ชาย 92 คน, หญิง 41 คน) แต่ในปี 2566 มีผู้ลงสมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.เหลือแค่  54 คน (ชาย 43 คน,หญิง 11 คน)  เหตุเพราะเหลือจำนวนพรรคการเมืองน้อยลง และมีบัตร 2 ใบ คะแนนผู้ลงสมัคร ส.ส.แต่ละพรรค จึงไม่มีผลในปาร์ตี้ลิสต์ 

สำหรับผลคะแนนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ของ จ.ราชบุรี  5 อันดับแรกในแต่ละเขต และผู้สมัครรับเลือกตั้งปี 2566 มีรายละเอียด ดังนี้

เขตเลือกตั้งที่ 1  อ.เมืองราชบุรี (เว้น ต.น้ำพุ, ต.ห้วยไผ่, ต.ดอนแร่ และ ต.อ่างทอง)
  • อันดับ 1 กุลวลี  นพอมรบดี พรรคพลังประชารัฐ (40,937 คะแนน) ปี 2566 ส่ง กฤษณะ  พลอยชุม ลงสมัคร (ส่วน น.ส.กุลวลีฯ ย้ายไปลงสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ )
  • อันดับ 2 เพียงเพ็ญ  ศักดิ์สมบูรณ์ พรรคภูมิใจไทย (25,365 คะแนน) ปี 2566 ส่ง พันเอกไพรวัน เอี่ยมคะนา ลงสมัคร
  • อันดับ 3 ศรราม  พรหมากร พรรคอนาคตใหม่ (19,119 คะแนน)
  • อันดับ 4 กัลยา  ศิริเนาวกุล พรรคประชาธิปัตย์ (11,356 คะแนน) ปี 2566 ส่ง ทศพล แก้วทิมา ลงสมัคร
  • อันดับ 5 วัณธ์เทวินทร เศวตรฐนโภคิน พรรคเสรีรวมไทย (2,923 คะแนน) ปี 2566 ส่งคนเดิมลงสมัคร


เสวนาเขตเลือกตั้งที่ 1** 
ปี 2562 น.ส.กุลวลีฯ พรรคพลังประชารัฐ มาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 40,937 คะแนนชนะอันดับ 2  นางเพียงเพ็ญฯ จากพรรคภูมิใจไทย กว่า 15,000 คะแนน 

แต่ในปี 2566 น.ส.กลุวลีฯ ซึ่งถือว่าเป็น ส.ส.ประเภทดาวฤกษ์  เปลี่ยนขั้วไปลงในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ  ซึ่งคาดว่าคะแนนจำนวน 40,937 คะแนนก็น่าจะติดตัวตามไปด้วย คงเหลือทิ้งไว้ให้ นายกฤษณะ พลอยชุม ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐคนใหม่ ไม่มากเท่าใดนัก พรรคพลังประชารัฐคราวนี้น่าจะเหนื่อย

ส่วนคะแนน อันดับ 2 ของนางเพียงเพ็ญฯ แห่งพรรคภูมิใจไทย จำนวน 25,365 คะแนน ก็น่าจะไม่สามารถส่งต่อให้ พันเอกไพรวัน เอี่ยมคะนา ผู้สมัครหน้าใหม่แห่งพรรคภูมิใจไทย ได้ คงจะต้องนำคะแนนไปสมทบให้ น.ส.กุลวลีฯ  พรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ สามีของนางเพียงเพ็ญฯ เป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับที่ 17 แถมนางเพียงเพ็ญฯ ยังเป็นน้าสะใภ้ของ น.ส.กุลวลีฯ และนายมานิต นพอมรบดี ยังช่วยงานลูกสาวอยู่เบื้องหลังอีกแรงหนึ่งด้วย งานนี้ พันเอกไพรวันฯ ต้องเหนื่อยแน่ หากใช้เฉพาะฐานเสียงของ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ อาจจะไม่เพียงพอในการชิงชัย กับองคาพยพของ น.ส.กุลวลีฯ ที่กล่าวมา
 
ส่วนพรรคก้าวไกล ส่ง นภดล  อารีประเสริฐกุล ลงชิงชัย จากเสียงของพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 มีถึง 19,119 คะแนน  และพรรคประชาธิปัตย์ ส่ง ทศพล แก้วทิมา ลงแทน นางกัลยาฯ ซึ่งปี 2562 ได้คะแนนเพียง 11,256 คะแนน ทั้ง 2 ท่านที่กล่าวมานี้จะต้องหาเสียงเพิ่มอีกอย่างน้อย 20,000-30,000 คะแนน ถึงจะได้ลุ้น นับว่าหืดขึ้นคอกันเลยทีเดียว 

ส่วนพรรคเพื่อไทย ปี 2562 ไม่ได้ส่งคนลง ปี 2566 นี้ส่ง นพพล ภู่แย้ม ลงชิงชัย งานนี้พรรคเพื่อไทยก็คงเหนื่อยเช่นกัน เพราะไม่ได้เคยปูทางไว้ตั้งแต่ปี 2562 

เขตเลือกตั้งที่ 2 ประกอบด้วย อ.เมืองราชบุรี (เฉพาะ ต.น้ำพุ, ต.ห้วยไผ่, ต.ดอนแร่ และ ต.อ่างทอง), อ.ปากท่อ, อ.สวนผึ้ง, อ.วัดเพลง, อ.บ้านคา
  • อันดับ 1 บุญยิ่ง  นิติกาญจนา พรรคพลังประชารัฐ (40,030 คะแนน) ปี 2566 ลงสมัครพรรคเดิม
  • อันดับ 2 พงษ์ศักดิ์  กิจประเสริฐ พรรคภูมิใจไทย (30,592 คะแนน) ปี 2566 ส่ง ยงยุทธ  ผลเอนก ลงสมัคร
  • อันดับ 3 สมชาย  สรสิทธิ์ พรรคอนาคตใหม่ (14,597 คะแนน)
  • อันดับ 4 พ.ต.ท.สันทัต  เจียมสกุล พรรคประชาธิปัตย์ (6,271 คะแนน) ปี 2566 ส่ง ถปนัท  ชาติไทย ลงสมัคร 
  • อันดับ 5 บุญชอบ  ปิ่นทอง พรรคเสรีรวมไทย (2,520 คะแนน) ปี 2566 ส่ง พชร โคฮุด ลงสมัคร

เสวนาเขตเลือกตั้งที่ 2**  
ปี 2562 คะแนนสูสีกันระหว่าง นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 1 กับ นายพงษ์ศักดิ์ กิจประเสริฐ พรรคภูมิใจไทย อันดับ 2 ชนะกันไม่ถึง 10,000 คะแนน 

ในปี 2566 หากคะแนนที่ได้ของ นายพงษ์ศักดิ์ฯ จำนวน 30,592 คะแนน สามารถเทต่อให้ นายยงยุทธ ผลเอนก ผู้สมัครใหม่แห่งพรรคภูมิใจไทย ได้ ก็น่าลุ้น แต่อาจต้องเหนื่อยหน่อย ถ้าจะล้มยักษ์ อาจต้องให้ ภรมน นรการกุมพล ผู้สมัครพรรครวมไทยสร้างชาติ ช่วยแย่งคะแนนจาก นางบุญยิ่งฯ พรรคพลังประชารัฐ ไปด้วย นางภรมนฯ เคยลงสมัคร นายก อบจ.ราชบุรี เมื่อปี 2563 ในนามคณะก้าวหน้า ได้คะแนน 74,929 คะแนนเป็นอันดับ 2 แพ้ นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา กลุ่มพัฒนาราชบุรี สามีของ นางบุญยิ่งฯ ซึ่งเป็นผู้ชนะ ได้คะแนน 241,952 คะแนน 

การล้มยักษ์ในเขต 2 นี้ ค่อนข้างยาก เพราะนางบุญยิ่งฯ ขยันทำการบ้านโดยการร่วมกิจกรรมและติดสอยห้อยตาม นายก อบจ.ราชบุรี มาโดยตลอด และมีกลุ่มฐานเสียง ส.อบจ.กลุ่มพัฒนาราชบุรี คอยให้การสนับสนุน

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ส่ง นายปีรเมษ มณีโชติ ลงชิงชัยในนามพรรคก้าวไกล  ปี 2562 ได้คะแนน  14,597 คะแนน  และพรรคประชาธิปัตย์ ส่ง ถปนัท  ชาติไทย ลงแทน พ.ต.ท.สันทัต ฯ ปี 2562 ได้คะแนน 6,217 ทั้ง 2 พรรคนี้ จะต้องหาเสียงเพิ่มอีกอย่างน้อย 20,000-30,000 คะแนน ถึงจะได้ลุ้น นับว่ายากมากครับ 

พรรคเพื่อไทย ปี 2562 ไม่ได้ส่งคนลง ปี 2566 นายไก่ ห้องริ้ว ลงชิงชัย งานนี้พรรคเพื่อไทยก็คงเหนื่อยเช่นกัน เพราะไม่ได้เคยปูทางไว้ตั้งแต่ปี 2562 

เขตเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วย อ.โพธาราม (เว้น ต.บ้านฆ้อง, ต.บ้านสิงห์ และ ต.ดอนทราย) และ อ.จอมบึง
  • อันดับ 1 ปารีณา  ไกรคุปต์ พรรคพลังประชารัฐ (47,091 คะแนน) ปี 2566 ส่ง จตุพร  กมลพันธ์ทิพย์ ลงชิงชัย
  • อันดับ 2 ชัยทิพย์  กมลพันธ์ทิพย์ พรรคประชาธิปัตย์ (30,022 คะแนน) ปี 2566  ส่ง อนุคม ศักดิ์อิสระพงศ์ ลงสมัคร (นายชัยทิพย์ฯ ย้ายไปลงเขต 5 ในนามพรรคพลังประชารัฐ)
  • อันดับ 3 วรชาติ  ภูมิอุไร พรรคอนาคตใหม่ (16,709 คะแนน)
  • อันดับ 4 ณัฐทนันต์  นิธิภณยางสง่า พรรคเสรีรวมไทย (2,659 คะแนน) ปี 2566 ลงสมัครพรรคเดิม
  • อันดับ 5 กล้าหาญ เจริญธรรม พรรคภูมิใจไทย (1,481 คะแนน) ปี 2566 ส่ง สีหเดช ไกรคุปต์ ลงสมัคร


เสวนาเขตเลือกตั้งที่ 3**
ในปี 2562 น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ พรรคพลังประชารัฐ มาเป็นอันดับ 1 ชนะ นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ พรรคประชาธิปัตย์ กว่า 17,000 คะแนน 

ในปี 2566 น.ส.ปารีณาฯ ส่ง นายสีหเดช ไกรคุปต์ พี่ชายลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคภูมิใจไทย  ดังนั้นคะแนนที่ น.ส.ปารีณาฯ เคยได้ในปี 2562 จำนวน 47,091 คะแนน น่าจะถูกส่งมอบต่อให้ นายสีหเดชฯ ส่วน นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ (หลานชาย นายชัยทิพย์ฯ) ผู้สมัครใหม่พรรคพลังประชารัฐ ไม่น่าจะได้อานิสงค์อะไร จากคะแนนที่เคยเลือก น.ส.ปารีณาฯ

นายจตุพรฯ พรรคพลังประชารัฐ น่าจะได้คะแนนจาก นายชัยทิพย์ฯ ในปี 2562 ซึ่งเป็นคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 30,022 คะแนนแทน ประกอบกับได้ฐานเสียงของ ส.อบจ.กลุ่มพัฒนาราชบุรี ของนายวิวัฒน์ฯ นายก อบจ.ราชบุรี อีก ก็น่าจะสูสี พอแข่งขันกับ นายสีหเดชฯ พรรคภูมิใจไทย ได้

สุดท้าย นายอนุคม ศักดิ์อิสระพงศ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ (แทนนายชัยทิพย์ฯ) อาจไม่เหลือคะแนนอะไรเป็นฐานเริ่มต้นเลย ส่วนพรรคก้าวไกล ส่ง นายภิญโญศิลป์  สังวาลวงศ์ โดยมีฐานคะแนน ปี 2562 ของพรรคอนาคตใหม่เป็นฐานเริ่มต้นคือ  16,709 คะแนน 

ด้านพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่ง ชญานันท์ จินดาเจี่ย และพรรคเพื่อไทย ส่ง นายธนชัช จังพานิช ลงชิงชัย ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรต่อการแข่งขันในภาพรวม เพราะไม่เคยรากฐานที่วางไว้ในปี 2562

เขตเลือกตั้งที่ 4 ประกอบด้วย อ.บ้านโป่ง
  • อันดับ 1 อัครเดช  วงษ์พิทักษ์โรจน์ พรรคประชาธิปัตย์ (37,423 คะแนน) ปี 2566 ส่ง ธนากร เลี้ยงฤทัย ลงสมัคร (ส่วนนายอัครเดชฯ ย้ายไปลงสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ)
  • อันดับ 2 ชะวรลัทธิ์  ชินธรรมมิตร พรรคพลังประชารัฐ (32,667 คะแนน) ปี 2566 ส่ง วรวัฒน์ น้อยโสภา ลงสมัคร (ส่วน น.ส.ชะวรลัทธิ์ฯ ย้ายไปลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย)
  • อันดับ 3 ภัคศุภางค์  เกียงวรางกูร พรรคอนาคตใหม่ (23,520 คะแนน) 
  • อันดับ 4 ร้อยตรี อ้อย เพชรสน พรรคเสรีรวมไทย (3,008 คะแนน) ปี 2566 ส่ง สุรพงษ์  เอี่ยมเอม ลงสมัคร
  • อันดับ 5 พยงค์ ทองปลาด พรรคเศรษฐกิจใหม่ (1,264 คะแนน) 


เสวนาเขตเลือกตั้งที่ 4**
ปี 2562 คะแนนสูสีกัน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 1 ทิ้ง น.ส.ชะวรลัทธิ์ ชินธรรมมิตร พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 2 ไม่ถึง 5,000 คะแนน 

แต่ในปี 2566 นายอัครเดชฯ ย้ายขั้วไปลงสมัครในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ และ น.ส.ชะวรลัทธิ์ฯ ย้ายขั้วไปลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย คะแนนปี 2562 ของทั้ง 2 คนซึ่งเป็นคะแนนติดตัวน่าจะตามไปที่พรรคใหม่ด้วย ทั้ง 2 คนจึงต้องสู้กันอีกครั้งอย่างถึงพริกถึงขิงเลยทีเดียว ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ กับ พรรคเพื่อไทย (เพราะทั้ง 2 คนเป็น ส.ส.ประเภทดาวฤกษ์ทั้งคู่) 

แต่ก็อย่าประมาทพรรคก้าวไกล เพราะปี 2562 ในนามพรรคอนาคตใหม่ นายภัคศุภางค์  เกียงวรางกูร ได้คะแนนสูงถึง 23,560 คะแนน และในปี 2566 พรรคก้าวไกล ส่งวิชา  อินทร์จันทร์ ลงชิงชัย หากเสียง ส.ส.ดาวฤกษ์ ทั้ง 2 คน ถูกแบ่งไปยัง นายธนากร  เลี้ยงฤทัย ผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคประชาธิปัตย์ และ นายวรวัฒน์  น้อยโสภา จากพรรคพลังประชารัฐ มาช่วยดึงคะแนนไปด้วยแล้ว ประกอบกับพวก First Voter เทคะแนนให้พรรคก้าวไกลอีกด้วย ผู้ชนะในเขตนี้ก็อาจจะเป็นพรรคก้าวไกลครับ

ในเขต 4 นี้ เมื่อปี 2562 นายสุวัฒน์ อภิกันตสิริ ผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 6 (701 คะแนน) ส่วนปี 2566 ส่ง นายยศศักดิ์ ชีววิญญู ลงชิงชัย สำหรับในเขตนี้  พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้คาดหวังอะไรสักเท่าใดนัก

เขตเลือกตั้งที่ 5 ประกอบด้วย อ.ดำเนินสะดวก, อ.บางแพ, อ.โพธาราม (เฉพาะ ต.บ้านฆ้อง, ต.บ้านสิงห์ และ ต.ดอนทราย)
  • อันดับ 1 บุญลือ  ประเสริฐโสภา พรรคภูมิใจไทย (37,425 คะแนน) ปี 2566 ลงสมัครพรรคภูมิใจไทย เหมือนเดิม
  • อันดับ 2 ชัยโรจน์ เอกอัครอัญธรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ (17,897 คะแนน) ปี 2566 ส่ง พลเอกชวลิต สาลีติ๊ด ลงสมัคร 
  • อันดับ 3 อภิญญา  สว่างเมฆ พรรคพลังประชารัฐ (16,183 คะแนน) ปี 2566 ส่ง ชัยทิพย์  กมลพันธ์ทิพย์ ลงสมัคร
  • อันดับ 4 พลกฤต  ชื่อจิตร พรรคอนาคตใหม่ (15,649 คะแนน)
  • อันดับ 5 สมหมาย แท่นทรัพย์ พรรคเสรีรวมไทย (3,614 คะแนน) ปี 2566 ส่ง ณัฐธยาน์ ลิ้มวิลัย ลงสมัคร



เสวนาเขตเลือกตั้งที่ 5**
ในเขตนี้ แชมป์เป็นของ นายบุญลือ  ประเสริฐโสภา พรรคภูมิใจไทย มาโดยตลอด ในปี 2562 ชนะ นายชัยโรจน์ เอกอัครอัญธรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 2 ถึงเกือบ 20,000 คะแนน 

ปีนี้มี นายชัยทิพย์  กมลพันธ์ทิพย์ (อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3) ย้ายมาลงชิงชัยด้วยในนามพรรคพลังประชารัฐ คงน่าจะสนุกแน่ เพราะที่ นายชัยทิพย์ฯ ย้ายข้ามเขตมาเขต 5 คงน่าจะมีดี อีกทั้งยังย้ายพรรคไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ด้วย ซึ่งขั้วนี้ก็จะมี ส.อบจ.กลุ่มพัฒนาราชบุรี ของนายวิวัฒน์ฯ คอยสนับนุนด้วย เห็นว่าจะมีการล้มแชมป์ให้เป็นประวัติศาสตร์กันเลยทีเดียว ฐานเสียงปี 2562 ของพรรคพลังประชารัฐ อยู่ที่ 16,183 คะแนน หากนายชัยทิพย์ฯ หาคะแนนเพิ่มได้อีก 24,000 คะแนน ก็จะได้ประมาณ 40,000 คะแนนเศษ ๆ จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งได้ทันที น่าจับตามอง

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ปี 2562 ได้คะแนน 15,649 คะแนน ปี 2566 ส่ง ธนพจน์  ทรัพย์ยอดแก้ว พรรคก้าวไกล ลงชิงชัย ส่วนพรรคเพื่อไทย ปี 2562 ไม่ได้ส่งใครลง ปี 2566 ส่ง ปวันรัตน์ เอกอัครอัญธรณ์ ลูกสาวชัยโรจน์ เอกอัครอัญธรณ์ อดีตผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ลงชิงชัย

การพยากรณ์ ส.ส.แบบแบ่งเขต
หากพยากรณ์จากข้อมูลสถิติการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 และสภาวะแวดล้อมทางการเมืองในปัจจุบัน  ผู้ที่น่าจะชนะหรือต้องคอยลุ้นกัน ในการเลือกตั้ง ส.ส.ราชบุรี ปี 2566 มีความน่าจะเป็น ดังนี้ (เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน โปรดใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ ไม่ได้ต้องการชี้นำแต่อย่างใด)
  • เขต 1 น.ส.กุลวลี นพอมรบดี พรรครวมไทยสร้างชาติ 
  • เขต 2 นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา พรรคพลังประชารัฐ 
  • เขต 3 นายสีหเดช ไกรคุปต์ พรรคภูมิใจไทย ลุ้นกับ นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ พรรคพลังประชารัฐ
  • เขต 4 น.ส.ชะวรลัทธิ์  ชนธรรมมิตร พรรคเพื่อไทย ลุ้นกับ นายอัครเดช  วงษ์พิทักษ์โรจน์ พรรครวมไทยสร้างชาติ 
  • เขต 5 บุญลือ  ประเสริฐโสภา พรรคภูมิใจไทย ลุ้นกับ ชัยทิพย์  กมลพันธ์ทิพย์ พรรคพลังประชารัฐ
เงินสดซื้อเสียงน่าจะสะพัดถึง 125 ล้านบาท
การเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต คนราชบุรีส่วนใหญ่จะยึดติดที่ตัวบุคคล ไม่ได้คำนึงถึงพรรคที่สังกัดเท่าใด  มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่เลือกด้วยเหตุผล ผู้สมัคร ส.ส.หลายคน แม้จะเป็นดาวฤกษ์ ลงเลือกตั้งทีไรก็นั่งมานอนมา แต่ก็ยังจำเป็นต้องย้ำเตือนความมั่นใจด้วยการแจกเงินซื้อเสียง ไม่มากก็น้อย หากเป็นพื้นที่ที่มีการแช่งขันสูง จะมีการเกทับกันเป็นรอบ ๆ ด้วย การได้รับเงินกลายเป็นความเคยชินของประชาชนในการเลือกตั้งทุกระดับไปแล้ว ถึงแม้จะมีฐานเสียงมากแค่ไหน หากไม่แจก อาจมีโอกาสร่วงได้ทันที 

การเลือกตั้ง ส.ส.ราชบุรี 2566 ในครั้งนี้ น่าจะมีการแจกเงินแบบปกติที่เคยทำกันคือ  หัวละ 300-500 บาท แล้วแต่พื้นที่ หากสมมติว่า เสียงจำนวนเสียงครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งของ จ.ราชบุรี ในปี 2566 จำนวน 250,000 คน ได้รับแจกเงินคนละ 300-500 บาท เงินสดที่สะพัดในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ต้องมีระหว่างถึง 75 - 125 ล้านบาท เลยทีเดียว แต่กลัวว่าบางเขต บางหน่วยเลือกตั้ง อาจจะสูงถึงคนละ 1,000 บาทเลยด้วยซ้ำ

14 พฤษภา จับปากกาหาอนาคตประเทศไทย
ถึงแม้ไม่ได้คนดีที่สุด ก็เลือกคนเลวน้อยที่สุด

***************************
สถาบันราชบุรีศึกษา
19 เม.ย.2566




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น