องค์การสหประชาชาติ (United Nations :UN) ได้ให้นิยาม ผู้สูงอายุ (Older person) หมายถึงประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
- ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
- ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่
ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2544-2643 จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ
จ.ราชบุรี เข้าก่อนกำหนด
สำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปว่า ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในช่วงปี พ.ศ.2567-2568 แต่หากมาแยกย่อยเป็นรายจังหวัดแล้ว จ.ราชบุรี เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ก่อนกำหนด โดย จ.ราชบุรี จะเริ่มในปีหน้านี้ คือ ปี พ.ศ.2565
จำนวนข้อมูล ประชากร จ.ราชบุรี ปี 2563 |
จาก ข้อมูลของศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 7 สาขา จ.ราชบุรี ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ระบุว่า จ.ราชบุรีมีประชากรทั้งสิ้น 873,212 คน หากดูจำนวนประชากร ที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป จะมีจำนวน 168,008 คน คิดเป็นร้อยละ 19.24 (ต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 20 เพียง 0.76)
ขณะที่เกณฑ์ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ คือ ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นในปี พ.ศ.2564 นี้ จ.ราชบุรี ก็จะมีผู้ที่มีอายุ 60 ปี เพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้จำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะผ่านเกณฑ์ร้อยละ 20 ของประชากรของ จ.ราชบุรี ทั้งหมด จึงทำนายได้ว่าปี พ.ศ.2565 เป็นต้นไป จ.ราชบุรีจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
จำนวนประชากร ของ จ.ราชบุรี ในรอบ 10 ปี จะอยู่ระหว่าง 840,000-880,000 บาท อัตราการเกิดและตาย แนวโน้มค่อนข้างสมดุลกัน จึงไม่มีนัยยะสำคัญใดส่งผลให้การทำนายการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ผิดพลาด
การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ดี จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ หรือเป็นภาระของสังคม การแบ่งเกณฑ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย ตามสภาพที่มีอายุมากขึ้น ได้แบ่งช่วงอายุไว้ ดังนี้
- ผู้สุงอายุ (Elderly) คือ อายุ 60-69 ปี
- คนชรา (Old) คือ อายุ 70-79 ปี
- คนชรามาก (Very Old) คือ อายุ 80 ปี ขึ้นไป
กรมสุขภาพจิต (2558 : 15-16) ได้จำแนกกลุ่มผู้สูงอายุตามลักษณะทางสุขภาพและสังคม ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
- กลุ่มติดสังคม หมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างอิสระ สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน และกิจกรรมประจำวันต่อเนื่องได้ เป็นผู้ที่มีสุขภาพทั่วไปดี ไม่มีโรคเรื้อรัง หรือเป็นเพียงผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือเป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 1-2 โรคที่ยังควบคุมโรคได้
- กลุ่มติดบ้าน หมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง หรือต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพียงบางส่วน มีความจำกัดในการดำเนินชีวิตในสังคม และเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังที่ควบคุมไม่ได้ มีภาวะแทรกซ้อนทางด้านร่างกาย หรือทางด้านจิตใจจนส่งผลต่อการรู้คิด การตัดสินใจ การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน
- กลุ่มติดเตียง หมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น ในเรื่องการเคลื่อนย้าย การปฏิบัติกิจวัตรพื้นฐานประจำวันอื่น ๆ มีโรคประจำตัวหลายโรคทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ มีการเจ็บป่วยเรื้อรังมายาวนานและมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่เป็นอยู่
ความสุข 5 มิติ
นอกจากนั้น กรมสุขภาพจิต (2558 : 13) ยังได้กล่าวถึง "ความสุข 5 มิติ" เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ ไว้น่าสนใจ ประกอบด้วย
- สุขสบาย (Health) หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพร่างกายให้มีสมรรถภาพร่างกายที่แข็งแรง คล่องแคล่ว มีกำลัง สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางกายภาพได้ตามสภาพที่เป็นอยู่ มีเศรษฐกิจ หรือปัจจัยที่จำเป็นพอเพียง ไม่มีอุบัติภัยหรืออันตราย มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ ไม่ติดสิ่งเสพติด
- สุขสนุก (Recreation) หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุในการเลือกวิถีชีวิตที่รื่นรมย์ สนุกสนาน ด้วยการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์เป็นสุข จิตใจสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ สามารถลดความซึมเศร้า ความเครียด และความวิตกกังวลได้
- สุขสง่า (Integrity) หมายถึง ความรู้สึกพึงพอใจในชีวิต ความภาคภูมิใจในตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง การยอมรับนับถือตนเอง ให้กำลังใจตนเเองได้ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีลักษณะเอื้อเฟื้อแบ่งปัน และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม
- สุขสว่าง (Cognition) หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุด้านความจำ ความคิดอย่างมีเหตุมีผล การสื่อสาร การวางแผนและการแก้ไขปัญหา ความสามารถในการคิดแบบนามธรรม รวมทั้งความสามารถในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สุขสงบ (Peacefulness) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการรับรู้-เข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักการควบคุมอารมณ์ และสามารถจัดการกับสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผ่อนคลายให้เกิดความสุขสงบกับตนเองได้ รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
ในโอกาสที่ จ.ราชบุรี จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี พ.ศ.2565 จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องจัดเตรียมวางแผนและจัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแลผู้สูงอายุของ จ.ราชบุรี ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามแนวคิดของความสุข 5 มิติ ที่กล่าวมา
**********************************
ชาติชาย คเชนชล : 1 ก.ค.2564
อ้างอิง
สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต. (2558). คู่มือความสุข 5 มิติสำหรับผู้สูงอายุ (ฉบับปรับปรุง) . กรมสุขภาพจิต : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น