หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

UPDATE จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีน ณ 12 ก.ค.2564

รัฐบาลเพิ่งฉีดวัคซีนได้ ร้อยละ 6.6 ของเป้าหมาย หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ รัฐบาลจะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ได้อย่างน้อยวันละ 237,653 โดส โดยตัวเลขนี้ต้องทำการฉีดทุกวันต่อเนื่องไม่มีวันหยุด ทำอย่างนี้ ถึงจะบรรลุเป้าหมายตามที่รัฐบาลวางแผนไว้


กระทรวงสาธารณสุข ได้ UPDATE ข้อมูล จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 - 12 ก.ค.2564 ดังนี้


  • เข็มที่ 1 จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด 9,598,949 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อ  AstraZeneca ร้อยละ 57.27  รองลงมายี่ห้อ Sinovac ร้อยละ  40.02 ที่เหลือเป็น Sinopharm ร้อยละ 2.71 
  • เข็มที่ 2 จำนวนที่ได้รับฉีดครบตามเกณฑ์  3,309,244 ราย  โดยส่วนใหญ่ใช้วัคซีนยี่ห้อ Sinovac ร้อยละ  98.01  รองลงมา ยี่ห้อ AstraZeneca ร้อยละ 1.96  ที่เหลือเป็น Sinopharm ร้อยละ  0.03
  • รวมฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 12,908,193 โดส 


รัฐบาลเพิ่งฉีดวัคซีนได้ ร้อยละ  6.6 ของเป้าหมาย
รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะฉีดวัคซีนให้คนไทยภายในสิ้นปี 2564 ให้ได้ 50,0000,000 คน ข้อมูลเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2564  ระบุจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วจำนวน 9,598,949 คน (ร้อยละ 19.2) และเข็มที่ 2 จำนวน  3,303,244 คน (ร้อยละ 6.6) แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆได้ดังนี้
  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป้าหมาย 712,000 คน  
    • เข็มที่ 1 - 783,900 คน (110.1% - เกินเป้า)  
    • เข็มที่ 2 - 690,814 ( 97%) 
  • เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เป้าหมาย 1,900,000 คน 
    • เข็มที่ 1 - 739,560 คน (38.9%)  
    • เข็มที่ 2 - 462,019  ( 24.3%) 
  • อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป้าหมาย 1,000,000 คน  
    • เข็มที่ 1 - 371,941 คน (37.2%)  
    • เข็มที่ 2 - 189,096 (18.9%) 
  • กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เป้าหมาย 5,350,000 คน
    • เข็มที่ 1 - 1,004,573 คน (18.8%)  
    • เข็มที่ 2 - 209,317 ( 3.9%) 
  • ประชาชนทั่วไป เป้าหมาย 28,538,000 คน
    • เข็มที่ 1 - 4,743,287 คน (16.6%)  
    • เข็มที่ 2 - 1,629,174 ( 5.7%) 
  • ผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เป้าหมาย 12,500,000 คน 
    • เข็มที่ 1 - 1,955,688 คน (15.6%)  
    • เข็มที่ 2 - 128,824 คน ( 1%) 


หากมองในภาพรวมจากเป้าหมาย 50,000,000 คน รัฐบาลเพิ่งฉีดเข็มที่ 1 ได้จำนวน  9,598,949 คน (คิดเป็น 19.2% ) และเข็มที่ 2 ครบตามเกณฑ์จำนวน  3,309,244 คน (คิดเป็น 6.6%) 

หากคิดเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ได้ 50,000,000 คนในสิ้นปี 2564 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ลองนับจากวันที่ 13 ก.ค.2564 ไปจนถึง 31 ธ.ค.2564  จะเหลือเวลาอีกจำนวน 170 วัน กับยอดเป้าหมายที่เหลืออีก 40,401,051 คน (50,000,000-9,598,949)  ดังนั้น รัฐบาลจะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ได้อย่างน้อยวันละ 237,653 โดส โดยตัวเลขนี้ต้องทำการฉีดทุกวันต่อเนื่องไม่มีวันหยุด

จำนวนการฉีดวัคซีนแต่ละจังหวัด
เป้าหมายฉีดวัคซีนจำนวน 50 ล้านคน แยกเป็น 6 กลุ่มย่อยของรัฐบาลนั้น ตัวเลขน่าจะมีรากฐานจากแต่ละจังหวัดส่งจำนวนมา แล้วกระทรวงสาธารณสุขจึงนำมารวมกัน  ผมพยายามค้นหาข้อมูลจำนวนเป้าหมายของแต่ละจังหวัดที่ส่งมาไม่พบข้อมูลที่เปิดเผย พบแต่การรายงานผลว่า ในแต่ละจังหวัดได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนเท่าใดแล้ว ซึ่งมันทำให้ไม่สามารถทราบสถานะที่จะถึงเป้าหมายของแต่ละจังหวัดได้  จังหวัดที่ได้รับการฉีดวัคซีน คิดตามสัดส่วนประชากร มากที่สุด 10 อันดับ ตั้งแต่ 28 ก.พ.-12 ก.ค.2564 โดยเรียงเฉพาะการฉีดเข็มที่ 1 จากมากไปหาน้อยสรุปได้ ดังนี้ (กรมควบคุมโรค. 2564 : ออนไลน์)
  • อันดับที่ 1  จ.ภูเก็ต เข็มที่  1 ร้อยละ 71.7 
  • อันดับที่ 2  กรุงเทพมหานคร เข็มที่ 1 ร้อยละ 42.4 
  • อันดับที่ 3  จ.ระนอง เข็มที่ 1 ร้อยละ 30
  • อันดับที่ 4  จ.พังงา เข็มที่ 1 ร้อยละ 26.7
  • อันดับที่ 5  จ.สมุทรสาคร เข็มที่ 1 ร้อยละ 23.8
  • อันดับที่ 6  จ.นนทบุรี เข็มที่ 1 ร้อยละ 23.6
  • อันดับที่ 7  จ.สมุทรปราการ เข็มที่ 1 ร้อยละ 23.0
  • อันดับที่ 8 จ.ฉะเชิงเทรา เข็มที่ 1 ร้อยละ 17.6
  • อันดับที่ 9 จ.ตาก เข็มที่ 1 ร้อยละ 16.3
  • อันดับ 10  จ.เพชรบุรี เข็มที่ 1 ร้อยละ 16.1 
จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนของ จ.ราชบุรี 
ไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าเป้าหมายจำนวน 50 ล้านคนของรัฐบาลแบ่งเป็น คนใน จ.ราชบุรี กี่คน และในแต่ละกลุ่มเป้าหมายทั้ง 6 กลุ่มย่อยของ จ.ราชบุรี นั้น มีจำนวนกี่คน  ผมพยายามค้นหาข้อมูลดังกล่าวแต่หาไม่พบ คงมีแต่การรายงานจำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนของ จ.ราชบุรี ในภาพรวมเท่านั้น จ.ราชบุรี มีประชากรจำนวน 918,674 คน จำนวนคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ.-12 ก.ค.2564  มีดังนี้ 
  • เข็มที่ 1 จำนวน 56,043 คน คิดเป็นร้อยละ 6.1 ของประชากร
  • เข็มที่ 2 จำนวน 17,116 คน คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของประชากร
ข้อมูลผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนของ จ.ราชบุรี จำนวน 56,043 คนนั้น แยกเป็นกลุ่มใดบ้าง กลุ่มละกี่คน ไม่สามารถหาได้ ซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดราชบุรี คงจะมีข้อมูล แต่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยให้ประชาชนชาวราชบุรีทราบเป็นสาธารณะ ซึ่งไม่ทราบสาเหตุว่าเพราะอะไร เพราะข้อมูลเหล่านี้ มิใช่ความลับใด ๆ แม้กระทรวงสาธารณสุขยังสามารถเปิดเผยได้ในภาพรวม

ปัญหาการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล
ในประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 เรื่อง การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน ทางสถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) (2564 : ออนไลน์) ระบุว่า การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลมีปัญหาหลายประการ คือ 
  1. รัฐบาลมีความเชื่อมั่นที่สูงเกินไปว่า จะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในระดับต่ำได้ตลอดไป ทำให้ล่าช้าในการจัดหาวัคซีนและจัดหามาในปริมาณที่น้อยเกินไป
  2. รัฐบาลมีแนวทางในการจัดหาวัคซีนตามแนวคิดทางสาธารณสุขเป็นหลัก ในลักษณะตั้งเป้าการฉีดวัคซีนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ในขณะที่การวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ในทางเศรษฐกิจพบว่า ต้นทุนในการจัดหาวัคซีนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่ประเทศเปิดรับการท่องเที่ยวได้ล่าช้า กล่าวคือ หากประเทศไทยสามารถเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวได้เร็วขึ้นอีกเพียง 1-2 เดือน ก็จะคุ้มค่ากับต้นทุนในการจัดหาวัคซีนทั้งหมดแล้ว
  3. การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลสะท้อนถึงการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาด โดยการพึ่งพาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก และการเลือกวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนเสริมโดยไม่หาทางเลือกอื่นตั้งแต่ต้น รวมทั้งการตัดสินใจไม่เข้าร่วมในโครงการ Covax ที่แม้อาจจะได้วัคซีนมาไม่มาก แต่ก็น่าจะช่วยให้ได้วัคซีนเพิ่มเติมมาก่อนบางส่วน การตัดสินใจทางนโยบายดังกล่าวจึงมีปัญหามาก เพราะเป็นการบริหารความเสี่ยง (risk management) โดยไม่มีการกระจายความเสี่ยง (diversification) อย่างเพียงพอ
  4. วัคซีนเสริมที่รัฐบาลเลือกใช้ คือ วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลไม่สูงในการสร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ จึงไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อป้องกันการติดเชื้อในวงกว้างให้แก่ประชาชนไทยได้ แม้จะสามารถฉีดให้ประชาชนครบทุกคน แม้ว่าการจัดหาวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนสำรองในช่วงต้นปี 2564 มีความสมเหตุสมผลเนื่องจากวัคซีนดังกล่าวสามารถบรรเทาอาการป่วยที่รุนแรงและลดการสูญเสียชีวิต ในช่วงที่ยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนอื่นได้ แต่การสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงช่วงที่สามารถสั่งซื้อวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิผลมากกว่าแล้ว น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และนำไปสู่ข้อสงสัยของสังคมต่อกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐบาลและการให้คำแนะนำของที่ปรึกษาบางคนว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
  5. การให้ข่าวจำนวนการรับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศของรัฐบาล น่าจะไม่ตรงกับเงื่อนไขตามสัญญาที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลและบริษัท โดยรัฐบาลได้ให้ข่าวมาตลอดว่าจะได้รับมอบวัคซีนในเดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนกันยายนเดือนละประมาณ 10 ล้านโดส แต่ภายหลังกลับแจ้งว่าจะได้รับมอบตามสัญญาเพียงเดือนละ 5 ล้านโดสเท่านั้น ทั้งที่รัฐบาลพึงรู้ได้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเงื่อนไขตามสัญญาเป็นอย่างไร คำถามที่ตามมาก็คือ การสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวในวงกว้างทำให้การตั้งเป้าหมายในการจัดหาและกระจายวัคซีนของรัฐบาลเองผิดพลาดไปด้วยหรือไม่
50 ล้านคน เป็นเป้าหมายการฉีดวัคซีนของรัฐบาล แต่ตัวเลขที่เป็นเป้าหมายการฉีดวัคซีนของแต่ละจังหวัด ไม่มีการแจกแจงให้เห็น แผนการแจกจ่ายวัคซีนและแผนการฉีดวัคซีนของแต่ละจังหวัด จึงเลื่อนลอย ประชาชนไร้ซึ่งข้อมูลที่แท้จริง 

**************************************
จุฑาคเชน : 15 ก.ค.2564

ที่มาข้อมูล
  • สถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2564) . ประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2: การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน. [Online]. Available : https://tdri.or.th/2021/07/report-2years-prayut-cabinet2/ [2564. กรกฎาคม 15].
  • กรมควบคุมโรค. (2564). รายงานความก้าวหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19. [Online]. Available : https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/pages/รายงานความก้าวหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 [2564. กรกฎาคม 15].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น