วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ราชบุรีตกขบวน กว่าจะเปิดการท่องเที่ยวได้ก็ปีหน้า

เราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น "ศูนย์" จึงค่อยเปิดเศรษฐกิจ เราควรอยู่กับมันให้ได้ โดยป้องกันความเสี่ยงให้มากที่สุด หากพลาดพลั้งติดเชื้อไป ก็สามารถรักษาให้หายได้

ตามคำสั่ง จ.ราชบุรี ที่ 3923/2564 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 30 ก.ย.2564 ในข้อ 6 เรื่อง การเตรียมการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดย จ.ราชบุรี สั่งการดังนี้

"ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศ ตามแผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการระยะนำร่องแล้วในบางพื้นที่ และจะดำเนินการต่อเนื่องในอนาคต"

ถือเป็นนิมิตหมายทีดี ที่ ผวจ.ราชบุรี ได้เปิดไฟเขียวให้เตรียมการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวภายในจังหวัดได้  เราคงไม่สามารถรอให้จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์เสียก่อน ถึงจะเปิดจังหวัดได้ การเตรียมการเลือกพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ที่ผมเคยเสนอมาโดยตลอด คือ พื้นที่ อ.สวนผึ้ง แต่อาจไม่มีผู้ใดให้ความสนใจ  

วันนี้ ผมจำจึงอยากจะเสนออีกครั้งผ่านไปยัง "ภาคเอกชนและบุคคลที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวใน อ.สวนผึ้ง"  ให้ช่วยรวมพลังเสนอมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ในการเสนอ อ.สวนผึ้ง เป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี (หรืออาจจะพื้นที่อื่น ๆ ก็ได้) ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงมหาดไทย กำหนด เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ราชบุรี ผ่านไปยังศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปค.ศบค.) เพื่อเสนอ ศบค. พิจารณาอนุมัติต่อไป

อ.สวนผึ้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีชื่อเสียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีโรงแรม รีสอร์ท บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวพร้อมมูล มีเส้นทางเข้า-ออก พื้นที่ทางเดียวควบคุมได้ง่าย ด้านหลังติดแนวชายแดน เหมาะสมที่จะนำร่องเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี อัตราการติดเชื้อของประชากรร้อยละ 1.02 ซึ่งน้อยที่สุด ใน จ.ราชบุรี ส่วนอัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เฉพาะประชากรใน อ.สวนผึ้ง นั้นไม่สามารถหาข้อมูลได้ เพราะทางราชการไม่ได้เปิดเผยให้ทราบ

ราชบุรีตกขบวน
รัฐบาลเปลี่ยนแผนการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวหลายครั้งจนค่อนข้างสับสัน ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนวางแผนไม่ถูก  จนล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวภายหลังการ ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ถึงหลักเกณฑ์พิจารณาการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และแผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดยระบุว่า มีหลายจังหวัดสามารถดำเนินกิจการ-กิจกรรมได้มากขึ้นกว่าระดับสีพื้นที่ โดยเจาะจงเฉพาะบางอำเภอ จึงขอให้กำหนดเป็น "พื้นที่สีฟ้า" ซึ่งเป็นพื้นที่สามารถดำเนินกิจการ-กิจกรรมได้เหมือน "พื้นที่สีเขียว" ไม่จำกัดการเดินทาง เปิดกิจการ-กิจกรรม ได้ตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด โดยให้อยู่ในการควบคุมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยจังหวัดที่มีการกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวแต่ละระยะ มีดังต่อไปนี้ (กรุงเทพธุกิจ : ออนไลน์)

ระยะนำร่อง (1 – 31 ต.ค. 64) พื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) จ.พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) จ.กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก) เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ คือ เป็นเมืองหลัก หรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

ระยะที่ 1 (1 – 30 พ.ย. 64) พื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.กระบี่ จ.พังงา (ทั้งจังหวัด) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) จ.เพชรบุรี (ชะอำ) จ.ชลบุรี (พัทยา บางละมุง จอมเทียน บางเสร่) จ.ระนอง (เกาะพยาม) จ.เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) จ.เลย (เชียงคาน) และ จ.บุรีรัมย์ (เมือง) หลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

ระยะที่ 2 (1 – 31 ธ.ค. 64) พื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส  หลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

ระยะที่ 3 (วันที่ 1 ม.ค. 65) เป็นต้นไป พื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล หลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

จ.ราชบุรี อย่าตกขบวนอีก
รัฐบาลเคยมีแผนจะเปิดในการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ในช่วงกลางเดือน ต.ค.2564 ที่จะถึงนี้ แต่ในแผนใหม่ จ.ราชบุรีถูกเลื่อนไปเปิดถึงปีหน้า ไม่ทราบว่าเพราะสาเหตุใด  หรือเป็นเพราะว่า จ.ราชบุรี มักทำงานเชิงตั้งรับมากกว่าทำงานเชิงรุก อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ยังมีเวลาเตรียมตัวอีก 3 เดือน ต.ค.-ธ.ค.2564 หวังว่าคงจะไม่ตกขบวนอีกครั้งเป็นแน่

บทความที่เกี่ยวข้อง
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์ 
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
4 ต.ค.2564

อ้างอิง
  • กรุงเทพธุรกิจ. (2564). ศบค. กางแผน "พื้นที่นำร่อง" ท่องเที่ยว 1 พ.ย. นี้ เปิด 10 จังหวัด. สืบค้นเมื่อ 1 ต.ค.2564 เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/962398

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม