วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ถึงเวลาทบทวนคำขวัญของ จ.ราชบุรี แล้วหรือยัง?

คำขวัญประจำจังหวัด เป็นคำขวัญที่แต่ละจังหวัดในประเทศไทยแต่งขึ้น เพื่อบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ความภาคภูมิใจ และความโดดเด่นที่มีอยู่ในจังหวัดของตัวเอง มักเป็นถ้อยคำคล้องจองสั้น ๆ  เพื่อให้จดจำง่าย แต่งขึ้นเพื่อเตือนใจ สะกิดใจ และให้ระลึกได้ 

ความเป็นมา
ในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม  ติณสูลานนท์ ได้ประกาศให้ "ปี พ.ศ. 2530 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย"  โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2531 จึงได้ริเริ่มให้มีคำขวัญประจำจังหวัดขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางไปท่องเที่ยว ได้มีความรู้ความเข้าใจในจังหวัดนั้น ๆ รัฐบาลจึงกำหนดให้ทุกจังหวัดคิดค้นคำขวัญประจำจังหวัดของตนขึ้น โดยมุ่งให้มีสาระเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ  ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนได้นำคำขวัญไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป

ปัจจุบันนอกจากจะมีคำขวัญประจำจังหวัด ยังมีการจัดทำคำขวัญประจำอำเภอ ประจำตำบล ประจำหมู่บ้าน อีกด้วย ทั้งนี้แต่ละคำขวัญในทุกระดับยังคงมีวัตถุประสงค์หลักเดียวกัน คือ เพื่อการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ



คำขวัญต่าง ๆ ในราชบุรี
ลองมาดูคำขวัญต่าง ๆ  ใน จ.ราชบุรี ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปถึงระดับอำเภอ ทั้ง 10 อำเภอ อาจจะทำหลายคนให้เห็นความหลากหลายของคำขวัญพอสมควร ดังนี้

คำขวัญจังหวัดราชบุรี
คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี

คำขวัญ อ.เมือง
เมืองเกษตรกรรม พิพิธภัณฑ์ล้ำค่า เขาแก่นจันทน์เด่นสง่า ตระการตาผ้าทอมือ เลื่องลือแหล่งอารยธรรม

คำขวัญ อ.บ้านโป่ง
เมืองคนงาม สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ย่านการค้าอุตสาหกรรม

คำขวัญ อ.ดำเนินสะดวก
เมืองสองฝั่งคลองประวัติศาสตร์ เสด็จประพาสต้น ร.5 เลื่องลือชาองุ่นหวาน ชาวบ้านน้ำใจงาม ล้นหลามผัก ผลไม้รายได้หลัก เรารักตลาดน้ำดำเนิน

คำขวัญ อ.บางแพ
เป็ดพะโล้ระบือนาม กุ้งก้ามกรามชื่อนิยม อีกโคนมพันธุ์ดี ประเพณีไทยทรงดำ แหล่งเพาะชำไม้ดอก สินค้าออกเห็ดนานาพันธุ์

คำขวัญ อ.โพธาราม
คนสวยโพธาราม แหล่งฟาร์มสุกร  หนังใหญ่วัดขนอน ที่นอนล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดโคนม ชมค้างคาวร้อยล้าน

คำขวัญ อ.วัดเพลง 
ถิ่นเพลงปรบไก่ แควอ้อมใสไหลผ่าน ย่านผลไม้รสดี มากมีขนมโบราณ นมัสการเจ้าพ่อหลักหิน งามศิลป์โบสถ์ร้อยปี

คำขวัญ อ.ปากท่อ
เพลงเขมรปากท่อ เหล่ากอไทยทรงดำ วัฒนธรรมกะเหรี่ยง เสียงน้ำตกไทยประจัน แหล่งพันธุ์ไม้ผล ถิ่นคนน้ำใจงาม มากฟาร์มสุกร พระนอนเขาถ้ำทะลุ

คำขวัญ อ.จอมบึง
บูชา ร.5 ตรึงตาถ้ำจอมพล เที่ยวชมบึงใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพัฒนาท้องถิ่น งามผ้าซิ่นตีนจก

คำขวัญ อ.สวนผึ้ง
สาวกะเหรี่ยงเคียงถิ่นตะนาวศรี ลำภาชีแก่งส้มแมวแนวหินผา ธารน้ำร้อนบ่อคลึงตรึงติดตา น้ำผึ้งป่าหวานซึ้งติดตรึงใจ

คำขวัญ อ.บ้านคา
สับปะรดหวานฉ่ำ งามล้ำตะนาวศรี มากมีแร่ธาตุ กราบอัฐิหลวงปู่เทสก์ แดนนิเวศน์เชิงคีรี ถิ่นคนดีชายแดน

ถึงเวลาทบทวนคำขวัญหรือยัง? 
จังหวัดราชบุรี ใช้คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรี มาตั้งแต่ พ.ศ.2530  จนปัจจุบันเป็นระยะเวลา 34 ปีแล้ว  ท่ามกลางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของจังหวัดที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรีที่ใช้อยู่เดิมบางคำไม่สอดคล้องกับศักยภาพปัจจุบันของจังหวัด และไม่สื่อให้เห็นถึงความเป็นจังหวัดราชบุรีที่ชัดเจน 

คำขวัญที่ดี  ควรสามารถแสดงความเป็นเจ้าของ  ต้องบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ความภาคภูมิใจ และความโดดเด่นของจังหวัด  สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านเศรษฐกิจ และเป็นข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ อย่างเป็นรูปธรรม คำขวัญของจังหวัดราชบุรี และคำขวัญประจำอำเภอทั้ง 10 อำเภอ พอจะแยกแยะแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ ดังนี้
  1. กลุ่มประเพณี ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ได้แก่ วัดขนอนหนังใหญ่ (จ.ราชบุรี) ประเพณีไทยทรงดำ (อ.บางแพ) หนังใหญ่วัดขนอน (อ.โพธาราม) ถิ่นเพลงปรบไก่ นมัสการเจ้าพ่อหลักหิน  งามศิลป์โบสถ์ร้อยปี (อ.วัดเพลง) เพลงเขมรปากท่อ เหล่ากอไทยทรงดำ  วัฒนธรรมกะเหรี่ยง พระนอนเขาถ้ำทะลุ (อ.ปากท่อ) สาวกะเหรี่ยงเคียงถิ่นตะนาวศรี (อ.สวนผึ้ง) กราบอัฐิหลวงปู่เทสก์ (อ.บ้านคา) 
  2. กลุ่มสินค้า และการเกษตร ได้แก่ เมืองโอ่งมังกร  ตลาดน้ำดำเนิน (จ.ราชบุรี) เมืองเกษตรกรรม ตระการตาผ้าทอมือ (อ.เมือง) ย่านการค้าอุตสาหกรรม (อ.บ้านโป่ง) เลืองลือชาองุ่นหวาน ล้นหลามผัก ผลไม้รายได้หลัก (อ.ดำเนิน) เป็ดพะโล้ระบือนาม กุ้งก้ามกรามชื่อนิยม อีกโคนมพันธุ์ดี แหล่งเพราะชำไม้ดอก สินค้าออกเห็ดนานาพันธุ์ (อ.บางแพ) แหล่งฟาร์มสุกร ที่นอนล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดโคนม (อ.โพธาราม) ย่านผลไม้รสดี มากมีขนมโบราณ (อ.วัดเพลง) แหล่งพันธุ์ผลไม้ มากฟาร์มสุกร  (อ.ปากท่อ) งามผ้าซิ่นตีนจก (อ.จอมบึง) น้ำผึ้งป่าหวานซึ้งติดตรึงใจ (อ.สวนผึ้ง) สับปะรดหวานฉ่ำ มากมีแร่ธาตุ  (อ.บ้านคา) 
  3. กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้แก่ ตื่นใจถ้ำงาม เพลินค้างคาวร้อยล้าน (จ.ราชบุรี) เขาแก่นจันทน์เด่นสง่า (อ.เมือง) ชมค้างคาวร้อยล้าน (อ.โพธาราม) แควอ้อมใสไหลผ่าน (อ.วัดเพลง) เสียงน้ำตกไทยประจัน (อ.ปากท่อ) ตรึงตราถ้ำจอมพล (อ.จอมบึง) ลำภาชีแก่งส้มแมวแนวหินผา ธารน้ำร้อนบ่อคลึงตรึงติดตา  (อ.สวนผึ้ง)  งามล้ำตะนาวศรี แดนนิเวศน์เชิงคีรี (อ.บ้านคา) 
  4. กลุ่มประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ล้ำค้า (อ.เมือง) สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน (อ.บ้านโป่ง) เมืองสองฝั่งคลองประวัติศาสตร์ เสด็จประพาสต้น ร.5 (อ.ดำเนิน) บูชา ร.5 (อ.จอมบึง)
  5. กลุ่มที่เป็นนามธรรม ไม่สามารถจับต้องได้ เสี่ยงต่อความขัดแย้งกับข้อเท็จจริง  เช่น ย่านยี่สกปลาดี  คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง (จ.ราชบุรี)  เลื่องลือแหล่งอารยธรรม (อ.เมือง) เมืองคนงาม (อ.บ้านโป่ง)  ชาวบ้านน้ำใจงาม เรารักตลาดน้ำดำเนิน (อ.ดำเนิน)  ถิ่นคนน้ำใจงาม (อ.ปากท่อ) เที่ยวชมบึงใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพัฒนาท้องถิ่น (อ.จอมบึง)  ถิ่นคนดีชายแดน (อ.บ้านคา)
คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรี  ควรมีลักษณะที่แสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ ความเป็นเจ้าของ และมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จับต้องได้จริง เป็นเป้าหมายในการพัฒนาของทุกภาคส่วนไปให้สู่จุดนั้น  ในปัจจุบันมีคำหลายคำ ที่ควรถูกบรรจุไว้ในคำขวัญของจังหวัดราชบุรีเสียใหม่ เช่น คำว่า  แปดชาติพันธุ์ (ทั้งจังหวัด)   หัวไชโป้ว (โพธาราม)  เทือกเขาตะนาวศรี ไอหนาว หมอกขาว ป่าเขียว (อ.บ้านคา, อ.สวนผึ้ง)  วิถีชีวิตและวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลอง (บ้านโป่ง, โพธาราม, อ.เมือง , อ.วัดเพลง)   อู่ต่อรถบัส รถบรรทุก (บ้านโป่ง) เป็นต้น 

การทบทวนคำขวัญของจังหวัดนั้น สามารถทำได้ ดังที่หลายจังหวัด เช่น พัทลุง ประจวบคิรีขันธ์ ได้ทำมาแล้ว โดยจัดตั้งในรูปแบบของ "คณะกรรมการทบทวนและปรับปรุงคำขวัญของจังหวัดราชบุรี" โดยเชิญผู้แทนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกรรมการ และเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประกวดคำขวัญ  

คำขวัญใหม่ของจังหวัดราชบุรี ควรเป็นคำขวัญที่ใช้สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว และส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาได้อย่างแท้จริง และให้มันมีมูลค่าเพิ่มในตัวของมันเอง

หากคุณไม่เปลี่ยนเสียตั้งแต่บัดนี้
สุดท้าย โลกจะบีบบังคับให้คุณต้องเปลี่ยนตัวเองในที่สุด

****************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
17 พ.ย.2564

1 ความคิดเห็น:

  1. ใครที่คิดว่าคำขวัญที่ใช้อยู่ ไม่ดีไม่เหมาะสม ก็ควรจะบอกเหตุผลว่าไม่ดีไม่เหมาะสม อย่างไร?
    .. รวมทั้งควรเสนอคำขวัญอันใหม่ ที่คิดว่า ดีกว่าอันเก่า ด้วย นะครับ..อันนี้เป็นหลักการเบื้องต้นของการโต้วาที ครับ

    ตอบลบ

บทความที่ได้รับความนิยม