ไม่คาดคิดเลยว่าความสัมพันธ์ระหว่าง โรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี กับ มูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี ที่ผูกพันธ์กันมายาวนานถึง 76 ปี จะขาดสะบั้นลงในยุคนี้ เพียงเพราะผลประโยชน์ ความอยากมี อยากเป็น ผสมกับ ความไม่รู้เรื่อง และไร้ความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองในยุคปัจจุบัน
เนื้อหา
- ก่อตั้งศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี
- กฏเสนาบดี พ.ศ.2463
- การถอดถอนผู้จัดการปกครองศาลเจ้า
- พ.ศ.2489 ก่อตั้งมูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี
- แววความขัดแย้งเริ่มปรากฏ
- ลุแก่อำนาจ ร้องขอเป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า
- ศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง
- ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ด้วยกฎหมาย
- มูลนิธิฯ ถูกฟ้องขับไล่
- การรวมตัวของเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ
- ยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการกฏหมาย ฯ
- แก้ต่างแทนผู้ว่า ฯ
- เหลือผู้จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี คนเดียว
- ทำถูกกฎหมาย แต่ผิดมารยาท
ก่อตั้งศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี
พ.ศ.2414 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้สร้างวัดศรีสุริยวงศ์ ขึ้นทางด้านทิศตะวันออกของศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรี พร้อมกับอนุญาตให้นายอากรซือ สร้างตึกทำเป็นศาลเจ้าขึ้นหลังหนึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือติดกับศาลารัฐบาลมณฑลราชบุรี ซึ่งก็คือ "ศาลเจ้าพ่อกวนอู" ในปัจจุบัน และต่อมาก็ได้มีการจัดตั้ง โรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามความเชื่อของคนจีนในยุคนั้น
กฏเสนาบดี พ.ศ.2463
กฏเสนาบดี ว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ.2463 (เป็นกฏที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 123) มีสาระสำคัญ ในข้อ 11 สรุปได้ว่า
"ให้มีผู้จัดการปกครองและผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้า ขึ้น โดยผู้ที่ต้องการจะเป็น ให้ยื่นเรื่องราวพร้อมเหตุผลประกอบ พร้อมคุณสมบัติ 5 ข้อตามที่กำหนด ต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ออกใบอนุญาตแต่งตั้งให้"
- ผู้จัดการปกครองศาลเจ้า มีอำนาจและหน้าที่จัดการทั่วไป ในกิจการทั่วไปเพื่อประโยชน์แก่ศาลเจ้าโดยฐานะและกาละอันสมควร และมีอำนาจหน้าที่เข้าเป็นโจทก์ หรือจำเลยในอรรถคดีทั้งแพ่งและอาญา อันเกี่ยวด้วยเรื่องศาลเจ้าทุกประการ
- ผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้า มีอำนาจและหน้าที่ตรวจตรากิจการ อันเกี่ยวเนื่องด้วยศาลเจ้าทุกประการ ตลอดถึงสรรพทะเบียนบัญชีทั้งปวงอันเนื่องด้วยกิจการหรือผลประโยชน์สำหรับศาลเจ้าครอบงำเหนือผู้จัดการปกครองศาลเจ้านั้น
สาระสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาในขณะนี้ คือ กฏเสนาบดี ดังกล่าวระบุว่า "ในศาลเจ้าแห่งใดหรือหลายศาลเจ้ารวมกัน จะจัดให้มี ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าและผู้ตรวจตราสอดส่องศาล มากน้อยเพียงใดก็ได้"
ในปี พ.ศ.2547 นายสงวนชัย ตันเวทยานนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี และ นายณรงค์ ศรีกาญจนเพริศ เป็น ผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี ดำรงตำแหน่งเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน (ใบอนุญาตตั้งเลขทะเบียนที่ 130/2547 ลง 13 ต.ค.2547)
การถอดถอนผู้จัดการปกครองศาลเจ้า
ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจถอดถอนผู้จัดการปกครองศาลเจ้าได้ ก็ต่อเมื่อ
- ผู้นั้นขาดองค์คุณสมบัติ 5 ข้อตามที่กำหนด
- ประพฤติการทุจริตต่อหน้าที่หรือขัดขืน ไม่แจ้งให้ทางการทราบในเรื่อง
- ถ้าเมื่อใดมีอรรถคดีพิพาทด้วยเรื่องศาลเจ้า จะเริ่มเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วก็ดี ให้ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าเจ้งเหตุการณ์ให้อธิบดีกรมพระนครบาล หรือนครบาลจังหวัดทราบทุกครั้ง
- เมื่อใดมีความปรากฎขึ้นชัดเจน หรือสงสัยว่ามีการสมคบกันเป็นอั้งยี่ หรือซ่องโจรผู้ร้าย หรือสมคบกันเล่นการพนันที่กฎหมายห้ามในศาลเจ้า หรือในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในบริเวณศาลเจ้าใด ให้ผู้จัดการปกครองหรือผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้านั้น รายงานเหตุการณ์ต่อนายอำเภอผู้ปกครองท้องที่โดยละเอียด
พ.ศ.2489 ก่อตั้งมูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี
ในช่วงระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จ.ราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในหลายด้าน กลุ่มคณะผู้บริหารโรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว และกลุ่มพ่อค้าประชาชนในเขต อ.เมืองราชบุรี ที่มีใจเมตตากรุณา ได้มีมติร่วมกันเริ่มดำเนินกิจกรรมด้านสังคมสงเคราะห์ให้แก่ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ในยามประสบภัยพิบัติ ขาดแคลนอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เจ็บป่วย หรือถึงแก่กรรม ซึ่งต่อมามีผู้คนร่วมบริจาคเงินและร่วมทำกิจกรรมมากขึ้น ในต้นปี พ.ศ. 2489 นายวัฒนพงศ์ อุดมศิริ (ผู้ใหญ่ไต้เต็ก) คหบดีจังหวัดราชบุรี และกลุ่มพ่อค้าประชาชนใน จ.ราชบุรี จึงได้ร่วมกันก่อตั้ง "มูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี" ขึ้นเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำนิติกรรมต่าง ๆ ได้ มีความโปร่งใสในด้านการเงิน บัญชี และทรัพย์สิน โดยมีรายนามประธานกรรมการมูลนิธิฯ ดำรงตำแหน่งสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
- นายวัฒนพงศ์ อุดมศิริ (ผู้ใหญ่ไต้เต็ก) (พ.ศ.2489-2517)
- นายเลี้ยง แซ่ตั้ง (เจ้าของร้านศรีภัณฑ์) (พ.ศ. 2517-พ.ศ. 2536)
- นายสงวนชัย ตันเวทยานนท์ (พ.ศ. 2537-พ.ศ.2565)
- นายชัยยงค์ นันทชัยพร (พ.ศ.2565-ปัจจุบัน)
มูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ ทั้งจากทางราชการและประชาชนในการบำเพ็ญกิจกรรมสาธาราณกุศลตลอดมาเป็นเวลาอันยาวนาน
แววความขัดแย้งเริ่มปรากฏ
ปี พ.ศ.2562 นายนพสิทธิ์ เห็นธนทรัพย์ ประธานกรรมการโรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ได้ทุจริตยักยอกเงินของโรงเจไปใช้ส่วนตัวและได้หลบหนีไป เป็นเหตุให้ประธานกรรมการโรงเจฯ ว่างลง และเนื่องจากใกล้เทศกาลกินเจ นายถาวร ปัญญาธีระ ซึ่งเป็นกรรมการในขณะนั้น จึงได้ขันอาสาเป็นประธานจัดงานกินเจ ชั่วคราวแทน และ ต่อมาในปี 2563 นายถาวร ปัญญาธีระ ก็ยังขอเป็นประธานจัดงานกินเจ อีกครั้ง โดยอ้างว่าได้รับเลือกจากคณะกรรมการโรงเจฯ และนายถาวรฯ ได้ถือวิสาสะอ้างสิทธิ์ในจัดงานการกุศลของศาลเจ้าพ่อกวนอู อื่น ๆ อีกตลอดทั้งปี
ลุแก่อำนาจ ร้องขอเป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า
วันที่ 19 ม.ค.2564 นายถาวร ปัญญาธีระ ยื่นคำร้องต่อ นายอำเภอเมืองราชบุรี ขอให้แต่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า เนื่องจาก นายสงวนชัย ตันเวทยานนท์ ซึ่งเป็น ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าเดิม มีสุขภาพไม่ดี โดยอ้างว่า เป็นมติที่ประชุมของคณะกรรมการโรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ครั้งที่ 1/2563 เมื่อ 12 ก.ค.2563
|
คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการปกครองศาลเจ้า ของ นายถาวร ปัญญาธีระ |
โดยไม่ได้มีการไต่สวน หรือขอความเห็นจากคณะกรรรมการที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกเพียงไม่ถึง 15 วัน นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ก็ลงนามแต่งตั้ง นายถาวร ปัญญาธีระ เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อกวนอู ในวันที่ 3 ก.พ.2564 อย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้ ศาลเจ้าพ่อกวนอู มีผู้จัดการปกครองศาลเจ้า ถึง 2 คน นี่คือ ต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายมาจนถึงปัจจุบันนี้
|
ที่มาของภาพ (เหล่าโจ้วฉู่ : โรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี. 15 ก.พ.2564) |
|
|
ที่มาของภาพ (เหล่าโจ้วฉู่ : โรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี. 13 ก.พ.2564) |
ศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง
ต่อมาวันที่ 15 ก.พ.2564 และ 1 มี.ค.2564 นายสงวนชัย ตันเวทยานนท์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพชรบุรี คัดค้านคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ว่าไม่ชอบด้วยกฏหมาย และให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง นายถาวร ปัญญาธีระ เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อกวนอู ศาลฯ ใช้เวลาพิจารณาอยู่ 7 เดือน จนกระทั่งถึงวันที่ 8 ต.ค.2564 ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำสั่ง ไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
|
ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำสั่ง ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ |
ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ด้วยกฎหมาย
ก่อนอื่นต้องแยกกันให้เห็นชัดเจน เหตุการณ์นี้มีคณะกรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ 3 คณะ คือ 1) คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี 2) คณะกรรมการโรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว และ 3) คณะกรรมการมูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี บุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น และเป็นคู่กรณีกัน ได้แก่
- นายสงวนชัย ตันเวทยานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้จัดการปกครองศาลเจ้ากวนอู (แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี เมื่อปี 2547 ตามกฎเสนาบดี พ.ศ.2463) / เป็นคณะกรรมการบริหารศาลเจ้ากวนอู ราชบุรี และเป็นประธานกรรมการมูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี (ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ตามข้อบังคับของมูลนิธิ)
- นายถาวร ปัญญาธีระ เป็น ประธานคณะกรรมการโรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว (แต่งตั้งปี พ.ศ.2563 แต่งตั้งโดยคณะกรรมการโรงเจฯ กันเอง)
นายถาวรฯ ยื่นคำร้องถึง นายทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอเมืองราชบุรี (ผ่าน นายภักดี ตนะวิไลกุล ปลัดอำเภอ) ให้เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี แต่งตั้งให้ตนเองเป็น ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อกวนอู โดยอ้างว่าเป็นมติของคณะกรรมการโรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว เหตุเพราะนายสงวนชัยฯ มีสุขภาพไม่ดี
เมื่อได้รับคำร้อง ทางราชการกลับไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริงใด ๆ ไม่เคยสอบถามหรือสืบสภาพว่า นายสงวนชัยฯ ป่วยจริงหรือไม่ และยังคงทำงานได้หรือปล่าว รวมถึงไม่เคยสอบถามความคิดเห็นของคณะกรรมการฯ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอีก 2 คณะ คือ คณะกรรมการบริหารศาลเจ้ากวนอู และคณะกรรมการมูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี แต่กลับลงนามแต่งตั้ง นายถาวรฯ อย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาเพียง 15 วัน
ใคร ๆ ฟังดู ก็คงเห็นว่างานนี้ น่าจะไม่ชอบมาพากลเท่าใดนัก และการที่ศาลปกครองไม่รับคำฟ้องจากนายสงวนชัย ฯ ก็แสดงว่าให้เห็นว่า ยังไม่มีการพิสูจน์ด้วยกฏหมายว่าฝ่ายใดผิด หรือฝ่ายใดถูก แต่งานนี้ ทุกคนในสังคมต่างก็รู้ว่า ทั้งนายอำเภอเมืองราชบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ล้วนผิดมารยาทอย่างใหญ่หลวง ซึ่งนักปกครองที่ดีไม่ควรทำเยี่ยงนี้
มูลนิธิ ฯ ถูกฟ้องขับไล่
สืบเนื่องจาก นายถาวร ปัญญาธีระ ในฐานะประธานโรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว (ตอนนั้น ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า) ได้ออกประกาศแจ้งกำหนดการงานเทศกาลประจำปี 2564 ของโรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ระหว่าง 24 ม.ค.-15 ต.ค.2564
การจัดงานเทศกาลประจำปี 2564 โรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ตามที่นายถาวรฯ ประกาศนั้น นายสงวนชัย ตันเวทยานนท์ ผู้จัดการปกครองศาลเจ้า และนายณรงค์ ศรีกาญจนเพริศ ผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้า ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก "การจัดงานเทศกาลที่ผ่านมาในปี 2562 -2563 โดยนายถาวรฯ และคณะ นั้นมีข่าวทางลบ เรื่องการเรี่ยไรเงิน ความไม่โปร่งใสของเงินบริจาค และมีการยักยอกสับเปลี่ยนสิ่งของบริจาค โดยไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค" นายสงวนชัยฯ จึงได้จัดทำป้ายปิดประกาศตั้งไว้บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อกวนอู ห้ามมิให้กลุ่มบุคคลใด ๆ ดำเนินการ โดยใช้อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการปกครองศาลเจ้า และผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้า ในการสั่งการและปิดป้ายประกาศ
นอกจากนั้น ทางมูลนิธิประชานุกูล ยังได้มีหนังสือลง วันที่ 9 ก.พ.2564 ถึง นายถาวรฯ ย้ำเตือนขอให้ระงับการใช้สถานที่ และระงับการจัดงานดังกล่าว และขอให้นายถาวรฯ และพรรคพวก รื้อถอนป้ายโฆษณาต่าง ๆ และขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากศาลเจ้าพ่อกวนอู ในทันที
|
ป้ายประกาศของนายสงวนชัยฯ และนายณรงค์ฯ ห้ามกลุ่มบุคคลใดมาแอบอ้างสิทธิ์ จัดกิจกรรมเรี่ยไร หารายได้และผลประโยชน์ ในศาลเจ้ากวนอู ราชบุรี |
ต่อมาวันที่ 28 เม.ย.2564 นายถาวร ปัญญาธีระ ในฐานะผู้จัดการปกครองศาลเจ้ากวนอู ราชบุรี คนที่ 2 (นายสงวนชัยฯ ถือว่า เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้ากวนอู คนที่ 1 เพราะทางราชการไม่ได้มีคำสั่งปลดหรือถอดถอน) ได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง จำเลย คือ มูลนิธิประชานุกูลราชบุรี ในข้อหาละเมิด และขับไล่ และให้มูลนิธิฯ ขนย้ายที่ทำการออกจากที่ตั้งบริเวณศาลเจ้าพ่อกวนอู
วันที่ 9 มิ.ย.2564 ศาลจังหวัดราชบุรี มีหมายถึง มูลนิธิประชานุกูล ห้ามไม่ให้มูลนิธิประชานุกูล (ในฐานะจำเลย) และบริวาร กระทำการใดๆ อันเป็นการทำให้ทรัพย์สินของศาลเจ้าพ่อกวนอูเสียหาย หรือเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิม นับตั้งแต่วันที่ได้รับหมายศาล
|
หนังสือจากมูลนิธิฯ ถึงนายถาวรฯ และหมายศาล ถึงมูลนิธิฯ |
การรวมตัวของเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ
10 ต.ค.2564 เจ้าหน้าที่อาสาสมัครหน่วยกู้ภัย มูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี กว่า 100 คน ได้แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบมูลนิธิฯ รวมตัวกันที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อมาสักการะขอพร และมาบอกกล่าวถึงความเดือดร้อนของมูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี ที่ถูกฟ้องขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ของศาลเจ้าพ่อกวนอู
|
ที่มาของภาพ (สายชล โอชะขจร.10 ต.ค.2564) |
|
ที่มาของภาพ (สายชล โอชะขจร.10 ต.ค.2564) |
การรวมตัวของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครหน่วยกู้ภัย มูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจต่อผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี ลามไปถึงเจ้าหน้าที่กู้ภัยของมูลนิธิการกุศลต่าง ๆ ในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง
จึงได้เตรียมนัดหมายมารวมตัวกัน ณ บริเวณศาลากลางจังหวัดราชบุรี เพื่อขอความเป็นธรรมจากผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี แต่ช่วงนั้น ยังอยู่ในช่วงที่ทางราชการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 2019 ประกอบกับมีผู้ใหญ่ที่สังคมให้ความเคารพนับถือ ได้เตือนสติและห้ามปรามไว้เสียก่อน
ยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการการกฏหมาย ฯ
19 ต.ค.2564 นายชัยยงค์ นันทชัยพร รองประธานมูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี (รักษาการประธานมูลนิธิฯ) พร้อมด้วยนายพิชัย นันทชัยพร ที่ปรึกษามูลนิธิฯ และคณะกรรมการมูลนิธิฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของมูลนิธิฯ เข้ายื่นหนังสือต่อ นายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กรณีใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการฯ หรือ ผู้จัดการปกครองศาลเจ้ากวนอู ราชบุรีซ้ำช้อน
แก้ต่างแทนผู้ว่า ฯ
4 พ.ย.2564 นายถาวร ปัญญาธีระ ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี (คนที่ 2) ยื่นเรื่องต่อคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผ่านนายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการฯ) ขอความเป็นธรรมและแก้ข้อกล่าวหา กรณีผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ถูกตรวจสอบ โดยชี้แจงข้อกล่าวหาของมูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี ใน 3 ประเด็น ดังนี้ (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.2564)
(เป็นคำชี้แจงของนายถาวรฯ ไม่ใช่ความเห็นของคณะทำงานทางการเมืองฯ)
- ประเด็นที่ 1 การแต่งตั้ง นายถาวร ปัญญาธีระ เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้ากวนอู ราชบุรี ซ้ำซ้อนขึ้นมาอีกคนหนึ่ง เป็นไปตามกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ. 2463 หรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้วสรุปได้ว่า การแต่งตั้ง นายถาวร ปัญญาธีระ เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้พิจารณาออกใบอนุญาตตั้ง (แต่งตั้ง) เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ
- ประเด็นที่ 2 มูลนิธิประชานุกูล มีอำนาจเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้จัดการปกครองศาลเจ้ากวนอู ราชบุรีหรือไม่ เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลนิธิฯ ไม่มีอำนาจในการครอบงำกิจการทั้งปวงของศาลเจ้ากวนอู ราชบุรี ที่มีมาแต่เดิมก่อนก่อตั้งมูลนิธิฯ และพฤติการณ์ดังกล่าวของมูลนิธิฯ อาจขัดต่อข้อบังคับของมูลนิธิฯ
- ประเด็นที่ 3 การฟ้อง ละเมิด บุกรุก และขับไล่ มูลนิธิประชานุกูล จากเหตุมูลนิธิฯ ขัดขวางการจัดกิจการภายในศาลเจ้ากวนอู ราชบุรี เห็นว่าการจัดกิจการภายในศาลเจ้ากวนอู ราชบุรี นำโดย นายถาวร ปัญญาธีระ ผู้จัดการปกครองศาลเจ้ากวนอู ราชบุรี พร้อมคณะกรรมการศาลเจ้า จะดำเนินกิจการตามประเพณีประจำปีของศาลเจ้า ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากนายสงวนชัย ตันเวทยานนท์ ผู้จัดการปกครองศาลเจ้า และนายณรงค์ ศรีกาญจนเพริศ ผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้า โดยปัญหาดังกล่าว เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นผู้ชี้ขาดตามกฎเสนาบดีฯ ข้อ 15
เหลือผู้จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี คนเดียว
เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2565 นายสงวนชัย ตันเวทยานนท์ ผู้จัดการปกครองศาลเจ้ากวนอู ราชบุรี คนที่ 1 และประธานกรรมการมูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวอย่างสงบ ทำให้ศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี เหลือผู้จัดการปกครองศาลเจ้า เพียงคนเดียว คือ นายถาวร ปัญญาธีระ เคยมีการติดต่อขอยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการปกครองศาลเจ้า เพิ่มเติม แต่เจ้าหน้าที่ราชการที่รับผิดชอบ ก็พยายามบ่ายเบี่ยง อ้างว่า ขอให้เรื่องพิพาทเดิมยุติลงเสียก่อน
ทำถูกกฎหมาย แต่ผิดมารยาท
สังคมไทยเป็นสังคมที่โอบอ้อมอารีและให้อภัย คนประเภทที่ทำตัวแบบถูกกฎหมายแต่ผิดมารยาทนี้ หากไม่ได้สร้างผลเสียใหญ่โตอะไรมากนัก คนไทยก็พอที่จะ “หยวนๆ หรือให้อภัยกันได้” แต่ถ้าคน ๆ นั้น เป็นผู้มีบทบาททางสังคมสูง เป็นผู้นำ เป็นผู้ปกครอง “การทำถูกกฎหมาย แต่ผิดมารยาท” ก็ยากที่จะยอมรับได้ (พิริยะ ผลพิรุฬห์. 2551)
ดังเช่น "เหตุการณ์ที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี แต่งตั้ง นายถาวร ปัญญาธีระ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อกวนอู ซ้ำซ้อนกับ นายสงวนชัย ตันเวทยานนท์ ที่เป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้าพ่อกวนอู เดิมอยู่แล้ว ถึงแม้กฏเสนาบดีจะให้ทำได้ แต่มันก็เป็นสาเหตุ ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกจนถึงทุกวันนี้" อย่างนี้จึงเรียกได้ว่า ทำถูกต้องตามมกฏหมาย แต่ผิดมารยาทของนักปกครองที่ดี ทำให้สังคมที่ตนเองปกครองอยู่เกิดการแตกความสามัคคี ไม่เป็นผลดีต่อราษฎร และความมั่นคงของพื้นที่
โรงเจเหล่าซินเฮงตั้ว ศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี กับ มูลนิธิประชานุกูล ราชบุรี ทำงานเป็นหนึ่งเดียวกันมาตลอด 76 ปี สร้างประโยชน์นานับประการให้แก่สังคมมากมาย เป็นตำนานและความดีงามของชาวจีนโพ้นทะเลที่มาอาศัยอยู่ในแผ่นดินราชบุรี กว่า 4 ช่วงอายุคน เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีที่สั่งสมมา กลับถูกทำลายลงในชั่วพริบตา เพียงเพราะผลประโยชน์ ความอยากมี อยากเป็น ผสมกับความไม่รู้เรื่อง และความไม่รับผิดชอบของผู้มีอำนาจที่ปกครองบ้านเมืองราชบุรีของเราอยู่ในขณะนี้
ยังไม่สายเกินไป ที่ทุกคนจะหันหน้ามาพูดคุยกัน ยอมรับในความผิดพลาด ขอโทษ และให้อภัยซึ่งกันและกัน ร่วมแรงร่วมใจเริ่มต้นกันใหม่ เพราะทุกคน ทุกฝ่าย ล้วนมุ่งประโยชน์เพื่อสังคมเหมือน ๆ กัน
*****************************
รวบรวมและเรียบเรียงโดย
สถาบันราชบุรีศึกษา
5 มิ.ย.2565
ที่มาข้อมูลและภาพ
- เหล่าโจ้วฉู่ : โรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี. (15 ก.พ.2564). [Online]. Available : https://www.facebook.com/LaoSinHengTua/photos/487632295961583. [2565 มิถุนายน 4].
- เหล่าโจ้วฉู่ : โรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี. (15 ก.พ.2564). [Online]. Available : https://www.facebook.com/LaoSinHengTua/photos/487631992628280. [2565 มิถุนยน 4].
- เหล่าโจ้วฉู่ : โรงเจเหล่าซินเฮงตั๊ว ศาลเจ้าพ่อกวนอู ราชบุรี. (13 ก.พ.2564). [Online]. Available : https://www.facebook.com/LaoSinHengTua/photos/486603549397791. [2565 มิถุนยน 4].
- สายชล โอชะขจร. (10 ต.ค.2564). หน่วยกู้ภัยร้องถูกผู้ใหญ่รังแก ตั้งกรรมการซ้ำซ้อนแถมถูกฟ้องอีกหลายคดี. 77 ข่าวเด็ด. [Online]. Available : https://www.77kaoded.com/news/saichol/2180578?fbclid=IwAR0w4k8UTz796TtkH6aIBOKDZNXQGNb2Zci2X8Wa9xecDRm5ufpJVmWY1Iw. [2565 มิถุนายน 5].
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2564). นายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก นายถาวร ปัญญาธีระ ผู้จัดการปกครองศาลเจ้ากวนอู ราชบุรี. [Online]. Available : https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_news.php?nid=81740&filename=people2554. [2565 มิถุนายน 5].
- พิริยะ ผลพิรุฬห์. (2551). ถูกกฎหมาย..แต่ผิดมารยาท. [Online]. Available : http://piriya-pholphirul.blogspot.com/2008/09/blog-post.html. [2565 มิถุนายน 6].
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น