หน้าเว็บ

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565

What is next step? สะพานขึงทางรถไฟแห่งแรกที่ราชบุรีใกล้เสร็จแล้ว : เตรียม นั่งกินลม ชมสะพานขึง ดูระเบิด ชมหัวรถจักร

สะพานขึงทางรถไฟแห่งแรกของประเทศไทย ที่สร้างข้ามแม่น้ำแม่กลองเพื่อหนีลูกระเบิด 7 ลูก สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังคงจมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลองบริเวณตัวเมืองราชบุรี ได้ประกอบพิธีเชื่อมต่อช่วงสุดท้ายบรรจบสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง ไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2565 แสดงว่าการก่อสร้างเกือบเสร็จแล้ว จึงนับเป็นโอกาสของ จ.ราชบุรี ที่จะมีแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจให้ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ในเร็ววันนี้ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว

สะพานขึงทางรถไฟแห่งแรกของประเทศไทย
ข้ามแม่น้ำแม่กลองที่ จ.ราชบุรี 

เนื้อหา
  • สร้างสตอรี่ มีกิจกรรม
  • พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 จุดศูนย์รวมความรู้
  • นั่งกินลม ชมสะพานขึง ดูระเบิด ชมหัวรถจักร 
  • พาชมเมืองเก่าราชบุรี
  • เตรียมตัวกันหรือยัง
  • ไฮไลท์ - รื้อฟื้นการเดินทางด้วยเรือ
  • สร้างตลาดน้ำริมเขื่อน
  • ลานคนเมือง
  • What is next step?

สร้างสตอรี่ มีกิจกรรม
หลายคนคงคิดเหมือน ๆ กันว่า เราจะต้องสร้างสตอรี่ และกิจกรรมที่จะทำให้สะพานขึงทางรถไฟแห่งแรกนี้ เป็นที่น่าสนใจ จนหลาย ๆ คน ต้องบรรจุไว้ในโปรแกรมการท่องเที่ยว อยากมาเยี่ยมเยือน และถ่ายรูปสักครั้งหนึ่ง อย่างเช่น สะพานข้ามแม่น้ำแคว ใน จ.กาญจนบุรี 

ประกอบกับเมืองราชบุรี ได้รับการอนุรักษ์เป็นเขตเมืองเก่า และกำลังสร้างโอ่งมังกรยักษ์พ่นน้ำ ที่จะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่อีกแห่งหนึ่งด้วย  ดังนั้น สะพานขึง ลูกระเบิด หัวรถจักร เมืองเก่า และโอ่งมังกรยักษ์พ่นน้ำ เป็นคำสำคัญทั้งหมด ที่ต้องมีการร้อยเรียงเรื่องราว เขียนสตอรี่ที่ดี น่าตื่นเต้น เร้าใจ และสอดคล้องกัน ผนวกกับต้องมีกิจกรรมประกอบต่าง ๆ  ให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนเกิดความประทับใจ 

พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 จุดศูนย์รวมความรู้
สถานที่ที่ควรจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี คือ บริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีหลังเก่าริมน้ำ ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของค่ายทหารญี่ปุ่นในสมัยนั้นด้วย ปัจจุบันกำลังก่อสร้างเป็น "ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี" (ตามโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเพื่อยกระดับการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวกลุ่มทวารวดี)  ในศูนย์ฯ แห่งนี้ ควรจัดแบ่งส่วนหนึ่งไว้เป็นพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี  เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมความรู้พื้นฐานด้านประวัติศาสตร์สำหรับนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และผู้ที่สนใจ ใช้เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า ก่อนที่จะไปเยี่ยมชมสะพานขึง และเที่ยวชมเมืองเก่าราชบุรีต่อไป  


ภาพประกอบ : พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของประเทศอื่น ๆ

ภาพประกอบ : พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของประเทศอื่น ๆ

ภาพประกอบ : การสร้างบรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ของประเทศอื่น

ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ ควรจัดให้มีโต๊ะทรายจำลองเหตุการณ์ใน จ.ราชบุรี ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีภาพถ่าย อาวุธ ยุทโธปกรณ์ เศษซากกระสุน ลูกระเบิด และข้าวของเครื่องใช้ของทหารญี่ปุ่นในสมัยนั้น มีการจัดนิทรรศการทั้งแบบในร่มและกลางแจ้ง สร้างบรรยากาศให้เหมือนในสมัยสงคราม มีการออกแบบให้ทันสมัย น่าสนใจ พร้อมมีมัคคุเทศก์คอยบรรยายให้ความรู้อย่างมีอรรถรส 

แผนที่เมืองราชบุรี สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
จัดทำโดย นายสละ จันทรวงศ์

ตัวอย่าง โต๊ะทราย ใช้บรรยายให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจฟัง
(ภาพจาก อุทยานประวัติศาสตร์สงครามเก้าทัพ)


ลูกระเบิดต่าง ๆ ที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2
พิพิธภัณฑ์ทุ่นระเบิดของประเทศเวียดนาม

นั่งกินลม ชมสะพานขึง ดูระเบิด ชมหัวรถจักร 
จุดชมสะพานขึง ที่สวยงามและสามารถถ่ายภาพได้เต็มความกว้างของสะพาน มองเห็นตำแหน่งของลูกระเบิดที่จมทั้ง 7 ลูก และหัวรถจักรอีก 1  หัว ได้อย่างชัดเจน  คือ บริเวณจวนผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรีหลังเก่าริมน้ำ (ปัจจุบันกำลังก่อสร้างเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ) และอีกจุด คือ บริเวณหน้าสโมสรนายทหาร ฝั่งค่ายภาณุรังษี  ทั้ง 2 จุดนี้ ในตอนเย็น ๆ จะเห็นดวงอาทิตย์ตกดินทางด้านหลังสะพานขึงอีกด้วย 

ในบริเวณจุดชมวิวนี้ ควรสร้างบรรยากาศ และจุดถ่ายรูปให้เหมือนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพ แถมในฝั่งค่ายภาณุรังษี ยังมีศาลหลักเมืองราชบุรีให้สักการะ และพิพิธภัณฑ์ทหารช่าง ให้เยี่ยมชมอีกด้วย สำหรับบรรดาร้านอาหาร ร้านกาแฟ ต่าง ๆ ที่อยู่ริมน้ำทางด้านท้ายน้ำ ก็สามารถสร้างบรรยากาศการตลาดแบบ  "นั่งกินลม ชมสะพานขึง" ให้ลูกค้ามานั่งกินแบบชิล ๆ ได้เช่นกัน

พาชมเมืองเก่าราชบุรี
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ราชบุรีเป็นเมืองเก่า เมื่อ 11 เม.ย.2560 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี "ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546" ปัจจุบัน มี "คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรี" กำลังจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท แนวทาง แผนปฏิบัติ และมาตรการต่างๆ ในการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเขตเมืองเก่าราชบุรี โดยมี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ

ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี

หากลองสำรวจสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี และพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำแม่กลองโดยรอบ จะพบสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ดังนี้
  • ราชบุรีฝั่งซ้าย - ศาลหลักเมืองราชบุรี ประตูเมืองและกำแพงเมืองเก่า พิพิธภัณฑ์ทหารช่าง วัดท้ายเมือง วัดอมรินทราราม วัดพญาไม้
  • ราชบุรีฝั่งขวา - วัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม วัดศรีชมภูราษฎร์ศรัทธาราม วัดสัตนารถปริวัตร ตลาดริมน้ำโคยกี๊ สนามหญ้า หอนาฬิกา เขื่อนรัฐประชาพัฒนา โอ่งมังกรยักษ์พ่นน้ำ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี วัดศรีสุริยวงศ์ ศาลเจ้าพ่อกวนอู หลวงพ่อแก่นจันทร์ (วัดช่องลม) พระปรางค์และหลวงพ่อมงคลบุรี (วัดมหาธาตุวรวิหาร) พระปรางค์และพระนอนใหญ่ (วัดอรัญญิกาวาส) 
เตรียมตัวกันหรือยัง
สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ ควรต้องมีการเตรียมวางแผนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาเยี่ยมชมสะพานขึงแห่งแรกของประเทศไทย และถือโอกาสแวะไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงอื่น ๆ ดังนั้น จึงควรต้องมีเจ้าภาพที่ทำหน้าที่บูรณการ ประสานงาน กำหนดทิศทาง มาตรฐาน และการบริการด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ในเขตเมืองเก่าราชบุรี และพื้นที่โดยรอบ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความประทับใจต่อนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือน 

หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้อง และเจ้าของพื้นที่ อย่างเช่น ททท.ราชบุรี ท่องเที่ยวและกีฬาราชบุรี วัฒนธรรมราชบุรี เทศบาลเมืองราชบุรี เทศบาลตำบลหลักเมือง ทหาร ตำรวจ เจ้าของสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้ง โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ต้องมีการทำงานร่วมกัน สร้างเส้นทางการท่องเที่ยวและกิจกรรมให้น่าสนใจ อย่างสอดคล้องและต่อเนื่องกัน ยกระดับมาตรฐานและการบริการท่องเที่ยวให้เป็นสากล 

ไฮไลท์ - รื้อฟื้นการเดินทางด้วยเรือ
วิธีการที่จะให้นักท่องเที่ยวเดินทางชมวิวสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ชมวิวสะพานขึง หรือเดินทางข้ามไปข้ามมาระหว่างสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งน่าจะเป็นไฮไลน์ใหม่ที่สำคัญ ที่จะทำให้การท่องเที่ยวในเขตเมืองเก่าราชบุุรี มีจุดเด่นและดึงดูดความสนใจแก่นักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น คือ การเดินทางด้วยเรือ 

บรรยากาศการเดินทางด้วยเรือ หน้าเมืองราชบุรี ในสมัยก่อน

เรือแจว เมืองราชบุุรี

เรือหางยาว เมืองราชบุรี

การเดินทางด้วยเรืออย่างแรกที่นึกถึงก็คือ เรือแจว ซึ่งสมัยก่อนเขตเมืองราชบุรีนี้ มีอาชีพพายเรือจ้าง พายเรือแจว ขับเรือโดยสารหางยาว ขับเรือยนต์ อยู่จำนวนมาก แต่ปัจจุบันหายไปหมดแล้ว เพราะมีสะพานรถยนต์และถนนเข้ามาแทน หากรื้อฝืนกลับมาได้เพื่อการท่องเที่ยว ก็จะช่วยเพิ่มสีสันให้เมืองเก่าราชบุรี และความมีชีวิตชีวาให้แม่น้ำแม่กลองได้อย่างลงตัว  แถมก่อให้เกิดอาชีพใหม่แก่คนเมืองราชบุรีอีกด้วย

การเดินทางด้วยเรือแจว

การท่องเที่ยวด้วยเรือแจว

ตัวอย่าง เรือ Gondola อัตลักษณ์ของ Venice 

เรืออีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยม และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ คือ เรือคายัค ซึ่งสามารถนำมาให้บริการนักท่องเที่ยวที่อยู่ตามโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และ ร้านกาแฟริมน้ำแม่กลองได้ นักท่องเที่ยวสามารถพายเรือคายัค ท่องเที่ยวไปสถานที่ต่าง ๆ ชมวิวริมน้ำสองฝั่งแม่กลอง และชมวิวสะพานขึง ได้อย่างอิสระ

นักท่องเที่ยวพายเรือคายัคชมสะพาน

เรือคายัคที่มีไว้ให้บริการตามโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และร้านกาแฟริมน้ำ
 
สร้างบรรยากาศตลาดน้ำริมเขื่อน 
สร้างบรรยากาศตลาดน้ำริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา โดยใช้แพ 10 หลัง ที่สร้างขึ้นให้เกิดประโยชน์ จำลองรูปแบบการค้าขายทางน้ำ ให้เหมือนบรรยากาศของตลาดน้ำดำเนินสะดวก โดยจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งของตลาดโคยกี๊ ยามเย็น 

สร้างบรรยากาศตลาดน้ำริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา

สร้างตลาดน้ำริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา
โดยใช้ตลาดน้ำดำเนินสะดวกเป็นต้นแบบ

ลานคนเมือง 
จัดพื้นที่ลานริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนาด้านทิศตะวันตก (ด้านติดกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี) ให้เป็น "ลานคนเมือง" เปิดพื้นที่ให้มีการชุมนุมและทำกิจกรรมสาธารณะที่หลากหลายตามอัธยาศัย และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจคลายเครียดของคนเมืองราชบุรี นักท่องเที่ยวสามารถมาร่วมแจมและร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้

ลานคนเมือง ริมเชื่อนรัฐประชาพัฒนา

ลานคนเมือง ของจังหวดอื่น ๆ

What is next step? 
ผมไม่ได้ทราบข่าวประชาสัมพันธ์ใด ๆ เลยว่า จ.ราชบุรี มีแผนการจัดการและการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองราชบุรีอย่างไร หลังจากที่ สะพานขึงทางรถไฟแลนด์มาร์คแห่งใหม่ เปิดใช้งานแล้ว หรืออาจจะมีแผนอยู่แล้ว แต่ผมตกข่าว

ที่ผมเขียนมานี้ เป็นเพียงจินตนาการส่วนตัวของผมเอง หากยังไม่มีใครคิดทำ ก็ขอให้รีบคิดรีบทำเสีย เหมือนอย่างที่จังหวัดอื่น ๆ เขาคิดแล้วก็รีบทำ เพราะทั้งหมดนี้มันต้องใช้เวลา และต้องใช้ความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนของสังคม 

ลองตั้ง "คณะทำงานที่เป็นจิตอาสาขึ้นมาพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตเมืองเก่าราชบุรี" ดูสักคณะซิครับ  โดยประกอบจากผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้มีเวทีเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำกัน เพื่อทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองราชบุรีไปด้วยกัน ผู้คนเหล่านี้จะได้มีความรู้สึกหวงแหนและรักษ์ราชบุรี อย่างแท้จริง

พลตรี ดร.สุชาต  จันทรวงศ์
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
30 มิ.ย.2565

2 ความคิดเห็น:

  1. เป็นความคิดที่ดีมากๆเลยครับ​ ขอท่านที่มีความสามารถให้ความสนับสนุนด้วยเถิดครับ

    ตอบลบ
  2. ดีค่ะอนุรักษ์สืบสานให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้เรื่ิองราวของจ.ราชบุรีค่ะ

    ตอบลบ