วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี

เป็นที่น่ายินดีสำหรับคนราชุบรีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลอง บริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและไม่กีดขวางต่อการสร้างทางรถไฟรางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน

ภาพจำลอง
กู้แล้ว..จะเอาไปทำอะไร
ในบริเวณนั้น นอกจากมีลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (Unexploded ordnance : UXO)  จมอยู่จำนวน 6 ลูก ยังมีหัวรถจักรอีก 1 หัว จมอยู่ด้วย ในการเก็บกู้ในครั้งนี้ คงจะถือโอกาสเก็บกู้หัวรถจักรขึ้นมาให้ชมด้วย การปฏิบัติการครั้งนี้ คาดว่าจะลุล่วงไปด้วยดี เพราะไม่เกินขีดความสามารถของกองทัพไทย และคงไม่จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศแต่อย่างใด 

update ล่าสุด (29 ส.ค.2561) จากคำบอกเล่าของนักดำน้ำงมของเก่า
ลูกระเบิดที่พบยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นชนิดใด

ระหว่างที่รอการเก็บกู้อยู่นี้ สิ่งที่คนราชบุรีควรจะคิดคู่ขนานไปด้วย คือ กู้แล้วจะเอาไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หากไม่คิดเอาไว้ หัวรถจักรและลูกระเบิดที่กู้ขึ้นมานั้นจะกลายเป็นแค่เศษเหล็กกองหนึ่ง 

พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี
ความพยายามที่จะกู้หัวรถจักรขึ้นมาจากใต้แม่น้ำแม่กลอง เพื่อนำมาจัดแสดงเป็น "พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี" ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ มีความพยายามมากว่า 25 ปี แล้ว พอสรุปได้ดังนี้
  • พ.ศ.2535  ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล เป็น ผวจ.ราชบุรี  มีหนังสือหารือไปยัง พลโท ทวีสิทธิ์ สร้างสมวงศ์ เจ้ากรมการทหารช่าง พิจารณาตรวจสอบและความเป็นไปได้ในการกู้หัวรถจักร
  • พ.ศ.2540 นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ส.ส.ราชบุรี เขต 2 ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.กต. เชิญ พลโทวิษณุ อุดมสรยุทธ เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นประธานการดำเนินการนำหัวรถจักรฯ ขึ้นมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ เหตุเกิดในสมัย นายมานิต ศิลปะอาชา เป็น ผวจ.ราชบุรี
  • พ.ศ..2548  สมัย พลโท ชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่าง มีการดำน้ำลงไปสำรวจหัวรถจักร และลูกระเบิดที่จมอยู่  ในสมัย นายพลวัตร ชยานุวัชร เป็น ผวจ.ราชบุรี 
  • พ.ศ.2549-2550 นายพิชัย นันทชัยพร  นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองราชบุรี จัดตั้งคณะทำงานโครงการ "The  Last  Engine  of The World War II"  เพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และก่อสร้างช่องทางชมรถจักรใต้สะพานจุฬาลงกรณ์  เหตุเกิดในสมัย นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์ เป็น ผวจ.ราชบุรี
หลังจากนั้นมา เรื่องการกู้หัวรถจักร เพื่อนำมาจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี นี้ ก็เงียบหายไป  แม้แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ปัจจุบัน ก็ไม่มีการจัดแสดงเรื่องราวของ "สงครามโลกครั้งที่ 2 กับ จ.ราชบุรี" ไว้ให้ชมแต่อย่างใด  ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่ควรทำ


สนามหญ้าบริเวณหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี
ที่วางแผนจะนำหัวรถจักรสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ นำมาจัดแสดงไว้

แต่เดิมผู้บริหารในสมัยนั้น วางแผนจะนำหัวรถจักรที่จมอยู่ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ (หากกู้ได้) มาจัดแสดงไว้บริเวณสนามหญ้าหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และให้ทางพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 กับ จ.ราชบุรี ตามไปด้วย ซึ่งมีเนื้อหาและเรื่องราวมากมายให้นำมาร้อยเรียง อาทิ
  • การจำลองผังการตั้งค่ายของญี่ปุ่น ใน จ.ราชบุรี
  • การทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ใน จ.ราชบุรี ถึง 6 ครั้ง โดยเฉพาะการโจมตีสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ และที่ประตูน้ำบางนกแขวก
  • เหตุการณ์การเสียชีวิตของหลวงนิคมคณารักษ์ (เทียน กำเหนิดเพชร)  ผวจ.ราชบุรี ที่ถูกระเบิดเสียชีวิต บริเวณสี่แยกสะพานดำ ในรุ่งเช้าวันที่ 15 ม.ค.2488 
  • เหตุการณ์ที่ชุมทางหนองปลาดุก จุดเริ่มต้นของทางรถไฟสายมรณะ    
  • สภาพความเป็นอยู่ของบ้านเมืองและประชาชนในสมัยนั้น 
  • ฯลฯ
ภาพการทิ้งระเบิดโจมตีประตูกั้นน้ำคลองดำเนินสะดวก
จากเครื่อง B-24 หน่วยบินที่ 356 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2488
ที่มาของภาพ https://pantip.com/topic/31885621
ผมเคยไปเยี่ยมชมหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ จ.กาญจนบุรี และพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย – ญี่ปุ่น ที่ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ผมรู้สึกอิจฉาว่า ทำไม?  เขาถึงสร้างพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ แต่ จ.ราชบุรีเราเอง ยังทำไม่สำเร็จสักที ไม่รู้ติดขัดด้วยเรื่องอันใด

หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ จ.กาญจนบุรี
(ของเอกชน)
พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย – ญี่ปุ่น
ที่ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน
ในโอกาสที่จะมีการเก็บกู้ลูกระเบิดและหัวรถจักร ขึ้นมาให้เราได้ยลโฉมในเร็ววันนี้  จึงถือเป็นโอกาสดีของชาวราชบุรีจะได้เริ่มหยิบยกเรื่องนี้ ขึ้นมาทบทวนกันอีกครั้งกับการสร้าง "พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี"  อย่างที่จังหวัดอื่นๆ เขาทำกัน งานนี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคราชการ เอกชน และภาคประชาสังคม ใน จ.ราชบุรี ถึงคราวต้องร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจัง หาช่องทางและงบประมาณ รวมทั้งระดมทรัพยากรต่างๆ  ที่มีอยู่มาสร้างฝันให้สำเร็จ   

สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ 
เรื่องราวของ "สงครามโลกครั้งที่ 2 กับ ราชบุรี" นี้ มีเรื่องราวมากมายที่สามารถนำมาจัดแสดงได้ แต่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี ปัจจุบัน อาจคับแคบเกินไปไม่มีพื้นที่พอให้จัดแสดง สถานที่ที่น่าเหมาะสมคือ "บริเวณจวนผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี หลังเก่า" ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง มองเห็นวิวสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ หัวรถจักรและลูกระเบิดที่กู้ได้สามารถนำมาจัดแสดงไว้ในสนาม หากถ่ายรูปก็จะมองเห็นสะพานจุฬาลงกรณ์ไปด้วย ผู้เข้าชมสามารถจินตนาการได้ง่าย ส่วนจวนผู้ว่าฯ ก็ใช้เป็นอาคารจัดแสดงในร่ม นอกจากนั้น ความสำคัญอีกประการ คือ บริเวณที่แห่งนี้และตลอดริมน้ำแม่กลองแถวนั้น เป็นสถานที่ตั้งของค่ายทหารญี่ปุ่นจริงๆ


แผนผังการตั้งค่ายของทหารญี่ปุ่นในเมืองราชบุรี
หากทำได้ ที่แห่งนี่ จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และการสงครามแห่งใหม่ของ จ.ราชบุรี สามารถถ่ายถอดเรื่องราวในอดีตให้คนรุ่นปัจจุบันได้ศึกษาเรียนรู้ นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวกับประตูและกำแพงเมืองราชบุรีโบราณ พิพิธภัณฑ์ทหารช่าง และศาลเจ้าพ่อหลักเมืองราชบุรี ฝั่งตรงข้าม บริเวณค่ายภาณุรังษีได้อีกด้วย 

*****************************************
จุฑาคเชน 31 ส.ค.2561

อ่านเพิ่มเติม ความพยายามในการกู้หัวรถจักร ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม