วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2565

การติดตั้งทุ่นลอยน้ำถาวรแสดงตำแหน่งที่ลูกระเบิดจม

สะพานขึงทางรถไฟแห่งแรกของประเทศไทยที่สร้างข้ามแม่น้ำแม่กลองกลางเมืองราชบุรี เกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแบบก่อสร้าง เพราะต้องการหลีกเหลี่ยงการก่อสร้างตะม่อใต้น้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้ลูกระเบิดทั้ง 7 ลูก ที่ยังจมอยู่ เกิดการระเบิดขึ้นมาได้ ดังนั้น คำว่า "สะพานขึง" กับ "ลูกระเบิด" จึงเป็นคำที่เป็นตำนานคู่กัน ของเรื่องราวที่จะเล่าขานสืบต่อกันไป

ภาพจำลองการวางทุ่นลอยน้ำถาวร
แสดงตำแหน่งลูกระเบิดและหัวรถจักรที่จม

เนื้อหา
  • มันจมอยู่ตรงไหน
  • มาตรฐานสากลระบบทุ่นลอยน้ำ
  • ประเภททุ่นลอยที่ควรติดตั้ง
  • เป็นสากลและเกิดจินตนาการ
  • ใครจะเป็นเจ้าภาพหลัก
  • ขอให้สำเร็จโดยเร็ว

มันจมอยู่ตรงไหน
หากใครไปยืนชมวิวสะพานขึงทางรถไฟใหม่ หรืออาจนั่งรถไฟผ่าน ก็จะมองไปยังแม่น้ำแม่กลองบริเวณใต้สะพาน แล้วมักจะถามว่า "ลูกระเบิดมันจมอยู่ตรงไหน" เมื่อก่อนตอนเริ่มค้นหา ก็จะมีทุ่นลอยกลม ๆ สีแดง หรือสีส้ม ผูกให้เห็นอยู่ แต่มันเป็นเพียงทุ่นลอยชั่วคราว นานไปก็มักชำรุด เชือกขาด สูญหายไปตามกาลเวลา เดี๋ยวนี้อาจไม่มีให้เห็นแล้ว

ที่มาของภาพ (Suchart Chantrawong. 2562)

ตำแหน่งลูกระเบิดทั้ง 7 ลูกและตำแหน่งของหัวรถจักรที่จมอีก  1 หัว มีการบันทึกพิกัดไว้อย่างชัดเจน  ตามภาพด้านบน (อ่านเพิ่มเติม ตำแหน่งที่พบลูกระเบิดหากเรามีการติดตั้งทุ่นลอยน้ำถาวรระบุตำแหน่งได้ ก็จะช่วยสร้างอรรถรสในการชมสะพานขึง มากยิ่งขึ้น

มาตรฐานสากลระบบทุ่นลอยน้ำ
มาตรฐานสากลระบบทุ่นลอยน้ำและระบบช่วยนำทางอื่น ๆ (Maritime Buoyage System and Other Aids to Navigation) ซึ่งกำหนดโดย International Association of Marine Aids to Navigation and Lighthouse Authorities (IALA) แบ่งประเภทออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
  1. เครื่องหมายแยกพื้นที่อันตราย (Isolated Danger Mark) เครื่องหมายนี้ จะสร้างไว้ใกล้กับบริเวณแหล่งน้ำที่มีอันตรายต่อการเดินเรือที่อยู่โดยรอบ จะแสดงขอบเขตของอันตรายและระยะการเดินเรือที่ปลอดภัย 
  2. เครื่องหมายทางน้ำที่ปลอดภัย (Safe Water Marks) เครื่องหมายนี้ แสดงขอบเขตของช่องทางเดินเรือที่ปลอดภัย  
  3. เครื่องหมายพิเศษ (Special Marks) เครื่องหมายพิเศษใช้เพื่อระบุพื้นที่พิเศษ หรือลักษณะพื้นที่ที่อาจปรากฏชัดจากแหล่งอ้างอิงหรือหลักฐานทางทะเลอื่น ๆ 
  4. เครื่องหมายอันตรายที่เกิดขึ้นใหม่ (Marking New Dangers) เครื่องหมายนี้ แสดงถึงอันตรายใหม่ที่เพิ่งค้นพบ ทั้งโดยธรรมชาติ หรือที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งอาจยังไม่ปรากฏในเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับการเดินเรือ
  5. เครื่องหมายอื่นๆ (Other Marks) หมายถึงเครื่องหมายเพื่อช่วยการนำทางแบบอื่น ๆ อาจไม่จำเป็นเกี่ยวกับการจำกัดช่องทาง หรือสิ่งกีดขวาง
ประเภททุ่นลอยที่ควรติดตั้ง
ตำแหน่งลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ทั้งเจ็ดลูก ถือว่าเป็น "อันตรายที่เกิดขึ้นใหม่" ดังนั้นทุ่นลอยน้ำจึงควรเป็นประเภทเครื่องหมายอันตรายที่เกิดขึ้นใหม่ (Marking New Dangers) ซึ่งมีลักษณะและคุณสมบัติตามภาพด้านล่าง (IALA.2009 : 18)

ภาพทุ่นลอยน้ำแสดงถึงอันตรายที่เกิดขึ้นใหม่  ของ IALA
ที่มาของภาพ (Ship Inspection. 2565)

ภาพทุ่นลอยน้ำแสดงตำแหน่งเรือจม หรือซากปรักหักพังใต้น้ำ
ใช้พลังงานโซล่าเซลล์ ส่งสัญญาณไฟกระพริบที่เป็นสากล

ทุ่นลอยน้ำถาวรแสดงตำแหน่งของลูกระเบิดที่จมทั้ง 7 ทุ่น โดยเปลี่ยนข้อความจาก WRECK เป็น BOMB ส่วนทุ่นลอยน้ำถาวรที่แสดงตำแหน่งการจมของหัวรถจักร อีก 1 ทุ่น เปลี่ยนข้อความเป็น ENGINE 

เป็นสากลและเกิดจินตนาการ
หากมีการติดตั้งทุ่นลอยถาวรตามที่กล่าวมาแล้ว จะเป็นประโยชน์หลายประการ อาทิ
  • ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เพราะเป็นไปตามมาตรฐานสากลเกี่ยวกับระบบทุ่นลอยน้ำและระบบช่วยนำทางอื่น ๆ ของ IALA
  • นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ เกิดภาพจินตนาการเกี่ยวกับเหตุการณ์การทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ชัดเจน  มีความเข้าใจ และเกิดอรรถรสมากยิ่งขึ้น
  • เป็นการรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้ที่เดินทางสัญจรไปมาทางเรือ
  • สร้างบรรยากาศให้สะพานขึงทางรถไฟมีความน่าสนใจและมีจุดดึงดูดมากยิ่งขึ้น
ใครจะเป็นเจ้าภาพหลัก
หากคิดว่าการติดตั้งทุ่นลอยน้ำถาวรแสดงตำแหน่งที่ลูกระเบิดจม จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของราชบุรีในอนาคต หน่วยงานที่มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญเรื่องการวางทุ่นลอยประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมเจ้าท่า  ซึ่งสามารถขอคำปรึกษา แนะนำ ให้ช่วยออกแบบ ประมาณการค่าใช้จ่าย และติดตั้งให้ได้ ส่วนหนวยงานใดในราชบุรี จะเป็นเจ้าภาพหลัก เรื่องนี้แหละสำคัญกว่า

หากพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของราชบุรี ก็คือ สะพานขึงทางรถไฟ แน่นอน ย่อมเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่การพัฒนาองค์ประกอบโดยรอบของแหล่งท่องเที่ยว เช่น การติดตั้งทุ่นลอยน้ำถาวรในครั้งนี้ จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานไหน จะเป็น สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี หรือสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธาณภัยจังหวัดราชบุรี หรือเทศบาลเมืองราชบุรี หรือเทศบาลตำบลหลักเมือง หรือต้องถึงมือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี ที่จะต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการตั้งเรื่อง จัดทำแผนงาน และของบประมาณไปตามขั้นตอน อันนี้ คงต้องช่วยกันคิด

ที่มาของภาพ
(โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร. 2565)

ขอให้สำเร็จโดยเร็ว
การติดตั้งทุ่นลอยน้ำถาวรแสดงตำแหน่งที่ลูกระเบิดและหัวรถจักรที่จมนี้ อาจจะมีคนคิดไว้แล้ว ก็ขอเอาใจช่วยให้สำเร็จโดยเร็วก่อนที่สะพานขึงทางรถไฟจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของราชบุรี มีความพร้อมและสมบูรณ์ เกิดความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวทุกคนที่มาเยี่ยมเยือน

บทความที่เกี่ยวข้อง
*********************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา 
5 ก.ค.2565

ที่มาข้อมูล
  • Suchart Chantrawong. (2562). ตำแหน่งที่พบลูกระเบิด. [Online]. Available : http://r-edu-institute.blogspot.com/2019/06/blog-post_7.html. [2565 กรกฎาคม 5].
  • Ship Inspection. (2565). Marking new dangers. [Online]. Available : http://shipinspection.eu/marking-new-dangers/. [2565 กรกฎาคม 5].
  • Wikipedia. (2565). Safe water mark. [Online]. Available : https://en.wikipedia.org/wiki/Safe_water_mark. [2565 กรกฎาคม 5].
  • International Association of Marine Aids to Navigation and Lighthouse Authorities (IALA). (2009). Maritime Buoyage System and Other Aids to Navigation. France : Saint Germain en Laye.
  • โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร. (2565). Extradosed Bridge  [Online]. Available : https://www.facebook.com/southernlinetrackdoublingproject/photos/3221120944809306. [2565 กรกฎาคม 5].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม