วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562

การพิจารณาหาแนวทางในการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิด

ในการประชุมของคณะอนุกรรมการทำงานเก็บกู้เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดบริเวณแม่น้ำแม่กลอง ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ได้มีการวางแผนการดำเนินการขั้นต้น ไว้ดังนี้ 
  1. การสำรวจวัตถุระเบิดในแม่น้ำ จะดำเนินการสำรวจในวันที่ 28 พฤศจิกายน-4 ธันวาคม 2561 ใช้เวลา 7 วัน โดยกองประดาน้ำ และถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ
  2. การเก็บกู้วัตถุระเบิดที่พบ จะดำเนินการในระหว่างวันที่ 12-21 ธันวาคม 2561 ใช้เวลา 10 วัน โดยกองประดาน้ำ และถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วนำวัตถุระเบิดที่กู้ได้เคลื่อนย้ายไปปลดชนวนและทำลายในพื้นที่ปลอดภัย
หลังจากการสำรวจและค้นหาใต้น้ำของกองประดาน้ำ และถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ เมื่อ 28 พ.ย.-4 ธ.ค.2561 แล้ว ได้มีการประชุมขั้นต้น ณ ห้องประชุม 1 กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 16 เพื่อหาแนวทางการเก็บกู้ลูกระเบิดอากาศที่พบจำนวน 7 ลูก ไว้ 7 แนวทางดังนี้
  1. เคลื่อนย้ายลูกระเบิดใต้น้ำ นำไปกู้ขึ้นนอกเขตชุมชนและลำเลียงโดยรถ ไปยังสนามทำลาย
  2. กู้ลูกระเบิดนำขึ้นไปยังพื้นที่ที่ใกล้ที่สุด และลำเลียงโดยรถไปสนามทำลายที่ใกล้ที่สุด
  3. เคลื่อนย้ายลูกระเบิดจากแนวก่อสร้าง แต่วิธีนี้ ความอันตรายจะยังคงอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  4. ทำครอบฐานรากใต้น้ำ และนิรภัยชนวน จากนั้นนำไปทำลายในจุดที่กำหนด
  5. นำเฉพาะ 3 ลูกที่อยู่ในแนวก่อสร้าง ออกนอกพื้นที่เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างได้
  6. หาพื้นที่ในแม่น้ำ กำหนดจุดจมเพื่อวางแผนในระยะยาวและทำเป็นพื้นที่จำกัด
  7. ทำลาย ณ จุดที่พบ 

นาวิน วุฒิรณฤทธิ์ (2561) ผู้แทนกรมสรรพาวุธทหารอากาศ เสนอต่อในที่ประชุมถึง แนวทางในการเก็บกู้ลูกระเบิดไว้ 4 แนวทาง ดังนี้
  1. หมุนเข็มแทงชนวนออก แต่อาจมีกับดักในการต้านการเก็บกู้ หมายถึง การขยับระเบิดด้วย และการหมุนเอาเข็มแทงชนวนออกด้วย
  2. เจาะรูฉีดปูนปลาสเตอร์ทำให้ด้านในของระเบิดแข็งตัว
  3. การเลื่อยแล้วดึงชนวนออก
  4. ตัดส่วนท้ายของลูกระเบิด โดยใช้แรงดันน้ำในการตัดเพื่อแยกชิ้นส่วนจากชนวน และทำการขนย้ายระเบิดลูกใหญ่และตัวชนวน นำไปทำลายในที่ปลอดภัย
แต่ถ้าชนวนอยู่ในสภาพพร้อมทำงาน (Arm) ข้อ 1, 2 และ 3 ไม่สามารถกระทำได้

ต่อมาในการประชุมของคณะอนุกรรมการทำงานเก็บกู้เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดบริเวณแม่น้ำแม่กลอง ในวันที่ 10 ม.ค.2562 ก่อนที่กองประดาน้ำ และถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ จะลงสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 14-15 ม.ค.2562 ที่ประชุมได้เสนอแนวทางการเก็บกู้ระเบิด ดังนี้

แนวทางที่ 1 เสนอโดย นาวาโท อาทิตย์ นนทะคุณ ผู้แทนกรมสรรพาวุธทหารเรือ
ตามหลักการการเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดของกรมสรรพาวุธทหารเรือที่ยึดถือปฏิบัติ จะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 ทำลาย ณ จุดที่พบวัตถุระเบิด และ วิธีที่ 2 เคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกจากจุดที่พบ แล้วนำไปทำลายในพื้นที่ปลอดภัย

  • วิธีที่ 1 การทำลาย ณ จุดที่พบวัตถุระเบิด คือ เมื่อตรวจพบวัตถุระเบิดตรงไหน ก็จะทำลายตรงนั้นเลย แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่สำคัญในเขตชุมชน เช่นกรณีนี้ อยู่ในตัวเมือง จ.ราชบุรี จึงไม่สมควรใช้วิธีนี้
  • วิธีที่ 2 การเคลื่อนย้ายลูกระเบิดออกจากจุดที่พบ แล้วนำไปทำลาย จะต้องมีแนวทางที่ขยับลูกระเบิดได้ ซึ่งทางหน่วยได้พิจารณาลูกระเบิดลูกที่ 5 ที่อยู่ห่างจากตะม่อสะพานรถไฟ 5 เมตร ซึ่งลูกระเบิดอยู่มานานถึง 70 ปีแล้ว มีร่องรอยการขยับของลูกระเบิดมาหลายครั้งแล้ว จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา จึงคาดว่าน่าจะเป็นลูกระเบิดที่น่าจะสามารถขยับได้ 
การระเบิดบนพื้นกับการระเบิดใต้น้ำส่งผลกระทบต่างกัน หลักการคำนวณทั่วไปการระเบิดบนพื้นจะมีรัศมีสะเก็ดระเบิด 1.8 กม. แต่การระเบิดใต้น้ำ ณ ความลึก 8-12 เมตร จะทำให้ตะม่อสะพานเสียหาย และอาจเกิดระเบิดต่อเนื่องไปยังอีก 6 ลูก ส่วนสะเก็ดระเบิดที่เกิดขึ้นใต้น้ำอาจลดรัศมีอันตรายได้

แนวทางที่ 2 เสนอโดย นาวาอากาศเอก นาวิน วุฒิรณฤทธิ์ ผู้แทนกรมสรรพาวุธทหารอากาศ
ปัก Sheet pile ล้อมรอบลูกระเบิด เพื่อบล็อกกระแสน้ำแล้วสูบน้ำออกให้แห้ง โดยอาจแบ่งออกเป็นกลุ่ม หรือทำรวมทีเดียวทั้งหมด หลังจากนั้นจะมีวิธีการทำลาย 3 วิธี คือ

  • วิธีที่ 1 การแยกลูกระเบิดโดยตัดส่วนท้ายออก
  • วิธีที่ 2 การตัดด้วยน้ำแรงดันสูง
  • วิธีที่ 3 นำดินมากลบและทำลายลูกระเบิด
ตัวอย่างการปัก Sheet pile ล้อมรอบ แล้วสูบน้ำออก
ที่มา (การรถไฟแห่งประเทศไทย. 2562)

การปัก Sheet pile เป็นกลุ่ม ที่มา (การรถไฟแห่งประเทศไทย. 2562)

อธิบายภาพด้านบน
โครงสร้างประกอบด้วย SHEET PILE
กรณีลูกระเบิดห่างกัน ใช้โป๊ะ(Pontoon) ติดตั้งเครน และใช้ Vibro กด Sheet piles ล้อมรอบจุดที่ค้นพบลูกระเบิด โดยให้ Sheet piles ห่างจากลูกระเบิดไม่น้อยกว่า 8.00 ม.โดยรอบ (สำหรับตะม่อกลางน้ำ)

กรณีวัตถุระเบิดใกล้กัน ใช้โป๊ะ(Pontoon) ติดตั้งเครน และใช้ Vibro กด Sheetpiles ล้อมรอบจุดที่ค้นพบลูกระเบิด โดยให้ Sheet piles ห่างจากลูกระเบิดไม่น้อยกว่า 8.00 ม.ของแต่ละลูกโดยรอบ (สำหรับตะม่อกลางน้ำ)

การสูบน้ำในบ่อ ดำเนินการขุดทำบ่อ SUMP ให้ต่ำกว่าระดับพื้นดิน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำจุด จากนั้นดำเนินการสูบน้ำจนแห้ง เพื่อให้มองเห็นลูกระเบิดระเบิดที่พบ

ขั้นตอนนิรภัย ทำการนิรภัยตำแหน่งลูกที่ 1 ถึงลูกที่ 4 และลูกที่ 7 ลูกที่ 6 และลูกที่ 5 ตามลำดับ เมื่อสูบน้ำแห้งแล้วเสร็จ นำลูกระเบิดอากาศที่ตัดแผ่นปิดท้ายส่วนที่มีชนวนเสียบอยู่ออกจากกันเป็น 2 ส่วน โดยผ่านการตัดด้วย (Linear Shape Charge) หรือเครื่องตัดเหล็กด้วยน้ำแรงดันสูง (Water jet cutting machine) ถือว่าเป็นการทำให้ปลอดภัย ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายไปทำลาย ณ สนามทำลายวัตถุระเบิดที่เตรียมไว้

การปัก Sheet pile รอบลูกระเบิดที่พบทั้งหมด ที่มา (การรถไฟแห่งประเทศไทย. 2562)
ภาพตัดการปัก Sheet pile รอบลูกระเบิดที่พบทั้งหมด
ที่มา (การรถไฟแห่งประเทศไทย. 2562)

อธิบายภาพด้านบน
โครงสร้างประกอบด้วย SHEET PILE ใช้โป๊ะ (Pontoon) ติดตั้งเครน และใช้ Vibro กด Sheet piles ล้อมรอบจุดที่ค้นพบลูกระเบิด โดยให้ Sheet piles ห่างจากลูกระเบิดไม่น้อยกว่า 8.00 ม.โดยรอบลูกระเบิดทั้ง 7 ลูก ประสานงานกรมชลประทาน เพื่อลดระดับระบายน้ำจากเขื่อน เพื่อลดกระแสน้ำและระดับน้ำ ที่บริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ ให้ลดลงมากที่สุดเพื่อสะดวกในการปฏิบัติงาน

สูบน้ำในบ่อให้แห้ง ดำเนินการขุดทำบ่อ SUMP ให้ต่ำกว่าระดับพื้นดิน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประจำจุด จากนั้นดำเนินการสูบน้ำจนแห้ง เพื่อให้มองเห็นวัตถุระเบิดที่พบ

ขั้นตอนนิรภัย เมื่อสูบน้ำแห้งแล้วเสร็จ นำลูกระเบิดอากาศที่ตัดแผ่นปิดท้ายส่วนที่มีชนวนเสียบอยู่ออกจากกันเป็น 2 ส่วน โดยผ่านการตัดด้วย (Linear Shape Charge) หรือเครื่องตัดเหล็กด้วยน้ำแรงดันสูง (Water jet cutting machine) ถือว่าเป็นการทำให้ปลอดภัย ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายไปทำลาย ณ สนามทำลายวัตถุระเบิดที่เตรียมไว้

**********************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม