วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564

จำนวนคนจนของ จ.ราชบุรี ลดลง 51,500 คน

ปี 2563 จำนวนคนจน จ.ราชบุรี ลดลงจากปี 2562 จำนวน 51,500 คน เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,812 บาท/คน/เดือน มีจำนวนคนจน 37,800 คน คิดป็นสัดส่วนร้อยละ 4.65 ของประชากรทั้งจังหวัด

ที่มา : สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (19 ต.ค.2564)
เส้นแบ่งความยากจน
จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด้านสถิติความยากจนและกระจายรายได้ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 ระบุว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ของประเทศปี 2563 อยู่ที่ 2,762 บาท/คน/เดือน โดยเส้นแบ่งความยากจนในประเทศที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
  • เส้นความยากจนที่สูงที่สุด เป็นของคน กทม. อยู่ที่ 3,279 บาท/คน/เดือน
  • เส้นความยากจนของคนภาคกลาง อยู่ที่ 2,918 บาท/คน/เดือน
  • เส้นความยากจนของคนภาคใต้ อยู่ที่ 2,796 บาท/คน/เดือน
  • เส้นความยากจนของคนภาคอีสาน  อยู่ที่ 2,496 บาท/คน/เดือน
  • เส้นความยากคนของคนภาคเหนือ อยู่ที่ 2,467 บาท/คน/เดือน 
  • เส้นความยากจนที่ต่ำที่สุด เป็นของคน จ.พิจิตร 2,331 บาท/คน/เดือน (หรือ 78 บาท/คน/วัน)
  • ส่วนเส้นความยากจนของคน จ.ราชบุรี อยู่ที่ 2,812 บาท/คน/เดือน (หรือ 94 บาท/คน/วัน)
เส้นความยากจนนี้  อธิบายง่าย ๆ  คือ คนที่มีรายได้เฉพาะใช้สำหรับการบริโภคและอุปโภคสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดถือว่าเป็นคนจน เส้นความยากจนสากลของโลกที่กำหนดไว้ในเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) อยู่ที่ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/วัน (ประมาณ 42 บาท/คน/วัน) หรือ 1,260 บาท/คน/เดือน หมายถึง คนในโลกที่มีเงินใช้ต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นคนจน  หากใช้เกณฑ์มาตรฐานสากลนี้ มาใช้วัดกับคนไทย จะส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนคนจนลดลงอีกจำนวนมาก

สัดส่วนคนจน 
ในปี 2563 สัดส่วนคนจนของประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 6.84 ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นคนจนจำนวน 4,753,000 คน จังหวัดที่มีสัดสวนคนจนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
  • อันดับ 1 จ.ปัตตานี ร้อยละ 43.69 คิดเป็นจำนวนคนจน 283,800 คน
  • อันดับ 2 จ.แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 29.31 คิดเป็นจำนวนคนจน 70,000 คน
  • อันดับ 3 จ.นราธิวาส ร้อยละ 24.65 คิดเป็นจำนวนคนจน 179,800 คน
  • อันดับ 4 จ.กาฬสินธ์ ร้อยละ 23.79 คิดเป็นจำนวนคนจน 188,500 คน
  • อันดับ 5 จ.ระนอง ร้อยละ 21.32 คิดเป็นจำนวนคนจน 59,400 คน
  • อันดับ 6 จ.นครราชสีมา ร้อยละ 21.20 คิดเป็นจำนวนคนจน 531,500 คน
  • อันดับ 7 จ.นครพนม  ร้อยละ 20.03 คิดเป็นจำนวนคนจน 112,300 คน
  • อันดับ 8 จ.ตาก ร้อยละ 17.97 คิดเป็นจำนวนคนจน 96,100 คน
  • อันดับ 9 จ.ยะลา ร้อยละ 17.49 คิดเป็นจำนวนคนจน 83,000 คน
  • อันดับ 10 จ.ศรีสะเกษ ร้อยละ 16.72 คิดเป็นจำนวนคนจน 159,800 คน
  • อันดับ 48 จ.ราชบุรี ร้อยละ 4.65 คิดเป็นจำนวนคนจน 37,800 คน
จำนวนคนจน
หากคิดจำนวนคนจนที่อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ โดยไม่เปรียบเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว จะพบว่าจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
  • อันดับ 1 จ.นครรราชสีมา จำนวน 531,500 คน
  • อันดับ 2 จ.ปัตตานี จำนวน 283,800 คน
  • อันดับ 3 จ.อุบลราชธานี จำนวน 207,900 คน
  • อันดับ 4 จ.บุรีรัมย์ จำนวน 191,900 คน
  • อันดับ 5 จ.กาฬสินธ์ จำนวน 188,500 คน
  • อันดับ 6 จ.นราธิวาส จำนวน 179,800 คน
  • อันดับ 7 จ.ศรีสะเกษ จำนวน 159,800 คน
  • อันดับ 8 จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 146,700 คน
  • อันดับ 9 จ.สุรินทร์ จำนวน 146,300 คน
  • อันดับ 10 จ.อุดรธานี จำนวน 145,900 คน
  • อันดับ 39 จ.ราชบุรี จำนวน 37,800 คน
จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจน และจำนวนคนจนของประเทศไทย อยู่ใน 10 อันดับแรกซ้ำกัน มี 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ปัตตานี, จ.นราธิวาส, จ.กาฬสินธ์, จ.นครราชสีมา และ จ.ศรีสะเกษ ส่วนจังหวัดราชบุรีถือว่าเป็นจังหวัดที่อยู่อันดับกลาง ๆ 

ข้อสังเกต : ในปี 2562 เส้นความยากจนของ จ.ราชบุรี อยู่ที่ 2,825 บาท/คน/เดือน มีคนจนจำนวน 89,300 คน ต่อมาในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เส้นแบ่งความยากจนของ จ.ราชบุรี ลดลงมาอยู่ที่ 2,812 บาท (ลดลง 13 บาท) มีคนจนเหลือจำนวน 37,800 คน แสดงว่า จ.ราชบุรี มีจำนวนคนจนลดลงถึง 51,500 คน ข้อมูลนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่า แม้ในปี 2563 จะอยู่ในห้วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่คน จ.ราชบุรีก็ยังประคองตัวด้านเศรษฐกิจได้ดี 

ข้อสังเกตนี้ อาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะการคำนวณเส้นแบ่งความยากจน สัดส่วนคนจน และจำนวนคนจน น่าจะมีวิธีคำนวณจากปัจจัยอื่น ๆ  มากกว่านี้  คงต้องเฝ้าติดตามการรายงานข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 ต่อไป

*************
จัดทำโดย สถาบันราชบุรีศึกษา
16 ธ.ค.2564

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564

สรุปและวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง นายก อบต.ราชบุรี 2564

การเลือกตั้ง นายก และ ส.อบต. ของ จ.ราชบุรี ที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิถึงร้อยละ 79.71 แสดงให้เห็นว่าชาวราชบุรีมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง  อบต.ที่มีร้อยละของผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด ได้แก่ อบต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง ส่วนน้อยที่สุด ได้แก่ อบต.สี่หมื่น อ.ดำเนินสะดวก คะแนนเลือกตั้งของนายก อบต. ทั้ง 75 คน สูงสุดอยู่ที่  6,396 คะแนน และคะแนนต่ำสุด 615 คะแนน 


สถิติการเลือกตั้งของ จ.ราชบุรี หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่สำคัญ มีดังนี้
  • 24 มี.ค.2562 การเลือกตั้ง ส.ส. ผู้มาใช้สิทธิ์ คิดเป็นร้อยละ 81.93 (อันดับ 6 ของประเทศ) 
  • 20 ธ.ค.2563 การเลือกตั้ง นายก อบจ. และ สจ.ราชบุรี ผู้มาใช้สิทธิ์ คิดเป็นร้อยละ 68.13 (อันดับ 15 ของประเทศ) 
  • 28 มี.ค.2564 การเลือกตั้ง นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล  ผู้มาใช้สิทธิ คิดเป็นร้อยละ  78.18 (อันดับ 3 ของประเทศ) 
  • 28 พ.ย.2564 การเลือกตั้ง นายก และสมาชิกสภา อบต. ผู้มาใช้สิทธิ คิดเป็นร้อยละ 79.71 (ยังไม่ได้จัดอันดับ)
ค่าเฉลี่ยจำนวนชาวราชบุรีที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งในภาพรวมของการเลือกตั้งทั้ง 4 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 76.98 ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีความตื่นตัวทางด้านการเมืองอยู่ในระดับต้น ๆ  ของประเทศ

ภาพรวมการเลือกตั้ง อบต.ราชบุรี
การเลือกตั้ง นายก อบต. และสมาชิกสภา อบต. ของ จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา จ.ราชบุรี มีการเลือกตั้ง อบต. ทั้งหมด 75 แห่ง จาก 5,300 แห่งทั่วประเทศ สรุปข้อมูลที่สำคัญของ จ.ราชบุรี ได้ ดังนี้ 
  • จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 395,100 คน (คิดเป็นร้อยละ 43 ของประชากรทั้งจังหวัด)
  • จำนวนผู้มาใช้สิทธิ 314,930 คน (คิดเป็นร้อยละ 79.71 ของผู้มีสิทธิ)
  • จำนวนบัตรเสีย 16,880 ใบ (คิดเป็นร้อยละ 5.36 ของผู้มาใช้สิทธิ)
อบต.ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 10,000 คนขึ้นไป มีจำนวน 6 อบต.ได้แก่ 
  1. อบต.เจดีย์หัก (อ.เมือง) ผู้มีสิทธิ 15,898 คน (มาใช้สิทธิ 69.95%)
  2. อบต.ดอนกรวย (อ.ดำเนินสะดวก) ผู้มีสิทธิ 12,125 คน (มาใช้สิทธิ 71.35%)
  3. อบต.ดอนตะโก (อ.เมือง) ผู้มีสิทธิ 12,025 คน (มาใช้สิทธิ 68.61%)
  4. อบต.ปากแรต (อ.บ้านโป่ง) ผู้มีสิทธิ 11,095 คน (มาใช้สิทธิ 76.23%)
  5. อบต.เขาขลุง (อ.บ้านโป่ง) ผู้มีสิทธิ 10,580 คน (มาใช้สิทธิ 89.14%)
  6. อบต.สวนกล้วย (อ.บ้านโป่ง) ผู้มีสิทธิ  10,050 คน (มาใช้สิทธิ 80.35%)
อบต.ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่ำกว่า 2,500 คน มีจำนวน 4 อบต. ได้แก่
  1. อบต.สี่หมื่น (อ.ดำเนินสะดวก) ผู้มีสิทธิ 2,447 คน (มาใช้สิทธิ 67.63%)
  2. อบต.หนองโพ (อ.โพธาราม) ผู้มีสิทธิ 2,275 คน (มาใช้สิทธิ 89.01%)
  3. อบต.บ่อกระดาน (อ.ปากท่อ) ผู้มีสิทธิ 2,162 คน (มาใช้สิทธิ 88.58%)
  4. อบต.วัดยางงาม (อ.ปากท่อ) ผู้มีสิทธิ 1,928 คน (มาใช้สิทธิ 81.02%)
ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ
ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิในภาพรวมทั้งจังหวัด คิดเป็นร้อยละ 79.71  จำนวน อบต.ที่มีร้อยละของผู้มาใช้สิทธิเกินร้อยละ 80 มีทั้งสิ้น 43 แห่งจาก 75 แห่ง สามารถเรียง 5 อันดับแรก ได้ดังนี้
  • อันดับ 1 อบต.เขาขลุง (อ.บ้านโป่ง) ผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 89.14
  • อันดับ 2 อบต.หนองโพ (อ.โพธาราม) ผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 89.01
  • อันดับ 3 อบต.บางป่า (อ.เมือง) ผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 88.70
  • อันดับ 4 อบต.ดอนใหญ่ (อ.บางแพ) ผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 88.60
  • อันดับ 5 อบต.บ่อกระดาน (อ.ปากท่อ) ผู้มาใช้สิทธิ ร้อยะละ 88.58
จำนวน อบต.ที่มีร้อยละของผู้มาใช้สิทธิต่ำกว่า ร้อยละ 70 จำนวน 6 แห่ง ได้แก่
  • อันดับ 70 อบต.เจดีย์หัก (อ.เมือง) ผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 69.95
  • อันดับ 71 อบต.สวนผึ้ง (อ.สวนผึ้ง) ผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 69.52
  • อันดับ 72 อบต.เกาะพลับพลา (อ.เมือง) ผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 69.00
  • อันดับ 73 อบต.ดอนตะโก (อ.เมือง) ผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 68.61
  • อันดับ 74 อบต.บ้านไร่ (อ.เมือง) ผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 68.16
  • อันดับ 75 อบต.สี่หมื่น (อ.ดำเนินสะดวก) ผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 67.63
(หมายเหตุ***  ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ มักแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวทางการเมืองของประชากรใน  อบต.นั้น ๆ แต่อาจไม่เสมอไป  เพราะอาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผู้มีสิทธิไม่สามารถมาใช้สิทธิเลือกตั้งได้)


คะแนนเลือกตั้ง นายก อบต.
นายก อบต.ของ จ.ราชบุรี ที่ได้รับการเลือกตั้งครั้งนี้ มีจำนวน 75 คน เป็นอดีต นายก อบต.คนเก่า 26 คน และนายก อบต.คนใหม่ 49 คน สำหรับ นายก อบต.ที่ได้คะแนนเลือกตั้งสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่
  • อันดับ 1 นายพัลลภ โฆสิตาภา นายก อบต.ดอนกรวย (อ.ดำเนินสะดวก) 6,939 คะแนน ร้อยละ 80.21 ของผู้มาใช้สิทธิ
  • อันดับ 2 นายสมบัติ  เทพรส นายก อบต.เขาขลุง (อ.บ้านโป่ง) 5,522 คะแนน ร้อยละ 58.55 ของผู้มาใช้สิทธิ
  • อันดับ 3 น.ส.วิลาสินี  สุพานิชวรภาชน์ นายก อบต.เจดีย์หัก (อ.เมือง) 5,506 คะแนน ร้อยละ 49.51 ของผู้มาใช้สิทธิ
  • อันดับ 4 นายประกอบ  จิวจินดา นายก อบต.ด่านทับตะโก (อ.จอมบึง) 5,294 คะแนน ร้อยละ 83.17 ของผู้มาใช้สิทธิ
  • อันดับ 5 น.ส.สาคร  เลิศชุติมากุล นายก อบต.หนองกบ (อ.บ้านโป่ง) 5,192 คะแนน ร้อยละ 62.29 ของผู้มาใช้สิทธิ
  • อันดับ 6 นายประยงค์  พิมเพราะ นายก อบต.คูบัว (อ.เมือง) 4,436 คะแนน ร้อยละ 59.83 ของผู้มาใช้สิทธิ
  • อันดับ 7 นายสรวุฒิ มาประดิษฐ์กุล นายก อบต.แก้มอ้น (อ.จอมบึง) 4,397 คะแนน ร้อยละ 71.75 ของผู้มาใช้สิทธิง
  • อันดับ 8 นายพินิจ ร่มโพรีย์ นายก อบต.บ้านบึง (อ.บ้านคา) 4,264 คะแนน ร้อยละ 81.16 ของผู้มาใช้สิทธิ
  • อันดับ 9 นายบุญฤทธิ์  โจสรรค์นุสนธิ์ นายก อบต.แพงพวย (อ.ดำเนินสะดวก) 4,257 คะแนน ร้อยละ 82.20 ของผู้มาใช้สิทธิ
  • อันดับ 10 นายวินัย  เช็งสวย นายก อบต.ปากช่อง (อ.จอมบึง) 4,203 คะแนน ร้อยละ 69.41 ของผู้มาใช้สิทธิ
นายก อบต. ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งต่ำกว่า 1,000 คะแนน ได้แก่ 
  • นายโกศล  นาคสิงห์ นายก อบต.วัดยางงาม (อ.ปากท่อ) 615 คะแนน ร้อยละ 39.37 ของผู้มาใช้สิทธิ
  • นายประสงค์ ลิมปนวิสุทธิ์ นายก อบต.วัดเพลง (อ.วัดเพลง) 882 คะแนน ร้อยละ 39.22 ของผู้มาใช้สิทธิ
  • นายสมชาย ชมพูเทศ นายก อบต.บ่อกระดาน (อ.ปากท่อ) 977 คะแนน ร้อยละ 51.02 ของผู้มาใช้สิทธิ
(หมายเหตุ*** คะแนนที่ นายก อบต. แต่ละท่านได้รับ เป็นอิสระซึ่งกันและกัน ขึ้นอยู่กับ จำนวนผู้มีสิทธิ ผู้มาใช้สิทธิ  และอัตราการแข่งขันใน อบต.นั้น ๆ  โดยสังเกตได้จากร้อยละของคะแนนดิบที่คำนวณจากจำนวนผู้ที่มาใช้สิทธิ อบต.ใดที่มีการแข่งขันสูง คะแนนที่ผู้ชนะได้รับมักต่ำกว่า ร้อยละ 50 ของผู้มาใช้สิทธิ เช่น อบต.เจดีย์หัก ผู้ชนะได้คะแนน เพียงร้อยละ 49.51 ของผู้มาใช้สิทธิ, อบต.วัดเพลง ผู้ชนะได้คะแนนเพียงร้อยละ 39.22 ของผู้มาใช้สิทธิ เป็นต้น)

จำนวนบัตรเสีย
บัตรเสีย มีจำนวน 16,880 ใบ คิดเป็ยร้อยละ 5.36 ของผู้มาใช้สิทธิ โดย อบต. ที่มีบัตรเสียเกิน ร้อยละ 10 มีจำนวน 9 แห่ง เรียงจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 
  • อันดับ 1 อบต.ปากช่อง (อ.จอมบึง) บัตรเสีย ร้อยละ 17.89
  • อันดับ 2 อบต.แก้มอ้น (อ.จอมบึง) บัตรเสีย ร้อยละ 16.82
  • อันดับ 3 อบต.บ้านบึง (อ.บ้านคา) บัตรเสีย ร้อยละ 13.21
  • อันดับ 4 อบต.เตาปูน (อ.โพธาราม) บัตรเสีย ร้อยละ 12.26
  • อันดับ 5 อบต.ด่านทับตะโก (อ.จอมบึง) บัตรเสีย ร้อยละ 11.83
  • อันดับ 6 อบต.ดอนกรวย (อ.ดำเนินสะดวก) บัตรเสีย ร้อยละ 10.87
  • อันดับ 7 อบต.ชำแระ (อ.โพธาราม) บัตรเสีย ร้อยละ 10.75
  • อันดับ 8 อบต.แพงพวย (อ.ดำเนินสะดวก) บัตรเสีย ร้อยละ 10.70
  • อันดับ 9 อบต.ท่าเคย (อ.สวนผึ้ง) บัตรเสีย ร้อยละ 10.01
(หมายเหตุ*** จำนวนบัตรเสีย แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในการกาบัตรของผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีมาจากหลายสาเหตุ )

สรุปท้าย
การเลือกตั้ง นายก อบต.และสมาชิกสภา อบต.ของ จ.ราชบุรีในครั้งนี้ มีร้อยละของผู้มาใช้สิทธิถึง 79.71 แสดงให้เห็นว่าชาวราชบุรี มีความตื่นตัวทางการเมืองระดับท้องถิ่นอยู่ในระดับมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีบัตรเสียอยู่จำนวนมาก  ถึง 16,880 ใบ คิดเป็นร้อยละ 5.36 ซึ่งไม่ทราบว่าลักษณะบัตรที่เสียนั้น มาจากสาเหตุอะไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ หาสาเหตุที่แท้จริงและนำมาปรับปรุงแก้ไข ในการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

***********************
จัดทำโดย สถาบันราชบุรีศึกษา : 1 ธ.ค.2564

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ใครเป็นใคร ในการเลือกตั้ง "อบต.ราชบุรี -2564" ทั้ง 75 แห่ง

ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.2564 ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้ง นายก อบต. และสมาชิก อบต. ทั่วประเทศ จำนวน 5,300 แห่ง หลังจากที่ไม่ได้เลือกกันมาเป็นเวลาถึง 8 ปี


สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้สรุปยอดผู้สมัครรับสมัครเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค.2564 ว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศ 76 จังหวัด รวม 136,250 คน แบ่งเป็น 1) ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. 12,309 คน และ 2) ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. 123,941 คน

การเลือกตั้งแลดูเงียบเหงา
การเลือกตั้ง อบต.ใน พ.ศ.2564 ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี เพื่อเลือกนายก อบต. 5,300 คน และสมาชิกสภา อบต. 56,641 คน หลังครบวาระดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งให้ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้ง อบต. เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด แต่ทำไมกลับแลดูเงียบเหงา อาจเป็นเพราะ อบต. "ไกลสื่อ" สื่อเองก็ไม่รู้จะไปจับประเด็นตรงไหน สัมภาษณ์ใคร มันแตกกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก ทำให้การเลือกตั้ง อบต. จึงไม่ค่อยเป็นข่าว นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า การเลือกตั้ง อบต.ไม่ค่อยสำคัญ เป็นเพราะโครงสร้างรัฐไทยไม่เอื้อให้ท้องถิ่นแสดงบทบาท รัฐไทยสร้างให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาคเข้มแข็งมากจนไปกดทับและกดขี่ท้องถิ่น ท้องถิ่นจึงไม่แข็งแรงและไม่เติบโต

อบต.เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กที่สุด แต่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เนื่องจากมีภารกิจสำคัญ คือ การจัดบริการสาธารณะให้แก่คนในท้องที่ การรักษาความสะอาดถนน ทางน้ำ ทางเดิน ที่สาธารณะ, กำจัดขยะมูลฝอย, ป้องกันและระงับโรคติดต่อ, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม, ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ, คุ้มครองดูแลบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น 

รายได้ของ อบต. มาจาก 4 แหล่งสำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้, รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้, รายได้ที่รัฐจัดเก็บแล้วแบ่งให้ และภาษีที่ อบต. จัดเก็บได้เอง 

ในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา อบต. ที่มีรายได้มากที่สุดของประเทศคือ อบต.บางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ มีรายได้ 638 ล้านบาท ขณะที่ อบต.แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช มีรายได้ต่ำที่สุดของประเทศ 15.91 ล้านบาท นั่นหมายความว่า 2 อบต. นี้มีรายได้ต่างกันกว่า 50 เท่า รายได้เฉลี่ยของ อบต. ทั้ง 5,300 แห่ง พบว่าอยู่ที่ 45.70 ล้านบาท และเชื่อว่ารายได้ของท้องถิ่นจะลดลงไปกว่านี้อีก เนื่องจากรัฐบาลประกาศลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% เป็นเวลา 3 ปีติดกัน เพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. 2564 : ออนไลน์)

เงินเดือนใหม่นายก อบต. และ สมาชิกสภา อบต. 
ในแต่ละ อบต. ให้มีนายก อบต. 1 คน และ สมาชิกสภา อบต. 6 คน ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีบัญชีอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนใหม่ ดังภาพด้านล่าง (กรุงเทพธุรกิจ. 2564 : ออนไลน์)


ใครเป็นใคร ในการเลือกตั้งนายกฯ และ ส.อบต. ทั้ง 75 แห่ง
จังหวัดราชบุรีมี อบต. จำนวนทั้งสิ้น 75 แห่ง เรียงตามอำเภอจากมากไปหาน้อย ดังนี้
  • อ.เมือง จำนวน 16 แห่ง ได้แก่ อบต.เกาะพลับพลา, เขาแร้ง, คุ้งกระถิน, คุังน้ำวน, คูบัว, เจดีย์หัก, ดอนตะโก, ดอนแร่, ท่าราบ, น้ำพุ, บางป่า, บ้านไร่, พิกุลทอง, สามเรือน, หนองกลางนา และห้วยไผ่
  • อ.บ้านโป่ง จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ อบต.เขาขลุง, คุ้งพยอม, ดอนกระเบื้อง, นครชุมน์, บ้านม่วง, ปากแรต, ลาดบัวขาว, สวนกล้วย, หนองกบ, หนองปลาหมอ และหนองอ้อ
  • อ.โพธาราม จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ อบต.เขาชะงุ้ม, คลองข่อย, ชำแระ, ดอนกระเบื้อง, เตาปูน, ท่าชุมพล, ธรรมเสน, บางโตนด, สร้อยฟ้า, หนองกวาง และหนองโพ
  • อ.ปากท่อ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ อบต.ดอนทราย, บ่อกระดาน, ปากท่อ, ป่าไก่, ยางหัก, วังมะนาว, วัดยางงาม, หนองกระทุ่ม, ห้วยยางโทน และอ่างหิน
  • อ.ดำเนินสะดวก จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ อบต.ขุนพิทักษ์, ดอนกรวย, ดอนคลัง, ดอนไผ่, ตาหลวง, ท่านัด, แพงพวย และสี่หมื่น
  • อ.จอมบึง จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อบต.แก้มอ้น, ด่านทับตะโก, เบิกไพร, ปากช่อง และรางบัว
  • อ.สวนผึ้ง จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อบต.ตะนาวศรี, ท่าเคย, ป่าหวาย และสวนผึ้ง
  • อ.บางแพ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อบต.ดอนคา, ดอนใหญ่, วัดแก้ว และหัวโพ
  • อ.บ้านคา จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อบต.บ้านคา, บ้านบึง และหนองพันจันทร์
  • อ.วัดเพลง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อบต.เกาะศาลพระ, จอมประทัด และวัดเพลง
ผมพยายามหาข้อมูลผู้สมัครชิง นายก อบต.ฯ และสมาชิกสภา อบต. ทั้ง 75 แห่งใน จ.ราชบุรี มาตั้งแต่หลัง กกต. ประกาศผลการรับสมัคร แต่แทบไม่มีข้อมูลใด ๆ ปรากฏเลย ทั้งในเว็บไซต์และโซเซียลมีเดียทั้งหลายของ กกต.กลาง และ กกต.ราชบุรี ดูเหมือนว่า กกต.จะสอบตกด้านการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน

สุดท้ายผมได้ข้อมูลผู้สมัครจากการประกาศในเว็บไซต์ของ อบต.เอง เพียง 13 แห่งจากทั้งหมด 75 แห่งของ จ.ราชบุรี จึงได้แค่รวบรวมข้อมูลเฉพาะผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบต. มาได้เพียงเท่านี้ ส่วน อบต.ที่เหลืออีก 62 แห่ง ไม่ได้ลงประกาศในเว็บไซต์ของ อบต.เอง ซึ่งต้องถือเป็นความบกพร่องของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อบต. ที่ไม่ลงประกาศรายชื่อผู้สมัครฯ ในเว็บไซต์ของ อบต.นั้น ๆ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ และ ปลัด อบต. ที่ปฎิบัติหน้าที่ นายก อบต. ก็ไม่ได้ทักท้วงหรือติดตามแต่อย่างใด 














การเลือกตั้ง อบต.ราชบุรี 2564 ในครั้งนี้ จึงสืบค้นข้อมูลมาได้เพียงเท่านี้ครับ แม้แต่สถิติที่ว่ามีผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบต. มีจำนวนกี่คน และผู้สมัครสมาชิกสภา อบต.มีจำนวนกี่คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละ อบต. มีจำนวนกี่คน ก็ไม่สามารถสืบค้นหาข้อมูลได้ ผมได้ขอข้อมูลไปทางอีเมลของ กกต.ราชบุรี (ratchaburi@ect.go.th) แล้ว ก็ไม่มีการให้ข้อมูลส่งกลับมาแต่ใด

การเลือกตั้ง อบต.ราชบุรี 2564 ในครั้งนี้ ขอให้ผู้มีสิทธืเลือกตั้ง ไปใช้สิทธิกันให้มาก ๆ นะครับ เพราะนายก อบต. และสมาชิกสภา อบต.เป็นผู้แทนของท่านที่ท่านใกล้ชิดมากที่สุด และมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนระดับรากหญ้าทุกคนในพื้นที่ จ.ราชบุรี 



*******************
จัดทำโดย สถาบันราชบุรีศึกษา 
24 พ.ย.2564

ที่มาข้อมูล
  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (2564). เลือกตั้ง อบต. 2564 : ท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด แต่การเลือกตั้งกลับ “เงียบเหงาที่สุด”. BBC News. https://www.bbc.com/thai/thailand-59385213.
  • กรุงเทพธุรกิจ. (2564)."เลือกตั้ง อบต." ส่องรายได้ 4 ปี กางบัญชีเงินเดือน "อบต." 5.3 พันแห่ง. https://www.bangkokbiznews.com/news/967243

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ถึงเวลาทบทวนคำขวัญของ จ.ราชบุรี แล้วหรือยัง?

คำขวัญประจำจังหวัด เป็นคำขวัญที่แต่ละจังหวัดในประเทศไทยแต่งขึ้น เพื่อบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ความภาคภูมิใจ และความโดดเด่นที่มีอยู่ในจังหวัดของตัวเอง มักเป็นถ้อยคำคล้องจองสั้น ๆ  เพื่อให้จดจำง่าย แต่งขึ้นเพื่อเตือนใจ สะกิดใจ และให้ระลึกได้ 

ความเป็นมา
ในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม  ติณสูลานนท์ ได้ประกาศให้ "ปี พ.ศ. 2530 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย"  โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2531 จึงได้ริเริ่มให้มีคำขวัญประจำจังหวัดขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางไปท่องเที่ยว ได้มีความรู้ความเข้าใจในจังหวัดนั้น ๆ รัฐบาลจึงกำหนดให้ทุกจังหวัดคิดค้นคำขวัญประจำจังหวัดของตนขึ้น โดยมุ่งให้มีสาระเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ  ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนได้นำคำขวัญไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป

ปัจจุบันนอกจากจะมีคำขวัญประจำจังหวัด ยังมีการจัดทำคำขวัญประจำอำเภอ ประจำตำบล ประจำหมู่บ้าน อีกด้วย ทั้งนี้แต่ละคำขวัญในทุกระดับยังคงมีวัตถุประสงค์หลักเดียวกัน คือ เพื่อการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ



คำขวัญต่าง ๆ ในราชบุรี
ลองมาดูคำขวัญต่าง ๆ  ใน จ.ราชบุรี ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปถึงระดับอำเภอ ทั้ง 10 อำเภอ อาจจะทำหลายคนให้เห็นความหลากหลายของคำขวัญพอสมควร ดังนี้

คำขวัญจังหวัดราชบุรี
คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี

คำขวัญ อ.เมือง
เมืองเกษตรกรรม พิพิธภัณฑ์ล้ำค่า เขาแก่นจันทน์เด่นสง่า ตระการตาผ้าทอมือ เลื่องลือแหล่งอารยธรรม

คำขวัญ อ.บ้านโป่ง
เมืองคนงาม สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ย่านการค้าอุตสาหกรรม

คำขวัญ อ.ดำเนินสะดวก
เมืองสองฝั่งคลองประวัติศาสตร์ เสด็จประพาสต้น ร.5 เลื่องลือชาองุ่นหวาน ชาวบ้านน้ำใจงาม ล้นหลามผัก ผลไม้รายได้หลัก เรารักตลาดน้ำดำเนิน

คำขวัญ อ.บางแพ
เป็ดพะโล้ระบือนาม กุ้งก้ามกรามชื่อนิยม อีกโคนมพันธุ์ดี ประเพณีไทยทรงดำ แหล่งเพาะชำไม้ดอก สินค้าออกเห็ดนานาพันธุ์

คำขวัญ อ.โพธาราม
คนสวยโพธาราม แหล่งฟาร์มสุกร  หนังใหญ่วัดขนอน ที่นอนล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดโคนม ชมค้างคาวร้อยล้าน

คำขวัญ อ.วัดเพลง 
ถิ่นเพลงปรบไก่ แควอ้อมใสไหลผ่าน ย่านผลไม้รสดี มากมีขนมโบราณ นมัสการเจ้าพ่อหลักหิน งามศิลป์โบสถ์ร้อยปี

คำขวัญ อ.ปากท่อ
เพลงเขมรปากท่อ เหล่ากอไทยทรงดำ วัฒนธรรมกะเหรี่ยง เสียงน้ำตกไทยประจัน แหล่งพันธุ์ไม้ผล ถิ่นคนน้ำใจงาม มากฟาร์มสุกร พระนอนเขาถ้ำทะลุ

คำขวัญ อ.จอมบึง
บูชา ร.5 ตรึงตาถ้ำจอมพล เที่ยวชมบึงใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพัฒนาท้องถิ่น งามผ้าซิ่นตีนจก

คำขวัญ อ.สวนผึ้ง
สาวกะเหรี่ยงเคียงถิ่นตะนาวศรี ลำภาชีแก่งส้มแมวแนวหินผา ธารน้ำร้อนบ่อคลึงตรึงติดตา น้ำผึ้งป่าหวานซึ้งติดตรึงใจ

คำขวัญ อ.บ้านคา
สับปะรดหวานฉ่ำ งามล้ำตะนาวศรี มากมีแร่ธาตุ กราบอัฐิหลวงปู่เทสก์ แดนนิเวศน์เชิงคีรี ถิ่นคนดีชายแดน

ถึงเวลาทบทวนคำขวัญหรือยัง? 
จังหวัดราชบุรี ใช้คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรี มาตั้งแต่ พ.ศ.2530  จนปัจจุบันเป็นระยะเวลา 34 ปีแล้ว  ท่ามกลางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของจังหวัดที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรีที่ใช้อยู่เดิมบางคำไม่สอดคล้องกับศักยภาพปัจจุบันของจังหวัด และไม่สื่อให้เห็นถึงความเป็นจังหวัดราชบุรีที่ชัดเจน 

คำขวัญที่ดี  ควรสามารถแสดงความเป็นเจ้าของ  ต้องบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ความภาคภูมิใจ และความโดดเด่นของจังหวัด  สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านเศรษฐกิจ และเป็นข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ อย่างเป็นรูปธรรม คำขวัญของจังหวัดราชบุรี และคำขวัญประจำอำเภอทั้ง 10 อำเภอ พอจะแยกแยะแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ ดังนี้
  1. กลุ่มประเพณี ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ได้แก่ วัดขนอนหนังใหญ่ (จ.ราชบุรี) ประเพณีไทยทรงดำ (อ.บางแพ) หนังใหญ่วัดขนอน (อ.โพธาราม) ถิ่นเพลงปรบไก่ นมัสการเจ้าพ่อหลักหิน  งามศิลป์โบสถ์ร้อยปี (อ.วัดเพลง) เพลงเขมรปากท่อ เหล่ากอไทยทรงดำ  วัฒนธรรมกะเหรี่ยง พระนอนเขาถ้ำทะลุ (อ.ปากท่อ) สาวกะเหรี่ยงเคียงถิ่นตะนาวศรี (อ.สวนผึ้ง) กราบอัฐิหลวงปู่เทสก์ (อ.บ้านคา) 
  2. กลุ่มสินค้า และการเกษตร ได้แก่ เมืองโอ่งมังกร  ตลาดน้ำดำเนิน (จ.ราชบุรี) เมืองเกษตรกรรม ตระการตาผ้าทอมือ (อ.เมือง) ย่านการค้าอุตสาหกรรม (อ.บ้านโป่ง) เลืองลือชาองุ่นหวาน ล้นหลามผัก ผลไม้รายได้หลัก (อ.ดำเนิน) เป็ดพะโล้ระบือนาม กุ้งก้ามกรามชื่อนิยม อีกโคนมพันธุ์ดี แหล่งเพราะชำไม้ดอก สินค้าออกเห็ดนานาพันธุ์ (อ.บางแพ) แหล่งฟาร์มสุกร ที่นอนล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดโคนม (อ.โพธาราม) ย่านผลไม้รสดี มากมีขนมโบราณ (อ.วัดเพลง) แหล่งพันธุ์ผลไม้ มากฟาร์มสุกร  (อ.ปากท่อ) งามผ้าซิ่นตีนจก (อ.จอมบึง) น้ำผึ้งป่าหวานซึ้งติดตรึงใจ (อ.สวนผึ้ง) สับปะรดหวานฉ่ำ มากมีแร่ธาตุ  (อ.บ้านคา) 
  3. กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้แก่ ตื่นใจถ้ำงาม เพลินค้างคาวร้อยล้าน (จ.ราชบุรี) เขาแก่นจันทน์เด่นสง่า (อ.เมือง) ชมค้างคาวร้อยล้าน (อ.โพธาราม) แควอ้อมใสไหลผ่าน (อ.วัดเพลง) เสียงน้ำตกไทยประจัน (อ.ปากท่อ) ตรึงตราถ้ำจอมพล (อ.จอมบึง) ลำภาชีแก่งส้มแมวแนวหินผา ธารน้ำร้อนบ่อคลึงตรึงติดตา  (อ.สวนผึ้ง)  งามล้ำตะนาวศรี แดนนิเวศน์เชิงคีรี (อ.บ้านคา) 
  4. กลุ่มประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ล้ำค้า (อ.เมือง) สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน (อ.บ้านโป่ง) เมืองสองฝั่งคลองประวัติศาสตร์ เสด็จประพาสต้น ร.5 (อ.ดำเนิน) บูชา ร.5 (อ.จอมบึง)
  5. กลุ่มที่เป็นนามธรรม ไม่สามารถจับต้องได้ เสี่ยงต่อความขัดแย้งกับข้อเท็จจริง  เช่น ย่านยี่สกปลาดี  คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง (จ.ราชบุรี)  เลื่องลือแหล่งอารยธรรม (อ.เมือง) เมืองคนงาม (อ.บ้านโป่ง)  ชาวบ้านน้ำใจงาม เรารักตลาดน้ำดำเนิน (อ.ดำเนิน)  ถิ่นคนน้ำใจงาม (อ.ปากท่อ) เที่ยวชมบึงใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพัฒนาท้องถิ่น (อ.จอมบึง)  ถิ่นคนดีชายแดน (อ.บ้านคา)
คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรี  ควรมีลักษณะที่แสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ ความเป็นเจ้าของ และมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จับต้องได้จริง เป็นเป้าหมายในการพัฒนาของทุกภาคส่วนไปให้สู่จุดนั้น  ในปัจจุบันมีคำหลายคำ ที่ควรถูกบรรจุไว้ในคำขวัญของจังหวัดราชบุรีเสียใหม่ เช่น คำว่า  แปดชาติพันธุ์ (ทั้งจังหวัด)   หัวไชโป้ว (โพธาราม)  เทือกเขาตะนาวศรี ไอหนาว หมอกขาว ป่าเขียว (อ.บ้านคา, อ.สวนผึ้ง)  วิถีชีวิตและวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลอง (บ้านโป่ง, โพธาราม, อ.เมือง , อ.วัดเพลง)   อู่ต่อรถบัส รถบรรทุก (บ้านโป่ง) เป็นต้น 

การทบทวนคำขวัญของจังหวัดนั้น สามารถทำได้ ดังที่หลายจังหวัด เช่น พัทลุง ประจวบคิรีขันธ์ ได้ทำมาแล้ว โดยจัดตั้งในรูปแบบของ "คณะกรรมการทบทวนและปรับปรุงคำขวัญของจังหวัดราชบุรี" โดยเชิญผู้แทนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกรรมการ และเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประกวดคำขวัญ  

คำขวัญใหม่ของจังหวัดราชบุรี ควรเป็นคำขวัญที่ใช้สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว และส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาได้อย่างแท้จริง และให้มันมีมูลค่าเพิ่มในตัวของมันเอง

หากคุณไม่เปลี่ยนเสียตั้งแต่บัดนี้
สุดท้าย โลกจะบีบบังคับให้คุณต้องเปลี่ยนตัวเองในที่สุด

****************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
17 พ.ย.2564

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ผลการสำรวจ : พ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะเปิดโรงเรียนตามปกติ (แบบ On-site)

พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ใน จ.ราชบุรี ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะเปิดโรงเรียนตามปกติ (แบบ On-site) ในช่วงเวลานี้ เพราะเห็นว่ายังมีระดับความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอยู่มาก และยังไม่มีความมั่นใจต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ของโรงเรียน ส่วนด้านนักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่อยากมาโรงเรียน และครูอาจารย์มีความพร้อมสอนอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด


ราชบุรีโพล โดย สถาบันราชบุรีศึกษา ได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ  "การเปิดโรงเรียนและสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี ตามปกติ ( On-site) ในช่วงเวลานี้" ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่ง จ.ราชบุรี ยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสุงสุด (สีแดง) โดยโรงเรียนและสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี หลายแห่ง จะเริ่มทยอยเปิดการเรียนการสอนตามปกติ (On-site) ในวันที่ 15 พ.ย.2564 เป็นต้นไป

โดยทำการสำรวจแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 3-10 พ.ย.2564 สรุปผลการสำรวจมีระดับความเชื่อมั่น 95% และค่าความคลาดเคลื่อน + 3% (ตารางสำเร็จรูปของ ทาโร ยามาเน่ (Yamane)) แยกรายละเอียด ดังนี้

ผู้ตอบแบบสำรวจฯ จำนวน 1,429 คน 
จากประชากร จ.ราชบุรี 918,674 คน แยกสถานะเป็น
  • พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง จำนวน 557 คน คิดเป็นร้อย 39
  • ครู/อาจารย์/ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 105 คน คิดเป็นร้อยละ 7.3
  • นักเรียน นักศึกษา จำนวน 620  คน คิดเป็นร้อยละ 43.4 
  • ประชาชนทั่วไป จำนวน 147 คน คิดเป็นร้อยละ 10.3 
ความคิดเห็นของพ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง
(จำนวนผู้ตอบแบบสำรวจ 557 คน)
  • ไม่เห็นด้วยที่จะเปิดโรงเรียนและสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี ตามปกติ ( On-site) ในช่วงเวลานี้ จำนวน 386 คน คิดเป็นร้อยละ 69.3
  • ในด้านความมั่นใจ ของพ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง ที่มีต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่บุตรหลานจะไปเรียน 
    • มั่นใจมากที่สุด ร้อยละ 22.6
    • มั่นใจมาก ร้อยละ 9.7
    • มั่นใจปานกลาง ร้อยละ 30.5
    • มั่นใจน้อย ร้อยละ 22.6
    • ไม่มั่นใจเลย ร้อยละ 32.1
  • ความคิดเห็นด้านการเรียนแบบออนไลน์ที่ผ่านมา ได้ผลดีมากน้อยแค่ไหนต่อบุตรหลานของท่าน
    • ได้ผลดีมาก คิดเป็นร้อยละ 2.9
    • ได้ผลดี คิดเป็นร้อยละ 15.8
    • ได้ผลปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 46.1
    • ได้ผลน้อย คิดเป็นร้อยละ 27.3
    • ไม่ได้ผลเลย คิดเป็นร้อยละ 7.9
ความคิดเห็นของ ครู/อาจารย์/ผู้บริหารสถานศึกษา
(จำนวนผู้ตอบแบบสำรวจ 105 คน)
  • ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาของท่าน ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง มีสถานะการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มตามเกณฑ์ ในข้อใด
    • ฉีดครบ 2 เข็มทุกคนแล้ว คิดเป็นร้อยละ 21.0
    • ฉีดครบ 2 เข็ม มากกว่าร้อยละ 85 คิดเป็นร้อยละ 63.8
    • ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ต่ำกว่าร้อยละ 85 คิดเป็นร้อยละ 15.2
  • ท่านมั่นใจในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาของท่าน มากน้อยแค่ไหน
    • มั่นใจมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 8.6
    • มั่นใจมาก คิดเป็นร้อยละ 21.9
    • มั่นใจปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 44.8
    • มั่นใจน้อย คิดเป็นร้อยละ 13.3
    • ไม่มั่นใจเลย คิดเป็นร้อยละ 11.4
  • ตัวท่านมีความพร้อมหรือไม่ ที่จะเปิดการเรียนการสอนตามปกติ (On-site) ในช่วงเวลานี้
    • พร้อมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 8.6
    • พร้อมมาก คิดเป็นร้อยละ 19
    • พร้อม คิดเป็นร้อยละ 39.0
    • ไม่ค่อยพร้อม คิดเป็นร้อยละ 26.7
    • ไมพร้อมเลย คิดเป็นร้อยละ 6.7
ความคิดเห็นของนักเรียน  นักศึกษา
(จำนวนผู้ตอบแแบสำรวจ 620 คน)
  • สถานะการฉีควัคซีนของตัวนักเรียน นักศึกษา
    • ยังไม่ได้ฉีด  คิดเป็นร้อยละ 8.2
    • ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว คิดเป็นร้อยละ 49.5
    • ฉีดเข็มที่ 2 ครบตามเกณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 42.1
    • ฉีดเข็มที่ 3 ไม่มี
  • นักเรียน นักศึกษา คิดว่าการเรียนแบบ Online, On Air, On Demand, On hand ที่ผ่านมา มีผลดีต่อการเรียนของตัวท่านเอง มากน้อยแค่ไหน
    • ได้ผลดีมาก คิดเป็นร้อยละ 4.8
    • ได้ผลดี คิดเป็นร้อยละ 15.6
    • ได้ผลปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 43.4
    • ได้ผลน้อย คิดเป็นร้อยละ 28.1
    • ไม่ได้ผลเลย คิดเป็นร้อยละ 8.1
  • นักเรียน นักศึกษา อยากให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาของท่าน เปิดการเรียนการสอนตามปกติ (On- site) หรือไม่
    • อยากมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 33.5
    • อยากมาก คิดเป็นร้อยละ 25.2
    • เฉยๆ คิดเป็นร้อยละ 22.4
    • ไม่อยาก อยากให้เรียนออนไลน์แบบเดิม คิดเป็นร้อยละ 17.3
  • นักเรียน นักศึกษา มีความมั่นใจในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของโรงเรียนหรือสถานศึกษาตัวเอง มากน้อยแค่ไหน
    • มั่นใจมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 14.7
    • มั่นใจมาก  คิดเป็นร้อยละ 27.4
    • มั่นใจปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 39.7
    • มั่นใจน้อย คิดเป็นร้อยละ 9.5
    • ไม่มั่นใจเลย คิดเป็นร้อยละ 8.7
  • ความเห็นอื่น ๆ
    • อยากให้โควิดหายแล้วค่อยเปิด
    • เปิดก็ดีครับ อยากเจอหน้าครู
    • อีกใจหนึ่งก็อยาก อีกใจหนึ่งก็กลัว
    • อยากมาก แต่ก็กลัวเพราะมันเสี่ยงเกินไป
    • ไม่อยากเปิด แต่เรียนออนไลน์ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่
    • อยากให้เปิด แต่ก็กลัวเพราะต่างคนต่างมา จากพื้นที่ต่างกัน
    • นักเรียนมีภูมิป้องกันตัวเองได้ แต่อาจเป็นพาหะนำโรคไปยังผู้สูงอายุที่บ้านได้
    • อยากไปเรียน แต่จะไม่ยอมฉีดวัคซีน เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล
ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป
(จำนวนผู้ตอบแบบสำรวจ 147 คน)
  • ไม่เห็นด้วยที่จะเปิดโรงเรียนและสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี ตามปกติ ( On-site) ในช่วงเวลานี้ จำนวน 123 คน คิดเป็นร้อยละ 83.7
  • ท่านมั่นใจในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่จะเปิดเรียนตามปกติ ในช่วงเวลานี้ มากน้อยแค่ไหน
    • มั่นใจมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 1.4
    • มั่นใจมาก คิดเป็นร้อยละ 3.4
    • มั่นใจปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 15.6
    • มั่นใจน้อย คิดเป็นร้อยละ 21.8
    • ไม่มั่นใจเลย คิดเป็นร้อยละ 57.8
  • ท่านคิดว่า หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี  จะเปิดการเรียนการสอนแบบปกติ (On-site) ในช่วงเวลานี้ จะมีระดับความเสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งใหม่ มากน้อยแค่ไหน
    • มีความเสี่ยงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 55.1
    • มีความเสี่ยงมาก คิดเป็นร้อยละ 26.5
    • มีความเสี่ยงปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 12.9
    • มีความเสี่ยงน้อย คิดเป็นร้อยละ 4.8
    • ไม่มีความเสี่ยง คิดเป็นร้อยละ 0.7
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ 
  • ควรรอดูภาพรวมของสถานการณ์ไปก่อน ให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดน้อยลงจริง ๆ แล้วค่อยเปิด เพื่อลดความเสี่ยง ยังไม่มั่นใจในสถานะการณ์ของประเทศไทยในช่วงเปิดประเทศ กลัวเชื้อจะกลับมาแพร่ระบาดหนักอีกครั้ง จึงอยากให้สถานการณ์ดีกว่านี้แล้วค่อยเปิด (19)
  • สำหรับเด็กระดับมัธยมที่ฉีดวัคซีนแล้ว เห็นด้วยที่จะเปิดเรียนตามปกติ​ได้เพราะเขาสามารถดูแลตัวเองได้เป็นเบื้องต้น แต่ทางโรงเรียนก็ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดด้วย​ ส่วนเด็กเล็ก​ (ตั้งแต่ ปฐมวัย ถึง เด็ก ป.6) ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ยังไม่สมควรให้ไปเรียนตามปกติเพราะเขายังดูแลตัวเองไม่ได้ (7)
  • ควรเรียน On-site แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด (กาดไม่ตก) เข้มงวดให้มาก ๆ เช่น ครู เวลาพักเที่ยง ห้ามออกมาทานข้าวนอกโรงเรียน ให้นักเรียนนำอาหารมารับประทานทานกันเองเพื่อลดการแออัด เป็นต้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน การแพทย์ต้องพร้อม ผู้ปกครองต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงของตนเอง (6)
  • ควรเปิดสอน on-site แบบต่อเนื่องอย่างน้อย 3 วัน หยุด 2 วัน ใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนอย่างต่อเนื่อง มากกว่าเรียน 1 วัน หยุด 1 วัน หรือถ้าเปิดเรียน ควรสลับกันเรียนทีละครึ่งห้องหรือคนละสายชั้น หรือแบ่งออกเป็น Group A เเละ Group B (5)
  • อยากให้เรียนแบบออนไลน์กันไปก่อน เพราะถึงแม้จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วก็ยังติดเชื้อกันได้ ถ้าแนวโน้มจังหวัดราชบุรียังเป็นพื้นที่สีแดงอยู่ ก็น่าจะเรียนออนไลน์ต่อไปอีก โดยปรับปรุงระบบการเรียนออนไลน์ให้ดีขึ้น นำเทคนิคการสอนใหม่ ๆ ไม่ให้เบื่อสอดแทรกด้วยความรู้อาจเป็นการเล่นเกมเกี่ยวกับความรู้ในวิชานั้น ๆ (5)
  • เลื่อนการเปิดเทอม ไปเป็นปีการศึกษา 2565 (3)
  • หากจะเปิดให้เรียนตามปกติควรจัดการให้ครูและนักเรียนทุกคนได้รับวัคซีนครบ 100% รวมถึงผู้ปกครองที่มารับ-ส่งบุตรหลานด้วย  (3)
  • ให้ตรวจ ATK กับผู้ปกครองของเด็กที่จะเข้าโรงเรียน เพราะเด็กจะติดจากผู้ปกครองมากกว่าเพื่อนในโรงเรียน (2)
  • ถ้าโรงเรียนใดอยู่ในสถานที่เสี่ยง หรือ นักเรียนมาจากกลุ่มเสี่ยงก็ยังไม่สมควรเปิด (2)
  • จริงอยู่ว่า บุคคลากรในโรงเรียนฉีดยากันหมดแล้วแต่อย่าลืมว่าเด็กที่อายุยังไม่ถึง 12 ยังไม่ได้ฉีด เด็กโตก็ฉีดกันหมด แต่เด็กเล็ก ๆ ไม่ได้ฉีด เท่ากับว่าเอาเด็กเล็กไปเสี่ยงกับโรค 100% และการเรียนออนไลท์ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย แถมเป็นการพักภาระให้ผู้ปกครอง ไหนจะต้องทำงาน ไหนต้องรีบกับมาสอนหนังสือ ค่าเน็ตก็ต้องออก ค่าเทอมก็ต้องเสีย ทำไมโรงเรียนไม่ปิดเรียนไปเลยเพราะยังไงเด็กก็เรียนไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว หยุดเรียนสัก 1 ปี (2)
  • ถ้ามองในส่วนของบุตรหลานที่อยู่ในช่วงรอยต่อของการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ควรได้เรียนแบบปกติที่โรงเรียน เพราะคิดว่าเด็กน่าจะได้ข่าวสารสาระ และประสบการณ์ช่วงมัธยมปลายมากกว่านี้ แต่ถ้าในเรื่องของความปลอดภัย ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานป้องกัน เพราะการที่จะแยกเด็ก และให้เด็กเว้นระยะห่างแล้ว น่าจะเป็นเรื่องยากพอสมควร
  • การให้เด็กไปเรียนช่วงนี้เป็นการเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะมีมาตรการป้องกันก็ตาม แต่มาตรการนั้นก็ไม่มีเครื่องยืนยันว่าปลอดภัยต่อการแพร่กระจายขอเชื้อได้ 100% เพราะขนาดโรคติดต่อทั่วไป เช่น ไข้หวัด โรคมือเท้าปาก ยังไม่สามารถควบคุมไม่ให้ระบาดในสถานศึกษาได้เลย
ผลการสำรวจ "การเปิดโรงเรียนและสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี ตามปกติ ( On-site)" ฉบับนี้ ทางสถาบันราชบุรีศึกษา (สรศ.) จะได้รายงานต่อ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดราชบุรี,  คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี, คณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนและสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัดราชบุรี, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี, และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรีเขต 1 และ 2 เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาในการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-9) ในสถานศึกษาต่อไป

ทีมงานราชบุรีโพล และสถาบันราชบุรีศึกษา ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้กรุณาช่วยตอบแบบสำรวจในครั้งนี้ จนเกิดผลสำเร็จด้วยดี
#เสียงของทุกท่านมีความหมายเสมอ 
#YourVoiceAlwaysUseful

***********************
สถาบันราชบุรีศึกษา : 11 พ.ย.2564

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564

จ.ราชบุรี วางแผนเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 3 อำเภอ

เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2564 สวท.ราชบุรี ได้เผยแพร่การจัดรายการของ นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รอง ผวจ.ราชบุรี และ แพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ในรายการ "นานาสาระกับผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี" แจ้งว่า จ.ราชบุรี จะเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวแบบ Sand Box ใน อ.เมืองราชบุรี อ.ดำเนินสะดวก และ อ.สวนผึ้ง โดยกำหนดเป็นพื้นที่ Covid Free Area โดยขณะนี้มีการพูดคุย กลุ่มย่อยทั้ง 3 อำเภอในเบื้องต้นแล้ว โดยการเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวครั้งนี้ มีเงื่อนไขสำคัญ คือ 


  • ประชาชนทุกคน รวมทั้งพนักงานในภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว รวมทั้งแรงงานต่างด้าว ในพื้นที่ท่องเที่ยวนั้น ต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 
  • เป้าหมาย จ.ราชบุรี (ไม่ได้แถลงว่าเมื่อใด)
    • ลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายสัปดาห์ลงสัปดาห์ละ 25%
    • ฉีดวัคซีน กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป / ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง / หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) เข็มที่ 1 อย่างน้อยร้อยละ 90 เข็มที่ 2 ร้อยละ 60 
    • ทุกกลุ่มอายุ ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อยร้อยละ 70 
    • กลุ่มนักเรียน ต้องได้รับการฉีดวัคซีน 100% (ตามที่ร้องขอ)
  • Covid Free Area คือ พื้นที่ที่เข้ามาท่องเที่ยวแล้วรู้สึกปลอดภัย จะมีธง Covid Free Area ปักให้เห็นเป็นสัญลักษณ์
  • ผู้ประกอบการธุรกิจและบริการท่องเที่ยวแห่งใดที่พนักงานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จ.ราชบุรี จะมอบป้ายสัญลักษณ์การฉีดวัคซีนให้  และมอบเข็มกลัดฉีดวัคซีนแล้ว (แบบมีทะเบียนคุม) ให้พนักงานเป็นรายบุคคล
พื้นที่สีฟ้า
รัฐบาลชอบประดิษฐ์คำศัพท์เกี่ยวกับพื้นที่การท่องเที่ยวหลายคำ เริ่มแรก คือ Sand Box ต่อมาเป็น  Safety Zone ,Seal area  และต่อมาสุดท้ายก็เป็น The Blue Zone (พื้นที่สีฟ้า) ซึ่ง จ.ราชบุรี ถูกวางแผนเปิดการท่องเที่ยวพื้นที่สีฟ้าไว้ในระยะที่ 3 คือ ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 เป็นต้นไป จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน จ.ราชบุรี ต้องตัดสินใจร่วมกัน หากเปิดไม่ได้ก็ถือว่าตกขบวน

การจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและรุูปแบบการจัดการท่องเที่ยวในพื้นที่สีฟ้า  มีวัตถุประสงค์
  1. เพื่อให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการควบคุมโรคอย่างเหมาะสม
  2. เพื่อให้พื้นที่สามารถเตรียมแผนและทรัพยากร รองรับสถานการณ์ทั้งด้านการบริหารจัดการ ด้านการแพทย์ สาธารณสุข และการสื่อสาร ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ เข้าใจ และร่วมมือในการดำเนินงาน
  3. เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่  
รูปแบบการจัดการพื้นที่สีฟ้าที่สามารถเดินทางท่องเที่ยว สามารถจัดได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) ทั้งจังหวัด 2) อำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน และ 3) เฉพาะสถานที่/พื้นที่ หรือระหว่างสถานที่/พื้นที่ 

จังหวัดราชบุรี ตัดสินใจจะเปิด 3 อำเภอ เป็นพื้นที่สีฟ้า จึงมีคำถามว่า จะเปิดพื้นที่ทั้งอำเภอ หรือเปิดบางพื้นที่ในอำเภอนั้น ๆ  เอาให้ชัดเจนเพราะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการอย่างรัดกุม 

หลักเกณฑ์การพิจารณาการเปิดพื้นที่สีฟ้าเพื่อการท่องเที่ยว
การจะเปิดพื้นที่สีฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวในแต่ละขนาดจะมีหลักเกณฑ์แตกต่างกันไป ต้องถามผู้บริหารจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนราชบุรีว่า จะทำตามหลักเณฑ์ได้แค่ไหน  อาทิ


หากเปิดพื้นที่สีฟ้าทั้ง 3 อำเภอ (อ.เมืองราชบุรี อ.ดำเนินสะดววก และ อ.สวนผึ้ง) แต่ละอำเภอต้องมีความพร้อมของสถานการณ์ดังนี้
  • ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อยร้อยละ 70 และในกลุ่ม 608 อย่างน้อยร้อยละ 80
  • เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 5-10 รายต่อแสนประชากรต่อวัน อาจใช้ลักษณะการระบาดและแนวโน้มสถานการณ์เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาร่วมด้วย (นั่นหมายถึง อ.เมืองราชบุรี ต้องมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10-20 คน/วัน อ.ดำเนินสะดวก ไม่เกิน 4-8 คน/วัน และ อ.สวนผึ้ง ไม่เกิน 2-4 คน/วัน)
นอกจากนั้นทั้ง 3 อำเภอต้องมีความพร้อมด้านบริหารจัดการดังนี้
  • หน่วยงานมีความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน
  • มีแผนการดำเนินการ และแผนการใช้ทรัพยากรและทีมสอบสวนควบคุมรองรับกรณีเกิดการระบาด
  • มีระบบกำกับติดตามและเชื่อมโยงกับศูนย์บัญชาการจังหวัด
การบริหารและจัดการความเสี่ยง
ก่อนที่จะตัดสินใจเปิดพื้นที่ใดเป็นพื้นที่สีฟ้าของ จ.ราชบุรี  ผู้บริหารจังหวัดราชบุรี หรือคณะทำงาน  ควรได้ศึกษา คู่มือแนวทางบริหารและจัดการความเสี่ยงในพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัย (Safety Zone) สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจัดทำโดย กรมการท่องเที่ยว เป็นแนวทางเสียก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจแถลงการณ์ออกมา โดยคู่มือดังกล่าว ได้จัดทำครอบคลุมพื้นที่ท่องเที่ยวถึง 5 ประเภท ได้แก่
  1. พื้นที่ท่องเที่ยวเขตเมือง (ตัวอย่าง ย่านเมืองเก่า จ.น่าน)
  2. พื้นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ (ตัวอย่าง หาดบางแสน จ.ชลบุรี)
  3. พื้นที่ท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (ตัวอย่าง เอเชียทีค กรุงเทพมหานคร)
  4. พื้นที่ท่องเที่ยวชุมชน (ตัวอย่าง บ้านไร่กองขิง จ.เชียงใหม่)
  5. พื้นที่ท่องเที่ยวย่านการค้า (ตัวอย่าง เยาวราช กรุงเทพมหานคร)
เร่งรณรงค์มาตรฐาน SHA Plus+
SHA คือ ตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมั่นใจในความปลอดภัย ด้านสุขอนามัยจากสินค้าและบริการจากการท่องเที่ยวของประเทศไทย เป็นโครงการที่ได้รับการร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)) และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

คำว่า SHA ย่อมาจากคำว่า Amazing Thailand Safety and Health Administration มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้สถานประกอบการ และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้พัฒนาตัวเอง เตรียมความพร้อมสู่วิถีชีวิต New Normal และนำไปสู่การลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 และยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของไทย


มาตรฐาน SHA Plus ยกระดับการท่องเที่ยวไทย
SHA Plus + ตราสัญลักษณ์ใหม่  โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 1 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา  มีการนำร่องที่ จ.ภูเก็ต โดยมีเงื่อนไข คือ สถานประกอบการนั้น ๆ ต้องได้รับเครื่องหมายมาตรฐาน SHA บวกกับบุคลากรในสถานประกอบการ อย่างน้อย 70% ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จึงจะได้รับ SHA Plus นั่นเอง  ประเภทกิจการที่จะสามารถรับการประเมินเพื่อขอรับสัญลักษณ์ SHA Plus+ แบ่งออกเป็น 10 ประเภท ได้แก่
  1. ภัตตาคาร/ร้านอาหาร
  2. โรงแรม ที่พัก และโฮมสเตย์
  3. นันทนาการ และสถานที่ท่องเที่ยว
  4. ยานพาหนะ
  5. บริษัทนำเที่ยว
  6. สุขภาพและความงาม
  7. ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า
  8. กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว
  9. การจัดกิจกรรม/จัดประชุม โรงละคร/โรงมหรสพ
  10. ร้านค้าของที่ระลึก และร้านค้าอื่นๆ
การเตรียมการเปิดพื้นที่สีฟ้าเพื่อการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ในวันที่ 1 ม.ค.2565 ที่จะถึงนี้ ทุกอย่างล้วนมีแนวทาง ขั้นตอน กฎเกณฑ์ และวิธีการชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้บริหารจังหวัดราชบุรีควรจะได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบเสียก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกพื้นที่ใดเป็นพื้นที่นำร่อง ไม่ต้องมาคิดปักธง แจกป้าย แจกเข็มกลัด ซึ่งจะทำให้ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องสับสนไปหมด เพราะทุกอย่างมีมาตรฐาน SHA Plus+ รองรับอยู่แล้ว

************************
พลตรี ดร.สุชาต  จันทรวงศ์
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
25 ต.ค.2564

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564

แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ของ จ.ราชบุรี 10 วันข้างหน้า (11-20 ต.ค.2564)

รายงานแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ของ จ.ราชบุรี 10 วันข้างหน้า (11-20 ต.ค.2564) ยังคงอาจมีมากกว่า 200 คน/วัน



ค่าเฉลี่ยฉีดวัคซีนรอบ 10 วัน (1-10 ต.ค.2564)
  • เข็มที่ 1 จำนวน 2,904 คน/วัน (ค่าเฉลี่ยลดลง 66.4%)
  • เข็มที่ 2 จำนวน 3,698 คน/วัน (ค่าเฉลี่ยลดลง 2.3%)
  • เข็มที่ 3 จำนวน 118 คน/วัน (ค่าเฉลี่ยลดลง 9.3%)
จำนวนชาวราชบุรีที่ฉีดเข็ม 2 ครบตามเกณฑ์ 236,036 คน คิดเป็นร้อยละ 25.69 ของประชากร จ.ราชบุรี (เพิ่มขึ้น 4.02%)

หากค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนยังคงเป็นเช่นนี้ จำนวนชาวราชบุรีที่จะได้รับการฉีดเข็มที่ 2 ครบตามเกณฑ์ ในอัตราร้อยละ 70 ของประชากร พยากรณ์ไว้ในวันที่ 28 มกราคม 2565 (ช้ากว่าการพยากรณ์ครั้งก่อน 2 วัน)

อำเภอที่มีร้อยละของผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ อ.เมืองราชบุรี (ร้อยละ 4.70) และน้อยที่สุด ได้แก่ อ.จอมบึง (ร้อยละ 1.22)



วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ราชบุรีตกขบวน กว่าจะเปิดการท่องเที่ยวได้ก็ปีหน้า

เราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น "ศูนย์" จึงค่อยเปิดเศรษฐกิจ เราควรอยู่กับมันให้ได้ โดยป้องกันความเสี่ยงให้มากที่สุด หากพลาดพลั้งติดเชื้อไป ก็สามารถรักษาให้หายได้

ตามคำสั่ง จ.ราชบุรี ที่ 3923/2564 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 30 ก.ย.2564 ในข้อ 6 เรื่อง การเตรียมการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดย จ.ราชบุรี สั่งการดังนี้

"ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศ ตามแผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการระยะนำร่องแล้วในบางพื้นที่ และจะดำเนินการต่อเนื่องในอนาคต"

ถือเป็นนิมิตหมายทีดี ที่ ผวจ.ราชบุรี ได้เปิดไฟเขียวให้เตรียมการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวภายในจังหวัดได้  เราคงไม่สามารถรอให้จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์เสียก่อน ถึงจะเปิดจังหวัดได้ การเตรียมการเลือกพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ที่ผมเคยเสนอมาโดยตลอด คือ พื้นที่ อ.สวนผึ้ง แต่อาจไม่มีผู้ใดให้ความสนใจ  

วันนี้ ผมจำจึงอยากจะเสนออีกครั้งผ่านไปยัง "ภาคเอกชนและบุคคลที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวใน อ.สวนผึ้ง"  ให้ช่วยรวมพลังเสนอมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ในการเสนอ อ.สวนผึ้ง เป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี (หรืออาจจะพื้นที่อื่น ๆ ก็ได้) ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงมหาดไทย กำหนด เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ราชบุรี ผ่านไปยังศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปค.ศบค.) เพื่อเสนอ ศบค. พิจารณาอนุมัติต่อไป

อ.สวนผึ้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีชื่อเสียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีโรงแรม รีสอร์ท บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวพร้อมมูล มีเส้นทางเข้า-ออก พื้นที่ทางเดียวควบคุมได้ง่าย ด้านหลังติดแนวชายแดน เหมาะสมที่จะนำร่องเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี อัตราการติดเชื้อของประชากรร้อยละ 1.02 ซึ่งน้อยที่สุด ใน จ.ราชบุรี ส่วนอัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เฉพาะประชากรใน อ.สวนผึ้ง นั้นไม่สามารถหาข้อมูลได้ เพราะทางราชการไม่ได้เปิดเผยให้ทราบ

ราชบุรีตกขบวน
รัฐบาลเปลี่ยนแผนการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวหลายครั้งจนค่อนข้างสับสัน ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคนวางแผนไม่ถูก  จนล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวภายหลังการ ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ถึงหลักเกณฑ์พิจารณาการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และแผนงานและแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว โดยระบุว่า มีหลายจังหวัดสามารถดำเนินกิจการ-กิจกรรมได้มากขึ้นกว่าระดับสีพื้นที่ โดยเจาะจงเฉพาะบางอำเภอ จึงขอให้กำหนดเป็น "พื้นที่สีฟ้า" ซึ่งเป็นพื้นที่สามารถดำเนินกิจการ-กิจกรรมได้เหมือน "พื้นที่สีเขียว" ไม่จำกัดการเดินทาง เปิดกิจการ-กิจกรรม ได้ตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด โดยให้อยู่ในการควบคุมของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยจังหวัดที่มีการกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวแต่ละระยะ มีดังต่อไปนี้ (กรุงเทพธุกิจ : ออนไลน์)

ระยะนำร่อง (1 – 31 ต.ค. 64) พื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) จ.พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) จ.กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก) เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ คือ เป็นเมืองหลัก หรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

ระยะที่ 1 (1 – 30 พ.ย. 64) พื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.กระบี่ จ.พังงา (ทั้งจังหวัด) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน หนองแก) จ.เพชรบุรี (ชะอำ) จ.ชลบุรี (พัทยา บางละมุง จอมเทียน บางเสร่) จ.ระนอง (เกาะพยาม) จ.เชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) จ.เลย (เชียงคาน) และ จ.บุรีรัมย์ (เมือง) หลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

ระยะที่ 2 (1 – 31 ธ.ค. 64) พื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส  หลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

ระยะที่ 3 (วันที่ 1 ม.ค. 65) เป็นต้นไป พื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล หลักเกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

จ.ราชบุรี อย่าตกขบวนอีก
รัฐบาลเคยมีแผนจะเปิดในการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ในช่วงกลางเดือน ต.ค.2564 ที่จะถึงนี้ แต่ในแผนใหม่ จ.ราชบุรีถูกเลื่อนไปเปิดถึงปีหน้า ไม่ทราบว่าเพราะสาเหตุใด  หรือเป็นเพราะว่า จ.ราชบุรี มักทำงานเชิงตั้งรับมากกว่าทำงานเชิงรุก อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ยังมีเวลาเตรียมตัวอีก 3 เดือน ต.ค.-ธ.ค.2564 หวังว่าคงจะไม่ตกขบวนอีกครั้งเป็นแน่

บทความที่เกี่ยวข้อง
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์ 
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
4 ต.ค.2564

อ้างอิง
  • กรุงเทพธุรกิจ. (2564). ศบค. กางแผน "พื้นที่นำร่อง" ท่องเที่ยว 1 พ.ย. นี้ เปิด 10 จังหวัด. สืบค้นเมื่อ 1 ต.ค.2564 เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/962398

บทความที่ได้รับความนิยม