วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563

ทำอย่างไร? ให้ อ.เมืองราชบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยวอีกเมืองหนึ่ง

เมื่อ พ.ศ.2549 ผมได้มีโอกาสร่วมเป็นคณะจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยว จ.ราชบุรี พ.ศ.2550-2554 ซึ่งตอนนั้น นายไกรสร กลับทวี เป็น ผอ.ท่องเที่ยวและกีฬา จ.ราชบุรี ปัญหา? ที่พวกเราตั้งเป็นโจทย์ในวันนั้น คือ ทำอย่างไร? จะเปลี่ยนราชบุรี จากเมืองผ่านให้เป็นเมืองพัก


ไอหนาว หมอกขาว ป่าเขียว และแกะตัวแรก
พวกเราคณะจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ปิดรีสอร์ทแห่งหนึ่งใน อ.สวนผึ้ง เพื่อประชุมขั้นสุดท้ายอย่างเข้มข้นกับชมรมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสวนผึ้ง (ชาวสวนผึ้งแท้ๆ) สรุปว่า การที่จะดึงนักท่องเที่ยวให้พักค้างคืนได้  ไม่ผ่านไปพัก จ.เพชรบุรี หรือ จ.กาญจนบุรี  คือ การให้นักท่องเที่ยวเดินทางลึกเข้าไปทางตะวันตกของ จ.ราชบุรี ติดชายแดนพม่า ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา เราจึงขายเสน่ห์ของความดิบของผืนป่าแห่งเทือกเขาตะนาวศรี สัมผัสกับธรรมชาติ อากาศที่หนาวเย็น และไอหมอกยามเช้า ของ อ.สวนผึ้ง  และในครั้งนั้น ก่อให้เกิด "แกะตัวแรก"  ของสวนผึ้งขึ้น โดยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรงท่านหนึ่งของเดอะซีนเนอรี่ วินเทจ ฟาร์ม สวนผึ้ง (The Scenery Vintage Farm) เป็นผู้คิดริเริ่ม จนกระทั่ง "แกะ" กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ อ.สวนผึ้งจนถึงปัจจุบันนี้


ทำอย่างไร ให้ อ.เมืองราชบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยว 
โจทย์ในวันนี้ ที่ผมได้รับจากน้องคนหนึ่ง ท้าทายมาก จะทำอย่างไร? ให้ อ.เมืองราชบุรี เป็นเมืองท่องเที่ยวอีกเมืองหนึ่ง และมีนักท่องเที่ยวนิยมมาพักค้างคืนในเขต  อ.เมืองราชบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 100 กิโลเมตร ซึ่งหลายคนอาจบอกว่าเป็นจุดแข็ง แต่อีกมุมหนึ่งมันก็สามารถเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน เพราะความใกล้นั่นเอง ทำให้นักท่องเที่ยวไม่พักค้างคืน จังหวัดที่ห่างจากกรุงเทพฯ น้อยกว่าเราที่เป็นคู่แข่งสำคัญ  คือ จ.สมุทรสงคราม     

หากลองสังเกตพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับมาจากภาคใต้ ตาม ถ.เพชรเกษม พอถึงสามแยกวังมะนาว กลับเลี้ยวขวาไปตาม ถ.พระราม 2 เพื่อไปเที่ยวต่อยัง ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม แวะซื้อของทะเล ที่มหาชัย ก่อนกลับเข้ากรุงเทพฯ ราชบุรีจึงเหมือนเมืองที่ถูกลืมเลือน ตลาดน้ำดำเนิน ก็ถูกดักด้วยตลาดน้ำอัมพวา ไปเสียก่อน 

เสน่ห์ของ อ.เมืองราชบุรี
หากพูดกันจริงๆ แล้วแบบไม่เข้าข้างตัวเอง ตอนนี้แหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบันของ อ.เมืองราชบุรี ไม่สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือนและพักค้างคืนได้ หากใครเคยมาครั้งหนึ่งแล้วอาจไม่รู้สึกอยากมาอีกเลย ดังนั้น เราจึงต้องช่วยกันค้นหาแหล่งท่องเที่ยว หรือกิจกรรมใหม่ๆ ให้พบ เพื่อเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาพักค้างคืนที่ อ.เมืองราชบุรี ให้ได้  





ภาพการล่องเรือที่อยุธยา



ศูนย์กลางการท่องเที่ยววิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและกีฬาทางน้ำแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง 
ตอนที่พวกเราร่างยุทธศาสตร์ "เปิดสวนผึ้ง" เมื่อปี พ.ศ.2549 จนประสบความสำเร็จในขณะนี้  ยุทธศาสตร์อีกประการหนึ่งที่คิดไว้ แต่ยังไม่ได้ทำ คือ สร้าง อ.เมืองราชบุรีให้เป็น  "ศูนย์กลางการท่องเที่ยววิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และกีฬาทางน้ำแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง"  เพราะเมืองราชบุรี เป็นจุดกึ่งกลางของแม่น้ำแม่กลอง ที่สามารถล่องเรือท่องเที่ยวขึ้นไปถึง จ.กาญจนบุรีได้ และสามารถล่องเรือไปออกปากน้ำที่แม่กลองได้เช่นกัน  วัดวาอาราม โบราณสถาน โบราณวัตถุ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนหลากหลายชาติพันธ์ ที่อยู่ 2 ฟากฝั่งแม่น้ำแม่กลองล้วนมีให้ชมมากมาย ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ ผมได้เคยเขียนเอาไว้ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ตั้งแต่การพัฒนาท่าเรือสำหรับท่องเที่ยว การพัฒนากิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวตามแนวชายฝั่ง  การสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำ 3 จังหวัด  (กาญจนบุรี-ราชบุรี-สมุทรสงคราม) ประเภทเรือที่จะใช้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวระยะใกล้ ปานกลาง และตลอดลำน้ำ  การพัฒนาโรงแรมที่พักตามริมฝั่งแม่น้ำ  และการสร้างกิจกรรมกีฬาทางน้ำตามแหล่งชุมชน ฯลฯ  ที่สำคัญคือ การสร้างเรื่องราวความสำคัญ (Story) ของริมสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองให้เป็นที่น่าศึกษาและติดตาม


การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาให้ราชบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยวและกีฬาทางน้ำแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง นับเป็นความท้าทาย ปัจจุบันมีปัจจัยหลายประการที่เอื้ออำนวยให้ เช่น การประกาศเมืองราชบุรีให้เป็นเมืองเก่า การเชื่อมโยงประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ร่วมกับ จ.กาญจนบุรี การเป็นเมืองพระราชา การเป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรมหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ตามสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ฯลฯ ทั้งหมดจะสำเร็จได้ ล้วนขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำ และความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชาวราชบุรีทุกคน

ลองช่วยกันคิดนะครับ

*******************************

บทความที่ได้รับความนิยม