วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2561

หอนาฬิกา : สนามหญ้าราชบุรี สร้างเพื่อเตือนสติผู้คน

หอนาฬิกา บริเวณสนามหญ้าราชบุรี สร้างขึ้นเพื่อนำพาให้ชาวจังหวัดราชบุรีได้ดูเวลา และเป็นคนตรงต่อเวลา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งที่จะต้องส่งเสริมในสมัยนั้น

หลายท่านที่มาเยี่ยมชมในเขต อ.เมืองราชบุรี ก็มักจะกล่าวถึง "หอนาฬิกา" ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองริมแม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันบริเวณโดยรอบเป็นร้านขายอาหาร ขนม และเครื่องดื่มนานาชนิด บางร้านเปิดให้บริการแบบโต้รุ่ง ซึ่งคนราชบุรีเรียกชื่อติดปากกันว่า "สนามหญ้า"  ทั้งๆ ที่ปัจจุบัน ไม่มีหญ้าให้เห็นแม้แต่ต้นเดียว

ภาพสวนสาธารณะ ขณะยังไม่ได้สร้างหอนาฬิกา และยังไม่ได้เป็นตลาดโต้รุ่ง
สนามหญ้านี่แต่เดิมมีสถานะเป็น "สวนสาธารณะ" ของเทศบาลเมืองราชบุรี มีหญ้าขึ้นจริงๆ ขนาดกว้าง 64 เมตร ยาว 100 เมตร มีรั้วไม้ล้อมรอบ มีซุ้มประตูทางเข้า 5 ประตู ตรงกลางจัดทำเสาธงชาติขนาดสูง 15 เมตร มอบให้สถานีตำรวจราชบุรี มีหน้าที่อัญเชิญธงชาติขึ้น-ลงเป็นประจำวัน รอบๆ สนามได้จัดตั้งม้านั่ง สำหรับประชาชนมานั่งพักผ่อน และมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับอย่างสวยงาม 

หอนาฬิกาสาธารณะ 
เมื่อประมาณเดือนเมษายน พ.ศ.2497 ซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทางกระทรวงวัฒนธรรม มีนโนบายให้เขตเทศบาลและตามชุมนุมที่สำคัญต่างๆ ต้องจัดให้มีนาฬิกาสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้ดูเวลา และเป็นผู้ตรงต่อเวลา อันเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งที่จะต้องส่งเสริม โดยมีความสูงพอที่ประชาชนจะเห็นได้ง่าย ดังนั้น เทศบาลเมืองราชบุรี จึงได้จัดการประมูลเพื่อก่อสร้างหอนาฬิกาแห่งนี้ขึ้น โดยตัวหอนาฬิกามีความสูง 19 เมตร แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นบนติดหน้าปัทม์ด้านละ 2 เมตร รวม 4 ด้าน ชั้นกลางเป็นห้องตั้งนาฬิกา และติดลำโพงเครื่องขยายเสียง บนยอดของหอนาฬิกาติดตั้งเครื่องบอกทิศทางลม ส่วนชั้นล่างสุดทำเป็นห้องขยายเสียงและติดตั้งเครื่องรับวิทยุสาธารณะ สำหรับเปิดให้ประชาชนฟัง และทำการกระจายเสียงแจ้งข่าวสารราชการและรับโฆษณาสินค้าของห้างร้านต่างๆ ออกแบบโดย นายไฉน กฤษณะเศรณี ช่างจัตวาเทศบาลเมืองราชบุรี ผู้ที่ประมูลการก่อสร้างหอนาฬิกาสาธารณะนี้ได้ คือ บริษัท หัตถกิจ จำกัด ในราคา 75,000 บาท

หอนาฬิกาสาธารณะ
ตัวหอราคา 75,000 บาท
ตัวนาฬิกายี่ห้อฮอยเออรฺ์ 4 ด้าน ราคา 26,000 บาท

ติดตั้งนาฬิกาฮอยเออร์จากประเทศเยอรมันนี
ตัวหอนาฬิกา เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2498 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2499 รวมใช้เวลาก่อสร้าง 152 วัน สำหรับตัวนาฬิกา ได้จัดซื้อจาก บริษัท ศรีสุทธา จำกัด รวมค่าติดตั้งแล้วเป็นเงิน 26,000 บาท เป็นนาฬิกายี่ห้อฮอยเออร์ทำจากประเทศเยอรมันนี หน้าปัทม์กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร 4 ด้าน ตัวเครื่องใช้มอเตอร์ไฟฟ้าไขลานโดยอัติโนมัติ มีลูกตุ้มแกว่ง 

เปิดหอนาฬิกา
หอนาฬิกาสาธารณะ แห่งนี้กระทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2499 เวลา 09:00 น. โดยมีนายวิชัย มณีรัตน์ นายกเทศมนตรีเมือ่งราชบุรี เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี นายแม้น อรจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีเปิด และในช่วงกลางคืนจัดให้มีการแสดงหัสดนตรี เพื่อทำการฉลองหอนาฬิกาแห่งนี้ด้วย



ให้หอนาฬิกาแห่งนี้เป็น "หลักชัย" 
ในตอนท้ายของคำกล่าวเปิดหอนาฬิกาของนายแม้น อรจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังตอนหนึ่งว่า "ขออานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกมาเป็นอภินิหารบรรดาลดลให้ หอนาฬิกาสาธารณะ แห่งนี้ เป็นหลักชัย สถิตย์สถาพร นำให้ชาวราชบุรีเจริญก้าวหน้า ในอันเป็นผู้ตรงต่อเวลา และระลึกถึงกาลเวลาทุกๆ วินาที มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิต เร่งประกอบกิจอันเป็นคุณงามความดีให้แก่ตนและส่วนรวม อย่าให้เวลาล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์หรือเกิดโทษแก่ตนและส่วนรวม...."




ปัจจุบันหอนาฬิกา และบริเวณสภาพแวดล้อมโดยรอบ มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก แต่อย่างหนึ่งที่มันยังคงทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ คือ "เวลา" ที่มันยังคงเดินไปเรื่อยๆ จนถึงบัดนี้ หอนาฬิกาก็มีอายุย่างเข้า 62 ปีแล้ว หวังว่าชาวราชบุรีหรือใครก็ตาม ที่ได้พบเห็น ขอให้พึงระลึกถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างหอนาฬิกาสาธารณะแห่งนี้ไว้เสมอ คือ "การเป็นคนที่ตรงต่อเวลา" 

**************************
ชาติชาย คเชนชล : 18 ส.ค.2561

ที่มาข้อมูล
เทศบาลเมืองราชบุรี. (2500). ที่ระลึกวันครบรอบปีที่ 21 10 ธันวาคม 2499. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประยูรวงศ์.

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับ คิดถึง วันเก่าๆ เด็กๆ เดินไปซื้อบะหมี่หมูไหม้ หลังหัวมุมขายหนังสือ ด้านขวาของสถานีตำรวจ ติดกับร้านก้วยเตี๋ยวเนื้อ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณท่าน พ.อ.ดร.สุชาติ จันทวงศ์ เสียสละ ทุ่มเทเพื่อจังหวัดราชบุรีของเรา

    ตอบลบ

บทความที่ได้รับความนิยม