วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ใครเป็นใคร ในการเลือกตั้ง "อบต.ราชบุรี -2564" ทั้ง 75 แห่ง

ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.2564 ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้ง นายก อบต. และสมาชิก อบต. ทั่วประเทศ จำนวน 5,300 แห่ง หลังจากที่ไม่ได้เลือกกันมาเป็นเวลาถึง 8 ปี


สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้สรุปยอดผู้สมัครรับสมัครเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค.2564 ว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศ 76 จังหวัด รวม 136,250 คน แบ่งเป็น 1) ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. 12,309 คน และ 2) ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. 123,941 คน

การเลือกตั้งแลดูเงียบเหงา
การเลือกตั้ง อบต.ใน พ.ศ.2564 ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี เพื่อเลือกนายก อบต. 5,300 คน และสมาชิกสภา อบต. 56,641 คน หลังครบวาระดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งให้ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้ง อบต. เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด แต่ทำไมกลับแลดูเงียบเหงา อาจเป็นเพราะ อบต. "ไกลสื่อ" สื่อเองก็ไม่รู้จะไปจับประเด็นตรงไหน สัมภาษณ์ใคร มันแตกกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก ทำให้การเลือกตั้ง อบต. จึงไม่ค่อยเป็นข่าว นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า การเลือกตั้ง อบต.ไม่ค่อยสำคัญ เป็นเพราะโครงสร้างรัฐไทยไม่เอื้อให้ท้องถิ่นแสดงบทบาท รัฐไทยสร้างให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาคเข้มแข็งมากจนไปกดทับและกดขี่ท้องถิ่น ท้องถิ่นจึงไม่แข็งแรงและไม่เติบโต

อบต.เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กที่สุด แต่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เนื่องจากมีภารกิจสำคัญ คือ การจัดบริการสาธารณะให้แก่คนในท้องที่ การรักษาความสะอาดถนน ทางน้ำ ทางเดิน ที่สาธารณะ, กำจัดขยะมูลฝอย, ป้องกันและระงับโรคติดต่อ, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม, ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ, คุ้มครองดูแลบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น 

รายได้ของ อบต. มาจาก 4 แหล่งสำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้, รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้, รายได้ที่รัฐจัดเก็บแล้วแบ่งให้ และภาษีที่ อบต. จัดเก็บได้เอง 

ในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา อบต. ที่มีรายได้มากที่สุดของประเทศคือ อบต.บางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ มีรายได้ 638 ล้านบาท ขณะที่ อบต.แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช มีรายได้ต่ำที่สุดของประเทศ 15.91 ล้านบาท นั่นหมายความว่า 2 อบต. นี้มีรายได้ต่างกันกว่า 50 เท่า รายได้เฉลี่ยของ อบต. ทั้ง 5,300 แห่ง พบว่าอยู่ที่ 45.70 ล้านบาท และเชื่อว่ารายได้ของท้องถิ่นจะลดลงไปกว่านี้อีก เนื่องจากรัฐบาลประกาศลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% เป็นเวลา 3 ปีติดกัน เพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. 2564 : ออนไลน์)

เงินเดือนใหม่นายก อบต. และ สมาชิกสภา อบต. 
ในแต่ละ อบต. ให้มีนายก อบต. 1 คน และ สมาชิกสภา อบต. 6 คน ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีบัญชีอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนใหม่ ดังภาพด้านล่าง (กรุงเทพธุรกิจ. 2564 : ออนไลน์)


ใครเป็นใคร ในการเลือกตั้งนายกฯ และ ส.อบต. ทั้ง 75 แห่ง
จังหวัดราชบุรีมี อบต. จำนวนทั้งสิ้น 75 แห่ง เรียงตามอำเภอจากมากไปหาน้อย ดังนี้
  • อ.เมือง จำนวน 16 แห่ง ได้แก่ อบต.เกาะพลับพลา, เขาแร้ง, คุ้งกระถิน, คุังน้ำวน, คูบัว, เจดีย์หัก, ดอนตะโก, ดอนแร่, ท่าราบ, น้ำพุ, บางป่า, บ้านไร่, พิกุลทอง, สามเรือน, หนองกลางนา และห้วยไผ่
  • อ.บ้านโป่ง จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ อบต.เขาขลุง, คุ้งพยอม, ดอนกระเบื้อง, นครชุมน์, บ้านม่วง, ปากแรต, ลาดบัวขาว, สวนกล้วย, หนองกบ, หนองปลาหมอ และหนองอ้อ
  • อ.โพธาราม จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ อบต.เขาชะงุ้ม, คลองข่อย, ชำแระ, ดอนกระเบื้อง, เตาปูน, ท่าชุมพล, ธรรมเสน, บางโตนด, สร้อยฟ้า, หนองกวาง และหนองโพ
  • อ.ปากท่อ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ อบต.ดอนทราย, บ่อกระดาน, ปากท่อ, ป่าไก่, ยางหัก, วังมะนาว, วัดยางงาม, หนองกระทุ่ม, ห้วยยางโทน และอ่างหิน
  • อ.ดำเนินสะดวก จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ อบต.ขุนพิทักษ์, ดอนกรวย, ดอนคลัง, ดอนไผ่, ตาหลวง, ท่านัด, แพงพวย และสี่หมื่น
  • อ.จอมบึง จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อบต.แก้มอ้น, ด่านทับตะโก, เบิกไพร, ปากช่อง และรางบัว
  • อ.สวนผึ้ง จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อบต.ตะนาวศรี, ท่าเคย, ป่าหวาย และสวนผึ้ง
  • อ.บางแพ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อบต.ดอนคา, ดอนใหญ่, วัดแก้ว และหัวโพ
  • อ.บ้านคา จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อบต.บ้านคา, บ้านบึง และหนองพันจันทร์
  • อ.วัดเพลง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อบต.เกาะศาลพระ, จอมประทัด และวัดเพลง
ผมพยายามหาข้อมูลผู้สมัครชิง นายก อบต.ฯ และสมาชิกสภา อบต. ทั้ง 75 แห่งใน จ.ราชบุรี มาตั้งแต่หลัง กกต. ประกาศผลการรับสมัคร แต่แทบไม่มีข้อมูลใด ๆ ปรากฏเลย ทั้งในเว็บไซต์และโซเซียลมีเดียทั้งหลายของ กกต.กลาง และ กกต.ราชบุรี ดูเหมือนว่า กกต.จะสอบตกด้านการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน

สุดท้ายผมได้ข้อมูลผู้สมัครจากการประกาศในเว็บไซต์ของ อบต.เอง เพียง 13 แห่งจากทั้งหมด 75 แห่งของ จ.ราชบุรี จึงได้แค่รวบรวมข้อมูลเฉพาะผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบต. มาได้เพียงเท่านี้ ส่วน อบต.ที่เหลืออีก 62 แห่ง ไม่ได้ลงประกาศในเว็บไซต์ของ อบต.เอง ซึ่งต้องถือเป็นความบกพร่องของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อบต. ที่ไม่ลงประกาศรายชื่อผู้สมัครฯ ในเว็บไซต์ของ อบต.นั้น ๆ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ และ ปลัด อบต. ที่ปฎิบัติหน้าที่ นายก อบต. ก็ไม่ได้ทักท้วงหรือติดตามแต่อย่างใด 














การเลือกตั้ง อบต.ราชบุรี 2564 ในครั้งนี้ จึงสืบค้นข้อมูลมาได้เพียงเท่านี้ครับ แม้แต่สถิติที่ว่ามีผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบต. มีจำนวนกี่คน และผู้สมัครสมาชิกสภา อบต.มีจำนวนกี่คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละ อบต. มีจำนวนกี่คน ก็ไม่สามารถสืบค้นหาข้อมูลได้ ผมได้ขอข้อมูลไปทางอีเมลของ กกต.ราชบุรี (ratchaburi@ect.go.th) แล้ว ก็ไม่มีการให้ข้อมูลส่งกลับมาแต่ใด

การเลือกตั้ง อบต.ราชบุรี 2564 ในครั้งนี้ ขอให้ผู้มีสิทธืเลือกตั้ง ไปใช้สิทธิกันให้มาก ๆ นะครับ เพราะนายก อบต. และสมาชิกสภา อบต.เป็นผู้แทนของท่านที่ท่านใกล้ชิดมากที่สุด และมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนระดับรากหญ้าทุกคนในพื้นที่ จ.ราชบุรี 



*******************
จัดทำโดย สถาบันราชบุรีศึกษา 
24 พ.ย.2564

ที่มาข้อมูล
  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (2564). เลือกตั้ง อบต. 2564 : ท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด แต่การเลือกตั้งกลับ “เงียบเหงาที่สุด”. BBC News. https://www.bbc.com/thai/thailand-59385213.
  • กรุงเทพธุรกิจ. (2564)."เลือกตั้ง อบต." ส่องรายได้ 4 ปี กางบัญชีเงินเดือน "อบต." 5.3 พันแห่ง. https://www.bangkokbiznews.com/news/967243

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ถึงเวลาทบทวนคำขวัญของ จ.ราชบุรี แล้วหรือยัง?

คำขวัญประจำจังหวัด เป็นคำขวัญที่แต่ละจังหวัดในประเทศไทยแต่งขึ้น เพื่อบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ความภาคภูมิใจ และความโดดเด่นที่มีอยู่ในจังหวัดของตัวเอง มักเป็นถ้อยคำคล้องจองสั้น ๆ  เพื่อให้จดจำง่าย แต่งขึ้นเพื่อเตือนใจ สะกิดใจ และให้ระลึกได้ 

ความเป็นมา
ในสมัยรัฐบาลพลเอก เปรม  ติณสูลานนท์ ได้ประกาศให้ "ปี พ.ศ. 2530 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทย"  โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2530 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2531 จึงได้ริเริ่มให้มีคำขวัญประจำจังหวัดขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางไปท่องเที่ยว ได้มีความรู้ความเข้าใจในจังหวัดนั้น ๆ รัฐบาลจึงกำหนดให้ทุกจังหวัดคิดค้นคำขวัญประจำจังหวัดของตนขึ้น โดยมุ่งให้มีสาระเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ  ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนได้นำคำขวัญไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป

ปัจจุบันนอกจากจะมีคำขวัญประจำจังหวัด ยังมีการจัดทำคำขวัญประจำอำเภอ ประจำตำบล ประจำหมู่บ้าน อีกด้วย ทั้งนี้แต่ละคำขวัญในทุกระดับยังคงมีวัตถุประสงค์หลักเดียวกัน คือ เพื่อการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ



คำขวัญต่าง ๆ ในราชบุรี
ลองมาดูคำขวัญต่าง ๆ  ใน จ.ราชบุรี ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปถึงระดับอำเภอ ทั้ง 10 อำเภอ อาจจะทำหลายคนให้เห็นความหลากหลายของคำขวัญพอสมควร ดังนี้

คำขวัญจังหวัดราชบุรี
คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี

คำขวัญ อ.เมือง
เมืองเกษตรกรรม พิพิธภัณฑ์ล้ำค่า เขาแก่นจันทน์เด่นสง่า ตระการตาผ้าทอมือ เลื่องลือแหล่งอารยธรรม

คำขวัญ อ.บ้านโป่ง
เมืองคนงาม สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ย่านการค้าอุตสาหกรรม

คำขวัญ อ.ดำเนินสะดวก
เมืองสองฝั่งคลองประวัติศาสตร์ เสด็จประพาสต้น ร.5 เลื่องลือชาองุ่นหวาน ชาวบ้านน้ำใจงาม ล้นหลามผัก ผลไม้รายได้หลัก เรารักตลาดน้ำดำเนิน

คำขวัญ อ.บางแพ
เป็ดพะโล้ระบือนาม กุ้งก้ามกรามชื่อนิยม อีกโคนมพันธุ์ดี ประเพณีไทยทรงดำ แหล่งเพาะชำไม้ดอก สินค้าออกเห็ดนานาพันธุ์

คำขวัญ อ.โพธาราม
คนสวยโพธาราม แหล่งฟาร์มสุกร  หนังใหญ่วัดขนอน ที่นอนล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดโคนม ชมค้างคาวร้อยล้าน

คำขวัญ อ.วัดเพลง 
ถิ่นเพลงปรบไก่ แควอ้อมใสไหลผ่าน ย่านผลไม้รสดี มากมีขนมโบราณ นมัสการเจ้าพ่อหลักหิน งามศิลป์โบสถ์ร้อยปี

คำขวัญ อ.ปากท่อ
เพลงเขมรปากท่อ เหล่ากอไทยทรงดำ วัฒนธรรมกะเหรี่ยง เสียงน้ำตกไทยประจัน แหล่งพันธุ์ไม้ผล ถิ่นคนน้ำใจงาม มากฟาร์มสุกร พระนอนเขาถ้ำทะลุ

คำขวัญ อ.จอมบึง
บูชา ร.5 ตรึงตาถ้ำจอมพล เที่ยวชมบึงใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพัฒนาท้องถิ่น งามผ้าซิ่นตีนจก

คำขวัญ อ.สวนผึ้ง
สาวกะเหรี่ยงเคียงถิ่นตะนาวศรี ลำภาชีแก่งส้มแมวแนวหินผา ธารน้ำร้อนบ่อคลึงตรึงติดตา น้ำผึ้งป่าหวานซึ้งติดตรึงใจ

คำขวัญ อ.บ้านคา
สับปะรดหวานฉ่ำ งามล้ำตะนาวศรี มากมีแร่ธาตุ กราบอัฐิหลวงปู่เทสก์ แดนนิเวศน์เชิงคีรี ถิ่นคนดีชายแดน

ถึงเวลาทบทวนคำขวัญหรือยัง? 
จังหวัดราชบุรี ใช้คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรี มาตั้งแต่ พ.ศ.2530  จนปัจจุบันเป็นระยะเวลา 34 ปีแล้ว  ท่ามกลางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของจังหวัดที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรีที่ใช้อยู่เดิมบางคำไม่สอดคล้องกับศักยภาพปัจจุบันของจังหวัด และไม่สื่อให้เห็นถึงความเป็นจังหวัดราชบุรีที่ชัดเจน 

คำขวัญที่ดี  ควรสามารถแสดงความเป็นเจ้าของ  ต้องบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ความภาคภูมิใจ และความโดดเด่นของจังหวัด  สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านเศรษฐกิจ และเป็นข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ อย่างเป็นรูปธรรม คำขวัญของจังหวัดราชบุรี และคำขวัญประจำอำเภอทั้ง 10 อำเภอ พอจะแยกแยะแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ ดังนี้
  1. กลุ่มประเพณี ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ได้แก่ วัดขนอนหนังใหญ่ (จ.ราชบุรี) ประเพณีไทยทรงดำ (อ.บางแพ) หนังใหญ่วัดขนอน (อ.โพธาราม) ถิ่นเพลงปรบไก่ นมัสการเจ้าพ่อหลักหิน  งามศิลป์โบสถ์ร้อยปี (อ.วัดเพลง) เพลงเขมรปากท่อ เหล่ากอไทยทรงดำ  วัฒนธรรมกะเหรี่ยง พระนอนเขาถ้ำทะลุ (อ.ปากท่อ) สาวกะเหรี่ยงเคียงถิ่นตะนาวศรี (อ.สวนผึ้ง) กราบอัฐิหลวงปู่เทสก์ (อ.บ้านคา) 
  2. กลุ่มสินค้า และการเกษตร ได้แก่ เมืองโอ่งมังกร  ตลาดน้ำดำเนิน (จ.ราชบุรี) เมืองเกษตรกรรม ตระการตาผ้าทอมือ (อ.เมือง) ย่านการค้าอุตสาหกรรม (อ.บ้านโป่ง) เลืองลือชาองุ่นหวาน ล้นหลามผัก ผลไม้รายได้หลัก (อ.ดำเนิน) เป็ดพะโล้ระบือนาม กุ้งก้ามกรามชื่อนิยม อีกโคนมพันธุ์ดี แหล่งเพราะชำไม้ดอก สินค้าออกเห็ดนานาพันธุ์ (อ.บางแพ) แหล่งฟาร์มสุกร ที่นอนล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดโคนม (อ.โพธาราม) ย่านผลไม้รสดี มากมีขนมโบราณ (อ.วัดเพลง) แหล่งพันธุ์ผลไม้ มากฟาร์มสุกร  (อ.ปากท่อ) งามผ้าซิ่นตีนจก (อ.จอมบึง) น้ำผึ้งป่าหวานซึ้งติดตรึงใจ (อ.สวนผึ้ง) สับปะรดหวานฉ่ำ มากมีแร่ธาตุ  (อ.บ้านคา) 
  3. กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้แก่ ตื่นใจถ้ำงาม เพลินค้างคาวร้อยล้าน (จ.ราชบุรี) เขาแก่นจันทน์เด่นสง่า (อ.เมือง) ชมค้างคาวร้อยล้าน (อ.โพธาราม) แควอ้อมใสไหลผ่าน (อ.วัดเพลง) เสียงน้ำตกไทยประจัน (อ.ปากท่อ) ตรึงตราถ้ำจอมพล (อ.จอมบึง) ลำภาชีแก่งส้มแมวแนวหินผา ธารน้ำร้อนบ่อคลึงตรึงติดตา  (อ.สวนผึ้ง)  งามล้ำตะนาวศรี แดนนิเวศน์เชิงคีรี (อ.บ้านคา) 
  4. กลุ่มประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ล้ำค้า (อ.เมือง) สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน (อ.บ้านโป่ง) เมืองสองฝั่งคลองประวัติศาสตร์ เสด็จประพาสต้น ร.5 (อ.ดำเนิน) บูชา ร.5 (อ.จอมบึง)
  5. กลุ่มที่เป็นนามธรรม ไม่สามารถจับต้องได้ เสี่ยงต่อความขัดแย้งกับข้อเท็จจริง  เช่น ย่านยี่สกปลาดี  คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง (จ.ราชบุรี)  เลื่องลือแหล่งอารยธรรม (อ.เมือง) เมืองคนงาม (อ.บ้านโป่ง)  ชาวบ้านน้ำใจงาม เรารักตลาดน้ำดำเนิน (อ.ดำเนิน)  ถิ่นคนน้ำใจงาม (อ.ปากท่อ) เที่ยวชมบึงใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพัฒนาท้องถิ่น (อ.จอมบึง)  ถิ่นคนดีชายแดน (อ.บ้านคา)
คำขวัญประจำจังหวัดราชบุรี  ควรมีลักษณะที่แสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ ความเป็นเจ้าของ และมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จับต้องได้จริง เป็นเป้าหมายในการพัฒนาของทุกภาคส่วนไปให้สู่จุดนั้น  ในปัจจุบันมีคำหลายคำ ที่ควรถูกบรรจุไว้ในคำขวัญของจังหวัดราชบุรีเสียใหม่ เช่น คำว่า  แปดชาติพันธุ์ (ทั้งจังหวัด)   หัวไชโป้ว (โพธาราม)  เทือกเขาตะนาวศรี ไอหนาว หมอกขาว ป่าเขียว (อ.บ้านคา, อ.สวนผึ้ง)  วิถีชีวิตและวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลอง (บ้านโป่ง, โพธาราม, อ.เมือง , อ.วัดเพลง)   อู่ต่อรถบัส รถบรรทุก (บ้านโป่ง) เป็นต้น 

การทบทวนคำขวัญของจังหวัดนั้น สามารถทำได้ ดังที่หลายจังหวัด เช่น พัทลุง ประจวบคิรีขันธ์ ได้ทำมาแล้ว โดยจัดตั้งในรูปแบบของ "คณะกรรมการทบทวนและปรับปรุงคำขวัญของจังหวัดราชบุรี" โดยเชิญผู้แทนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกรรมการ และเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประกวดคำขวัญ  

คำขวัญใหม่ของจังหวัดราชบุรี ควรเป็นคำขวัญที่ใช้สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว และส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาได้อย่างแท้จริง และให้มันมีมูลค่าเพิ่มในตัวของมันเอง

หากคุณไม่เปลี่ยนเสียตั้งแต่บัดนี้
สุดท้าย โลกจะบีบบังคับให้คุณต้องเปลี่ยนตัวเองในที่สุด

****************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
17 พ.ย.2564

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ผลการสำรวจ : พ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะเปิดโรงเรียนตามปกติ (แบบ On-site)

พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ใน จ.ราชบุรี ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะเปิดโรงเรียนตามปกติ (แบบ On-site) ในช่วงเวลานี้ เพราะเห็นว่ายังมีระดับความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอยู่มาก และยังไม่มีความมั่นใจต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ของโรงเรียน ส่วนด้านนักเรียน นักศึกษาส่วนใหญ่อยากมาโรงเรียน และครูอาจารย์มีความพร้อมสอนอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด


ราชบุรีโพล โดย สถาบันราชบุรีศึกษา ได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ  "การเปิดโรงเรียนและสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี ตามปกติ ( On-site) ในช่วงเวลานี้" ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่ง จ.ราชบุรี ยังคงเป็นพื้นที่ควบคุมสุงสุด (สีแดง) โดยโรงเรียนและสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี หลายแห่ง จะเริ่มทยอยเปิดการเรียนการสอนตามปกติ (On-site) ในวันที่ 15 พ.ย.2564 เป็นต้นไป

โดยทำการสำรวจแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 3-10 พ.ย.2564 สรุปผลการสำรวจมีระดับความเชื่อมั่น 95% และค่าความคลาดเคลื่อน + 3% (ตารางสำเร็จรูปของ ทาโร ยามาเน่ (Yamane)) แยกรายละเอียด ดังนี้

ผู้ตอบแบบสำรวจฯ จำนวน 1,429 คน 
จากประชากร จ.ราชบุรี 918,674 คน แยกสถานะเป็น
  • พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง จำนวน 557 คน คิดเป็นร้อย 39
  • ครู/อาจารย์/ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 105 คน คิดเป็นร้อยละ 7.3
  • นักเรียน นักศึกษา จำนวน 620  คน คิดเป็นร้อยละ 43.4 
  • ประชาชนทั่วไป จำนวน 147 คน คิดเป็นร้อยละ 10.3 
ความคิดเห็นของพ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง
(จำนวนผู้ตอบแบบสำรวจ 557 คน)
  • ไม่เห็นด้วยที่จะเปิดโรงเรียนและสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี ตามปกติ ( On-site) ในช่วงเวลานี้ จำนวน 386 คน คิดเป็นร้อยละ 69.3
  • ในด้านความมั่นใจ ของพ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง ที่มีต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่บุตรหลานจะไปเรียน 
    • มั่นใจมากที่สุด ร้อยละ 22.6
    • มั่นใจมาก ร้อยละ 9.7
    • มั่นใจปานกลาง ร้อยละ 30.5
    • มั่นใจน้อย ร้อยละ 22.6
    • ไม่มั่นใจเลย ร้อยละ 32.1
  • ความคิดเห็นด้านการเรียนแบบออนไลน์ที่ผ่านมา ได้ผลดีมากน้อยแค่ไหนต่อบุตรหลานของท่าน
    • ได้ผลดีมาก คิดเป็นร้อยละ 2.9
    • ได้ผลดี คิดเป็นร้อยละ 15.8
    • ได้ผลปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 46.1
    • ได้ผลน้อย คิดเป็นร้อยละ 27.3
    • ไม่ได้ผลเลย คิดเป็นร้อยละ 7.9
ความคิดเห็นของ ครู/อาจารย์/ผู้บริหารสถานศึกษา
(จำนวนผู้ตอบแบบสำรวจ 105 คน)
  • ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาของท่าน ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง มีสถานะการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มตามเกณฑ์ ในข้อใด
    • ฉีดครบ 2 เข็มทุกคนแล้ว คิดเป็นร้อยละ 21.0
    • ฉีดครบ 2 เข็ม มากกว่าร้อยละ 85 คิดเป็นร้อยละ 63.8
    • ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ต่ำกว่าร้อยละ 85 คิดเป็นร้อยละ 15.2
  • ท่านมั่นใจในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาของท่าน มากน้อยแค่ไหน
    • มั่นใจมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 8.6
    • มั่นใจมาก คิดเป็นร้อยละ 21.9
    • มั่นใจปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 44.8
    • มั่นใจน้อย คิดเป็นร้อยละ 13.3
    • ไม่มั่นใจเลย คิดเป็นร้อยละ 11.4
  • ตัวท่านมีความพร้อมหรือไม่ ที่จะเปิดการเรียนการสอนตามปกติ (On-site) ในช่วงเวลานี้
    • พร้อมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 8.6
    • พร้อมมาก คิดเป็นร้อยละ 19
    • พร้อม คิดเป็นร้อยละ 39.0
    • ไม่ค่อยพร้อม คิดเป็นร้อยละ 26.7
    • ไมพร้อมเลย คิดเป็นร้อยละ 6.7
ความคิดเห็นของนักเรียน  นักศึกษา
(จำนวนผู้ตอบแแบสำรวจ 620 คน)
  • สถานะการฉีควัคซีนของตัวนักเรียน นักศึกษา
    • ยังไม่ได้ฉีด  คิดเป็นร้อยละ 8.2
    • ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว คิดเป็นร้อยละ 49.5
    • ฉีดเข็มที่ 2 ครบตามเกณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 42.1
    • ฉีดเข็มที่ 3 ไม่มี
  • นักเรียน นักศึกษา คิดว่าการเรียนแบบ Online, On Air, On Demand, On hand ที่ผ่านมา มีผลดีต่อการเรียนของตัวท่านเอง มากน้อยแค่ไหน
    • ได้ผลดีมาก คิดเป็นร้อยละ 4.8
    • ได้ผลดี คิดเป็นร้อยละ 15.6
    • ได้ผลปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 43.4
    • ได้ผลน้อย คิดเป็นร้อยละ 28.1
    • ไม่ได้ผลเลย คิดเป็นร้อยละ 8.1
  • นักเรียน นักศึกษา อยากให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาของท่าน เปิดการเรียนการสอนตามปกติ (On- site) หรือไม่
    • อยากมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 33.5
    • อยากมาก คิดเป็นร้อยละ 25.2
    • เฉยๆ คิดเป็นร้อยละ 22.4
    • ไม่อยาก อยากให้เรียนออนไลน์แบบเดิม คิดเป็นร้อยละ 17.3
  • นักเรียน นักศึกษา มีความมั่นใจในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของโรงเรียนหรือสถานศึกษาตัวเอง มากน้อยแค่ไหน
    • มั่นใจมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 14.7
    • มั่นใจมาก  คิดเป็นร้อยละ 27.4
    • มั่นใจปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 39.7
    • มั่นใจน้อย คิดเป็นร้อยละ 9.5
    • ไม่มั่นใจเลย คิดเป็นร้อยละ 8.7
  • ความเห็นอื่น ๆ
    • อยากให้โควิดหายแล้วค่อยเปิด
    • เปิดก็ดีครับ อยากเจอหน้าครู
    • อีกใจหนึ่งก็อยาก อีกใจหนึ่งก็กลัว
    • อยากมาก แต่ก็กลัวเพราะมันเสี่ยงเกินไป
    • ไม่อยากเปิด แต่เรียนออนไลน์ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่
    • อยากให้เปิด แต่ก็กลัวเพราะต่างคนต่างมา จากพื้นที่ต่างกัน
    • นักเรียนมีภูมิป้องกันตัวเองได้ แต่อาจเป็นพาหะนำโรคไปยังผู้สูงอายุที่บ้านได้
    • อยากไปเรียน แต่จะไม่ยอมฉีดวัคซีน เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล
ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป
(จำนวนผู้ตอบแบบสำรวจ 147 คน)
  • ไม่เห็นด้วยที่จะเปิดโรงเรียนและสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี ตามปกติ ( On-site) ในช่วงเวลานี้ จำนวน 123 คน คิดเป็นร้อยละ 83.7
  • ท่านมั่นใจในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่จะเปิดเรียนตามปกติ ในช่วงเวลานี้ มากน้อยแค่ไหน
    • มั่นใจมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 1.4
    • มั่นใจมาก คิดเป็นร้อยละ 3.4
    • มั่นใจปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 15.6
    • มั่นใจน้อย คิดเป็นร้อยละ 21.8
    • ไม่มั่นใจเลย คิดเป็นร้อยละ 57.8
  • ท่านคิดว่า หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี  จะเปิดการเรียนการสอนแบบปกติ (On-site) ในช่วงเวลานี้ จะมีระดับความเสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งใหม่ มากน้อยแค่ไหน
    • มีความเสี่ยงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 55.1
    • มีความเสี่ยงมาก คิดเป็นร้อยละ 26.5
    • มีความเสี่ยงปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 12.9
    • มีความเสี่ยงน้อย คิดเป็นร้อยละ 4.8
    • ไม่มีความเสี่ยง คิดเป็นร้อยละ 0.7
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น ๆ 
  • ควรรอดูภาพรวมของสถานการณ์ไปก่อน ให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดน้อยลงจริง ๆ แล้วค่อยเปิด เพื่อลดความเสี่ยง ยังไม่มั่นใจในสถานะการณ์ของประเทศไทยในช่วงเปิดประเทศ กลัวเชื้อจะกลับมาแพร่ระบาดหนักอีกครั้ง จึงอยากให้สถานการณ์ดีกว่านี้แล้วค่อยเปิด (19)
  • สำหรับเด็กระดับมัธยมที่ฉีดวัคซีนแล้ว เห็นด้วยที่จะเปิดเรียนตามปกติ​ได้เพราะเขาสามารถดูแลตัวเองได้เป็นเบื้องต้น แต่ทางโรงเรียนก็ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดด้วย​ ส่วนเด็กเล็ก​ (ตั้งแต่ ปฐมวัย ถึง เด็ก ป.6) ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ยังไม่สมควรให้ไปเรียนตามปกติเพราะเขายังดูแลตัวเองไม่ได้ (7)
  • ควรเรียน On-site แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด (กาดไม่ตก) เข้มงวดให้มาก ๆ เช่น ครู เวลาพักเที่ยง ห้ามออกมาทานข้าวนอกโรงเรียน ให้นักเรียนนำอาหารมารับประทานทานกันเองเพื่อลดการแออัด เป็นต้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน การแพทย์ต้องพร้อม ผู้ปกครองต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงของตนเอง (6)
  • ควรเปิดสอน on-site แบบต่อเนื่องอย่างน้อย 3 วัน หยุด 2 วัน ใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนอย่างต่อเนื่อง มากกว่าเรียน 1 วัน หยุด 1 วัน หรือถ้าเปิดเรียน ควรสลับกันเรียนทีละครึ่งห้องหรือคนละสายชั้น หรือแบ่งออกเป็น Group A เเละ Group B (5)
  • อยากให้เรียนแบบออนไลน์กันไปก่อน เพราะถึงแม้จะฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วก็ยังติดเชื้อกันได้ ถ้าแนวโน้มจังหวัดราชบุรียังเป็นพื้นที่สีแดงอยู่ ก็น่าจะเรียนออนไลน์ต่อไปอีก โดยปรับปรุงระบบการเรียนออนไลน์ให้ดีขึ้น นำเทคนิคการสอนใหม่ ๆ ไม่ให้เบื่อสอดแทรกด้วยความรู้อาจเป็นการเล่นเกมเกี่ยวกับความรู้ในวิชานั้น ๆ (5)
  • เลื่อนการเปิดเทอม ไปเป็นปีการศึกษา 2565 (3)
  • หากจะเปิดให้เรียนตามปกติควรจัดการให้ครูและนักเรียนทุกคนได้รับวัคซีนครบ 100% รวมถึงผู้ปกครองที่มารับ-ส่งบุตรหลานด้วย  (3)
  • ให้ตรวจ ATK กับผู้ปกครองของเด็กที่จะเข้าโรงเรียน เพราะเด็กจะติดจากผู้ปกครองมากกว่าเพื่อนในโรงเรียน (2)
  • ถ้าโรงเรียนใดอยู่ในสถานที่เสี่ยง หรือ นักเรียนมาจากกลุ่มเสี่ยงก็ยังไม่สมควรเปิด (2)
  • จริงอยู่ว่า บุคคลากรในโรงเรียนฉีดยากันหมดแล้วแต่อย่าลืมว่าเด็กที่อายุยังไม่ถึง 12 ยังไม่ได้ฉีด เด็กโตก็ฉีดกันหมด แต่เด็กเล็ก ๆ ไม่ได้ฉีด เท่ากับว่าเอาเด็กเล็กไปเสี่ยงกับโรค 100% และการเรียนออนไลท์ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย แถมเป็นการพักภาระให้ผู้ปกครอง ไหนจะต้องทำงาน ไหนต้องรีบกับมาสอนหนังสือ ค่าเน็ตก็ต้องออก ค่าเทอมก็ต้องเสีย ทำไมโรงเรียนไม่ปิดเรียนไปเลยเพราะยังไงเด็กก็เรียนไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว หยุดเรียนสัก 1 ปี (2)
  • ถ้ามองในส่วนของบุตรหลานที่อยู่ในช่วงรอยต่อของการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ควรได้เรียนแบบปกติที่โรงเรียน เพราะคิดว่าเด็กน่าจะได้ข่าวสารสาระ และประสบการณ์ช่วงมัธยมปลายมากกว่านี้ แต่ถ้าในเรื่องของความปลอดภัย ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานป้องกัน เพราะการที่จะแยกเด็ก และให้เด็กเว้นระยะห่างแล้ว น่าจะเป็นเรื่องยากพอสมควร
  • การให้เด็กไปเรียนช่วงนี้เป็นการเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 ถึงแม้ว่าโรงเรียนจะมีมาตรการป้องกันก็ตาม แต่มาตรการนั้นก็ไม่มีเครื่องยืนยันว่าปลอดภัยต่อการแพร่กระจายขอเชื้อได้ 100% เพราะขนาดโรคติดต่อทั่วไป เช่น ไข้หวัด โรคมือเท้าปาก ยังไม่สามารถควบคุมไม่ให้ระบาดในสถานศึกษาได้เลย
ผลการสำรวจ "การเปิดโรงเรียนและสถานศึกษาใน จ.ราชบุรี ตามปกติ ( On-site)" ฉบับนี้ ทางสถาบันราชบุรีศึกษา (สรศ.) จะได้รายงานต่อ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดราชบุรี,  คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี, คณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนและสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัดราชบุรี, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาราชบุรี, และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรีเขต 1 และ 2 เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาในการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-9) ในสถานศึกษาต่อไป

ทีมงานราชบุรีโพล และสถาบันราชบุรีศึกษา ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้กรุณาช่วยตอบแบบสำรวจในครั้งนี้ จนเกิดผลสำเร็จด้วยดี
#เสียงของทุกท่านมีความหมายเสมอ 
#YourVoiceAlwaysUseful

***********************
สถาบันราชบุรีศึกษา : 11 พ.ย.2564

บทความที่ได้รับความนิยม