วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เส้นทางเอกสารมรดกความทรงจำของราชบุรี สู่เอกสารมรดกความทรงจำของโลก

เมื่อวันที่ 25-26 ก.พ.2563 ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง การจัดทำทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ณ โรงแรม ณ เวลา อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งจัดโดย สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องราวระดับโลกที่ผมเพิ่งได้รับทราบในวันนี้ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้มานานกว่า 27 ปีแล้ว



ความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World : MoW)
ในที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Education Science and Culture Organization : UNESCO) เมื่อ พ.ศ.2535 ได้มีมติให้มี "แผนงานว่าด้วยความทรงจำแห่งโลก" (Memory of the World Programme) เพื่อปกป้อง อนุรักษ์ และเผยแพร่ภูมิปัญญาความรู้และเหตุการณ์สำคัญระดับโลก ที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ภาพ และเสียง เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ให้ประโยชน์ต่อคนทั้งโลกในปัจจุบันและอนาคต โดยมีคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยดังนี้ 
  • คณะกรรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก 
  • คณะกรรมการแห่งภูมิภาคว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก (ส่วนประเทศไทย คือ คณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก) 
  • คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก (ซึ่งทุกประเทศต้องมีเป็นของตัวเอง)
คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก
ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการมาตั้งแต่ต้น โดยเมื่อปี พ.ศ.2538 ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกขององค์การยูเนสโก ตั้งแต่ปี 2538 – 2541 จากนั้นประเทศไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง "คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก"  (The Thai National Committee on the Memory of the World Programme) ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2545 และมีการปรับปรุงโครงสร้างกรรมการเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

คณะกรรมการแห่งชาติฯ ดังกล่าว มีหน้าที่โดยสรุปก็คือ ค้นหาเอกสารในประเทศไทยเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำ ซึ่งแบ่งการขึ้นทะเบียนออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ทะเบียนระดับนานาชาติหรือระดับโลก (International Register) ทะเบียนระดับภูมิภาค (Regional Register) และทะเบียนระดับชาติ (National Register) โดยจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่องค์การยูเนสโกกำหนด ส่วนการขึ้นทะเบียนระดับท้องถิ่น (Local Register) เป็นเรื่องภายในของประเทศ  หน่วยราชการที่มีหน้าที่หลักรับผิดชอบในการดำเนินการเรื่องนี้ ก็คือ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม


เอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก 
ปัจจุบันมีเอกสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ว่าเป็นมรดกความทรงจำระดับโลก (International Register)  จำนวน  527 รายการ แยกตามรายภูมิภาคได้ดังนี้ 
  • ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ จำนวน 274 รายการ คิดเป็นร้อยละ 52
  • ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จำนวน จำนวน 116 รายการ คิดเป็นร้อยละ 22
  • ภูมิภาคลาตินอเมริกาและคาริบเบียน จำนวน 93 รายการ คิดเป็นร้อยละ 18
  • ภูมิภาคอัฟริกา จำนวน 24 รายการ คิดเป็นร้อยละ 5
  • ภูมิภาคอาหรับ จำนวน 13 รายการ คิดเป็นร้อยละ 2
  • อื่นๆ จำนวน 7 รายการ คิดเป็นร้อยละ 1
เอกสารมรดกความทรงจำระดับโลกในกลุ่มประเทศอาเซียน
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำระดับโลกกลุ่มประเทศอาเซียน มีจำนวนทั้งสิ้น 31 ชิ้น เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 
  • อินโดนีเซีย จำนวน 8 รายการ (อันดับที่ 17 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • มาเลเซีย จำนวน 5 รายการ (อันดับที่ 31 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • ประเทศไทย จำนวน 5 รายการ (อันดับที่ 31 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • เมียนมาร์  จำนวน 4 รายการ (อันดับที่ 37 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • ฟิลิปปินส์ จำนวน 4 รายการ  (อันดับที่ 37 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • เวียดนาม จำนวน 3 รายการ  (อันดับที่ 43 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • กัมพูชา จำนวน 2 รายการ  (อันดับที่ 64 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • ลาว, บรูไน ดารุสซาลาม และสิงค์โปร์  (ไม่มี)
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำระดับโลกของประเทศไทย
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำระดับโลกของประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ UNESCO ณ ปัจจุบน มีจำนวน 5 รายการ ได้แก่
  1. ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2546)
  2. เอกสารการปฏิรูปราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2552)
  3. จารึกวัดโพธิ์ (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2554)
  4. บันทึกการประชุมสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2556)
  5. ฟิล์มกระจก ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ไทย สมัยรัชกาลที่ 4-6 (ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ.2560) 
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำยังมีการแบ่งการขึ้นทะเบียนเป็นระดับภูมิภาค และระดับชาติ อีก  สำหรับเอกสารของประเทศไทยจะพิจารณา โดย  คณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ตามลำดับ 

ปัจจุบัน เอกสารมรดกแห่งความทรงจำของประเทศไทยที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นระดับชาติ รอการเสนอเพื่อพิจารณาไต่เต้าขึ้นเป็นเอกสารระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มีจำนวน  4 รายการ ได้แก่
  1. เอกสารนันโทปนันทสูตรคำหลวง เป็นวรรณคดีพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา พระราชนิพนธ์โดย เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
  2. เอกสารจารึกวัดพระยืน มีเนื้อหาการเดินทางมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในล้านนาของพระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัย
  3. หนังสือสมุดไทย เรื่องกฏหมายตราสามดวง 
  4. คัมภีร์ใบลาน เรื่อง ตำนานอุรังตธาตุ 
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำของประเทศไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนในระดับท้องถิ่น (Local Register) ซึ่งเป็นการดำเนินการภายในประเทศไทยเอง   และกำลังรอการเสนอเพื่อพิจารณาไต่เต้าขึ้นเป็นเอกสารระดับชาติ มีจำนวน 11 รายการ ได้แก่
  1. บันทึกครูบาโนชัยธรรมจินดามณี เจ้าคณะหนเหนือ จ.ลำปาง  วัดปงสนุกเหนือ พ.ศ.2400-2485
  2. ภาพเก่าของหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ เพื่อการศึกษาโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา
  3. บันทึกพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา พ.ศ.2404-2487
  4. กฎหมายอาณาจักรหลักคำเมืองน่าน
  5. คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฏกครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาถร วัดสูงเม่น จ.แพร่
  6. ภาพถ่ายฟิล์มกระจกของคุณหลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ ชุติมา) พ.ศ.2440-2470 จ.เชียงใหม่
  7. แผนที่กัลปนาวัดบนคาบสมุทรสทิงพระในสมัยอยุธยา
  8. เอกสารทรัพยากรธรณีฝั่งตะวันตก จ.ภูเก็ต ตรัง และระนอง
  9. ภาพเก่าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
  10. บันทึกโรงเรียนสฤษดิเดช ของโรงเรียนสฤษดิเดช จันทบุรี 
  11. เอกสารจดหมายเหตุการบริหารราชการหัวเมืองตะวันออก จันทบุรี
ค้นหาเอกสารมรดกความทรงจำของราชบุรี
ที่เขียนมาทั้งหมดก็เพื่อให้เห็นภาพเกี่ยวกับเอกสารมรดกความทรงจำในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับโลก จนกระทั่งถึงระดับท้องถิ่น วัตถุประสงค์ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มาจัดการประชุมสัมมนา เรื่อง การจัดทำทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่ จ.ราชบุรี นี้ก็เพราะ จ.ราชบุรี ได้ขึ้นชื่อเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีอารยะธรรมมาตั้งแต่สมัยมัชฌิมประเทศ และปรากฏอยู่ในพงศาวดารฉบับต่างๆ มาโดยตลอด มุ่งหวังให้ชาวราชบุรี ได้รับทราบ และช่วยกันค้นหาเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำของ จ.ราชบุรี (Memory of Ratchaburi : MoR) เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำในระดับท้องถิ่นต่อไป



สมุดราชบุรี พิมพ์ปี พ.ศ.2468

เชิญชวนชาวราชบุรีช่วยกันค้นหา
เนื่องจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก ที่มีข้าราชการทำงานไม่กี่คน แต่ต้องมีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบมากมาย การที่จะค้นหาเอกสารมรดกความทรงจำซึ่งอาจมีอยู่มากมายทั่วทั้งประเทศ จึงไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางสำนักหอจดหมายแห่งชาติ จึงพยายามเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้ของแต่ละจังหวัด ช่วยกันค้นหาเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำในจังหวัดของตัวเอง นำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำในระดับท้องถิ่น (Local Register) เพื่ออนุรักษ์ เก็บรักษา และเผยแพร่ต่อไป ถึงแม้อาจจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้ เอกสารเหล่านั้น ก็สามารถเป็นเอกสารมรดกความทรงจำของจังหวัดตัวเองได้




ผอ.สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และ หน.หอจดหมายแห่งชาติสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ
มีระดับผู้บริหารอยู่เพียงเท่านี้

ในท้ายการประชุม อ.ศรีวิชัย ทรงสุวรรณ  ผม และเพื่อนๆ อีกหลายคน ก็ได้รับปากกับผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายุเหตุแห่งชาติ ว่าจะขออาสาช่วยกันค้นหาเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำดังกล่าวของ จ.ราชบุรี โดยจะขอความร่วมมือและประสานไปยังเครือข่ายผู้นำตระกูล ผู้นำชุมชน สถาบันการศึกษา องค์กร กลุ่ม ชมรม มูลนิธิ วัด สุเหร่า โบสถ์ รวมทั้งผู้ที่สะสมของเก่า ใน จ.ราชบุรี ต่อไป

ท่านใดที่คิดว่ามีเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำของราชบุรี ได้โปรดกรุณาแจ้งมาได้เลยนะครับ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ดีกว่าที่ปล่อยให้ชำรุดหรือสูญหายไป

****************** 
พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์
27 ก.พ.2563
อีเมล sratchaburi@gmail.com



วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

รถเมล์ไฟฟ้ารอบเมืองราชบุรี

เขตตัวเมืองราชบุรี หากใช้ถนนเพชรเกษมหมายเลข 4 และถนนบายพาสหมายเลข 1010 เป็นเส้นขอบแล้วจะมีรูปคล้ายกับ "ดักแด้" ภูมิศาสตร์ลักษณะดักแด้นี้ หากมีแผนการพัฒนาที่ดี เมืองจะมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก

ตัวเมืองราชบุรีในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น การจราจรจะติดขัดหนักหนาสาหัส เพราะเมืองราชบุรี เปรียบเสมือนกับย่านธุรกิจกลาง (Central Business District : CBD)  ที่เป็นศูนย์รวมของทุกอย่างตั้งแต่ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ราชการ โรงพยาบาล โรงแรม โรงเรียน ธนาคาร ตลาด ร้านอาหาร สถานบันเทิง ฯลฯ  ดังนั้นจึงยากที่จะหลีกเหลี่ยงไม่ให้มีการจราจรติดขัดได้ เพราะทุกคนต่างใช้ยานพาหนะของตัวเองในการเดินทาง ทางแก้ไขการจราจรติดขัดที่มีความเป็นไปได้ก็คือ การหันมาพัฒนาระบบขนส่งมวลชน




การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน
ระบบขนส่งมวลชน แปลง่ายๆ  ก็คือระบบการขนส่งผู้โดยสารครั้งละมาก ๆ  เมืองที่จัดว่ามีระบบการขนส่งสาธารณะหรือการขนส่งมวลชนที่ดี ได้แก่ ลอนดอน (อังกฤษ) โตเกียว (ญี่ปุ่น) โซล (เกาหลีใต้)  นิวยอร์ค (สหรัฐอเมริกา) และมาดริด (สเปน) ซึ่งเมืองเหล่านี้ เน้นการสร้างระบบขนส่งมวลชนเป็นสำคัญ (ไม่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ยานพาหนะส่วนตัว) การออกแบบระบบการขนส่งมวลชนแต่ละประเภทจะมีความเชื่อมโยงกัน ทั้งรถโดยสาร รถราง รถไฟฟ้าทั้งบนดิน ใต้ดิน และรถไฟ  ซึ่งตอนนี้ กรุงเทพฯ เมืองหลวงของเราก็กำลังพยายามพัฒนาอยู่ เช่นกัน

หากลองหันกลับมามองเมืองราชบุรี  ระบบขนส่งมวลชน ภายในเมืองรูปดักแด้นี้ แทบไม่มีให้เห็น  ที่เห็นก็มีเพียงรถเมล์สองแถวสายบ้านไร่-สถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.ราชบุรี แห่งที่ 2 ซึ่งเดินทางเชื่อมโยงระหว่างเมืองราชบุรีทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก  (ผ่าน ถ.มนตรีสุริยวงศ์-อัมรินทร์-ศรีสุริยวงศ์) แต่หากจะเดินทางเชื่อมโยงเมืองราชบุรีระหว่างทิศเหนือกับทิศใต้ กลับไม่มีบริการขนส่งมวลชนใดๆ ให้บริการเลย  ยิ่งหากต้องเดินทางรอบเมืองแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงต้องใช้รถส่วนตัวเท่านั้น


เส้นทางที่ควรจัดให้มีระบบขนส่งมวลชน

รถเมล์ไฟฟ้ารอบเมืองราชบุรี
การขนส่งมวลชนด้วย "รถเมล์ไฟ้ฟ้ารอบเมืองราชบุรี"  หากทำสำเร็จจะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่เป็นทางเลือกหนึ่งให้ประชาชนได้เลือกใช้สำหรับการเดินทางภายในเมืองราชบุรี ด้วยราคาที่ถูก สะดวกสบาย มีความปลอดภัย  นอกจากนั้นยังสามารถแก้ไขปัญหารถติดและมลภาวะภายในเมืองได้อีกด้วย  ปัจจุบัน ระบบขนส่งมวลชนในเมืองราชบุรี แทบไม่มีการให้บริการ คงมีแต่รถรับจ้าง เช่น รถมอเตอร์ไซด์ รถตุ๊กๆ รถสามล้อ (ซึ่งกำลังจะหายสาบสูญไปแล้ว) เท่านั้น

รถเมล์รอบเมืองราชบุรีนี้ ไม่ใช่ ไม่เคยมี ตอนผมเด็กๆ ผมยังจำได้ว่าเป็นรถเมล์ทรงโบราณสีเขียวเข้ม แต่ต่อมาไม่รู้หายไปไหน อาจประสบภาวะขาดทุนเพราะคนราชบุรีหันไปนิยมซื้อรถส่วนตัวมาใช้กันหมดก็ได้ ปัจจุบันเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองเริ่มเห็นปัญหาการจราจรที่คับคั่งและมลภาวะที่เป็นพิษ ได้เริ่มหันกลับมาพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางอีกครั้ง โดยเฉพาะรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม



ภาพจำลอง : รถเมล์ไฟฟ้า ทางเลือกใหม่ของคนราชบุรี

ภาพจำลอง : รถเมล์ไฟฟ้า ทางเลือกใหม่ของคนราชบุรี

การวางแผนเส้นทางการเดินรถเมล์ไฟฟ้ารอบเมืองราชบุรี ว่าจะเดินรถอย่างไร รูปแบบและขนาดของรถเมล์ที่จะใช้ จะมีกี่สาย กี่คัน จะเก็บค่าบริการเท่าไหร่ ระยะเวลาของรถที่จะผ่านแต่ละคัน จะมีรูปแบบการบริหารจัดการอย่างไร เป็นรูปแบบสวัสดิการของรัฐ หรือเป็นรูปแบบเชิงธุรกิจ ฯลฯ ล้วนแล้วต้องมีศึกษาอย่างเป็นระบบ หน่วยงานที่น่าจะเป็นเจ้าภาพงานนี้โดยตรงก็คือ  "เทศบาลเมืองราชบุรี"  

การให้บริการรถเมล์ไฟฟ้ารอบเมืองราชบุรีนี้  ไม่ผิดกฏหมายแต่อย่างใด หลายๆ เมืองในประเทศไทย ก็มีการทำให้เห็นอยู่แล้ว แต่ที่เมืองราชบุรีนี้ มันติดอยู่เพียงว่า "ใครเท่านั้น ที่จะเป็นคนเริ่มต้น" 

#รักราชบุรี ร่วมสร้างราชบุรี 


***************************** 

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ถึงเวลาพัฒนาเขาแก่นจันทร์ หรือยัง?

หากจะทำให้เมืองราชบุรีเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวหรือบุคคลทั่วไปอยากมาเยี่ยมเยือน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่ดึงดูดใจ ถือเป็นเรื่องสำคัญ  ซึ่งผมเห็นว่า "เขาแก่นจันทร์"  เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมากที่สุด หากได้มีการพัฒนากันอย่างจริงจัง 

"พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ" พระประจำภาคตะวันตก
ที่มาของภาพ https://www.เที่ยวราชบุรี.com/
ศักยภาพของเขาแก่นจันทร์ 
  1. บนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ"  พระประจำภาคตะวันตกหรือ ที่เรียกว่า “พระสี่มุมเมือง” เพื่อเป็นจตุรพุทธปราการเอาไว้ปกป้องภยันตรายจากศัตรูทั้งสี่ทิศของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น 4 องค์เพื่อนำไปประดิษฐานยังทิศเหนือ (ลำปาง) ทิศใต้ (พัทลุง) ทิศตะวันออก (สระบุรี) และทิศตะวันตก ที่ จ.ราชบุรี โดยดำเนินการประดิษฐานเมื่อ 27 ธ.ค.2511 
  2. บนยอดเขาแก่นจันทร์เป็นจุดชมวิวเมืองราชบุรีที่สวยที่สุด อากาศสดชื่นเย็นสบาย 
  3. หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2550 ซึ่งเคยตั้งใจจะทำเป็นจุดชมวิว และ Landmark แห่งใหม่ของเมืองราชบุรี 
  4. บริเวณเชิงเขาเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะจักรีอนุสรณ์สถาน และเป็นที่ประดิษฐ์ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ซึ่งในอดีตพระองค์ทรงเคยดำรงตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
ทิวทัศน์อุทยานหินเขางู และเทือกเขาตะนาวศรี มองจากยอดเขาแก่นจันทร์
ที่มาของภาพ https://www.เที่ยวราชบุรี.com/
ทิวทัศน์เมืองราชบุรี มองจากยอดเขาแก่นจันทร์
ที่มาของภาพ https://www.เที่ยวราชบุรี.com/

การพัฒนาเขาแก่นจันทร์
การพัฒนาเขาแก่นจันทร์ที่สำคัญลำดับต้นๆ คือ ทำอย่างไร? ที่จะนำนักท่องเที่ยวและผู้ที่มีจิตศรัทธาขึ้นไปไหว้พระสี่มุมเมืองได้อย่างปลอดภัย  ปัจจุบันเส้นทางขึ้นไปไหว้พระสี่มุมเมืองบนยอดเขาแก่นจันทร์ซึ่งมีความสูงประมาณ 141 เมตร  มีเพียงถนนลาดยางเส้นเดียว บางช่วงก็มีโค้งหักศอกและลาดชัน  หากยานพาหนะไม่ดี หรือผู้ขับขี่ไม่ชำนาญ อาจเกิดอันตรายได้ การเดินทางขึ้นยอดเขาแก่นจันทร์ที่น่าจะสร้างขึ้น ได้แก่

บันไดคนเดิน โดยสร้างขึ้นลัดเลาะไปตามเส้นทางธรรมชาติรอบๆ เขาแก่นจันทร์จนถึงยอดเขา มีจุดแวะพักเหนื่อยตามรายทางเป็นจุดๆ ไป (แต่ละจุดมีกิจกรรมให้ทำ ให้ชม มีอาหาร น้ำดื่ม ไว้จำหน่าย) ออกแบบไม่ให้ชันจนเกินไป เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีสุขภาพดี ชอบออกกำลังกาย ชอบท้าทาย และพวกที่ชื่นชมป่าเขาและธรรมชาติ   

รถรางไฟฟ้า เหมาะสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีเวลาน้อย  ชอบความสบาย ไม่ชอบเหนื่อยมาก และชอบใช้บริการนวัตกรรมใหม่ๆ  และกลุ่มทัวร์ผู้สูงอายุ ที่มีจิตศรัทธาแต่เดินไม่ไหว   ซึ่งกลุ่มนี้ในอนาคตจะมีมากขึ้น 

รถรับจ้างขนาดเล็ก ที่มีความปลอดภัยและคนขับที่มีความเชี่ยวชาญพานักท่องเที่ยวขึ้นไปบนยอดเขาได้อย่างปลอดภัย


รถรางไฟฟ้า ขึ้นลงเขาวังเพชรบุรี
ที่มาของภาพ : TRUEID (https://travel.trueid.net/detail/g5YZN9dYaJg)

หากมีการพัฒนาการเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาแก่นจันทร์ให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้อย่างหลากหลาย เช่น บันไดคนเดิน รถรางไฟฟ้า รถรับจ้างขนาดเล็ก ตามที่กล่าวมา ผมคิดว่า "การไหว้พระสี่มุมเมืองซึ่งเป็นพระพุทธรูป 1 ใน 4 องค์ของประเทศไทยเพื่อความเป็นสิริมงคล" น่าจะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะถูกบรรจุไว้ในโปรแกรมการท่องเที่ยวของกรุ๊ปทัวร์ทั้งในและต่างประเทศ ได้โดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์สายบุญ ไหว้พระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นยังดึงดูดนักท่องเที่ยวสายที่ชอบนวัตกรรม และการผจญภัยใหม่ๆ  ได้อีกด้วย


สวนสาธารณะจักรีอนุสรณ์สถาน
ที่มาของภาพ https://www.เที่ยวราชบุรี.com/
สวนสาธารณะจักรีอนุสรณ์สถาน ที่บริเวณเชิงเขา สามารถพัฒนาเป็นสถานที่ให้บริการนักท่องเที่ยว และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกต่างๆ ได้อีกด้วย (ซึ่งทราบว่า อบจ.ราชบุรี เคยพยายามทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ)  ส่วนหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ก็พัฒนาเป็นร้านอาหารและห้องชมวิวเมืองราชบุรีไปด้วยในตัว

การพัฒนาการเดินทางขึ้นเขาแก่นจันทร์ มีต้นแบบให้เห็นแล้วก็คือที่ เขาวังเพชรบุรี ใกล้บ้านเรานี่เอง ไม่ใช่ของใหม่หรือสิ่งใหม่  แต่หากคิดจะทำ จุดเริ่มต้นก็คือการตัดสินใจของผู้ที่มีอำนาจ และบรรดาสมาคม องค์กรที่มีศักยภาพทั้งหลายที่จะต้อง "กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง"  การพัฒนาเขาแก่นจันทร์ในครั้งนี้ อาจจะเป็นงานใหญ่ ที่ใช้งบประมาณค่อนข้างมาก แต่ก็คุ้มค่า หากสำเร็จจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ในอีกหลายๆ ด้านที่กำลังจะพัฒนาต่อเนื่องกันไป เช่น การเป็นเมือง  "ศูนย์กลางการท่องเที่ยววิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และกีฬาทางน้ำแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง"   เป็นต้น

บันไดรักแท้ 3,790 ขั้น ขึ้นเขาวงพระจันทร์ ที่ จ.ลพบุรี
ที่มาของภาพ : MTHAI (https://travel.mthai.com/blog/127049.html)
ผมเคยจินตนาการว่า วันหนึ่ง นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากเพชรบุรี เมื่อถึงสี่แยกวังมะนาวแล้วจะไม่เลี้ยวขวาไป ถ.พระราม 2 แต่จะขับรถตรงมาตาม ถ.เพชรเกษม เพื่อสักการะพระสี่มุมเมือง พระประจำภาคตะวันตก เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนกลับกรุงเทพฯ หลังจากนั้น ก็จะแวะซื้อตุ๊กตาของฝากที่บ้านสิงห์ เยี่ยมชม ณ สัทธา อุทยานไทย ที่ อ.บางแพ แวะเที่ยวตลาดน้ำที่ อ.ดำเนินสะดวก แล้วค่อยเดินทางต่อไปยังตลาดน้ำอัมพวา และกลับกรุงเทพฯ ต่อไป  

ช่วยกันคิดนะครับ

******************************

บทความที่ได้รับความนิยม