มูลนิธิ สรศ.

อยู่ระหว่างการจดทะเบียน

ข้อบังคับ
มูลนิธิสถาบันราชบุรีศึกษา

หมวดที่ 1
ชื่อ เครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง

ข้อ 1. มูลนิธินี้ชื่อว่า “มูลนิธิสถาบันราชบุรีศึกษา”
            1.1 ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ “Ratchaburi Studies Institute Foundation”
            1.2 ชื่อย่อภาษาไทย “มูลนิธิ สรศ.”
            1.3 ชื่อย่อภาษาอังกฤษ “RSI FOUNDATION”
ข้อ 2. เครื่องหมายมูลนิธินี้ คือ 
เป็นรูปแผนที่จังหวัดราชบุรี ภายในแผนที่เขียนคำว่า สถาบันราชบุรีศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และ อักษรย่อ สรศ. และ RSI ทั้งหมดอยู่ภายใต้พื้นวงกลมสีฟ้า และมีตัวอักษรภาษาไทย “มูลนิธิสถาบันราชบุรีศึกษา” เป็นรูปโค้งอยู่ด้านบน และมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ “RSI FOUNDATION” เป็นรูปโค้งอยู่ด้านล่าง



ข้อ 3. สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ 20/23 ถ.สมบูรณ์กุล ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000


หมวดที่ 2
วัตถุประสงค์
ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้ คือ
            4.1 ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานแก่สถาบันราชบุรีศึกษา
            4.2 ส่งเสริมการศึกษา วิเคราะห์และวิจัย เพื่อการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม ตลอดจนดำเนินการฝึกอบรมในเรื่องต่าง ๆ สำหรับบุคลากรภาครัฐและองค์กรภาคเอกชน
            4.3 ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือกับ หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งภาคเอกชนและประชาสังคม ในการให้ความรู้และข้อมูลวิชาการเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
            4.4 สนับสนุนกิจกรรมอื่นใด ของสถาบันราชบุรีศึกษา ที่คณะกรรมการมูลนิธิเห็นชอบ
            4.5 ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์หรือร่วมกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
            4.6 ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด


หมวดที่ 3
ทุน ทรัพย์สิน การได้มาซึ่งทรัพย์สิน
ข้อ 5. ทรัพย์สินของมูลนิธิ มีทุนเริ่มแรก คือ เงินสดจำนวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน)
ข้อ 6. มูลนิธิ อาจได้มาซึ่งทรัพย์สินในกรณีดังต่อไปนี้
            6.1 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่น ๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สินหรือภาระติดพันอื่นใด
            6.2 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้
            6.3 ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ
            6.4 รายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ


หมวดที่ 4
คุณสมบัติและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ
ข้อ 7. กรรมการของมูลนิธิ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
            7.1 มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ (บรรลุนิติภาวะ)
            7.2 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
            7.3 ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
ข้อ 8. กรรมการของมูลนิธิ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
            8.1 ถึงคราวออกตามวาระ
            8.2 ตายหรือลาออก
            8.3 ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับข้อ 7
            8.4 เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนที่เสื่อมเสีย และคณะกรรมการมูลนิธิ มีมติให้ออก โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการมูลนิธิ
            8.5 เมื่อประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมูลนิธิ จำนวนหนึ่งในสาม ให้ออก


หมวดที่ 5
การดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 9. มูลนิธิ ดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วย
            9.1 ประธานกรรมการมูลนิธิ
            9.2 รองประธานกรรมการมูลนิธิ
            9.3 รองประธานกรรมการมูลนิธิ
            9.4 กรรมการ/เลขานุการมูลนิธิ
            9.5 กรรมการ/เหรัญญิกมูลนิธิ
ข้อ 10. การแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ ให้ปฏิบัติดังนี้ ให้คณะกรรมการชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่เลือกตั้งประธานกรรมการมูลนิธิ และกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ แต่ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการ ผู้ริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิ เป็นผู้เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิ ขึ้นคณะหนึ่ง
ข้อ 11. กรรมการดำเนินงานมูลนิธิ อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และเพื่อให้การดำเนินงานของมูลนิธิดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อคณะกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิ ได้ปฏิบัติหน้าที่มาครบ 2 ปี (ครึ่งหนึ่งของวาระ การดำรงตำแหน่ง) ให้มีการจับสลากออกไปหนึ่งในสองของจำนวนกรรมการมูลนิธิ ได้รับเลือกเป็นกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิครั้งแรกและให้ถือว่าเป็นการออกตามวาระ
ข้อ 12. การแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ เป็น “มติ” ที่ประชุม
ข้อ 13. กรรมการมูลนิธิ ที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือโดยการจับสลากในวาระแรก อาจได้รับแต่งตั้งเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก
ข้อ 14. ในกรณีที่กรรมการมูลนิธิ พ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่กรรมการมูลนิธิต่อไปจนกว่ามูลนิธิจะได้รับแจ้งการจดทะเบียนกรรมการมูลนิธิที่ตั้งใหม่
ข้อ 15. ถ้าตำแหน่งกรรมการมูลนิธิว่างลง ให้คณะกรรมการมูลนิธิที่เหลืออยู่แต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการมูลนิธิ แทนตำแหน่งที่ว่าง ในกรณีนี้กรรมการมูลนิธิที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่าวาระของผู้ที่ตนแทน


หมวดที่ 6
อำนาจหน้าที่คณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 16. คณะกรรมการมูลนิธิมี อำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของมูลนิธิตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ และภายใต้ข้อบังคับนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
            16.1 กำหนดนโยบายของมูลนิธิ และดำเนินการตามนโยบายนั้น
            16.2 ควบคุมการเงินและทุนทรัพย์สินต่าง ๆ ของมูลนิธิ
            16.3 เสนอรายงานกิจการ รายงานการเงิน และบัญชีรายได้-รายจ่าย ต่อนายทะเบียน
            16.4 ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ และวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้
            16.5 ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมูลนิธิ
            16.6 แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของมูลนิธิภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการมูลนิธิ
            16.7 เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้มูลนิธิเป็นพิเศษ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์
            16.8 เชิญผู้ทรงเกียรติเป็นผู้อุปถัมภ์มูลนิธิ
            16.9 เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิ
            16.10 แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ประจำของมูลนิธิ
            16.11 การดำเนินการตามข้อ 17.4, 17.8 และ 17.9 ต้องเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุม
ข้อ 17 ประธานกรรมการมูลนิธิ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
            17.1 เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
            17.2 สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
            17.3 เป็นผู้แทนมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และในการทำนิติกรรมใดๆ ของมูลนิธิ หรือการลงลายมือชื่อในเอกสาร ตราสารและสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของมูลนิธิและในทางอรรถคดีนั้น เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทนหรือกรรมการมูลนิธิ 2 คน ได้ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้
            17.4 ปฏิบัติการอื่นๆ ตามข้อบังคับและมติของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 18. ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิ เมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือในกรณีที่ประธานมอบหมายให้ทำการแทน
ข้อ 19 ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิและรองประธานกรรมการมูลนิธิ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมคราวหนึ่งคราวใดได้ ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิคนใดคนหนึ่งเป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น
ข้อ 20. เลขานุการมูลนิธิมีหน้าที่ควบคุมกิจการ และดำเนินการประชุมของมูลนิธิ ติดต่อประสานงานทั่วไป รักษาระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิ นัดประชุมคณะกรรมการตามคำสั่งของประธานมูลนิธิและทำรายงานประชุม ตลอดจนรายงานกิจการของมูลนิธิ
ข้อ 21. เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการเงิน ทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง และเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด
ข้อ 22. สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดโดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน
ข้อ 23. คณะกรรมการมูลนิธิมีสิทธิเข้าร่วมประชุมกรรมการ หรืออนุกรรมการอื่น ๆ ของมูลนิธิได้


หมวดที่ 7
อนุกรรมการ
ข้อ 24. คณะกรรมการมูลนิธิ อาจแต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม โดยจะแต่งตั้งให้เป็นคณะอนุกรรมการประจำ หรือเพื่อการใดเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราวก็ได้ และในกรณีที่คณะกรรมการมูลนิธิไม่ได้แต่งตั้ง ประธานอนุกรรมการ เลขานุการหรืออนุกรรมการในตำแหน่งอื่นไว้ ก็ให้อนุกรรมการแต่ละคณะแต่งตั้งกันเองดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้
ข้อ 25. อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำ ส่วนคณะอนุกรรมการประจำอยู่ในตำแหน่งตามเวลาที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ก็ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง และอนุกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้
            25.1 อนุกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมูลนิธิมอบหมาย
            25.2 อนุกรรมการมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย


หมวดที่ 8
การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 26. คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปี ทุก ๆ ปี ภายในเดือนมีนาคม และต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าร่วมประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 27. การประชุมวิสามัญอาจมีได้ในเมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ หรือเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป แสดงความประสงค์ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทนขอให้มีการประชุมก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้ สำหรับองค์ประชุมให้ใช้ในข้อ 26 บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 28. กำหนดการประชุมและองค์ประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมูลนิธิ จะกำหนดไว้ ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการประชุมให้คณะอนุกรรมการตกลงกันเอง และในส่วนที่เกี่ยวกับองค์ประชุมให้ใช้ข้อ 27 บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 29. ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด กิจการใดที่เป็นงานประจำหรือกิจการเล็กน้อย ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ แต่ประธานกรรมการมูลนิธิต้องรายงานต่อที่ประชุม  คณะกรรมการมูลนิธิในคราวต่อไป ถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการไปตามมตินั้น กิจการใดเป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 30. ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ ประธานกรรมการมูลนิธิหรือประธานที่ประชุมมีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติหรือ ผู้สังเกตการณ์ หรือเพื่อชี้แจงหรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้


หมวดที่ 9
การเงินและการบัญชี
ข้อ 31. ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือรองประธานกรรมการมูลนิธิในกรณีทำหน้าที่แทนมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมาก เว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วนให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิที่จะอนุมัติให้จ่ายได้ แต่ต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป
ข้อ 32. เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
ข้อ 33. เงินสดของมูลนิธิหรือเอกสารสิทธิ ต้องนำฝากไว้กับธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นใดที่ธนาคารให้การค้ำประกัน หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ แล้วแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร
ข้อ 34. การสั่งจ่ายเงินโดยเช็ค จะต้องมีลายมือชื่อของประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเลขานุการ หรือเหรัญญิกทุกครั้งจึงจะเบิกจ่ายได้ ( คือสองในสี่ )
ข้อ 35. ในการใช้จ่ายเงินของมูลนิธิ รวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำสำนักงาน ให้จ่ายเพียงดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุนของมูลนิธิ และเงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงินสมทบทุนโดยเฉพาะ และรายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ
ข้อ 36. ให้คณะกรรมการมูลนิธิวางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และทรัพย์สินของมูลนิธิตลอดจนกำหนดอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับการรับ และจ่ายเงินนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
ข้อ 37. ให้คณะกรรมการของมูลนิธิกำหนดรอบระยะเวลาบัญชี และจัดทำรายงานสถานะการเงินของมูลนิธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา เสนอต่อที่ประชุมในการประชุมสามัญประจำปี
ข้อ 38. ให้มีผู้สอบบัญชีของมูลนิธิ ซึ่งคณะกรรมการมูลนิธิเห็นชอบและแต่งตั้งจากบุคคลที่มิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่อื่นของมูลนิธิ โดยจะดำรงตำแหน่งกิตติมศักดิ์ หรือได้รับค่าตอบแทนอย่างไรสุดแต่ที่ประชุม
คณะกรรมการมูลนิธิจะกำหนดผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของมูลนิธิ และรับรองบัญชีงบดุลประจำปีที่คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องรายงานต่อนายทะเบียนผู้สอบบัญชีมีสิทธิตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสอบถามกรรมการมูลนิธิและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และเอกสารดังกล่าวได้


หมวดที่ 10
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
ข้อ 39. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับจะกระทำได้โดยเฉพาะที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมติให้แก้ไข หรือเพิ่มเติมข้อบังคับต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม


หมวดที่ 11
การเลิกมูลนิธิ
ข้อ 40. ถ้ามูลนิธิต้องเลิกด้วยเหตุผลใดก็ตาม ให้ทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิที่เหลืออยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ องค์กรหรือสถาบันที่มีวัตุประสงค์คล้ายกัน
ข้อ 41. การสิ้นสุดของมูลนิธินั้นนอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ให้มูลนิธิเป็นอันสิ้นสุดลงโดยมิต้องให้ศาลสั่งเลิกด้วยเหตุต่อไปนี้
            41.1 เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้วไม่ได้รับทรัพย์สินตามคำมั่นเต็มจำนวน
            41.2 เมื่อกรรมการมูลนิธิจำนวนสองในสามมีมติให้ยกเลิก
            41.3 เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของมูลนิธิ
            41.4 เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ


หมวดที่ 12
บทเบ็ดเตล็ด
ข้อ 42. การตีความในข้อบังคับของมูลนิธิ หากเป็นที่สงสัยให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 43. ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับในเมื่อข้อบังคับของมูลนิธิมิได้กำหนดไว้
ข้อ 44. มูลนิธิต้องไม่ดำเนินการเพื่อหาประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อการค้าหากำไร หรือเพื่อบุคคลใดนอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเท่านั้น


ลงชื่อ

(.......................................... )

ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันราชบุรีศึกษา
ผู้จัดทำข้อบังคับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม