วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564

ราชบุรี พร้อมหรือยัง? เปิดรับนักท่องเที่ยวกลางเดือนตุลาคมนี้

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า รัฐบาลเดินหน้าตามแผนเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่วางไว้เป็นระยะ หลังจากหลังจากนำร่องระยะที่ 1 ในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี แล้ว ระยะที่ 2 จะเปิดอีก 5 จังหวัดใน 1 ต.ค.2564 ส่วน จ.ราชบุรี อยู่ในแผนระยะที่ 3 อีก 21 จังหวัด กำหนดจะเปิดในช่วงกลางเดือน ต.ค.2564 


ราชบุรี พร้อมหรือยัง
ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับ การท่องเที่ยวราชบุรีวิถีใหม่ หลังโควิด-19 และ สวนผึ้งแซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์การบริหารการฉีดวัคซีนของ จ.ราชบุรี ไว้เมื่อ เดือน มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีใครได้นำพาใด ๆ จนวันนี้ รัฐบาลมีแผนที่จะให้ จ.ราชบุรี เปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง ตั้งแต่กลางเดือน ต.ค.2564 เป็นต้นไป ภายใต้มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention For COVID-19)

โดยรัฐบาลจะกระตุ้นให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 (รัฐสนับสนุนค่าโรงแรม 40% ให้คูปองอาหาร 600 บาทต่อคืน และสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน 40% จำนวน 2 ล้านสิทธิ หรือห้องพัก) และโครงการทัวร์เที่ยวไทย (รัฐสนับสนุนวงเงิน 5,000 บาท ให้ประชาชนเดินทางเที่ยวผ่านบริษัททัวร์ จำนวน 1 ล้านสิทธิ)

จึงถามว่า จ.ราชบุรี พร้อมหรือยัง มีแผนรองรับหรือไม่ อย่างไร

บทความแนะนำ

การเปิดการท่องที่ยวครั้งนี้ นักท่องเที่ยวจะเที่ยวได้โดยไม่ต้องถูกกักตัวแต่ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด (Sealed Area) อย่างเช่น จ.เชียงใหม่ (Sealed Area คือ อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.ดอยเต่า) จ.ประจวบฯ (Sealed Area คือ อ.หัวหิน) จ.เพชรบุรี (Sealed Area คือ อ.ชะอำ) เป็นต้น 

เงื่อนไขของนักท่องเที่ยวไทย ยังไม่ทราบชัดเจน แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เน้นเฉพาะผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และมีผลเป็นลบในการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR หรือไม่พบเชื้อเท่านั้นจึงจะสามารถท่องเที่ยวได้แบบไม่ต้องถูกกักตัว 

พื้นที่ท่องเที่ยวที่จะเป็น Sealed Area นั้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ครบตามเกณฑ์อย่างน้อย ร้อยละ 70 และพนักงานในภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นบุคลลากรด่านหน้าในพื้นที่นั้น ต้องได้รับวัคซีนครบถ้วน 


สวนผึ้ง : Sealed Area ของ จ.ราชบุรี
อ.สวนผึ้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีชื่อเสียงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีโรงแรม รีสอร์ท บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวพร้อมมูล มีเส้นทางเข้า-ออก พื้นที่ทางเดียวควบคุมได้ง่าย ด้านหลังติดแนวชายแดน เหมาะสมที่จะนำร่องเป็น Sealed Area ของ จ.ราชบุรี 

หาก จ.ราชบุรี ตัดสินใจจะเปิดการท่องเที่ยว อ.สวนผึ้ง กำหนดเป็น Sealed Area จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนและประเมินล่วงหน้า พร้อมทั้งกำหนดหลักปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด (One SOP One System) ทั้งประเทศ

ประชากร อ.สวนผึ้ง มีจำนวน 53,292 คน หากเป็นไปตามเงื่อนไข ประชาชนใน อ.สวนผึ้ง ควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ครบตามเกณฑ์อย่างน้อย ร้อยละ 70 คือ อย่างน้อย 37,304 คน แต่ตอนนี้ จากการรายงานของกรรมการโรคติดต่อ จ.ราชบุรี ไม่มีข้อมูลระบุชัดเจนว่า ชาว อ.สวนผึ้ง ได้รับฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนเท่าใด 

หาก จ.ราชบุรี ต้องการเปิดเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี อีกครั้ง เพื่อให้ผู้คนได้ลืมตาอ้าปากได้โดยเร็ว ตามนโยบายรัฐบาล จ.ราชบุรี จำเป็นต้องขอวัคซีนเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เพื่อฉีดให้ชาวสวนผึ้ง และบุคลากรด่านหน้าด้านการท่องเที่ยวของสวนผึ้ง ให้ครบตามเกณฑ์อย่างน้อยร้อยละ 70 ตั้งแต่วันนี้ เพราะช้ากว่านี้อาจจะไม่ทัน อย่างน้อย วันที่ 1 พ.ย.2564 ที่จะถึงนี้ น่าจะเปิดฤดูการท่องเที่ยว อ.สวนผึ้งได้อีกครั้ง ในแคมเปญ "หนาวนี้ ที่สวนผึ้ง" 

*****************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ผอ.สถาบันราชบุรีศึกษา
15 ก.ย.2564

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2564

ผลสำรวจมาตรการล็อกดาวน์ของ จ.ราชบุรี

คนราชบุรี กว่าร้อยละ 80 เห็นว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ และร้อยละ 47.76 อยากให้ล็อกดาวน์ต่อไป และให้มีมาตรการเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม 


ราชบุรีโพล โดย สถาบันราชบุรีศึกษา ได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการล็อกดาวน์ของ จ.ราชบุรี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 1 ใน 29 จังหวัด โดยทำการสำรวจแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่  7-10 ก.ย.2564  ผลการสำรวจมีระดับความเชื่อมั่น 95% ระดับความคลาดเคลื่อน + 5% (ตารางสำเร็จรูปของ ทาโร ยามาเน่ (Yamane)) แยกรายละเอียด ดังนี้  


ผู้ตอบแบบสำรวจฯ จำนวน 559 คน
จากประชากร จ.ราชบุรี  918,674 คน
  • อาศัยอยู่ใน จ.ราชบุรี  90.34%
  • มีญาติพี่น้องอยู่ใน จ.ราชบุรี 4.84%
  • ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ใน จ.ราชบุรีและอื่น ๆ 4.82%

ท่านคิดว่า จ.ราชบุรี ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากมาตรการล็อกดาวน์ในปัจจุบันหรือไม่
  • ประสบความสำเร็จมาก   2.33%
  • ค่อนข้างประสบความสำเร็จ 14.85%
  • ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ 50.27%
  • ไม่ประสบความสำเร็จเลย 32.55%
ท่านคิดว่าหลังวันที่ 14 ก.ย.2564 ไปแล้ว จ.ราชบุรี ควรดำเนินการมาตรการล็อกดาวน์ต่อหรือไม่ 
  • ควรดำเนินการต่อเหมือนเดิม แต่ให้มีมาตรการเข้มข้นขึ้น 47.76%
  • ควรดำเนินการต่อเหมือนเดิม แต่ให้ผ่อนคลายมาตรการลง 40.96%
  • ไม่ควรดำเนินการต่อ 11.28%
ความคิดเห็นต่อมาตรการล็อกดาวน์ ของ จ.ราชบุรี หลังวันที่ 14 ก.ย.2564

เห็นว่า "คงเดิม" เรียงตามจำนวนความเห็นจากมากไปหาน้อย
  • อันดับ 1 สถานที่เล่นการพนัน ชนไก่ กัดปลา ชกมวย วัวลาน ฯลฯ ปิดชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เห็นว่ายังคงเดิม  469 คน ควรผ่อนคลาย  64 คน และควรยกเลิก  26 คน (คิดเป็นอัตราส่วน 18.04 : 2.46 : 1)
  • อันดับ 2 การปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบน้ำ อาบอบนวด สนุ๊กเกอร์ บิลเลียด สวนสนุก โบว์ลิ่ง ตู้เกม เครื่งเล่นเกม  สนามเด็ก เครื่องเล่น บ้านลม  บ้านบอล  ร้านเกม อินเทอร์เน็ต อาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร สอนลีลาศ สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เห็นว่ายังคงเดิม 397 คน ควรผ่อนคลาย 132  คน ควรยกเลิก  30 คน (คิดเป็นอัตราส่วน 13.23 : 4.40 : 1)
  • อันดับ 3 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเกิน 25 คน เห็นว่ายังคงเดิม  382 คน ควรผ่อนคลาย 136 คน ควรยกเลิก  41 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  9.32 : 3.32 : 1)
  • อันดับ 4 การปิด สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สวนสนุก สวนน้ำ สระว่ายน้ำ  สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส ตู้เกม  เครื่องเล่น ร้านเกม  การจัดเลี้ยง การจัดประชุม  เห็นว่ายังคงเดิม 367 คน ควรผ่อนคลาย 156 คน ควรยกเลิก 36 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  10.19 : 4.33 : 1)
  • อันดับ 5 ร้านอาหารเปิดให้บริการได้ไม่เกิน 20.00 น. งดการจำหน่ายและงดดื่มสุราและแอลกอฮอล์ในร้าน เห็นว่ายังคงเดิม 325 คน ควรผ่อนคลาย 173 คน ควรยกเลิก 61 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  5.33 : 2.84 : 1)
  • อันดับ 6 ร้านอาหารที่เป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ รวมทั้งร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ให้นั่งรับประทานได้ไม่เกิน 50% ของพื้นที่ เห็นว่ายังคงเดิม 322 คน ควรผ่อนคลาย  182 คน ควรยกเลิก 55 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  5.85 : 3.31 : 1)
  • อันดับ 7 การแข่งขันกีฬาไม่อนุญาตให้มีผู้ชมในสนามและต้องจำกัดจำนวนคนที่เข้าร่วมเท่าที่จำเป็น เห็นว่ายังคงเดิม 319 คน ควรผ่อนคลาย 185 คน ควรยกเลิก 55 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  5.80 : 3.36 : 1)
  • อันดับ 8 ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตีมอลล์ อนุญาตให้เปิดได้ถึง 20.00 น. เห็นว่ายังคงเดิม  316 คน  ควรผ่อนคลาย 193 คน ควรยกเลิก 50 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  6.32 : 3.86 : 1)
  • อันดับ 9 ร้านสะดวกซื้อ ปิด 20.00 น.-04.00 น. เห็นว่ายังคงเดิม 311 คน ควรผ่อนคลาย 197 คน ควรยกเลิก 51 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  6.10 : 3.86 : 1)
  • อันดับ 10 มาตรการเคอร์ฟิว หรือการห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00 - 04.00 น. เห็นว่ายังคงเดิม 308 คน  ควรผ่อนคลาย 176 คน ควรยกเลิก 75 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  4.11 : 2.35 : 1)
  • อันดับ 11 ขนส่งสาธารณะได้ทุกประเภท จำกัดผู้โดยสารไม่เกิน 75% เห็นว่ายังคงเดิม 291 คน ควรผ่อนคลาย 224 คน  ควรยกเลิก 44 (คิดเป็นอัตราส่วน  6.61 : 5.09 : 1)
  • อันดับ 12 ตลาดสด ตลาดนัด ถนนคนเดิน เปิดถึง 20.00 น. เห็นว่ายังคงเดิม 289 คน ควรผ่อนคลาย 212 คน ควรยกเลิก 58 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  4.98 : 3.66 : 1)
  • อันดับ 13 เจ้าหน้าที่และบุคลากรของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุด (Work from home) เห็นว่ายังคงเดิม 269 คน  ควรผ่อนคลาย 231 คน ควรยกเลิก 59 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  4.56 : 3.92 : 1)
  • อันดับ 14 คลินิกเสริมความงามให้เปิดสำหรับการจำหน่ายสินค้าเท่านั้น เห็นว่ายังคงเดิม  264 คน ควรผ่อนคลาย 234 คน ควรยกเลิก 61 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  4.33 : 3.84 : 1)
  • อัันดับ 15 ร้านนวด เปิดได้เฉพาะนวดเท้า เห็นว่ายังคงเดิม 257 คน ควรผ่อนคลาย 229 คน ควรยกเลิก 73 คน (คิดเป็นอัตราส่วน  4.21 : 3.75 : 1)
  • อันดับ 16 ร้านอาหารที่อยู่นอกอาคารที่มีอากาศไหลเวียนได้ หรือในอาคารแต่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ อนุญาตให้ลูกค้านั่งรับประทานในร้านได้ 75% ของพื้นที่ แต่ไม่เกิน 50 คน เห็นว่ายังคงเดิม 255 คน ควรผ่อนคลาย 233 คน ควรยกเลิก 71 คน  (คิดเป็นอัตราส่วน  3.59 : 3.28 : 1)
เห็นว่า "ควรผ่อนคลาย" เรียงตามจำนวนความเห็นจากมากไปหาน้อย
  • อันดับที่ 1 ร้านเสริมสวย ร้านตัดผมหรือแต่งผม สามารถให้บริการไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อคน  เห็นว่าควรผ่อนคลาย 256 คน ยังคงเดิม 236 คน และควรยกเลิก 67 คน ควรผ่อนคลาย 242 คน  (อัตราส่วน 3.82 : 3.52 : 1)
  • อันดับที่ 2 ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้ผู้บริการและผู้รับบริการปฏิบัติตามเกณฑ์ แต่ไม่เกิน 25 คน ในกรณีที่นั่งบริโภคอาหารในร้าน เห็นว่าควรผ่อนคลาย 235 คน ยังคงเดิม 234 คน และควรยกเลิก 90 คน (อัตราส่วน 2.61 : 2.60 : 1)
  • อันดับที่ 3 สนามกีฬาและสวนสาธารณะ รวมทั้งสนามกีฬาในที่ร่มที่เป็นที่โล่งอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีระบบปรับอากาศเปิดบริการได้ โดยกำหนดระยะเวลาเปิดถึง 20.00 น. เห็นว่าควรผ่อนคลาย 242 คน ยังคงเดิม 239 คนควรยกเลิก 78 คน  (อัตราส่วน 3.10 : 3.06 : 1)
แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 วันข้างหน้า ไม่ต่ำกว่า 400 คน/วัน

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ  (คำถามปลายเปิด)
  • ควรมีมาตรการตรวจหาเชื้อเชิงรุกให้มากขึ้น  และปิดสถานประกอบการที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเพื่อลดการแพร่ของเชื้อลง จัดการมาตราการต่าง ๆ ให้รัดกุมขึ้นโดยเฉพาะในโซนโรงงานต่าง ๆ ควรเข้มงวดและเพิ่มความสะดวกในการตรวจให้มากขึ้น ทำการตรวจเชิงรุกทั้งหมดของคนราชบุรี ทุกกลุ่ม ทุกชุมชน  รวมถึงพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาดค้าส่ง โรงงาน แรงานต่างด้าว และชุมชนแออัด โดยเฉพาะคนในโรงงาน นำเชื้อออกมาสู่ครอบครัวแล้วกระจายไปยังสังคม การตรวจ  ATK แต่ละบ้านสำคัญ และควรตรวจอย่างเข้มข้นกับพวกแรงงานต่างชาติด้วย ซึ่งมีอยู่จำนวนมากและชอบจับกลุ่มกินเหล้าและกินอาหารรวมกัน ตรวจเชิงรุกกับทุกโรงงาน และฟาร์มขนาดใหญ่ เพิ่มการคัดกรอง และใช้มาตรการอย่างจริงจังในสั่งปิดโรงงานที่เป็นคลัสเตอร์ และสั่งให้มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด ตรวจสอบโรงงานให้เข้มงวดกว่าเดิม ​ (26 คนที่มีความเห็น)
  • การบริหารสถานการณ์ในภาพรวมไม่ดีนัก ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดติด 1 ใน 10 ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ตัวบ่งชี้นี้แสดงว่ามาตราการที่อ่อนไป ทั้ง ๆ ที่ประชากรก็ไม่มาก ถ้าเทียบร้อยละการป่วยกับจำนวนประชากรแล้ว ควรมีการประสานกับนายอำเภอแต่ละอำเภออย่างใกล้ชิด ข้าราชการที่ดูแลเรื่องนี้ หลายคนทำงานไม่จริงจัง ทำให้เกิดคนติดเชื้อเพิ่มทุกวัน ยอดคนติดเชื้อส่วนมากมาจากแรงงานต่างด้าว ควรจัดระบบการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้ดีกว่านี้  ขอให้ ผวจ.ราชบุรี ทำงานอย่างจริงจังกว่านี้ ล็อคดาวน์ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าทุกคนไม่ตระหนักที่จะป้องกันการรับและเเพร่เชื้อ ล็อคกับไม่ล็อคมีค่าเท่ากัน เพราะ ปชช. ต้องป้องกันตัวเอง  ข้าราชการไทยควรออกมาบริการประชาชน ให้เหมือนบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่เอาแต่ WFH   (25 คนที่มีความคิดเห็น )
  • มาตรการล็อกดาวน์ที่ประกาศใช้ ขาดการควบคุม ติดตาม กำกับดูแลอย่างจริงจัง เด็ดขาด และเข้มงวด   บางพื้นที่ยังมีการอนุโลม เมื่อมีการฝ่าฝืนมาตรการควรมีบทลงโทษที่จริงจังมากกว่าเดิม ไม่ใช่คงเดิม ทางจังหวัดควรประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงกว่านี้ ควรจัดเจ้าหน้าที่ออกสำรวจตามหมู่บ้านให้ทั่วถึงกว่าเดิม เข้มงวดเรื่องการรวมกลุ่ม หรือการซื้อของ การเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากากอนามัย  ดำเนินการทางกฎหมายให้เด็ดขาด ไม่ควรมีการปกปิดข้อมูลพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค  การเปิดห้างควรที่จะมีมาตการเข้มยิ่งกว่านี้ เพราะทุกวันนี้ คนออกมาเดินห้างมากขึ้นโดยที่บางคนก็ระวังแต่บางคนก็ไม่ระวัง หรือไม่เกรงกลัว บางกลุ่มยังนั่งกินอาหารแบบรวมกลุ่ม  ไม่สนใจไม่ให้ความร่วมมือ   (19 คนที่มีความคิดเห็น)
  • การล็อกดาวน์ ควรมีการเยียวยาประชาชน ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ช่วยหยุดและพักชำระหนี้ แต่ถ้าไม่สามารถเยียวยาได้ ก็ควรเปิดให้คนทุกอาชีพได้ทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างเสรี แต่เพิ่มมาตรการการดูแลตัวเองให้กับประชาชน  มากกว่าการล็อกดาวน์ สั่งปิดสั่งหยุดทุกอย่าง ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เศรษฐกิจเสียหาย ไม่ควรปิดกิจการบริการสังคมที่จำเป็นต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเกิน 3 เดือน  ล็อคดาวน์ไม่ช่วยให้ดีขึ้น  เพราะเท่ากับเป็นการทำลายอาชีพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  (9 คนที่มีความคิดเห็น)
  • ควรเร่งฉีดวัคซีน กระจายจุดฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง เร็วกว่านี้ และควรเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง หาวัคซีนฉีดให้กับประชาชนตามทะเบียนบ้านเลย ไม่ต้องมาลงทะเบียน  ควรให้สิทธิ์ในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนทางเลือกกับคนที่มีบัตรทอง (บัตร 30 บาท) ที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดราชบุรี  ไม่ใช้ให้ลงได้เฉพาะคนที่มีบัตรประชาชนเป็นคนราชบุรี หรือเพื่อซื้อใจหวังผลการเลือกตั้งครั้งต่อไป    (8 คนที่มีความคิดเห็น)
  • ยังมีเด็กวัยรุ่นรวมตัวแข่งรถบนถนนสาธารณะช่วงเคอร์ฟิว และนั่งจับกลุ่มดื่มสุรา ร้องเรียนหน่วยงานไหนก็ไม่มีใครมาดู ควรมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครองออกตรวจกวดขัน ควรเข้มงวดเวลาเคอฟิวส์ให้มากขึ้นในทุกพื้นที่  (7 คนที่มีความคิดเห็น)
  • ยังไม่ควรเปิดเรียนเพราะเด็ก ๆ ยังไม่รู้จักป้องกันตัวเอง  (1 คนที่มีความคิดเห็น)
  • ข้าราชทำผิดเองต้องมีโทษ 2 เท่า ไม่มีการละเว้น (1 คนที่มีความคิดเห็น)
สรุป ชาวราชบุรี ร้อยละ 50.27 เห็นว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบความสำเร็จ และร้อยละ 47.76 อยากให้ล็อกดาวน์ต่อไป และให้มีมาตรการเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม หลังวันที่ 14 ก.ย.2564 มาตรการล็อกดาวน์ที่ควรผ่อนคลายจำนวน 3 มาตรการ ที่เหลือยังคงเดิม

*****************************













ราชบุรีโพล ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยกรุณาตอบแบบสำรวจในครั้งนี้
ความคิดเห็นของท่านมีประโยชน์เสมอ
Your voice Always useful

แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 วันข้างหน้า

สถาบันราชบุรีศึกษา รายงานแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 วันข้างหน้า ยอดไม่ต่ำกว่า 400 คน/วัน ค่าเฉลี่ยฉีดวัคซีนรอบ 10 วันที่ผ่านมา เข็มที่ 1 จำนวน 4,437 คน/วัน เข็มที่ 2 จำนวน 3,095 คน/วัน จำนวนชาวราชบุรีที่ฉีดเข็ม 2 ครบตามเกณฑ์ 88,130 คน คิดเป็นร้อยละ 9.59 ของประชากร จ.ราชบุรี


***********************************

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2564

จ.ราชบุรี ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ได้อันดับ 44 จาก 77 จังหวัด

ชาว จ.ราชบุรี  ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ครบตามเกณฑ์ เพียง 57,117 คน คิดเป็นร้อยละ 6.2 ของประชากร คิดเป็นอันดับ 44 จากทั่วประเทศ

หากคิดจำนวนประชากรที่ได้การฉีดเข็มที่ 2 ครบตามเกณฑ์ จังหวัดที่ฉีดได้สูงสุด 10 อันดับแรกคิดตามสัดส่วนประชากรแล้ว เรียงจังหวัดจากมากไปหาน้อย ดังนี้ (ข้อมูล ณ 31 ส.ค.2564)
  1. จ.ภูเก็ต  คิดเป็นร้อยละ 67.5 (ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์)
  2. จ.พังงา คิดเป็นร้อยละ 25.6
  3. จ.ระนอง คิดเป็นร้อยละ 24.4
  4. กรุงเทพมหานคร คิดเป็นร้อยละ 23.3 (พื้นที่สีแดงเข้ม)
  5. จ.สมุทรสาคร คิดเป็นร้อยละ 19.3 (พื้นที่สีแดงเข้ม)
  6. จ.นนทบุรี คิดเป็นร้อยละ 16.2 (พื้นที่สีแดงเข้ม)
  7. จ.บุรีรัมย์ คิดเป็นร้อยละ 15.8
  8. จ.ชลบุรี คิดเป็นร้อยละ 15.7 (พื้นที่สีแดงเข้ม)
  9. จ.ตาก คิดเป็นร้อยละ 13.8 (พื้นที่สีแดงเข้ม)
  10. จ.เพชรบุรี คิดเป็นร้อยละ 13.7  (พื้นที่สีแดงเข้ม)

ส่วน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม  จำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ครบตามเกณฑ์ จำนวน 57,177 คน  คิดเป็นร้อยละ 6.2  ของประชากร อยู่ในอันดับที่ 44 จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยแยกเป็นกลุ่มเป้าหมายได้ ดังนี้
  • บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข  7,624 คน
  • อสม. 3,724 คน
  • เจ้าหน้าที่ด่านหน้า 3,666 คน
  • ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 13,754 คน
  • บุคคลที่มีโรคประจำตัว 7,758 คน
  • หญิงตั้งครรภ์ 55 คน
  • ประชาชนทั่วไป 20,596 คน

ในเข็มที่ 2 จำนวน 57,177 คน สามารถแยกยี่ห้อวัคซีนที่ฉีด ได้แก่ AstraZeneca 31,292 คน (54.73%)  Sinovac 21,589 คน (37.76%)  Sinopharm 3,993 คน (6.98%)  และ Pfizer 303 คน (0.53%)

เป้าหมายการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ร้อยละ 70 ภายในสิ้นปี 2564
หาก จ.ราชบุรี ตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากรภายในสิ้นปี ตามนโยบายรัฐบาล นั่นหมายถึง ชาวราชบุรีต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 อย่างน้อยจำนวน 643,135 คน  (จากประชากร จ.ราชบุรี  918,764 คน)  ถ้านับจากวันที่ 1 ก.ย.2564 จนถึง 31 ธ.ค.2564  รวมเหลือเวลาอีก  122 วัน  ดังนั้นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้ชาวราชบุรีอีกจำนวน 585,958 คน (เป้าหมาย 643,135 - ฉีดเข็มสองแล้ว 57,177)  ถ้าเป็นไปตามสูตรการฉีดวัคซีนของรัฐบาล คือ  เข็มที่ 1 Sinovac และเข็มที่ 2 AstraZeneca (ห่างกัน 4 สัปดาห์)  หาก จ.ราชบุรี จะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนตามนโยบายรัฐบาล จึงต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญ ดังนี้  
  • รัฐบาลต้องทยอยจัดสรรวัคซีนให้ จ.ราชบุรี อย่างเพียงพอ ทันตามห้วงเวลาที่ต้องการ ภายในปี 2564 ดังนี้
    • วัคซีนยี่ห้อ Sinovac เพื่อฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 447,867 โดส (เป้าหมาย 643,135-ฉีดเข็มหนึ่งแล้ว 195,268) ก่อน 30 พ.ย.2564
    • วัคซีนยี่ห้อใดก็ได้ (เว้น Sinovac)  เพื่อฉีดเข็มที่  2 ก่อนสิ้นปี 2564 จำนวน 585,958 โดส
  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ของ จ.ราชบุรี ต้องบริหารจัดการการฉีดวัคซีน ให้ได้เฉลี่ยต่อคนต่อวัน ดังนี้
    • เข็มที่ 1 ต้องฉีดได้เฉลี่ย   3,672 คน/วัน
    • เข็มที่ 2 ต้องฉีดได้เฉลี่ย   4,803 คน/วัน

ความสามารถของบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ของ จ.ราชบุรี ในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ที่ผ่านมา ไม่น่าเป็นห่วง  เพราะเดือน ส.ค.2564 สถิติแจ้งว่าเข็มที่ 1  ฉีดได้สูงสุด  7,969 คน/วัน  ค่าเฉลี่ย ฉีดได้   4,392 คน/วัน และเข็มที่ 2  ฉีดได้สูงสุด  6,603 คน/วัน  ค่าเฉลี่ยฉีดได้   1,429 คน/วัน 

คงเป็นห่วงแค่เพียงความสามารถของรัฐบาลในการจัดสรรวัคซีนให้แก่ จ.ราชบุรี ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่รอคอยอยู่ทั่วประเทศ  

***************************
จัดทำโดย สถาบันราชบุรีศึกษา

วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564

พยากรณ์การฉีดวัคซีนของ จ.ราชบุรี ณ 31 ธ.ค.2564

สถาบันราชบุรีศึกษา ได้พยากรณ์สถานการณ์การฉีดวัคซีนของ จ.ราชบุรี  เพื่อที่จะคำนวณว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2564 (อีก 4 เดือนข้างหน้า)  จะมีประชากร จ.ราชบุรี ได้รับการฉีดวัคซีนร้อยละเท่าใด ของประชากร 

ความสามารถของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน จ.ราชบุรี โดยคำนวณจากข้อมูลการวัคซีน ตั้งแต่ 1-31 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา สรุปได้ ดังนี้

  • เข็มที่ 1  ฉีดได้สูงสุด  7,969 คน/วัน  ค่าเฉลี่ย ฉีดได้   4,392 คน/วัน
  • เข็มที่ 2  ฉีดได้สูงสุด  6,603 คน/วัน  ค่าเฉลี่ย ฉีดได้   1,429 คน/วัน
หากยังคงใช้ค่าเฉลี่ย การฉีดต่อคนต่อวัน ตามเกณฑ์ข้างต้น ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564  ประชากร จ.ราชบุรี จะได้รับการฉีดวัคซีน ดังนี้ (ประชากรชาว จ.ราชบุรี  มีทั้งสิ้น 918,674 คน)
  • เข็มที่ 1  จำนวน 731,092 คน คิดเป็นร้อยละ 79.58 ของประชากร 
  • เข็มที่ 2  จำนวน 231,515 คน คิดเป็นร้อยละ 25.20 ของประชากร 
หากต้องการให้ประชากรชาว จ.ราชบุรี  ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมากขึ้นโดยเร็ว  ทาง จ.ราชบุรี จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการฉีดวัคซีน ต่อคนต่อวันให้สูงขึ้นกว่าเดิม 

*******************************

บทความที่ได้รับความนิยม