วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

จ.ราชบุรี ทุ่มงบฯ 650 ล้านบาท พัฒนาหุบผาสวรรค์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่

จ.ราชบุรี ผนึกกำลังกับ อบจ.ราชบุรี  ประสานแผนทุ่มงบประมาณ 650 ล้านบาท พัฒนาหุบผาสวรรค์เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ 

การพัฒนาหุบผาสวรรค์เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ได้ถูกวางแผนจัดสรรงบประมาณไว้ ด้งนี้

  • ตามแผนพัฒนา จ.ราชบุรี พ.ศ.2566-2570 ใช้งบประมาณจำนวน 35 ล้านบาท (ปี  พ.ศ.2566 จำนวน 15 ล้านบาท ทีเหลือ 4 ปี ปีละ 5 ล้านบาท)
  • ตามแผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570) ขอใช้งบประมาณในปี พ.ศ.2556 จำนวน 615 ล้านบาท  แยกเป็น
    • โครงการศึกษาและออกแบบพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหุบผาสรรค์ จำนวน 15 ล้านบาท 
    • โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหุบผาสวรรค์และพื้นที่โดยรอบ จำนวน 600 ล้านบาท

    การพัฒนาหุบผาสวรรค์นี้อยู่ ในโครงการเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคุณภาพ ในยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างมูลค่าและคุณค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวและบริการวิถีใหม่อย่างมีคุณภาพบนฐานอัตลักษณ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ โดยมีผลที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 
    1. สถานที่ท่องเที่ยวได้รับการพัฒนาศักยภาพยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว
    2. มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมของ จ.ราชบุรี
    3. รายได้ของชุมชนมากขึ้น
    4. แหล่งท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในกลุ่มคนไทยและชาวต่างประเทศ
    5. โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวมีการพัฒนามากขึ้น
    6. สถานที่ท่องเที่ยวได้มาตรฐานมากขึ้น
    7. สถานที่ท่องเที่ยวมีอัตลักษณ์และโดดเด่น
    โดยมีตัวชี้วัดคือ ร้อยละของจำนวนนักท่องเที่ยว และร้อยละของรายได้ของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ


    The Story ของหุบผาสวรรค์
    เรื่องย่อ : เรื่องราวเริ่มต้นมาจากการก่อตั้ง "สำนักปู่สวรรค์" ตามมติของโลกวิญญาณ  คือ พรหมโลก เทวโลก นรกโลก โดยมอบให้พระวิญญาณของพระโพธิสัตว์หลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด ) เป็นประธานสำนักปู่สวรรค์ในโลกมนุษย์ ดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังษี เป็นองค์อำนวยการสำนักปู่สวรรค์ในโลกมนุษย์ และดวงพระวิญญาณท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ เป็นที่ปรึกษาและเจ้าพิธีการของสำนักปู่สวรรค์ในโลกมนุษย์ โดยอาศัยร่าง อาจารย์สุชาติ โกศลกิติวงศ์ บรมครูผู้ซึ่งมีกรรมพัวพันและมีพลังจิตสูง เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณ และเป็นร่างทรงของดวงพระวิญญาณทั้ง 3 องค์ อ.สุชาติฯ ได้เริ่มเข้าทรงเพื่อรักษาคนป่วยด้วยน้ำมนต์และสมุนไพรตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา โดยจัดตั้งเป็น "สำนักปู่สวรรค์" โดยมีที่ตั้งสำนักครั้งสุดท้ายที่ซอยจตุรงค์สงคราม ถ.เพชรเกษม เขตบางแค กทม. สำนักปู่สวรรค์นี้ บริหารงานภายใต้ มูลนิธิชินนะปูโตอนุสรณ์

    ต่อมาทางโลกวิญญาณได้ประเมินว่า ปัจจุบันมนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกยังไม่เข้าซึ้งถึงธรรมะของแต่ละศาสนาที่ตนเองนับถือ โลกวิญญาณจึงมีบัญชาให้ อ.สุชาติ โกศลกิติวงศ์ เดินทางมุ่งหน้าไปหาสถานที่อันสงบเหมาะสมที่จะปฏิบัติจิตศึกษาธรรมะ ต่อมาเดือน พ.ค.2513 อ.สุชาติ กับสามเณรรูปหนึ่ง จึงเดินทางสู่จังหวัดราชบุรี มุ่งหาสถานที่ตามบัญชาของโลกวิญญาณ ก็เดินทางมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งเรียกกันในถิ่นนั้นว่า "เทือกเขาเสือหมอบ" (เขาถ้ำพระ) ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี 

    เขาถ้ำพระถูกสร้างขึ้นเป็น "อาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา" เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ.2513 โดย อ.สุชาติ โกศลกิติวงศ์ และคณะสานุศิษย์สำนักปู่สวรรค์ เพื่อให้เป็นสถานที่สร้างสันติภาพโลก และดำเนินการตามอุดมการณ์ข้อหนึ่งใน 10 ข้อที่สำนักปู่สวรรค์ยึดมั่นคือ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และสันติภาพเป็นสรณะ โดยได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร (น.อ.สมภพ ภิรมย์ เป็นอธิบดี) อนุญาตให้ ศ.ดร.คลุ้ม วัชโรบล อุปนายกมูลนิธิชินนะปูโตอนุสรณ์ ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างและเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ตามอุดมการณ์เพื่อสันติสุขในประเทศไทยและโลกมนุษย์ และต่อมาได้ใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานของสมาคมศาสนาสัมพันธ์อีกด้วย (ในปี พ.ศ.2516 อ.ุสุชาติ ได้รับการแต่งตั้งเป็น ทูตสันติภาพแห่งโลกวิญญาณ และ พ.ศ. 2518 ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมศาสนาสัมพันธ์)

    ในขณะนั้น โลกกำลังเผชิญสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์ กับเสรีประชาธิปไตย เสี่ยงที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้น หุบผาสวรรค์เมืองศาสนาซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ดำเนินการเพื่อความเป็นเอกราชของชาติไทย ด้วยการรณรงค์อย่างแข็งขันเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกมนุษย์ รวมถึงต้องต่อสู้กับอิทธิพลนายทุน ที่ทำการระเบิดหินในพื้นที่ เพื่อที่จะอนุรักษ์ไว้ซึ่งเทือกเขาที่เป็นแหล่งประวัติศาสนาทางพุทธศาสนาในแหลมสุวรรณภูมิ

    การดำเนินงานของหุบผาสวรรค์ ทำให้มีผู้ที่เสียประโยชน์เป็นจำนวนมาก จึงมีสร้างข่าวบิดเบือนให้สังคมเข้าใจผิด  หุบผาสวรรค์เมืองศาสนาต้องถูกกลั่นแกล้งและประสบมรสุมขนาดใหญ่ 2 ครั้งในปี พ.ศ.2525 และอีกครั้งในปี พ.ศ.2534  อ.สุชาติฯ ผู้ก่อตั้งหุบผาสวรรค์ ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีถึง 7 คดี (ต่อมาถึงที่สุด ทุกคดีศาลตัดสินยกฟ้องทั้งหมด) คดีสุดท้ายคือถูกกล่าวหาว่าบุกรุกโบราณสถาน ศาลฎีกาพิพากษาว่า ไม่มีเจตนาบุกรุก เพราะมีหลักฐานการอนุญาตจากกรมศิลปากรให้ใช้พื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม หุบผาสวรรค์เมืองศาสนาก็จำต้องยุติการดำเนินงานลงในที่สุด

    การสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประติมากรรม บนเขาถ้ำพระในหุบผาสวรรค์ สื่อความว่า พระศาสดาแต่ละศาสนาล้วนก่อตั้งศาสนาขึ้นมาเพื่อสร้างสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติ เป็นการสร้างภราดรภาพทางศาสนา นำพลังศาสนามาสร้างสันติสุข ไม่ใช่การรวมศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประติมากรรมที่สำคัญในหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา ประกอบด้วย
    1. สันติเจดีย์ (บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ) ณ ยอดเขาถ้ำพระ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เคยมีการจัดพิธีสักการะทุกวันที่ 19 ของเดือน
    2. พระพุทธถวายเนตรนิรภัยทุกทิศ  (ปางถวายเนตร สูง 9 เมตร หันพระพักตร์ไปทางสันติเจดีย์)
    3. องค์สมมติพระเยซูคริสต์ประทานพร (สูง 9 เมตร หันพระพักตร์ไปทางสันติเจดีย์)
    4. องค์พระพิฆเนศ (สูง 9 เมตร หันพระพักตร์ไปทางสันติเจดีย์)
    5. พระแม่กวนกิม (สูง 9 เมตร หันพระพักตร์ไปทางสันติเจดีย์)
    6. พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
    7. ถ้ำสิงห์มงคลบุญบำรุง (ลงพลังจิตผ้ายันต์พิทักษ์เอกราช)
    8. หอประชุมสันติภาพ
    9. ศาลาชินนะปูโตอนุสรณ์
    10. พระพุทธคันธาราษฎร์
    11. หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด (ถ้ำสาลิกา)
    12. พระเสาร์ทรงเสือ(ผู้อำนวยพรแก่การกสิกรรม)
    13. หอระฆังสันติภาพ
    หลังจาก อาณาจักรหุบผาสวรรค์ล่มสลาย ต่อมา วันที่ 10 มิ.ย.2535 กรมธนารักษ์ได้ส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดของหุบผาสวรรค์ให้กรมการศาสนาดำเนินการต่อ มีการเปลี่ยนชื่อสำนักหุบผาสวรรค์ เป็น "สถาบันส่งเสริมและพัฒนาการพระศาสนา" และต่อมาในปี 2545 ก็เปลี่ยนเป็น "สถาบันพระสังฆาธิการ" ในปัจจุบัน มีฐานะเทียบเท่ากอง ขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 

    การปะท้วงของชาวราชบุรี ที่ต่อต้านหุบผาสวรรค์

    The Story ของอาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา นี้ แลดูเป็นสีเทา ๆ  สามารถมองได้หลายแง่มุม มีทั้งคนที่ศรัทธาและคนที่ต้อต้าน ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกมองมุมไหน หนังสือหลายเล่มที่พิมพ์ออกมาตีแผ่ข้อเท็จจริงของหุบผาสวรรค์ในปี พ.ศ.2524 เช่น ผีบุญแห่งหุบผาสวรรค์ ผีบุญสุชาติแห่งหุบผานรก และวันสิ้นชาติไทย  ส่งผลให้อาณาจักรหุบผาสวรรค์เมืองแห่งศาสนาต้องล่มสลายในที่สุด 

    และปัญหาต่อมาในการที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ก็คือ จะนำเสนอข้อมูลต่อนักท่องเที่ยวในแง่มุมใด หุบผาสวรรค์เป็นพระเอกที่ถูกกลั่นแกล้ง หรือ เป็นผู้ร้ายที่ถูกยกย่อง ปรัชญาของศาสนา สันติภาพ และโลกวิญญาณ จะผูกร้อยเรื่องราวอย่างไรผ่านหุบผาสวรรค์ แห่งนี้ 

    ทำไม? ถึงเลือกหุบผาสวรรค์
    คำถามถูกตั้งขึ้นมาในใจ ทำไม? ถึงเลือกพัฒนาหุบผาสวรรค์เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยใช้เงินงบประมาณสูงถึง 650 ล้านบาท แล้วจะทำอะไรกันบ้าง 


    เมื่อ 5 พ.ย.2562 นายเทวัญ ลิปภพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะลงพื้นที่ตรวจราชการที่สถาบันพระสังฆาธิการ และร่วมประชุมหารือการพัฒนาพื้นที่เขาถ้ำพระและ "หุบผาสวรรค์" เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของ อ.ปากท่อ โดยมี นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ส.ส.ราชบุรี ในเขตพื้นที่เข้าร่วมประชุมด้วย (อนุมานว่านางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ น่าจะเป็นแรงสำคัญในการผลักดัน) ในที่ประชุมมีแนวคิดนำเสนอ "การสร้างรถราง และกระเช้าเชื่อมต่อชมความสวยงามทั้ง 3 หุบเขาของหุบผาสวรรค์ ได้แก่ หุบเขาที่ตั้งพระเยซู หุบเขาที่ตั้งพระพุทธรูปยืน และหุบเขาที่ตั้งของสันติเจดีย์ เพื่อเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของราชบุรี" ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวน 600 ล้านบาท ในการดำเนินการดังกล่าว

    หลังจากนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา ได้รับเลือกตั้งเป็น นายก อบจ.ราชบุรี เมื่อปลายปี พ.ศ.2563 ก็พยายามผลักดันการพัฒนาหุบผาสวรรค์เป็นแหล่งท่องเที่ยวมาโดยตลอด 

    วันที่ 19 ต.ค.2564 นายพงษ์พันธ์ แสงสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการบริหารราชการและส่งเสริมการท่องเที่ยว และคณะของ อบจ.ราชบุรี ลงพื้นที่สถาบันพระสังฆาธิการ (หุบผาสวรรค์)  หลังได้รับการประสานจากนายธานี พิกุลทอง ผู้อำนวยการสถาบันพระสังฆาธิการ ให้ทาง อบจ.ราชบุรี สนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงภูมิทัศน์ของหุบผาสวรรค์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ต่อไป

    ต่อมาวันที่ 26 พ.ย.2564 อบจ.ราชบุรี ก็ประกาศใช้แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570) วางแผนใช้งบประมาณการพัฒนาหุบผาสวรรค์เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ จำนวน 615 ล้านบาทในปี พ.ศ.2566  

    ต่อมาวันที่ 31 ธ.ค.2564-1 ม.ค.2565 นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี ก็จัดงาน  "คืนถิ่นวัฒนธรรมหุบผาสวรรค์" โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาพื้นที่หุบผาสวรรค์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

    การพัฒนาหุบผาสวรรค์เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ของ อ.ปากท่อ ในครั้งนี้ ผู้ที่เป็นแรงผลักดันคนสำคัญ จึงน่าจะเป็นนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี และ นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ 

    ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
    การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไม่ว่าแหล่งใดก็ตาม นับว่าเป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น แต่ในท่ามกลางวิกฤตงบประมาณของประเทศในอนาคตที่มีอยู่อย่างจำนวนจำกัด การใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ระดับเป็น 100 ล้านบาทขึ้นไป จึงควรต้องระมัดระวัง ไตร่ตรองให้รอบครอบ   การใช้เงิน 650 ล้านบาทพัฒนาหุบผาสวรรค์ในครั้งนี้ ควรต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้และความสำเร็จของโครงการ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ความคุ้มค่าในการลงทุน และความสามารถในการดำรงอยู่ของการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว  การศึกษาตามแนวคิดองค์ประกอบการท่องเที่ยวทั้ง 6 ประการ (6A) ของหุบผาสววรค์นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจและนำมาพิจารณา ได้แก่
    1. ทรัพยากรการท่องเที่ยว (Attraction) ทรัพยากรการท่องเที่ยวของหุบผาสวรรค์ ต้องสามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้ มีลักษณะชวนตา ชวนใจ มีเสน่ห์เฉพาะตัว 
    2. การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว (Accessibility) นักท่องเที่ยวต้องสามารถเดินทางเข้าถึงหุบผาสวรรค์ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย มีป้ายบอกทางชัดเจน สภาพถนนมีมาตรฐาน รองรับยานพาหนะได้อย่างหลากหลายรูปแบบ และมีไฟฟ้าส่องสว่าง
    3. สิ่งอำนวยความสะดวก (Amenity) หุบผาสวรรค์ต้องมีความสะดวกสบายในการท่องเที่ยว มีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานในการท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ เช่น ไฟฟ้า น้ำ  สัญญาณโทรศัพท์ 
    4. ที่พักแรม (Accommodation) มีที่พักแรมที่ใกล้กับหุบผาสวรรค์ หรือหุบผาสวรรค์อาจจัดให้มีบริการที่พัก หรือที่กางเต้นท์ในพื้นที่หุบผาสวรรค์เอง
    5. กิจกรรม (Activity) กิจกรรมการท่องเที่ยวที่หุบผาสวรรค์จัดให้มีขึ้น ต้องน่าสนใจ มีความเหมาะสมและปลอดภัย
    6. การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Ancillary Service) หุบผาสวรรค์ต้องมีบริการด้านต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น  ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จุดให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก  ห้องน้ำ-ห้องสุขา ตู้ ATM ฯลฯ
    องค์ประกอบทั้ง 6 ประการ นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการพัฒนาหุบผาสวรรค์เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ งบประมาณการพัฒนาที่สูงมากถึงจำนวน 650 ล้านบาทนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เพื่อสร้างรถรางขึ้นเขาและกระเช้าเชื่อม 3  หุบเขาเป็นสำคัญ*** (หมายเหตุ *** เป็นการอนุมานส่วนตัว เพราะไม่มีรายละเอียดโครงการที่เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นแค่เพียงทรัพยากรที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้ชั่วคราว แต่ไม่ใช่เสน่ห์ที่แท้จริงของหุบผาสวรรค์  

    แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ควรมีความร่มเย็น มีธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งที่สงบทางจิตใจ สะท้อนให้เห็นถึงอารยะธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ศิลปะ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นดั้งเดิม 

    Break Even Point
    หากทางราชการทุ่มงบประมาณแผ่นดินจำนวน 650 ล้านบาท เพื่อพัฒนาหุบผาสวรรค์ ซึ่งถือเป็นงบลงทุน เราลองมาคำนวณ จุดคุ้มทุน (Break Even Point) แบบง่าย ๆ กันดูว่าจะมีหน้าตาจะเป็นอย่างไร โดยตั้งสมมติฐาน ไว้ว่า
    • รายจ่าย
      • รายจ่ายเงินลงทุนในปี 2566 จำนวน 630 ล้านบาท และในอีก 4 ปีต่อไป ปีละ 5 ล้านบาท
      • ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวหุบผาสวรรค์ โดยสถาบันพระสังฆาธิการ ปีละ 1 ล้านบาท
    • รายได้ 
      • จ.ราชบุรี มีรายได้จากการท่องเที่ยวหุบผาสวรรค์ ปีละ 20 ล้านบาท โดยเริ่มเปิดบริการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

    หากลองคำนวณจุดคุ้มทุนตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ดังกราฟด้านบน จะพบว่าการลงทุนทุ่มเงินงบประมาณจำนวน 650 ล้านบาท ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวหุบผาสวรรค์ครั้งนี้ จะไปคุ้มทุนในปี พ.ศ.2601 หรืออีก 36 ปีข้างหน้า 

    หากดูตัวเลขแบบนี้ ก็น่าจะพอยอมรับได้ แต่หมายถึง จ.ราชบุรี ต้องมีรายได้จากการท่องเที่ยวหุบผาสวรรค์ อย่างน้อย ปีละ 20 ล้านบาท 

    การใช้งบประมาณแผ่นดิน ภายใต้วิกฤติการด้านเศรษฐกิจและงบประมาณของประเทศ ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง จึงอยากให้ข้าราชการพึงวางแผนการใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ให้คุ้มค่ามากที่สุด ใช้อย่างชาญฉลาด อย่าใช้ตามความคิดและความอยากของตนเอง ที่สำคัญพึงใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน  

    *****************
    เขียนโดย
    พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
    ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
    4 ก.พ.2565

    อ้างอิง
    • Super User. (2556). ประวัติหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา. สวรรค์รำลึก.  [Online]. Available : http://poosawan.org/index.php/2013-07-29-04-11-22/80-2013-07-29-03-04-18. [2565 กุมภาพันธ์ 3].
    • Super User. (2556). นำชมหุบผาสวรรค์เมืองศาสนา. สวรรค์รำลึก.  [Online]. Available : http://poosawan.org/index.php/2013-07-29-04-11-22/80-2013-07-29-03-04-18. [2565 กุมภาพันธ์ 3].
    • กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2564). ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเยือนหุบผาสวรรค์ในอดีต ปัจจุบันคือสถาบันพระสังฆาธิการ.ธรรมนำโลก.  [Online]. Available : https://thamnamlok.com/ผอ-สำนักงานพระพุทธศาสนา/. [2565 กุมภาพันธ์ 3].
    • Thai PBS. (2563). ล้มอาณาจักรหุบผาสวรรค์ : ความจริงไม่ตาย (2 ธ.ค. 63).  [Online]. Available : https://www.youtube.com/watch?v=VawuMBTH910. [2565 กุมภาพันธ์ 4].

    วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

    เจาะลึกแผนพัฒนา จ.ราชบุรี 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) : ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง 55.9 ล้านบาท

     จังหวัดราชบุรีได้จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดราชบุรี พ.ศ.2566-2570  โดยมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานทุกแห่ง ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ จำนวน 2 ครั้ง เมื่อ เดือน ส.ค.และ ก.ย.2564 หลังจากนั้นเสนอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.รบ.) เมื่อ 13 ก.ย.2564 และได้ผ่านการประชุมหารือและประชาคมระดับจังหวัดเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว จึงได้กำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดราชบุรี พ.ศ.2566-2570 เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนา จ.ราชบุรี ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนต่อไป

    สำหรับแผนพัฒนาจังหวัดราชบุรี (พ.ศ.2566-2570) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ 6 แผนงาน 127 โครงการ เสนอความต้องการงบประมาณตลอดระยะเวลา 5 ปี ไว้จำนวนทั้งสิ้น 13,774,673,655 ล้านบาท

    ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง ตามแผนงานที่ 6 การส่งเสริมและพัฒนาเพื่อความมั่นคง (6 โครงการ) ความต้องการงบประมาณ 55,916,500 บาท (คิดเป็นร้อยละ 0.41)สามารถแยกได้ตามหน่วยราชการที่เสนอขอใช้งบประมาณ ดังนี้

    คำชี้แจง 
    โครงการหรือกิจกรรมใดที่มี *** หมายถึง เห็นควรที่จะมีทบทวนและพิจารณาถึงความจำเป็นของโครงการใหม่ อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด เนื้อหา และวิธีการ บางโครงการฯ ขาดความทันสมัย ความร่วมสมัย ขาดความความสอดคล้องกับแผนพัฒนาอื่น ๆ และบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผลลัพธ์ที่จะได้จากโครงการหรือกิจกรรม ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ขอใช้ ท่ามกลางความขัดสนทางด้านงบประมาณของประเทศ จึงต้องมีการทบทวนอย่างจริงจัง (ความเห็นนี้เป็นความเห็นของสถาบันราชบุรีศึกษาในเชิงวิชาการเท่านั้น ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกลุ่มหรือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น)

    ที่ทำการปกครองจังหวัดราชบุรี
    ที่ทำการปกครองจังหวัดราชบุรี เสนอขอความต้องการงบประมาณรวมตลอด 5 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 6 ดังนี้
    1. โครงการเสริมสร้างความรักความสามัคคีคนราชบุรี*** ขอใช้งบประมาณจำนวน 2,500,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 500,000 บาท)
    2. โครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็งเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ขอใช้งบประมาณจำนวน 1,000,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 200,000 บาท)
    3. โครงการการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง (CBTx) ขอใช้งบประมาณจำนวน 1,750,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 350,000 บาท)
    4. โครงการการบริหารจัดการแบบบูรณาการสำนักงานศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จ.ราชบุรี ขอใช้งบประมาณจำนวน 300,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี  ปีละ 60,000 บาท)
    5. โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการป้องกันยาเสพติด*** ขอใช้งบประมาณจำนวน 5,366,500 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 1,073,300 บาท)
    6. ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ*** ขอใช้งบประมาณจำนวน 45,000,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 9,000,000 บาท)
    จากการที่ได้จำแนกงบประมาณที่ต้องการใน 5 ปีข้างหน้า ของแต่ละส่วนราชการแล้ว จะทำให้มองเห็นชัดได้ว่าทิศทางการพัฒนาแต่ละด้านในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง ชาวราชบุรีที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อง หรือกำลังจะคิดประกอบอาชีพใหม่ พึงได้ใช้โอกาสหรือช่องทางการส่งเสริมต่าง ๆ  ตามแผนพัฒนาฯ นี้ ให้เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพให้มากที่สุด เพราะงบประมาณที่ส่วนราชการนั้น ๆ ใช้จ่ายทั้งหมด  ล้วนมาจากภาษีของพวกเราทั้งสิ้น 

    บทความที่เกี่ยวข้อง
    ***********
    รวบรวมและเรียบเรียงโดย
    สถาบันราชบุรีศึกษา
    1 ก.พ.2565





    วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

    เจาะลึกแผนพัฒนา จ.ราชบุรี 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) : ยุทธศาสตร์ที 5 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมฯ 133.2 ล้านบาท

    จังหวัดราชบุรีได้จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดราชบุรี พ.ศ.2566-2570  โดยมีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานทุกแห่ง ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ จำนวน 2 ครั้ง เมื่อ เดือน ส.ค.และ ก.ย.2564 หลังจากนั้นเสนอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.รบ.) เมื่อ 13 ก.ย.2564 และได้ผ่านการประชุมหารือและประชาคมระดับจังหวัดเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว จึงได้กำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดราชบุรี พ.ศ.2566-2570 เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนา จ.ราชบุรี ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนต่อไป

    สำหรับแผนพัฒนาจังหวัดราชบุรี (พ.ศ.2566-2570) ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ 6 แผนงาน 127 โครงการ เสนอความต้องการงบประมาณตลอดระยะเวลา 5 ปี ไว้จำนวนทั้งสิ้น 13,774,673,655 ล้านบาท

    ในยุทธศาสตร์ที 5 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแผนงานที่ 5 การบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (9 โครงการ) ความต้องการงบประมาณ 133,262,350 บาท (คิดเป็นร้อยละ 0.97) สามารถแยกได้ตามหน่วยราชการที่เสนอขอใช้งบประมาณ ดังนี้

    คำชี้แจง 
    โครงการหรือกิจกรรมใดที่มี *** หมายถึง เห็นควรที่จะมีทบทวนและพิจารณาถึงความจำเป็นของโครงการใหม่ อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด เนื้อหา และวิธีการ บางโครงการฯ ขาดความทันสมัย ความร่วมสมัย ขาดความความสอดคล้องกับแผนพัฒนาอื่น ๆ และบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผลลัพธ์ที่จะได้จากโครงการหรือกิจกรรม ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ขอใช้ ท่ามกลางความขัดสนทางด้านงบประมาณของประเทศ จึงต้องมีการทบทวนอย่างจริงจัง (ความเห็นนี้เป็นความเห็นของสถาบันราชบุรีศึกษาในเชิงวิชาการเท่านั้น ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกลุ่มหรือบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น)

    สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอขอความต้องการงบประมาณรวมตลอด 5 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ดังนี้
    1. โครงการบูรณาการเพื่อบริหารจัดการคุณภาพน้ำ คูคลอง แหล่งน้ำในพื้นที่ อ.ปากท่อ ขอใช้งบประมาณจำนวน 13,973,000 บาท (ปีแรก 7,434,600 บาท 4 ปีหลัง ปีละ 1,634,600 บาท)
    2. โครงการบริหารจัดการน้ำที่สมดุล ขอใช้งบประมาณจำนวน 923,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 184,600 บาท)
    โครงการชลประทานราชบุรี
    โครงการชลประทานราชบุรี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งซ้าย และฝั่งขวา , โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก เสนอขอความต้องการงบประมาณรวมตลอด 5 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ดังนี้
    1. โครงการบริหารจัดการน้ำที่สมดุล โดยการขุดลอกคลองระบายน้ำ ซ่อมแซมคลองส่งน้ำ ท่อลอดฯลฯ รวมทุกโครงการ*** ขอใช้งบประมาณจำนวน 18,123,800 บาท (รวม 5 ปี แต่ละปีไม่เท่ากัน)
    2. บริหารการส่งน้ำ กำจัดวัชพืช ซ่อมแซมรางระบายน้ำ ซ่อมบำรุงรักษาระบบ ขุดลอกคลอง ฯลฯ ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดำเนินสะดวก รวมทุกโครงการ ขอใช้งบประมาณในปี พ.ศ.2566 จำนวน 9,356,000 บาท
    สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.ราชบุรี
    สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.ราชบุรี เสนอขอความต้องการงบประมาณรวมตลอด 5 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ดังนี้
    1. โครงการบริหารจัดการน้ำที่สมดุล
      • ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำแม่กลอง วัดอมรินทราราม ขอใช้งบประมาณใน ปี พ.ศ.2566 จำนวน 6,9600,000 บาท
    2. ออกแบบป้องกันน้ำท่วม สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ฯลฯ รวมทุกโครงการ*** ขอใช้งบประมาณจำนวน 1,594,750,000 บาท (ปี พ.ศ.2566 ขอใช้ 1,564,750,000 บาท และปี พ.ศ.2567 ขอใช้ 30,000,000 บาท)
    สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)
    สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เสนอขอความต้องการงบประมาณรวมตลอด 5 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ดังนี้
    1. ครงการเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศน์ของ จ.ราชบุรี
      • กิจกรรมเพราะชำกล้าหวาย 30,000 กล้า และเพาะหญ้าแฝก 50,000 กล้าเพื่ออนุรักษ์พื้นที่สีเขียว ขอใช้งบประมาณจำนวน 2,177,500 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 435,500 บาท)
    อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน
    อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เสนอขอความต้องการงบประมาณรวมตลอด 5 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ดังนี้ 
    1. โครงการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกไทยประจัน ขอใช้งบประมาณในปี พ.ศ.2566 จำนวน 11,768,000 บาท
    สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน
    สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน เสนอขอความต้องการงบประมาณรวมตลอด 5 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ดังนี้
    1. โครงการพัฒนาศูนย์ศึกษานิเวศธรรมชาติสัตว์ป่า  สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี ขอใช้งบประมาณในปี พ.ศ.2566 จำนวน 5,072,000 บาท
    สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 จ.ราชบุรี
    สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 จ.ราชบุรี เสนอขอความต้องการงบประมาณรวมตลอด 5 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ดังนี้
    1. โครงการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ขอใช้งบประมาณจำนวน 1,500,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 300,000 บาท)
    2. โครงการเครือข่ายชุมชนฟื้นฟูป่าแนวกันชนมรดกโลกทางธรรมชาติ กลุ่มป่าแก่งกระจาน ขอใช้งบประมาณจำนวน 19,860,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 3,972,000 บาท)
    เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี
    เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี เสนอขอความต้องการงบประมาณรวมตลอด 5 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ดังนี้ 
    1. โครงการพัฒนาเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติด้านสัตว์ป่าโดยการสร้างกรงคอกขนาดใหญ่ ขอใช้งบประมาณในปี พ.ศ.2567 จำนวน 50,000,000 บาท
    2. โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้านสัตว์ป่า (ลิงแสม) นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ใน จ.ราชบุรี ขอใช้งบประมาณจำนวน 2,995,050 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 599,010 บาท)
    สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 8 
    สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 8 เสนอขอความต้องการงบประมาณรวมตลอด 5 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ดังนี้ 
    1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำดิบเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ขอใช้งบประมาณจำนวน 2,500,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 500,000 บาท)
    2. โครงการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษเพื่อส่งเสริมให้ปฏิบัติตามกฏหมายสิ่งแวดล้อม ขอใช้งบประมาณจำนวน 2,500,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 500,000 บาท)
    3. โครงการยกระดับศักยภาพชุมชนสู่สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขอใช้งบประมาณจำนวน 2,500,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 500,000 บาท)
    4. โครงการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่กำจัดขยะมูลฝอยให้ถูกต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ขอใช้งบประมาณจำนวน 12,500,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 2,500,000 บาท)
    5. โครงการพัฒนาคุณภาพแหล่งน้ำดิบเพื่อคุณชีวิตของประชาชน ขอใช้งบประมาณจำนวน 10,861,000 บาท (รวมทั้ง 5 ปี ปีละ 2,172,200 บาท) (น่าจะซ้ำกับข้อ 1)

    จากการที่ได้จำแนกงบประมาณที่ต้องการใน 5 ปีข้างหน้า ของแต่ละส่วนราชการแล้ว จะทำให้มองเห็นชัดได้ว่าทิศทางการพัฒนาแต่ละด้านในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง ชาวราชบุรีที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อง หรือกำลังจะคิดประกอบอาชีพใหม่ พึงได้ใช้โอกาสหรือช่องทางการส่งเสริมต่าง ๆ  ตามแผนพัฒนาฯ นี้ ให้เป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพให้มากที่สุด เพราะงบประมาณที่ส่วนราชการนั้น ๆ ใช้จ่ายทั้งหมด  ล้วนมาจากภาษีของพวกเราทั้งสิ้น 

    บทความที่เกี่ยวข้อง
    ***********
    รวบรวมและเรียบเรียงโดย
    สถาบันราชบุรีศึกษา
    1 ก.พ.2565



    บทความที่ได้รับความนิยม