วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ท่าเทียบเรือวัดพญาไม้ : ลอยอังคารหน้าวัดท่าสุวรรณ

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2564  ผมได้มีโอกาสคุยกับ ลุงโกมลฯ ซึ่งประกอบกิจการให้เช่าเรือท่องเที่ยวและลอยอังคาร ที่ท่าเทียบเรือวัดพญาไม้ อ.เมือง จ.ราชบุรี เพื่อเก็บข้อมูลเตรียมทำโครงการวิจัยฯ เสนอให้ผู้บริหารบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องได้ลองพิจารณาทบทวนความเป็นไปได้อีกครั้ง


เริ่มสมัยนายกฯ เปี๊ยก
ลุงโกมล เล่าอย่างอารมณ์ดีให้ฟังว่า ตัวเขามาจากนครชัยศรี มาประกอบกิจการเรือท่องเที่ยวตามคำชักชวนของนายพิชัย นันทชัยพร นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรีในขณะนั้น ซึ่งตั้งใจที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำให้เกิดเป็นรูปธรรม  โดยเริ่มจัดตั้งตลาดโคยกี้ ชักชวนให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวที่มา ลงเรือไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามวัดต่าง ๆ  ริมน้ำแม่กลอง โดยขั้นต้น นำร่องเป็น "เรือโดยสารจากท่าเรือหน้าหอนาฬิกาไปไหว้พระและนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดพญาไม้" 

"ตอนนั้น รายได้ดี พออยู่ได้ ต่อมาก็มีการเช่าเหมาลำไปเลี้ยงสังสรรค์ และท่องเที่ยวตามวัดวาอารามต่าง ๆ  แต่วันนี้รายได้หลัก กลับกลายเป็นการเช่าเรือไปลอยอังคาร"  ปัจจุบัน ลุงโกมล มีเรือให้เช่า 3 ลำ และมีเรือที่ใช้เป็นบ้านที่อยู่อาศัยส่วนตัว 1 ลำ จอดอยู่ท่าเทียบเรือวัดพญาไม้

เรือส่วนตัวที่ลอยลำใช้เป็นบ้านที่อยูอาศัย

ท่าเทียบเรือวัดพญาไม้
เป็นท่าเทียบเรือด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเขตเทศบาลตำบลหลักเมือง ห่างจากสะพานสิริลักษณ์ไปทางด้านเหนือน้ำประมาณ 400 เมตร เป็นท่าเทียบเรือที่สร้างโดยวัดพญาไม้ เป็นท่าเรือขนาดกลางสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นท่าเทียบเรือสำหรับบริการนักท่องเที่ยวได้ ปัจจุบันมีแต่เฉพาะเรือของลุงโกมล เท่านั้นที่เทียบท่าอยู่

ที่ลอยอังคาร บ่อทองคำเก่า หน้าวัดท่าสุวรรณ

ลอยอังคาร-วัดท่าสุวรรณ 
รายได้หลักของลุงโกมล คือ การเช่าเรือไปลอยอังคาร ราคาจะอยู่ครั้งละ 1,500 บาท ค่าดอกไม้ธูปเทียน  300 บาท ค่าครูแล้วแต่จะให้ ลุงโกมลเป็นทั้งกัปตันเรือและคนทำพิธี ลุงโกมล เล่าให้ฟังว่าสถานที่ที่เหมาะแก่การลอยอังคาร ไม่ใช่วัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม ตรงนั้นน้ำจะวน มีความเชื่อว่า หากลอยอังคารตรงนั้น ดวงวิญญาณผู้ตายจะวนไปวนมาไม่ได้ไปผุดไปเกิด  

สถานที่ลอยอังคารที่ดีที่สุดในบริเวณนี้ คือ "บริเวณแม่น้ำหน้าวัดท่าสุวรรณ" เชื่อกันว่า ที่บริเวณท้องน้ำหน้าวัดแห่งนี้ เป็นบ่อทองคำเก่า เพราะวัดท่าสุวรรณ เดิมชื่อ “วัดท่าทอง”  ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2301 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย การลอยอังคารที่นี่ มีความเชื่อว่า หากผู้ตายเกิดในชาติหน้าจะได้มั่งมีศรีสุข ร่ำรวยเงินทอง และลูกหลานที่นำอัฐิไปลอยบริเวณนี้ ก็จะมั่งมีศรีสุข ร่ำรวยเงินทองไม่ขัดสน เช่นกัน
 
ท้องน้ำหน้าวัดท่าสุวรรณ ซึ่งเป็นบ่อทองคำเก่า

วัดท่าสุวรรณ ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี ล่องเรือจากตัวเมืองราชบุรีไปด้านท้ายแม่น้ำแม่กลองประมาณ 10 กิโลเมตร มีอุโบสถ (หลังเก่า) และเจดีย์เก่า ได้รับการบูรณะและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ปัจจุบันมีการสร้างเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ไว้สักการะ ด้านติดริมถนนหน้าวัด


ความคาดหวัง  
ลุงโกมล เล่าต่อว่า หลังจากนายกฯ เปี๊ยก ไม่ได้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรีแล้ว ก็ไม่มีใครสนใจสานต่อ สภาพท่าเทียบเรือวัดพญาไม้ จึงเงียบเหงาแลเห็นเป็นสภาพเช่นนี้  มีคณะผู้หลักผู้ใหญ่หลายคณะมาพูดคุยด้วย บ้างก็เช่าเหมาเรือออกไปลอยลำท่องเที่ยวดู ก็เห็นว่าดีจะกลับไปพัฒนาต่อ แต่ทุกอย่างก็เงียบหายไป 

ทุกวันนี้ ลุงโกมลฯ อยู่ได้ก็เพราะมีคนตาย หลังจากเผาศพแล้วต้องเช่าเรือไปลอยอังคาร ซึ่งเป็นรายได้หลัก ไม่ใช่รายได้จากนักท่องเที่ยวหรือนักแสวงบุญ ตามที่เคยตั้งความหวังไว้ 

เรือลำนี้ ให้เช่าสำหรับนักท่องเที่ยว หรือเลี้ยงสังสรรค์
มีห้องน้ำ ห้องครัว เครื่องเสียงและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
ร่วมด้วยช่วยกัน
แนวคิดเรื่องการพัฒนาแม่น้ำแม่กลองของ จ.ราชบุรี ให้เป็น "ศูนย์กลางการท่องเที่ยววิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและกีฬาทางน้ำ"  (อ่านรายละเอียด)  มีมาหลายยุคหลายสมัย หลายผู้ว่า หลายนายก แต่ดูเหมือนไม่สำเร็จ เพราะไม่มีการต่อยอด ขาดพลังของคนราชบุรีที่จะช่วยกันผลักดัน หากทุกภาคส่วนหันกลับมาร่วมมือกันอย่างจริงจังแล้ว "แม่น้ำแม่กลองจะกลับมามีชีวิต และสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนลุ่มน้ำกลองอีกครั้ง อย่างในอดีต"

*******************************
ชาติชาย คเชนชล : 21 มิ.ย.2564

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564

การท่องเที่ยวราชบุรีวิถีใหม่ หลังโควิด-19

การแพร่รระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน ธันวาคม 2562 จนกระทั่งพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันรายแรก ในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563 ประเทศไทยจำเป็นต้องปิดประเทศ และปิดเมืองต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศไทยลดลง ในปี 2563 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีรายได้รวม 0.81 ล้านล้านบาท ลดลง 2.18 ล้านล้านบาท หดตัวร้อยละ 72.79 จากปีที่ผ่านมา โดยเป็นรายได้ที่ลดลงจากภาคการท่องเที่ยวระห่างประเทศ 1.58 ล้านล้านบาท และรายได้จากภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ 0.60 ล้านล้านบาท (กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา.25 ธ.ค.2563)


สถาการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดราชบุรี
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาด ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของ จ.ราชบุรี ในปี 2563 มีรายได้รวม 2,344.14 ล้านบาท ลดลง 2,062.86 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 46.81 โดยมีผู้มาเยี่ยมเยือนจำนวน 1,430,360 คน ลดลง 900,467 คน โดยมีรายละเอียด ดังนี้ (ผู้เยี่ยมเยือน หมายถึง ผู้ที่เดินทางเพื่อการท่องเที่ยว และอื่น ๆ เช่น การเยี่ยมเพื่อน/ญาติ ทั้งที่พักค้างคืน และไม่พักค้างคืน โดยเป็นการพักค้างในสถานพักแรม บ้านญาติ/บ้านเพื่อน และอืน ๆ)

รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนของ จ.ราชบุรี
  • พ.ศ.2561 จำนวน 4,251.84 ล้านบาท (จากชาวต่างชาติ 152.69 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.59)
  • พ.ศ.2562  จำนวน 4,407 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น +3.65%) (จากชาวต่างชาติ 159 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.61)
  • พ.ศ.2563 (โควิดระบาด) จำนวน 2,344.14 ล้านบาท (ลดลง -46.81%) (จากชาวต่างชาติ 16.76 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.71)


จำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งหมดของ จ.ราชบุรี
  • พ.ศ.2561 จำนวน 2,249,868 คน (ชาวต่างชาติ 66,055 คน คิดเป็นร้อยละ 2.94)
  • พ.ศ.2562  จำนวน 2,330,827 คน (เพิ่มขึ้น +3.60%) (ชาวต่างชาติ 68,475 คน คิดเป็นร้อยละ 2.94)
  • พ.ศ.2563 จำนวน 1,430,360 คน (ลดลง -38.63%) (ชาวต่างชาติ 7,111 คน คิดเป็นร้อยละ 0.5)
การท่องเที่ยวราชบุรีวิถีใหม่ หลังโควิด-19
ในต้นปี พ.ศ.2564 ไวรัสโควิด-19 มีทีท่าจะเบาบางลง เพราะรัฐบาลควบคุมการระบาดได้ แต่กลับเกิดระบาดใหม่รอบที่ 3 อีกครั้งเมื่อต้นเดือน เม.ย.2564 คราวนี้ ค่อนข้างรุนแรงกว่ารอบที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัวกลับทรุดหนักลงไปอีก ปัจจุบัน ประเทศไทยเร่งซื้อวัคซีน มาฉีดให้คนไทยเป็นการด่วน เพราะเป็นอาวุธสำคัญเพียงชนิดเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจต่าง ๆ  ฟื้นคืนชีพกลับมา ซึ่งคาดว่าจะฉีดให้ประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ภายในสิ้นปี พ.ศ.2564 นี้

หากการฉีดวัคซีน เป็นไปตามแผนของรัฐบาล ปลายปีนี้ เศรษฐกิจต่าง ๆ จะเริ่มกลับมาพลิกฟื้น ดังนั้น จ.ราชบุรี จึงควรวางแผนเตรียมเปิดการท่องเที่ยวไว้เสียแต่เนิ่น ๆ  "เตรียมวางการท่องเที่ยวราชบุรีวิถีใหม่ หลังโควิด" เพื่อดึงรายได้ด้านการท่องเที่ยวกลับมาสู่ราชบุรีอีกครั้ง กลุ่มที่มาท่องเที่ยวราชบุรี ส่วนใหญ่เป็นคนไทยด้วยกันเอง ประมาณร้อยละ 97 ชาวต่างชาติมีเพียงร้อยละ 3 เพราะฉะนั้น ไม่ต้องรอให้เปิดประเทศอย่างเป็นทางการ 

ปลายปีนี้ ผู้คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว จะเริ่มกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังจากเครียดที่ต้องเก็บตัวมานาน สถานที่ท่องเที่ยวที่จะเปิด ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมให้เกิดความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว เช่น
  1. การยังคงมีมาตราการต่าง ๆ  เพื่อป้องกันตามมาตรฐานที่กำหนดโดยไม่ประมาท
  2. การให้ความมั่นใจว่าพื้นที่ท่องเที่ยวของตนเองปลอดจากโควิด และทุกคนที่เกี่ยวข้องในการบริการได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเช่นกัน
  3. การปรับกิจกรรมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวแบบ New Normal  Tourism
  4. ฯลฯ
ที่มาของภาพ 
https://iamkohchang.com/blog/thailand-travel-covid-19.html

คิดก่อน เปิดก่อน ราชบุรีจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง อย่านิ่งรอจนกว่าโควิดจะหมดไปจากโลก เพราะมันเป็นไปไม่ได้ มันยังคงอยู่กับเรา สำคัญก็คือ เราต้องอยู่กับมันให้ได้ อย่ากลัว รีบทำและวางแผนเสียตั้งแต่บัดนี้ "การท่องเที่ยวราชบุรีวิถีใหม่ หลังโควิด-19"

***********************************
ชาติชาย คเชนชล : 17 มิ.ย.2564

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ยุทธศาสตร์การบริหารวัคซีนของ จ.ราชบุรี "สวนผึ้งแซนด์บ๊อกซ์"

หลังจากรัฐบาลปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศพร้อมกันเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 โดยรัฐบาลมีเป้าหมายจัดหาวัคซีนจำนวน 150 ล้านโดส แบ่งเป็น 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 เพื่อหยุดยั้งการระบาดให้ได้โดยเร็วและเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ประชาชนที่อยู่ในประเทศต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 และจะจัดหาเพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดส ให้ได้ภายในต้นปี 2565


หลักการกระจายวัคซีนของรัฐบาล คือ 
  1. ทุกจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีน ทั้ง "แอสตร้าเซนเนก้า"  และ "ซิโนแวค" เฉลี่ยตามจำนวนประชากรในพื้นที่ และประชากรแฝงในพื้นที่ 
  2. จังหวัดที่มีการระบาดจะจัดวัคซีนเสริมเพื่อควบคุมโรค โดยมีการปรับแผนตามสถานการณ์โรคที่เปลี่ยนแปลงไป 
  3. จังหวัดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยว กลุ่มแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือชายแดนเศรษฐกิจ 
จังหวัดราชบุรีควรจะได้รับการจัดสรรวัคซีนกี่โดส
ข้อมูลจากศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 7 สาขา จ.ราชบุรี ณ วันที่ 1 ก.ค.2563 ระบุว่า ปัจจุบัน จ.ราชบุรี  มีประชากรทั้งสิ้น 873,212 คน (ไม่รวมประชากรแฝงในพื้นที่) 
  • นับเฉพาะคนที่อายุ 19-59 ปี มีจำนวน 508,809 คน (ซึ่งจะฉีดยี่ห้อ ซิโนแวค)
  • นับเฉพาะคนที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป มีจำนวน 168,008 คน (ซึ่งจะฉีดยี่ห้อ แอสตร้าเซนเนก้า)
หากเป็นไปตามหลักเกณ์กระจายวัคซีนของรัฐบาล ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรซึ่งต้องได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ภายในสิ้นปี 2564 ดังนั้น จ.ราชบุรี ควรจะรับจัดสรรได้วัคซีนในปี 2564 ประมาณ 950,000 โดส (แยกเป็นซิโนแวค 712,500 โดส และแอสตร้าเซนเนก้า 237,500 โดส) ซึ่งรัฐบาลคงจะทยอยจัดสรรเป็นงวด ๆ ไปตามที่จัดซื้อมาได้ จนครบ

ยุทธศาสตร์การบริหารวัคซีนของ จ.ราชบุรี
หากการจัดหาวัคซีนไม่เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ จ.ราชบุรี จึงควรมียุทธศาสตร์การบริหารวัคซีนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดให้เร็วที่สุด    ปัจจุบัน จ.ราชบุรี ยังใช้หลักการลงทะเบียน จองคิวก่อน ได้รับสิทธิก่อน ไม่มีหลักแนวคิดใด ๆ มาเป็นเกณฑ์การพิจารณา ได้วัคซีนมาเท่าไหร่ก็หารเฉลี่ยไปตามหัวของจำนวนประชากรของแต่ละอำเภอ  หลักการคือ "ได้มาเท่าไหร่ ก็หารเฉลี่ยไปเท่านั้น"  นอกจากนั้น ยังมีการเมือง เส้นสาย และระบบอุปถัมภ์ เข้ามาแทรกแซงลัดคิว  หลายคนที่เป็นคนธรรมดา ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะได้รับการฉีดเมื่อไหร่ ไร้ซึ่งความหวัง

การบริหารวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรมาเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัด จำนวนวัคซีนที่ทยอยได้รับการจัดสรรมาแต่ละครั้ง อาจมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น ควรจะพิจารณาว่าความเร่งด่วนว่า "ใครควรได้รับการฉีดก่อน และใครที่ยังรอได้"  การบริหารวัคซีนที่ชาญฉลาดจะช่วยให้เศรษฐกิจของ จ.ราชบุรีกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว 


ยิ่ง ทาง อบจ.ราชบุรี ใช้งบประมาณจำนวน 100 ล้านบาท ไปซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม มาฉีดให้ประชาชนชาวราชบุรี อีก 100,000 โดส เพื่อฉีดให้ชาวราชบุรีเพียง  50,000 คน ยิ่งควรมียุทธศาสตร์การบริหารวัคซีนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดให้มากที่สุด ไม่ใช่ใช้ระบบการฉีดวัคซีน ด้วยการลงทะเบียน จองคิว เหมือนรัฐบาล

สวนผึ้งแซนด์บ๊อกซ์
ยกตัวอย่าง หาก จ.ราชบุรี พิจารณาบริหารจำนวนวัคซีนที่รัฐบาลค่อย ๆ  ทยอยจัดส่งมาให้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านเศรษฐกิจ หากลองนำส่วนหนึ่งไปใช้ฉีดในพื้นที่เป้าหมายพิเศษ (ตามหลักกระจายวัคซีนของรัฐบาลข้อที่ 3)  เช่น ฉีดให้ประชากร ใน อ.สวนผึ้ง โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเร่งเปิดฤดูการท่องเที่ยวสวนผึ้ง ให้ได้ภายในฤดูหนาวปีนี้   ปัจจุบัน ประชากร อ.สวนผึ้ง มีจำนวนดังนี้  
  • นับเฉพาะคนที่อายุ 19-59 ปี มีจำนวน 30,550 คน (ซึ่งจะฉีดยี่ห้อ ซิโนแวค)
  • นับเฉพาะคนที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป มีจำนวน 6,005 คน (ซึ่งจะฉีดยี่ห้อ แอสตร้าเซนเนก้า
หากตัดสินใจว่า จะให้คนสวนผึ้งร้อยละ 70 ได้ฉีดวัคซีนคนละ 2 เข็ม ก่อนถึงฤดูหนาวนี้ (ต.ค.2564)  เราจะใช้วัคซีนซิโนแวค จำนวนเพียง 42,770 โดส และแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 8,407 โดส เพื่อฉีดให้พวกเขา หากวางแผนเช่นนี้แล้ว จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจหันกลับมาเที่ยวสวนผึ้งอีกครั้ง รายได้จากการท่องเที่ยวก็จะตามมา โรงแรม รีสอร์ท และผู้คน จะหันกลับมามีชีวิตชีวา อีกครั้งหลังโควิด ดีกว่าที่เราจะฉีดวัคซีนแบบสะเปะสปะ


โมเดลนี้เรียกว่า "แซนด์บ็อกซ์" (Sandbox) คือ การควบคุมให้อยู่ในกะบะทราย พื้นที่ อ.สวนผึ้ง ก็คือกระบะทรายนั่นเอง  ซึ่งขณะนี้ จ.ภูเก็ต กำลังทำอยู่ มีขั้นตอน และเป้าหมายชัดเจน ที่จะกลับมาเปิดการท่องเที่ยวให้ได้ภายในวันที่ 1 ก.ค.2564 ที่จะถึงนี้


การฉีดวัคซีนแบบมียุทธศาสตร์จึงดีกว่าการฉีดแบบจองคิว ชิงโชค ใครจองก่อนได้ก่อน ใครเส้นดีได้ก่อน อย่างนี้ไม่เกิดประโยชน์ และยังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ท่ามกลางวัคซีนที่มีน้อย เราควรคิดด้วยเหตุด้วยผลว่า "เราควรฉีดให้ใครก่อนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเปิดเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด และใครที่ควรรอได้"  เพราะในที่สุดทุกคนก็จะได้ฉีดเหมือนกันหมด เพียงแต่ช้าหรือเร็วเท่านั้น 

********************************
จุฑาคเชน : 16 มิ.ย.2564

วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ค้นหาบรรพบุรษและวงศาคณาญาติของคุณ

"ครอบครัวมีความสำคัญ หากผู้คนเข้าใจบรรพบุรุษของพวกเขามากขึ้น พวกเขาจะค้นพบตัวเองมากขึ้นตามไปด้วย เราควรค้นหาและรักษาอดีตไว้เพื่ออนาคตของเรา" : Family Search  

ที่บ้านเกิดของผม มีการทำบุญบังสุกุลให้บรรพบุรุษเป็นประจำในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี แม่เล่าให้ฟังว่า  ทำมาตลอดตั้งแต่ครั้งปู่ ย่า ตา ยาย  หากลองนับถึงปีปัจจุบันแล้ว ตระกูลของผมก็น่าจะทำบุญต่อเนื่องกันมากว่า 100 ปีแล้ว จากรุ่นสู่รุ่น คงมีปี พ.ศ.2563 และ พ.ศ.2564 นี้เอง ที่ไม่ได้ทำเพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่ 


เริ่มจาก 273 คน
เวลาบังสุกุลให้บรรพบุรษที่เสียชีวิตไปแล้ว ต้องเขียนรายชื่อลงในกระดาษแล้วเผาไฟ ต่อด้วยการกรวดน้ำรดลงไปในเถ้ากระดาษ  สมัยก่อนแม่ผมเป็นคนคัดสำเนาด้วยลายมือทุกปี ต่อมาถึงสมัยผมใช้บันทึกลงในคอมพิวเตอร์แล้วพิมพ์ออกมา รายชื่อบรรพบุรุษที่ผมบันทึกไว้ มีจำนวนถึง 273 คน 

ผมพยายามค้นหาสายสัมพันธ์และลำดับวงศ์ตระกูล ทั้ง 273 คน เพื่อจะได้เข้าใจว่าใครเป็นใคร แล้วมาเป็นญาติพี่น้องได้กันได้ไง โดยเริ่มต้นซักถามจาก พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา สมัยที่พวกท่านยังมีชีวิตอยู่ แล้วเขียนบันทึกไว้ในสมุดเล่มหนึ่ง สะสมไว้เรื่อย ๆ ต่อมาจึงนำมาสร้างชาร์ตและแผนภูมิความสัมพันธ์ครอบครัวด้วยโปรแกรมพื้นฐานทั่วไปที่มีอยู่ในคอมพิวเตอร์ขณะนั้น ปรากฏว่าสับสนอลหม่านไปหมด ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าคนแต่ละคนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นลูกพี่ลูกน้อง หรือ เป็นอะไรกัน มาจากสายสาแหรกตระกูลไหนบ้าง

เว็บไซต์ครอบครัว "MyHeritage"

MyHeritage
ผมเริ่มค้นหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปที่ออกแบบมาเพื่อช่วยในเรื่องการบันทึกสายตระกูล และสาแหรกของครอบครัวเป็นการเฉพาะ ผมพบว่า เว็บไซต์ "MyHeritage" เป็นเว็บไซต์ครอบครัวที่ใช้สร้างแผนภูมิต้นไม้ครอบครัวลำดับวงศ์ตระกูลได้ดีมาก ผมสมัครใช้บริการตั้งแต่ 22 ส.ค.2553 ไม่เสียค่าใช้จ่าย หากใช้บันทึกวงศาคณาญาติจำนวนไม่มากนัก ผมบันทึกได้เพียง 251 คน ก็ไม่สามารถบันทึกต่อได้ หากต้องการบันทึกต่อจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1,500-3,600 บาท/ปี ขึ้นอยู่กับจำนวนวงศาคณาญาติที่ต้องการบันทึก

FamilySearch ตอบโจทย์
ผมได้ค้นหาวงศาคณาญาติของผมอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีโอกาสไปตามงานต่าง ๆ ที่พวกเราต้องเจอกัน จนกระทั่งตอนนี้ ผมค้นพบวงศาคณาญาติสายตระกูลต่าง ๆ ของผมแล้วจำนวนถึง 457 คน ผมจึงเลือกที่จะบันทึกลงใน เว็บไซต์ FamilySearch แทน MyHeritage ซึ่ง FamilySearch มีแอปพลิเคชั่นไว้ให้ใช้ในสมาร์ทโฟนด้วย สาเหตุสำคัญผมตัดสินใจเลือกใช้ FamilySearch คือ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดจำนวนวงศาคณาญาติ

เว็บไซต์ FamilySearch

FamilySearch (สาแหรกครอบครัว) จัดทำโดย ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (The Church of Jesus Christ of Latter-day Saints) เพื่อช่วยให้ผู้คนค้นพบประวัติครอบครัวของพวกเขาผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์ นอกจากนั้นยังให้ความช่วยเหลือแบบตัวต่อตัวที่ศูนย์ประวัติครอบครัวในท้องถิ่นที่มากกว่า 5,000 แห่งทั่วโลก บริการฟรีสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงประเพณี วัฒนธรรม และเชื้อชาติศาสนา 

FamilySearch Office, ลีไฮ ยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

FamilySearch เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับนานาชาติ ดำเนินงานโดยอาศัยเงินบริจาค ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2437 เพื่อช่วยให้สมาชิกศาสนจักรติดตามแผนภูมิต้นไม้ครอบครัวของพวกเขา จนกระทั่งปัจจุบัน FamilySearch ได้ทุ่มเทเพื่อรักษาบันทึกครอบครัวที่สำคัญ และทำให้ทุกคน ทุกชาติ ศาสนา เข้าถึงได้ฟรีทางออนไลน์ งานของเขามีอยู่ทั่วโลก และมีความร่วมมือกับหอจดหมายเหตุและพันธมิตรมากกว่า 10,000 แห่งในกว่า 100 ประเทศ

เว็บไซต์ FamilySearch เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ.2542 และกลายเป็นเว็บไซต์ประวัติครอบครัวที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว โดยมียอดเข้าชม 7 ล้านครั้งต่อวัน ในปี พ.ศ.2563

แอปพลิเคชั่น สาแหรกครอบครัว


ตัวอย่างสาแหรกครอบครัวของผม บนโทรศัพท์มือถือ

ค้นหาบรรพบุรุษและวงศาคณาญาติของคุณ
ทุกคนควรมีต้นไม้ครอบครัว (Family Tree) ของตนเอง ลองลงมือทำดูครับ ไม่ยากอย่างที่คิด หาเวลาว่างค่อย ๆ ค้นหาและบันทึกไปเรื่อย ๆ  ขณะที่คุณค้นพบ รวบรวม และเชื่อมโยงสายตระกูลของคุณ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เข้าด้วยกัน คุณจะได้ประสบการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจ และมันจะนำพาความสุขมาสู่ทุกคนในครอบครัวและวงศาคณาญาติของคุณ 

ขั้นต้น ผมขอแนะนำให้คุณลองทำตามภาพด้านล่างดูครับ  

วิธีการเริ่มต้นและปลูกต้นไม้ครอบครัว

เว็บไซต์ FamilySearch
(https://www.familysearch.org/en/)

*********************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
11 มิ.ย.2564

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ผลการสำรวจความคิดเห็นการฉีดวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" ใน จ.ราชบุรี

เห็นด้วยใช้งบ 100 ล้าน ซื้อ "ซิโนฟาร์ม" เลือกกลุ่มแพทย์สาธารณสุขด่านหน้าฉีดก่อน วัคซีนยอดนิยม  BioNTech/Pfizer : อเมริกา

#ราชบุรีโพล เผยผลการสำรวจความคิดเห็นกรณี นายก อบจ.ราชบุรี จะใช้งบประมาณของ อบจ.จัดซื้อวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 100,000 โดส (ราคาประมาณโดสละ 1,000 บาท รวมใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท) มาฉีดให้ชาวราชบุรี จำนวน 50,000 คน เพื่อเสริมวัคซีนหลักที่ทางรัฐบาลจัดสรรให้ โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่  1-6 มิ.ย.2564 มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 636 คน สรุปผลการสำรจ สรุปได้ดังนี้




ซื้อแสนโดส งบร้อยล้านบาท ฉีดชาวราชบุรีห้าหมื่นคน
จากคำถามที่ว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่ อบจ.ราชบุรี จะซื้อวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" จำนวน 100,000 โดส โดยใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท มาฉีดให้คน จ.ราชบุรี จำนวน 50,000 คน  โดยไม่รอวัคซีนที่รัฐบาลจะจัดสรรให้ สรุปผล ดังนี้
  • ผู้ที่เห็นด้วย 588 คน คิดเป็นร้อยละ 92.45
  • ผู้ที่ไม่เห็นด้วย 29 คน คิดเป็นร้อยละ 4.56 
  • ความคิดเห็นอื่น ๆ 19 คน คิดเป็นร้อยละ 2.99
ในด้านความคิดเห็นอื่น ๆ สรุปประเด็นได้ดังนี้ 
  • ต้องมีความชัดเจนในการเลือกกลุ่มเป้าหมายว่ากลุ่มใดจะได้ฉีดก่อน อย่าให้เกิดความเหลือมล้ำ และแต่ละกลุ่มนั้นมีจำนวนวัคซีนเพียงพอหรือไม่ 
  • อาจเกิดคำถามจากประชาชนว่า ทำไมกลุ่มนั้น ได้ฉีด กลุ่มนี้ไม่ได้ฉีด 
  • ตัวเลขวัคซีนจำนวน 100,000 โดส  เอาฐานการคิดตัวเลขมาจากไหน 
  • อยากทราบข้อมูล ชาวราชบุรีได้ลงทะเบียนหมอพร้อมไหม ถ้าชาวราชบุรีเลือกไม่ลงข้อมูลประสงค์จะฉีดวัคซีน ก็ไม่ควรจัดสรรซื้อมาเอง 
  • จำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรภายในจังหวัด 
  • ควรจัดหาวัคซีนให้ครบทุกคน  อยากให้ทุกคนในจังหวัดได้ฉีด 
  • ให้กลุ่มคนพิการที่เดินทางลำบากด้วยครับ 
  • ใช้งบประมาณมากไป 
  • ถ้าเป็นไปได้ควรฉีดให้ได้ครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดในจังหวัด 
  • วัคซีนทางเลือก คือให้คนที่ไม่อยากได้ของฟรีและพร้อมที่จะจ่ายเงิน ไม่ใช่เป็นทางเลือกของผู้มีสิทธิ์พิเศษ ควรให้มากพอที่จะให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นทางเลือกด้วย
  • ควรซื้อได้มากกว่านี้ หรือซื้อยี่ห้ออื่น ๆ ด้วย 
  • ควรซื้อวัคซีนที่มีราคาถูกแล้วดีไม่ใช่เอาแต่ราคาแพง 
  • ยังสับสนเรื่องวัคซีน ทุกกลุ่มมีความสำคัญเหมือนกัน
กลุ่มคนที่สมควรได้รับการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม
ต่อคำถามที่ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ท่านคิดว่าคนราชบุรีจำนวน 50,000 คน กลุ่มใด ที่สมควรถูกคัดเลือกให้ฉีดวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" เป็นลำดับต้น ๆ (ผู้ตอบแบบสำรวจเลือกตอบเพียง 3 กลุ่ม) จากคำถามมีผู้ที่ให้ความเห็นจำนวน 636 คน โดยเรียงจำนวนความคิดเห็นจากมากไปหาน้อย ดังนี้
  1. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 353 คน  คิดเป็นร้อยละ 55.5 
  2. ประชาชนทั่วไป จำนวน 241 คน คิดเป็นร้อยละ 37.9
  3. กลุ่มนักเรียน ครู และอาจารย์ จำนวน 239 คน คิดเป็นร้อยละ 37.6
  4. กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุน้อยกว่า 60 ปี ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และเบาหวาน จำนวน 205 คน คิดเป็นร้อยละ 32.2
  5. กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 180 คน  คิดเป็นร้อยละ 28.3 
  6. กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ จำนวน 171 คน คิดเป็นร้อยละ 26.9
  7. กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ในตลาดสด และตลาดนัดต่าง ๆ จำนวน 113 คน คิดเป็นร้อยละ 17.8
  8. กลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงาน และรับจ้างทั่วไป จำนวน 77 คน คิดเป็นร้อยละ 12.1 
  9. กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร จำนวน 57 คน คิดเป็นร้อยละ 9
  10. กลุ่มรถรับจ้างสาธารณะ  รถตู้  รถโดยสาร  รถตุ๊กตุ๊ก  มอร์เตอไซต์รับจ้าง ฯลฯ  จำนวน 56 คน คิดเป็นร้อยละ 8.8 
  11. ข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น จำนวน 30 คน คิดเป็นร้อยละ 4.7
  12. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจภาคบริการ โรงแรม รีสอร์ต และการท่องเที่ยว จำนวน 26 คน คิดเป็นร้อยละ 4.1
  13. กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาบอบนวด สปาร์ ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม จำนวน 16 คน คิดเป็นร้อยละ 2.5 
  14. กลุ่มผู้ประกอบการในสถานบันเทิง จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 2.2
  15. กลุ่มอื่น ๆ  ได้แก่ พระ แรงงานต่างด้าว พนักงานรัฐวิสาหกิจ 
วัคซีนยอดนิยม
คำถามสุดท้ายถามว่า หากท่านเลือกฉีดวัคซีนได้ ท่านจะเลือกฉีดวัคซีนของบริษัทฯ ใด คำตอบที่ได้เรียงจากมากไปหาน้อยดังนี้ 
  1. BioNTech/Pfizer : อเมริกา จำนวน 215 คน คิดเป็นร้อยละ 33.8
  2. Moderna : อเมริกา จำนวน 152 คน คิดเป็นร้อยละ 23.9
  3. Sinopharm : จีน จำนวน 139 คน คิดเป็นร้อยละ 21.9
  4. Johnson & Johnson : อเมริกา จำนวน 60 คน คิดเป็นร้อยละ 9.4
  5. Oxford-Astra Zeneca : อังกฤษ จำนวน 31 คน คิดเป็นร้อยละ 4.9
  6. Sinovac : จีน จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 2.2
  7. Gamaleya (Sputnik V) : รัสเซีย จำนวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 2
  8. Novavax : อเมริกา จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 1.3
  9. Bharat : อินเดีย จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 0.3 และ  CanSino Biologics : จีน จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 0.3 เท่ากัน

ถึงแม้ว่าวันนี้ (7 มิ.ย.2564) รัฐบาล จะเปิดดีเดย์การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ทั่วประเทศ แต่วัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อหามาฉีดให้ อาจจะไม่ทัน และไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ดังนั้น วัคซีนทางเลือกที่จะต้องจัดซื้อจัดหากันเองอาจจะยังมีความจำเป็นอยู่ เพื่อต้องการเปิดเศรษฐกิจของประเทศให้เร็วที่สุด  ความตั้งใจดีของ อบจ.ราชบุรี ที่จะซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อาจจะซื้อไม่ได้ เพราะทางราชวิทยาลัยฯ ไม่มีนโยบายจำหน่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ตาม หวังว่าทาง อบจ.ราชบุรี คงจะหาทางอื่นต่อไป 

ผลจากการสำรวจในครั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้ อบจ.ราชบุรี หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจเรื่อง "การซื้อวัคซีน" ในอนาคตต่อไป  

ราชบุรีโพล ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยกรุณาตอบแบบสำรวจในครั้งนี้
ความคิดเห็นของท่าน มีประโยชน์เสมอ
Your voice Always useful



บทความที่ได้รับความนิยม