วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ยังไงก็ต้องกู้ ชาวเมืองราชบุรีเตรียมอพยพ

จากบทความเรื่อง "ถึงเวลาค้นหาลูกระเบิดใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ อีกครั้ง.. " (อ่านรายละเอียด)  ที่เขียนเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2561 ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายของ "คนราชบุรี" ว่า ตกลงแล้วจะเอาอย่างไรกับลูกระเบิดทั้ง 3 ลูกที่จมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลองแห่งนี้ 




เรื่องลูกระเบิดที่พบว่ามันยังไม่ระเบิดหรือ เรียกง่ายๆ ว่า "ลูกระเบิดด้าน" ซึ่งตกค้างมาจากผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีให้เห็นอยู่มากมายในประเทศที่เข้าร่วมสงคราม โดยเฉพาะตามเมืองสำคัญที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ พอจะยกตัวอย่างที่เป็นข่าวให้เห็นว่ามีการพบและการเก็บกู้ ได้ดังนี้

ต่างประเทศ
  • 22 พ.ค.2558  ทีมเก็บกู้ระเบิดใต้น้ำของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติประเทศกัมพูชา (CMAC)  ดำเนินเก็บกู้ทุ่นระเบิด MK 80 เป็นทุ่นระเบิดเก่าสมัยสงครามเมื่อหลายสิบปีก่อน หนัก 227 กิโลกรัม ซึ่งจมอยู่ใต้แม่น้ำโขงที่ความลึก 7 เมตรได้สำเร็จ เหตุเกิดใน จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา
  • 20 ธ.ค.2559 ที่เมืองเอาส์บวร์ก ประเทศเยอรมนี พบลูกระเบิดขนาด 1.8 ตัน   ที่ถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินรบของอังกฤษ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ใช้เวลาเก็บกู้ประมาณ 4 ชั่วโมง โดยทำการอพยพชาวเมืองจำนวน 54,000 คน ที่อาศัยอยู่ในรัศมี 1.5 กิโลเมตร ไปยังที่ปลอดภัย
  • 12 ก.พ.2560  เก็บกู้ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองเธสซาโลกินี ประเทศกรีซ ทำการอพยพประชาชนจำนวน 72,000 คนออกจากพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย
  • 2 ต.ค.2560  กู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำหนักกว่า 250 กิโลกรัมในพื้นที่ก่อสร้างใกล้กับจัตุรัสอินส์บรุค ย่านเขตเชินเนอร์แบร์ก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ต้องอพยพประชาชนกว่า 10,000 คนออกจากพื้นที่
  • 13 ก.พ.2561 ราชนาวีอังกฤษ ตำรวจนครบาล และหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด ทำการเก็บกู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นํ้าหนัก 500 กิโลกรัม ในแม่นํ้าเทมส์ บริเวณอู่จอดเรือพระเจ้าจอร์จที่ 5 ประเทศอังกฤษ ต้องทำการปิดท่าอากาศยานลอนดอน ซิตี้ เป็นการชั่วคราว และสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงในรัศมี 214 เมตร  เพื่อความปลอดภัย
  • 11 พ.ค.2561  เจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงเก็บกู้ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นของทหารอเมริกันมีน้ำหนักราว 1,000 ปอนด์หรือ 450 กก.จากบริเวณแหล่งก่อสร้างในเขตหว่านไจ๋ ย่านธุรกิจสำคัญของฮ่องกง ทำการอพยพคนงาน ชาวบ้านและพนักงานออฟฟิศราว 1,200 คน ออกจากพื้นที่ เพื่อความปลอดภัย 
เก็บกู็ทุ่นระเบิดในประเทศกัมพูชา โดย CMAC 

ในประเทศไทย
  • 2 เม.ย.2557 ลูกระเบิดขนาด 500 ปอนด์ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดระเบิดขึ้นบริเวณร้านขายของเก่า เลขที่ 9/1 ภายในซอยลาดปลาเค้า 72 แยก 14 กรุงเทพมหานคร
  • 2 มิ.ย.2557 พบลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่อยู่ในแนวเดียวกับสถานีรถไฟบางซื่อ 2 กรุงเทพมหานคร เป็นลูกระเบิดขนาด 500 ปอนด์ หรือที่เรียกว่า ระเบิด GP500  (General Purpose)  
  • 6 มี.ค.2558 กู้ระเบิดแบบเจาะเกราะจากอากาศสู่พื้นดิน น้ำหนัก 1600 ปอนด์ ซึ่งตกค้างจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กลางแม่น้ำหลังสวน ต.หลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ทำการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่รัศมี 300 เมตร เพื่อความปลอดภัย
การกู้ระเบิดที่ แม่น้ำหลังสวน จ.ชุมพร
ยังไงก็ต้องกู้..
ตามหลักการจริงๆ แล้วระเบิด 3 ลูกที่พบว่าจมอยู่ใต้น้ำบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ ต้องได้รับการกู้ตั้งแต่ปีที่พบแล้ว คือ ปี พ.ศ.2548 แต่เนื่องจากไม่มีใครกล้าพอที่จะเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในขณะนั้น พวกเขากลับเลือกที่จะเมินเฉย ปล่อยให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงซึ่งไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อใด  


ลูกระเบิดที่จมบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ คาดว่าจะเป็น AN-M65 1,000 ปอนด์ 
ส่วนในต่างประเทศ เมื่อได้รับรายงานว่ามีการพบลูกระเบิดตกค้าง รัฐบาลรีบสั่งการหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้ทำการเก็บกู้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนของเขา 


การเก็บกู้ในประเทศเยอรมัน
ในปี พ.ศ.2561 นี้ มีโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่มาเป็นตัวเร่งปฏิกริยา เพราะต้องมีการสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองคู่กับสะพานจุฬาลงกรณ์เดิม จึงทำให้เรื่องลูกระเบิดทั้ง 3 ลูกนี้ ถูกหยิบหยกขึ้นมาพิจารณากันอีกครั้ง แต่ดูเหมือนรูปการณ์กำลังจะเป็นแบบเดิม คือ ไม่มีใครกล้าที่จะเป็นเจ้าภาพ ต่างคนต่างโยนกันว่าไมใช่หน้าที่ของตนเอง  

ท้ายที่สุดก็ไม่พ้น..
หากเราหันกลับไปดู พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 (19 พ.ค. 2560) แล้ว ภัยจากลูกระเบิดนี้ ถือได้ว่าเป็น "สาธารณภัย"  ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ควรมีหน้าที่เข้ามาช่วยวางแผนและกำกับดูแล แต่พอลงถึงระดับปฏิบัติแล้ว ไม่ว่าหน่วยงานใดก็ตามที่จะเข้ามาช่วยเก็บกู้ลูกระเบิดครั้งนี้ ก็คงไม่พ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในฐานะผู้อำนวยการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตจังหวัดราชบุรี  ที่ต้องรับผิดชอบการเก็บกู้ลูกระเบิดในครั้งนี้ตามหน้าที่ ดูตัวอย่างได้จาก การกู้ภัยทีมหมูป่าที่ติดถ้ำหลวง เขตวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ที่ผ่านมา


แนวการสร้างสะพานรถไฟรางคู่ข้ามแม่น้ำแม่กลอง

ชาวเมืองราชบุรีเตรียมอพยพ...
ยังไงเสียการเก็บกู้ลูกระเบิดใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ต้องเกิดขึ้นแน่ เพราะไม่มีใครยอมปล่อยให้ภัยเงียบซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดอันตรายขึ้นเมื่อใด อยู่ในบ้านของตนเอง ประกอบกับการที่จะต้องสร้างตะม่อสะพานรถไฟรางคู่ข้ามแม่น้ำอีก ทั้ง 2 ประการนี้คือ เหตุผลสำคัญที่ต้องกู้ลูกระเบิดทั้ง 3 ลูกนี้แน่นอน และนอกจากนั้น อาจต้องมีการดำน้ำสำรวจแบบสแกนพื้นที่แนวเขตก่อสร้างด้วย เพราะไม่แน่ว่าอาจจะพบลูกระเบิดเพิ่มเติมอีกก็ได้  

ส่วนแผนการอพยพประชาชนโดยรอบว่าจะต้องมีรัศมีความปลอดภัยกี่ร้อยเมตร มีความจำเป็นต้องสร้างบังเกอร์อีกชั้นเพื่อป้องกันหรือไม่  ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเก็บกู้ระเบิดนานเท่าใดนั้น เรื่องราวเหล่านี้คงต้องรอฟังจากคณะทำงานฯ ซึ่งคงจะต้องมีการตั้งขึ้นในอนาคต ต่อไป     

เหตุผลที่ต้องอพยพประชนชนออกจากพื้นที่โดยรอบ เพราะไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่า ลูกระเบิดที่จะทำการกู้ครั้งนี้ จะไม่เกิดระเบิดขึ้นมาอีก ดังนั้นจึงต้องเลือกวิธีการที่เรียกว่า "ปลอดภัยไว้ก่อน" เสมอ  

**************************
จุฑาคเชน : 24 ส.ค.2561

ที่มาข้อมูล
  • ไทยรัฐออนไลน์.(2558).อีโอดีกู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่2จากกลางแม่น้ำหลังสวน.[Online].Available :https://www.thairath.co.th/content/485381. [2561 สิงหาคม 24].
  • ไทยรัฐ.(2558).กัมพูชากู้ระเบิดกว่า 200 กก. จากแม่น้ำโขง.[Online].Available :https://www.youtube.com/watch?v=x0bA3Nyh5jc. [2561 สิงหาคม 24].
  • ไทยพีบีเอส.(2561).อังกฤษกู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สำเร็จ.[Online].Available :https://news.thaipbs.or.th/content/270168. [2561 สิงหาคม 24].
  • วอยส์ทีวี. (2559).เยอรมันนีอพยพคน กู้ระเบิดสมัยสงครามโลก.[Online].Available :https://www.voicetv.co.th/read/445767. [2561 สิงหาคม 24].
  • Springnews. (2560).โล่งอก! กรีซกู้ระเบิดสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 สำเร็จ.[Online].Available :https://www.youtube.com/watch?v=9J06winYvvU. [2561 สิงหาคม 24].
  • โพสต์ทูเดย์. (2559).ปฏิบัติการเก็บกู้ระเบิดขนาด 1.8 ตัน ในเมืองเอาส์บวร์กสำเร็จเสร็จสิ้น.[Online].Available :https://www.posttoday.com/world/472223. [2561 สิงหาคม 24].
  • เดลินิวส์. (2561).อพยพ1,200คน! ตร.ฮ่องกงเก็บกู้ระเบิดสมัยสงครามโลก.[Online].Available :https://www.msn.com/th-th/news/world/อพยพ1200คน-ตรฮ่องกงเก็บกู้ระเบิดสมัยสงครามโล/AAx6kq7#image=AAx6kq7_1|2. [2561 สิงหาคม 24].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม