วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2562

ตรรกะที่แตกต่าง - ลูกระเบิดทั้ง 7 ที่ราชบุรี

ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวน 7 ลูก ที่พบใต้น้ำบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ ซึ่งสำรวจพบชัดเจนแล้วเมื่อปลายปี พ.ศ.2561 จนป่านนี้ ยังไม่มีวี่แววว่าจะเก็บกู้ได้เมื่อใด ที่วางแผนไว้ต้นปี พ.ศ.2563 ก็ไม่แน่ใจแล้วว่าจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ 



ตรรกะที่แตกต่าง
ถ้าไม่รู้ ไม่เป็นไร แต่ถ้ารู้ ต้องเก็บกู้ทันที
ในประเทศที่ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สหราชอาณาจักรอังกฤษ เมื่อใดที่มีการพบลูกระเบิดตกค้างอยู่ภายในประเทศ รัฐบาลจะรีบดำเนินการเก็บกู้ในทันที โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าลูกระเบิดที่พบเหล่านี้ จะเกิดระเบิดขึ้นเมื่อใด ยิ่งอยู่ในเขตชุมชนเมืองแล้วยิ่งต้องรีบดำเนินการเป็นการเร่งด่วน 

แต่ที่ราชบุรี...ประเทศไทย กลับไม่เป็นเช่นนั้น ส่วนราชการกลับปล่อยให้ลูกระเบิดใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ ทั้ง 7 ลูก นอนนิ่งใต้น้ำกลางเมืองราชบุรี กลายเป็นมฤตยูมืดที่ไม่รู้จะเกิดระเบิดขึ้นเมื่อใด การเก็บกู้ถูกเลื่อนออกไปด้วยข้ออ้างหลายเรื่อง จนกระทั่งการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องเปลี่ยนรูปแบบสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองใหม่เป็นสะพานแขวนแทน เพื่อหลีกเหลี่ยงการสร้างตะม่อกลางน้ำ เพราะมิเช่นนั้นทางรถไฟรางคู่จะเปิดใช้งานไม่ทันตามสัญญาที่กำหนดไว้กับรัฐบาล ส่วนทางจังหวัดราชบุรีจะเก็บกู้ลูกระเบิดแล้วเสร็จเมื่อใดนั้น ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการสร้างรางรถไฟรางคู่อีกต่อไป

จนถึงวันนี้ ส่วนราชการของ จ.ราชบุรี จึงแลดูไม่ไส่ใจเป็นพิเศษที่จะรีบเร่งดำเเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดโดยเร็ว เพราะไม่มีแรงกดดันจากการสร้างทางรถไฟรางคู่ จึงปล่อยให้การเก็บกู้ดำเนินการไปตามขั้นตอนราชการปกติ ซึ่งแนวโน้มจะยืดเยื้อและล่าช้า และยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่า งบประมาณในการเก้บกู้จำนวนหลายล้านบาท จะนำมาจากไหน และพร้อมจะเก็บกู้ได้เมื่อไหร่ 

ชาวราชบุรี อยู่ที่ไหนกัน
เรื่องนี้ ประชาชนชาวราชบุรีเอง ก็แทบไม่มีใครใส่ใจ ส่วนราชการว่าอย่างไรก็เอาอย่างนั้น ไม่มีปาก ไม่มีเสียง ไม่มีการกระทำใดๆ ที่จะเร่งรัดหรือกระตุ้นให้ทางราชการรีบเร่งดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดอย่างจริงจัง สื่อมวลชนของราชบุรีที่มีอยู่หลายสำนัก ก็แทบไม่ค่อยได้กระตุ้นเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่นกัน   
       

แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 2558
แผนมีไว้ให้ใช้ยามเกิดเหตุการณ์  แต่ดูว่า จ.ราชบุรี จะยังไม่มีแผนใดๆ มาอ้างอิงเพื่อใช้ในการปฏิบััติการเก็บกู้ลูกระเบิดครั้งนี้ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ต่างคน ต่างคิด ต่างทำ ต่างเสนองบประมาณ หลากหลายรูปแบบที่ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

อย่าตีความเพราะไม่อยากรับผิดชอบ
ในแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 2558 นิยามคำว่า สาธารณภัย หมายถึง อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในมนุษย์ โรคระบาดสัตว์ โรคระบาดสัตว์น้ำ การระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนภัยอื่นๆ อันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ มีผู้ทำให้เกิดขึ้น อุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ และให้หมายรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย 

อ่านแล้วคงไม่ต้องตีความอีก "ลูกระเบิดทั้ง 7 ลูก" คือ "สาธารณภัย"  อย่างแน่นอน โปรดอย่าตีความเพราะความไม่อยากรับผิดชอบ ตอนนี้ เราพบลูกระเบิดแล้ว ซึ่งอาจเกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายหรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งมันอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ จึงต้องมีการจัดการสาธารณภัยโดยทันที  ไม่ใช่ปล่อยให้ยืดเยื้อยาวนานเช่นนี้    



ระดับการจัดการสาธารณภัย 4 ระดับ 
ในแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 แบ่งระดับการจัดการสาธารณภัยออกเป็น 4 ระดับ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ประชากร ความซับซ้อน หรือความสามารถในการจัดการสาธารณภัย ตลอดจนศักยภาพด้านทรัพยากร ได้แก่
  • สาธารณภัยขนาดเล็ก  (ผอ.อำเภอ,ท้องถิ่น และหรือ ผช.ผอ.กรุงเทพฯ ควบคุมและสั่งการ)
  • สาธารณภัยขนาดกลาง (ผอ.จังหวัด,ผอ.กรุงเทพฯ ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ)
  • สาธารณภัยขนาดใหญ่ (ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ)
  • สาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง (นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีมอบหมาย ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ)
หากถามว่า ลูกระเบิด 7 ลูก เป็นสาธารณภัยขนาดใด ยังไม่มีใครตอบได้ หากถือเป็นสาธารณภัยขนาดใหญ่ ผู้ที่ต้องควบคุม สั่งการ และบัญชาการ ก็คือ ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ นั่นหมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามตำแหน่งนั่นเอง 
   


ตรรกะวันนี้ ลูกระเบิด 7 ลูก คือ สาธารณภัย ที่ต้องเร่งดำเนินการจัดการเก็บกู้อย่างเร่งด่วน ไม่ใช่ดำเนินการตามขั้นตอนปกติของทางราชการ เห็นควรใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 เป็นกฏหมายหลักในการจัดการ และใช้ แผนการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558  เป็นแนวทางในการปฏิบัติ


Plan for Disaster Now

********************************
ชาติชาย คเชนชล : 18 ก.ย.2562

      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม