วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เรื่องราวของคลังสมอง (Think Tank) ที่ (คนไทย) ควรรู้

ความหมายของ Think Tank
Think Tank อาจแปลเป็นภาษาไทยได้หลายคำ เช่น ถังความคิด องค์กรผลิตความคิด คลังสมอง เป็นต้น สำหรับในรายงานฉบับนี้ จะใช้คำว่า "คลังสมอง" เป็นหลัก ความหมายหรือคำจัดความของ คลังสมอง (Think Tank) มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

ภาคภูมิ ทิพคุณ (2552) กล่าวว่า

Think Tank หมายถึง องค์กรที่เป็นอิสระ ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่แสวงหาผลกำไร แต่จะใช้ความชำนาญการ และความคิด ในการได้มาซึ่งการสนับสนุนและการเข้าไปมีอิทธิพลในกระบวนการกำหนดนโยบาย (อ้างจาก Rich. 2004)


Think Tank หมายถึง สถาบันที่ทำการวิจัย วิเคราะห์นโยบายสาธารณะ ทั้งที่เป็นนโยบายภายในหรือนโยบายระหว่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจในประเด็นนโยบายสาธารณะอยู่บนฐานของข้อมูลและความรู้ได้ และอาจหมายรวมถึง สถาบันที่เป็นอิสระ หรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใดก็ได้ แต่ต้องเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างแน่นอน ถาวร และไม่เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อรับทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วครั้งชั่วคราว สถาบัน Think Tank มักแสดงบทบาทในฐานะเป็นตัวเชื่อมระหว่างประชาคมวิชาการและภาคนโยบาย รักษาผลประโยชน์สาธารณะด้วยการแปลงงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ ไปเป็นภาษาและรูปแบบที่น่าเชื่อถือ เข้าใจได้ และเข้าถึงได้ สำหรับผู้กำหนดนโยบายและสาธารณชน (อ้างจาก McGann. 2007)


เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2558) กล่าวว่า Think Tank หมายถึง สถาบันที่ทำการค้นคว้า ศึกษา วิจัย วิเคราะห์นโยบายสาธารณะ ทั้งที่เป็นนโยบายภายในหรือนโยบายระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจในประเด็นนโยบายสาธารณะอยู่บนฐานข้อมูลความรู้ สถาบันเหล่านี้อาจเป็นองค์กรอิสระ หรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหลักอื่นๆ แต่ต้องเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างแน่นอนถาวรและไม่เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อรับทำงานใดทำงานหนึ่งชั่วครั้งชั่วคราว






McGann (2019) กล่าวว่า Think Tank จะเป็นสะพานช่วยเชื่อมช่องว่างระหว่างความรู้กับนโยบาย (Helping to bridge the gap between knowledge and policy) Think tank คือ องค์กรที่มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ วิจัย และให้คำแนะนำเกี่ยวกับทิศทางหรือการดำเนินนโยบายสาธารณะทั้งประเด็นภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและสาธารณชนสามารถตัดสินใจอย่างชาญฉลาด Think Tank อาจเป็นสถาบันในเครือใดเครือหนึ่งก็ได้ หรือจะเป็นสถาบันอิสระก็ได้ แต่ต้องมีโครงสร้างถาวร ไม่รับค่าคอมมิชชั่นใดๆ Think Tank จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างนักวิชาการ กับ ผู้กำหนดนโยบาย ชุมชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม มีความเป็นอิสระในด้านการการวิจัย มีความน่าเชื่อถือ มีภาษาง่ายๆ ที่ผู้กำหนดนโยบายสาธารณเข้าใจง่าย 

บทบาทของ Think Tank
ภาคภูมิ ทิพคุณ (2552. อ้างจาก McGann (2007)) กล่าวถึงบทบาทของ Think Tank ไว้ดังนี้ 
  1. เป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลกับสาธารณะ โดย Think Tank เป็นเสมือนสถาบันที่นำเสียงเรียกร้อง ความต้องการ และปัญหาของสาธารณะเข้าไปสู่กระบวนการในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล
  2. ให้ข้อมูลที่ค่อนข้างเป็นกลาง และน่าเชื่อถือ ในกระบวนการโต้เถียงทางนโยบาย
  3. เป็นผู้ค้นหา จำกัดความ และวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นปัญหาใหม่ๆ หรือปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งรัฐบาลอาจจะยังไม่ได้คิดไปถึง นอกจากนั้น ยังมีบทบาทในการติดตาม และประเมินนโยบายรัฐบาลอีกด้วย
  4. เนื่องจาก Think Tank เป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับสาธารณชน จึงสามารถทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายแก่สาธารณชนได้เป็นอย่างดี และสิ่งนี้ถือเป็นการให้การศึกษาแก่สาธารณชนโดยตรง
  5. ในช่วงของกระบวนการกำหนดนโยบาย Think Tank เป็นเสมือนเวทีของการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากนโยบายของรัฐ
  6. Think Tank จำนวนมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ) เป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพแก่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของรัฐ เนื่องจากบุคลากรของ Think Tank เหล่านี้เข้าๆ ออกๆ ระหว่างโลกวิชาการและภาคการเมือง ทำให้ความรู้และความชำนาญถูกแปรเป็นนโยบายได้โดยตรง
  7. Think Tank เป็นพลังท้าทายความเชื่อดั้งเดิม (Conventional wisdom) หรือระเบียบปฏิบัติที่ล้าสมัยของราชการ เนื่องจาก Think Tank ไม่ได้ถูกครอบงำโดยรัฐบาล ทำให้ Think Tank มีอิสระอย่างมากในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2558) กล่าวว่า คลังสมองมีบทบาทอยู่ในฐานะเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาควิชาการและภาคนโยบาย มีหน้าที่สร้างความเชื่อมโยงให้กับภาคประชาสังคม ภาครัฐบาลและสาธารณะ เพื่อพัฒนาและรักษาผลประโยชน์สาธารณะของประเทศ โดยทำการวิจัยและทำงานวิจัยให้มีภาษาและรูปแบบที่เข้าใจง่าย น่าเชื่อถือ และเข้าถึงประชาชนและผู้กำหนดนโยบาย คลังสมองจึงมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ ชี้นำ และเสนอแนะความคิด แนวทางและวิธีการที่เหมาะสมให้กับภาครัฐและส่วนราชการ เพื่อบริหารจัดการ ปรับปรุง แก้ไขประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ด้วยเหตุนี้ คลังสมองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเมือง เป็นต้น

ประเภทของ Think Tank
ภาคภูมิ ทิพคุณ (2552. อ้างจาก McGann (2007)) ได้แบ่งประเภทของ Think Tank ในประเทศสหรัฐอเมริกา ไว้ดังนี้
แบ่งตามกิจกรรม และความเข้มข้นทางวิชาการ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่
  1. Think Tank ดั้งเดิม (Traditional Think Tank) คือ กลุ่ม Think Tank ที่ตั้งขึ้นก่อนสงครามเย็น กลุ่มนี้เชื่อในความเป็นกลางทางวิชาการและความแม่นยำของการศึกษาวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ ดังนั้น จึงทุ่มเททรัพยากรให้กับการวิจัยเชิงวิชาการเป็นสำคัญ
  2. Think Tank ที่ทั้งศึกษานโยบายและทำงานบริการสังคม (Think and Do Tank) เป็นกลุ่มที่เน้นทำทั้งการวิจัย/วิเคราะห์นโยบาย และการบริการทางสังคม ไปในขณะเดียวกัน 
  3. Think Tank ที่ไม่เน้นทำวิจัย แต่จะนำแนวคิดและข้อเสนอของ Think-Tank อื่นๆ ไปเผยแพร่และผลักดันให้เป็นนโยบาย (Do Tank) ส่วนใหญ่จะเป็น Think Tank ที่สังกัดพรรคการเมือง หรือสถาบันทางการเมือง 
หากแบ่งตามโครงสร้างขององค์กรในประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
  1. Think Tank ที่เน้นทำวิจัยในหลายๆ ประเด็นและมีนักวิจัยจากศาสตร์หลายๆ แขนง และ Think-Tank ที่ศึกษาเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะสาขา
  2. Think Tank ที่รับศึกษาตามโครงการเป็นสัญญาๆ ไป 
  3. Think Tank ที่จัดตั้งขึ้นตามความต้องการการสนับสนุนทางการเมือง (Advocacy Think-Tank) และ 
  4. Think Tank ที่มุ่งแสวงหากำไรและขายผลงาน (Policy enterprise)
อย่างไรก็ตาม ประเภทของ Think Tank ยังอาจแบ่งได้ตามปัจจัยอื่นๆ ได้อีก เช่น แบ่งตามจุดเน้น แบ่งตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แบ่งตามอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นต้น

ประเภทของ Think Tank ที่ The Lauder Institute แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้แบ่งประเภทเพื่อใช้จัดลำดับตามขอบเขตของงานการวิจัยไว้ในการรายงานการประเมินผล Think Tank ทั่วโลก ประจำปี 2018 (พ.ศ.2561) (McGann.2019) ได้แก่
  1. ประเภทการป้องกันและการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (Defense and National Security)
  2. ประเภทนโยบายด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestics Economic Policy)
  3. ประเภทนโยบายด้านการศึกษา (Education Policy)
  4. ประเภทนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy and Resource Policy)
  5. ประเภทสิ่งแวดล้อม (Environment)
  6. ประเภทนโยบายและกิจการระหว่างประเทศ (Foreign Policy and international Affairs)
  7. ประเภทนโยบายด้านสุขภาพภายในประเทศ (Domestic Health Policy)
  8. ประเภทนโยบายด้านสุขภาพของคนทั่วโลก (Global Health Policy)
  9. ประเภทการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development)
  10. ประเภทนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic Policy)
  11. ประเภทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology)
  12. ประเภทนโยบายด้านสังคม (Social Policy)
  13. ประเภทความโปร่งใสและธรรมาภิบาลที่ดี (Transparency and Good Governance)
  14. ประเภทความมั่นคงของอาหารและน้ำ (Food and Water Security)
สมบัติ พิมพี (2561. อ้างจาก อัมพร ธำรงลักษณ์ (2556)) ได้ศึกษารูปแบบและแนวทางการจัดตั้งสถาบันคลังสมองด้านความมั่นคงของต่างประเทศ พบว่าจากการสำรวจประเทศต่างๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศจีน สามารถจัดแบ่งประเภทของสถาบันคลังสมอง ได้ 6 ประเภท ได้แก่
  1. สถาบันคลังสมองวิชาการ เป็นองค์กรที่เน้นหนักด้านวิชาการ เน้นการวิจัยและสร้างองค์ความรู้ มีกระบวนการควบคุมการศึกษาวิจัยที่เข้มงวด มีมาตรฐานได้รับการยอมรับจากวารสารทางวิชาการ ผลการศึกษามีความเป็นกลางสูง
  2. สถาบันคลังสมองตามสัญญาจ้าง มีการศึกษาที่มีความลึกซึ้ง ผลการวิจัยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก
  3. สถาบันคลังสมองผู้สนับสนุน มีความเกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับกลุ่มผลประโยชน์ หรือองค์กรเอกชน ผลการวิจัยมีความเอนอียงไปตามผลประโยชน์ขององค์กรเอกชนที่สนับสนุน
  4. สถาบันคลังสมองที่สังกัดหน่วยงานรัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งและได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ศึกษาวิจัยเพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่รัฐบาล
  5. สถาบันคลังสมองที่สังกัดมหาวิทยาลัย มีความเป็นวิชาการสูง ทำวิจัยในขอบเขตที่แคบ เฉพาะด้าน เช่น ความมั่นคงด้านพลังงาน การป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม การสร้างภาพลักษณ์องค์กร
  6. สถาบันคลังสมองที่สังกัดพรรคการเมือง ได้รับเงินสนับสนุนจากพรรคการเมือง งานวิจัยจึงมุ่งสนองความต้องการของพรรคการเมือง

กิจกรรมที่ Think Tank มักจัดขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้เกิดอิทธิพล

ภาคภูมิ ทิพคุณ (2552) ได้กล่าวถึงกิจกรรมที่ Think Tank ในประเทศสหรัฐอเมริกาจัดขึ้นและมีผลต่อนโยบายของสหรัฐ อาจแยกได้เป็น กิจกรรมที่มุ่งหวังให้เกิดอิทธิพลต่อสาธารณชน(Public Influence) และกิจกรรมที่มุ่งหวังให้เกิดอิทธิพลในระดับตัวบุคคล หรือองค์กรที่กำหนดนโยบาย (Private Influence)สรุปดังนี้

กิจกรรมที่มุ่งหวังให้เกิดอิทธิพลต่อสาธารณชน ได้แก่
  1. การจัดการประชุม/สัมมนา ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ซึ่งหลายครั้งที่การประชุม/สัมมนาดังกล่าวจะมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ หรือทางเว็บไซต์เพื่อให้เข้าถึงสาธารณชนในวงกว้าง
  2. การส่งนักวิจัยในสังกัดไปให้ข้อมูลหรือบรรยายในมหาวิทยาลัยหรือองค์กรต่างๆ
  3. การนำเสนอข้อมูลหรือให้หลักฐานบางอย่าง (Testimony) ต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ในวัฒนธรรมทางการเมืองของสหรัฐ คณะกรรมาธิการรัฐสภามักจะใช้ประโยชน์จาก Think Tank ในเรื่องข้อมูลและหลักฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งคำพูดหรือรายงานที่ Think Tank นำเสนอมักจะได้รับการตีพิมพ์ในรูปของเอกสารทางราชการ
  4. การตีพิมพ์ผลงานหลากหลายแนว เพื่อให้เข้าถึงสาธารณชนทุกกลุ่ม อาทิเช่น การตีพิมพ์หนังสือ วารสารทางวิชาการ เพื่อให้เข้าถึงนักวิชาการและนักศึกษา การตีพิมพ์ข้อสรุปเชิงนโยบาย (Policy brief) เพื่อนำเสนอผู้กำหนดนโยบาย และการตีพิมพ์บทความสั้นในหนังสือพิมพ์ หรือจดหมายข่าว เพื่อให้เข้าถึงสาธารณชนโดยทั่วไป และเสนอแก่ผู้สนับสนุนทางการเงิน
  5. การทำงานร่วมกับสื่อหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ อาทิเช่น การออกรายการโทรทัศน์ การเขียนคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ Think Tank ส่วนมากมักจ้างนักเขียนมืออาชีพ (Ghostwriter) ไว้ประจำ เพื่อส่งผ่านผลงานของ Think Tank ไปลงหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่างๆ Think Tank หลายแห่งถึงกับมีรายการโทรทัศน์เป็นของตนเอง
กิจกรรมที่มุ่งหวังให้เกิดอิทธิพลในระดับตัวบุคคล หรือองค์กรที่กำหนดนโยบาย ได้แก่
  1. การรับตำแหน่งต่างๆ ในฝ่ายบริหาร (อาทิเช่น รัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี/ประธานาธิบดี) หรือการเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างๆ Think Tank ส่วนมากในสหรัฐ มักจะมองหาตำแหน่งว่างในหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้นักวิชาการของตนสมัครเข้าไป ในการเมืองสหรัฐ การเข้าๆ ออกๆ ระหว่าง Think Tank กับหน่วยงานของรัฐมักจะมีให้เห็นเป็นปกติ
  2. การเป็นสมาชิกในกลุ่มทำงาน (Task Force) ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือการเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
  3. การตั้งสำนักประสานงาน (Liaison Office) ในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อให้ง่ายในการนำเสนอข้อมูลต่อสมาชิกของทั้งสองสภา และสะดวกในการพูดคุยโดยตรงกับคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ
  4. การเสนอตำแหน่งใน Think Tank ให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐที่เกษียณอายุราชการ หรือรัฐมนตรี/ประธานาธิบดีที่หมดวาระ ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะมีผลในด้านการเชื่อมโยงกับฝ่ายนโยบายแล้ว ยังมีผลในแง่ของการเรียกร้องเงินบริจาคด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งหัวหน้าทีมรณรงค์หาเงินบริจาค มักจะถูกสำรองไว้ให้บุคคลเหล่านี้
  5. การเตรียมข้อสรุปทางนโยบายไว้ล่วงหน้า เพื่อนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายโดยตรง
  6. การจัดโครงการต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วม ซึ่งมักจะเป็นโครงการอบรม สัมมนา เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น อาทิ Center for Strategic and International Studies (CSIS) จะจัดโปรแกรมอบรมสำหรับผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีใหม่ และทีมงานในเรื่องการบริหารงาน เพื่อให้ทราบถึงแนวปฏิบัติและสิ่งที่ควรรู้ต่างๆ ในการบริหารจัดการของตน เป็นต้น
กิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ Think Tank ในสหรัฐ สามารถมีอิทธิพลทางนโยบายได้ อาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมหลายอย่างมีความเป็นไปได้ เนื่องจากวัฒนธรรม และเงื่อนไขทางการเมืองที่เอื้ออำนวย

ประเภทกิจกรรมพิเศษ (Special Achievement) ของ Think Tank ที่ The Lauder Institute แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ได้แบ่งไว้เพื่อจัดลำดับในการรายงานผลดัชนีชี้วัดองค์กรคลังสมองทั่วโลก ประจำปี 2018 (พ.ศ.2561) (McGann.2019) ได้แก่
  1. ด้านการรณรงค์ต่อต้าน (Advocacy Campaign) ที่ดีที่สุด
  2. ด้านสร้างผลกำไร (For-Profit) ที่ดีที่สุด
  3. ด้านเครือรัฐบาล (Government Affiliated) ที่ดีที่สุด
  4. ด้านความร่วมมือระหว่าง Think Tank ตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไปที่ดีที่สุด
  5. ด้านการบริหารจัดการ (Managed) ที่ดีที่สุด
  6. ด้านแนวคิดและกระบวนทัศน์ที่พัฒนาขึ้นใหม่ (New Idea or Paradigm Developed) ที่ดีที่สุด 
  7. ด้านความเป็นอิสระ (Independent) ที่ดีที่สุด
  8. ด้านผลผลิตด้านการศึกษาและการรายงานเกี่ยวกับนโยบาย (Policy Study/Report Produced) ที่ดีที่สุด
  9. ด้านการจัดการประชุมสัมมนา (Conference) ที่ดีที่สุด
  10. ด้านการสร้างเครือข่าย (Think Tank Network) ที่ดีที่สุด
  11. ด้านสังกัดพรรคการเมือง (Political Party Affiliation) ที่ดีที่สุด
  12. ด้านโครงการวิจัยสหวิทยาการ (Transdisciplinary Research Program) ที่ดีที่สุด
  13. ด้าน Think Tank ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด
  14. ด้านการใช้เครือข่ายสังคม (Use of Social Network) ที่ดีที่สุด
  15. ด้าน Think Tank ที่น่าจับตามอง
  16. ด้านความมีสัมพันธ์กับภายนอกและมีส่วนร่วมกับสาธารณะที่ดีที่สุด
  17. ด้านการใช้อินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุด 
  18. ด้านการใช้สื่อที่ดีที่สุด 
  19. ด้านแนวคิด / ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ทันสมัยที่สุด
  20. ด้านผลกระทบที่สำคัญที่สุดในนโยบายสาธารณะ
  21. ด้านนโยบายสาธารณะที่โดดเด่น

Think Tank ทั่วโลก
จากข้อมูล การรายงานผลดัชนีชี้วัดองค์กรคลังสมองทั่วโลก ประจำปี 2018 (พ.ศ.2561) ของ The Lauder Institute แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (McGann.2019) พบว่า ทั่วโลกมีองค์กรคลังสมอง ( Think Tank) ทั้งสิ้น 8,248 แห่ง แบ่งเป็นทวีปยุโรป 2,219 แห่ง ทวีปอเมริกาเหนือ 2,058 แห่ง ทวีปเอเชีย 1,829 แห่ง ทวีปอเมริกลางและอเมริกาใต้ 1,023 แห่ง ทวีปแอฟริกาใต้สะฮารา 612 แห่ง ตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกาเหนือ 507 แห่ง 




ประเทศที่มี Think Tanks จำนวนมาก 10 อันดับแรกได้แก่ 
  • อันดับ 1 ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1,871 แห่ง
  • อันดับ 2 ประเทศอินเดีย จำนวน 509 แห่ง
  • อันดับ 3 ประเทศจีน จำนวน 507 แห่ง
  • อันดับ 4 ประเทศอังกฤษ จำนวน 321 แห่ง
  • อันดับ 5 ประเทศอาเจนติน่า จำนวน 227 แห่ง
  • อันดับ 6 ประเทศเยอรมันนี จำนวน 218 แห่ง
  • อันดับ 7 ประเทศรัสเซีย จำนวน 215 แห่ง
  • อันดับ 8 ประเทศฝรั่งเศส จำนวน 203 แห่ง
  • อันดับ 9 ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 128 แห่ง
  • อันดับ 10 ประเทศอิตาลี จำนวน 114 แห่ง 

ประเทศที่มีองค์กรคลังสมอง (Think Tank) จำนวนมาก
มักจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นมหาอำนาจในด้านต่างๆ ของโลก 


Think Tanks ในอาเซียน
หากมองเฉพาะในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nation : AEAN) ประเทศที่มีองค์กรคลังสมอง (Think Tank) เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยได้ ดังนี้
  • อันดับ 1 ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 31 แห่ง
  • อันดับ 2 ประเทศมาเลเซีย จำนวน 23 แห่ง
  • อันดับ 3 ประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน 21 แห่ง
  • อันดับ 4 ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 18 แห่ง
  • อันดับ 5 ประเทศไทย จำนวน 15 แห่ง
  • อันดับ 6 ประเทศกัมพูชา จำนวน 14 แห่ง
  • อันดับ 7 ประเทศเวียดนาม จำนวน 11 แห่ง
  • อันดับ 8 ประเทศบรูไนดารุสซาลาม จำนวน 8 แห่ง
  • อันดับ 9 ประเทศลาว จำนวน 4 แห่ง
  • อันดับ 10 ประเทศเมียนมาร์ ไม่มี 



การจัดอันดับ Think Tanks ปี 2018
The Lauder Institute แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (McGann.2019) ได้จัดอันดับ Think Tanks ประจำปี 2018 (พ.ศ.2561) โดยแบ่งเป็นหลายประเภท สรุปที่สำคัญ ได้ดังนี้

สุดยอด Think Tank แห่งปี 2018 ได้แก่  Brookings Institute  ประเทศสหรัฐอเมริกา





สุดยอด Think Tank ของโลก แห่งปี 2018 (ไม่รวมประเทศสหรัฐอเมริกา) จำนวน 145 อันดับ (ไม่มีสถาบันของประเทศไทย) สำหรับประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ที่ได้รับการจัดอันดับ ได้แก่ 

  • อันดับ 45 Singapore Institute of international Affairs : SIAA (สิงคโปร์)
  • อันดับที่ 59 Centre for Strategic and International Studies : CSIS (อินโดนีเซีย) 
  • อันดับที่ 66 Institute of Southeast Asian Studies : ISEAS (สิงคโปร์)
  • อันดับที่ 67 Centre on Asia and Globalization : LKY (สิงคโปร์) 
  • อันดับที่ 71 Asia Competitiveness Institute : ACI (สิงคโปร์)
  • อันดับที่ 79 Cambodia Development Resource Institute : CDRI (กัมพูชา)
  • อันดับที่ 96 Institute of Defense and Strategic Studies : IDSS (สิงคโปร์)
  • อันดับที่ 118 Asian Strategy and Leadership institute : ASLI (มาเลเซีย)
สุดยอด Think Tanks ของโลก แห่งปี 2018 (รวมประเทศสหรัฐอเมริกา) จำนวน 177 อันดับ (ไม่มีสถาบันของประเทศไทย)  สำหรับประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ที่ได้รับการจัดอันดับ ได้แก่
  • อันดับที่ 71 Singapore Institute of international Affairs : SIAA (สิงคโปร์)
  • อันดับที่ 80 Centre for Strategic and International Studies : CSIS (อินโดนีเซีย)
  • อันดับที่ 97 Institute of Southeast Asian Studies : ISEAS (สิงคโปร์)
  • อันดับที่ 100 Institute of Defense and Strategic Studies : IDSS (สิงคโปร์)
  • อันดับที่ 102 Centre for Public Policy Studies : CPPS (มาเลเซีย)
  • อันดับที่ 172 Cambodia Development Resource Institute : CDRI (กัมพูชา) 


สุดยอด Think Tanks ใน Southeast Asia and the Pacific มีจำนวน 108 อันดับ สำหรับประเทศในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ที่ติดใน 10 อันดับแรก ได้แก่ 
  • อันดับที่ 1 Centre for Strategic and International Studies : CSIS (อินโดนีเซีย)
  • อันดับที่ 2 Institute of Defense and Strategic Studies : IDSS (สิงคโปร์)
  • อันดับที่ 5 Singapore Institute of international Affairs : SIAA (สิงคโปร์)
  • อันดับที่ 6 Institute of Strategy and International Studies : ISIS (มาเลเซีย)
  • สำหรับ Think Tanks ในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับ มีจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ อันดับที่ 16,36,68,72,80,100 และ 105 จาก 108 อันดับ
Think Tanks ในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับ
Think Tanks ในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับไว้การรายงานผลดัชนีชี้วัดองค์กรคลังสมองทั่วโลก ประจำปี 2018 (พ.ศ.2561) ของ The Lauder Institute แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (McGann.2019) ได้แก่

  • สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute : TDRI) ไม่ติดอันดับโลก แต่ติดอันดับที่ 16/108 ของ Think Tanks ใน Southeast Asia and the Pacific และอันดับที่ 19/65 ของ Think Tank ด้านนโยบายการศึกษา (https://tdri.or.th)
  • Institute of Security and international Studies : ISIS (THAILAND) (องค์กรระหว่างประเทศ) ไม่ติดอันดับโลก แต่ติดอันดับที่ 36/108 ของ Think Tanks ใน Southeast Asia and the Pacific (http://www.isisthailand.org/)
  • Chula Global Network (CGN) ไม่ติดอันดับโลก แต่ติดอันดับที่ 68/108 ของ Think Tanks ใน Southeast Asia ฟand the Pacific และอันดับที่ 43/88 ด้านเครือข่าย Think Tanks (http://www20100324.chula.ac.th/chulaglobal/)
  • Center for People and Forests : RECOFTC (THAILAND) (องค์กรระหว่างประเทศ) ไม่ติดอันดับโลก แต่ติดอันดับที่ 72/108 ของ Think Tanks ใน Southeast Asia and the Pacific (https://www.recoftc.org/thailand)
  • สถาบันนโยบายศึกษา (Institute of Public Policy Studies : IPPS) ไม่ติดอันดับโลก แต่ติดอันดับที่ 80/108 ของ Think Tanks ใน Southeast Asia and the Pacific (http://www.fpps.or.th/index.php)
  • สถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (Future Innovative Thailand Institute : FIT) ไม่ติดอันดับโลก แต่ติดอันดับที่ 100/108 ของ Think Tanks ใน Southeast Asia and the Pacific (https://www.fit.or.th/)
  • Asian Institute of Technology (AIT)  ไม่ติดอันดับโลก แต่ติดอันดับที่ 105/108 ของ Think Tanks ใน Southeast Asia and the Pacific (https://www.ait.ac.th/)
  • Centre for Energy Environment Resources Development (CEERD) ไม่ติดอันดับโลก แต่ติดอันดับที่ 22/60 ของ Think Tank ด้านนโยบายพลังงานและทรัพยากร (http://www.ceerd.net/)
  • สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment institute : TEI) ไม่ติดอันดับโลก แต่ติดอันดับที่ 59/100 ของ Think Tank ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม (http://www.tei.or.th/th/index.php)
  • เครือข่ายการวิจัยและการฝึกอบรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Research and Training Network on Trade : ARTNet) (องค์กรระหว่างประเทศ) ไม่ติดอันดับโลก แต่ติดอันดับที่ 26/88 ด้านเครือข่าย Think Tanks (https://artnet.unescap.org/)
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ติดอันดับโลก แต่ติดอันดับที่ 53/65 ของ Think Tank ด้านการจัดการประชุมสัมมนา (https://www.chula.ac.th/)






**********************
รวบรวมโดย 
พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์
นักวิชาการประจำสำนักงานเลขาธิการ กอ.รมน.
23 ต.ค.2562

อ้างอิง
  • ภาคภูมิ ทิพคุณ. (2552). ว่าด้วย Think-Tank (ตอนที่ 1). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม. [Online]. Available : https://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1190:2009-07-02-07-00-00&catid=28&Itemid=223&option=com_content&view=article&id=1190:2009-07-02-07-00-00&catid=28&Itemid=223. [2562 ตุลาคม 18].
  • ภาคภูมิ ทิพคุณ. (2552). ว่าด้วย Think-Tank (ตอนที่ 2). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม. [Online]. Available : https://www.trf.or.th/2013-12-06-06-49-30/1189-2009-07-16-07-00-00. [2562 ตุลาคม 18].
  • ภาคภูมิ ทิพคุณ. (2552). ว่าด้วย Think-Tank (ตอนที่ 4). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม. [Online]. Available : https://www.trf.or.th/2013-12-06-06-49-30/1184-2009-08-27-07-00-00. [2562 ตุลาคม 18].
  • ภาคภูมิ ทิพคุณ. (2552). ว่าด้วย Think-Tank (ตอนที่ 5). สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม. [Online]. Available : https://www.trf.or.th/2013-12-06-06-49-30/1183-2009-09-10-07-00-00. [2562 ตุลาคม 18].
  • เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2558). คลังสมอง (Think - Tank) กับการพัฒนาประเทศไทย.[Online]. Available : http://www.kriengsak.com/Brains%20Think%20-%20Tank%20to%20develop%20Africa. [2562 ตุลาคม 18].
  • สมบัติ พิมพี. (2561). การจัดตั้งองค์กรสมองของกองทัพ. วารสารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2561. กรุงเทพฯ : สถาบันวิชาการป้งกันประเทศ. 
  • McGann, James G. (2019). 2018 Global Go To Think Tank Index Report. Think Tank and Civil Societies Program : University of Pennsylvania.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม