วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563

10 อันดับคำค้นหายอดนิยมของไทยในปี 2563

Google คือ Search Engine ยอดนิยมของโลก ที่คนไทยมักชอบเรียกเป็นวลีติดปากว่า "คิดอะไรไม่ออก ถามอากู๋"  อากู๋จะช่วยในการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ข้อมูลที่อยู่ในระบบค้นหาของ Google ถือเป็นสุดยอด Big Data ของโลกในยุคปัจจุบัน  Google ได้สร้างเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Google Trends  เพื่อทำหน้าที่เก็บรวมรวบสถิติของการค้นหา ประมวลผล วิเคราะห์และวางแผน ทำให้สามารถทราบถึงแนวโน้มพฤติกรรม รวมถึงความสนใจในการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต สามารถช่วยชี้ช่องทางให้เจ้าของธุรกิจสามารถใช้วางแผนการตลาดได้อย่างง่ายดาย

10 อันดับคำค้นหายอดนิยมของไทยในปี 2563 
Google Trends ได้สรุป 10 อันดับคำค้นหายอดนิยมของไทยในปี 2563 (ค.ศ.2020) ดังนี้ (ข้อมูลถึงวันที่ 14 ธ.ค.2563) 

อันดับที่ 1 เราไม่ทิ้งกัน 
เริ่มมีการค้นหาห้วง 15-21 มี.ค.2563 มากที่สุด 12-18 เม.ย.2563  ค่อยลดลง ๆ จนกระทั่งผ่าน 23-29 ส.ค.2563 ไป (5 เดือน) จังหวัดที่มีการค้นมากที่สุด 5 อันดับเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สตูล พัทลุง และยะลา


อันดับที่ 2 คนละครึ่ง
มีการค้นหามาโดยต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จนกระทั่งมีการค้นหามากขึ้นในห้วง 4-10 ต.ค.2563 ค้นหามากที่สุด 8-14 พ.ย.2563 แล้วทยอยลดลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันก็ยังมีการค้นหาอยู่ จังหวัดที่มีการค้นหามากที่สุด 5 อันดับเรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ กระบี่ พิษณุโลก ลำปาง ราชบุรี และนครศรีธรรมราช


อันดับที่ 3 โควิด 19
มีการค้นหามาโดยต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการค้นหามากขึ้นในห้วง 9-15 ก.พ.2563 ค้นหามากที่สุด 19-25 เม.ย.2563 แล้วทยอยลดลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันก็ยังมีการค้นหาอยู่ จังหวัดที่มีการค้นหามากที่สุด 5 อันดับเรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ พะเยา ระนอง บึงกาฬ อำนาจเจริญ และน่าน


อันดับที่ 4 DLTV  (ช่วงที่มีการปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันโควิด 19  และให้ใช้การเรียนออนไลน์แทน)
เริ่มมีการค้นหาห้วง 12-18 เม.ย.2563 มากที่สุด 17-23 พ.ค.2563  ค่อยทยอยลดลง ๆ ปัจจุบันก็ยังมีการค้นหาอยู่ จังหวัดที่มีการค้นมากที่สุด 5 อันดับเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ พัทลุง สตูล หนองบัวลำพู น่าน และอำนาจเจริญ


อันดับที่ 5 เยียวยาเกษตรกร 
เริ่มมีการค้นหาห้วง 19-25 เม.ย.2563 มากที่สุด 17-23 พ.ค.2563  ค่อยทยอยลดลง ๆ จนกระทั่งผ่าน 2-8 ส.ค.2563 ไป (4 เดือน) จังหวัดที่มีการค้นมากที่สุด 5 อันดับเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ พัทลุง สตูล บึงกาฬ กาฬสินธุ์ และอำนาจเจริญ


อันดับที่ 6 เราเที่ยวด้วยกัน  
เริ่มมีการค้นหาห้วง 28 มิ.ย-4 ก.ค.2563 มากที่สุด 12-18 ก.ค.2563  ค่อยทยอยลดลง ๆ จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังมีการค้นหาอยู่ จังหวัดที่มีการค้นมากที่สุด 5 อันดับเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ สตูล กระบี่ พังงา ภูเก็ต และประจวบคิรีขันธ์




อันดับที่ 7 US Election 2020 (การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2563)
เริ่มมีการค้นหาห้วง 25-31 ต.ค.2563 มากที่สุด 1-7 พ.ย.2563  ค่อยทยอยลดลง ๆ จนกระทั่งผ่าน 15-21 พ.ย.2563 ไป (1 เดือน) จังหวัดที่มีการค้นมากที่สุด 5 อันดับเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ กรุงเทพมหานครฯ แม่ฮ่องสอน นนทบุรี เชียงใหม่ และปทุมธานี



อันดับที่ 8 ร้อยเล่ห์ มารยา  (ละคร ช่อง 3)
เริ่มมีการค้นหาห้วง 27 ก.ย-3 ต.ค.2563 มากที่สุด 8-14 พ.ย.2563  ค่อยทยอยลดลง ๆ จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังมีการค้นหาอยู่ จังหวัดที่มีการค้นมากที่สุด 5 อันดับเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ เพชรบุรี บึงกาฬ กาญจนบุรี สิงห์บุรี และลำพูน


อันดับที่ 9 ลงทะเบียน รับเงินค่าไฟ  
เริ่มมีการค้นหาห้วง 15-21 มี.ค.2563 มากที่สุด 22-28 มี.ค.2563  ค่อยทยอยลดลง ๆ ค่อยทยอยลดลง ๆ จนกระทั่งผ่าน 17-23 พ.ค.2563 ไป (2 เดือน) จังหวัดที่มีการค้นหาข้อมูล (ไม่สามารถประมวลผลได้)


อันดับที่ 10 สมัครสอบ ก.พ.  
เริ่มมีการค้นหาห้วง 5-11 ม.ค.2563 มากที่สุด 2-8 ก.พ.2563  ค่อยทยอยลดลง ๆ จนกระทั่งผ่าน 16-22 ก.พ.2563 ไป (1 เดือน) จังหวัดที่มีการค้นมากที่สุด 5 อันดับเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ สงขลา พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์  และเชียงใหม่



นอกนั้น Google Trends  ยังได้แบ่งการจัดอันดับคำค้นหายอดนิยม ออกไว้อีกจำนวน  11 ด้าน ดังนี้
ด้านข่าว 
  1. โควิด-19
  2. US Election 2020
  3. ข่าวน้องชมพู่
  4. ไวรัส RSV
  5. กราดยิงโคราช
  6. เคอร์ฟิว
  7. สุริยุปราคา 2563
  8. พายุเข้าไทย
  9. โจรปล้นทอง
  10. รถไฟชนรถบัส
ด้านวิธีการ
  1. วิธีใช้คนละครึ่ง
  2. วิธีลงทะเบียนค่าไฟ
  3. วิธีทําหน้ากากอนามัย
  4. วิธีทําเจลล้างมือ
  5. วิธีลงทะเบียนรับเงิน 5000
  6. วิธีลงทะเบียนเยียวยาเกษตรกร
  7. วิธีแก้เครียด
  8. วิธีใส่แมสก์
  9. วิธีลงทะเบียนออมสิน
  10. วิธีป้องกันไวรัสโคโรนา
ด้านการเรียน
  1. เรียนภาษาอังกฤษออนไลน์
  2. เรียนพยาบาล
  3. เรียน ก.พ. ออนไลน์
  4. เรียนบัญชี
  5. เรียนวิศวะ
  6. เรียนตัดผมชาย
  7. เรียนภาษาเกาหลีออนไลน์
  8. เรียนจิตวิทยา
  9. เรียนผู้ช่วยพยาบาล
  10. เรียนทําอาหาร
สูตรอาหาร
  1. สูตรหมูแดดเดียว
  2. สูตรบราวนี่
  3. สูตรขนมครก
  4. สูตรหมักหมูย่าง
  5. สูตรหมักไก่ย่าง
  6. สูตรขนมปัง
  7. สูตรไก่ทอดหาดใหญ่
  8. สูตรแพนเค้ก
  9. สูตรหมูปิ้ง
  10. สูตรหมูทอด
ด้านสถานที่เที่ยว
  1. ที่เที่ยวเชียงใหม่
  2. ที่เที่ยวสุราษฎร์ธานี
  3. ที่เที่ยวพัทยา
  4. ที่เที่ยวหัวหิน
  5. ที่เที่ยวเขาค้อ
  6. ที่เที่ยวเชียงราย
  7. ที่เที่ยวประจวบคีรีขันธ์
  8. ที่เที่ยวระนอง
  9. ที่เที่ยวระยอง
  10. ที่เที่ยวกาญจนบุรี
ประเภทร้าน
  1. ร้านตัดผม
  2. ร้านชานมไข่มุก
  3. ร้านจักรยาน
  4. ร้านกาแฟ
  5. ร้านเสื้อผ้า
  6. ร้านขายยา
  7. ร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี่
  8. ร้านแบตเตอรี่
  9. ร้านยํา
  10. ร้านนวดแผนไทย
ร้านอาหาร/ร้านขนม
  1. ร้านเนื้อแท้
  2. ร้าน Coffee War
  3. ร้านไปกันใหญ่
  4. ร้านย่างเนย
  5. ร้านใส่นม
  6. ร้านแซ่บนัว
  7. ร้านไก่ทอง
  8. ร้านปูเป็น ซีฟู้ด
  9. ร้านลาดมะพร้าว
  10. ร้านเขียง
ภาพยนตร์
  1. 365 DNI
  2. มู่หลาน
  3. สุขสันต์วันโสด
  4. Parasite
  5. พี่นาค 2
  6. จอมขมังเวทย์ 2020
  7. ขุนแผน ฟ้าฟื้น
  8. Tenet
  9. Frozen 2
  10. 1917
ละคร
  1. ร้อยเล่ห์มารยา
  2. เนื้อใน
  3. เกมรักเอาคืน
  4. ซ่อนเงารัก
  5. เริงริตา
  6. อกเกือบหักหลงรักคุณสามี
  7. รักแลกภพ
  8. ทุ่งเสน่หา
  9. ไฟสิ้นเชื้อ
  10. ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ
เพลง
  1. วิบวับ
  2. วาฬเกยตื้น
  3. ใส่ใจได้แค่มอง
  4. พักก่อน
  5. มะล่องก่องแก่ง
  6. ฝนเทลงมา
  7. ถ้าเขาจะรัก
  8. กอดเสาเถียง
  9. ขอโทษ
  10. หมอก
ออนไลน์
  1. เรียนออนไลน์
  2. ลอยกระทงออนไลน์
  3. ยื่นภาษีออนไลน์
  4. เวียนเทียนออนไลน์
  5. อบรมใบขับขี่ออนไลน์
  6. ลงทะเบียนเกษตรกร 2563 ออนไลน์
  7. ต่อใบขับขี่ออนไลน์
  8. ดูทีวีออนไลน์
  9. เปิดบัญชีออนไลน์
  10. อบรมออนไลน์
ได้อะไรจาก Google Trends
คำค้นหายอดนิยมของไทยในปี 2563 คนไทยที่ใช้อินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่ล้วนให้ความสนใจค้นหา "คำสำคัญ"  ที่เกี่ยวกับมาตรการเยียวยา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจากการระบาดของโควิด 19 เป็นหลัก 

จาก 10 อันดับคำค้นหายอดนิยมของไทยในปี 2563 ในภาพรวม และในรายด้านทั้ง 11 ด้าน ทำให้เราสามารถทราบได้ถึงความเป็นไปตลอดปีของสภาพสังคมและวิถีชีวิตของคนไทย "คำค้น" หรือ "คำสำคัญ" ที่เกิดขึ้นในแต่ละห้วงเวลา ล้วนบอกเราเรื่องราวได้อย่างหลากหลาย และยังสามารถอธิบายแนวโน้มในอนาคตได้ สถิติและข้อมูลต่าง ๆ ของ Google Trends ล้วนมีประโยชน์ ต่อรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลาย หากสามารถแปลและวิเคราะห์ความหมายของ Google Trends ได้ถูกต้อง
  

10 อันดับคำค้นหายอดนิยมทั่วโลกปี 2563
ส่วน 10 อันดับคำค้นหายอดนิยมทั่วโลกในปี 2563 Google Trend จัดอันดับ ไว้ดังนี้
  1. Coronavirus (โคโรนาไวรัส) 
  2. Election results (ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2563)
  3. Kobe Bryant (นักบาสเกตบอลชื่อดังชาวอเมริกัน)
  4. Zoom (โปรแกรมประชุมอออนไลน์)
  5. IPL (ลีกคริกเก็ตมืออาชีพของอินเดีย)
  6. India vs New Zealand (ผลการแข่งขันคริกเก็ตระหว่าง อินเดีย กับนิวซีแลนด์)
  7. Coronavirus update (อัปเดตข้อมูลไวรัสโคโรน่า)
  8. Coronavirus symptoms (อาการของไวรัสโคโรน่า)
  9. Joe Biden (ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา)
  10. Google Classroom (เครื่องมือใช้เรียนออนไลน์ของ Google)

****************************************
เรียบเรียงโดย
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ผู้อำนวยการสถาบันราชบุรีศึกษา
15 ธ.ค.2563

ที่มาข้อมูล
  • Google Trends. (2563). ดูว่าอะไรมาแรงในปี 2020-ไทย. [Online]. Available: https://trends.google.co.th/trends/yis/2020/TH/. [2563 ธันวาคม 15].

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ใครเป็นใคร ในศึกเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรี 2563

การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี กำหนดการเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค.2563 เวลา 08.00-17.00 น. ซึ่งจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี (สจ) ที่จะมีการเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 30 คน และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี (นายก อบจ.) จำนวน 1 คน 


รายชื่อผู้สมัคร นายก อบจ.ราชบุรี มีจำนวน 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่
  • เบอร์ 1 นายอรรถพงศ์ ห้องริ้ว
  • เบอร์ 2 นางภรมน นรการกุมพล
  • เบอร์ 3 นายวิวัฒน์  นิติกาญจนา

จังหวัดราชบุรีแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 30 เขต ดังนี้
อำเภอเมืองราชบุรี 
มี สจ.ได้ 7 คน  แบ่งเป็น 7 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ 
เขตเลือกตั้งที่ 1 (เทศบาล ต.หลักเมือง(เฉพาะ ต.พงสวายทุกหมู่), ต.บางป่า,ต.พิกุลทอง, ต.สามเรือน และ ต.ท่าราบ) มีผู้สมัคร จำนวน 5 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายอัครเดช ดิสพงษ์
  • เบอร์ 2 น.ส.ชุติมา   อิ่มใจ
  • เบอร์ 3 นายปราโมทย์  ชมชื่น
  • เบอร์ 4 นายธนกร  ขุนทองแก้ว
  • เบอร์ 5 นางจันทราทิพย์  พุทธิจุณ
เขตเลือกตั้งที่ 2 (เทศบาล ต.หลักเมือง (เฉพาะ ต.โคกหม้อทุกหมู่),เทศบาล ต.หลุมดิน, ต.เจดีย์หัก (เฉพาะหมู่ที่ 4) และเทศบาลเมืองราชบุรี (บางส่วน)) มีผู้สมัคร จำนวน 4 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่  (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายสมคิด  อโศกสกุล
  • เบอร์ 2 นางสิริบุณณ์  พูลละเอียด
  • เบอร์ 3 น.ส.ลักษิกา  เนตรสว่าง 
  • เบอร์ 4 นายปุณณวิทย์  ภัทรศักดิ์ธนัน
เขตเลือกตั้งที่ 3 (ต.หนองกลางนา,ต.เขาแร้ง,ต.เกาะพลับพลา,เทศบาล ต.เขางู,ต.เจดีย์หัก (เฉพาะหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6) มีผู้สมัคร 4 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายอภิรักษ์   แตงนวน
  • เบอร์ 2 นาขวัญตา   นาคนาคา
  • เบอร์ 3 นายปิยะลาภ  แจ่มจันทร์
  • เบอร์ 4 นายกลยุทธ ก๋ำรามัญ
เขตเลือกตั้งที่ 4 (เทศบาลเมืองราชบุรี (บางส่วน), ต.เจดีย์หัก (หมู่ที่ 2,3,7,8,9,10,11,12,13,14),ต.หินกอง (เฉพาะหมู่ที่ 1,2,3,4,5)) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายสราวุธ  บำเรอจิต
  • เบอร์ 2 นายนิพนธ์   จันทร์นาค
  • เบอร์ 3 นายณัฐสิทธิ์  คูสุรัตน์
เขตเลือกตั้งที่ 5 (เทศบาล ต.ห้วยชินสีห์ (ต.อ่างทอง เฉพาะหมู่ที่ 5,6,7,8,9,10,11),ต.ดอนแร่,ต.ห้วยไผ่,ต.หินกอง (เฉพาะหมู่ที่ 6,7,8,9,10,11) มีผู้สมัคร 4 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นางวรรณา  เลขวัฒนะโรจน์
  • เบอร์ 2 นายช้อน  ชัยมงคล
  • เบอร์ 3 นายภานุภัทร  พระลักษณ์
  • เบอร์ 4 นายกิตติพิชญ์  กล่อมเกลี้ยง
เขตเลือกตั้งที่ 6 (เทศบาล ต.ห้วยชินสีห์ (ต.อ่างทอง เฉพาะหมู่ที่ 1,2,3,4),ต.ดอนตะโก,ต.คูบัว) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายพูลชัย  เชื้อวัฒนสถาพร
  • เบอร์ 2 นายสมเกียรติ   คำโพธิ์
  • เบอร์ 3 นายประภาส  มากสิน
เขตเลือกตั้งที่ 7 (ต.คุ้งน้ำวน,ต.คุ้งกระถิน,ต.บ้านไร่,เทศบาลเมืองราชบุรี (บางส่วน)) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายยุทธศักดิ์   เจริญทรง
  • เบอร์ 2 นางสุนันทา  เพชรงาม
  • เบอร์ 3 นายดุจตะวัน  วิไลวงษ์

อำเภอบ้านโป่ง
มี สจ.ได้ 6 คน  แบ่งเป็น 6 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ 
เขตเลือกตั้งที่ 1 (เทศบาลเมืองบ้านโป่ง,ต.สวนกล้วย (เฉพาะหมู่ที่ 1,2,3,4,10,11,12,13),ต.นครชุมน์ (เฉพาะหมู่ที่ 9,10,11) มีผู้มัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่  (ดูภาพผู้สมัคร
  • เบอร์ 1 นายพลพัฒน์  บุณยะบูรณ
  • เบอร์ 2 นายพรเทพ จิรวัฒนาพันธ์
  • เบอร์ 3 นายธีรศักดิ์  สุวรรณพฤกษ์
เขตเลือกตั้งที่ 2 (เทศบาลเมืองท่าผา (เฉพาะหมู่ที่ 1,2,5,6 ต.ท่าผา และหมู่ที่ 4 ต.ปากแรด), ต.ปากแรด,ต.สวนกล้วย (เฉพาะหมู่ที่ 5,6,7,8,9),ต.หนองอ้อ (เฉพาะหมู่ที่ 1,2,6,7,8)) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1นายชาญวุฒิ  ตุมประธาน
  • เบอร์ 2 (ไม่รับสมัคร)
  • เบอร์ 3 นายเธียรทรรศน์  สิงห์อยู่
  • เบอร์ 4 นายเวศ กลิ่นหวล
เขตเลือกตั้งที่ 3 (ต.หนองอ้อ (เฉพาะหมู่ที่ 3,4,5,9,10,11,12,13,14,15),เทศบาล ต.กระจับ,ต.ดอนกระเบื้อง, ต.หนองกบ) มีผู้สมัคร 4 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 (ไม่รับสมัคร)
  • เบอร์ 2 น.ส.นุสรา จันทร์นาค
  • เบอร์ 3 น.ส.อ้อยทิพย์  เลิศชุติมากุล
  • เบอร์ 4 นายบุญยัง  โพธิเพ็ชร
  • เบอร์ 5 น.ส.รักชนก  เสนีวงศ์
เขตเลือกตั้งที่ 4 (เทศบาล ต.กรับใหญ่,เทศบาล ต.ห้วยกระบอก,เทศบาลเมืองท่าผา (ยกเว้น หมู่ที่ 1,2,5,6 ต.ท่าผา และหมู่ที่ 4 ต.ปากแรด) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายอนุชิต   เริงประดิษฐ์
  • เบอร์ 2 นายภาคภูมิ   เรืองเชาว์กร
  • เบอร์ 3 นายสมนึก  ตาลเจริญ
เขตเลือกตั้งที่ 5 (ต.เขาขลุง,ต.หนองปลาหมอ,ต.บ้านม่วง,ต.นครชุมน์ (ยกเว้นหมู่ที่ 9,10,11) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายโกศล  ผลอุดม
  • เบอร์ 2 น.ส.จรินทร์พร  ประเสริฐกุล
  • เบอร์ 3 นายอัฐพล  สุวรรณพฤกษ์
เขตเลือกตั้งที่ 6 (เทศบาล ต.เบิกไพร,ต.ลาดบัวขาว,ต.คุ้งพยอม) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 ร้อยตรีอ้อย  เพชรสน
  • เบอร์ 2 น.ส.ชาลิสา  หอวิวัฒน์งศ์
  • เบอร์ 3 นายภูดิส   สุวรรณพฤกษ์

อำเภอโพธาราม
มี สจ.ได้ 5 คน  แบ่งเป็น 5 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ 
เขตเลือกตั้งที่ 1 (ต.หนองกวาง, ต.เตาปูน,ต.เขาชะงุ้ม,ต.ธรรมเสน,เทศบาล ต.เขาขวาง (ต.เตาปูน หมู่ที่ 1,2 ต.เขาชะงุ้ม หมู่ที่ 6 (เฉพาะพื้นที่เขตเทศบาล) ต.ชำแระ หมู่ที่ 5 (เฉพาะพื้นที่เขตเทศบาล)) มีผู้สมัคร 5 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายธราพงษ์   ขำละม้าย
  • เบอร์ 2 นายศราวุธ   ใช่ฮะ
  • เบอร์ 3 นายมิตร  จันทร์นาค
  • เบอร์ 4 นายอรรณพ   ศรีเจริญชัย
  • เบอร์ 5 นายพล  ฉายแก้ว
เขตเลือกตั้งที่ 2 (ต.ชำแระ,ต.สร้อยฟ้า,ต.ท่าชุมพล,ต.บางโตนด,เทศบาล ต.เขาขวาง (ต.นางแก้ว หมู่ที่ 1,2,3,4,5,6,7,8,9)) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 (ไม่รับสมัคร)
  • เบอร์ 2 นายอำพล  คำดวง
  • เบอร์ 3 นายพรพัฒน์  พระเดโช
  • เบอร์  4 นายฉลองชัย  ประเสริฐ
เขตเลือกตั้งที่ 3 (เทศบาลเมืองโพธาราม,ต.คลองข่อย,เทศบาล ต.เจ็ดเสมียน,เทศบาล ต.ดอนทราย) มีผู้สมัคร 4 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายปภาณ  ศิลานิล
  • เบอร์ 2 นายณรงค์  ใจธรรม
  • เบอร์ 3 นายวันชาติ   เนียมรักษา
  • เบอร์ 4 นายศุภวุฒิ  เพ็งสอาด
เขตเลือกตั้งที่ 4 (ต.คลองตาคต,เทศบาล ต.บ้านสิงห์,เทศบาล ต.บ้านฆ้อง (เฉพาะหมู่ที่ 5,6,7,8)) มีผู้สมัคร 4 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่  (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 น.ส.เกษร   วังสอาด
  • เบอร์ 2 น.ส.เบญจวรรณ  นิ่มนวล
  • เบอร์ 3 นายธนเกียรติ  ตันติเอมอร
  • เบอร์ 4 น.ส.ปัญจรัตน์   เชิงทวี
เขตเลือกตั้งที่ 5 (ต.ดอนกระเบื้อง,ต.หนองโพ,เทศบาล ต.หนองโพ,เทศบาล ต.บ้านเลือก,เทศบาล ต.บ้านฆ้อง (เฉพาะหมู่ที่ 1,2,3,4,9,10)) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายนพ  คณา
  • เบอร์ 2 นายสังวาลย์  คงกระพันธ์
  • เบอร์ 3 นายกิตติพล  พรพิทักษ์พงศ์

อำเภอดำเนินสะดวก
มี สจ.ได้ 3 คน  แบ่งเป็น 3 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ 
เขตเลือกตั้งที่ 1 (เทศบาล ต.บ้านไร่,ต.แพงพวย,ต.สี่หมื่น,เทศบาล ต.ดำเนินสะดวก) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 น.ส.กสิมาภรณ์  ชาติไทย
  • เบอร์ 2 นายถวัลย์  ติ่งทอง
  • เบอร์ 3 นายสังข์สุวรรณ ประเสริฐโสภา
เขตเลือกตั้งที่ 2 (ต.ดอนกรวย,ต.ดอนคลัง,เทศบาล ต.บัวงาม,ต.ท่านัด (ยกเว้นในเขตเทศบาล ต.ดำเนินสะดวก) มีผู้สมัคร 4 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายสมหมาย  แท่นทรัพย์ 
  • เบอร์ 2 นายสมมิตร  ลิ้มฮ่งเคี้ยง
  • เบอร์ 3 นายชัยวัฒน์  หงส์ศุภางค์พันธุ์
  • เบอร์ 4 นายวสุพล วีระตระกูล
เขตเลือกตั้งที่ 3 (ต.ขุนพิทักษ์,เทศบาล ต.ประสาทสิทธิ์,ต.ดอนไผ่,ต.ตาหลวง (ยกเว้นในเขตเทศบาล ต.ดำเนินสะดวก),เทศบาล ต.ศรีดอนไผ่) มีผู้สมัคร 5 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายสำเริง  บุญเหลือ
  • เบอร์ 2 นายสุปัญญา  ศิริรัศมี
  • เบอร์ 3 นายวณิช  บุญสอง
  • เบอร์ 4 นายไชยา  เอี่ยมสะอาด
  • เบอร์ 5 นายบุญรอด  จันทนะโสตถิ์

อำเภอสวนผึ้ง
มี สจ.ได้ 2 คน  แบ่งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ 
เขตเลือกตั้งที่ 1 (ต.สวนผึ้ง,เทศบาล ต.สวนผึ้ง,ต.ป่าหวาย) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายศุภัช  นรการกุมพล
  • เบอร์ 2 นางเสาวลักษณ์  แก้วมุกดา
  • เบอร์ 3 นายมานพ  เลิศคลัง
เขตเลือกตั้งที่ 2 (ต.ตะนาวศรี,ต.ท่าเคย,เทศบาล ต.ชัฎป่าหวาย) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 (ไม่รับสมัคร)
  • เบอร์ 2 นายสราวุฒิ  อารักษ์พุทธนันท์
  • เบอร์ 3 นายองอาจ  แดงสั้น
  • เบอร์ 4 นายสมชาย  มีประเสริฐ

อำเภอบางแพ
มี สจ.ได้ 1 คน  มีจำนวน 1 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ 
เขตเลือกตั้งที่ 1 (ทุกตำบลในเขตพื้นที่อำเภอ) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 น.ส.รัจนาถ  ทองดี
  • เบอร์ 2 นายสนม  พลอยชุม
  • เบอร์ 3 นายจักรี  รัตนารามิก

อำเภอวัดเพลง
มี สจ.ได้ 1 คน  มีจำนวน  1 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ 
เขตเลือกตั้งที่ 1 (ทุกตำบลในเขตพื้นที่อำเภอ) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 น.ส.นิภาพร  หีบทอง
  • เบอร์ 2 น.ส.วิลัยวรรณ  แก้วมุกดา
  • เบอร์ 3 นายสุธีร์  เล้าศศิวัฒนพงศ์

อำเภอบ้านคา
มี สจ.ได้ 1 คน  มีจำนวน 1 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ 
เขตเลือกตั้งที่ 1 (ทุกตำบลในเขตพื้นที่อำเภอ) มีผู้สมัคร 4 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 น.ส.อุทัย  สว่างพื้น
  • เบอร์ 2 นางสายรุ้ง  สว่างพื้น
  • เบอร์ 3 นายนิธิวรรธน์  ศิริจรรยาพงษ์
  • เบอร์ 4นายจำนอง  บุญเลิศฟ้า

อำเภอปากท่อ
มี สจ.ได้ 2 คน  แบ่งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ 
เขตเลือกตั้งที่ 1 (ต.ดอนทราย,ต.วังมะนาว,ต.ปากท่อ,ต.บ่อกระดาน,ต.ป่าไก่,ต.วัดยางงาม,ต.วันดาว,เทศบาล ต.ปากท่อ,ต.ห้วยยางโทน) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นางสังเวียน  โพธิ์งาม
  • เบอร์ 2 นางกรรณิการ์  แสงคำ
  • เบอร์ 3 นายอำนาจ โมรา
เขตเลือกตั้งที่ 2 (ต.ยางหัก,เทศบาล ต.ทุ่งหลวง,ต.อ่างหิน,ต.หนองกระทุ่ม) มีผู้สมัคร 4 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายสิทธิราช  ราชสิงโห
  • เบอร์ 2 นายชัชวาล  รัตนบำรุง
  • เบอร์ 3 นายบุญธรรม  ชูผล
  • เบอรฺ 4 นายกฤษณะ  พลอยชุม

อำเภอจอมบึง
มี สจ.ได้ 2 คน  แบ่งเป็น 2 เขตเลือกตั้ง ดังนี้ 
เขตเลือกตั้งที่ 1 (ต.จอมบึง,ต.เบิกไพร,ต.ปากช่อง,เทศบาล ต.จอมบึง) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายอุดม  นิธิเศรษฐทรัพย์
  • เบอร์ 2 น.ส.นรลักษณ์  ท้าววิบูลย์
  • เบอร์ 3 นายมนตรี   ใช่รุ่งเรือง
เขตเลือกตั้งที่ 2 (ต.ด่านทับตะโก,ต.แก้มอ้น,ต.รางบัว,เทศบาล ต.ด่านทับตะโก) มีผู้สมัคร 3 คน (เลือกได้ 1 คน) ได้แก่ (ดูภาพผู้สมัคร)
  • เบอร์ 1 นายวินัย  จันทนะโสตถิ์
  • เบอร์ 2 นายโกเมศ  บุญฤทธิ์
  • เบอร์ 3 น.ส.ศิริลักษณ์  ตันงามตรง

รวม สจ.ราชบุรี จำนวน 30 คน แยกเป็น  (ดูภาพผู้สมัครทั้งหมด)
  • อ.เมืองราชบุรี  จำนวน 7 คน
  • อ.บ้านโป่ง จำนวน 6 คน
  • อ.โพธาราม จำนวน 5 คน
  • อ.ดำเนินสะดวก จำนวน 3 คน
  • อ.ปากท่อ จำนวน 2 คน
  • อ.จอมบึง จำนวน 2 คน
  • อ.สวนผึ้ง จำนวน 2 คน
  • อ.บางแพ จำนวน 1 คน
  • อ.วัดเพลง จำนวน 1 คน
  • อ.บ้านคา จำนวน 1 คน
*******************************************
จัดทำโดย สถาบันราชบุรีศึกษา : 
4 ธ.ค.2563 ปรับปรุงใหม่ 7 ธ.ค.2563







วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

ถอดบทเรียนโควิด-19 จากจีน สู่การจัดการโควิด-19 ในไทย

ไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19)  เริ่มพบในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เมื่อ 8 ธ.ค.2562 และปัจจุบันเริ่มระบาดไปทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ประกาศเมื่อ 10 มี.ค.2563 ยกระดับจากโรคระบาด (Epidemic) เป็น "การระบาดทั่วโลก" (Pandemic) และขณะที่ผมเขียนบทความนี้ (25 มี.ค.2563 ) มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกจำนวน  375,498 คน เสียชีวิตแล้ว 16,362 คน ใน 195 ประเทศ 



สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก
ที่มา องค์การอนามัยโลก (25 มี.ค.2563)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญ 25 คน จาก 8 ประเทศทั่วโลก เข้าไปสำรวจเรื่องราวของโควิด-19 ในประเทศจีน ระหว่างวันที่ 10-24 ก.พ.2563  จาก  รายงานการสอบสวนโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Report of the WHO-China Joint Mission on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))  ของคณะสำรวจฯ ผมเห็นว่ามีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ที่น่าสนใจหลายประการ จึงขอนำมาเขียนไว้ในบทความนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผื่อว่าหลายๆ คน จะได้ไม่ตื่นตระหนกมากจนเกินไป  

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นเชื้อที่มาจากสัตว์ (Zoonotic) รหัสพันธุกรรมของเชื้อ มีความคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโคโรนาจากสัตว์ โดยเฉพาะเชื้อในค้างคาว (96%)   


ที่มาของภาพ The Standard
https://thestandard.co/origin-of-all-virus-spread-in-20-years/

การติดเชื้อ  ผ่านละอองฝอย (Droplets) จากการไอและจามของผู้ติดเชื้อ และการที่เชื้อติดละอองฝอยตกลงไปบนพื้นผิว (Fomites) แล้วมีผู้อื่นมาสัมผัสทำให้ติดเชื้อต่อไป ส่วนการล่องลอยผ่านไปในอากาศ (Airborne) ไม่ปรากฎ

อัตราการติดเชื้อ ผู้ป่วย 1 คน แพร่เชื้อได้ 2-2.5 คน  ในขณะที่ โรคเอดส์ 1 คน แพร่เชื้อได้ 3.6-.3.7 คน, โรคหัด 1 คน แพร่เชื้อได้ 11-18 คน, โรคอีโบล่า 1 คน แพร่เชื้อได้ 2 คน ซึ่งดูอัตราการติดเชื้อไม่ค่อยน่ากังวลนัก หากมีการป้องกันที่ดี 

ระยะเวลาแสดงอาการ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการทั่วไปและอาการทางระบบทางเดินหายใจและมีไข้ โดยเฉลี่ยประมาณ 5-6 วันหลังการติดเชื้อ (ระยะฟักตัวเฉลี่ย 5-6 วัน ในช่วงเวลา 1-14 วัน)

อาการผู้ป่วยโควิด-19  มีไข้ (87.9%) (อาการสำคัญ)  ไอแห้ง (67.7%) (อาการสำคัญ) อ่อนเพลีย (38.1%) ไอ มีเสมหะ (33.4%) หายใจลำบาก (18.6%) ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดข้อ (14.8%)  เจ็บคอ (13.9%) ปวดศรีษะ (13.6%) หนาวสั่น (11.4%) คลื่นไส้ อาเจียน (5.0%) คัดจมูก (4.8%) ไอเป็นเลือด (0.9%) ตาแดง (0.8%)  การสังเกตุอาการที่สำคัญคือ มีไข้ และไอแห้ง ให้สงสัยไว้ก่อนว่าติดเชื้อโควิด-19 รีบไปพบแพทย์ทันที

อัตราการเสียชีวิต  เริ่มแรกที่จีนไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับไวรัสตัวใหม่นี้ มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากถึง 21.9% แต่หลังจากนั้นเริ่มลดลงเรื่อยๆ ปัจจุบันเหลือเพียง 0.7% ไม่น่ากลัวครับ 



มาตรการที่ประเทศจีนใช้ป้องกันและควบคุม
ระยะที่ 1 การควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่จากแหล่งเริ่มต้น (เมืองอู่ฮั่น) ไปยังบริเวณอื่น เช่น การปิดตลาด การแยกเชื้อและอ่านรหัสพันธุกรรม การวินิจฉัย เฝ้าระวัง และการสืบสวนโรค
ระยะที่ 2 ชะลอความรุนแรงและความเร็วของการระบาด เช่น รักษาผู้ป่วยทุกราย ติดตามผู้สัมผัสและผู้ใกล้ชิด ขยายเวลาวันหยุด ควบคุมการเดินทาง ปิดเมือง ให้ความรู้แก่ประชาชน จัดอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องป้องกัน เพิ่มเตียงผู้ป่วย ควบคุมสินค้าอุปโภคและบริโภค 
ระยะที่ 3 ฟื้นฟูและเตรียมกลับสู่สภาวะปกติ คือ พยายามนำประชาชนให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยมีการดูแลอย่างใกล้ชิด และเตรียมการฟื้นฟูความเสียหาย

มาตรการหลักที่ใช้ควบคุมในประเทศจีน
  • การเฝ้าดู ติดตาม และการรายงานการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง  (Monitoring and reporting)  ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายที่จีนมีอยู่แล้ว มีการจัดทำแผนการเฝ้าดู ติดตามและการรายงานที่มีประสิทธิภาพ
  • การเสริมมาตรการการคัดกรอง การควบคุมการเดินทาง และการกักตัวอย่างเข้มข้น (Strengthening ports of entry and quarantine)  ของผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศ วัดไข้ และหากพบไข้สูงจะนำไปกักตัวเฝ้าดูอาการทันที  
  • การรักษาผู้ติดเชื้อ (Treatment) ข้อนี้เป็นจุดเด่นของทางการจีน จีนได้สร้างโรงพยาบาลพิเศษขึ้นในพื้นที่สำคัญๆ สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการเฉพาะ นำผู้ป่วยทุกคน มารักษาในโรงพยาบาลพิเศษที่สร้างขึ้น ระดมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมดไว้รวมกันในโรงพยาบาลฯ เหล่านี้เป็นหลัก (เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายของทรัพยากร) และมีศักยภาพในการรักษาสูงสุด  ส่วนแผนสำรอง คือ โรงพยาบาลที่อยู่ตามอำเภอ ตามจังหวัด ต่างๆ ต้องเตรียมจัดแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นการพิเศษเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ พร้อมทำการรักษาได้ทันที  
  • การตรวจสอบทางระบาดวิทยาและการติดตามผู้ที่สัมผัสอย่างใกล้ชิด (Epidemiological investigation and close contact management)  การตรวจสอบทางระบาดวิทยาที่เข้มข้นดำเนินการสอบสวนโรค ค้นหาแหล่งที่มาของเชื้อ เฝ้าระวัง และติดตามผู้ที่เข้าร่วมกลุ่มและสัมผัสอย่างใกล้ชิด  จีนให้ความสำคัญในการสอบสวนโรคมาก มีทีมค้นหาและสอบสวนโรคนี้ถึง 1,800 ทีม ๆ ละ  5 คน ค้นหาผู้ที่สัมผัสและอาจจะติดเชื้อได้วันละ 10,000 คน/ต่อวัน (ที่ประเทศไทยเรามีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนัก เพราะเราอาจมีทีมค้นหาและสอบสวนโรคนี้น้อย จึงไม่พบค่อยพบผู้ติดเชื้อ) 
  • การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) มาตรการนี้ หลักการ คือ งดกิจกรรมที่จะทำให้ผู้คนมีความใกล้ชิดกัน  ซึ่งประเทศไทยเราก็ได้ทำแล้ว เช่น อยู่ห่างกัน 2 เมตร งดการจัดงานเลี้ยงต่างๆ  งานบุญ งานกุศล งานกิจกรรมการกีฬาและสันทนาการ งดการจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ ปิดร้านอาหาร สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ต่างๆ ที่คนมาชุมนุมกัน  ในประเทศจีน ถึงขั้นสั่งงดการฉลองตรุษจีนเลย ถึงแม้จะเป็นประเพณีที่สำคัญของชาติก็ตาม
  • การสนับสนุนเงินทุนและวัตถุดิบ (Funding and Material support) ช่วยเหลือเงินทุนและวัตถุดิบสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ให้แก่ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปที่ตกงาน หรือว่างงาน จากการเลิกจ้าง จัดเงินประกันสุขภาพอย่างเพียงพอและทั่วถึงแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคน 
  • การจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินอย่างเพียงพอ (Emergency material Support) รัฐบาลจีนเร่งฟื้นฟูการผลิตและขยายกำลังการผลิตวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉิน สนับสนุนให้แก่องค์กรส่วนท้องถิ่น โดยการขยายการนำเข้าและใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เพื่อช่วยการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคในการแบ่งปันข้อมูล (International and Interregional  cooperation and information sharing) อย่างเช่นร่วมมือกับองค์กรอนามัยโลกในการเข้าทำการสอบสวนโรคในครั้งนี้ เป็นต้น  
  • การรายงานข้อมูลประจำวัน (Daily updates) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน มีประกาศสถานการณ์โรคระบาดทุกวัน และจัดการแถลงข่าวประจำวันเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ ให้ประชาชนเข้าใจไปในทางเดียวกัน นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้การแบ่งปันความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ COVID-19 เพื่อป้องกันการตื่นตระหนก  และเพื่อการจัดการกับปัญหาสาธารณะอีกด้วย
  • การดูแลทางด้านจิตใจ (Psychological care) มาตรการนี้ มีไว้สำหรับผู้ป่วยและประชาชน  รัฐบาลในทุกระดับ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน และทุกภาคส่วนของสังคมได้พัฒนาแนวทางสำหรับการเยียวยาด้านจิตวิทยาฉุกเฉิน และแนวทางสำหรับการช่วยเหลือตนเอง รวมทั้งการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาสาธารณะ  รัฐบาลมีการจัดตั้งสายด่วนสำหรับบริการสุขภาพจิตสำหรับประชาชนทั่วไปอีกด้วย
  • IT platform  จีนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และ AI สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับ COVID-19 และการตอบสนอง มีแอปพลิเคชั่นให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การเข้าถึงบริการออนไลน์ เรื่องการสั่งซื้ออาหารและเครื่องใช้จำเป็น  การจัดหาเครื่องมือสำหรับการศึกษาและการทำงานระยะไกลแบบออนไลน์ เพิ่มบริการออนไลน์ให้ประชาชนเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ ลดจำนวนข้อมูลผิด ๆ และข่าวปลอมที่ประชาชนได้รับ          

การแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์ทางระบาดวิทยา ถูกแบ่งออกเป็นสี่พื้นที่ได้แก่  
  1. พื้นที่ที่ไม่มีการระบาด  (In areas without cases)  กลยุทธ์ในพื้นที่เหล่านี้ คือ การป้องกัน ตรวจสอบ และคัดกรอง ผู้คนที่เข้า-ออกในพื้นที่ เช่น ตามสถานีขนส่งต่างๆ ต้องมีการตรวจสอบวัดไข้อย่างสม่ำเสมอ ส่งเสริมมาตรการการป้องกันเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อประชาชนในการดำเนินชีวิตตามปกติ
  2. พื้นที่มีการระบาดบางส่วน (In areas with sporadic cases) กลยุทธ์ ห้ามไม่ให้ใครเข้าไปในพื้นที่นั้น ทำความสะอาดพื้นที่ ฆ่าเชื้อ ตรวจสอบเฝ้าระวังคนที่เคยเข้าไปในพื้นที่นั้นๆ หากพบให้ดำเนินการรักษา  
  3. กลุ่มพื้นที่ชุมชนที่มีการระบาด (In areas with community clusters) ใช้กลยุทธ์ ปิดพื้นที่ชุมชนส่วนที่มีการระบาด ห้ามไม่ให้คนเข้า-ออก และทำการรักษา ค้นหา และเผ้าระวังผู้อาจจะติดเชื้อ
  4. พื้นที่ชุมชนที่มีการติดเชื้อเรียบร้อยแล้ว (In areas with community transmission) ใช้กลยุทธ์การป้องกันและควบคุมอย่างเข้มงวดสูงสุด  ห้ามไม่ให้คนเข้าและออกเมือง (มาตรการปิดเมืองสูงสุด)  ใช้มาตรการด้านสาธารณสุขและการรักษาทางการแพทย์อย่างเข้มข้น 
จีนขอความร่วมมือจากประชาชนอย่างไรบ้าง
  1. ให้ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก
  2. ดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากาก หากมีความเสี่ยง หรือเมื่อจะเข้าในบริเวณพื้นที่เสี่ยง
  3. เฝ้าระวังและสังเกตุอาการตนเอง หากมีไข้ มีอาการ ต้องมาพบแพทย์ รายงานแพทย์ เมื่อมีความเสี่ยง เช่น เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง 
  4. เตรียมสนับสนุนและดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่อาจนำมาใช้หากเกิดการระบาด
รายงานการสอบสวนโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากประเทศจีน ฉบับนี้ นับเป็นการถอดบทเรียนความรู้ในการจัดการการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ดีมาก  เพราะจีนเป็นแหล่งกำเนิดไวรัส เริ่มต้นจากไม่รู้อะไรเลย ผ่านความยากลำบาก ลองผิด ลองถูก มานานับประการกว่าจะระงับยับยั้งการระบาดของโรคได้  ประเทศที่กำลังมีการระบาดอยู่ในขณะนี้ สามารถที่จะนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในประเทศของตนเองได้
ท่านใดสนใจอ่านรายงานการสอบสวนฯ สามารถหาอ่านได้ในเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกครับ (https://www.who.int/)  

จะเลือกเดินเส้นข้างบนหรือข้างล่าง
มาเรื่องในประเทศไทยของเรา จากกราฟทำนายแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (https://www.nrct.go.th/) ได้พล็อตขึ้นจากข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ  จำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อิตาลี อิหร่าน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง เปรียบเทียบกับสถิติผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ตามภาพด้านล่าง จะพบว่า 
  1. ประเทศที่มีมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดไม่ดี เมื่อมีผู้ติดเชื้อเริ่มเข้าสู่จำนวน 1,000 คนแล้วแนวโน้มผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จะหยุดการระบาดได้ยาก เช่น ประเทศจีน อิตาลี อิหร่าน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ 
  2. ประเทศที่มีมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดได้ดี จะมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1,000 คน เช่น  ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ และฮ่องกง 
  3. สำหรับประเทศไทย ณ วันที่ 25 มี.ค.2563 มีผู้ติดเชื้อ 934 คน ซึ่งหากมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดใช้ไม่ได้ผล จากการทำนายทางสถิติเมื่อสิ้นสุดวันที่ 8 เม.ย.2563 ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อ มากกว่า 10,000 คน  (เป็นไปตามเส้นแนวโน้ม A) 



กราฟทำนายจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19
เริ่มจากจำนวนวันที่ประเทศนั้นๆ พบผู้ติดเชื้อจำนวน 100 ราย
ซึ่งประเทศไทยเริ่มจากวันที่ 15 มี.ค.2563

ก็หวังว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลประกาศใช้จะเป็นความหวังสำคัญของประเทศไทยที่จะสามารถควมคุมและป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ได้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จะเดินไปตามกราฟเส้นแนวโน้ม B ที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1,000 คน เหมือนกับ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่เขาสามารถทำได้

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 25 มี.ค.2563)

  • ญี่ปุ่น มีผู้ติดเชื้อ 1,128 คน
  • สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อ 507 คน 
  • ฮ่องกงมีผู้ติดเชื่อ 356 คน

*************************************
จุฑาคเชน : 25 มี.ค.2563

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เส้นทางเอกสารมรดกความทรงจำของราชบุรี สู่เอกสารมรดกความทรงจำของโลก

เมื่อวันที่ 25-26 ก.พ.2563 ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมสัมมนา เรื่อง การจัดทำทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ณ โรงแรม ณ เวลา อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งจัดโดย สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องราวระดับโลกที่ผมเพิ่งได้รับทราบในวันนี้ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้มานานกว่า 27 ปีแล้ว



ความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World : MoW)
ในที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Education Science and Culture Organization : UNESCO) เมื่อ พ.ศ.2535 ได้มีมติให้มี "แผนงานว่าด้วยความทรงจำแห่งโลก" (Memory of the World Programme) เพื่อปกป้อง อนุรักษ์ และเผยแพร่ภูมิปัญญาความรู้และเหตุการณ์สำคัญระดับโลก ที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ภาพ และเสียง เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ให้ประโยชน์ต่อคนทั้งโลกในปัจจุบันและอนาคต โดยมีคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยดังนี้ 
  • คณะกรรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก 
  • คณะกรรมการแห่งภูมิภาคว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก (ส่วนประเทศไทย คือ คณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก) 
  • คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก (ซึ่งทุกประเทศต้องมีเป็นของตัวเอง)
คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก
ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการมาตั้งแต่ต้น โดยเมื่อปี พ.ศ.2538 ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกขององค์การยูเนสโก ตั้งแต่ปี 2538 – 2541 จากนั้นประเทศไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง "คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก"  (The Thai National Committee on the Memory of the World Programme) ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2545 และมีการปรับปรุงโครงสร้างกรรมการเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

คณะกรรมการแห่งชาติฯ ดังกล่าว มีหน้าที่โดยสรุปก็คือ ค้นหาเอกสารในประเทศไทยเพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำ ซึ่งแบ่งการขึ้นทะเบียนออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ทะเบียนระดับนานาชาติหรือระดับโลก (International Register) ทะเบียนระดับภูมิภาค (Regional Register) และทะเบียนระดับชาติ (National Register) โดยจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่องค์การยูเนสโกกำหนด ส่วนการขึ้นทะเบียนระดับท้องถิ่น (Local Register) เป็นเรื่องภายในของประเทศ  หน่วยราชการที่มีหน้าที่หลักรับผิดชอบในการดำเนินการเรื่องนี้ ก็คือ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม


เอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก 
ปัจจุบันมีเอกสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ว่าเป็นมรดกความทรงจำระดับโลก (International Register)  จำนวน  527 รายการ แยกตามรายภูมิภาคได้ดังนี้ 
  • ภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ จำนวน 274 รายการ คิดเป็นร้อยละ 52
  • ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จำนวน จำนวน 116 รายการ คิดเป็นร้อยละ 22
  • ภูมิภาคลาตินอเมริกาและคาริบเบียน จำนวน 93 รายการ คิดเป็นร้อยละ 18
  • ภูมิภาคอัฟริกา จำนวน 24 รายการ คิดเป็นร้อยละ 5
  • ภูมิภาคอาหรับ จำนวน 13 รายการ คิดเป็นร้อยละ 2
  • อื่นๆ จำนวน 7 รายการ คิดเป็นร้อยละ 1
เอกสารมรดกความทรงจำระดับโลกในกลุ่มประเทศอาเซียน
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำระดับโลกกลุ่มประเทศอาเซียน มีจำนวนทั้งสิ้น 31 ชิ้น เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ 
  • อินโดนีเซีย จำนวน 8 รายการ (อันดับที่ 17 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • มาเลเซีย จำนวน 5 รายการ (อันดับที่ 31 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • ประเทศไทย จำนวน 5 รายการ (อันดับที่ 31 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • เมียนมาร์  จำนวน 4 รายการ (อันดับที่ 37 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • ฟิลิปปินส์ จำนวน 4 รายการ  (อันดับที่ 37 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • เวียดนาม จำนวน 3 รายการ  (อันดับที่ 43 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • กัมพูชา จำนวน 2 รายการ  (อันดับที่ 64 ของโลก จาก 84 อันดับ)
  • ลาว, บรูไน ดารุสซาลาม และสิงค์โปร์  (ไม่มี)
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำระดับโลกของประเทศไทย
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำระดับโลกของประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ UNESCO ณ ปัจจุบน มีจำนวน 5 รายการ ได้แก่
  1. ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2546)
  2. เอกสารการปฏิรูปราชการแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2552)
  3. จารึกวัดโพธิ์ (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2554)
  4. บันทึกการประชุมสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2556)
  5. ฟิล์มกระจก ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ไทย สมัยรัชกาลที่ 4-6 (ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ.2560) 
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำยังมีการแบ่งการขึ้นทะเบียนเป็นระดับภูมิภาค และระดับชาติ อีก  สำหรับเอกสารของประเทศไทยจะพิจารณา โดย  คณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ตามลำดับ 

ปัจจุบัน เอกสารมรดกแห่งความทรงจำของประเทศไทยที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นระดับชาติ รอการเสนอเพื่อพิจารณาไต่เต้าขึ้นเป็นเอกสารระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มีจำนวน  4 รายการ ได้แก่
  1. เอกสารนันโทปนันทสูตรคำหลวง เป็นวรรณคดีพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา พระราชนิพนธ์โดย เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
  2. เอกสารจารึกวัดพระยืน มีเนื้อหาการเดินทางมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในล้านนาของพระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัย
  3. หนังสือสมุดไทย เรื่องกฏหมายตราสามดวง 
  4. คัมภีร์ใบลาน เรื่อง ตำนานอุรังตธาตุ 
เอกสารมรดกแห่งความทรงจำของประเทศไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนในระดับท้องถิ่น (Local Register) ซึ่งเป็นการดำเนินการภายในประเทศไทยเอง   และกำลังรอการเสนอเพื่อพิจารณาไต่เต้าขึ้นเป็นเอกสารระดับชาติ มีจำนวน 11 รายการ ได้แก่
  1. บันทึกครูบาโนชัยธรรมจินดามณี เจ้าคณะหนเหนือ จ.ลำปาง  วัดปงสนุกเหนือ พ.ศ.2400-2485
  2. ภาพเก่าของหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ เพื่อการศึกษาโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา
  3. บันทึกพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา เจ้าคณะแขวงเมืองพะเยา พ.ศ.2404-2487
  4. กฎหมายอาณาจักรหลักคำเมืองน่าน
  5. คัมภีร์ใบลานพระไตรปิฏกครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาถร วัดสูงเม่น จ.แพร่
  6. ภาพถ่ายฟิล์มกระจกของคุณหลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ ชุติมา) พ.ศ.2440-2470 จ.เชียงใหม่
  7. แผนที่กัลปนาวัดบนคาบสมุทรสทิงพระในสมัยอยุธยา
  8. เอกสารทรัพยากรธรณีฝั่งตะวันตก จ.ภูเก็ต ตรัง และระนอง
  9. ภาพเก่าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สงขลา
  10. บันทึกโรงเรียนสฤษดิเดช ของโรงเรียนสฤษดิเดช จันทบุรี 
  11. เอกสารจดหมายเหตุการบริหารราชการหัวเมืองตะวันออก จันทบุรี
ค้นหาเอกสารมรดกความทรงจำของราชบุรี
ที่เขียนมาทั้งหมดก็เพื่อให้เห็นภาพเกี่ยวกับเอกสารมรดกความทรงจำในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับโลก จนกระทั่งถึงระดับท้องถิ่น วัตถุประสงค์ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มาจัดการประชุมสัมมนา เรื่อง การจัดทำทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่ จ.ราชบุรี นี้ก็เพราะ จ.ราชบุรี ได้ขึ้นชื่อเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีอารยะธรรมมาตั้งแต่สมัยมัชฌิมประเทศ และปรากฏอยู่ในพงศาวดารฉบับต่างๆ มาโดยตลอด มุ่งหวังให้ชาวราชบุรี ได้รับทราบ และช่วยกันค้นหาเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำของ จ.ราชบุรี (Memory of Ratchaburi : MoR) เพื่อเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำในระดับท้องถิ่นต่อไป



สมุดราชบุรี พิมพ์ปี พ.ศ.2468

เชิญชวนชาวราชบุรีช่วยกันค้นหา
เนื่องจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก ที่มีข้าราชการทำงานไม่กี่คน แต่ต้องมีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบมากมาย การที่จะค้นหาเอกสารมรดกความทรงจำซึ่งอาจมีอยู่มากมายทั่วทั้งประเทศ จึงไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางสำนักหอจดหมายแห่งชาติ จึงพยายามเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้ของแต่ละจังหวัด ช่วยกันค้นหาเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำในจังหวัดของตัวเอง นำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำในระดับท้องถิ่น (Local Register) เพื่ออนุรักษ์ เก็บรักษา และเผยแพร่ต่อไป ถึงแม้อาจจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้ เอกสารเหล่านั้น ก็สามารถเป็นเอกสารมรดกความทรงจำของจังหวัดตัวเองได้




ผอ.สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และ หน.หอจดหมายแห่งชาติสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ
มีระดับผู้บริหารอยู่เพียงเท่านี้

ในท้ายการประชุม อ.ศรีวิชัย ทรงสุวรรณ  ผม และเพื่อนๆ อีกหลายคน ก็ได้รับปากกับผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายุเหตุแห่งชาติ ว่าจะขออาสาช่วยกันค้นหาเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำดังกล่าวของ จ.ราชบุรี โดยจะขอความร่วมมือและประสานไปยังเครือข่ายผู้นำตระกูล ผู้นำชุมชน สถาบันการศึกษา องค์กร กลุ่ม ชมรม มูลนิธิ วัด สุเหร่า โบสถ์ รวมทั้งผู้ที่สะสมของเก่า ใน จ.ราชบุรี ต่อไป

ท่านใดที่คิดว่ามีเอกสารที่อาจเป็นมรดกความทรงจำของราชบุรี ได้โปรดกรุณาแจ้งมาได้เลยนะครับ เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ดีกว่าที่ปล่อยให้ชำรุดหรือสูญหายไป

****************** 
พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์
27 ก.พ.2563
อีเมล sratchaburi@gmail.com



บทความที่ได้รับความนิยม