วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

ถอดบทเรียนโควิด-19 จากจีน สู่การจัดการโควิด-19 ในไทย

ไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19)  เริ่มพบในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เมื่อ 8 ธ.ค.2562 และปัจจุบันเริ่มระบาดไปทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ประกาศเมื่อ 10 มี.ค.2563 ยกระดับจากโรคระบาด (Epidemic) เป็น "การระบาดทั่วโลก" (Pandemic) และขณะที่ผมเขียนบทความนี้ (25 มี.ค.2563 ) มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกจำนวน  375,498 คน เสียชีวิตแล้ว 16,362 คน ใน 195 ประเทศ 



สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก
ที่มา องค์การอนามัยโลก (25 มี.ค.2563)

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญ 25 คน จาก 8 ประเทศทั่วโลก เข้าไปสำรวจเรื่องราวของโควิด-19 ในประเทศจีน ระหว่างวันที่ 10-24 ก.พ.2563  จาก  รายงานการสอบสวนโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Report of the WHO-China Joint Mission on Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))  ของคณะสำรวจฯ ผมเห็นว่ามีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ที่น่าสนใจหลายประการ จึงขอนำมาเขียนไว้ในบทความนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผื่อว่าหลายๆ คน จะได้ไม่ตื่นตระหนกมากจนเกินไป  

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นเชื้อที่มาจากสัตว์ (Zoonotic) รหัสพันธุกรรมของเชื้อ มีความคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโคโรนาจากสัตว์ โดยเฉพาะเชื้อในค้างคาว (96%)   


ที่มาของภาพ The Standard
https://thestandard.co/origin-of-all-virus-spread-in-20-years/

การติดเชื้อ  ผ่านละอองฝอย (Droplets) จากการไอและจามของผู้ติดเชื้อ และการที่เชื้อติดละอองฝอยตกลงไปบนพื้นผิว (Fomites) แล้วมีผู้อื่นมาสัมผัสทำให้ติดเชื้อต่อไป ส่วนการล่องลอยผ่านไปในอากาศ (Airborne) ไม่ปรากฎ

อัตราการติดเชื้อ ผู้ป่วย 1 คน แพร่เชื้อได้ 2-2.5 คน  ในขณะที่ โรคเอดส์ 1 คน แพร่เชื้อได้ 3.6-.3.7 คน, โรคหัด 1 คน แพร่เชื้อได้ 11-18 คน, โรคอีโบล่า 1 คน แพร่เชื้อได้ 2 คน ซึ่งดูอัตราการติดเชื้อไม่ค่อยน่ากังวลนัก หากมีการป้องกันที่ดี 

ระยะเวลาแสดงอาการ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการทั่วไปและอาการทางระบบทางเดินหายใจและมีไข้ โดยเฉลี่ยประมาณ 5-6 วันหลังการติดเชื้อ (ระยะฟักตัวเฉลี่ย 5-6 วัน ในช่วงเวลา 1-14 วัน)

อาการผู้ป่วยโควิด-19  มีไข้ (87.9%) (อาการสำคัญ)  ไอแห้ง (67.7%) (อาการสำคัญ) อ่อนเพลีย (38.1%) ไอ มีเสมหะ (33.4%) หายใจลำบาก (18.6%) ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดข้อ (14.8%)  เจ็บคอ (13.9%) ปวดศรีษะ (13.6%) หนาวสั่น (11.4%) คลื่นไส้ อาเจียน (5.0%) คัดจมูก (4.8%) ไอเป็นเลือด (0.9%) ตาแดง (0.8%)  การสังเกตุอาการที่สำคัญคือ มีไข้ และไอแห้ง ให้สงสัยไว้ก่อนว่าติดเชื้อโควิด-19 รีบไปพบแพทย์ทันที

อัตราการเสียชีวิต  เริ่มแรกที่จีนไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับไวรัสตัวใหม่นี้ มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากถึง 21.9% แต่หลังจากนั้นเริ่มลดลงเรื่อยๆ ปัจจุบันเหลือเพียง 0.7% ไม่น่ากลัวครับ 



มาตรการที่ประเทศจีนใช้ป้องกันและควบคุม
ระยะที่ 1 การควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่จากแหล่งเริ่มต้น (เมืองอู่ฮั่น) ไปยังบริเวณอื่น เช่น การปิดตลาด การแยกเชื้อและอ่านรหัสพันธุกรรม การวินิจฉัย เฝ้าระวัง และการสืบสวนโรค
ระยะที่ 2 ชะลอความรุนแรงและความเร็วของการระบาด เช่น รักษาผู้ป่วยทุกราย ติดตามผู้สัมผัสและผู้ใกล้ชิด ขยายเวลาวันหยุด ควบคุมการเดินทาง ปิดเมือง ให้ความรู้แก่ประชาชน จัดอุปกรณ์การแพทย์และเครื่องป้องกัน เพิ่มเตียงผู้ป่วย ควบคุมสินค้าอุปโภคและบริโภค 
ระยะที่ 3 ฟื้นฟูและเตรียมกลับสู่สภาวะปกติ คือ พยายามนำประชาชนให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยมีการดูแลอย่างใกล้ชิด และเตรียมการฟื้นฟูความเสียหาย

มาตรการหลักที่ใช้ควบคุมในประเทศจีน
  • การเฝ้าดู ติดตาม และการรายงานการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง  (Monitoring and reporting)  ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายที่จีนมีอยู่แล้ว มีการจัดทำแผนการเฝ้าดู ติดตามและการรายงานที่มีประสิทธิภาพ
  • การเสริมมาตรการการคัดกรอง การควบคุมการเดินทาง และการกักตัวอย่างเข้มข้น (Strengthening ports of entry and quarantine)  ของผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศ วัดไข้ และหากพบไข้สูงจะนำไปกักตัวเฝ้าดูอาการทันที  
  • การรักษาผู้ติดเชื้อ (Treatment) ข้อนี้เป็นจุดเด่นของทางการจีน จีนได้สร้างโรงพยาบาลพิเศษขึ้นในพื้นที่สำคัญๆ สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการเฉพาะ นำผู้ป่วยทุกคน มารักษาในโรงพยาบาลพิเศษที่สร้างขึ้น ระดมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมดไว้รวมกันในโรงพยาบาลฯ เหล่านี้เป็นหลัก (เพื่อไม่ให้เกิดการกระจายของทรัพยากร) และมีศักยภาพในการรักษาสูงสุด  ส่วนแผนสำรอง คือ โรงพยาบาลที่อยู่ตามอำเภอ ตามจังหวัด ต่างๆ ต้องเตรียมจัดแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นการพิเศษเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ พร้อมทำการรักษาได้ทันที  
  • การตรวจสอบทางระบาดวิทยาและการติดตามผู้ที่สัมผัสอย่างใกล้ชิด (Epidemiological investigation and close contact management)  การตรวจสอบทางระบาดวิทยาที่เข้มข้นดำเนินการสอบสวนโรค ค้นหาแหล่งที่มาของเชื้อ เฝ้าระวัง และติดตามผู้ที่เข้าร่วมกลุ่มและสัมผัสอย่างใกล้ชิด  จีนให้ความสำคัญในการสอบสวนโรคมาก มีทีมค้นหาและสอบสวนโรคนี้ถึง 1,800 ทีม ๆ ละ  5 คน ค้นหาผู้ที่สัมผัสและอาจจะติดเชื้อได้วันละ 10,000 คน/ต่อวัน (ที่ประเทศไทยเรามีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนัก เพราะเราอาจมีทีมค้นหาและสอบสวนโรคนี้น้อย จึงไม่พบค่อยพบผู้ติดเชื้อ) 
  • การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) มาตรการนี้ หลักการ คือ งดกิจกรรมที่จะทำให้ผู้คนมีความใกล้ชิดกัน  ซึ่งประเทศไทยเราก็ได้ทำแล้ว เช่น อยู่ห่างกัน 2 เมตร งดการจัดงานเลี้ยงต่างๆ  งานบุญ งานกุศล งานกิจกรรมการกีฬาและสันทนาการ งดการจัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ ปิดร้านอาหาร สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ต่างๆ ที่คนมาชุมนุมกัน  ในประเทศจีน ถึงขั้นสั่งงดการฉลองตรุษจีนเลย ถึงแม้จะเป็นประเพณีที่สำคัญของชาติก็ตาม
  • การสนับสนุนเงินทุนและวัตถุดิบ (Funding and Material support) ช่วยเหลือเงินทุนและวัตถุดิบสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ให้แก่ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปที่ตกงาน หรือว่างงาน จากการเลิกจ้าง จัดเงินประกันสุขภาพอย่างเพียงพอและทั่วถึงแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคน 
  • การจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินอย่างเพียงพอ (Emergency material Support) รัฐบาลจีนเร่งฟื้นฟูการผลิตและขยายกำลังการผลิตวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉิน สนับสนุนให้แก่องค์กรส่วนท้องถิ่น โดยการขยายการนำเข้าและใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เพื่อช่วยการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคในการแบ่งปันข้อมูล (International and Interregional  cooperation and information sharing) อย่างเช่นร่วมมือกับองค์กรอนามัยโลกในการเข้าทำการสอบสวนโรคในครั้งนี้ เป็นต้น  
  • การรายงานข้อมูลประจำวัน (Daily updates) คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน มีประกาศสถานการณ์โรคระบาดทุกวัน และจัดการแถลงข่าวประจำวันเพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ ให้ประชาชนเข้าใจไปในทางเดียวกัน นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้การแบ่งปันความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ COVID-19 เพื่อป้องกันการตื่นตระหนก  และเพื่อการจัดการกับปัญหาสาธารณะอีกด้วย
  • การดูแลทางด้านจิตใจ (Psychological care) มาตรการนี้ มีไว้สำหรับผู้ป่วยและประชาชน  รัฐบาลในทุกระดับ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน และทุกภาคส่วนของสังคมได้พัฒนาแนวทางสำหรับการเยียวยาด้านจิตวิทยาฉุกเฉิน และแนวทางสำหรับการช่วยเหลือตนเอง รวมทั้งการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาสาธารณะ  รัฐบาลมีการจัดตั้งสายด่วนสำหรับบริการสุขภาพจิตสำหรับประชาชนทั่วไปอีกด้วย
  • IT platform  จีนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และ AI สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับ COVID-19 และการตอบสนอง มีแอปพลิเคชั่นให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การเข้าถึงบริการออนไลน์ เรื่องการสั่งซื้ออาหารและเครื่องใช้จำเป็น  การจัดหาเครื่องมือสำหรับการศึกษาและการทำงานระยะไกลแบบออนไลน์ เพิ่มบริการออนไลน์ให้ประชาชนเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ ลดจำนวนข้อมูลผิด ๆ และข่าวปลอมที่ประชาชนได้รับ          

การแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์ทางระบาดวิทยา ถูกแบ่งออกเป็นสี่พื้นที่ได้แก่  
  1. พื้นที่ที่ไม่มีการระบาด  (In areas without cases)  กลยุทธ์ในพื้นที่เหล่านี้ คือ การป้องกัน ตรวจสอบ และคัดกรอง ผู้คนที่เข้า-ออกในพื้นที่ เช่น ตามสถานีขนส่งต่างๆ ต้องมีการตรวจสอบวัดไข้อย่างสม่ำเสมอ ส่งเสริมมาตรการการป้องกันเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อประชาชนในการดำเนินชีวิตตามปกติ
  2. พื้นที่มีการระบาดบางส่วน (In areas with sporadic cases) กลยุทธ์ ห้ามไม่ให้ใครเข้าไปในพื้นที่นั้น ทำความสะอาดพื้นที่ ฆ่าเชื้อ ตรวจสอบเฝ้าระวังคนที่เคยเข้าไปในพื้นที่นั้นๆ หากพบให้ดำเนินการรักษา  
  3. กลุ่มพื้นที่ชุมชนที่มีการระบาด (In areas with community clusters) ใช้กลยุทธ์ ปิดพื้นที่ชุมชนส่วนที่มีการระบาด ห้ามไม่ให้คนเข้า-ออก และทำการรักษา ค้นหา และเผ้าระวังผู้อาจจะติดเชื้อ
  4. พื้นที่ชุมชนที่มีการติดเชื้อเรียบร้อยแล้ว (In areas with community transmission) ใช้กลยุทธ์การป้องกันและควบคุมอย่างเข้มงวดสูงสุด  ห้ามไม่ให้คนเข้าและออกเมือง (มาตรการปิดเมืองสูงสุด)  ใช้มาตรการด้านสาธารณสุขและการรักษาทางการแพทย์อย่างเข้มข้น 
จีนขอความร่วมมือจากประชาชนอย่างไรบ้าง
  1. ให้ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก
  2. ดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากาก หากมีความเสี่ยง หรือเมื่อจะเข้าในบริเวณพื้นที่เสี่ยง
  3. เฝ้าระวังและสังเกตุอาการตนเอง หากมีไข้ มีอาการ ต้องมาพบแพทย์ รายงานแพทย์ เมื่อมีความเสี่ยง เช่น เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง 
  4. เตรียมสนับสนุนและดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่อาจนำมาใช้หากเกิดการระบาด
รายงานการสอบสวนโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากประเทศจีน ฉบับนี้ นับเป็นการถอดบทเรียนความรู้ในการจัดการการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ดีมาก  เพราะจีนเป็นแหล่งกำเนิดไวรัส เริ่มต้นจากไม่รู้อะไรเลย ผ่านความยากลำบาก ลองผิด ลองถูก มานานับประการกว่าจะระงับยับยั้งการระบาดของโรคได้  ประเทศที่กำลังมีการระบาดอยู่ในขณะนี้ สามารถที่จะนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในประเทศของตนเองได้
ท่านใดสนใจอ่านรายงานการสอบสวนฯ สามารถหาอ่านได้ในเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกครับ (https://www.who.int/)  

จะเลือกเดินเส้นข้างบนหรือข้างล่าง
มาเรื่องในประเทศไทยของเรา จากกราฟทำนายแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (https://www.nrct.go.th/) ได้พล็อตขึ้นจากข้อมูลสถิติผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ  จำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อิตาลี อิหร่าน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง เปรียบเทียบกับสถิติผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ตามภาพด้านล่าง จะพบว่า 
  1. ประเทศที่มีมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดไม่ดี เมื่อมีผู้ติดเชื้อเริ่มเข้าสู่จำนวน 1,000 คนแล้วแนวโน้มผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จะหยุดการระบาดได้ยาก เช่น ประเทศจีน อิตาลี อิหร่าน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ 
  2. ประเทศที่มีมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดได้ดี จะมีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1,000 คน เช่น  ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ และฮ่องกง 
  3. สำหรับประเทศไทย ณ วันที่ 25 มี.ค.2563 มีผู้ติดเชื้อ 934 คน ซึ่งหากมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดใช้ไม่ได้ผล จากการทำนายทางสถิติเมื่อสิ้นสุดวันที่ 8 เม.ย.2563 ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อ มากกว่า 10,000 คน  (เป็นไปตามเส้นแนวโน้ม A) 



กราฟทำนายจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19
เริ่มจากจำนวนวันที่ประเทศนั้นๆ พบผู้ติดเชื้อจำนวน 100 ราย
ซึ่งประเทศไทยเริ่มจากวันที่ 15 มี.ค.2563

ก็หวังว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลประกาศใช้จะเป็นความหวังสำคัญของประเทศไทยที่จะสามารถควมคุมและป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ได้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จะเดินไปตามกราฟเส้นแนวโน้ม B ที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1,000 คน เหมือนกับ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่เขาสามารถทำได้

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 25 มี.ค.2563)

  • ญี่ปุ่น มีผู้ติดเชื้อ 1,128 คน
  • สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อ 507 คน 
  • ฮ่องกงมีผู้ติดเชื่อ 356 คน

*************************************
จุฑาคเชน : 25 มี.ค.2563

บทความที่ได้รับความนิยม