วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

UPDATE จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ จ.ราชบุรี ณ 19 ก.ค.2564

ประชากร จ.ราชบุรี ที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป ปัจจุบันมีจำนวน 168,008 คน แต่เพิ่งได้รับการฉีดเข็มที่ 1 เพียง 24,350 คน ที่เหลืออีก  143,658 คน จะได้รับการฉีดเมื่อใด และจะฉีดทันในสิ้นปีนี้หรือไม่ 

รัฐบาลได้จัดสรรวัคซีนโควิด-19 ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ผ่านเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 28 ก.พ.- 19 ก.ค.2564 จำนวนทั้งสิ้น 16,145,318 โดส โดยแยกเป็น  Sinovac  จำนวน  9,276,518 โดส  และ Astra Zeneca  จำนวน  6,868,790 โดส (กรมควบคุมโรค. 2564 : ออนไลน์)


ส่วน จ.ราชบุรี ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาล เป็นจำนวนทั้งสิ้น 99,060 โดส (คิดเป็นร้อยละ 0.61 ของประเทศ) โดยแยกเป็น Sinovac  จำนวน  64,640  โดส  และ Astra Zeneca  จำนวน  34,420 โดส จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ของ จ.ราชบุรี จนถึง 19 ก.ค.2564 สรุปได้ดังนี้  
  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  เข็มที่ 1/2  จำนวน   7,694/7,155  คน 
  • เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เข็มที่ 1/2  จำนวน   4,212/2,440  คน 
  • อสม. เข็มที่ 1/2 จำนวน 4,332/1,820 คน
  • ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เข็มที่ 1/2 จำนวน 8,977/1,522 คน
  • ประชาชนทั่วไป เข็มที่ 1/2  จำนวน 17,500/5,323 คน
  • ผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป  เข็มที่ 1/2  จำนวน 24,350/730 คน
รวมประชากร จ.ราชบุรี ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 67,065  คน (คิดเป็นร้อยละ 7.3  ของประชากร) เข็มที่ 2 จำนวน 18,990 คน (คิดเป็นร้อยละ 2.1 ของประชากร)


จากตารางด้านบน เป้าหมาย 50 ล้านคน ที่รัฐบาลตั้งเอาไว้จะฉีดเข็มที่ 1 ให้ได้ภายในสิ้นปี 2564 นี้ แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าแต่ละกลุ่มมีกี่คน แต่เป้าหมายในจำนวน 50 ล้านคนนี้ แยกเป็นเป้าหมายย่อยใน จ.ราชบุรี กี่คน กลับไม่มีข้อมูล ชึ้แจงให้เห็น (หรืออาจมีแล้ว แต่ทางคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ราชบุรี ไม่ได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบ)  จากรายงานผลการฉีดวัคซีนของกรมควบคุมโรคติดต่อในภาพรวม จึงไม่สามารถวิเคราะห์สถานะการฉีดวัคซีนของ จ.ราชบุรีได้ว่ากำลังอยู่ในระหว่างใดของเป้าหมาย มีแต่รายงานตัวเลขไปวัน ๆ โดยไม่มีนัยยะสำคัญ 

ยกตัวอย่าง ประชากร จ.ราชบุรีที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป ปัจจุบันมีจำนวน 168,008 คน แต่เพิ่งได้รับการฉีดเข็มที่ 1 เพียง 24,350 คน ที่เหลืออีก  143,658 คน จะได้รับการฉีดเมื่อใด จะฉีดทันในสิ้นปีนี้หรือไม่ 

หากคิดจากจำนวนคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ณ วันที่ 19 ก.ค.2564 แล้ว จำนวนคน จ.ราชบุรี ที่ได้รับการฉีดในเข็มที่ 1  คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.61 และ เข็มที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 0.55 เท่านั้น

เป้าหมายที่ว่า ประชากร จ.ราชบุรีควรได้รับการฉีดซีนเข็มแรก ภายในสิ้นปี 2564 นี้ อย่างน้อยกี่คน แบ่งออกเป็นกี่กลุ่ม ๆ ละกี่คน เป็นเป้าหมายที่ควรระบุไว้ให้ชัดเจน  ไม่อย่างนั้น คนราชบุรี จะสิ้นหวัง  ยิ่งตอนนี้ รัฐบาลกำลังมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้เพียงพอเพื่อฉีดให้ประชาชนด้วยแล้ว  ยิ่งทำให้ประชาชนไร้ซึ่งความหวัง  รอคอยอย่างไร้จุดหมาย  ถึงแม้จะลงทะเบียนไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีการนัดหมาย  

อ่านเพิ่มเติม
บันทึกเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ใน จ.ราชบุรี ตั้งแต่ ม.ค.2563-ปัจจุบัน

************************************
จัดทำโดย 
สถาบันราชบุรีศึกษา : 21 ก.ค.2564

ที่มาข้อมูล
  • กรมควบคุมโรค. (2564). รายงานความก้าวหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19. [Online]. Available : https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/9/1626832803379.pdf [2564. กรกฎาคม 21].

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

UPDATE จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีน ณ 12 ก.ค.2564

รัฐบาลเพิ่งฉีดวัคซีนได้ ร้อยละ 6.6 ของเป้าหมาย หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ รัฐบาลจะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ได้อย่างน้อยวันละ 237,653 โดส โดยตัวเลขนี้ต้องทำการฉีดทุกวันต่อเนื่องไม่มีวันหยุด ทำอย่างนี้ ถึงจะบรรลุเป้าหมายตามที่รัฐบาลวางแผนไว้


กระทรวงสาธารณสุข ได้ UPDATE ข้อมูล จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 - 12 ก.ค.2564 ดังนี้


  • เข็มที่ 1 จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด 9,598,949 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อ  AstraZeneca ร้อยละ 57.27  รองลงมายี่ห้อ Sinovac ร้อยละ  40.02 ที่เหลือเป็น Sinopharm ร้อยละ 2.71 
  • เข็มที่ 2 จำนวนที่ได้รับฉีดครบตามเกณฑ์  3,309,244 ราย  โดยส่วนใหญ่ใช้วัคซีนยี่ห้อ Sinovac ร้อยละ  98.01  รองลงมา ยี่ห้อ AstraZeneca ร้อยละ 1.96  ที่เหลือเป็น Sinopharm ร้อยละ  0.03
  • รวมฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 12,908,193 โดส 


รัฐบาลเพิ่งฉีดวัคซีนได้ ร้อยละ  6.6 ของเป้าหมาย
รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะฉีดวัคซีนให้คนไทยภายในสิ้นปี 2564 ให้ได้ 50,0000,000 คน ข้อมูลเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2564  ระบุจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วจำนวน 9,598,949 คน (ร้อยละ 19.2) และเข็มที่ 2 จำนวน  3,303,244 คน (ร้อยละ 6.6) แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆได้ดังนี้
  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป้าหมาย 712,000 คน  
    • เข็มที่ 1 - 783,900 คน (110.1% - เกินเป้า)  
    • เข็มที่ 2 - 690,814 ( 97%) 
  • เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เป้าหมาย 1,900,000 คน 
    • เข็มที่ 1 - 739,560 คน (38.9%)  
    • เข็มที่ 2 - 462,019  ( 24.3%) 
  • อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป้าหมาย 1,000,000 คน  
    • เข็มที่ 1 - 371,941 คน (37.2%)  
    • เข็มที่ 2 - 189,096 (18.9%) 
  • กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เป้าหมาย 5,350,000 คน
    • เข็มที่ 1 - 1,004,573 คน (18.8%)  
    • เข็มที่ 2 - 209,317 ( 3.9%) 
  • ประชาชนทั่วไป เป้าหมาย 28,538,000 คน
    • เข็มที่ 1 - 4,743,287 คน (16.6%)  
    • เข็มที่ 2 - 1,629,174 ( 5.7%) 
  • ผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เป้าหมาย 12,500,000 คน 
    • เข็มที่ 1 - 1,955,688 คน (15.6%)  
    • เข็มที่ 2 - 128,824 คน ( 1%) 


หากมองในภาพรวมจากเป้าหมาย 50,000,000 คน รัฐบาลเพิ่งฉีดเข็มที่ 1 ได้จำนวน  9,598,949 คน (คิดเป็น 19.2% ) และเข็มที่ 2 ครบตามเกณฑ์จำนวน  3,309,244 คน (คิดเป็น 6.6%) 

หากคิดเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ได้ 50,000,000 คนในสิ้นปี 2564 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ลองนับจากวันที่ 13 ก.ค.2564 ไปจนถึง 31 ธ.ค.2564  จะเหลือเวลาอีกจำนวน 170 วัน กับยอดเป้าหมายที่เหลืออีก 40,401,051 คน (50,000,000-9,598,949)  ดังนั้น รัฐบาลจะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้ได้อย่างน้อยวันละ 237,653 โดส โดยตัวเลขนี้ต้องทำการฉีดทุกวันต่อเนื่องไม่มีวันหยุด

จำนวนการฉีดวัคซีนแต่ละจังหวัด
เป้าหมายฉีดวัคซีนจำนวน 50 ล้านคน แยกเป็น 6 กลุ่มย่อยของรัฐบาลนั้น ตัวเลขน่าจะมีรากฐานจากแต่ละจังหวัดส่งจำนวนมา แล้วกระทรวงสาธารณสุขจึงนำมารวมกัน  ผมพยายามค้นหาข้อมูลจำนวนเป้าหมายของแต่ละจังหวัดที่ส่งมาไม่พบข้อมูลที่เปิดเผย พบแต่การรายงานผลว่า ในแต่ละจังหวัดได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนเท่าใดแล้ว ซึ่งมันทำให้ไม่สามารถทราบสถานะที่จะถึงเป้าหมายของแต่ละจังหวัดได้  จังหวัดที่ได้รับการฉีดวัคซีน คิดตามสัดส่วนประชากร มากที่สุด 10 อันดับ ตั้งแต่ 28 ก.พ.-12 ก.ค.2564 โดยเรียงเฉพาะการฉีดเข็มที่ 1 จากมากไปหาน้อยสรุปได้ ดังนี้ (กรมควบคุมโรค. 2564 : ออนไลน์)
  • อันดับที่ 1  จ.ภูเก็ต เข็มที่  1 ร้อยละ 71.7 
  • อันดับที่ 2  กรุงเทพมหานคร เข็มที่ 1 ร้อยละ 42.4 
  • อันดับที่ 3  จ.ระนอง เข็มที่ 1 ร้อยละ 30
  • อันดับที่ 4  จ.พังงา เข็มที่ 1 ร้อยละ 26.7
  • อันดับที่ 5  จ.สมุทรสาคร เข็มที่ 1 ร้อยละ 23.8
  • อันดับที่ 6  จ.นนทบุรี เข็มที่ 1 ร้อยละ 23.6
  • อันดับที่ 7  จ.สมุทรปราการ เข็มที่ 1 ร้อยละ 23.0
  • อันดับที่ 8 จ.ฉะเชิงเทรา เข็มที่ 1 ร้อยละ 17.6
  • อันดับที่ 9 จ.ตาก เข็มที่ 1 ร้อยละ 16.3
  • อันดับ 10  จ.เพชรบุรี เข็มที่ 1 ร้อยละ 16.1 
จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนของ จ.ราชบุรี 
ไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าเป้าหมายจำนวน 50 ล้านคนของรัฐบาลแบ่งเป็น คนใน จ.ราชบุรี กี่คน และในแต่ละกลุ่มเป้าหมายทั้ง 6 กลุ่มย่อยของ จ.ราชบุรี นั้น มีจำนวนกี่คน  ผมพยายามค้นหาข้อมูลดังกล่าวแต่หาไม่พบ คงมีแต่การรายงานจำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนของ จ.ราชบุรี ในภาพรวมเท่านั้น จ.ราชบุรี มีประชากรจำนวน 918,674 คน จำนวนคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ.-12 ก.ค.2564  มีดังนี้ 
  • เข็มที่ 1 จำนวน 56,043 คน คิดเป็นร้อยละ 6.1 ของประชากร
  • เข็มที่ 2 จำนวน 17,116 คน คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของประชากร
ข้อมูลผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนของ จ.ราชบุรี จำนวน 56,043 คนนั้น แยกเป็นกลุ่มใดบ้าง กลุ่มละกี่คน ไม่สามารถหาได้ ซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดราชบุรี คงจะมีข้อมูล แต่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยให้ประชาชนชาวราชบุรีทราบเป็นสาธารณะ ซึ่งไม่ทราบสาเหตุว่าเพราะอะไร เพราะข้อมูลเหล่านี้ มิใช่ความลับใด ๆ แม้กระทรวงสาธารณสุขยังสามารถเปิดเผยได้ในภาพรวม

ปัญหาการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล
ในประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 เรื่อง การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน ทางสถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) (2564 : ออนไลน์) ระบุว่า การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลมีปัญหาหลายประการ คือ 
  1. รัฐบาลมีความเชื่อมั่นที่สูงเกินไปว่า จะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในระดับต่ำได้ตลอดไป ทำให้ล่าช้าในการจัดหาวัคซีนและจัดหามาในปริมาณที่น้อยเกินไป
  2. รัฐบาลมีแนวทางในการจัดหาวัคซีนตามแนวคิดทางสาธารณสุขเป็นหลัก ในลักษณะตั้งเป้าการฉีดวัคซีนน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ในขณะที่การวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ในทางเศรษฐกิจพบว่า ต้นทุนในการจัดหาวัคซีนโดยรวมอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่ประเทศเปิดรับการท่องเที่ยวได้ล่าช้า กล่าวคือ หากประเทศไทยสามารถเปิดประเทศรับการท่องเที่ยวได้เร็วขึ้นอีกเพียง 1-2 เดือน ก็จะคุ้มค่ากับต้นทุนในการจัดหาวัคซีนทั้งหมดแล้ว
  3. การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลสะท้อนถึงการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาด โดยการพึ่งพาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก และการเลือกวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนเสริมโดยไม่หาทางเลือกอื่นตั้งแต่ต้น รวมทั้งการตัดสินใจไม่เข้าร่วมในโครงการ Covax ที่แม้อาจจะได้วัคซีนมาไม่มาก แต่ก็น่าจะช่วยให้ได้วัคซีนเพิ่มเติมมาก่อนบางส่วน การตัดสินใจทางนโยบายดังกล่าวจึงมีปัญหามาก เพราะเป็นการบริหารความเสี่ยง (risk management) โดยไม่มีการกระจายความเสี่ยง (diversification) อย่างเพียงพอ
  4. วัคซีนเสริมที่รัฐบาลเลือกใช้ คือ วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลไม่สูงในการสร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ จึงไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อป้องกันการติดเชื้อในวงกว้างให้แก่ประชาชนไทยได้ แม้จะสามารถฉีดให้ประชาชนครบทุกคน แม้ว่าการจัดหาวัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนสำรองในช่วงต้นปี 2564 มีความสมเหตุสมผลเนื่องจากวัคซีนดังกล่าวสามารถบรรเทาอาการป่วยที่รุนแรงและลดการสูญเสียชีวิต ในช่วงที่ยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนอื่นได้ แต่การสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงช่วงที่สามารถสั่งซื้อวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิผลมากกว่าแล้ว น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และนำไปสู่ข้อสงสัยของสังคมต่อกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายของรัฐบาลและการให้คำแนะนำของที่ปรึกษาบางคนว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
  5. การให้ข่าวจำนวนการรับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศของรัฐบาล น่าจะไม่ตรงกับเงื่อนไขตามสัญญาที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลและบริษัท โดยรัฐบาลได้ให้ข่าวมาตลอดว่าจะได้รับมอบวัคซีนในเดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนกันยายนเดือนละประมาณ 10 ล้านโดส แต่ภายหลังกลับแจ้งว่าจะได้รับมอบตามสัญญาเพียงเดือนละ 5 ล้านโดสเท่านั้น ทั้งที่รัฐบาลพึงรู้ได้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเงื่อนไขตามสัญญาเป็นอย่างไร คำถามที่ตามมาก็คือ การสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวในวงกว้างทำให้การตั้งเป้าหมายในการจัดหาและกระจายวัคซีนของรัฐบาลเองผิดพลาดไปด้วยหรือไม่
50 ล้านคน เป็นเป้าหมายการฉีดวัคซีนของรัฐบาล แต่ตัวเลขที่เป็นเป้าหมายการฉีดวัคซีนของแต่ละจังหวัด ไม่มีการแจกแจงให้เห็น แผนการแจกจ่ายวัคซีนและแผนการฉีดวัคซีนของแต่ละจังหวัด จึงเลื่อนลอย ประชาชนไร้ซึ่งข้อมูลที่แท้จริง 

**************************************
จุฑาคเชน : 15 ก.ค.2564

ที่มาข้อมูล
  • สถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2564) . ประเมินผลงานกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2: การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีน. [Online]. Available : https://tdri.or.th/2021/07/report-2years-prayut-cabinet2/ [2564. กรกฎาคม 15].
  • กรมควบคุมโรค. (2564). รายงานความก้าวหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19. [Online]. Available : https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/pages/รายงานความก้าวหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 [2564. กรกฎาคม 15].

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ผลสำรวจสถานะการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน จ.ราชบุรี

ผู้ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนในทุกช่องทางแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการนัดหมาย สูงถึงร้อยละ 65.1 และหากวัคซีนมีจำนวนจำกัด คนราชบุรี ร้อยละ 25.6 บอกว่า ตัวเองรอได้ ฉีดให้คนอื่นที่จำเป็นก่อน

แบบสำรวจ "สถานะการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน จ.ราชบุรี"  จัดทำขึ้นโดย ราชบุรีโพล สถาบันราชบุรีศึกษา มีวัตุประสงค์เพื่อสำรวจสถานะและความเห็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของคนใน จ.ราชบุรี เพื่อนำข้อมูลที่ได้เสนอไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์การบริหารวัคซีนของ จ.ราชบุรีให้มีประสิทธิภาพต่อไป ระยะเวลาในการสำรวจ 23-30 มิ.ย.2564 ผลการสำรวจสรุปได้ ดังนี้ 



คำถามที่ว่า ปัจจุบัน ท่านอยู่ในสถานะใดของการฉีดวัควีน
มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 370 คน ผลการสำรวจเรียงจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้
  • อันดับ 1 ผู้ที่ลงทะเบียนในทุกช่องทางแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการนัดหมาย จำนวน 241 คน คิดเป็นร้อยละ 65.1
  • อันดับ 2 ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว จำนวน 40 คน คิดเป็นร้อยละ 10.8
  • อันดับ 3 ผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว และได้รับวันนัดหมายฉีดวัคซีนแล้ว จำนวน 33 คน คิดเป็นร้อยละ 8.9
  • อันดับ 4 ผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนที่ใดเลย จำนวน 28 คน คิดเป็นร้อยละ 7.6
  • อันดับ 5 ผู้ที่รอฉีดวัคซีนยี่ห้อที่ต้องการ โดยจ่ายเงินเอง จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 3.2
  • อันดับ 6 ผู้ไม่ประสงค์ฉีดวัคซีน จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 3
  • อันดับ 7 ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 1.4
จากผลการสำรวจพอสรุปได้ว่า คนราชบุรี ร้อยละ 97 ประสงค์จะฉีดวัคซีน แต่ผู้ที่ลงทะเบียนแล้วยังไม่ได้รับการนัดหมาย สูงถึง ร้อยละ 65.1 นั้นแสดงให้เห็นว่า จ.ราชบุรี ไม่ทราบว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาลมาจำนวนเท่าใด และเมื่อใด จึงไม่สามารถนัดหมายได้ผู้ที่ลงทะเบียนได้ 

ท่านคิดว่าท่านควรจะได้รับการพิจารณาลำดับการฉีดวัคซีนอย่างไร
จากคำถามที่ว่า เนื่องจากจำนวนวัคซีนที่ได้รับจากรัฐบาลทยอยจัดส่งมายัง จ.ราชบุรี เป็นงวด ๆ และวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ที่ อบจ.ราชบุรี หรือ อปท.อื่น ๆ จัดซื้อเพิ่มเติม มีจำนวนจำกัด จึงจำเป็นต้องมีการจัดลำดับการฉีดวัคซีนก่อนและหลัง ท่านคิดว่าท่านควรจะได้รับการพิจารณาลำดับการฉีดวัคซีนอย่างไร ผลสำรวจความเห็นการจัดลำดับการฉีดวัคซีน จำนวน 328 คน สรุปได้ดังนี้
  • ร้อยละ 36.19 ควรได้รับการฉีควัคซีนในลำดับต้น ๆ
  • ร้อยละ 26.67  เห็นว่าตัวเองรอได้ ฉีดให้คนอื่นที่มีความจำเป็นก่อน
  • ร้อยละ 23.81 เห็นว่าตัวเองควรได้รับการฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรก
  • ร้อยละ 12.70 เห็นว่าตัวเองควรได้รับการฉีดเป็นลำดับกลาง ๆ
  • ร้อยละ 0.63 ไม่ฉีด

เพราะเหตุใด ท่านจึงคิดว่า ท่านควรได้รับการพิจารณาฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรก ก่อนคนอื่น

จากคำตอบที่ผู้ตอบแบบสำรวจ ที่เห็นว่าตัวเองควรได้รับการฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรก ประกอบด้วยเหตุผลต่าง ๆ พอสรุปได้ดังนี้

เหตุผลส่วนใหญ่ เป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่จัดการเรียนการสอน ต้องสัมผัสและใกล้ชิดกับนักเรียนเกือบตลอดทั้งวัน ซึ่งตัวนักเรียนก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้นครูจึงควรมีภูมิคุ้มกัน และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ พ่อแม่ผู้ปกครอง ในการส่งบุตรหลานมาเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียน ควรได้รับการฉีดวัคซีน  ก่อนที่โรงเรียนจะเปิดเทอมอีกครั้ง เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 

เหตุผลอื่น ๆ  
  • ทำงานเสริมสวย ต้องพบลูกค้าจำนวนมาก จำเป็นต้องป้องกันเพื่อตัวเองและป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น 
  • ต้องเดินทางไปทำงานพื้นที่เสี่ยง 
  • ทำงานท่ามกลางคนหมู่มาก
  • เพราะเป็นผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง
  • อายุ 71 ปี ดูแลแม่อายุ 102 ปี
  • อายุ 48 ปี เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียและอยู่ในตลาดชุมชน ในครอบครัวยังมีผู้สูงอายุและเด็กอีกด้วย 
  • มีอาชีพค้าขาย ทำให้พบคนจำนวนมาก หลากหลาย  
  • เป็นครู กศน. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในชุมชน พบปะนักศึกษา ประชาชนทั่วไป เป็นประจำในการจัดกิจกรรม 
  • เป็นนักศึกษาต้องเรียนร่วมกับนักศึกษาที่มาจากหลายจังหวัด หลายพื้นที่
  • ในที่ทำงาน มีเพื่อนร่วมงานที่เดินทางมาพื้นที่เสี่ยง (กรุงเทพ​ นครปฐม)​ ​ 
  • เป็น​สื่อมวลชน​ ที่ต้องไปทำข่าวในสถานที่ต่าง ๆ พบปะกับผู้คนหลากหลาย
  • เปิดร้านข้าวแกงอยูในพื้นที่เสี่ยง มีลูกค้าจำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในตัวลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้าน 
  • ต้องเดินทางไปขายของในพื้นที่ควบคุม และในบ้านมีเด็ก 3 คน ผู้พิการอายุ 70 กว่าอีก1คน ต้องเจอกับนักเรียน 
  • เป็นสามีของพยาบาลซึ่งทำงานอยู่ด่านหน้า
  • เพราะทำงานด้านบริการที่พัก พบปะลูกค้าตลอด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • เป็นข้าราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานหลายจังหวัด และจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่ควบคุมสูงสุด/มีการระบาดหนัก เกรงว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อมาระบาดใน จ.ราชบุรี 
  • ต้องดูแลลูกชายอายุ 11 ปีเพียงลำพังเพราะสามีไปทำงานอยู่ต่างประเทศ ปัจจุบันพักอาศัยอยู่กับลูกชายที่คอนโดมิเนียมขนาดใหญ่กลางใจเมืองราชบุรี (ห้องชุด 160 ยูนิต มีผู้พักอาศัยอยู่กว่า 100 ครอบครัว) ซึ่งถือเป็นสถานที่เสี่ยงสูงในการที่จะได้รับเชื้อจากโรคระบาดโควิด-19 ได้ง่าย

*******************************************
ราชบุรีโพล ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยกรุณาตอบแบบสำรวจในครั้งนี้
ความคิดเห็นของท่าน มีประโยชน์เสมอ
Your voice Always useful



ปี 2565 จ.ราชบุรี เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

จ.ราชบุรี เตรียมเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ในปี พ.ศ.2565  คนอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีมากกว่า 175,000 คน หรือมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด


สังคมผู้สูงอายุ
องค์การสหประชาชาติ (United Nations :UN) ได้ให้นิยาม ผู้สูงอายุ (Older person) หมายถึงประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่
  1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
  2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
  3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่
ทั้งนี้องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2544-2643 จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ 

จ.ราชบุรี เข้าก่อนกำหนด 
สำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปว่า ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในช่วงปี พ.ศ.2567-2568 แต่หากมาแยกย่อยเป็นรายจังหวัดแล้ว จ.ราชบุรี เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง ที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ก่อนกำหนด โดย จ.ราชบุรี จะเริ่มในปีหน้านี้ คือ ปี พ.ศ.2565 

จำนวนข้อมูล ประชากร จ.ราชบุรี ปี 2563

จาก ข้อมูลของศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 7 สาขา จ.ราชบุรี ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ระบุว่า จ.ราชบุรีมีประชากรทั้งสิ้น 873,212 คน หากดูจำนวนประชากร ที่อายุ 60 ปี ขึ้นไป จะมีจำนวน 168,008 คน คิดเป็นร้อยละ 19.24  (ต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 20 เพียง 0.76)

ขณะที่เกณฑ์ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ คือ ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นในปี พ.ศ.2564 นี้ จ.ราชบุรี ก็จะมีผู้ที่มีอายุ 60  ปี เพิ่มขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้จำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะผ่านเกณฑ์ร้อยละ  20 ของประชากรของ จ.ราชบุรี ทั้งหมด  จึงทำนายได้ว่าปี พ.ศ.2565 เป็นต้นไป จ.ราชบุรีจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ 

จำนวนประชากรของ จ.ราชบุรี ย้อนหลัง 10 ปี

จำนวนคนเกิดและตาย ของ จ.ราชบุรี ย้อนหลัง 10 ปี

จำนวนประชากร ของ จ.ราชบุรี ในรอบ 10 ปี จะอยู่ระหว่าง 840,000-880,000 บาท อัตราการเกิดและตาย แนวโน้มค่อนข้างสมดุลกัน จึงไม่มีนัยยะสำคัญใดส่งผลให้การทำนายการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ผิดพลาด

การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ดี จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ  ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ หรือเป็นภาระของสังคม การแบ่งเกณฑ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย ตามสภาพที่มีอายุมากขึ้น ได้แบ่งช่วงอายุไว้  ดังนี้
  • ผู้สุงอายุ (Elderly)        คือ อายุ  60-69 ปี
  • คนชรา (Old)                คือ อายุ 70-79 ปี
  • คนชรามาก (Very Old)  คือ อายุ 80 ปี ขึ้นไป
กรมสุขภาพจิต (2558 : 15-16) ได้จำแนกกลุ่มผู้สูงอายุตามลักษณะทางสุขภาพและสังคม ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
  1. กลุ่มติดสังคม หมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างอิสระ สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน และกิจกรรมประจำวันต่อเนื่องได้ เป็นผู้ที่มีสุขภาพทั่วไปดี ไม่มีโรคเรื้อรัง หรือเป็นเพียงผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือเป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 1-2 โรคที่ยังควบคุมโรคได้
  2. กลุ่มติดบ้าน หมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง หรือต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพียงบางส่วน มีความจำกัดในการดำเนินชีวิตในสังคม และเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังที่ควบคุมไม่ได้ มีภาวะแทรกซ้อนทางด้านร่างกาย  หรือทางด้านจิตใจจนส่งผลต่อการรู้คิด การตัดสินใจ การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน
  3. กลุ่มติดเตียง หมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น ในเรื่องการเคลื่อนย้าย การปฏิบัติกิจวัตรพื้นฐานประจำวันอื่น ๆ มีโรคประจำตัวหลายโรคทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ มีการเจ็บป่วยเรื้อรังมายาวนานและมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่เป็นอยู่

ความสุข 5 มิติ
นอกจากนั้น กรมสุขภาพจิต (2558 : 13) ยังได้กล่าวถึง "ความสุข 5 มิติ" เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ ไว้น่าสนใจ ประกอบด้วย 
  1. สุขสบาย (Health) หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพร่างกายให้มีสมรรถภาพร่างกายที่แข็งแรง คล่องแคล่ว มีกำลัง สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางกายภาพได้ตามสภาพที่เป็นอยู่ มีเศรษฐกิจ หรือปัจจัยที่จำเป็นพอเพียง ไม่มีอุบัติภัยหรืออันตราย มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ ไม่ติดสิ่งเสพติด
  2. สุขสนุก (Recreation) หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุในการเลือกวิถีชีวิตที่รื่นรมย์ สนุกสนาน ด้วยการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอารมณ์เป็นสุข จิตใจสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ สามารถลดความซึมเศร้า ความเครียด และความวิตกกังวลได้
  3. สุขสง่า (Integrity) หมายถึง ความรู้สึกพึงพอใจในชีวิต ความภาคภูมิใจในตนเอง ความเชื่อมั่นในตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง การยอมรับนับถือตนเอง ให้กำลังใจตนเเองได้ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีลักษณะเอื้อเฟื้อแบ่งปัน และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม
  4. สุขสว่าง (Cognition) หมายถึง ความสามารถของผู้สูงอายุด้านความจำ  ความคิดอย่างมีเหตุมีผล การสื่อสาร การวางแผนและการแก้ไขปัญหา ความสามารถในการคิดแบบนามธรรม รวมทั้งความสามารถในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. สุขสงบ (Peacefulness) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการรับรู้-เข้าใจความรู้สึกของตนเอง รู้จักการควบคุมอารมณ์ และสามารถจัดการกับสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผ่อนคลายให้เกิดความสุขสงบกับตนเองได้ รวมทั้งความสามารถในการปรับตัวยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
ในโอกาสที่ จ.ราชบุรี จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี พ.ศ.2565 จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ที่จะต้องจัดเตรียมวางแผนและจัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแลผู้สูงอายุของ จ.ราชบุรี ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามแนวคิดของความสุข 5 มิติ ที่กล่าวมา

**********************************
ชาติชาย คเชนชล : 1 ก.ค.2564

อ้างอิง
สำนักส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพจิต. (2558). คู่มือความสุข 5 มิติสำหรับผู้สูงอายุ (ฉบับปรับปรุง) . กรมสุขภาพจิต : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

บทความที่ได้รับความนิยม