วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ใครเป็นใคร ในการเลือกตั้ง "อบต.ราชบุรี -2564" ทั้ง 75 แห่ง

ในวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.2564 ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้ง นายก อบต. และสมาชิก อบต. ทั่วประเทศ จำนวน 5,300 แห่ง หลังจากที่ไม่ได้เลือกกันมาเป็นเวลาถึง 8 ปี


สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้สรุปยอดผู้สมัครรับสมัครเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค.2564 ว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศ 76 จังหวัด รวม 136,250 คน แบ่งเป็น 1) ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. 12,309 คน และ 2) ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. 123,941 คน

การเลือกตั้งแลดูเงียบเหงา
การเลือกตั้ง อบต.ใน พ.ศ.2564 ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี เพื่อเลือกนายก อบต. 5,300 คน และสมาชิกสภา อบต. 56,641 คน หลังครบวาระดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งให้ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้ง อบต. เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด แต่ทำไมกลับแลดูเงียบเหงา อาจเป็นเพราะ อบต. "ไกลสื่อ" สื่อเองก็ไม่รู้จะไปจับประเด็นตรงไหน สัมภาษณ์ใคร มันแตกกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก ทำให้การเลือกตั้ง อบต. จึงไม่ค่อยเป็นข่าว นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า การเลือกตั้ง อบต.ไม่ค่อยสำคัญ เป็นเพราะโครงสร้างรัฐไทยไม่เอื้อให้ท้องถิ่นแสดงบทบาท รัฐไทยสร้างให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาคเข้มแข็งมากจนไปกดทับและกดขี่ท้องถิ่น ท้องถิ่นจึงไม่แข็งแรงและไม่เติบโต

อบต.เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กที่สุด แต่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เนื่องจากมีภารกิจสำคัญ คือ การจัดบริการสาธารณะให้แก่คนในท้องที่ การรักษาความสะอาดถนน ทางน้ำ ทางเดิน ที่สาธารณะ, กำจัดขยะมูลฝอย, ป้องกันและระงับโรคติดต่อ, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม, ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ, คุ้มครองดูแลบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น 

รายได้ของ อบต. มาจาก 4 แหล่งสำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้, รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้, รายได้ที่รัฐจัดเก็บแล้วแบ่งให้ และภาษีที่ อบต. จัดเก็บได้เอง 

ในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา อบต. ที่มีรายได้มากที่สุดของประเทศคือ อบต.บางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ มีรายได้ 638 ล้านบาท ขณะที่ อบต.แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช มีรายได้ต่ำที่สุดของประเทศ 15.91 ล้านบาท นั่นหมายความว่า 2 อบต. นี้มีรายได้ต่างกันกว่า 50 เท่า รายได้เฉลี่ยของ อบต. ทั้ง 5,300 แห่ง พบว่าอยู่ที่ 45.70 ล้านบาท และเชื่อว่ารายได้ของท้องถิ่นจะลดลงไปกว่านี้อีก เนื่องจากรัฐบาลประกาศลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% เป็นเวลา 3 ปีติดกัน เพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. 2564 : ออนไลน์)

เงินเดือนใหม่นายก อบต. และ สมาชิกสภา อบต. 
ในแต่ละ อบต. ให้มีนายก อบต. 1 คน และ สมาชิกสภา อบต. 6 คน ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีบัญชีอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนใหม่ ดังภาพด้านล่าง (กรุงเทพธุรกิจ. 2564 : ออนไลน์)


ใครเป็นใคร ในการเลือกตั้งนายกฯ และ ส.อบต. ทั้ง 75 แห่ง
จังหวัดราชบุรีมี อบต. จำนวนทั้งสิ้น 75 แห่ง เรียงตามอำเภอจากมากไปหาน้อย ดังนี้
  • อ.เมือง จำนวน 16 แห่ง ได้แก่ อบต.เกาะพลับพลา, เขาแร้ง, คุ้งกระถิน, คุังน้ำวน, คูบัว, เจดีย์หัก, ดอนตะโก, ดอนแร่, ท่าราบ, น้ำพุ, บางป่า, บ้านไร่, พิกุลทอง, สามเรือน, หนองกลางนา และห้วยไผ่
  • อ.บ้านโป่ง จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ อบต.เขาขลุง, คุ้งพยอม, ดอนกระเบื้อง, นครชุมน์, บ้านม่วง, ปากแรต, ลาดบัวขาว, สวนกล้วย, หนองกบ, หนองปลาหมอ และหนองอ้อ
  • อ.โพธาราม จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ อบต.เขาชะงุ้ม, คลองข่อย, ชำแระ, ดอนกระเบื้อง, เตาปูน, ท่าชุมพล, ธรรมเสน, บางโตนด, สร้อยฟ้า, หนองกวาง และหนองโพ
  • อ.ปากท่อ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ อบต.ดอนทราย, บ่อกระดาน, ปากท่อ, ป่าไก่, ยางหัก, วังมะนาว, วัดยางงาม, หนองกระทุ่ม, ห้วยยางโทน และอ่างหิน
  • อ.ดำเนินสะดวก จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ อบต.ขุนพิทักษ์, ดอนกรวย, ดอนคลัง, ดอนไผ่, ตาหลวง, ท่านัด, แพงพวย และสี่หมื่น
  • อ.จอมบึง จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อบต.แก้มอ้น, ด่านทับตะโก, เบิกไพร, ปากช่อง และรางบัว
  • อ.สวนผึ้ง จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อบต.ตะนาวศรี, ท่าเคย, ป่าหวาย และสวนผึ้ง
  • อ.บางแพ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ อบต.ดอนคา, ดอนใหญ่, วัดแก้ว และหัวโพ
  • อ.บ้านคา จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อบต.บ้านคา, บ้านบึง และหนองพันจันทร์
  • อ.วัดเพลง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อบต.เกาะศาลพระ, จอมประทัด และวัดเพลง
ผมพยายามหาข้อมูลผู้สมัครชิง นายก อบต.ฯ และสมาชิกสภา อบต. ทั้ง 75 แห่งใน จ.ราชบุรี มาตั้งแต่หลัง กกต. ประกาศผลการรับสมัคร แต่แทบไม่มีข้อมูลใด ๆ ปรากฏเลย ทั้งในเว็บไซต์และโซเซียลมีเดียทั้งหลายของ กกต.กลาง และ กกต.ราชบุรี ดูเหมือนว่า กกต.จะสอบตกด้านการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน

สุดท้ายผมได้ข้อมูลผู้สมัครจากการประกาศในเว็บไซต์ของ อบต.เอง เพียง 13 แห่งจากทั้งหมด 75 แห่งของ จ.ราชบุรี จึงได้แค่รวบรวมข้อมูลเฉพาะผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบต. มาได้เพียงเท่านี้ ส่วน อบต.ที่เหลืออีก 62 แห่ง ไม่ได้ลงประกาศในเว็บไซต์ของ อบต.เอง ซึ่งต้องถือเป็นความบกพร่องของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อบต. ที่ไม่ลงประกาศรายชื่อผู้สมัครฯ ในเว็บไซต์ของ อบต.นั้น ๆ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ และ ปลัด อบต. ที่ปฎิบัติหน้าที่ นายก อบต. ก็ไม่ได้ทักท้วงหรือติดตามแต่อย่างใด 














การเลือกตั้ง อบต.ราชบุรี 2564 ในครั้งนี้ จึงสืบค้นข้อมูลมาได้เพียงเท่านี้ครับ แม้แต่สถิติที่ว่ามีผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบต. มีจำนวนกี่คน และผู้สมัครสมาชิกสภา อบต.มีจำนวนกี่คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละ อบต. มีจำนวนกี่คน ก็ไม่สามารถสืบค้นหาข้อมูลได้ ผมได้ขอข้อมูลไปทางอีเมลของ กกต.ราชบุรี (ratchaburi@ect.go.th) แล้ว ก็ไม่มีการให้ข้อมูลส่งกลับมาแต่ใด

การเลือกตั้ง อบต.ราชบุรี 2564 ในครั้งนี้ ขอให้ผู้มีสิทธืเลือกตั้ง ไปใช้สิทธิกันให้มาก ๆ นะครับ เพราะนายก อบต. และสมาชิกสภา อบต.เป็นผู้แทนของท่านที่ท่านใกล้ชิดมากที่สุด และมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนระดับรากหญ้าทุกคนในพื้นที่ จ.ราชบุรี 



*******************
จัดทำโดย สถาบันราชบุรีศึกษา 
24 พ.ย.2564

ที่มาข้อมูล
  • หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. (2564). เลือกตั้ง อบต. 2564 : ท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด แต่การเลือกตั้งกลับ “เงียบเหงาที่สุด”. BBC News. https://www.bbc.com/thai/thailand-59385213.
  • กรุงเทพธุรกิจ. (2564)."เลือกตั้ง อบต." ส่องรายได้ 4 ปี กางบัญชีเงินเดือน "อบต." 5.3 พันแห่ง. https://www.bangkokbiznews.com/news/967243

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม