วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564

จำนวนคนจนของ จ.ราชบุรี ลดลง 51,500 คน

ปี 2563 จำนวนคนจน จ.ราชบุรี ลดลงจากปี 2562 จำนวน 51,500 คน เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,812 บาท/คน/เดือน มีจำนวนคนจน 37,800 คน คิดป็นสัดส่วนร้อยละ 4.65 ของประชากรทั้งจังหวัด

ที่มา : สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (19 ต.ค.2564)
เส้นแบ่งความยากจน
จากข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด้านสถิติความยากจนและกระจายรายได้ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 ระบุว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) ของประเทศปี 2563 อยู่ที่ 2,762 บาท/คน/เดือน โดยเส้นแบ่งความยากจนในประเทศที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
  • เส้นความยากจนที่สูงที่สุด เป็นของคน กทม. อยู่ที่ 3,279 บาท/คน/เดือน
  • เส้นความยากจนของคนภาคกลาง อยู่ที่ 2,918 บาท/คน/เดือน
  • เส้นความยากจนของคนภาคใต้ อยู่ที่ 2,796 บาท/คน/เดือน
  • เส้นความยากจนของคนภาคอีสาน  อยู่ที่ 2,496 บาท/คน/เดือน
  • เส้นความยากคนของคนภาคเหนือ อยู่ที่ 2,467 บาท/คน/เดือน 
  • เส้นความยากจนที่ต่ำที่สุด เป็นของคน จ.พิจิตร 2,331 บาท/คน/เดือน (หรือ 78 บาท/คน/วัน)
  • ส่วนเส้นความยากจนของคน จ.ราชบุรี อยู่ที่ 2,812 บาท/คน/เดือน (หรือ 94 บาท/คน/วัน)
เส้นความยากจนนี้  อธิบายง่าย ๆ  คือ คนที่มีรายได้เฉพาะใช้สำหรับการบริโภคและอุปโภคสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดถือว่าเป็นคนจน เส้นความยากจนสากลของโลกที่กำหนดไว้ในเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) อยู่ที่ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/วัน (ประมาณ 42 บาท/คน/วัน) หรือ 1,260 บาท/คน/เดือน หมายถึง คนในโลกที่มีเงินใช้ต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นคนจน  หากใช้เกณฑ์มาตรฐานสากลนี้ มาใช้วัดกับคนไทย จะส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนคนจนลดลงอีกจำนวนมาก

สัดส่วนคนจน 
ในปี 2563 สัดส่วนคนจนของประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 6.84 ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นคนจนจำนวน 4,753,000 คน จังหวัดที่มีสัดสวนคนจนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
  • อันดับ 1 จ.ปัตตานี ร้อยละ 43.69 คิดเป็นจำนวนคนจน 283,800 คน
  • อันดับ 2 จ.แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 29.31 คิดเป็นจำนวนคนจน 70,000 คน
  • อันดับ 3 จ.นราธิวาส ร้อยละ 24.65 คิดเป็นจำนวนคนจน 179,800 คน
  • อันดับ 4 จ.กาฬสินธ์ ร้อยละ 23.79 คิดเป็นจำนวนคนจน 188,500 คน
  • อันดับ 5 จ.ระนอง ร้อยละ 21.32 คิดเป็นจำนวนคนจน 59,400 คน
  • อันดับ 6 จ.นครราชสีมา ร้อยละ 21.20 คิดเป็นจำนวนคนจน 531,500 คน
  • อันดับ 7 จ.นครพนม  ร้อยละ 20.03 คิดเป็นจำนวนคนจน 112,300 คน
  • อันดับ 8 จ.ตาก ร้อยละ 17.97 คิดเป็นจำนวนคนจน 96,100 คน
  • อันดับ 9 จ.ยะลา ร้อยละ 17.49 คิดเป็นจำนวนคนจน 83,000 คน
  • อันดับ 10 จ.ศรีสะเกษ ร้อยละ 16.72 คิดเป็นจำนวนคนจน 159,800 คน
  • อันดับ 48 จ.ราชบุรี ร้อยละ 4.65 คิดเป็นจำนวนคนจน 37,800 คน
จำนวนคนจน
หากคิดจำนวนคนจนที่อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ โดยไม่เปรียบเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว จะพบว่าจังหวัดที่มีคนจนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
  • อันดับ 1 จ.นครรราชสีมา จำนวน 531,500 คน
  • อันดับ 2 จ.ปัตตานี จำนวน 283,800 คน
  • อันดับ 3 จ.อุบลราชธานี จำนวน 207,900 คน
  • อันดับ 4 จ.บุรีรัมย์ จำนวน 191,900 คน
  • อันดับ 5 จ.กาฬสินธ์ จำนวน 188,500 คน
  • อันดับ 6 จ.นราธิวาส จำนวน 179,800 คน
  • อันดับ 7 จ.ศรีสะเกษ จำนวน 159,800 คน
  • อันดับ 8 จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 146,700 คน
  • อันดับ 9 จ.สุรินทร์ จำนวน 146,300 คน
  • อันดับ 10 จ.อุดรธานี จำนวน 145,900 คน
  • อันดับ 39 จ.ราชบุรี จำนวน 37,800 คน
จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจน และจำนวนคนจนของประเทศไทย อยู่ใน 10 อันดับแรกซ้ำกัน มี 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ปัตตานี, จ.นราธิวาส, จ.กาฬสินธ์, จ.นครราชสีมา และ จ.ศรีสะเกษ ส่วนจังหวัดราชบุรีถือว่าเป็นจังหวัดที่อยู่อันดับกลาง ๆ 

ข้อสังเกต : ในปี 2562 เส้นความยากจนของ จ.ราชบุรี อยู่ที่ 2,825 บาท/คน/เดือน มีคนจนจำนวน 89,300 คน ต่อมาในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เส้นแบ่งความยากจนของ จ.ราชบุรี ลดลงมาอยู่ที่ 2,812 บาท (ลดลง 13 บาท) มีคนจนเหลือจำนวน 37,800 คน แสดงว่า จ.ราชบุรี มีจำนวนคนจนลดลงถึง 51,500 คน ข้อมูลนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่า แม้ในปี 2563 จะอยู่ในห้วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่คน จ.ราชบุรีก็ยังประคองตัวด้านเศรษฐกิจได้ดี 

ข้อสังเกตนี้ อาจไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะการคำนวณเส้นแบ่งความยากจน สัดส่วนคนจน และจำนวนคนจน น่าจะมีวิธีคำนวณจากปัจจัยอื่น ๆ  มากกว่านี้  คงต้องเฝ้าติดตามการรายงานข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 ต่อไป

*************
จัดทำโดย สถาบันราชบุรีศึกษา
16 ธ.ค.2564

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม