คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศราชกิจจาฯ เมื่อ 31 ม.ค.2566 เรื่อง จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยคิดจากจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 66,090,475 คน จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน จำนวน 165,226 คน แบ่งเขตการเลือกตั้งใน 77 จังหวัด ออกเป็น 400 เขต
เนื้อหา
- กกต.จังหวัดราชบุรี เสนอแบ่งเขตการเลือกตั้ง 4 รูปแบบ
- ข้อสังเกตที่สำคัญของการแบ่งเขตทั้ง 4 รูปแบบ
- ใครได้! ใครเสีย!
- รูปแบบที่น่าจะดีที่สุด
- เตรียมตัวเลือกตั้ง
กกต.จังหวัดราชบุรี เสนอแบ่งเขตการเลือกตั้ง 4 รูปแบบ
จังหวัดราชบุรี มีจำนวนราษฎร 865,807 คน มี ส.ส.ได้ 5 คน แบ่งออกเป็น 5 เขตเลือกตั้ง ค่าเฉลี่ยจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.1 คน อยู่ที่ 173,161 คน
โดย กกต.จังหวัดราชบุรีได้พิจารณาเสนอรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ของ จ.ราชบุรี ออกเป็น 4 รูปแบบ โดยประกาศให้พรรคการเมืองและประชาชนทั่วไป ได้พิจารณาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ส่งกลับไปยัง กกต.จังหวัดราชบุรี ภายในวันที่ 10 ก.พ.2566 (ดาวน์โหลด เอกสาร)
|
รูปแบบที่ 1 และ 2 |
|
รูปแบบที่ 3 และ 4
|
ข้อสังเกตที่สำคัญของการแบ่งเขตทั้ง 4 รูปแบบ
จากข้อมูลในการแบ่งเขตทั้ง 4 รูปแบบ มีข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้
- รูปแบบที่ 1 หากดูจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเทียบกับค่าเฉลี่ย (173,161 คน) จะพบว่า ในเขตเลือกตั้งที่ 2 มีราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ย 14,456 คน (+8.35%) และในเขตเลือกตั้งที่ 5 มีราษฎรน้อยว่าค่าเฉลี่ย 11,161 คน (-6.45%)
- รูปแบบที่ 2 หากดูจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเทียบกับค่าเฉลี่ย (173,161 คน) จะพบว่า ในเขตเลือกตั้งที่ 2 มีราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ย 7,650 คน (+4.42%) และในเขตเลือกตั้งที่ 5 มีราษฎรน้อยว่าค่าเฉลี่ย 6,407 คน (-3.70%)
- รูปแบบที่ 3 หากดูจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเทียบกับค่าเฉลี่ย (173,161 คน) จะพบว่า ในเขตเลือกตั้งที่ 2 มีราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ย 7,650 คน (+4.42%) และในเขตเลือกตั้งที่ 5 มีราษฎรน้อยว่าค่าเฉลี่ย 6,039 คน (-3.49%)
- รูปแบบที่ 4 หากดูจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเทียบกับค่าเฉลี่ย (173,161 คน) จะพบว่า ในเขตเลือกตั้งที่ 2 มีราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ย 4,445 คน (+2.57%) และในเขตเลือกตั้งที่ 4 มีราษฎรน้อยว่าค่าเฉลี่ย 2,343 คน (-1.35%)
- ไม่ว่าจะแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบใด เขตเลือกตั้งที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ
- เขตเลือกตั้งที่ 3 อ.โพธาราม (เว้น ต.บ้านสิงห์ ต.บ้านฆ้อง และ ต.ดอนทราย) และ อ.จอมบีง
- เขตเลือกตั้งที่ 4 อ.บ้านโป่ง
- 10 ตำบลที่เป็นตัวแปรสำคัญ ในการตัดสินใจทั้ง 4 รูปแบบ คือ
- อ.เมือง ได้แก่ ต.พิกุลทอง, ต.บางป่า, ต.สามเรือน, ต.ดอนแร่, ต.อ่างทอง, ต.น้ำพุ และ ต.ห้วยไผ่
- อ.โพธาราม ได้แก่ ต.บ้านสิงห์, ต.บ้านฆ้อง และ ต.ดอนทราย
ใครได้! ใครเสีย!
ไม่ว่าผลการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ราชบุรี จำนวน 5 เขต จะออกมาด้วยรูปแบบอย่างไร ย่อมมีคนได้และคนเสีย โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่วางแผนส่งคนลงสมัคร ,ผู้ที่ลงสมัครเลือกตั้ง และที่สำคัญ คือ พวกหัวคะแนนและฐานเสียงทั้งหลาย
หากมีการแบ่งเขตแบบที่คาดไม่ถึง ก็ย่อมมีผลต่อคะแนนเสียง และคะแนนของแต่ละพรรคที่จะได้ รวมถึงความคาดหวังว่าของประชาชนที่จะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำในวันเลือกตั้งอีกด้วย
รูปแบบที่น่าจะดีที่สุด
จากข้อสังเกตสำคัญที่กล่าวมาแล้ว ผมคิดว่ารูปแบบที่ 4 น่าจะดีที่สุด
การแบ่งเขตที่ดี จำนวนราษฎรในแต่ละเขต ควรมีจำนวนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน ของจังหวัดนั้น ๆ หากจำเป็นต้องเกินหรือน้อยกว่าด้วยลักษณะของพื้นที่แล้ว ก็ควรบวกลบ ไม่เกินร้อยละ 10
ดังนั้น หากพิจารณาจากกราฟด้านบน ก็จะเห็นได้ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ในรูปแบบที่ 4 มีเส้นกราฟใกล้เคียงกับเส้นค่าเฉลี่ยของจำนวนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน มากที่สุด โดยในเขตเลือกตั้งที่ 2 มีราษฎรมากกว่าค่าเฉลี่ย 4,445 คน (+2.57%) และในเขตเลือกตั้งที่ 4 มีราษฎรน้อยว่าค่าเฉลี่ย 2,343 คน (-1.35%) ซึ่งเป็นค่าที่น้อยที่สุด หากเทียบกับที่เหลืออีก 3 รูปแบบ จึงนับได้ว่าเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด หากคำนึงถึงสิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส. 1 คนของชาว จ.ราชบุรี
เตรียมตัวเลือกตั้ง
คงอีกไม่นาน ชาวราชบุรีคงจะได้เลือกตั้ง ส.ส. กันอีกครั้ง ก็ขอให้ใช้วิจารณาญาณให้ดีที่สุดว่าจะเลือกใคร อย่าเห็นแก่อามิสสินจ้างและเม็ดเงินที่เขาจะมอบให้ในวันนั้น ประเทศไทยที่ไม่ศิวิไลซ์สักที เพราะสาเหตุสองประการที่สำคัญ หนึ่ง คือ การทุจริต คอรัปชั่น และ สอง คือ ระบบอุปถัมภ์
ในสังคมที่บิดเบี้ยว : สถานการณ์อาจสร้างได้ทั้งวีรบุรุษ และผู้ร้ายในคราวเดียวกัน และในยามที่ท้องฟ้าไร้จันทร์ ต้องคอยดูกันว่า ดาวดวงไหนจะแจ่มจรัส และดาวดวงไหนจะอัสดง
**********************
ชาติชาย คเชนชล
8 ก.พ.2566