วันพุธที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การเรียนรู้ด้วยหนัง (Learning by Cinemas : LBC)

สืบเนื่องจากความเชื่อที่ว่า นักเรียนส่วนใหญ่ล้วนชอบดูหนัง ผมจึงเลือกที่จะเอาหนังมาฉายให้นักเรียนดูที่โรงเรียนเสียเลย  

การเรียนรู้ด้วยหนัง เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผมเคยนำมาใช้กับนักเรียนโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์บูรณวิทยา เมื่อปีการศึกษา พ.ศ.2552 ในระดับ ป.4-6 และ ม.1-3 ในสมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน แต่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเนื่องจากช่วงนั้นยังไม่มีกระบวนการและขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนโดยชัดเจน และครูหลายคนยังเห็นเป็นของใหม่ ซึ่งไม่เคยมีกำหนดไว้ในหลักสูตร   




เหตุที่ผมเลือกใช้คำว่า "การเรียนรู้ด้วยหนัง"  ไม่ใช่คำว่า "การเรียนรู้ด้วยภาพยนตร์" เพราะภาพยนตร์มีความหมายกว้างกว่าหนังมาก หนังในที่นี่ ผมหมายถึง หนังยอดนิยมที่ฉายอยู่ตามโรงภาพยนตร์ หรือหนังที่ออนไลน์ผ่านเครือข่ายสังคมต่างๆ หมายรวมถึงหนังที่มีขายอยู่ในรูปแบบ DVD หรือ VCD ตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าต่างๆ  

ประเภทของหนัง
หนังอาจถูกจัดแบ่งออกเป็นหลายแนว  ส่วนประกอบของหนังจะประกอบด้วย 3 อย่าง คือ ฉาก อารมณ์ และรูปแบบการถ่ายทำ  แต่หากยึดถือตามแนวอารมณ์และความรู้สึกของผู้ชมแล้ว อาจแบ่งประเภทได้ ดังนี้
  1. แอ็คชัน (Action) : ภาพยนต์แนวนี้จะสร้างความเร้าใจให้กับผู้ชม ผ่านการใช้ความรุนแรง มีฉากต่อสู้แบบระทึกใจ ฉากการยิง ขว้างระเบิด เผาสิ่งของเครื่องใช้ตึกรามบ้านช่องแบบวินาศสันตะโร  
  2. ผจญภัย (Adventure) : สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมผ่านทางการเสี่ยงภัยของตัวละคร เช่น การบุก เข้าป่าฝ่าดง การค้นหาสมบัติ เป็นต้น ตัวละครจะพบปัญหาและอุปสรรคมากมาย ซึ่งต้องมีการแก้ไขปัญหาให้ทันสถานการณ์ 
  3. ตลก (Comedy) : มุ่งสร้างความสนุกสนานและเสียงหัวเราะ ตลก เบาสมอง ให้กับผู้ชม
  4. ดราม่า (Drama) : สร้างความตื่นตัวตื่นใจ ความเศร้าสลดใจ ผ่านการแสดงของตัวละคร ที่สร้างความรู้สึกซึ้งเศร้า เคล้าน้ำตา ทำให้นึกถึงชีวิตคนจริงๆ 
  5. แฟนตาซี (Fantasy) : เป็นภาพยนตร์นิยายเหนือจริง สร้างความสนุกสนานและตระการตาตระการใจด้วยฉากและเนื้อเรื่องที่ไม่อยู่ในความเป็นจริง  มักมีหรือเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ การผสมจินตนาการ และเรื่องเหนือจริง เรื่องในฝัน เพ้อเจ้อ 
  6. สงคราม (War) ที่มีการอ้างอิงเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นในอดีต เน้นจุดๆหนึ่งในสงครามนั้นๆ
  7. ลึกลับ (Mystery) : ภาพยนตร์ที่มุ่งสร้างความฉงนงงงวยและความรู้สึกท้าทายในการแก้ไขปริศนา ซึ่งยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ 
  8. โรแมนติก (Romance) : ภาพยนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักฉันชู้สาว เหมาะกับคู่หนุ่มสาวและผู้ที่มีความรักทั้งหลาย
  9. สยองขวัญ (Horror) หรือ เขย่าขวัญ (Thriller)  : เป็นภาพยนต์ประเภทมุ่งสร้างความตื่นเต้นและความตึงเครียด ความกลัว ให้แก่ผู้ชม
  10. คาวบอยตะวันตก (Western) : เป็นภาพยนตร์ที่แสดงวิถีชีวิตของคนอเมริกันยุคบุกเบิกที่เข้าไปตั้งรกรากในดินแดนป่าเถื่อนแถบตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เน้นเรื่องราวของคนที่มีอาชีพรับจ้างขี่ม้าต้อนวัว หรือเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ ที่ต้องสู้กับแก้งโจรผู้ร้าย นายทุน หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ชั่วร้าย การดวลปืน พวกนอกกฎหมาย หรือบางเรื่องก็สู้กับพวกอินเดียนแดง
  11. เพลง (Musical) ภาพยนตร์เพลง มีลักษณะที่ตัวละครร้องและเต้นในเรื่องที่นำเสนอ โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเภทหนังรัก
  12. วิทยาศาสตร์ หรือ ไซไฟ (Science fiction หรือ sci-fi) : ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาอ้างอิงวิทยาศาสตร์ หรือใช้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีเข้าช่วยในการอธิบายลักษณะตัวละคร ฉาก พฤติกรรมของตัวละคร หรือความเป็นไปของเนื้อเรื่อง มักเป็นเรื่องราวของโลกในอนาคต หรืออวกาศ ที่มีเทคโนโลยีที่เกิดจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เป็นองค์ประกอบ และทำให้น่าสนใจโดยผสมจินตนาการเข้าไปด้วย
  13. อาชญากรรม (Crime)  : เรื่องที่นำเสนอมักเกี่ยวกับการสืบหาฆาตกร ฆาตกรที่ก่ออาชญากรรม แก็งค์มาเฟีย หรือกลุ่มผู้ก่ออาชญากรรม การสูญเสียและการแก้แค้น เรื่องที่ตัวละครเอกเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรม หรือตำรวจสืบสวน
  14. การ์ตูน (Animation) : หมายถึง ภาพยนตร์การ์ตูน ซึ่งปัจจุบันกำลังมาแรง
  15. สารคดี (Documentary) : แสดงเรื่องราวเป็นสารคดี นำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่แต่งขึ้นใหม่
  16. อีโรติก (Erotic) : เป็นภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะกับผู้ที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศ
  17. ฟิล์มนัวร์ (Film-Noir) : เน้นการใช้ภาพเป็นตัวสื่อเนื้อหา ดูง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับบุคคล
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง อาจมีหลายแนวอารมณ์อยู่ในเรื่องเดียวกัน



ประโยชน์ของการดูหนัง
การดูหนังไม่ว่าจะดูอยู่ที่บ้าน  ดูที่โรงภาพยนตร์ หรือดูออนไลน์จากเครื่องมืออิเลคทรกนิกส์ต่างๆ  ล้วนให้อรรถรสที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นระบบเสียง ความคมชัดของภาพ และความรู้สึกที่ได้สัมผัส แต่ไม่ว่าจะดูที่ไหน การดูหนังนับว่ามีประโยชน์หลายประการ อาทิ
  1. ปลดปล่อยความเครียดของตัวเอง  เมื่อเราได้ดูหนังที่เราชอบ มันจะช่วยให้จิตใจเราจดจ่อกับการดูหนัง จนลืมเรื่องความเครียดต่างๆไปได้ในระยะหนึ่ง และในบางครั้ง หนังก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือบำบัดอาการต่างๆ ได้ด้วย  เช่น การลดความกดดันทางด้านอารมณ์ ก่อให้เกิดจินตนาการตามที่หนังฉายได้ อีกทั้งยังได้ฟังดนตรีประกอบเพราะๆ โรแมนติกหรือตื่นเต้นจากหนังไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งจะช่วยลดความสับสนและความวุ่นวายทางจิตใจลงได้
  2. ให้ความบันเทิง  ไม่ว่าจะเป็นหนังประเภทไหนต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ให้ความบันเทิงกับผู้ชมทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์หลักของการดูหนังเลยทีเดียว
  3. ช่วยทำให้เวลามีค่ามากขึ้น หรืออาจเรียกว่าใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ หนังบางเรื่องอาจใช้เวลาดูเกือบ 2 ชั่วโมง ซึ่งมันจะช่วยฆ่าเวลาของคนที่มีเวลาว่างได้เป็นอย่างดี  และหลายคนก็จัดการเวลาให้ตัวเองให้ว่างสำหรับการดูหนังเลยก็มี (เช่นตัวผมเองเป็นต้น) หากใครพอมีเวลาว่าง และไม่มีอะไรทำ ลองหาหนังมาดูหรือไปดูหนังตามโรงภาพยนตร์ก็ได้ มันจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น 
  4. ได้รับแรงบันดาลใจจากหนัง หนังบางเรื่องสามารถแรงบันดาลใจให้ผู้ชมได้  อาจเป็นสิ่งที่กระตุ้นจิตใจให้ผู้ชมหลายคน หันมาลุกขึ้นสู้ชีวิตของตัวเองอีกครั้ง หรือไม่ก็อาจได้แง่คิดใหม่ๆ ดีๆหลายอย่างจากหนัง  มันสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของเราให้แตกต่างไปจากเดิม หรือบางทีก็อาจทำให้ชีวิตและการทำงานของเราเปลี่ยนไปก็ได้ 
  5. เยียวยาจิตใจของเราได้  หนังบางเรื่องโดยเฉพาะหนังประเภทรักโรแมนติกต่างๆ จะเยียวยาจิตใจสำหรับคนที่มีความรักหรือกำลังอกหักได้เป็นอย่างดี หลายคนส่วนใหญ่ก็มักจะชอบดูหนังรักโรแมนติกแบบซ้ำไปซ้ำมา เพื่อเป็นการตอกย้ำชีวิตตัวเองที่กำลังเผชิญอยู่ 
  6. ได้รับประสบการณ์อันน่าตื่นเต้น  หนังบางเรื่องสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก บางทีอาจตื่นเต้นยิ่งกว่าการออกไปเที่ยวซะอีก และนี่ก็ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้เราสัมผัสความตื่นเต้นได้อย่างน่าประทับใจ  
  7. สร้างความหัวเราะให้กับเราได้ การดูหนังแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะหนังแนวตลก จะช่วยให้เราเกิดความผ่อนคลายจากความเครียด ลืมเรื่องต่างๆ ความทุกข์ยากในอดีตได้ชั่วขณะ คนที่ไม่ค่อยมีอารมณ์ขัน ดูแล้วอาจจะทำให้หัวเราะก็ได้ 
  8. เพิ่มองค์ความรู้ให้กับตัวเอง การดูหนัง ทำให้เราได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆ ตามที่ผู้กำกับหนังตั้งใจสร้างขึ้น เช่น หนังแนวสงครามก็ทำให้เรารับรู้ถึงกลยุทธ์การทหาร หนังแนวสืบสวนก็จะทำให้รู้ว่า เรื่องราวที่เห็นนั้นล้วนคาดเดาได้ยาก หนังแนววิทยาศาสตร์ ก็จะทำให้เรามีเหตุมีผลในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น   
  9. ได้พูดคุยและพบปะกับเพื่อนหรือคนรู้ใจ  การได้ไปดูหนังกับเพื่อนหรือคนพิเศษของเรา นับว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  และแน่นอนมันจะทำให้เราและเพื่อนมีประสบการณ์ร่วมกัน   
  10. สร้างประสบการณ์ให้ผู้ชม ฉากของหนังหรือวิถีการดำเนินชีวิตของตัวละครในหนัง สามารถสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้ชมได้  เช่น วิธีการใช้ชีวิตในต่างประเทศ การกินการอยู่ การเดินทาง การนอน รวมถึงมุมมองและวิวทิวทัศน์สวยๆ จากสถานที่ถ่ายทำของหนังเรื่องนั้นๆ 

วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ด้วยหนัง
  1. ให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรงจากเนื้อหาในหนังเรื่องนั้นๆ
  2. ให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจมีจิตสำนึกที่จะเป็นคนดี หรือทำความดีตามตัวละครในหนัง และสามารถแยกแยะได้ว่า อะไร คือสิ่งที่ไม่ดี และอะไร คือสิ่งที่ดี
  3. ให้นักเรียนเกิดจินตนาการ สร้างความคิดริเริ่มและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ 
  4. ให้นักเรียนมีทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อสังคม
  5. ให้นักเรียนมีความรู้รอบตัวเพิ่มมากขึ้น มองเห็นโลกได้ทั้งใบ จากฉาก ตัวละคร วิถีชีวิต และสถานที่ถ่ายทำหนัง และความหลากหลายในแง่มุมต่างๆ ตามประเภทของหนัง
  6. นักเรียนได้รับความบันเทิง สนุกสนาน ผ่อนคลาย และลดความเครยีดจากการเรียนวิชาอื่นๆ 

คุณลักษณะของการเรียนรู้ด้วยหนัง
การเรียนรู้ด้วยหนัง มีคุณลักษณะที่สำคัญหลายประการ
  1. หนังสามารถช่วยเชื่อมการเห็นภาพลักษณะเคลื่อนไหวกับเสียงบรรยายประกอบ ผู้เรียนสามารถรับรู้ด้วยการใช้ประสาทถึง 2 อย่าง คือ การมองเห็นและการได้ยิน ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 
  2. หนังช่วยขจัดอุปสรรคในด้านความสามารถในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคนที่อาจมีไม่เท่ากัน      
  3. หนังช่วยสร้างภาพจริงในอดีตได้ เช่น  หนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกมีส่วนร่วม ตื่นเต้น น่าติดตาม ไม่น่าเบื่อ  ส่งผลให้มีการจดจำได้แบบฝังลึก
  4. หนังช่วยสร้างประสบการณ์ “ร่วม” ที่แตกต่างกันของนักเรียนในกลุ่ม ก่อให้เกิดทัศนคติและเจตคติ ไปในทางเดียวกัน   
  5. หนังเอาชนะอุปสรรคทางกายภาพในการเรียนได้หลายด้าน  สามารถเรียนรู้โลกภายนอกได้กว้างขวาง ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนว่าจะเลือกหนังเรื่องใดมาให้นักเรียนดู   
วิธีการเรียนรู้ด้วยหนัง
เราสามารถใช้หนัง จัดการเรียนการสอนได้หลายวิธี  คือ
1. ใช้เสนอเนื้อหาของบทเรียนโดยตรง ทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ตรงเป้ามหาย
2. ใช้เพื่อเร้าความสนใจของผู้เรียน ให้มีความตั้งใจในการเรียน
3. ใช้เพื่อฝึกฝนและพัฒนาทักษะที่ต้องการ
4. ใช้เพื่อเปลี่ยนความคิดรวบยอด และทัศนคติเป็นไปในทางที่พึงปรารถนา
5. ใช้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมเรียน หรือเพื่อการแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล
6. ใช้ในการศึกษาเป็นรายบุคคล
7. ใช้เพื่อเป็นข้อสารนเทศ ในการประกอบกิจกรรมต่อเนื่องอื่นๆ
8. ใช้เพื่อทบทวน สรุป บทเรียน หรือหน่วยการเรียนรู้ที่ต้องการ
9. ใช้เป็นเครื่องมือทดสอบ หรือประเมินผลความรู้ความสามารถ ทักษะและเจตคติของผู้เรียน ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่กำหนดไว้



ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ด้วยหนัง
ในการจัดการเรียนรู้ด้วยหนัง  ขอแนะนำขั้นตอนสำคัญที่ควรปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้  ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเรียนยิ่งขึ้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 การเลือกหนัง 
ขั้นนี้นับเป็นขั้นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สิ่งที่ควรดำเนินการคือ 
  • พิจารณาถึงความเหมาะสมของหนังที่จะนำมาประยุกต์ใช้  ครูควรเลือกหนังที่เหมาะสมกับเนื้อหาวิชาหรือวัตถุประสงค์ที่ต้องการ  ความเหมาะสมและความสามารถในการรับรู้ของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น
  • ครูจะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับความเหมาะสมของเนื้อหา   ความคิดรวบยอดที่อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ หรือออกนอกกรอบ การตัดสินใจเลือกหนัง ครูจะต้องใช้ข้อมูลอื่นประกอบในการตัดสินใจด้วย เช่น บทวิจารณ์หนังจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
  • ครูควรดูหนังเรื่องนั้นๆ ก่อน เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการพิจารณาเลือกหนัง  และระหว่างที่ดู ครูควรจดบันทึกเนื้อหาความคิดรวบยอดที่สำคัญในขณะดู ซึ่งจะทำให้มีประโยชน์ต่อการวางแผนการจัดการเรียนการสอนจริงต่อไป  
ขั้นที่ 2  การเตรียมการ 
  • จัดสภาพห้องเรียนให้เหมาะสมกับการดูหนัง  เช่น จอ เครื่องฉาย ระบบเสียง ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน รวมทั้งอุปกรณ์หรือสื่อการสอนประกอบอื่นๆ ที่จำเป็น
  • เวลาที่ใช้ในการดูหนัง หนังแต่ละเรื่องจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง และบางเรื่องอาจมีหลายตอนหลายภาค ดังนั้นการวางแผนเรื่องเวลาจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพื่อไม่ให้กระทบกับวิชาอื่นๆ 
ขั้นตอนที่ 3 การนำเข้าสู่บทเรียนสร้างความพร้อมในการดูหนัง 
  • ครูจะต้องสร้างความเชื่อมโยงประสบการณ์เก่าเพื่อให้เข้าใจเนื้อหาสาระประสบการณ์ใหม่ที่นักเรียนจะได้เรียนรู้จากหนัง 
  • ครูควรจะอธิบายและระบุให้เห็นว่า วัตถุประสงค์ เหตุการณ์ หรือแนวความคิดต่างๆ ที่ผู้เรียนจะได้รับชมจากหนัง หรืออาจเล่าเรื่องย่อของหนังเท่าที่จำเป็น 
  • ครูควรแจ้งให้ทราบ ถึงกิจกรรมที่จะต้องมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน
    • อธิบายเนื้อหาความคิดรวบยอดได้เมื่อเรียนเสร็จแล้ว 
    • เขียนคำถามสำคัญที่จะหาคำตอบได้จากภาพยนตร์ 
    • เขียนข้อข้องใจหรือประเด็นสำคัญของเรื่องเพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบความหมายและการนำไปใช้ 
    • การทำกิจกรรมระหว่างดูหนัง (หากมี)
ขั้นที่ 4  การดูหนัง   ในการดูหนังพยายามให้นักเรียนทุกคนดูอย่างมีสมาธิ สิ่งที่ไม่ควรกระทำขณะดูหนัง คือ
  1. งดการใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด เช่น โทรศัพท์มือถือ เพื่อไม่ให้รบกวนนักเรียนคนอื่นๆ 
  2. งดการพูดคุยกัน หรือส่งเสียงกระซิบกระซาบวิจารณ์หนัง ในระหว่างการดู  
  3. ไม่ควรเคลื่อนไหวมากจนทำให้คนอื่นเสียสมาธิในการดูหนัง
  4. ไม่ควรรับประทานอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่่ม  ระหว่างการดูหนัง เพราะเสียงเคี้ยวและกลิ่นของอาหาร จะรบกวนสมาธิของคนอื่น 
  5. หากนักเรียนคนใดรู้ตัวว่าต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ควรนั่งอยู่ริมๆ เพื่อไม่ให้รบกวนนักเรียนคนอื่น 
ขั้นที่ 5  บทสรุปหลังดูหนัง 
  • เมื่อฉายหนังจบแล้ว ควรมีการอภิปรายสรุปตามประเด็นคำถามที่ตั้งไว้ตอนต้น ในระหว่างอภิปรายนี้ครูจะต้องแก้ไขความคิดรวบยอดที่ผิด อาจมีการฉายหนังซ้ำเพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจจุดใดจุดหนึ่งได้กระจ่าง
  • จัดให้มีการอภิปรายกลุ่มย่อย หลังจากดูหนังแล้ว ในหัวข้อที่กำหนด
  • ใช้หนังเป็นตัวแบบให้นักเรียนเลียนแบบและฝึกทักษะนั้นๆ
  • อาจมีการจัดทัศนศึกษานอกสถานที่ เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมต่อยอดจากหนังให้กว้างขวางขึ้น
  • ใช้แบบทดสอบจะเป็นแบบปากเปล่าหรือเขียนตอบเพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจ ที่นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้จากหนัง 


    การเรียนรู้ด้วยหนัง เป็นการจัดการเรียนการสอนอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่ค่อยมีใครนำมาใช้ในโรงเรียน อาจเพราะเห็นว่ามันไม่เป็นวิชาการ การดูหนังถูกมองว่าเป็นเรื่องของความบันเทิงเสียมากกว่า ในส่วนตัวแล้วผมว่า "ความคิดเช่นนั้นไม่ถูกต้องนัก"  



    หนังหลายเรื่องที่ดีมาก ลงทุนสร้างเป็นพันล้าน มันไม่ใช่มีความมุ่งหมายแค่เพียงความบันเทิง แต่มันให้แง่มุมต่างๆ มากมายหลังจากการดู ทำไม? เราถึงจะจัดให้เด็กนักเรียนดูไม่ได้  หนังลิขสิทธิ์ที่ขายอยู่ตอนนี้ ก็มีผลิตออกมามากมายให้เลือกซื้อ ราคาก็ถูก มันเป็นสื่อการสอนชนิดหนึ่งซึ่งไม่แพงเลย แต่มันคุ้มค่ากับนักเรียนของเรา 

    หากตารางสอนทางวิชาการเต็มจริงๆ ครูอาจจะบรรจุในโครงการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ก็ได้"   

    ลองทำดูนะครับ "การเรียนรู้ด้วยหนัง" 
    Learning by Cinemas : LBC   

    ******************
    พันเอก ดร.สุชาต จันทรวงศ์
    4 เม.ย.2560

    2 ความคิดเห็น:

    1. ไม่ระบุชื่อ7 กรกฎาคม 2566 เวลา 07:25

      สนใจจะทดลองใช้ในโรงเรียนครับ..กำลังศึกษาหาแนวทางการทำให้นักเรียนสนุกและได้ความรู้ด้วย : อนุวัฒน์ นครราชสีมา

      ตอบลบ
    2. ไม่ระบุชื่อ7 กรกฎาคม 2566 เวลา 07:26

      โทรศัพท์มาปรึกษาเพื่อขอคำชี้แนะได้ไหมครับ

      ตอบลบ

    บทความที่ได้รับความนิยม