วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เส้นทาง สว. ราชบุรี ปี 62 ใครบ้าง? ที่ได้ไปต่อระดับประเทศ



ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาในวาระเริ่มแรก

ในวาระเริ่มแรก ตามบทเฉพาะกาลของแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ โดยมาจาก 3 ส่วน คือ
  1. กกต.ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งจากผู้สมัคร ส.ว.จากทั่วประเทศ คัดเลือกให้เหลือจำนวน 200 คน แล้วนำรายชื่อเสนอต่อ คสช. คัดเลือกจำนวน 50 คน
  2. คณะกรรมการสรรหา ส.ว.คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจำนวนไม่เกิน 400 คน แล้ว นำรายชื่อเสนอต่อ คสช. คัดเลือก จำนวน 194 คน
  3. ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 6 คน

10 กลุ่มอาชีพผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในวาระเริ่มแรกได้กำหนดให้มีกลุ่มจำนวน 10 กลุ่ม ดังนี้
  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
  3. กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข
  4. กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
  5. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน / อาชีพอิสระ
  6. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม
  7. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว
  8. กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
  9. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม
  10. กลุ่มอื่นๆ (ผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามย่อมมีสิทธิสมัครในกลุ่มอื่นๆ)

ประเภทการรับสมัคร สว. จาก 10 กลุ่มอาชีพ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
  1. สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง
  2. สมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมหนังสือแนะนำชื่อผู้สมัครจากองค์กร
แต่ละกลุ่มจะแยกอิสระต่อกันในการเลือกกันเองให้ได้มาซึ่ง สว. ดังนี้

การเลือกตั้งระดับอำเภอ  เพื่อให้ได้ผู้สมัคร สว.เป็นผู้แทนอำเภอๆ ละ 60 คน เพื่อเสนอชื่อต่อไปยังระดับจังหวัด แยกเป็น

  1. สมัครด้วยตนเอง ให้เลือกกันเองภายในกลุ่มให้ได้กลุ่มละ 3 คน จำนวน 10 กลุ่ม รวมเป็น  30 คน
  2. สมัครโดยการแนะนำขององค์กร ให้เลือกกันเองภายในกลุ่มให้ได้กลุ่มละ 3 คน  จำนวน 10 กลุ่ม  รวมเป็น 30 คน
การเลือกตั้งระดับจังหวัด เพื่อให้ได้ ผู้สมัคร สว.เป็นผู้แทนจังหวัดๆ ละ 80 คน ได้รับการคัดเลือกเสนอชื่อต่อไปยังระดับประเทศ จำนวน 80 คน แยกเป็น

  1. สมัครด้วยตนเอง ให้เลือกกันเองภายในกลุ่มให้ได้กลุ่มละ 4 คน จำนวน 10 กลุ่ม รวมเป็น  40 คน
  2. สมัครโดยการแนะนำขององค์กร ให้เลือกกันเองภายในกลุ่มให้ได้กลุ่มละ 4 คน  จำนวน 10 กลุ่ม  รวมเป็น 40 คน

จำนวนผู้สมัคร สว. ที่ได้รับเลือกจากการเลือกระดับอำเภอของ จ.ราชบุรี 

ตามประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งระดับจังหวัด จ.ราชบุรี  ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2561 สรุปตามภาพด้านล่าง ดังนี้ 





กลุ่มที่ต้องเลือกให้เหลือ 4 คนในระดับจังหวัด เพื่อส่งต่อไปยังระดับประเทศ  ได้แก่
กลุ่มที่ 1 สมัครด้วยตนเอง จำนวน 16 คน 
กลุ่มที่ 2 สมัครด้วยตนเอง จำนวน 5 คน 
กลุ่มที่ 3 สมัครด้วยตนเอง จำนวน 23 คน 
กลุ่มที่ 4 สมัครด้วยตนเอง จำนวน 18 คน 
กลุ่มที่ 5 สมัครด้วยตนเอง จำนวน 12 คน 
กลุ่มที่ 7 สมัครด้วยตนเอง จำนวน 5 คน 
กลุ่มที่ 8 สมัครด้วยตนเอง จำนวน 19 คน 
กลุ่มที่ 9 สมัครด้วยตนเอง จำนวน 11 คน 
กลุ่มที่ 10 สมัครด้วยตนเอง จำนวน 14 คน 

กลุ่มที่ไม่ต้องเลือกในระดับจังหวัด เสนอในนามจังหวัดราชบุรี ไปยังระดับประเทศได้เลย เพราะไม่เกิน 4 คน
กลุ่มที่ 2 สมัครโดยการแนะนำขององค์กร จำนวน 4 คน 
กลุ่มที่ 3 สมัครโดยการแนะนำขององค์กร จำนวน 1 คน
กลุ่มที่ 4 สมัครโดยการแนะนำขององค์กร  จำนวน 4 คน 
กลุ่มที่ 6 สมัครด้วยตนเอง จำนวน 4 คน
กลุ่มที่ 7 สมัครโดยการแนะนำขององค์กร จำนวน 2 คน 
กลุ่มที่ 8 สมัครโดยการแนะนำขององค์กร จำนวน 1 คน 
กลุ่มที่ 9 สมัครโดยการแนะนำขององค์กร จำนวน 1 คน
กลุ่มที่ 10 สมัครโดยการแนะนำขององค์กร จำนวน 3 คน  

กลุ่มที่ไม่มีคนสมัคร
กลุ่มที่ 1 สมัครโดยการแนะนำขององค์กร 
กลุ่มที่ 5 สมัครโดยการแนะนำขององค์กร 
กลุ่มที่ 6 สมัครโดยการแนะนำขององค์กร 

ผู้สนใจสมัคร สว.ราชบุรี ต่ำกว่าเป้าหมาย
ผู้สนใจสมัคร สว.ราชบุรี ในภาพรวมไม่ถึง ร้อยละ 28.83 จากแผนที่ควรจะเป็น  จากผลการรับสมัคร สว.ใน จ.ราชบุรี แสดงให้เห็นว่าชาวราชบุรี ไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าใดนัก ซึ่งพอที่จะสรุปได้ ดังนี้
  • ด้านผู้ที่สนใจสมัคร สว.ด้วยตนเอง พบว่าเมื่อถึงการเลือกตั้งในระดับจังหวัด ควรจะต้องมีผู้รับสมัคร สว.ทั้งจังหวัด รวม 300 คน (10 อำเภอๆ ละ 30 คน มาจาก 10 กลุ่มๆ ละ 3 คน) แต่กลับมีผู้รับสมัคร เพียง 127 คน คิดเป็นร้อยละ 42.23  หากดูรายละเอียดในรายกลุ่มจะพบดังนี้
    • ด้านที่มีการสมัครมากที่สุด คือ กลุ่มที่ 3 การศึกษาและสาธารณสุข มีผู้สมัคร 23 คน จากที่ควรจะมี 30 คน คิดเป็นร้อยละ 76.67 
    • รองลงมา คือ  กลุ่มที่ 8 กลุุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ มีผู้ส3คร 19 คน จากที่ควรจะมี 30 คน คิดเป็นร้อยละ 63.33
    • อันดับ 3 คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง มีผู้สมัคร 16 คน จากที่ควรจะมี 30 คน คิดเป็นร้อยละ 53.33
    • กลุ่มที่มีผู้สมัครน้อยที่สุด คือ กลุ่มที่ 6 กลุ่มประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม  มีผู้สมัคร 4 คน จากที่ควรจะมี 30 คน คิดเป็นร้อยละ 13.33
  • ด้านสมัครโดยการแนะนำขององค์กร  พบว่าเมื่อถึงการเลือกตั้งในระดับจังหวัด ควรจะต้องมีผู้รับสมัคร สว.ทั้งจังหวัด รวม 300 คน (10 อำเภอๆ ละ 30  คน มาจาก 10 กลุ่มๆ ละ 3 คน) แต่กลับมีผู้รับสมัคร เพียง 16 คน คิดเป็นร้อยละ 5.33  หากดูรายละเอียดในรายกลุ่มจะพบดังนี้
    • ด้านที่มีการสมัครมากที่สุด คือ กลุ่มที่ 2 กลุ่มกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม และกลุ่มที่ 4 อาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่   โดยมีผู้สมัครแต่ละกลุ่มละ 4 คน จากที่ควรจะมีกลุ่มละ  300 คน คิดเป็นร้อยละ 13.33 
    • กลุ่มที่ไม่มีผู้สมัครเลย คือ  
      • กลุ่มที่ 1  กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
      • กลุ่มที่ 5 กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน / อาชีพอิสระ
      • กลุ่มที่ 6 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม
ผู้สมัคร สว.จ.ราชบุรี ที่ได้ไปต่อในระดับประเทศ
ตามประกาศผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ เรื่อง บัญชีรายชื่อผู้ได้รับการเลือกจากการเลือกตั้งระดับจังหวัด ประเภทวิธีการสมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมแสดงหนังสือแนะนำชื่อผู้สมัครจากองค์กร ณ วันที่ 22 ธ.ค.2561 สรุป ผู้แทน จ.ราชบุรี ที่ได้รับการเสนอชื่อในแต่ละกลุ่ม ดังนี้
  • กลุ่มที่ 1  ไม่มี
  • กลุ่มที่ 2  ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 70 คน ได้แก่
    • ร.ต.ต.ฉลวย  กาญจนานพมาศ อายุ 67 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายชาลี  อู่ตะเภา อายุ 68 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ป.ตรี
    • นายทิวา  ลี้จากภัย อายุ 61 ปี อาชีพ วิชาชีพด้านกฏหมาย วุฒิ ป.โท
    • ส.ต.ต.เสียง  กัลปะ อายุ 65 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
  • กลุ่มที่ 3 ผู้แทน จ.ราชบุรี 1 คน จากทั่วประเทศ 71 คน ได้แก่
    • นายสมบูรณ์  นันทานิช อายุ 63 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ป.ตรี
  • กลุ่มที่ 4 ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 52 คน ได้แก่
    • นายกฤษฎา  ให้วัฒนานุกูล อายุ 53 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ป.เอก
    • นายจรัล อรุณคีรีวัฒน์  อายุ 58 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • น.ส.บุญนำ  บุษหมั่น อายุ 61 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายสุทิน  ชฎาดำ อายุ 63 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ป.โท
  • กลุ่มที่ 5 ไม่มี
  • กลุ่มที่ 6 ไม่มี
  • กลุ่มที่ 7 ผู้แทน จ.ราชบุรี 2 คน จากทั่วประเทศ 35 คน ได้แก่
    • นางนราทิพย์  ทองสุข อายุ 56 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ป.โท
    • นายพิชิต ตั้งสุข อายุ 64 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว วุฒิ ป.โท
  • กลุ่มที่ 8 ผู้แทน จ.ราชบุรี 1 คน จากทั่วประเทศ 107 คน ได้แก่
    • นายสุธน จิตรมั่น อายุ 55 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว วุฒิ ป.เอก
  • กลุ่มที่ 9 ผู้แทน จ.ราชบุรี จำนวน 1 คน จากทั่วประเทศ 26 คน ได้แก่
    • นายสุเมธ  งามเจริญ อายุ 48 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว วุฒิ ป.โท
  • กลุ่มที่ 10 ผู้แทน จ.ราชบุรี 3 คน จากทั่วประเทศ 18 คน ได้แก่
    • นายแก้ว แสงอาทิตย์ อายุ 71 ปี อาชีพ อื่นๆ  วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นางขวัญตา นาคนาคา อายุ 56 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ป.ตรี
    • พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อายุ 71 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
ตามประกาศผู้อำนวยการการเลือกระดับประเทศ เรื่อง บัญชีรายชื่อผู้ได้รับการเลือกจากการเลือกตั้งระดับจังหวัด ประเภทวิธีการสมัครโดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ณ วันที่ 22 ธ.ค.2561 สรุป ผู้แทน จ.ราชบุรี ที่ได้รับการเสนอชื่อในแต่ละกลุ่ม ดังนี้
  • กลุ่มที่ 1 ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 264 คน ได้แก่
    • นายโกเมท  สุขศรี อายุ 72 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ป.ตรี
    • นายบุญส่ง  พิชญพิธาน อายุ 78 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ป.ตรี
    • นางวรรณวิไล ประสานนาม อายุ 64 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • พ.ต.เสริบศักดิ์ แสงสุข อายุ 57 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ป.เอก
  • กลุ่มที่ 2 ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 187 คน ได้แก่
    • พ.ต.อ.ณัฐธพงษ์ ทองนาค อายุ 60 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ป.โท
    • นางเบญจรัตน์  จริยธาราสิทธิ์ อายุ 65 ปี อาชีพ วิชาชีพด้านกฏหมาย วุฒิ ป.โท
    • ร.ต.ท.ประกาศิต สิมหิม อายุ 62 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายประพนธ์  ภาคี วรัญญู อายุ 57 ปี อาชีพ วิชาชีพด้านกฏหมาย วุฒิ ป.โท
  • กลุ่มที่ 3 ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 275 คน ได้แก่
    • นายกุศล  จตุรพิธพร อายุ 61 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ป.ตรี
    • นายเฉลา พวงมาลัย อายุ 61 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายยง ดือขุนทด อายุ 72 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายอุดม นุกูล  อายุ 67 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ป.โท
  • กลุ่มที่ 4 ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 284 คน ได้แก่
    • นายประกอบ ทรัพย์ยอดแก้ว อายุ 52 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ป.ตรี
    • นายประยูร  วิสุทธิไพศาล อายุ 56 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายสมใจ  ล้วนแก้ว อายุ 59 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายสุพจน์ สิงห์โตศรี อายุ 54 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
  • กลุ่มที่ 5 ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 217 คน ได้แก่
    • นายเกษม วิเศษรจนา อายุ 59 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ป.ตรี
    • นายณรงค์ชัย  พุกคำมี อายุ 47 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายนพดล  ชัยเกียรติยศ อายุ 44 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ป.ตรี
    • นายพิชญา ชื่นอารมณ์ อายุ  ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
  • กลุ่มที่ 6 ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 149 คน ได้แก่
    • นายทรงพจน์  อ่อนแช่ม อายุ 45 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ป.ตรี
    • นายเมธี  ชีวีวัฒนากูล อายุ 74 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ป.ตรี
    • นางระพี  แหวนเพ็ชร อายุ 56 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • น.ส.ศิริรัตน์ แต่แดงเพชร อายุ 48 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี 
  • กลุ่มที่ 7 ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 227 คน ได้แก่
    • นางมาลัย เทาตัน อายุ 51 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายสัญชัย  กล่อมเกลา อายุ 42 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายสัญญา สิงห์อยู่ อายุ 59 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ป.โท
    • นางสุกัญญา ทรงแสง อายุ 54 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
  • กลุ่มที่ 8 ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 276 คน ได้แก่
    • นางใจเอื้อ บุญนาค อายุ 47 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายปราโมทย์  ไพชนม์ อายุ 78 ปี อาชีพ รับราชการ วุฒิ ป.โท
    • น.ส.มัทนา อ่อนธนู อายุ 62 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นางยุพิน ภู่สุวรรณ อายุ 56 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
  • กลุ่มที่ 9 ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 187 คน ได้แก่
    • น.ส.กุหลาบ การชาตรี อายุ 48 ปี อาชีพ วิชาชีพด้านการบันเทิง วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายเชาว์ การสมทบ อายุ 70 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายมานพ  อ่ำกิ่ม  อายุ 56 ปี อาชีพ เกษตรกร วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นายสุรพันธ์ ตันกำเนิด อายุ 61 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
  • กลุ่มที่ 10 ผู้แทน จ.ราชบุรี 4 คน จากทั่วประเทศ 228 คน ได้แก่
    • นายธวัชชัย เปลี่ยนศรี อายุ 60 ปี อาชีพเกษตรกร วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นางนีรชา  สุภากรเดช อายุ 56 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • นางอรุณี เจริญยิ่งสุขจินดา อายุ 58 ปี อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
    • น.ส.อุทัย  ชื่นอารมณ์ อายุ 58 ปี อาชีพ อื่นๆ วุฒิ ต่ำกว่า ป.ตรี
ผู้แทน จ.ราชบุรี ที่ได้รับการส่งชื่อต่อเข้าไปคัดเลือก สว.ในระดับประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 56 คน จากคนทั่วประเทศรวม 7,210 คน คงจะต้องฝ่าด่านอีกหลายด่าน ด่านแรกก็คือ ต้องคัดเลือกให้เหลือ 200 คน และด่านสุดท้ายก็ไม่พ้น คสช.ที่จะคัดเลือกให้เหลือเพียง 50 คน ในที่สุด

ขอเอาใจช่วยผู้แทน จ.ราชบุรี ทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่การแข่งขันเลือก สว. ในระดับประเทศ  ขอให้มีอยู่ใน 50 คนบ้างก็ดีครับ

**********************  

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561

Ratchaburi's Bomb disposal : การจัดการลูกระเบิดที่ราชบุรี

นายชยาวุธ  จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ฯ ได้ออกประกาศของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การเก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดในแม่น้ำแม่กลอง ฉบับที่ 5  สรุปผลการสำรวจของหน่วยประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ (กปถ.สพ.ทร.) ระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-4 ธ.ค.2561 พบว่ามีลูกระเบิดอากาศจมอยู่บริเวณใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ ทั้งหมดจำนวน 7 ลูก และหากจะมีการเก็บกู้ลูกระเบิดเมื่อใดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ขอให้ประชาชนทั่วไปอย่าได้ตื่นตระหนก และขอให้รับฟังข้อมูลข่าวสารจากทางราชการเท่านั้น 


ประกาศของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การเก็บกู้
เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดในแม่น้ำแม่กลอง ฉบับที่ 5 

ขั้นตอนการค้นหา (Search) ถือว่าประสบผลสำเร็จด้วยดี จากความสามารถของเจ้าหน้าที่ประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ (Navy Diver & EOD) โดยได้พบลูกระเบิดอากาศทั่วไป (General Purpose Bomb : GP bombs) ที่ยังไม่ระเบิด (Unexploded Bombs : UXBs) จำนวน 7 ลูก ซึ่งทราบข่าวเบื้องต้นว่าเป็นลูกระเบิดอากาศของประเทศอังกฤษ การพบลูกระเบิดทั้ง 7 ลูกครั้งนี้ หากเทียบกับกรณีหมูป่าแล้ว ก็เปรียบเสมือนกับการค้นพบทีมหมูป่าเท่านั้น แต่การตัดสินใจที่สำคัญต่อไปก็คือ การที่จะนำทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัยได้อย่างไร




การวินิจฉัย (Identify)
ขั้นตอนการแยกแยะหรือวินิจฉัยนี้ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด โดยปกติแล้ว การพบทุ่นระเบิด (Mine)  วัตถุระเบิด (Explosive) ระเบิดแสวงเครื่อง (IED) หรือสรรพาวุธระเบิดที่ยังไม่ระเบิด (UXO) จะห้ามไม่ให้ทำการเคลื่อนย้ายใดๆ ทั้งสิ้นจนกว่าเจ้าหน้าที่ EOD จะได้ทำการวินิจฉัยเสียก่อนว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง   

สำหรับที่ราชบุรีนี้ ถือว่าเป็นการพบ UXBs  ที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย และที่ยากขึ้นคือ มันจมอยู่ใต้น้ำระดับความลึกที่ 6-8 เมตร ในตำแหน่งที่ไม่ไกลกันนัก ประกอบกับทัศนวิสัยใต้น้ำที่ถือได้ว่ามองไม่เห็น และอายุของลูกระเบิดก็ปาเข้าไปถึง 73 ปี การปฏิบัติภารกิจเก็บกู้ครั้งนี้จึงถือว่าเป็นภารกิจในระดับที่ยากมาก การวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ EOD จึงมีความสำคัญ พลาดแทบไม่ได้  ลูกระเบิดที่พบนี้ อย่าตั้งสมมติฐานว่าเป็น "ลูกระเบิดที่ด้านแล้ว" ต้องถือว่าเป็น "ลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิด" ดังนั้น การวินิจฉัยจึงถือเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่ง  

การนิรภัย
โดยทั่วไปหลังจากที่พบลูกระเบิดแล้ว กฏข้อสำคัญข้อหนึ่ง ก็คือ การนิรภัย หมายถึงการทำให้ระเบิดไม่ทำงานหรือเป็นกลาง ด้วยการตัดวงจรระเบิด การปลดหรือถอดชนวน การใส่สลักกลับคืน เป็นต้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย หลังจากนั้นจึงค่อยตัดสินใจว่า จะเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ไปทำลาย ณ พื้นที่ใด แต่หากไม่สามารถนิรภัยได้แล้ว เจ้าหน้าที่ EOD อาจจำเป็นต้องทำลาย ณ ที่พบ ซึ่งการทำลาย ณ ที่พบนี้ เป็นเรื่องที่ต้องมีการจัดระบบป้องกัน (Explosion Protection) แรงอัดระเบิด (Blast) และสะเก็ดระเบิด (fragmentation) เช่น การทำบังเกอร์ป้องกันด้วยกระสอบทราย หรือยางรถยนต์ เป็นต้น


GP 1,000lb Mks I - IV
ที่มาของภาพ
http://ww2data.blogspot.com/2016/12/
british-explosive-ordnance-general.html
ใครควรอยู่ในทีมวินิจฉัย และใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ
เนื่องจากลูกระเบิดชนิดนี้ คนรุ่นปัจจุบันอย่างเราไม่ได้เคยสัมผัสจริง คงมีแต่ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดต่อๆ กันมา ทีมวินิจฉัยในครั้งนี้ จึงควรประกอบด้วย
  1. ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกระเบิดอากาศของไทย 
  2. ผู้เชี่ยวชาญด้าน EOD ของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
  3. ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกระเบิดอากาศและวิศวกรผู้ออกแบบจากประเทศผู้ผลิตลูกระเบิดนั้นๆ 
เหตุผลก็เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างรอบคอบจากการระดมสมองของผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุน ไม่ควรใช้เพียงแค่ประสบการณ์ที่ผ่านมาแต่อย่างเดียว เพราะหากมีข้อผิดพลาดประการใดเกิดขึ้นแล้ว ยังถือว่าได้ทำตามขั้นตอนมาตรฐานที่ดีที่สุดแล้ว  นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่สำคัญระหว่างประเทศที่จะสร้างสันติภาพบนโลกใบนี้ ด้วยการร่วมมือกันเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดที่ตกค้างจากภัยสงครามในอดีตที่ผ่านมา

หลังจากที่ทีมวินิจฉัยนำเสนอข้อมูลแล้ว ผู้ที่จะทำหน้าที่ตัดสินใจต่อไปก็คือ การพิจารณาของคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่ถูกแต่งตั้งขึ้น (ซึ่งควรเป็นคณะกรรมการในระดับชาติ) จะต้องมีมติร่วมกันเพื่อตัดสินใจ ว่าจะดำเนินการอย่างไรกันต่อไป

A 4000 lb GP bomb
ที่มาของภาพ
https://en.wikipedia.org/wiki/General-purpose_bomb

หากเคลื่อนย้ายไม่ได้ ต้องทำลายใต้น้ำ ณ จุดที่พบ
หากทีมวินิจฉัย วิเคราะห์แล้วว่า สามารถเคลื่อนย้ายได้ งานเก็บกู้และเคลื่อนย้ายไปทำลาย ณ สถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ก็ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากทีมวินิจฉัย วิเคราะห์ว่าไม่สามารถนิรภัยได้ อาจเกิดการระเบิดขึ้นในขณะเคลื่อนย้าย หากเป็นเช่นนี้ จะเกิดงานตามมาอีกมาก โดยเฉพาะการจัดระบบป้องกันแรงอัดระเบิดและสะเก็ดระเบิดบริเวณใต้แม่น้ำแม่กลอง

ยิ่งมีลูกระเบิดถึง 7 ลูกด้วยแล้ว หากเริ่มทำลายลูกที่ 1 แรงระเบิดจะทำให้เกิด Shock Wave นำพาไปสู่ระเบิดลูกที่ 2,3,4...7 ให้เกิดการระเบิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นโดมิโน หากเป็นเช่นนี้ คงพอจะจินตนาการได้ว่า สะพานจุฬาลงกรณ์ สะพานธนะรัชต์ ตึกรามบ้านช่อง และสถานที่ทำงานบริเวณสองฝากฝั่งแม่น้ำแม่กลอง คงจะกลายเป็นซากปรักหักพังอย่างที่เราเคยเห็นในหนังสงคราม 



สุดท้ายนี้ ก็หวังว่าลูกระเบิดทั้ง 7 ลูกนี้ จะสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย และขอภาวนาให้ภารกิจครั้งนี้ เป็นการ "Search & Recovery" ไม่อยากให้เป็น "Search & Destroy"




***********************   

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เส้นทางท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จ.ราชบุรี

ปัจจุบัน  จ.ราชบุรี ได้จัดเตรียมเส้นทางชุมชนท่องเที่ยว OTOP  นวัตวิถี ไว้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒธรรมและวิถีชีวิต ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 10 อำเภอ 44 ตำบล 50 หมู่บ้าน โดยสามารถแยกได้ออกเป็น 4 เส้นทาง ดังนี้

ภาพในงาน OTOP นวัตวิถี ราชบุรี

เส้นทางที่ 1 ตลาดวิถีไทยหนึ่งในภาคตะวันตก 
ประกอบไปด้วย
  1. กาดวิถีชุมชนคูบัว
  2. ตลาดด่านขนอน
  3. ต๋าหลาดไท-ยวน วัดนาหนอง ต.ดอนแร่
  4. ตลาดอมยิ้มตลาดวิถีไทยย้อนยุคอำเภอจอมบึง
  5. ซาสุขใจ วิถีไทย-มอญ ดอนกระเบื้อง ตลาดด่านขนอน
  6. ตลาดริมน้ำสามอำเภอ (วัดเพลง)  
ด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมา และความหลากหลายของชนชาติพันธ์ใน จ.ราชบุรี มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่แสดงออกเป็นอัตลักษณ์ตัวตนของชาวราชบุรี ถ่ายทอดผ่านตลาดประชารัฐ ตลาดวิถีไทย ที่รวบรวมผผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการกิน การอยู่ ผ้าทอที่เลื่องชื่อ การแสดงบนเวทีลานวัฒนธรรมของตลาดวิถีไทยทั้ง 6 แห่ง ของ จ.ราชบุรี ที่ได้ถ่ายทอดเสน่ห์ ให้นักท่องเที่ยวได้ชม อีกทั้งยังเป็นการอุดหนุนสินค้าชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้ ไม่เพียงพ่อค้าแม่ค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสินค้า เรียกได้ว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึง เดินทางง่ายๆ จากกรุงเทพฯ เพียงร้อยกว่ากิโลเมตร เริ่มจากถนนพระราม 2 ตลาดแรกที่ไม่ควรพลาดคือ ตลาดอมยิ้ม อ.จอมบึง เสน่ห์อยู่ที่ความหลากหลายของชาติพันธุ์ สินค้าชุมชนราคาถูก บึงบัวหลากสายพันธ์ุ  หลังจากนั้นชมการแสดงหนังใหญ่ที่ตลาดด่านขนอน นั่งเล่นชิลล์ริมแม่น้ำแม่กลอง ต่อด้วยการชมวิถีชีวิตไทย-มอญ ที่ซาสุขใจ  ดื่มกาแฟบุญ  แล้วไปต่อที่ ต๋าหลาดไท-ยวน วัดนาหนอง ชมทุ่งทานตะวัน ชมนาข้าว   เช็คอินท้องทุ่งนากับสะพานไม้ไผ่ทอดไปกลางทุ่ง ก่อนแดดร่มลมตก เดินชิลล์ตลาดน้ำสามอำเภอ ถนนคนเดินเพลินเพลง ชมการแสดงของชาวเขมรลาวเดิม ชิมขนมงาสลัดขึ้นชื่อ ก่อนพระอาทิตย์ตกดินไปนั่งฟินกินโตกที่กาดวิถีชุมชนคูบัว สัมผัสบรรยากาศกลิ่นอายล้านนา ชมการแสดงที่ถ่ายทอดเรื่องราวของชาวไท-ยวน ที่อพยพมาจากเชียงแสน ของน้องๆ เยาวชนต้นกล้ารักบ้านเกิดคูบัว พร้อมทั้งเลือกซื้อผ้าทอคูบัวที่ขึ้นชื่อ ก่อนกลับกราบไหว้สักการะขอพรพระพุทธศรีสุวรรณภูมิเพื่อความเป็นสิริมงคล



ภาพในงาน OTOP นวัตวิถี ราชบุรี

เส้นทางที่ 2 อารยธรรมลุ่มน้ำแม่กลอง
แม่น้ำแม่กลองสายน้ำแห่งชีวิต ที่หล่อหลอมวิถีของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองมายาวนาน หลายร้อยปี จะเห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองทางอารยธรรม ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนสระโกสินารายณ์ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองทางประวัติศาสตร์สมัยลพบุรี หรือแม้กระทั้ง พิพิธภัณฑ์บ้านม่วง ที่ตามคำบอกเล่ากล่าวกันมาว่า อพยพมาจากประเทศพม่า แล้วมาตั้งรกรากริมแม่น้ำแม่กลอง ในส่วนของอำเภอโพธารามจะมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ที่ถ่ายทอดศิลปะการแสดงหนังใหญ่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือจิตกรรมฝาผนังที่วัดคงคา ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 250 ปี ในส่วนของอำเภอเมืองราชบุรี มีพระปรางค์วัดมหาธาตุวรวิหาร พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ พระสี่มุมเมือง ที่ประดิษฐานบนยอดเขาแก่นจันทร์ หลวงพ่อแก่นจันทร์ ที่มีตำนานเล่ามาว่า เป็นพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมา ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดช่องลม หรือแม้กระทั่งเมืองโบราณคูบัว  ที่มีเรื่องราวมาตั้งแต่สมัยทวารวดี หรือแม้กระทั่งชนชาติพันธ์ุ์ที่อาศัยอยู่ที่ตำบลคูบัว โดยส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวไท-ยวน ที่บรรพบุรุษได้อพยพมาจากเชียงแสน เมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา   

ปัจจุบันเส้นทางการท่องเที่ยวเส้นทางนี้ มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ตามโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 19 หมู่บ้าน ได้แก่
  1. บ้านสระโบสถ์ หมู่ที่ 6 ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี
  2. บ้านรางไม้แดง หมู่ที่ 6 ต.เจดีย์หัก อ.เมืองราชบุรี
  3. บ้านเขาหลวง หมู่ที่ 7 ต.ดอนตะโก อ.เมืองราชบุรี
  4. บ้านคุ้งกระถิน หมู่ที่ 6 ต.บางป่า อ.เมืองราชบุรี
  5. บ้านหนองนางแพรว หมู่ที่ 6 ต.น้ำพุ อ.เมืองราชบุรี
  6. บ้านหนองขาม หมู่ที่ 2 ต.ดอนแร่ อ.เมืองราชบุรี
  7. ชุมชนมนตรีพัฒนา ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี
  8. บ้านฆ้อง หมู่ที่ 12 ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง
  9. ชุมชนสระน้ำทิพย์ (บ้านครก) หมู่ที่ 19 ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง 
  10. บ้านหนองหญ้าปล้อง หมู่ที่ 8 ต.สวนกล้วย อ.บ้านโป่ง
  11. บ้านแพะ หมู่ที่ 16 ต.หนองปลาหมอ อ.บ้านโป่ง
  12. บ้านนครชุมน์ หมู่ที่ 5 ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง
  13. บ้านม่วง หมู่ที่ 5 ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง
  14. บ้านสระน้อย หมู่ที่ 5 ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม
  15. บ้านเตาปูน หมู่ที่ 2 ต.เตาปูน อ.โพธาราม
  16. บ้านวัดขนอน หมู่ที่ 4  ต.สร้อยฟ้า  อ.โพธาราม
  17. บ้านต้นมะขาม หมู่ที่ 4 ต.ดอนกระเบื้อง อ.โพธาราม
  18. บ้านวังลึก หมู่ที่ 1 ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม
  19. บ้านโรงหีบ หมู่ที่ 9 ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม
ภาพในงาน OTOP นวัตวิถี ราชบุรี

เส้นทางที่ 3  ผลไม้เลิศรส เพลิดเพลินตลาดน้ำ
จ.ราชบุรีมีจุดเด่นในด้านของผลผลิตทางเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรส่งผลไม้ออกวางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมีคลองดำเนินสะดวก ที่ได้ทำการขุดในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบัน เป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวอำเภอดำเนินสะดวก และพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้น้ำจากคลองนี้ ในการประกอบอาชีพ 

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับให้นักท่องเที่ยวมาพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากคลองดำเนินสะดวกที่มีชื่อระดับโลก มาเป็นชุมชนท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการชมสวนผลไม้ การพัฒนาให้เป็นตลาดริมน้ำ ที่จำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ OTOP  ให้นักท่องเที่ยว ได้เลือกซื้อหา ถือได้ว่าเป็นมนเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชม สำหรับเส้นทางนี้ ประกอบไปด้วย 3 อำเภอ 12 หมู่บ้าน ดังนี้
  1. บ้านสะพานดำ หมู่ที่ 11  ต.วัดแก้ว อ.บางแพ
  2. บ้านดอนกลาง หมู่ที่ 2 ต.ดอนใหญ่  อ.บางแพ
  3. บ้านบ้านไร่ หมู่ที่ 4 ต.บางแพ อ.บางแพ
  4. บ้านวัดปรกเจริญ หมู่ที่ 6 ต.ตาหลวง อ.ดำเนินสะดวก 
  5. บ้านประสาทสิทธิ์ หมู่ที่ 5 ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก
  6. บ้านศาลาห้าห้อง หมู่ที่ 8 ต.ดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก
  7. บ้านรางเฟื้อ หมู่ที่ 5 ต.ดอนคลัง อ.ดำเนินสะดวก
  8. บ้านหนองงูเหลือม หมู่ที่ 3 ต.ประสาทสิทธิ์ อ.ดำเนินสะดวก
  9. บ้านบางกล้วย หมู่ที่ 1 ต.จอมประทัด อ.วัดเพลง
  10. บ้านวัดฝรั่ง หมู่ที่ 4 ต.วัดเพลง อ.วัดเพลง
  11. บ้านวัดเพลง หมู่ที่ 5 ต.วัดเพลง อ.วัดเพลง
  12. บ้านคลองขุด หมู่ที่ 10 ต.เกาะศาลพระ อ.วัดเพลง
ภาพในงาน OTOP นวัตวิถี ราชบุรี

เส้นทางที่ 4 อุ่นไอดิน ถิ่นขุนเขา
อีกหนึ่งเส้นทางชุมชนท่องเที่ยวที่มีมนต์เสน่ห์ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้ไปเยี่ยมชม ไม่ว่าจะเป็นเยี่ยมชมวัฒนธรรมไทยทรงดำ ที่มีการทอผ้า เรียนรู้วิถีชีวิตของชนชาติพันธุ์ เลือกซื้อผ้าลายแตงโม เที่ยวชมธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ ศูนย์ป่าเฉลิมพระเกียรติ เที่ยวชมวิถีชีวิตชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ่อน้ำพุร้อน ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ได้มาเยี่ยมชม ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี้คือสวิสเซอร์แลนด์เมืองไทย อีกแห่งหนึ่ง นักท่องเที่ยวสามารถพักค้างได้โดยมีรีสอร์ทไว้บริการ และเลือกพักมากมาย และชิมสับประรดที่ขึ้นชื่อว่า "ไม่หวานจัด ไม่กัดลิ้น" รวมไปถึงเลือกซื้อสินค้า OTOP มากมาย สถานที่ถ่ายภาพที่สวยงาม อุดหนุนสินค้าชุมชน ญ ตลาดวิถีไทย ที่มีเสน่ห์ในด้านการแต่งกายของชาติพันธุ์และสินค้าบรรจุด้วยถุงกระดาษ สำหรับเส้นทางนี้ประกอบไปด้วย 4 อำเภอ 19 หมู่บ้าน ได้แก่
  1. บ้านหินสี หมู่ที่ 4 ต.ยางหัก อ.ปากท่อ
  2. บ้านห้วยศาลา หมู่ที่ 7 ต.ยางหัก อ.ปากท่อ
  3. บ้านเขาดิน หมู่ที่ 6 ต.หนองกระทุ่ม อ.ปากท่อ
  4. บ้านห้วยต้นห้าง หมู่ที่ 6 ต.อ่างหิน อ.ปากท่อ
  5. บ้านหัวเขาจีน หมู่ที่ 1 ต.ห้วยยางโทน อ.ปากท่อ
  6. บ้านเหล่ามะละกอ หมู่ที่ 15 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ
  7. บ้านตลาดควาย หมู่ที่ 5 ต.จอมบึง อ.จอมบึง
  8. บ้านรางดอกอาว หมู่ที่ 1  ต.รางบัว อ.จอมบึง
  9. บ้านท่าเคย หมู่ที่ 6 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง
  10. บ้านสวนผึ้ง หมู่ที่ 1 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง
  11. บ้านห้วยแห้ง หมู่ที่ 5  ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง
  12. บ้านท่ามะขาม หมู่ที่ 2 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง
  13. บ้านผาปก หมู่ที่ 3 ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง 
  14. บ้านพุน้ำร้อน หมู่ที่ 4  ต.บ้านบึง อ.บ้านคา
  15. บ้านโป่งกระทิงบน หมู่ที่ 1 ต.บ้านบึง อ.บ้านคา
  16. บ้านหนองจอก หมู่ที่ 5 ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา
  17. บ้านต้นมะค่า หมู่ที่ 10 ต.บ้านคา อ.บ้านคา
  18. บ้านห้วยสวนพลู หมู่ที่ 6 ต.บ้านบึง อ.บ้านคา
  19. บ้านคา หมู่ที่ 1  ต.บ้านคา อ.บ้านคา
ภาพในงาน OTOP นวัตวิถี ราชบุรี

*************************************
ที่มาข้อมูลและภาพ งาน OTOP นวัตวิถีราชบุรี : 11 พ.ย.2561

วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561

เมืองเก่าราชบุรีกับการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่าทำขนมเสร็จแล้วมาให้กิน

เมืองเก่า หมายถึง เมืองหรือบริเวณของเมืองที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะแห่ง สืบต่อมาแต่กาลก่อน หรือมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือมีลักษณะจำเพาะของสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีคุณค่าทางศิลปะ โบราณคดี หรือประวัติศาสตร์ เป็นมรดกวัฒนธรรมล้ำค่าของชาติ

เมืองเก่าราชบุรี 
หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าบริเวณเขตตัวเมืองราชบุรี ได้รับการประกาศเป็น "เขตเมืองเก่าราชบุรี" จึงขอสรุปเรื่องราวความเป็นมาให้ทราบ โดยสังเขปดังนี้  

คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเรื่อง ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าสุรินทร์ เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองเก่าระนอง เมื่อ 11 เม.ย.2560 โดยขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี เป็นไปตามภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี "ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546"

ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรี
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำ "กรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า จัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท กลไก และกระบวนการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่า" เพื่อให้บริเวณเมืองเก่าได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไป 

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ พร้อมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป 

หากมีกรณีขอบเขตพื้นที่เมืองเก่ามีพื้นที่คาบเกี่ยวหรืออยู่ในเส้นทาง/เขตทาง/พื้นที่ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับฟังความเห็นของกระทรวงนั้นๆ ด้วย 

ให้ขยายขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรีออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่วัดสัตตนารถปริวัตร ด้วยเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นโบราณสถาน (ในภาพด้านบนยังไม่แสดงขอบเขตที่ขยายไว้ เพราะต้นฉบับยังไม่ได้แก้ไข)

การดำเนินการใด ๆ กับโบราณสถาน ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการนำกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง

คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า
ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเรียกว่า "คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าราชบุรี" ประชุมกันครั้งแรกเมื่อ 15 มิ.ย.2561 โดยมี สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี เป็นหน่วยงานเจ้าเรื่องในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ ใครเป็นใครบางในคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ลองสืบค้นกันดูเองครับ ที่สำคัญ คงจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง ด้านสังคมวิทยา ด้านการพัฒนาชุมชนและการมีส่วนร่วม ด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและเมือง   ด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน สถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตย์ ด้านสารสนเทศภูมิศาสตร์ ด้านกฏหมาย ด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านการออบแบบเมือง เป็นต้น 

โครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าราชบุรี
สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี ได้มอบหมายให้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยกลุ่มวิจัยและปฏิบัติการชุมชนเมือง (City Lab) ดำเนินโครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าราชบุรี โดยมี ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ เป็น หัวหน้าโครงการฯ 

โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ จัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท แนวทาง แผนปฏิบัติ และมาตรการต่างๆ ในการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณบริเวณเมืองเก่า โดยการมีส่วนร่วม เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาของทุกภาคส่วนในพื้นที่ 

การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อ 17 ก.ย.2561
การรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 
สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ราชบุรี ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 จากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2561 ณ โรงแรมเวสเทิร์นแกรนด์ อ.เมือง จ.ราชบุรี การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างเงียบๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมง มีผู้เข้ารับฟังบางตา  บางคนบางกลุ่มก็ดูเหมือนจะผิดฝาผิดตัว  กลุ่มคนที่ทำงานขับเคลื่อนภาคประชาสังคมของราชบุรี ในสาขาต่างๆ หลายคน กลับไม่ทราบ และไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับฟังฯ แต่อย่างใด   

ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น

อย่าทำขนมเสร็จแล้วมาให้กิน 
การประกาศ "เขตเมืองเก่าราชบุรี" ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของชาวราชบุรี ที่จะได้พัฒนาเมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะจะช่วยสานฝันตามนโยบาย นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี คนปัจจุบัน คือ การจัดสร้างหอศิลปะวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรราชบุรี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านราชบุรี  พิพิธภัณฑ์ตำรวจราชบุรี และที่สำคัญ คือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี ชาวราชบุรีได้ฟังนโยบายแล้ว รู้สึกปลื้ม! 

แกนนำหลักที่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ ก็คงไม่พ้น หน.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ซึ่งเปรียบเสมือนภัณฑารักษ์คนสำคัญ กับ วัฒนธรรม จ.ราชบุรี ที่กำความรู้เรื่องวัฒนธรรมราชบุรีไว้มากที่สุด จึงขอให้ท่านทั้งสองช่วยเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยกันสร้าง "ตำนาน" ให้คนรุ่นหลังได้จดจำ เห็นว่าได้เริ่มไปศึกษาดูงาน ณ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ที่ จ.เชียงใหม่ กันแล้วเมื่อ 18 ก.ย.2561 ที่ผ่านมา 

ศาลแขวงราชบุรี จะจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านราชบุรี
สิ่งสำคัญที่สุดที่ทางราชการควรให้ความสนใจ คือ การให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เขาจะได้รู้สึกว่า ได้ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทำ และเมื่อทำสำเร็จแล้ว เขาก็จะรู้สึกรักและหวงแหน นี่คือ กลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้เมืองราชบุรี เป็นเมืองทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง  

ภาคราชการไม่ควรทำขนมคนเดียว พอเสร็จแล้วจึงเอามาให้ประชาชนกิน แล้วให้บอกว่าอร่อย แต่ที่ท่านควรทำ คือ ชักชวนภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้มาช่วยกันทำขนมตั้งแต่เริ่มต้น พอขนมเสร็จแล้ว จึงเรียกได้ว่า "เป็นขนมที่พวกเราทั้งหมดช่วยกันทำ"   

**************************
จุฑาคเชน : 20 ก.ย.2561  

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

คิดต่อให้จบ "รักราชบุรีร่วมสร้างราชบุรี"

เป็นที่สรุปแล้ว คณะทำงานร่วมเพื่อประสานงานการดำเนินการก่อสร้างรถไฟรางคู่ในพื้นที่ จ.ราชบุรี  ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2561  ให้ดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่บริเวณโดยรอบใต้สะพานจุฬาลงกรณ์เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และไม่กีดขวางการสร้างสะพานรถไฟรางคู่ข้ามแม่น้ำแม่กลอง โดยจะเริ่มดำเนินการหลังระดับน้ำในแม่น้ำแม่กลองเข้าสู่ภาวะปกติ ประมาณปลายเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งคาดว่าใช้เวลาในการเก้บกู้ประมาณ 3-4 เดือน ส่วนการกู้หัวรถจักรไอน้ำจะต้องพิจารณากันอีกครั้งหลังจากการกู้ระเบิดแล้วเสร็จ 


รายชื่อคณะทำงานที่จะดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดฯ จะตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้ยกร่างฯ รายชื่อ เสนอผ่านไปยัง กระทรวงคมนาคม เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ออกคำสั่ง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องตามขอบข่ายของอำนาจ

คิดต่อให้จบ..... 
จ.ราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างช่วงปี พ.ศ.2485-2488 โดยเป็นที่ตั้งค่ายของทหารญี่ปุ่นถึง 3 ค่าย และบริเวณสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง ยังถือจุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟสายมรณะไทย-พม่า อีกด้วย เชลยศึกชาวต่างชาติที่ถูกญี่ปุ่นจับมาสร้างทางรถไฟ ล้วนต้องเดินทางผ่านสถานที่แห่งนี้ทุกคน และบางส่วนก็ตั้งแคมป์อยู่บริเวณนี้ด้วย และในช่วงท้ายสงคราม จ.ราชบุรี ยังเป็นเป้าหมายโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรถึง 7 ครั้ง จนกระทั่ง "สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์"  ต้องหักสะบั้นลง ญี่ปุ่นต้องสร้างสะพานรถไฟขึ้นใหม่ด้วยไม้แทน เปิดใช้งานอย่างหนักจนสะพานรับน้ำหนักไม่ไหว ส่งผลให้หัวรถจักรไอน้ำขณะที่วิ่งข้าม หล่นจมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลองจนถึงทุกวันนี้ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวราชบุรีในช่วงสงครามอยู่ในขั้นข้าวยากหมากแพง แต่ก็ยังมีเรื่องราวดีดีระหว่างมิตรภาพของทหารญี่ปุ่นกับชาวราชบุรีให้น่าบันทึกจดจำอีกด้วย  

แต่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชบุรีนี้ กลับไม่ได้มีการบันทึกหรือจัดแสดงไว้ให้เห็นเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด  แม้แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ที่ควรจะมี ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็น 


จุดเริ่มต้นทางรถไฟสายมรณะ ไทย-พม่า เริ่มต้นที่
สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก

ในโอกาสที่จะมีการเก็บกู้ลูกระเบิดและหัวรถจักรไอน้ำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ใต้ลำน้ำแม่กลองมากว่า 70 ปี ขึ้นมาให้เราเห็นในต้นปีหน้า (พ.ศ.2562) คนราชบุรีจึงต้องช่วยกันคิดต่อว่าเมื่อเอาขึ้นมาแล้วจะทำอะไรต่อไป 


พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี 
ผมเคยเขียนเรื่อง "พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี"  (อ่านรายละเอียด) ไว้แล้ว ลองคลิกอ่านดูนะครับ  ความฝันที่จะมีพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของราชบุรี มีมานานแล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จ จนกระทั่งบัดนี้ ถือเป็นโอกาสเหมาะ ที่ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม หาช่องทางที่จะสร้างให้ได้ ซึ่งจะยังประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้  และยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สงครามได้อีกแห่งหนึ่งเพื่อเชื่อมโยงกับ จ.กาญจนบุรี รวมทั้งเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวของเดิมที่ราชบุรีมีอยู่แล้ว เช่น เจ้าพ่อหลักเมือง พิพิธภัณฑ์ทหารช่าง กำแพงเมืองโบราณ ประตูเมืองเก่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตลาดเก่าโคยกี๊ เป็นต้น  

เขตเมืองเก่าราชบุรี
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อ 11 เม.ย.2560 เรื่อง ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าสุรินทร์ เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองเก่าระนอง  ซึ่งพอสรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับราชบุรีบ้านเรา ได้ดังนี้
  1. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรีป็นไปตามภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี "ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546" 
  2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดทำกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า จัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท กลไก และกระบวนการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่า เพื่อให้บริเวณเมืองเก่าได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไป 
  3. ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ พร้อมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป  
  4. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หากมีกรณีขอบเขตพื้นที่เมืองเก่ามีพื้นที่คาบเกี่ยวหรืออยู่ในเส้นทาง/เขตทาง/พื้นที่ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า ซึ่งหากมีการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เมืองเก่าต้องมีการตรวจสอบร่วมกันและพิจารณาแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าและกรอบเวลาให้ชัดเจนเพื่อให้หน่วยงานสามารถวางแผนงาน/โครงการได้ 
  5. ขยายขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรีออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่วัดสัตตนารถปริวัตร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นโบราณสถาน 
  6. การดำเนินการใด ๆ กับโบราณสถาน ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการนำกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง 
ที่ผมเขียนเรื่อง การประกาศเขตเมืองเก่าราชบุรี ให้ทราบนั้น เผื่อว่ามันอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเสนองบประมาณในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี (บางส่วนบางตอน) ได้ คงต้องคิดหาทางกันต่อไป 

รักราชบุรี ร่วมสร้างราชบุรี
การสร้างพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก ทั้งสถานที่ รูปแบบ การบริหารจัดการ และงบประมาณที่จะนำมาก่อสร้าง แต่คิดว่าคงไม่เกินความสามารถ หากทุกภาคส่วนมีความตั้งใจจริง ออกมาร่วมคิดร่วมทำกัน รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างตำนานให้คนรุ่นหลังต่อไป 
  • ภาคราชการเป็นผู้นำ ต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไร?  ช่วยกันหาช่องทางเพื่อเสนอขออนุมัติรัฐบาลในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์  และขอรับการสนับสนุนงบประมาณผ่านช่องทางต่างๆ มาสนับสนุน  หน่วยงานส่วนกลางที่น่าจะเป็นเจ้าภาพหลัก  คือ การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ส่วนหน่วยงานท้องถิ่น ก็คงเป็น อบจ.ราชบุรี และเทศบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบ   
  • ภาคเอกชนสนับสนุน  ต้องช่วยส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันแนวคิด ช่วยหางบประมาณมาเสริมเติมในส่วนที่ขาดเหลือ  ภาคเอกชนที่มีศักยภาพในราชบุรีมีหลายแห่ง เช่น สภาอุตสาหกรรม จ.ราชบุรี หอการค้า จ.ราชบุรี  บริษัทกลุ่มพลังงานราชบุรี  รวมทั้งสโมสร มูลนิธิการกุศลต่างๆ เป็นต้น  
  • ภาคประชาสังคมร่วมใจ กลุ่มคนต่างๆ ที่รักราชบุรี  กลุ่มพ่อค้า ประชาชน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา  ที่อยากเห็นราชบุรีเจริญงอกงามขึ้น ต้องออกมาช่วยสนับสนุนยืนยันความต้องการการสร้างพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้  อย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจของรัฐบาล
ช่วยกันคิดนะครับ และต้องคิดตั้งแต่เดี๋ยวนี้

"หน้าที่ ตำแหน่ง ยศฐาบรรดาศักดิ์ เมื่อถึงเวลาก็หมดไป แต่ "ตำนาน" ต่างหาก ที่ยังคงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน  ทำให้ได้ใน คนรุ่นเรา นี่แหละครับ"

ภาคราชการเป็นผู้นำ ภาคเอกชนสนับสนุน ภาคประชาสังคมร่วมใจ ทุกอย่างสำเร็จแน่นอนครับ

****************************
จุฑาคเชน : 11 ก.ย.2561




บทความที่ได้รับความนิยม