วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

คิดต่อให้จบ "รักราชบุรีร่วมสร้างราชบุรี"

เป็นที่สรุปแล้ว คณะทำงานร่วมเพื่อประสานงานการดำเนินการก่อสร้างรถไฟรางคู่ในพื้นที่ จ.ราชบุรี  ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2561  ให้ดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่บริเวณโดยรอบใต้สะพานจุฬาลงกรณ์เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และไม่กีดขวางการสร้างสะพานรถไฟรางคู่ข้ามแม่น้ำแม่กลอง โดยจะเริ่มดำเนินการหลังระดับน้ำในแม่น้ำแม่กลองเข้าสู่ภาวะปกติ ประมาณปลายเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งคาดว่าใช้เวลาในการเก้บกู้ประมาณ 3-4 เดือน ส่วนการกู้หัวรถจักรไอน้ำจะต้องพิจารณากันอีกครั้งหลังจากการกู้ระเบิดแล้วเสร็จ 


รายชื่อคณะทำงานที่จะดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดฯ จะตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้ยกร่างฯ รายชื่อ เสนอผ่านไปยัง กระทรวงคมนาคม เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ออกคำสั่ง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องตามขอบข่ายของอำนาจ

คิดต่อให้จบ..... 
จ.ราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างช่วงปี พ.ศ.2485-2488 โดยเป็นที่ตั้งค่ายของทหารญี่ปุ่นถึง 3 ค่าย และบริเวณสถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง ยังถือจุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟสายมรณะไทย-พม่า อีกด้วย เชลยศึกชาวต่างชาติที่ถูกญี่ปุ่นจับมาสร้างทางรถไฟ ล้วนต้องเดินทางผ่านสถานที่แห่งนี้ทุกคน และบางส่วนก็ตั้งแคมป์อยู่บริเวณนี้ด้วย และในช่วงท้ายสงคราม จ.ราชบุรี ยังเป็นเป้าหมายโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรถึง 7 ครั้ง จนกระทั่ง "สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์"  ต้องหักสะบั้นลง ญี่ปุ่นต้องสร้างสะพานรถไฟขึ้นใหม่ด้วยไม้แทน เปิดใช้งานอย่างหนักจนสะพานรับน้ำหนักไม่ไหว ส่งผลให้หัวรถจักรไอน้ำขณะที่วิ่งข้าม หล่นจมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลองจนถึงทุกวันนี้ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวราชบุรีในช่วงสงครามอยู่ในขั้นข้าวยากหมากแพง แต่ก็ยังมีเรื่องราวดีดีระหว่างมิตรภาพของทหารญี่ปุ่นกับชาวราชบุรีให้น่าบันทึกจดจำอีกด้วย  

แต่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชบุรีนี้ กลับไม่ได้มีการบันทึกหรือจัดแสดงไว้ให้เห็นเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด  แม้แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ที่ควรจะมี ก็ยังไม่ปรากฏให้เห็น 


จุดเริ่มต้นทางรถไฟสายมรณะ ไทย-พม่า เริ่มต้นที่
สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก

ในโอกาสที่จะมีการเก็บกู้ลูกระเบิดและหัวรถจักรไอน้ำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ใต้ลำน้ำแม่กลองมากว่า 70 ปี ขึ้นมาให้เราเห็นในต้นปีหน้า (พ.ศ.2562) คนราชบุรีจึงต้องช่วยกันคิดต่อว่าเมื่อเอาขึ้นมาแล้วจะทำอะไรต่อไป 


พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี 
ผมเคยเขียนเรื่อง "พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี"  (อ่านรายละเอียด) ไว้แล้ว ลองคลิกอ่านดูนะครับ  ความฝันที่จะมีพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของราชบุรี มีมานานแล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จ จนกระทั่งบัดนี้ ถือเป็นโอกาสเหมาะ ที่ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องช่วยกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม หาช่องทางที่จะสร้างให้ได้ ซึ่งจะยังประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้  และยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์สงครามได้อีกแห่งหนึ่งเพื่อเชื่อมโยงกับ จ.กาญจนบุรี รวมทั้งเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวของเดิมที่ราชบุรีมีอยู่แล้ว เช่น เจ้าพ่อหลักเมือง พิพิธภัณฑ์ทหารช่าง กำแพงเมืองโบราณ ประตูเมืองเก่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี ตลาดเก่าโคยกี๊ เป็นต้น  

เขตเมืองเก่าราชบุรี
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อ 11 เม.ย.2560 เรื่อง ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่า และกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เมืองเก่าราชบุรี เมืองเก่าสุรินทร์ เมืองเก่าภูเก็ต และเมืองเก่าระนอง  ซึ่งพอสรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับราชบุรีบ้านเรา ได้ดังนี้
  1. ขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรีป็นไปตามภาพที่แสดงไว้ด้านล่าง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี "ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546" 
  2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดทำกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า จัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท กลไก และกระบวนการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่า เพื่อให้บริเวณเมืองเก่าได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่อไป 
  3. ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ พร้อมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป  
  4. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หากมีกรณีขอบเขตพื้นที่เมืองเก่ามีพื้นที่คาบเกี่ยวหรืออยู่ในเส้นทาง/เขตทาง/พื้นที่ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมเจ้าท่า ซึ่งหากมีการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เมืองเก่าต้องมีการตรวจสอบร่วมกันและพิจารณาแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าและกรอบเวลาให้ชัดเจนเพื่อให้หน่วยงานสามารถวางแผนงาน/โครงการได้ 
  5. ขยายขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าราชบุรีออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่วัดสัตตนารถปริวัตร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นโบราณสถาน 
  6. การดำเนินการใด ๆ กับโบราณสถาน ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการนำกรอบแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง 
ที่ผมเขียนเรื่อง การประกาศเขตเมืองเก่าราชบุรี ให้ทราบนั้น เผื่อว่ามันอาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเสนองบประมาณในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี (บางส่วนบางตอน) ได้ คงต้องคิดหาทางกันต่อไป 

รักราชบุรี ร่วมสร้างราชบุรี
การสร้างพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ จ.ราชบุรี ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก ทั้งสถานที่ รูปแบบ การบริหารจัดการ และงบประมาณที่จะนำมาก่อสร้าง แต่คิดว่าคงไม่เกินความสามารถ หากทุกภาคส่วนมีความตั้งใจจริง ออกมาร่วมคิดร่วมทำกัน รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างตำนานให้คนรุ่นหลังต่อไป 
  • ภาคราชการเป็นผู้นำ ต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไร?  ช่วยกันหาช่องทางเพื่อเสนอขออนุมัติรัฐบาลในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์  และขอรับการสนับสนุนงบประมาณผ่านช่องทางต่างๆ มาสนับสนุน  หน่วยงานส่วนกลางที่น่าจะเป็นเจ้าภาพหลัก  คือ การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ส่วนหน่วยงานท้องถิ่น ก็คงเป็น อบจ.ราชบุรี และเทศบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบ   
  • ภาคเอกชนสนับสนุน  ต้องช่วยส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันแนวคิด ช่วยหางบประมาณมาเสริมเติมในส่วนที่ขาดเหลือ  ภาคเอกชนที่มีศักยภาพในราชบุรีมีหลายแห่ง เช่น สภาอุตสาหกรรม จ.ราชบุรี หอการค้า จ.ราชบุรี  บริษัทกลุ่มพลังงานราชบุรี  รวมทั้งสโมสร มูลนิธิการกุศลต่างๆ เป็นต้น  
  • ภาคประชาสังคมร่วมใจ กลุ่มคนต่างๆ ที่รักราชบุรี  กลุ่มพ่อค้า ประชาชน ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา  ที่อยากเห็นราชบุรีเจริญงอกงามขึ้น ต้องออกมาช่วยสนับสนุนยืนยันความต้องการการสร้างพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้  อย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจของรัฐบาล
ช่วยกันคิดนะครับ และต้องคิดตั้งแต่เดี๋ยวนี้

"หน้าที่ ตำแหน่ง ยศฐาบรรดาศักดิ์ เมื่อถึงเวลาก็หมดไป แต่ "ตำนาน" ต่างหาก ที่ยังคงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน  ทำให้ได้ใน คนรุ่นเรา นี่แหละครับ"

ภาคราชการเป็นผู้นำ ภาคเอกชนสนับสนุน ภาคประชาสังคมร่วมใจ ทุกอย่างสำเร็จแน่นอนครับ

****************************
จุฑาคเชน : 11 ก.ย.2561




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม