วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2561

การกู้ระเบิดบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ จ.ราชบุรี จะทำกันอย่างไร?

นับเป็นข่าวสำคัญเรื่องการพบลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังไม่ระเบิด  (Unexploded ordnance : UXO) บริเวณด้านท้ายน้ำของสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ เขตเมืองราชบุรี จำนวน 4-6 ลูก จนความทราบถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ท่านจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดนั้นเสีย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและไม่กีดขวางต่อการสร้างทางรถไฟรางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหินที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ 



อย่ามองว่าเป็นแค่เรื่อง EOD ควรปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
ทุกคนอาจมองว่า ลูกระเบิดที่พบเป็นแค่เรื่องการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิด  (Explosive ordnance disposal : EOD) แต่ข้อเท็จจริงตามมาตรฐานการปฏิบัติงานทุ่นระเบิดสากล (International Mine Action Standard : IMAS) ซึ่งประเทศทั่วโลกที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวา (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) มีวิธีการที่ยึดถือและใช้ปฏิบัติกัน วิธีการนี้มีชื่อเรียกกว่า  "การปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดด้วยวิธีการ Land Release" ซึ่งหากที่ราชบุรี ทำด้วยวิธีการนี้แล้ว จะถือว่าเป็นวิธีการที่มาตรฐานและยอมรับเป็นสากล และจะเป็นแบบอย่างครั้งสำคัญของประเทศไทยในโอกาสต่อๆ ไป   

เนื่องด้วยผมเคยปฏิบัติงานด้านทุนระบิดเพื่อมนุษยธรรมในประเทศไทย มาเกือบ 5 ปี วิธีการนี้มีขั้นตอนที่ค่อนข้างอธิบายยาก แต่ผมจะพยายามอธิบายให้สั้นๆ และเข้าใจง่ายๆ เผื่อว่า คณะทำงานฯ เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะได้นำไปใช้ ดังนี้  


แผนผังสังเขปการพบลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ด้านท้ายน้ำ สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์
ขั้นที่ 1 การจัดทำขอบเขตพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด (Suspect Hazardous Area : SHA) บริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ และติดป้ายแจ้งเตือนอันตรายจากทุ่นระเบิด เพื่อห้ามคนไม่ให้เข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว (ดังภาพด้านล่าง) 



ตามภาพได้กำหนดพื้นที่ทางด้านเหนือน้ำยาวประมาณ 100 ม.และด้านท้ายน้ำประมาณ 100 ม. ทางกว้างจากตลิ่งถึงตลิ่ง รวมพื้นที่ SHA บริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์นี้จะมีขนาดประมาณ 24,000 ตร.ม. 

การกำหนดขอบเขตพื้นที่ SHA นี้ จะนำมาจากข้อมูลข่าวสารเบื้องต้นที่มีอยู่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น  คำบอกเล่าของนักดำน้ำงมของเก่า รูปแบบการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรในสมัยนั้น จากบันทึกเหตุการณ์ที่มีผู้บันทึกไว้ เป็นต้น สรุปขั้นนี้ ก็คือ การตีกรอบพื้นที่ที่สงสัยว่ามันยังมีทุ่นระเบิดอยู่ ด้วยข้อมูลข่าวสาร 

ขั้นที่ 2 การยกเลิกพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด (SHA) ด้วยวิธีการสำรวจตามหลักฐาน (Evidence-Based Survey : EBS) ในขั้นนี้ จะต้องมีการดำเนินกิจกรรมอย่างน้อย 4 กิจกรรมได้แก่ 1)การรวบรวมข่าวสารเดิม 2)การรวบรวมข่าวสารใหม่  3)การวิเคราะห์/สังเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด หลังจากนั้นจะเป็น 4)การสำรวจพื้นที่ทางกายภาพเพื่อการยืนยัน  นั้นก็คือ การใช้นักดำน้ำลงไปพิสูจน์ทราบว่ามีลูกระเบิดอยู่ตรงไหนบ้าง? โดยใช้วิชาการแกะรอยทุ่นระเบิด (MIne Tracker) อ้างอิงจากข้อมูลที่ได้สังเคราะห์แล้ว ขั้นตอนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหา พื้นที่อันตรายที่ได้รับการยืนยันว่ามีทุ่นระเบิดอยู่จริง (Confirmed Hazardous Area: CHA) ตามภาพที่แสดงด้านล่าง ซึ่งอาจพบลูกระเบิดมากกว่า 6 ลูกก็ได้



ขั้นที่ 3 การทำให้พื้นที่ทั้งหมดปลอดภัย  ซึ่งสามารถแยกการดำเนินการได้ดังนี้
  • พื้นที่ที่เป็น CHA จะต้องดำเนินการกวาดล้าง (Clearance) และเก็บกู้ทุ่นระเบิดออกจากพื้นที่ให้หมด   ก็คือ การพิสูจน์ทราบว่าเป็นลูกระเบิดชนิดใด ทำการปลดชนวน ทำให้เป็นกลาง กู้ขึ้นมาจากใต้น้ำ และนำไปไว้ในที่ปลอดภัย  ขั้นนี่แหละครับจึงเป็นหน้าที่ของ EOD ซึ่งเจ้าหน้าที่ EOD ครั้งนี้ควรมีความสามารถในการดำน้ำด้วย สำหรับการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ จะอยู่ในช่วงที่กู้ขึ้นมาจากใต้น้ำ (เผื่อเกิดความผิดพลาดขณะกู้)
  • พื้นที่ SHA  ส่วนที่เหลือ (หมายถึง  พื้นที่ที่เหลือหลังจากหักพื้นที่ที่เป็น CHA ไปแล้ว) จะต้องดำเนินการปลดปล่อยให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ด้วยวิธีการสำรวจทางเทคนิค (Technical survey : TS) ในกรณีนี้ เป็นพื้นที่ที่อยู่ใต้แม่น้ำ การสำรวจทางเทคนิคก็คือ การดำน้ำสแกนพื้นใต้น้ำว่าปลอดภัยไม่มีลูกระเบิดหลงเหลือแล้ว ไม่จำเป็นต้องสแกนพื้นที่ทั้ง 100% แต่ต้องสุ่มตัวอย่างให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้  เช่น 30% หรือ 40% ของพื้นที่ตามข้อมูลที่ได้วิเคราะห์ไว้ตั้งแต่ตอนต้น  


การปฏิบัติตามวิธีการนี้จึงจะถือว่า พื้นที่บริเวณโดยรอบสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์นี้ มีความปลอดภัยจริงๆ อย่ามุ่งเน้นเฉพาะการเก็บกู้ลูกระเบิดที่พบเท่านั้น ต้องเน้นความปลอดภัยของทั้งพื้นที่ 

หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเรื่อง "การปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดด้วยวิธีการ Land Release" นี้ คือ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center : TMAC)  ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยได้ยิน หน่วยงานนี้ มีหน้าที่ค้นหา เก็บกู้ และทำลายทุ่นระเบิด ที่ตกค้างจากสงครามในวาระต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมันยังคงฝังอยู่ใต้ดิน ใต้แม่น้ำลำคลอง ตามแนวชายแดนของประเทศไทย  หากคณะทำงานฯ  ท่านใดต้องการข้อแนะนำโดยละเอียดแล้ว ลองติดต่อดูได้ครับ 


***********************
จุฑาคเชน 3 ก.ย.2561

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม