สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ สภาพแวดล้อมทางการศึกษาของอาเซียน โดยพิจารณาใน 3 ส่วน คือ "ห้องเรียน" บางแห่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19, ส่วน "ครูผู้สอน" ผลิตมาจากหลักสูตรที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 20 ในขณะที่ "นักเรียน" ยุคปัจจุบัน ต้องมีทักษะสำหรับการทำงานและการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21
ดังนั้น จึงได้นำมาทบทวนร่วมกับประเด็นปัญหาของการศึกษาไทยที่ผ่านมา เพื่อกระทรวงศึกษาธิการจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยแยกเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ 6 หัวข้อหลักที่สำคัญตามนโยบาย คือ
- หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
- ครู
- การบริหารจัดการ
- ICT เพื่อการศึกษา
- การประเมินและการพัฒนามาตรฐานการศึกษา
- การผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวทางที่สำคัญต่อคุณภาพการศึกษาไทย คือ คุณภาพของครูผู้สอน ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้สร้างมาตรฐานการผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ ตามแนวทางใหม่ ดังนี้
- วิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดจากการจัดการศึกษาที่ผ่านมา
- สอบถามความต้องการของครูในประเด็นที่ต้องการพัฒนา
- จัดทดสอบเพื่อประเมินความรู้
- ศึกษาหลักสูตรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำประเด็น Best Practice มาประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาหลักสูตร
- เชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาระหลักสูตร ทั้งภาครัฐ เอกชน และอาจารย์มหาวิทยาลัย ร่วมกำหนดกรอบหลักสูตรและจัดทำเนื้อหาวิชา
- กำหนดตารางการอบรมเป็นวงรอบ อบรมช่วงปิดเทอม ทำเป็น Camp
- อบรมโดยจังหวัด หรือกระจายเป็นภูมิภาค
- อบรม Online ให้มีระบบการประเมิน ที่ตรวจสอบกระบวนการเข้าร่วมเรียนรู้ และความรู้หลังการอบรม
ทั้งนี้ มาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 กำหนดให้มีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะสำหรับตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเป็นระยะๆ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ ความสามารถ ความชำนาญการ หรือความเชี่ยวชาญในตำแหน่ง โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด กรณีผู้ไม่ผ่านการประเมินให้ดำเนินการตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้
- ให้มีการพัฒนาผู้ได้รับวิทยฐานะให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถผ่านการประเมิน
- ให้ดำเนินการเลื่อนขั้น / งดเงินประจำตำแหน่งหรือเงินวิทยฐานะแล้วแต่กรณี
- ในกรณีที่ผู้ใดไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพ /ประสิทธิผลในระดับที่กำหนดให้สั่งผู้นั้นออกจากราชการตามมาตรา 110(6)
ประเด็นถัดไปสำหรับการส่งเสริมศักยภาพครู คือ "การใช้เครือข่ายอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง" โดยกำหนดให้โรงเรียน สพฐ. จำนวน 10,947 แห่ง เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศลงไปช่วยพัฒนาสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 9 เครือข่าย
นอกจากนี้ยังมี โครงการผู้นำเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน CONNEXT ED (Leadership Program for Sustainable Education) ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ซึ่งเป็นโครงการที่ผู้นำรุ่นใหม่จำนวน 1,000 คน จาก 12 องค์กรภาคเอกชนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ จะทำหน้าที่ 2 ประการ คือ เป็น School Partners ให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมและดำเนินงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อศึกษาปัญหาและความต้องการของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่ง School Partners ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศ มีหลักการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1) สนับสนุนการดำเนินงานของผู้บริหารสถานศึกษาให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ (Enable) 2) ร่วมเสนอแนวทางพัฒนาโรงเรียนเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน (Enhance) 3) สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน (Engage)
อีกทั้งจะมีผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนทำหน้าที่เป็น School Sponsor โดยให้ข้อเสนอแนะด้านยุทธศาสตร์ รวมทั้งให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียนประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการในปีแรกนี้จำนวน 3,342 โรงเรียน และคาดว่าจะขยายผลการดำเนินโครงการไปยัง 7,424 โรงเรียนทุกตำบลทั่วประเทศ ภายในปี 2561
*****************************
กลับหน้า : นโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษา : 9 ก.ค.2559
ที่มาข้อมูล :
บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2559). รมว.ศธ.บรรยาย นโยบายสำคัญของ ศธ. ในการอบรมสัมมนาผู้บริหาร รร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ. ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 287/2559. กระทรวงศึกษาธิการ [Online]. Available : http://www.moe.go.th/websm/2016/jul/287.html [2559.กรกฎาคม 12].
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น