วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2561

ปริศนาของหัวรถจักรใต้น้ำ..ที่รอการพิสูจน์

ตอนนี้ หลายคนที่กำลังติดตามข่าวเรื่องการกู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และการกู้หัวรถจักรที่จมอยู่ใต้น้ำในบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์อยู่นั้น  อาจอยากจะทราบเรื่องราวในรายละเอียดเพิ่มเติมในหลายประเด็น โดยเฉพาะปริศนาของหัวรถจักรไอน้ำที่นอนสงบนิ่งอยู่ใต้พื้นแม่กลองมา 73 ปี วันนี้ ผมจึงขอนำความรู้มาแบ่งปันเผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการเก็บกู้และการสร้างเรื่องราวต่อไปในอนาคตได้ 


จมได้ยังไง
ผมพยายามสืบค้นเรื่องราวของการจมของหัวรถจักรฯ มาโดยตลอด จากคำบอกเล่าของคนในสมัยนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่บ้าง จากเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ยังพอมี  แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเท่าใดนัก จนกระทั่งผมได้พบกับสมุดบันทึกเล่มหนึ่งของนายสละ จันทรวงศ์ (ท่านเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2541) ซึ่งเป็นพ่อผมเอง จึงพอสรุปเรื่องราวการจมของหัวรถจักรฯ ได้ ดังนี้ 

ภาพวาดเมื่อปี 2488 
สะพานจุฬาลงกรณ์หักช่วงแรกทางฝั่งตลาด
โดย นายสละ จันทรวงศ์ 
  • 11 ก.พ.2488 เวลา 24:00 น. ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ วัตถุประสงค์เพื่อต้องการทำลายสะพาน 
  • 12 ก.พ.2488 ลูกระเบิดหน่วงเวลาที่ทิ้งเมื่อคืน 11 ก.พ.2488 ซึ่งตกอยู่บนสะพานช่วงแรกทางฝั่งเมืองราชบุรี เกิดระเบิดขึ้นในเวลา 06:30 น. ส่งผลให้สะพานจุฬาลงกรณ์ช่วงแรกหักกลางลง ฝ่ายญี่ปุ่นไม่สามารถซ่อมแซมกลับคืนสภาพได้
  • 3 เมษายน-1 พฤษภาคม 2488 ทหารญี่ปุ่นระดมแรงงานจากคนราชบุรี จีน และแขก จำนวน 500 คน ทำงานทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อสร้างสะพานรถไฟด้วยไม้ทดแทนสะพานจุฬาลงกรณ์เดิม ห่างจากแนวสะพานฯ ประมาณ 5 เมตร
  • 2 พ.ค.2488 เปิดใช้งานสะพานรถไฟใหม่ที่สร้างด้วยไม้ 
  • 20 พ.ค.2488 เวลาบ่าย ขณะหัวรถจักรวิ่งผ่านตามปกติ สะพานไม้ที่ผ่านการใช้งานอย่างหนัก  ประกอบเป็นฤดูน้ำมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก ตัวสะพานโอนเอนไปมา เกิดรับน้ำหนักไม่ไหว จึงหักลงบริเวณกลางสะพาน ส่งผลให้หัวรถจักรที่วิ่งข้ามอยู่นั้น พุ่งดิ่งจมลงสู่ใต้น้ำตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา        
ภาพวาดเมื่อปี พ.ศ.2488 
กองทัพญี่ปุ่นการสร้างสะพานรถไฟใหม่ด้วยไม้
แทนสะพานรถไฟเดิม  โดย นายสละ จันทรวงศ์
ลักษณะการจม
จากบันทึกดังกล่าวผมจึงอนุมานภาพการจมได้ ดังแสดงไว้ตามภาพด้านล่าง ในเวลานั้นยังไม่มีสะพานธนะรัชต์ที่ให้รถยนต์ข้าม (แนวสะพานธนะรัชต์ ปัจจุบันคือแนวสะพานรถไฟไม้ในสมัยนั้นเอง) ดังนั้น ตำแหน่งหัวรถจักรที่จมอยู่ในปัจจุบัน จึงอยู่ระหว่างตะม่อใต้สะพานรถยนต์

ภาพจำลองแนวสะพานเบี่ยงที่ทำด้วยไม้ของกองทัพญี่ปุ่น
และการจมของหัวรถจักร

ภาพแสดงแนวสะพานเบี่ยงทำด้วยไม้
จากแผนที่แสดงที่ตั้งจุดยุทธศาสตร์และการโจมตีจุดสำคัญฯ 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
 เมื่อ พ.ศ.2485 ของนายสละ จันทรวงศ์

ภาพจำลอง ลักษณะการจมของหัวรถจักร
จากการสำรวจของนักดำน้ำของกรมการทหารช่าง เมื่อปี พ.ศ.2548
  
ปริศนาที่รอการพิสูจน์
หัวรถจักรไอน้ำที่จมอยู่นี้ ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานใดๆ ยืนยันชัดเจนว่าเป็นหัวรถจักรไอน้ำรุ่นใด  ได้แต่สมมติฐานไว้  2 รุ่น ซึ่งใช้งานอยู่ในสมัยนั้น คือ 
  1. รถจักรไอน้ำโมกุล รุ่น C-56 ของประเทศญี่ปุ่น  หรือ 
  2. รถจักรไอน้ำ รุ่น P-CLASS  ของประเทศอังกฤษ 


การพิสูจน์ให้ได้ว่าหัวรถจักรไอน้ำที่จมอยู่นี้เป็นรุ่นใด เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะมีความเกี่ยวข้องกับการวางแผนการเก็บกู้ขึ้นจากใต้น้ำ เพราะแต่ละรุ่นจะมีน้ำหนัก และโครงสร้างที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งอีกไม่นานนัก พวกเราคงจะได้รู้กันเสียทีว่า หน้าตาของหัวรถจักรไอน้ำที่จมมานานถึง  73 ปี จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

*******************
จุฑาคเชน : 4 ก.ย.2561

อ่านเพิ่มเติม 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม