การก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ระยะทาง 93 กม. ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน ราคาค่าก่อสร้าง 8,198,000,000 บาท โดยมี บจก.เอ เอส แอสโซซิเอส เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นผู้รับจ้างสัญญาก่อสร้าง และมีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร (Construction Supervision Consultancy Services : CSCS) เป็นที่ปรึกษา โดยเริ่มลงนามในสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2560
ในโครงการก่อสร้างฯ ดังกล่าว จะต้องดำเนินการก่อสร้างสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำแม่กลอง คู่ขนานกับสะพานจุฬาลงกรณ์เดิม บริเวณ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งจากข้อมูลหลักฐานเบื้องต้น พบว่ามีลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังไม่ระเบิดจมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลอง บริเวณแนวที่จะก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ จำนวน 3 ลูก ซึ่งหากมีการก่อสร้างสะพานแล้วอาจจะส่งผลให้ลูกระเบิดดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้น เป็นอันตรายต่อการก่อสร้าง รวมทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเรือน อาคาร สำนักงาน และสิ่งปลูกสร้างโดยรอบได้
ต่อมาประมาณกลางเดือน สิงหาคม พ.ศ.2561 ความทราบถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดนั้นเสีย เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และไม่กีดขวางต่อการสร้างทางรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่
ในการดำเนินการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดบริเวณใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการทำงานเก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดบริเวณแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นมาปฏิบัติงานเป็นการเฉพาะ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2561 โดยมี นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานอนุกรรมการ มีผู้แทนมณฑลทหารบกที่ 16 ผู้แทน กรมสรรพาวุธทหารเรือ และผู้แทนกรมสรรพาวุธทหารอากาศ เป็นรองประธานอนุกรรมการ มีผู้แทนส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ใน จ.ราชบุรี ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ และมีนายธีระ รุ่งโรจน์สุวรรณ (วิศวกรโครงการด้านก่อสร้าง) วิศวกรกำกับการกองมาตรฐานงานวิศวกรรมโยธา ฝ่ายโครงการพิเศษและการก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมหารือกันจำนวนหลายครั้ง และได้มอบหมายให้ กองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ ปฏิบัติการสำรวจและค้นหาใต้น้ำในระหว่างวันที่ 26 พ.ย.-4 ธ.ค.2561 ผลปรากฏว่า พบลูกระเบิดอากาศสมัยสงครามโลกที่ยังไม่ระเบิด จมอยู่จำนวน 7 ลูก เป็นลูกระเบิดแบบวัตถุประสงค์ทั่วไป (General Purpose Bombs) ของประเทศอังกฤษ ขนาดน้ำหนัก 1,000 ปอนด์ ใช้ชนวนท้าย NO.37
เพื่อให้การพิจารณาการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิด เป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ ทางอนุกรรมการฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดจากประเทศอังกฤษ และประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมสำรวจพื้นที่ ประชุมหารือ และให้ข้อแนะนำ เมื่อวันที่ 22-23 ม.ค.2562 และ 1 มี.ค.2562 ตามลำดับ
หลังจากนั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการสรุปแนวทางการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิด ที่มีความเป็นไปได้จำนวน 4 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 การทำลายลูกระเบิดด้วยวิธี High Order ทีละลูก ณ จุดที่พบ
แนวทางที่ 2 การทำให้ลูกระเบิดปลอดภัย (Render safe Procedure : RSP) ทีละลูก ณ จุดที่พบ แล้วนำส่วนของวัตถุระเบิดหลักที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อบนบก ณ พื้นที่ทำลายที่เตรียมไว้ บริเวณสนามทำลาย แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี
แนวทางที่ 3 เคลื่อนย้ายลูกระเบิดใต้น้ำไปตามแม่น้ำแม่กลอง ออกทะเลที่ปากแม่น้ำแม่กลอง และทำลายทิ้งด้วยวิธี High Order ในทะเลเปิดบริเวณปากอ่าวไทย รวมระยะทางในการเคลื่อนย้าย 45 กม.
แนวทางที่ 4 เคลื่อนย้ายลูกระเบิดใต้น้ำทีละลูกไปยังหลุมทำลายที่จัดเตรียมไว้ด้านท้ายน้ำ ระยะทางประมาณ 940 เมตร นำลูกระเบิดหย่อนลงไปในหลุม หลังจากนั้นทำลายลูกระเบิดด้วยวิธี Low Order แล้วนำวัตถุระเบิดหลักส่วนที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อบนบก ณ พื้นที่ทำลายที่เตรียมไว้ บริเวณสนามทำลาย แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี
ในขั้นต้น ที่ประชุมอนุกรรมการฯ มีมติเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2562 เลือกแนวทางที่ 4 แต่ขอให้มีการจัดทำการรายงานการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) เพื่อให้เกิดความรอบคอบอีกครั้ง
หลังจากที่ได้จัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยงตามหลักวิชาการแล้วกลับพบว่า การยกและการเคลื่อนย้ายลูกระเบิด ตามในแนวทางที่ 3 และ 4 จะมีโอกาสที่ลูกระเบิดดังกล่าวจะเกิดระเบิดขึ้นเป็นไปได้สูงถึงร้อยละ 80 เพราะชนวนของลูกระเบิดชนิดนี้เป็นชนวนถ่วงเวลานานด้วยสารเคมี หากเกิดระเบิดขึ้นจริงจะเกิดคลื่นกระแทก (Shock wave) และแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ส่งต่อไปยังระเบิดลูกที่เหลือทำให้เกิดการระเบิดต่อเนื่องได้ เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายต่ออาคาร สำนักงาน ที่อยู่อาศัย และสิ่งปลูกสร้าง ในรัศมี 1 กม. อย่างร้ายแรง รวมทั้งเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของสะพานจุฬาลงกรณ์ และสะพานธนะรัชต์ อีกด้วย
แนวทางที่จะหลีกเหลี่ยงการยกและเคลื่อนย้ายลูกระเบิดได้ คือ แนวทางที่ 1 และ 2 เท่านั้น แต่แนวทางที่ 1 คือการทำลายลูกระเบิดด้วยวิธี High Order ทีละลูก ณ จุดที่พบ มีความเสี่ยงสูงมาก ยากที่จะลดความเสี่ยงจากการเกิดคลื่นกระแทก (Shock wave) และแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ส่งต่อไปยังระเบิดลูกที่เหลือทำให้เกิดการระเบิดต่อเนื่องได้
ดังนั้น แนวทางที่ 2 คือ การทำให้ลูกระเบิดปลอดภัย (Render safe Procedure : RSP) ทีละลูก ณ จุดที่พบ แล้วนำส่วนของวัตถุระเบิดหลักที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อบนบก ณ พื้นที่ทำลายที่เตรียมไว้ บริเวณสนามทำลาย แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี จึงเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด โดยวิธีการทำให้ลูกระเบิดปลอดภัย (Render safe procedure : RSP) จะใช้เครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกล ทำการตัดแผ่นปิดท้ายของลูกระเบิดที่เป็นส่วนของชนวนออก โดยทำการตัดใต้น้ำในตำแหน่งที่พบลูกระเบิด แล้วจึงนำส่วนของวัตถุระเบิดหลักที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อบนบกต่อไป
เครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกลนี้ ไม่มีใช้ในประเทศไทย ตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัท ANT AG จำกัด เป็นผู้ผลิต ตั้งอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือผ่านไปยังสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย
ปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดตามแนวทางที่ 2 สามารถลดความเสี่ยงในแต่ละปัจจัยได้ ตามแนวทางดังนี้
1. การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน แนวทางการลดความเสี่ยง ได้แก่ การซักซ้อมแผนการปฏิบัติงาน และใช้เครื่องมือตัดส่วนท้ายของลูกระเบิดที่เป็นส่วนของชนวนออก ด้วยเครื่องตัดโลหะใต้น้ำแรงดันสูง ที่สามารถควบคุมในระยะไกลได้
2. การเกิดคลื่นกระแทก (Shock wave) และแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ส่งต่อไปยังลูกระเบิดที่เหลือเกิดการระเบิดต่อเนื่อง แนวทางการลดความเสี่ยง ได้แก่ การจัดทำแนวป้องกันใต้น้ำ รอบลูกระเบิดที่จะทำการตัดชนวน ด้วยถุงทราย หรือ Big Bag
3. การเกิดความเสียหายต่ออาคาร สำนักงาน ที่อยู่อาศัย และสิ่งปลูกสร้าง ในรัศมี 1 กม. จากกลุ่มลูกระเบิดทั้ง 7 ลูก แนวทางการลดความเสี่ยง ได้แก่ การจัดทำแนวป้องกันใต้น้ำรอบลูกระเบิด และกลุ่มลูกระเบิด และการจัดทำแนวป้องกันบริเวณสันตลิ่งเพื่อป้องกันแรงอัดและสะเก็ดระเบิด ด้วยถุงทราย และ Big Bag รวมถึงการเปิดประตู หน้าต่าง ของอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และสิ่งปลูกสร้าง เพื่อช่วยลดความเสียหายและลดการเกิดสะเก็ดระเบิดทุติยภูมิ
4. การเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของสะพานจุฬาลงกรณ์และสะพานธนะรัชต์ แนวทางการลดความเสี่ยง ได้แก่ การจัดทำแนวป้องกันรอบตะม่อสะพานจุฬาลงกรณ์และสะพานธนะรัชต์ด้วยถุงทราย หรือ Big Bag
5. ความปลอดภัยของชีวิตประชาชนโดยรอบในรัศมี 1 กม.จากกลุ่มลูกระเบิด ในระหว่างที่กำลังปฏิบัติงานเก็บกู้นั้น สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการจัดทำแผนการอพยพประชาชนที่มีประสิทธิภาพสามารถปฏิบัติได้จริง จะต้องไม่มีประชาชนอยู่ในพื้นที่อันตรายดังกล่าวแม้แต่เพียงคนเดียว ยกเว้นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่จำเป็น
คณะอนุกรรมการทำงานเก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดบริเวณแม่น้ำแม่กลอง ได้เสนอแนวทางการเก็บกู้ฯ ดังกล่าว ต่อที่ประชุมของคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การเก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดในแม่น้ำแม่กลอง โดยมี นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ เป็นประธาน เมื่อ 12 มิ.ย.2562 ณ ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ ศาลากลาง จ.ราชบุรี สรุปดังนี้
- ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิด จำนวน 7 ลูก บริเวณใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ ด้วยวิธีการทำลูกระเบิดให้ปลอดภัย (Render safe procedure : RSP) ทีละลูก ณ จุดที่พบ โดยใช้เครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกล ทำการตัดแผ่นปิดท้ายส่วนที่เป็นชนวนของลูกระเบิดออก โดยทำการตัดใต้น้ำในความลึกของลูกระเบิดนั้นๆ แล้วนำส่วนของวัตถุระเบิดหลักที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อบนบก ณ พื้นที่ทำลายที่เตรียมไว้ บริเวณสนามทำลาย แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี
- ให้คณะทำงานของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ จำนวน 3 คณะ ซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานการปฏิบัติการสำรวจ เก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิด คณะทำงานอพยพและสวัสดิภาพประชาชน และคณะทำงานประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร พิจารณาจัดทำแผนและงบประมาณในงานที่เกี่ยวข้อง
- มอบหมายให้ผู้แทนกรมสรรพาวุธทหารเรือ สืบราคาเครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกล จากบริษัทฯ ผู้ผลิตในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เสนอต่อคณะทำงานเพื่อจัดทำงบประมาณ
- ให้ หน.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ราชบุรี รับผิดชอบในการจัดแผนและการใช้งบประมาณในการเก็บกู้ทั้งหมด เสนอต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย ขอใช้งบประมาณป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในส่วนกลาง
- แผนการดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิด คาดว่าจะดำเนินการในประมาณต้นปี พ.ศ.2563 ซึ่งสาเหตุที่ต้องล่าช้าด้วยเหตุผลดังนี้
- ขั้นตอนการเสนอของบประมาณในการเก็บกู้
- ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือเครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกล จากต่างประเทศ
- ในช่วงปลายปีจะเป็นฤดูน้ำหลาก กระแสน้ำในแม่น้ำแม่กลองไหลเชี่ยวและแรง มีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติงาน
- เนื่องจากการเก็บกู้ลูกระเบิดมีแนวโน้มจะล่าช้าออกไป ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยเกรงว่าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน จะแล้วเสร็จไม่ทันตามสัญญาในสิ้นปี 2563 จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองใหม่ เป็นรูปแบบสะพานแขวน ไม่มีตะม่อกลางน้ำ ซึ่งสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เลย ไม่ต้องรอการเก็บกู้ลูกระเบิดแล้วเสร็จ
******************************
สรุป ถึง 12 มิ.ย.2562
กลับหน้า : บทความวิชาการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น